fbpx
เมื่อความรักครองบอล : ฟุตบอลสนทนากับอันธิฌา แสงชัย

เมื่อความรักครองบอล : ฟุตบอลสนทนากับอันธิฌา แสงชัย

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่องและภาพ

“ปัตตานีคือวิหารขนาดใหญ่ ไม่มีพื้นที่ไหนที่ไม่ได้ยินเสียงอาซาน ถึงเวลาจะระงมไปทั้งจังหวัดเลย ตอนตี 4 จะเงียบ และเสียงจะแว่วมาตามสายลม ไพเราะมาก แล้วจะดังเหลื่อมกัน มัสยิดนี้ขึ้นก่อน มัสยิดนี้ขึ้นช้าหน่อย เราได้ยินแล้วคือความงดงาม”

อันธิฌา แสงชัย กล่าวถึงเสียง ‘อาซาน’ หรือเสียงเรียกให้ไปละหมาด แทรกซ่อนอยู่ภายในท่วงทำนองคือข้อความสรรเสริญพระอัลเลาะห์ ซึ่งอันธิฌาผู้เป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญาอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มานับ 12 ปีคุ้นเคย

ผู้คนรู้จักอันธิฌา จากหลายสถานการณ์แตกต่างกัน สำหรับเด็กๆ ปัตตานี ‘อาจารย์อัน’ คือผู้ก่อตั้งทีมฟุตบอลบูคู เอฟซี ปัตตานี (BUKU Football Club) ทีมฟุตบอลที่ต้อนรับเด็กๆ ทุกเพศสภาพ ไม่ว่า LGBT หรือหญิงชาย สำหรับนักศึกษา อันธิฌาคืออาจารย์สอนปรัชญา ผู้สอนวิชาชื่อละมุนอย่างสุนทรียศาสตร์ สำหรับผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้เสียงระเบิดและความรุนแรงยังดำเนินไปไม่รู้วันสิ้นสุด แต่พวกเขารู้ว่า ‘ร้านหนังสือบูคู’ ของอันธิฌาคือพื้นที่ปลอดภัย ที่ผู้คนซึ่งรักความสงบและสันติภาพจะมาเจอกัน และสำหรับแวดวง LGBT อันธิฌาคือนักเคลื่อนไหว สนับสนุนความเท่าเทียมที่ควรเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกเพศสภาพ

เด็ก ความรัก ฟุตบอล ปรัชญา การยอมรับความหลากหลายทางเพศ หลอมรวมเป็นพลังของอันธิฌา เป็นพลังที่แผ่กว้างไปสู่ผู้คนและสังคมรอบๆ ตัวเธอ

ในวาระที่ฟุตบอลโลก 2018 กำลังเข้มข้น และท่ามกลางกระแส ‘ความเป็นชาย’ ที่ไหลเชี่ยวระหว่างการแข่งขัน 101 ชวนอันธิฌาสนทนาถึงฟุตบอลในอีกมุมมองหนึ่ง ฟุตบอลที่ไม่ได้เป็นแค่โลกของผู้ชาย ไม่ได้เคี่ยวกรำให้นักเตะเป็นนักรบ แต่เป็นฟุตบอลที่มุ่งสร้างความเท่าเทียม ขจัดการใช้อำนาจ ขับเคลื่อนลูกกลมๆ โดยใช้ปรัชญาและความรักเป็นพื้นฐาน

อันธิฌา แสงชัย ฟุตบอล

ทราบมาว่าคุณเพิ่งกลับจากการฝึกอบรมเรื่องฟุตบอลหญิงที่เยอรมนี มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง

การอบรมครั้งนี้เราได้รับเชิญไปร่วมจากองค์กร Discover Football ที่รณรงค์ให้คนทั่วโลกเห็นความสำคัญของฟุตบอลหญิง ซึ่งเขาตั้งเป้าหมายจะสร้างเครือข่ายคนทำประเด็นฟุตบอลหญิงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิก การอบรมรอบนี้มี 15 ประเทศ เช่น ภูฏาน กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ ไทย อินเดีย เกาหลี ปาปัวนิวกินี เวียดนาม ฯลฯ

คนที่มามีหลายรุ่นหลายวัยมาก หลายคนน่าสนใจ เช่นคนที่มาจากฟีฟ่าอย่าง Honey Thaljieh ชาร์เจียร์เป็นผู้ลี้ภัยจากปาเลสไตน์ เริ่มเตะบอลตั้งแต่อยู่ในฉนวนกาซ่า เตะข้างถนนเหมือนผู้ชาย ตอนแรกไม่มีใครยอมรับ แต่พ่อของชาเจียร์สนับสนุน ต่อมาชาเจียร์ย้ายไปอังกฤษ ได้เรียนหนังสือ แล้วต่อสู้ให้มีกลุ่มนักเตะฟุตบอลของผู้อพยพปาเลสไตน์ในมหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่ จนตั้งทีมขึ้นมาได้ เขียนจดหมายขอทุน เอาทีมไปแข่งในระดับลีกต่างๆ ต่อมาทำทีมชาติปาเลสไตน์ จนสุดท้ายชาเจียร์ก็ได้เข้าไปอยู่ในฟีฟ่า

Honey Thaljieh ถ่ายทอดประสบการณ์การสร้างทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติปาเลสไตน์

อีกคนที่มาแชร์ประสบการณ์คือ Monika Staab กัปตันฟุตบอลหญิงทีมเยอรมัน ชุดฟุตบอลโลก ซึ่งเคยเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกหญิง ตอนนี้เป็นรุ่นแม่เราแล้ว แต่เมื่อทศวรรษ 1980-1990 เธอเป็นดาวดังมาก ยุคนั้นการออกมาเตะบอลถือว่ายากมาก วัฒนธรรมตอนนั้นยังมีกลิ่นอายวิคตอเรียนหน่อยๆ คนพูดกันว่าเตะบอลแล้วจะมีลูกไม่ได้ มดลูกจะอ่อนแอ ความเชื่อเรื่องเพศสภาพที่ไม่เท่าเทียมกันยังเข้มข้น ซึ่งถ้าย้อนไปก่อนหน้านั้น การเตะฟุตบอลหญิงในเยอรมนีถือว่าผิดกฎหมาย โดนลงโทษด้วยนะคะ แต่เขาก็พยายามสู้ รวมกลุ่มกันออกมาเตะบอล กว่าจะเซ็ตเป็นทีมชาติได้ต้องฝ่าฟันอยู่นานมาก จนกระทั่งไปเตะบอลโลก ได้แชมป์กลับมา ก็มาพัฒนาฟุตบอลหญิงในเยอรมนี

แต่เชื่อไหมว่าทั้งๆ ที่สู้ขนาดนี้ ปัจจุบันเยอรมนีก็ยังไม่มีลีกฟุตบอลหญิง และยังไม่มีนักฟุตบอลหญิงที่เป็นนักฟุตบอลอาชีพ

https://www.youtube.com/watch?v=xu9Uxy3NqlA

Monika Staab อดีตกัปตันฟุตบอลหญิงทีมเยอรมันยุคที่ต้องฝ่าฟันกับค่านิยมเก่าอันหนาแน่น

ในมุมมองของคนทำงานกับฟีฟ่า สถานะของฟุตบอลหญิงเป็นอย่างไรบ้าง

ฟีฟ่าจะมีช่องว่างเรื่องฟุตบอลหญิง ฟุตบอลชาย ในวงสนทนาก็คุยกันว่าเกิดอะไรขึ้น นี่คือความเท่าเทียมที่หายไปจากวงการฟุตบอล ขณะที่เราเห็นว่านักฟุตบอลผู้ชายจะได้รับคำว่า ‘นักฟุตบอลอาชีพ’  ได้รับค่าตัวมหาศาล ขณะเดียวกันนักฟุตบอลผู้หญิงที่ซ้อมเหนื่อยหนักเท่ากันอย่างไรก็ไม่ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นมืออาชีพ จะเล่นได้ดีที่สุดก็คือทีมชาติ พอไม่มีพื้นที่ของทีมชาติ ก็ไม่มีพื้นที่ในการเล่นเป็นอาชีพอื่นอีก เมื่อไม่มีการสนับสนุนให้มีลีกฟุตบอลหญิง ก็ไม่สามารถทำเป็นอาชีพได้ ไม่สามารถพัฒนาหรือทำอะไรให้ต่อเนื่องได้

Caitlin Fisher อดีตนักเตะหญิงและบอร์ดของ FIFPro (International Federation of Professional Footballers) ที่มาแชร์ประสบการณ์

แต่ตอนนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงบ้างแล้ว เช่น ปาปัวนิวกินีเพิ่งจัดฟุตบอลโลกหญิงไปเมื่อปี 2016 ซึ่งมีเบื้องหลังที่น่าสนใจมาก Linda Wonuhali เป็นผู้บริหารสมาคมฟุตบอลจากปาปัวนิวกินีและเป็นคนในฟีฟ่า เล่าว่า “ตั้งแต่ทำงานในฟีฟ่า เวลาฉันออกเสียงอะไรไม่มีใครฟังฉันเลย เพราะที่เหลือเป็นผู้ชายหมด ไม่ต้องไปเตะบอลในสนามหรอก แค่ทำงานในระดับผู้บริหารก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายที่จะอยู่ในสังคมแบบนี้” แต่อีกมุมหนึ่ง โวนูฮาลีก็บอกว่ายังโชคดีที่ประธานสมาคมฟุตบอลปาปัวนิวกินีมีวิสัยทัศน์บางอย่าง จึงพยายามหาโอกาสที่จะเอาฟุตบอลโลกหญิงไปจัดที่ปาปัวนิวกินีให้ได้

ปาปัวนิวกินีเป็นพื้นที่ที่จารีตความเป็นชายเข้มข้นมาก แต่สมาคมฟุตบอลหญิงมีวิธีการทำงานที่น่าสนใจ เขาใช้ฟุตบอลโลกเปลี่ยนสังคมปาปัวนิวกินี ตอนแรกมีบางทีมถึงขนาดจะถอนตัว โดยให้เหตุผลว่าปาปัวนิวกินีไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง อัตราอาชญากรรมเกิดขึ้นกับผู้หญิงสูงมาก กลัวว่าถ้าส่งทีมฟุตบอลไป ทีมจะไม่ปลอดภัย จะไม่ส่งไปเตะที่นี่แน่นอน

แต่สมาคมฟุตบอลหญิงของปาปัวนิวกินีบอกว่า เขาจะเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ แล้ววิธีเปลี่ยนเขาน่าสนใจมาก คือการทำแคมเปญรณรงค์ให้ผู้หญิงออกมาสมัครเป็นสต๊าฟ แล้วไม่ได้เลือกสต๊าฟจากนักศึกษาที่เก่งภาษาอังกฤษ แต่เลือกผู้หญิงที่ไม่มีงานทำ ในปาปัวนิวกินีมีอัตราการว่างงานและอาชญากรรมสูง ในการจัดการแข่งขันซึ่งต้องใช้สต๊าฟถึง 1,000-2,000 คน การให้ผู้หญิงเหล่านี้มาทำงาน คือการสร้างงาน ผู้หญิงที่มาร่วมจะได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษ ฝึกมารยาท ฝึกการเปิดโลกกว้าง

ส่วนตัวเรามองว่านี่คือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเลยนะ ซึ่งเกิดจากการมีวิสัยทัศน์ร่วมกันว่านี่ไม่ใช่การจัดงานกีฬาครั้งเดียวแล้วจบไป แล้วเชื่อไหมว่า หลังจากการแข่งขันกีฬาครั้งนี้จบ สังคมปาปัวนิวกินีเปลี่ยนทันที เด็กผู้หญิงจากพันคน มีเป็นร้อยคนที่ได้งานทำ ได้พัฒนาศักยภาพ มีรายได้ ชีวิตเขาเปลี่ยน จากที่นั่งไม่มีงานทำอยู่บ้าน กลายเป็นมีงานประจำทำแล้วเลี้ยงครอบครัวได้ ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา

ผู้หญิงปาปัวนิวกินีจำนวนมากมีโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้นเมื่อการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงที่ปาปัวนิวกินีในปี 2016 จบลง

ด้านวัฒนธรรมก็เปลี่ยนเหมือนกัน พอผู้ชายเห็นผู้หญิงเล่นฟุตบอล มันช็อกโลกเลยนะ อย่างที่บอกว่าปาปัวนิวกินีเป็นสังคมที่มีความเป็นชายสูงมาก แล้วผู้ชายที่นั่นก็มีความภูมิใจในความเป็นชายสูงมาก พวกเขาคิดว่าฟุตบอลคือผู้ชาย ซึ่งไม่ใช่แค่ฟุตบอลเท่านั้น แต่โลกนี้คือผู้ชาย การจัดบอลโลกหญิงครั้งนี้ทำให้เขาเห็นภาพที่ตัวเองไม่เคยเห็น ได้เห็นผู้หญิงเตะฟุตบอล เห็นผู้หญิงอยู่ในการแข่งขันที่จริงจังและมีศักดิ์ศรี คนที่ดูถ่ายทอดสดก็จะได้เห็นภาพผู้หญิงในประเทศเขา แขวนป้ายสต๊าฟ เดินนำทีมฟุตบอลหญิงจากทั่วโลกลงสู่สนาม

ภาพเหล่านี้มันเปลี่ยนความคิดเขา และเปลี่ยนสังคมของเขาไปเป็นอีกแบบเลย ซึ่งเรามองว่านี่คือวิสัยทัศน์ที่ดี แต่เรายังไม่เคยเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในไทย ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ที่ผ่านมาทีมฟุตบอลหญิงไทยได้ไปแข่งบอลโลก ถามว่ามีใครรู้บ้างมั้ย

โดยส่วนตัวไม่รู้เลยค่ะ เราเก่งขนาดนั้นเลยเหรอคะ

จริงๆ ฟุตบอลหญิงของไทยติดอันดับ 1 ใน 2 ของทีมที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถ้าเทียบในเอเชีย เราอยู่ไม่เกินอันดับ 10

ในขณะที่เรารู้จักทีมฟุตบอลชายของเยอรมันแบบละเอียดยิบ รู้ว่าใครมีไฝอยู่ตรงไหน ใครเคยบาดเจ็บกี่ครั้ง ใครหน้าตาดี ใครแต่งงานแล้ว ใครยังไม่แต่งงาน แต่เรากลับไม่รู้ว่าฟุตบอลหญิงของไทยได้ไปบอลโลก คนทำงานในแวดวงฟุตบอลระดับนานาชาติ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทีมฟุตบอลหญิงไทยเก่งมาก เขาเป็นแฟนของทีมเราเลยด้วยซ้ำ แต่น่าเสียดายที่ในเมืองไทยกลับไม่เป็นที่รู้จัก

นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัญหาเชิงมุมมองวิธีคิด ทำให้ปัจจัยเชิงกายภาพมีปัญหาไปด้วย เช่น พื้นที่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ของเด็กผู้ชายเล่น ไม่ใช่เด็กผู้หญิงเล่น สนามฟุตบอลในมหาวิทยาลัยทุกสนาม เราแทบไม่เห็นผู้หญิงลงไปเตะบอล มีแต่ไปรอแฟนเล่นบอลอยู่ข้างสนาม ถ้าเด็กผู้หญิงอยากเตะบอลก็จะมีเจ้าถิ่นอยู่แล้ว แล้วเด็กผู้ชายไม่ได้เล่นบอลธรรมดา ถอดเสื้อ ลงไปโชว์ความเป็นชายแล้วเตะกัน ผู้หญิงจะไปเล่นยังไง ถ้าเธอใส่เสื้อก็ดูสุภาพมาอีกนิด ฉันอาจจะกล้าเล่นกับเธอ ซึ่งเธอก็คงไม่ให้ฉันเล่นอยู่แล้ว นี่เธอถอดเสื้อด้วย ฉันจะลงไปเล่นกับเธอยังไง มันไม่มีพื้นที่

ถ้าถอยออกมาจากฟุตบอลกระแสหลักอย่างฟีฟ่า ฟุตบอลที่ทำงานโดยมองภาพหรือประเด็นการพัฒนาสังคมด้วยอย่างที่คุณทำอยู่ มีมากแค่ไหนทั่วโลก

มีเยอะมากค่ะ ส่วนหนึ่งดูได้จากการรวบรวมของ Fare Network ซึ่งเป็นองค์กรจากอังกฤษที่พยายามทำฐานข้อมูลองค์กรที่ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมโดยใช้ฟุตบอลจากทั่วโลก แล้วมาปักหมุดบนแผนที่โลก ทำให้รู้ว่ามีทีมไหนอยู่ในส่วนไหนของโลกบ้าง แต่ละทีมมีกิจกรรมวันไหน เมื่อไหร่ มีข่าวอะไร เขาจะเป็นส่วนกลางจัดการให้

แพล็ตฟอร์มนี้ทำให้เราเห็นว่ามีคนใช้ฟุตบอลทำหลายประเด็นมาก ทั้งเรื่องความยากจน เอดส์ คนพิการ ผู้อพยพ คนไร้บ้าน การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ฯลฯ

ในเมืองไทยมีปักหมุดอยู่ 2 ทีมคือ บูคู เอฟซี ปัตตานี กับทีม Play Onside ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดเชียงราย ซึ่งให้เด็กไทยและเด็กจากหลากหลายชาติพันธุ์มาเตะบอลด้วยกันเพื่อขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียม มีจัดทัวร์นาเมนต์และมีอาสาสมัครต่างชาติมาฝึกสอนด้วย น่ารักมากค่ะ

ฟุตบอลทีม Play Onside เป็นทีมที่ตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมอีกทีมหนึ่งในไทยที่มีมานาน และมีการทำงานเป็นระบบเข้มแข็ง

ก่อนที่คุณจะทำทีมฟุตบอลบูคู คุณตั้งต้นจาก ‘ห้องเรียนเพศวิถี’ ที่จัดในร้านหนังสือบูคูมาก่อน อยากทราบว่าพัฒนามาเป็นทีมฟุตบอลได้อย่างไร

ห้องเรียนเพศวิถีเริ่มปี 2556 ทีมฟุตบอลเริ่ม 2559 ตอนนั้นห้องเรียนฯ เริ่มอยู่ตัว เราเลยรู้สึกว่าอยากโดดไปทำพื้นที่ที่ท้าทายกว่าเอาคนมานั่งคุยกัน

ตอนแรกเราเห็นว่าฟุตบอลน่าจะสนุกดี และคิดขึ้นมาง่ายๆ ว่าการชวนเด็กผู้หญิงออกมาเตะบอล จะทำให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง มีสุขภาพที่ดีขึ้น มีความเข้มแข็งทั้งภายในและภายนอก และด้วยรูปแบบการเคลื่อนไหวร่างกาย การเตะบอลน่าจะเหมาะกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่าการเต้น

พอได้งบมาจากแผนงานสุขภาวะทางเพศ ของ สสส. เราก็เอาไปซื้อลูกฟุตบอล 10 ลูก ซื้อกรวย ทำเสื้อ ทำไวนิล ทำโปสเตอร์ แล้วเริ่มเตะในสวนสาธารณะ ชวนปากต่อปาก นัดวันกันว่าทุกวันจันทร์เราจะมาเตะบอลกัน ขาประจำเป็นเด็กผู้หญิงก่อนนะคะ ต่อมามีนักเรียน นักศึกษา คนที่มาเป็นครอบครัว พอเขาเห็นเราเตะเขาก็เข้ามาเตะด้วย บางทีก็มีเด็กผู้ชายมาขอแบ่งบอลไปลูกหนึ่ง แล้วตั้งโกลเล็กของเขา เราทำกิจกรรมแบบนี้ เล่นกันสนุกๆ อยู่ประมาณ 3 เดือน

พอ 3 เดือนจบ ปิดโครงการ ก็เป็นช่วงที่ทางใต้ฝนเริ่มมา สนามเฉอะแฉะ เราก็หยุดไป เหลือลูกบอล 10 ลูก กองไว้ที่บ้านเรา กรวยก็อยู่ครบ เจอเด็กคนไหนก็ถามว่าจะเตะบอลเมื่อไหร่ อยากเตะบอลแล้ว เราเลยคิดจริงจังว่าถ้าอยากจะเตะบอลกันต่อ เราจะทำยังไง ควรเป็นรูปแบบไหน ค่อยๆ เรียนรู้ หาข้อมูลดูว่าเขาใช้ฟุตบอลทำอะไรกันได้บ้าง

ในประเทศไทยมีทีมฟุตบอลหญิง แต่โครงสร้างที่เขาทำจะเป็นวิธีคิดแบบกระแสหลัก ไม่ใช่สิ่งที่เรามองหาโดยตรง เราสนใจว่ากีฬาจะใช้ในงานรณรงค์ทางสังคมได้ยังไง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราทำประเด็นเพศสภาพ (Gender) เราก็ต้องหาโมเดลที่มันเข้ากันได้ สุดท้ายเพื่อนเราแนะนำว่ามีทีมฟุตบอลหญิงทีมหนึ่งในกัมพูชาชื่อ Mighty Girls หรือทีมสาวนักสู้ อยู่พระตะบอง น่าจะเป็นทีมแบบที่เรามองหาอยู่ เราไปหาเขาที่กัมพูชาเลย เพื่อดูว่าเขาทำกันยังไง

ทีม  Mighty Girls มีโมเดลอย่างไร

ทีมนี้มีองค์กรชื่อ SALT (Sports and Leadership Training) เป็นโรงเรียนสอนฟุตบอล เขาเซ็ตอัพทีม Mighty Girls ขึ้นมา โดยประเด็นหลักที่เขาทำคือการต่อสู้กับความยากจน

เด็กผู้หญิงกัมพูชาจะมีปัญหาอย่างหนึ่ง คือการโดนบังคับแต่งงาน เพราะเขายากจน พอยากจนเขาก็จะเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา ก็ต้องแต่งงานเร็ว อายุประมาณ 10 ปีกว่าๆ ก็แต่งแล้ว SALT ตั้งทีมฟุตบอลเพื่อคัดเด็กผู้หญิงปีละ 20 คนมาเข้าทีม แล้วส่งให้เรียนหนังสือ มีที่พักและอาหารให้ เด็กในทีมจะได้รับทุนการศึกษา ได้เรียนรู้มุมมองต่างๆ เกี่ยวกับเพศสภาพ สิทธิมนุษยชน ทักษะฟุตบอล ถ้าเด็กคนไหนมีศักยภาพที่จะเรียนต่อ เขาก็จะส่งให้เรียนจนจบปริญญาตรี เป็นโครงการที่การพัฒนาชีวิตเด็กคือเป้าหมายระยะยาว

เรารู้สึกว่าเป็นโครงการที่ดีมาก เด็กเตะบอลเก่งมากนะคะ แต่เขามีข้อจำกัดคือไม่มีทีมเด็กผู้หญิงในกัมพูชาที่จะมาเตะและฝึกซ้อมกับเขาเป็นประจำ บางครั้งที่จะเตะกระชับมิตร ก็ต้องไปเตะกับทีมเด็กผู้ชาย ซึ่งเขาเตะชนะผู้ชายด้วยนะ

ทีม Mighty Girls อีกทีมฟุตบอลที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพของเด็กผู้หญิงในกัมพูชาในหลายๆ ด้าน

นอกจากขาดคู่ซ้อมแล้ว การเป็นทีมฟุตบอลหญิงในกัมพูชามีความยากอย่างไรบ้าง คล้ายบ้านเราไหม

แม้กัมพูชาจะไม่มีปัญหาเรื่องจารีตทางศาสนาเข้มข้นเหมือนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ที่เราทำงานอยู่ แต่เขาก็ไม่ได้ทำงานกันง่าย เพราะในกัมพูชา คำอธิบายที่บอกว่าทำไมผู้หญิงควรเตะบอลแทบจะไม่มีเลย เด็กผู้หญิงที่จะมาเตะบอลถูกตั้งคำถามคลาสสิกมากมาย เช่น ถ้ามาเตะแล้วจะไม่ได้สามี จะไม่มีใครขอแต่งงาน มดลูกจะอ่อนแอ มีลูกไม่ได้ เดี๋ยวกลายเป็นผู้ชายจะทำยังไง มีความเชื่อแปลกๆ คำอธิบายแปลกๆ ว่าทำไมผู้หญิงเตะบอลไม่ได้เต็มไปหมด

คำอธิบายเหล่านี้ดูเผินๆ คล้ายเป็นเหตุผลที่หนักแน่น แต่พอเราไปค้นดูก็จะพบว่าไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง ซึ่งเบื้องหลังความคิดความเชื่อเหล่านั้นคือมันความไม่เท่าเทียมทางเพศ มีการแซวและล้อเลียนในสนามเวลาเด็กผู้หญิงเดินเข้าไป เราเข้าใจเขาว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย แต่เราก็แลกเปลี่ยนกับเขาว่าโจทย์ของเรามันยากไปอีกขั้นหนึ่งด้วยนะ เพราะของเราเป็นพื้นที่ทางศาสนา ซึ่งคนเกือบทั้งหมดเป็นมุสลิม เป็นเยาวชน เป็นผู้หญิง อีกชั้นหนึ่งคือเป็นพื้นที่ความรุนแรง ชั้นสุดท้ายคือเราเป็น LGBT ด้วย ไม่ได้มีแต่เด็กผู้หญิงอย่างเดียว แต่รวมคนที่มีความหลากหลายทางเพศไว้ในทีมเดียวกัน

ตอนที่แลกเปลี่ยนกัน เขาฟังแล้วก็บอกว่าโจทย์ LGBT เป็นโจทย์อีกชั้นที่เขายังไปไม่ถึง ในกัมพูชายังมีกำแพงเรื่องนี้หนาแน่น คล้ายกับชนบทของเราในบางระดับ คนที่มีแหล่งอำนาจในสังคม เช่น มีการศึกษา มีฐานะดี ก็จะเปิดเผยตัวเองง่าย แต่สำหรับบางคนก็อาจจะยาก บางเพศสภาพอย่างเลสเบียน เขาอาจเลือกไม่เปิดเผย แต่ใช้ความเป็นผู้หญิงคลุมไว้ เพราะเขาคิดว่าอาจปลอดภัยกว่าการพูดหรือเปิดเผยตัวตนออกมา

อันธิฌา แสงชัย

หลังกลับจากกัมพูชาแล้ว มาทำทีมต่ออย่างไรบ้าง

การไปกัมพูชาทำให้เราเห็นว่ามันเป็นไปได้ เราทำฟุตบอลเพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม (Activism Football) ได้ กลับมาถึงเราลงพื้นที่เลย ไปดูสนาม เลือกว่าสนามควรจะเป็นอย่างไร จะขอพื้นที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือควรเช่า แล้วเขียนโครงการสำหรับการทำงานห้องเรียนเพศวิถี ปรึกษาหารือกับผู้ให้ทุนว่าเราอยากทำทีมฟุตบอลจังเลย แต่ถ้าทำ มันจะกินเงินเราไป 60 เปอร์เซ็นต์ของเงินทั้งก้อนที่ได้มา ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มงานที่ต้องเสี่ยงขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง

ไม่มีใครเห็นภาพเลยนะคะ ว่าฟุตบอลจะนำพาไปสู่อะไร จะมีใครมาเตะมั้ย เตะไปแล้วจะเจออะไร แล้วเราจะสามารถบริหารจัดการให้ต่อเนื่องตามเป้าหมายได้ไหม ในประเทศไทยแนวคิดนี้ใหม่มากจนไม่มีใครมองความเป็นไปได้

อุปสรรคอีกอย่างคือความคิดในสังคมของเรา คนคิดไปในทิศทางเดียวกันหมดเลยว่า ฟุตบอลเป็นเรื่องสำหรับเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิงต้องเล่นกีฬาบางอย่าง สังคมออกแบบไว้ให้หมดแล้ว โครงสร้างพื้นฐานของเราไม่ได้ส่งให้เด็กผู้หญิงเข้าถึงกีฬา คุณจะเตะบอลได้ตอนคุณอยู่ประถม แต่ถ้าคุณเริ่มโตเป็นสาว จะไม่มีพื้นที่ให้แล้ว แล้วคุณก็จะนึกว่าคุณไม่ชอบ เล่นไม่ได้ หรือเป็นกีฬาของคนบางกลุ่มเท่านั้น

แค่เด็กผู้หญิงออกมายืนกลางสนามฟุตบอลแล้วยืนยันที่จะเตะให้ได้ มันบอกอะไรเราเยอะมาก ไม่เหมือนเด็กผู้ชายที่มีเงื่อนไขว่าแค่มีตังค์หรือมีเวลาหรือเปล่า นอกนั้นก็จบแล้ว ถ้าใครเตะเก่ง มีสเต็ปต่อไปรองรับอยู่ คือการเล่นให้สโมสร เด็กผู้หญิงเหมือนเด็กผู้ชายตรงที่ว่า ถ้าไม่มีตังค์ ไม่มีเวลา ก็เตะไม่ได้ แต่ที่มากกว่านั้นคือกำแพงอื่นๆ ที่กั้นอยู่อีกหลายชั้น เช่น ถ้าคุณเป็นเด็กผู้หญิงแล้วออกไปเตะบอล ก็จะโดนตั้งคำถามจากครอบครัว จากพ่อแม่ แล้วถึงได้เตะจริง ก็มักจบลงที่เข้ามหาวิทยาลัย แต่งงาน มีลูก ซึ่งจริงๆ ผู้หญิงมีลูกแล้วก็เตะบอลเก่งเหมือนเดิม ร่างกายฟื้นฟูได้

การที่เราไม่มีนักฟุตบอลหญิงอาชีพ ไม่ใช่เพราะผู้หญิงเล่นบอลไม่เก่ง หรือเล่นบอลไม่ได้ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การไม่มีพื้นที่ ไม่มีใครเชื่อว่าฟุตบอลเป็นพื้นที่ของผู้หญิงได้เช่นเดียวกับผู้ชาย

ตอนทำทีมบูคู อะไรเป็นด่านที่ยากที่สุด ระหว่างเรื่องศาสนา เพศสภาพ และบทบาทหน้าที่ในครอบครัว

นัวมากเลยค่ะ เป็นปัจจัยทั้งสิ้น แล้วน้องๆ แต่ละคนที่มาเตะกับเรา ต่างคนก็มีเงื่อนไขในชีวิตที่ต่างกันไป เด็กบางคนสำหรับพ่อแม่คือลูกสาว ให้ไปเตะบอลในสนามบอล เขาจะตกใจมาก ตายแล้ว ลูกสาวฉันจะกลายเป็นอะไร เพราะเขามีภาพจำว่ามันเป็นกีฬาของผู้ชาย เด็กผู้หญิงไปเตะบอลต้องเป็นทอมแน่ๆ

สิ่งที่เขากลัวลึกๆ ไม่ใช่การที่ลูกเขาไปเล่นกีฬา หรือใกล้ชิดกับเด็กผู้ชาย มากเท่ากับการที่ลูกเขาจะกลายเป็นทอม หรือถูกคนอื่นมองว่าเป็นทอม นี่เป็นสิ่งที่พ่อแม่กังวลอยู่ลึกๆ แต่ไม่พูดออกมา ซึ่งสุดท้ายเขาก็แก้ปัญหาด้วยการห้ามเตะบอล ตัดไฟตั้งแต่ต้นลมไปเลย คือไม่ต้องไปคลุกคลี ไม่ต้องไปวิ่งปุเลงๆ แล้วเดี๋ยวก็จะไม่ชอบใส่กระโปรง เดี๋ยวก็ตัดผมสั้น ไม่เรียบร้อย

ส่วนเรื่องศาสนา บทบัญญัติทางศาสนาไม่ได้บอกว่าห้ามเตะบอล สมัยนบีไม่ได้มีฟุตบอล บทบัญญัติศาสนายังสนับสนุนให้ต้องทำกิจกรรมบางอย่างที่ทำให้สุขภาพแข็งแรง ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการที่ผู้หญิงจะเล่นกีฬา แต่มีคำอธิบายชุดอื่น เช่น การแบ่งแยกระหว่างพื้นที่สำหรับผู้หญิงและผู้ชาย การแบ่งแยกระหว่างบทบาทระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายที่ชัดเจน เขาใช้ตรงนั้นมาอธิบายสนามฟุตบอล พูดง่ายๆ ว่ามันมีที่มาที่ไปค่ะ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ สนามฟุตบอลก็เป็นพื้นที่ของผู้ชาย

 

ในเชิงวิชาการวิเคราะห์ว่าฟุตบอลเป็นภาพแทนของการทำสงคราม ส่วนตัวคุณคิดว่าฟุตบอลเป็นสงครามไหม

มันสนุกตรงนี้แหละ ตรงที่เราพยายามเปลี่ยนความหมายของฟุตบอล แน่นอนว่าถ้าฟุตบอลตามประเพณีนิยม มันถอดแบบมาจากสงคราม หรือการทำให้สงครามแลดูมีกติกา แล้วให้คนได้ระบายความรุนแรง ระบายความสะใจที่จะได้แข่งกันออกมา ฟุตบอลและกีฬากระแสหลักสะท้อนว่าสังคมเราอยู่ร่วมกันแบบไหน คนที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมเรามีแพ้มีชนะ มีการแข่งขัน มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มีคนได้เปรียบเสียเปรียบ คนที่แข็งแรงเท่านั้นจะได้ไปอยู่ตรงนั้น และคนที่แข็งแรงที่สุดคือผู้ชนะ กติกาเป็นแบบนั้น แต่ทำให้ทุกอย่างแลดูมีความศิวิไลซ์

แต่เรามองว่าแทนที่จะปล่อยให้สังคมเราอยู่กันด้วยกฎเกณฑ์แบบนั้น ประกอบสร้างและผลิตซ้ำผ่านฟุตบอล แล้วก็ผลิตซ้ำอีกเรื่อยๆ จนกลายเป็นแฟชั่นความรุนแรง เราลองเปลี่ยนความหมายมันใหม่ สู้กันตั้งแต่การนิยามความหมายเลยได้ไหม เราพลิกความคิดความเชื่อที่อยู่ในสนามฟุตบอลใหม่หมด เพราะเราเชื่อว่าเราเปลี่ยนสังคมได้ เรากำลังบอกคนอื่นว่าสังคมเปลี่ยนได้ สังคมจะไม่ใช่สังคมแบบที่เราเป็นอยู่อย่างนี้ก็ได้ คุณลองไปดูสนามฟุตบอลของบูคู แล้วคุณจะเข้าใจสังคมใหม่ได้เหมือนกัน

ฟุตบอลของบูคูเป็นอย่างไร

ฟุตบอลในความหมายของบูคู คือพื้นที่รวบรวมคนที่แตกต่างหลากหลายเข้าไปอยู่ด้วยกัน ทำให้คนทุกคนสามารถอยู่ได้ในพื้นที่นั้น โดยไม่ทำร้าย ไม่ทำลายกัน เป็นพื้นที่ของสันติภาพและความเท่าเทียม สงครามมีหน้าที่ทำลายคนอื่นแล้วคุณชนะ มีแค่ผู้แพ้ผู้ชนะ จะไม่เหลือพื้นที่ให้ผู้ที่อ่อนแอ แต่ฟุตบอลในนิยามของบูคู เรายอมรับว่าไม่มีมนุษย์คนไหนเท่ากันมาตั้งแต่เกิด แต่ว่าพอมาอยู่ที่นี่เราจะดูแลให้เท่าเทียมกัน

สมาชิกทีมฟุตบอลบูคู สมาชิกอายุน้อยสุดของทีมคือ 9 ขวบ และอายุเยอะที่สุดคือ 41 ปี (อันธิฌา) รวมผู้คนหลากหลายเพศ หลากหลายภาษา และหลากหลายศาสนาอยู่ในทีม
สมาชิกทีมฟุตบอลบูคู สมาชิกอายุน้อยสุดของทีมคือ 9 ขวบ และอายุเยอะที่สุดคือ 41 ปี (อันธิฌา) รวมผู้คนหลากหลายเพศ หลากหลายภาษา และหลากหลายศาสนาอยู่ในทีม ภาพ l Buku Classroom

อย่างการแพ้ชนะ มีวิธีสอนเด็กๆ ในทีมยังไง

เราสอนทุกอย่างผ่านสนามฟุตบอล ตั้งแต่การสร้างทีม เรารับเด็กทุกเพศสภาพเข้ามาอยู่ในทีม เด็กผู้ชายจะรู้สึกมหัศจรรย์ตั้งแต่เห็นเด็กผู้หญิงเยอะมากอยู่ในสนามฟุตบอล เป็นภาพที่น่ารักนะคะ เด็กผู้ชายอายุ 14-15 ปี ตั้งแต่เกิดจนโตมา เคยแต่เตะบอลกับเด็กผู้ชายด้วยกัน ไม่เคยเตะบอลกับเด็กผู้หญิง นี่เป็นครั้งแรกที่จะเตะบอลกับเด็กผู้หญิง เขาจะกังวลว่าแล้วต้องเตะแรงขนาดไหน เตะแค่นี้แรงไป แค่นี้เบาไป จะถูกตัวเด็กผู้หญิงได้มั้ย มีรายละเอียดเยอะไปหมด ซึ่งในชีวิตประจำวันเขาไม่มีโอกาสได้มาเรียนรู้ เพราะเขาถูกแยกเลยว่าอย่าไปยุ่งกับกลุ่มนั้น แต่ต้องเล่นกับกลุ่มนี้ เขาไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ว่าจะปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีความแตกต่างจากเราหลายๆ ด้าน หรือมีสรีระร่างกายที่อ่อนแอกว่าให้เหมาะสมพอดีอย่างไร

ขณะเดียวกัน เด็กผู้หญิงก็ไม่มีโอกาสอย่างนั้นเหมือนกัน เด็กผู้หญิงบางคนอาจห้าวๆ หน่อย ไม่กลัว แค่ลังเลว่าทำยังไงจะวิ่งแข่งให้ได้ ทำยังไงจะเอาบอลจากเด็กผู้ชายให้ได้ แต่เด็กผู้หญิงบางคนจะรู้สึกกลัว มีผู้ชาย 2-3 คนอยู่ในสนามนี้ เขาก็จะไปยืนอยู่ในมุมมืดๆ อยู่ห่างๆ ไปเลย หรือตัดสินใจไม่ลงเล่น ขอดูก่อน

แต่พอเล่นด้วยกัน ก็จะเกิดการเรียนรู้ขึ้นผ่านเกม เราไม่จำเป็นต้องอธิบายว่าเขาจำเป็นต้องรู้สึกอย่างไร เขาจะเรียนรู้จากสิ่งที่เขาเห็นแล้วค่อยๆ เติบโต ในมุมของเด็กผู้หญิงที่นั่งเล่นอยู่ขอบสนามแล้วเห็นเพื่อนเล่นกับเด็กผู้ชาย สุดท้ายก็จะเห็นว่าไม่มีเด็กผู้ชายคนไหนลุกมาบีบคอเด็กผู้หญิงแบบที่เขาอาจจินตนาการไว้แต่แรก ครั้งต่อไปเขาก็กล้าลงเล่นด้วย ปลดล็อก กล้าเดินออกมาจากมุมที่ยืน เด็กผู้หญิงที่กล้าเล่นกับเด็กผู้ชายตั้งแต่แรกก็จะรู้สึกมีส่วนร่วม รู้สึกว่าเขาวิ่งได้ไม่ต่างจากผู้ชายมาก เล่นกับผู้ชายได้

ส่วนผู้ชายก็จะรู้สึกสนุกกับเกมแบบใหม่มากขึ้น เป็นเกมที่เขาไม่จำเป็นต้องอัดบอลแรงๆ แต่เล่นเป็นทีมเวิร์ก ซึ่งเป็นทีมที่มีมีเด็กผู้หญิงอยู่ด้วย เราถึงยืนยันอยู่เสมอว่าเราไม่ทำทีมหญิงล้วน เพราะเป้าหมายของเราไม่ใช่การสร้างทีมหญิงล้วนเพื่อไปแข่งฟุตบอลกับผู้หญิงด้วยกัน แต่เราอยากสร้างเวทีสำหรับการเรียนรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ

 

เมื่อผสมผสานกันอย่างนี้ แล้วเวลาทีมบูคูไปแข่ง จะแข่งกับทีมลักษณะไหน

เราจะตกลงกับทีมฟุตบอลหญิงที่เราแข่งด้วยว่า เขารับได้แค่ไหนกับการมีเด็กผู้ชายอยู่ในทีม บางทีมเขายืนยันว่าไม่เอาเด็กผู้ชายเลย นี่แหละคือสิ่งที่น่าสงสาร เพราะสุดท้ายเด็กผู้ชายในทีมเราก็ต้องออกไปอยู่ข้างสนาม หรือถ้าจะประนีประนอมกันได้มากที่สุด ก็คือให้ไปเป็นโกล หรือไม่เราก็แบ่งเด็กผู้ชายให้เขา แล้วแต่การตกลงกันในแต่ละครั้ง

เด็กผู้หญิงบางคนมีแรงเยอะ เตะเหมือนผู้ชายไม่มีผิดเลยนะ บางคนแรงมากจนไปโดนสป็อตไลต์ข้างสนามแตก มันสะท้อนว่าบางทีสรีระที่ต่างกัน ก็ไม่ได้ทำให้การเล่นต่างกัน แต่เราจะบอกทุกคนไว้เสมอว่าต้องเล่นเบา เพราะถ้าคุณเล่นเบาแล้วคุณจะเอาชนะอีกฝ่ายได้ คุณต้องชนะด้วยเกม ไม่ใช่ด้วยความรุนแรง ไม่ใช่ด้วยการเตะอัดเข้าไป ไม่ใช่เห็นโกลเป็นผู้หญิงแล้วต้องเตะให้เขาเป็นลมไป แล้วเวลาเข้าแย่งบอล เราจะเตือนบ่อยมากว่าให้ระวัง อีกข้อที่เราพูดตั้งแต่ก่อนลงเล่นคือการจ่ายบอลให้เพื่อน ไม่ใช่เล่นอยู่คนเดียว

ยิ่งถ้าในเกมนั้นมีคนใหม่ๆ ที่ไม่เคยเตะบอล แล้วเขาอยากเข้ามาท้าทายตัวเอง อยากมาเล่นกับเรา เราจะแนะนำคนใหม่ และกระตุ้นให้ทุกคนรู้ว่า เวลาเล่นต้องเล่นด้วยกันแบบไม่ทิ้งใครไว้ บางครั้งเขาจะรู้สึกโดยอัตโนมัติว่าเขาต้องส่งบอลให้คนที่เขาไว้ใจ อยากส่งบอลให้คนเก่งๆ เพราะกลัวว่าเดี๋ยวอีกฝ่ายจะแย่งบอลได้ถ้าส่งให้คนอ่อนๆ  เราก็จะพยายามกระตุ้นให้เขาส่งบอลให้ทั่วถึง ส่งให้ครบคน

มีบางคนที่เขาเล่นกับเรานานๆ เข้า จนเขาจำวิธีคิดเหล่านี้ได้ เขาก็จะเป็นคอยเตือนรุ่นต่อไปว่าให้ทำอย่างนี้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องบอก เขาได้บอลแทนที่เขาจะส่งไปให้คนที่เก่ง เขาส่งไปให้คนที่อ่อนที่สุด แล้วกลายเป็นว่าพอส่งให้คนที่อ่อนที่สุด ทุกคนเอาใจช่วย นี่คือการเปลี่ยนวิธีคิดในการเล่นบอลไปโดยสิ้นเชิง

แล้วถ้าเกิดคนอ่อนทำให้ทีมแพ้ สิ่งที่ตามมาคืออะไร

เราจะไม่มีวัฒนธรรมของการตำหนิกัน เฮ้ย! เธอพลาด เธอส่งบอลผิด แต่เรามีวัฒนธรรมที่ว่า เฮ้ย! เอาใหม่ ลองใหม่ การเตะบอลของบูคูจะสนุกมาก เวลาทำอะไรผิดพลาดแทนที่จะโกรธกัน เราจะขำ แต่มันจะเครียดก็ตอนที่มีคนเตะแรง เนื่องจากหลายคนในทีมของเราไม่ได้เล่นบอลในวัฒนธรรมที่มีความรุนแรงตั้งแต่ต้น ดังนั้นเด็กนักฟุตบอลกลุ่มนี้เขาจะอ่อนไหวกับความรุนแรงมาก

น้องบางคนจะรับรู้เรื่องความรุนแรงได้เร็วเป็นพิเศษ เพราะเขาอาจเคยถูกคุกคามด้วยคำพูดหรือการปฏิบัติด้วยความรุนแรงบางอย่างมาในชีวิตประจำวัน ถ้ามีอะไรรุนแรงนิดหนึ่ง เด็กกลุ่มนี้จะหยุด สังเกตดู หรือบางคนจะอารมณ์ขึ้นเร็ว นี่คือสิ่งที่เราเคยเห็นมาจากประสบการณ์ทำทีม ซึ่งก็เติบโตไปพร้อมๆ กับเขา ลองผิดลองถูกไปด้วยกัน

อันธิฌา แสงชัย

เคยมีบางสถานการณ์ที่คุมเรื่องความรุนแรงไม่ได้ไหมคะ

ไม่มีค่ะ แต่เคยมีเหตุการณ์ขำๆ เหตุการณ์นึง คือตอนนั้นเรากำลังซ้อมอยู่ดีๆ มีผู้ชายอายุ 40-50 ปี เดินเข้ามาเลยแล้วทำตัวเป็นโค้ช “มา! เดี๋ยวสอนให้ เตะไม่เป็นกันเลย ไม่เก่ง แปลูกมันต้องอย่างนี้” ผู้หญิงก็มองกัน อะไรของเขาเนี่ย มาทำอะไร ก็ไม่มีใครฟัง ทุกคนก็เดินหนี วงแตกไป คือเขาไม่ได้มาห้ามนะคะ ไม่ได้มาแซวหรือดูถูก แต่จะมาสอนให้ ซึ่งสุดท้ายเราก็ต้องบอกเขาว่า “น้องๆ เขาหัดกันเองได้ค่ะ”

ถามว่าทำไมเราถึงปฏิเสธแบบนั้น เราค่อนข้างละเอียดอ่อนเรื่องคนที่จะมาสอน เราไม่ได้คิดว่าเด็กไม่จำเป็นต้องเรียนทักษะฟุตบอลนะ ไม่ใช่ เราให้ความสำคัญอยู่แล้ว แต่ในวงการฟุตบอลกระแสหลัก คนที่เป็นโค้ชจะโดนฝึกมาแบบหนึ่ง คือฝึกมาเพื่อฝึกเด็กต่อให้เป็นนักรบ แล้วจะคัดตัวนักรบดีๆ เก่งๆ เอาไปไว้ในทีม ซึ่งจะสร้างลำดับชั้นทันที ใครเก่ง ใครไม่เก่ง เราไม่อยากเอาวัฒนธรรมแบบนั้นมาใช้ในทีมเรา เพราะพอเกิดดาวขึ้นมาก็ต้องมีคนกระจอก แต่ในเมื่อทีมเรามันรวมพวกกระจอก เราจะเป็นดาวกันทั้งหมด ต้องใช้วิธีคิดคนละแบบ

ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่เราระมัดระวังมากๆ แม้ว่าเขาจะมีเจตนาดี แต่ตราบใดที่เขายังไม่ได้ทำงานใกล้ชิดกับเรา ยังไม่เข้าใจมุมมองเรื่องเพศสภาพ เราก็จะไม่ให้เขามาฝึกเรา เพราะว่าจะทำให้บรรยากาศตรงนี้เปลี่ยนไปเลย แล้วเด็กเขาชินนะคะ ไปโรงเรียนเขาต้องตัวแข็ง เวลาที่คนมีอำนาจเดินเข้ามา เช่นเจอครู เขาจะตัวแข็ง ทุกสิ่งเขาจะไม่สามารถคิดสร้างสรรค์ได้เอง จะรอคำสั่ง ซึ่งเราทำลายความเคยชินต่อการใช้อำนาจนี้ไปหมดแล้ว

แต่ในทางกลับกัน เวลาอยู่ในสนามบอล ต้องยอมรับว่าเราเป็นคนมีอำนาจมากที่สุด เราอายุเยอะกว่าเขา เราเป็นคนดูแลทีมนี้ เราเป็นเหมือนเจ้าของสถานที่ เพียงแต่เราใช้สถานที่นี้ในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งไม่เหมือนแบบที่เขาคุ้นเคย เราบอกว่า เอาล่ะ เราจะทำแบบนี้ เราจะเล่นอีกแบบหนึ่ง เราออกแบบฟุตบอลให้เป็นแบบใหม่ไว้หมดแล้ว

 

คนเก่งมาสอนก็ไม่รับ แล้วทีมบูคูฝึกทักษะฟุตบอลยังไง

ทักษะเรื่องฟุตบอลเรียนกันได้ แล้วเราก็ได้จริงๆ นะ หลายคนเตะเก่งขึ้นมาเอง และมันเริ่มสนุกตอนมีน้องๆ ที่เคยเรียนมาบ้าง หรือเป็นนักฟุตบอลของจังหวัดเข้ามาอยู่ในทีมเราด้วย เขามาเข้าทีมเราเพราะปกติเขาจะได้เตะบอลก็ต่อเมื่อมีการแข่งขันแค่ปีละครั้ง ได้ซ้อมประมาณ 1-2 เดือน แล้วที่เหลืออีก 10 เดือนไม่ได้เตะ ทั้งๆ ที่เขามีทักษะและอยากพัฒนา เขาเลยมาเล่นกับเรา เราก็บอกว่ามาได้เลยค่ะ เขาถามว่าต้องจ่ายตังค์มั้ย เราบอกไม่ต้องจ่าย มาเลย เขาก็ถามต่อ แล้วเตะกันยังไง เราก็บอกว่าเตะด้วยกันนี่แหละ คือทำทุกอย่างให้มันง่ายมาก

พอถึงเวลา น้องๆ กลุ่มนี้ก็มา เข้ามาถึงใส่รองเท้าฟุตบอลเงียบๆ แล้วเดินลงสนามไป ในที่สุดก็จะเริ่มรู้จักกัน แล้วเขาก็จะมีรูปแบบการสอนเพื่อน เขาเคยฝึกเตะบอล แปบอล มีสูตรของเขา ก็แนะนำกัน คนที่เตะไม่เก่งเลย ไม่เคยเตะเลย ก็จะค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา แม้มันจะช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร แต่สิ่งที่เข้มแข็งมากกว่าคือวัฒนธรรมที่เราเปลี่ยนมัน

การฝึกทักษะของทีมบูคูซึ่งเน้นการทำเกม และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง
การฝึกทักษะของทีมบูคูซึ่งเน้นการทำเกม และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง คลิกชมได้ที่ภาพ

อย่างนักฟุตบอลที่ชินกับการเตะตามแบบแผนมาก่อน แล้วมาเจอวัฒนธรรมการเตะบอลแบบใหม่ เขาต้องปรับตัวยังไงบ้าง

เราก็ต้องบอกเขาแต่แรก ซึ่งเขาก็ฟังเรานะ เขาเตะเบาได้ เขาเรียนรู้ได้ แต่แน่นอนว่าอาจมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ้าง มีการปะทะบ้าง เป็นเรื่องปกติ  เช่น วิ่งมาชนกันแล้วนิ้วซ้น เราก็พาไปโรงพยาบาล เราให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยมากที่สุด เวลาใครไม่สวมรองเท้าเราจะวิ่งประกบ แล้วคอยดูเวลาเขาเข้าบอล คอยเตือน “ระวังเท้าๆ” ทุกครั้งจะเตรียมถุงมือให้คนที่เป็นโกล ซึ่งเขาชอบไม่ใส่กัน เขาจะมองว่าไม่ใส่มันเท่กว่า แต่เราจะคอยเตือนว่าให้ใส่ ถ้าไม่ใส่ก็ต้องระวัง

ถ้าลูกมาแรง เราจะบอกเลยว่าไม่ต้องรับ หลบเลยนะ ไม่ใช่ถ้าลูกมาแรงต้องพยายามรับ ปล่อยมันเข้าไปเลย สิ่งที่เราสอนกันไม่เหมือนกับข้างนอก เราเล่นเพื่อวัตถุประสงค์อีกแบบ เราเล่นเพื่อความสนุกสนาน เราเล่นเพื่อการเติบโตไปด้วยกัน คือชนะวันนี้แล้วไง ก็แยกย้ายกันกลับบ้าน อาทิตย์ที่แล้วใครชนะจำกันได้มั้ย จำไม่ได้ ดังนั้นการที่ลูกมาแรง เราป้องกันมือเราดีกว่า มือเราสำคัญกว่าการชนะหรือแพ้

 

ทุกคนสนุกกับการเล่นแบบนี้ไหม

สนุกค่ะ เราสนุกกับการเล่นเป็นทีมเวิร์กและการทำเกม ทุกครั้งที่แบ่งทีมจะไม่มีคนเดิมอยู่ทีมใครตลอดเวลา เราจะเวียนกัน บาลานซ์กันว่าทีมนี้ต้องมีเด็กผู้ชาย มีคนที่อ่อนที่สุด คนที่เก่งที่สุด ไปอยู่คนละทีม แล้วถ้ามีคนมาใหม่ก็ต้องไปเกลี่ยกับคนที่เก่งกว่า

แบ่งยังไงว่าคนไหนเล่นตำแหน่งไหน

แบ่งง่ายมากเลย แบ่งตามใจเขา เขาจะรู้เองว่าเขาอยากเตะตรงไหน บางครั้งเขาไม่ได้เก่งสำหรับตำแหน่งนั้นนะคะ แต่เขาชอบ เขาอยากอยู่ตรงนั้น ก็ต้องให้เขาอยู่ ใครจะอยู่ตรงไหนก็คุยกันเองในทีม แต่สุดท้ายพอเล่นไปเรื่อยๆ เขาจะรู้เองว่าเขาควรอยู่ตรงไหน เช่น ถ้าทีมนี้มีกองหน้าอยู่กันแล้ว 3 คน จะมีคนหนึ่งที่แบ่งมาเล่นตำแหน่งอื่น มันจะตกลงกันไปเองโดยไม่ต้องพูดอะไรเป็นทางการ เขาจะมองและประเมินกันเอง

 

ทีมฟุตบอลบูคูเจอความไม่เข้าใจจากสังคมอย่างไรบ้าง

เราเจอทุกอย่างนะคะ ไปเดินตลาดก็มีคนแซว ตอนเล่นฟุตบอลก็มีเด็กวัยรุ่นผู้ชายเกาะริมสนาม มาพากย์บอลล้อเลียน เด็กผู้หญิงก็เตะไป ซึ่งมันแย่ ถ้าเราเจออย่างนั้น เราจะพยายามเข้าไปสื่อสาร เพราะเราก็เข้าใจว่าเด็กผู้หญิงเตะบอลไม่ใช่สิ่งที่เขาเคยชินในชีวิตประจำวัน เขาคงคิดว่าต้องเข้าไปแซวเพราะมันตลก “เฮ้ย! เตะบอลไม่ถูกเลย ต้องสอน” เราก็จะเข้าไปบอกว่าอย่าแซว เขาก็ฟัง ถ้าเราจริงจังในการบอก เขาก็จะรู้ถึงขอบเขต เราไม่ได้ไปเตือนเขาแบบก้าวร้าวรุนแรง อย่างเด็กผู้ชาย ถ้าเราไม่ไปสนใจเขาก็หยุด

มีเสียงจากคนในพื้นที่ยังไงบ้างเวลาเห็นเด็กใส่ฮิญาบ (ผ้าคลุมผมของผู้หญิงมุสลิม) เล่นฟุตบอล

มีเด็กใส่ฮิญาบเล่นหลายคนค่ะ เรื่องนี้เป็นเรื่องลึกเข้าไปอีกชั้น คือเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิในการเลือก การมองเห็นคุณค่าในตัวเอง การมีความคิดความเชื่อทางศาสนาหรือไม่เชื่อเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลมากๆ สำหรับเด็กๆ บูคู เราไม่เคยบอกน้องๆ เลยว่าต้องแต่งตัวยังไง แล้วแต่เขา เราจะบอกแค่ว่าถ้าเป็นโกลต้องใส่ถุงมือ และถ้าเล่นควรจะใส่รองเท้า จะเป็นเหตุผลเรื่องความปลอดภัย แต่ไม่ใช่เหตุผลเรื่องความเหมาะสมในลักษณะเชิงวัฒนธรรม

ส่วนคนในพื้นที่ ไม่มีปัญหากับการที่เด็กใส่ฮิญาบเล่นฟุตบอล แต่เขามีปัญหากับการที่เด็กผู้หญิงเด็กผู้ชายเตะบอลด้วยกัน เขาขอร้องว่าอย่าเอามาเตะด้วยกันได้มั้ย อยากเตะก็เตะไปเลย มาเตะรวมกันทำไม มาอยู่ใกล้ชิดกัน เขารับไม่ได้ แต่เราจะให้เหตุผลเป็นเรื่องเป็นราว อธิบายให้เขาฟังว่า อย่างเดินตลาดนัด มันก็ไม่ได้แยกว่าตลาดนี้เป็นผู้หญิง ตลาดนัดนี้เป็นผู้ชาย แล้วในสนามฟุตบอลก็ไม่ได้ต่างอะไรจากตลาดนัด ไม่ใช่ว่าเด็กๆ เดินเข้ามาแล้วจะหื่นทันที สิ่งที่เขากังวลคือเด็กจะมีปัญหาเรื่องชู้สาว ซึ่งพอเขามาเห็น มันก็ไม่มีภาพแบบนั้น เวลาเด็กๆ เล่นฟุตบอลกัน เรื่องเพศสภาพก็เริ่มบางลง แทบจะกลายเป็นสิ่งที่คิดถึงหลังสุดเลย

อีกอย่างที่เราค่อยๆ อธิบายกับคนนอกคือ เด็กที่ไม่ใช่ผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชาย ถ้าเขาอยากเตะบอล จะให้เขาไปเตะกับทีมไหน เพราะฟุตบอลกระแสหลักมันถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ต้นว่าต้องเป็นเพศนี้ สุดท้ายก็กลายเป็นไม่มีพื้นที่ เด็กบางคนที่เป็นปอแน (ภาษามลายู แปลว่า กะเทย) แต่ไม่บอกใคร แล้วเขามาเตะกับทีมเรา เขาก็ไม่ได้อยากบอกว่าเขาเป็นเพศอะไร นี่คืออีกเหตุผลว่าทำไมทีมเราถึงให้เด็กทุกเพศเตะรวมกัน เราถึงบอกคนที่ไม่เข้าใจว่าให้ลองมาดูก่อน ว่าเราเตะกันยังไง

หลังจากทำทีมมาเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเด็กๆ ทีมบูคูบ้าง

เด็กๆ โตขึ้นทั้งทักษะและความคิด หลายคนสามารถพูดออกมาได้ว่าเขาไม่ชอบความรุนแรง หลายคนสามารถพูดออกมาได้ว่าทำไมไม่มีพื้นที่ให้ผู้หญิงเริ่มเรียนรู้สิ่งที่เขาอยากรู้ ฟุตบอลเป็นเพียงจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นเขาจะเห็นมิติอื่นๆ

นอกจากพื้นที่ในสนามฟุตบอลแล้ว ร้านหนังสือบูคูก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำงานเรื่องการยอมรับความหลากหลายทางเพศและสิทธิมนุษยชนควบคู่กันไปด้วย พื้นที่ตรงนี้ทำให้เกิดอะไรขึ้นในชุมชนบ้าง

เวลาเราจัดห้องเรียนเพศวิถีที่ร้านหนังสือบูคู คนที่มาครึ่งหนึ่งเป็นครอบครัว เป็นคนในชุมชนทั่วๆ ไปที่อยากเรียนรู้เรื่องนี้ และทุกครั้งจะต้องมีคำถามหนึ่งเสมอๆ คือ “ทำยังไงให้หาย”

พ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกหลานหายจากการเป็น LGBT เขาอยากรู้ว่าเขาจะรักษาได้ยังไง ซึ่งเราก็ได้แลกเปลี่ยนกันในเรื่องความหลากหลายของเพศสภาพ และเคลียร์ความเข้าใจที่ว่า คนมาบูคูแล้วจะกลายเป็น LGBT จริงๆ คนที่มามีทั้งคนที่เป็นอยู่แล้วและไม่ได้เป็น เราไม่ได้ทำให้เขาเป็นหรือไม่เป็น มีบ้างเหมือนกันค่ะบางคนที่มานั่งฟังแล้วปิ๊งอะไรขึ้นมาได้ แล้วเขาเลยคลี่คลายตัวเองได้ว่า LGBT เป็นอย่างนี้นี่เอง เพราะที่ผ่านมาเขาไม่เคยแน่ใจเลยว่า ตกลงเขาเป็นอะไรกันแน่ เขาไม่เคยมีพื้นที่ที่จะได้มาเรียนรู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร

บูคูดูเหมือนทำหลายอย่าง แต่ประเด็นที่เราทำจริงๆ คือเรื่องเพศสภาพ แต่ในฐานะร้านหนังสือ เรามองว่ามันเป็นพื้นที่ทางปัญญา แล้วพอเป็นพื้นที่ทางปัญญา เราก็ต้องมีเสรีภาพทางความคิด ต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกคนไม่ว่าจะเห็นต่างกันแค่ไหน คุยกันให้ได้ แล้วเราจะยินดีมากเลยนะ ถ้าใครมีความคิดสุดโต่งแล้วอยากมาคุย เรายิ่งรู้สึกดี เพราะว่าคุณไม่มีพื้นที่ระบายออก พอคุณไม่มีพื้นที่ให้ระบายออก คุณก็ต้องใช้ความรุนแรง คุณจะเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร คุณก็มาพูดได้นะ แต่เงื่อนไขคือเมื่อคุณมาอยู่ในร้าน คุณเอาปืนไปเก็บไว้ก่อน แล้วคุณก็จะไม่ใช่คนที่มีอำนาจมากกว่าชาวบ้านหรือนักศึกษา คุณจะมีอำนาจเท่าๆ กับทุกคน ทีนี้คุณอยากคุยอะไรก็คุยกันไปสิ

เราไม่เคยกันใครออก เรายินดีต้อนรับทุกคน ในเชิงประเด็นมันงอกเงยตามลักษณะของคนที่เข้ามา หลายๆ วงเสวนาไม่ได้เกิดขึ้นจากเรา แต่เกิดขึ้นจากเพื่อนเรา เพื่อนเราอยากทำเรื่องนี้ แต่ไม่รู้จะคุยเรื่องนี้ที่ไหน ไปคุยในมหาวิทยาลัยก็โดนแน่ งั้นมาคุยร้านบูคูดีกว่า เราเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่กลาง

อันธิฌา แสงชัย

จำได้ว่าช่วง 1-2 ปีที่แล้ว หลังมีสกู๊ปข่าวบูคูเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง ตอนนั้นทั้งทีมฟุตบอลและร้านหนังสือบูคูเจอแรงกดดันหนักจากคนในพื้นที่มาก อยากทราบว่ารับมือกับสถานการณ์ช่วงนั้นอย่างไรคะ

เป็นวาระที่น่าสนใจค่ะ ต้องบอกก่อนว่า คนในพื้นที่เขารู้กันอยู่แล้วว่าเราทำกิจกรรมแบบนี้ เพราะเราโพสต์เฟซบุ๊กตลอดเวลา ไม่ได้บอกว่าเป็นกิจกรรมปิดลับ ชวนมาเตะบอลตลอด บอกทุกคนเลยนะคะ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ทุกคนรู้ แต่ไม่พูดถึง ไม่ทำให้มีตัวตน บูคูมีข่าวเป็นภาษาอิตาลี ภาษาอินโดนีเซีย ออกไปข้างนอกเยอะมาก แต่สื่อท้องถิ่นไม่เคยพูดถึงเลย เราว่ามันเป็นความลำบากใจว่าเขาจะนำเสนอยังไงดี เพราะเขาเองก็อิหลักอิเหลื่อ จะพูดไปทิศทางไหนก็พูดไม่เต็มปาก เขาเลยไม่นำเสนอไปเลย แต่ไม่ใช่ไม่มีใครรู้ เรายืนยันได้

แต่พอเป็นข่าวขึ้นมา เรื่องนี้ตลกมาก เพราะภาพที่ปรากฏออกมา มันราวกับว่า ตายจริง! มีของอย่างนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วยหรือ ทั้งที่มันเกิดขึ้นนานแล้ว เข้าใจว่าเป็นจังหวะที่มีสื่อหนึ่งมาถ่ายทำสารคดี แล้วสื่อสารออกไปในแบบของเขา ซึ่งแน่นอนว่างานของเรามันมีประเด็นที่ท้าทายหลายอย่างมาก แล้วความท้าทายเหล่านั้นมันไปปรากกฎผ่านสื่อ ซึ่งต่างจากการอยู่ในสถานการณ์จริง ที่ความท้าทายนั้นจะนวลๆ อยู่ในบรรยากาศ ไม่แหลมมาก คนพื้นที่จะรู้สึกว่าท้าทาย แต่ไม่ได้กระแทกเขา ทีนี้พอมันไปอยู่ในสื่อหลัก เผยแพร่ในบริบทใหญ่ที่หลุดออกไปจากพื้นที่ของเรา มันกลายเป็นประเด็นที่แหลมมาก เหมือนเป็นหอกยาวพุ่งใส่ตา ทะลุเข้าไปข้างใน อยู่กันไม่ได้เลยทีนี้ เขาก็ร้อนรน กระวนกระวายกันใหญ่

บทสนทนาที่ร้านหนังสือบูคูก็ธรรมดามาก เช่น เราชอบผู้ชายหรือเราชอบผู้หญิงกันแน่ บางทีอยู่ในสนามบอล เตะกันเสร็จ ก็คุยเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติ เมื่อก่อนเราชอบผู้หญิง แต่ตอนนี้เราชอบผู้ชาย เราไม่แน่ใจ ตอนเราพูดมันเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่การนำเสนอในสื่อ มันเหมือนกับการเอาเรื่องที่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยมาปล่อยใส่พื้นที่สาธารณะ ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจว่า นี่ไงเรากำลังสอนให้เด็กเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สอนให้เด็กเป็นในสิ่งที่ผิด แล้วเขาทนไม่ได้ อยากปกป้อง คล้ายเรื่องโทษประหาร การที่คนออกมาสนับสนุนโทษประหารเป็นเพราะเขาอยากปกป้องคนที่เหลือ เขารู้สึกว่าสิ่งที่นักสิทธิมนุษยชนทำจำกัดสิทธิของเขา ทำให้อันตรายบางอย่างเพิ่มขึ้น ความรู้สึกตีกลับจึงแรงมาก

 

ในช่วงนั้นมีการข่มขู่คุกคามมาถึงตัวคุณไหม

เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียค่ะ เช่นส่งข้อความมา แต่เราคิดว่ามีโอกาสถึงตัวได้ เนื่องจากเราทำงานในพื้นที่ความรุนแรงอยู่แล้ว เราให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย ทั้งของทีมงาน ตัวเราเอง และของทุกคนที่เกี่ยวข้อง พอโดนโจมตีทางโซเชียลมีเดียปุ๊บ เรารู้ทันทีว่ามีโอกาสไปสู่เชิงกายภาพ

เราเคยถูกฝึกมาว่าในสถานการณ์อย่างนี้ เราควรทำอะไร เราต้องปิดโปรไฟล์ และปิดให้เด็กบางคนในทีมด้วย ระบบการทำงานด้านความปลอดภัยเกิดขึ้นทันที มีการส่งสารถึงข้างนอก หาคนที่ตอบสนองพร้อมให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน เพื่อช่วยให้ทุกคนปลอดภัยทั้งเด็กและตัวเราเอง

ช่วงที่เขาด่าบูคูกันรุนแรง เราไม่ออกไปไหนเลย เพื่อนต้องเอาอาหารมาส่ง เพราะเราไม่แน่ใจว่าใครอ่านเฟซบุ๊กนั้นแล้วเห็นหน้าเราบ้าง ช่วงเวลาที่รุนแรงและร้อนแรงมากๆ เราจะมีกลไกปกป้องกันความเสี่ยงเอาไว้ก่อน เลยทำให้กรณีของเราไม่ไปสู่จุดที่เกิดความรุนแรงเชิงกายภาพ ถ้าเราไปตอบโต้รุนแรง หรือทำให้เกิดข้อขัดแย้งหนักขึ้น เราเดินอยู่ดีๆ อาจจะโดนอะไรที่ไม่คาดคิดก็ได้

  

สิ่งที่คุณฝึกมาเรียกว่าอะไร

เป็นคอร์สฝึกเรื่องความปลอดภัย (Security Training) สำหรับนักสิทธิมนุษยชนค่ะ ตั้งแต่การประเมินความเสี่ยงของการทำงาน เวลาพาเด็กไปเตะบอล เราจะประเมินความเสี่ยง ประเมินสนามฟุตบอลทุกครั้ง ไม่ใช่อยู่ดีๆ สุ่มสี่สุ่มห้า จะลงไปเตะได้ทุกคน ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกอย่างผ่านการคิดมา เราจะกลับยังไง เราจะไปยังไง เราจะเตะยังไง ถ้าเกิดสิ่งนี้จะทำยังไง แม้กระทั่งเด็กเราด้วยกัน ถ้าเกิดมีการทะเลาะ รังแก คุกคาม ล้อเลียนกันเอง จะมีระบบการจัดการข้างในยังไง

สิ่งที่เราทำ เราพยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนที่เขาไม่เคยมีพื้นที่ปลอดภัย เพราะฉะนั้นความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด กิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทั้งหมด ถ้าประเมินแล้วว่าไม่ปลอดภัย เราจะไม่ทำ หลังจากห้องเรียนเพศวิถีโดนโจมตี เราถามคนที่จะมาเข้าร่วมห้องเรียนเพศวิถีช่วงนั้นว่าสถานการณ์ไม่ค่อยดี เรายกเลิกมั้ย จัดที่ร้านบูคูไม่ได้แน่ๆ แต่ทุกคนไม่ยอมเลิก ยืนยันว่าอยากมา เราก็ไปจัดที่บ้าน ล้อมวง ทำห้องเรียนเพศวิถีตรงนั้น เราต้องปลอดภัยที่สุด และเพื่อความปลอดภัย หลายครั้งเราจึงทำงานแบบไม่ประชาสัมพันธ์ แต่ผลที่ได้กลับตรงข้าม คนเริ่มรู้ว่าเราทำงานเรื่องนี้เข้มข้น ชัดเจน คนอยากเรียนรู้มีเยอะ เขาเดินเข้ามาเอง กลายเป็นว่าพอเราทำกิจกรรม เราไม่จำเป็นต้องประกาศ คนก็เต็มแล้ว เพราะที่ร้านหนังสือบูคู บางเรื่องพูดไม่ได้ เรายืนยันว่าพูดได้ บางเรื่องฟังไม่ได้ เรายืนยันว่าฟังได้

ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่แบบบูคูมีมากน้อยแค่ไหน

ช่วงเราทำแรกๆ พื้นที่แบบนี้อาจมีน้อย แต่ตอนนี้เริ่มเหมือนสวนดอกไม้ที่มีหลากหลายพันธุ์ เริ่มมีพื้นที่อื่น มีหอศิลป์ มีร้านกาแฟอื่นๆ เกิดขึ้น มีนักกิจกรรมในพื้นที่ทำตรงนั้นตรงนี้ เราคิดว่ามันงดงาม และไม่จำเป็นต้องทำที่บูคูเท่านั้น บางครั้งเราจัดงานเองยังรู้สึกว่าอยากจัดที่อื่นที่ไม่ใช่บูคู อยากไปทำให้งอกเงยตรงนั้นตรงนี้ เรายินดีที่จะไปร่วมสร้างวัฒนธรรมแบบนี้ในที่อื่นๆ

เมื่อก่อนปัตตานีงานเชิงวัฒนธรรมน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นมิติเชิงสันติภาพ สิทธิมนุษยชน การลดความรุนแรง ถ้ามีงานเชิงวัฒนธรรมก็จะเป็นวัฒนธรรมแข็งๆ ประวัติศาสตร์ อารยธรรมโบราณ แต่ตอนนี้มีงานเชิงวัฒนธรรมสมัยใหม่มากขึ้น มีชีวิตของคนที่เรียกตัวเองว่าคนที่นี่ คนปัตตานี คนสามจังหวัด ถ่ายทอดว่าตัวเองมีไลฟ์สไตล์ยังไง มีกลุ่มเล่นสเก็ตบอร์ดที่ชวนเด็กผู้หญิงเล่นด้วย มีคนพยายามทำอะไรบางอย่างที่บอกว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว แล้วเราจะอยู่ยังไง มิตินี้ค่อยๆ เติบโตทีละนิดๆ ซึ่งเราคิดว่าเป็นมิติที่สำคัญ

คนรุ่นใหม่กลับไปอยู่ในพื้นที่มากขึ้น แล้วเขามีใจทำอะไรบางอย่าง เรามองว่าเขาอยากจะทำอะไรหลายอย่างให้กลบเสียงปืนให้หมด ยิงกันเหรอฉันไม่แคร์ ยิงไปสิ ฉันจะทำงานศิลปะ ฉันไปห้ามไม่ให้เธอยิงไม่ได้ แล้วฉันก็เบื่อแล้วที่จะเรียกร้องให้เธอเลิกยิง ดังนั้นฉันวาดรูปดีกว่า ฉันทำให้มันมีดอกไม้เยอะๆ ฉันจะพูดถึงเรื่องอาหาร ฉันจะเล่นดนตรีแล้วนะ ฉันจะดีดกีตาร์ ปืนจะดังก็ดังไป ฉันจะเล่นกีตาร์อยู่ตรงนี้

 ร้านหนังสือบูคู
ร้านหนังสือบูคู ณ ที่ตั้งปัจจุบัน ภาพ l ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี

งานเชิงวัฒนธรรมแบบนี้ตกเป็นเป้าหมายของการก่อความไม่สงบไหม

เราคิดว่าไม่ พื้นที่ทางวัฒนธรรมมีนัยยะทางการเมืองอยู่มาก มันเหมือนเป็นพื้นที่กันชน งานอย่างที่พวกเราทำไร้ความรุนแรงแน่นอน ดังนั้นใครมาใช้ความรุนแรงจะถูกถล่มจากทุกฝ่าย กลายเป็นว่าแทนที่คุณจะได้เปรียบในเชิงการเมือง คุณจะอ่อนด้อยและขาดความชอบธรรมในเชิงการเมืองทันที ร้านหนังสือบูคูก็เหมือนกัน เราถึงไม่ถูกโจมตีทั้งจากทางภาครัฐและฝ่ายขบวนการ เพราะจริงๆ เราเป็นพื้นที่กลาง แล้วเราชัดเจนว่าเราไม่ได้อยู่ฝ่ายไหน เราวิพากษ์วิจารณ์ได้ทั้งสองฝ่าย อย่างฝ่ายรัฐคุณมีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนแน่นอน ฝ่ายขบวนการฯ คุณใช้ความรุนแรง คุณละเมิดสิทธิมนุษยชนแน่นอน ขณะเดียวกันเราเปิดพื้นที่ให้เขาทั้งสองฝ่าย พื้นที่กลางตรงนี้เขาจึงต้องดูแลมันเอาไว้

นอกจากทีมฟุตบอลกับร้านแล้ว คุณยังเป็นอาจารย์ปรัชญาด้วย ปีหน้านี้มีวิชาอะไรน่าเรียนบ้าง

ปีหน้ามีวิชาที่ภูมิใจนำเสนอ คือศิลปะบำบัด น่าจะเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดวิชานี้ เราสอนวิชาสุนทรียศาสตร์มาตลอดตั้งแต่เริ่มทำงาน เรามองว่าเป็นวิชาที่ช่วยให้เปิดกว้างในเชิงการใช้ชีวิต และเน้นการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี และมีอีกวิชาที่เราดีไซน์เนื้อหาเข้าไปในหลักสูตรใหม่ คือปรัชญาเพศและความรัก วิชานี้ไม่ใช่ไม่เคยมีนะคะ เคยมีในหลักสูตรก่อนหน้านั้น เก่าๆ เลย แต่ว่าบางครั้งไม่เปิดสอน เราก็เอากลับมาดีไซน์ใหม่

 

คนสนใจปรัชญาน้อยลงไหมคะ

สำหรับนักศึกษา เรียนปรัชญาน้อยอยู่แล้ว น้อยมาโดยตลอด และมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ แต่เรายืนยันว่า ไม่ได้แปลว่าองค์ความรู้ปรัชญาหรือความสนใจในปรัชญาน้อยลง เพราะเราทำร้านหนังสือ เราเห็นหนังสือปรัชญาออกใหม่มากมาย ขณะเดียวกันเรามีบทสนทนาในวงการนักเขียน นักกิจกรรม ถึงหัวข้อทางปรัชญามากมาย ดังนั้นจึงท้าทายได้ว่าปรัชญายังเติบโต แต่ไม่ได้เติบโตในสถาบันการศึกษา และที่สำคัญไม่ได้เติบโตในวงการปรัชญาอย่างเดียว ปรัชญาเติบโตในวงการปัญญาชน ยกตัวอย่างง่ายๆ ไม่ได้มีแค่คนเรียนปรัชญาที่อ่านคาร์ล มาร์กซ์ คนที่เรียนมานุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เรียนรัฐศาสตร์ก็อ่าน

ดังนั้นปรัชญายังมีลมหายใจในสังคมไทย แต่ว่ามองเห็นไม่ชัด และทุกๆ ครั้งที่เราถกเถียงกันไม่ว่าจะเป็นประเด็นต่างๆ ในชีวิต หรือถกเถียงในโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ เป็นประเด็นทางปรัชญา ประเด็นทางจริยศาสตร์แทบทั้งนั้นเลย เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรปรัชญาหรือหนังสือที่จั่วหัวข้างหน้าว่าปรัชญา

ทุกครั้งที่เราบอกว่าเราเป็นอาจารย์สอนปรัชญา เพื่อนรุ่นเดียวกันจะบอกว่า มันเป็นวิชาที่ตอนนั้นฉันเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วฉันไม่อยากเรียนเลย มันยาก เรียนไม่รู้เรื่อง แต่เขาไม่รู้ตัวหรอกว่าหลายๆ เรื่อง ที่เรานั่งคุยกันในบทสนทนาธรรมดาๆ คือประเด็นทางปรัชญา ถ้าวันนี้มาถามเราว่าคิดยังไงกับประเด็นเรื่องโทษประหาร ทำแท้ง เซ็กซ์ทอย เลื่อนเลือกตั้ง ประยุทธ์กับรัฐมนตรีอังกฤษ ฯลฯ ทุกคนก็จะพูดออกมา นี่เป็นข้อถกเถียงทางปรัชญา ทั้งหมดทั้งสิ้นเราสามารถโยงไปถึงความคิดเบื้องหลังที่ถูกลดทอนมากๆ ให้เห็นโครงสร้างความคิดทางสังคม

 

ปรัชญาจะช่วยให้เราเห็นเบื้องหลังเรื่องต่างๆ ได้อย่างไร ยกตัวอย่างเรื่องโทษประหารก็ได้ค่ะ

สังคมไทยกำลังวิกฤตในเรื่องการใช้เหตุผล เราเริ่มมาตั้งสติกันก่อน เริ่มคิดด้วยเหตุผลก่อน เราคิดว่าตอนนี้เรามีพื้นที่ในการใช้เหตุผลน้อยมาก เวลามีเรื่องใหญ่ๆ เกิดขึ้นในสังคมไทย คนจะใช้ความรู้สึกท่วมท้น แล้วพยายามจะพูดอะไรที่ดูเหมือนเหตุผลที่หนักแน่น แต่จริงๆ มาจากความรู้สึกลึกๆ เช่นความกลัว ความกังวล ความเกลียด ความไม่แน่ใจ หรือความรักมากเกินไปในบางเรื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะปรากฏออกมาเป็นชุดเหตุผลอีกอย่าง แต่ถ้าเราสังเกตดีๆ จะพบว่าเราจะจับหรือหาแก่นของมันได้ยาก แล้วเมื่อมีคนพยายามจะถกเถียง จะไม่ได้รับการรับฟังหรือใคร่ครวญ

เราไม่ได้ถูกฝึกวัฒนธรรมการใช้เหตุผลให้เข้มแข็ง ระบบการศึกษาจะบอกว่าเด็กต้องมีความคิดเชิงวิพากษ์ แต่ยังกล้อนผมเด็ก ยังแปะป้ายเวลาเขาไม่จ่ายค่าเทอม ยังลงโทษเขาแปลกๆ แบบไม่มีเหตุผล และพอเด็กมีความคิดเชิงวิพากษ์ออกมาก็จะเจอชะตากรรม ข้อถกเถียงทางปรัชญาวนอยู่ตรงนี้ทั้งหมดเลยนะคะ แต่ เราจับ (grab) มันไม่เป็น เราไปดึงออกมาแล้วชี้นิ้วด่า หรือบางทีก็ด่าตัวบุคคล การใช้เหตุผลเลยเบลอและกระจัดกระจาย

 

คุณคิดว่าสุดท้ายแล้วปรัชญาจะพาเราไปไหน จะช่วยเราออกจากความขัดแย้งต่างๆ หรือเข้าใจความหลากหลายในสังคมไทยได้อย่างไร

ถ้าเราออกกำลังกาย เราจะเริ่มมีกล้ามเนื้อ จากนั้นเราก็จะวิ่ง จะมีความทนของร่างกาย ออกแรงได้มากขึ้น มีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นไปพร้อมกัน สังคมไทยเหมือนคนไม่เคยออกกำลังกายนานแล้วนะคะ ไม่ชินกับการวิ่ง แล้วเราไปบอกให้เขาวิ่ง เขาก็จะหันไปทำเรื่องอื่น มันวิ่งไม่ได้จริงๆ ไม่มีกล้ามเนื้อเพียงพอที่จะมาวิ่ง ถ้าอุปมาแบบนี้ใช้กับเรื่องของเหตุผล แปลว่าเราไม่ได้ถูกฝึกให้ใช้เหตุผล ไม่มีความอดทนในการรับฟัง ไม่มีความอดทนในการใคร่ครวญ ไม่เคยมีเวลามานั่งนิ่งๆ แล้ววิพากษ์ตัวเอง ไม่มีความยืดหยุ่นที่จะฟังคนอื่น

ปรัชญาก็เหมือนกับคอร์สเวิร์คเอาท์ คอร์สออกกำลังกาย คุณเริ่มจากการที่ เอาล่ะ…วันนี้คุณเดิน 10 นาที วิ่ง 10 นาที ปรัชญาคือการฝึกแบบนี้ งั้นคุณมาเริ่มประเด็นง่ายๆ คุณยังไม่ต้องไปที่โทษประหารหรือการุณยฆาต เพราะมันซับซ้อนมากเลย คุณแค่เรียนรู้สิทธิมนุษยชนก่อนนะ เอาล่ะไม่ต้องสิทธิมนุษยชนก็ได้ คุณว่ามนุษย์เท่ากันไหม ถ้าคุณยังไม่เข้าใจเรื่องมนุษย์เท่าเทียมกัน คุณก็ยังพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้ ปรัชญามีขั้นของการฝึกใช้เหตุผลตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ไปจนเรื่องซับซ้อนขึ้น

ดังนั้นปรัชญาจึงเป็นเหมือนโค้ชที่จะมาบอกว่า เรามีตารางฝึกแบบนี้ วันนี้คุณก็กินอาหารได้แค่นี้แคลลอรี วันนี้คุณออกไปวิ่ง 10 นาที วันนี้เบาๆ แล้วกล้ามเนื้อคุณจะเริ่มพัฒนาเติบโตขึ้นมา เสร็จแล้วคุณจะเริ่มทำได้นานขึ้น ทำได้หนักขึ้น ร่างกายคุณก็จะยืดหยุ่นมากขึ้น การใช้เหตุผลก็คล้ายๆ กัน ในที่สุดคุณก็จะวิ่งเก่งมาก คุณจะเห็นทันทีว่าวิ่งแบบนี้พลาด วิ่งแบบนี้ไปนานๆ หัวเข่าเจ็บ คุณจะเห็นว่านี่คือการใช้เหตุผลที่ผิด คุณกำลังไปโจมตีตัวบุคคล ไปลดเครดิตเขา ไม่ได้เป็นการบอกว่าเหตุผลเขาผิด การโต้เถียงของคุณไม่มีน้ำหนัก ปรัชญาชี้ให้เห็นอย่างนี้ หรือจะไปเจอการถกเถียงข้างในเหตุผลของตัวเองว่า เหตุผลของเรามีจุดอ่อนนี่หว่า แล้วเราก็จะเขยิบไปอีกขั้นหนึ่ง คือเรายอมรับเหตุผลของคนอื่นได้

แต่ถ้าคนเราเชื่อมั่นกับอะไรจนเป็นแกนหลักในชีวิต แล้ววันหนึ่งสั่นคลอน มันเจ็บปวดมากเลยนะคะ

ขอตอบจากความเห็นส่วนตัว เราไม่ได้เหมาว่าคนที่อยู่กับปรัชญาทุกคนจะเข้าใจแบบเรานะ เราคิดว่าคนที่เรียนปรัชญาแล้วเรียนไปได้ดี เรียนแล้วปรัชญาให้บางอย่างกับชีวิต เขาน่าจะเป็นคนประเภทที่มีจุดยืนที่มั่นคง รู้จักเหตุผลของตัวเองเป็นอย่างดี ว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ ทำไมเขาถึงทำแบบนี้ รู้เป็นอย่างดีว่าเหตุผลเขามีจุดแข็งจุดอ่อนตรงไหน เขาจะยืนได้อย่างมั่นคง เพราะรู้ว่าพื้นเขาอยู่ตรงไหน เท้าเขาวางตรงไหน

ขณะเดียวกันเวลามีความคิดที่แตกต่างเข้ามา กลายเป็นว่าเขาเปิดกว้างกับทุกคน คุณจะมาอย่างนี้ก็ได้ แล้วเขาจะไม่ตัดสินเลยว่าความคิดของใครผิดของใครถูกอย่างสิ้นเชิง หรือเขาถูกอยู่คนเดียว เขาจะไม่มีท่าทีในการตัดสินถึงเพียงนั้น เพราะในขณะที่จุดยืนของเขามั่นคง ถ้าเขาเจอเหตุผลบางอย่างที่ถูกต้อง แล้วเขาพบว่าเหตุผลของเขามีจุดอ่อน เขาจะรับฟังเหตุผลคนอื่นได้ง่ายดาย แล้วจะยืนอย่างมั่นคงในจุดใหม่ นั่นคือการเปิดเปลือยทางความคิด

เราคิดว่านี่คือสิ่งที่ปรัชญาให้คุณได้มากที่สุด เป็นทักษะในชีวิต เหมือนกับเราออกกำลังแล้วกล้ามเนื้อเราแข็งแรง แล้วจะมีความยืดหยุ่น ทำให้รู้ว่าเราล้มแล้วเราไม่เจ็บ เราจะล้มถูกท่า เราจะรู้ว่าเราจะล้มได้ แล้วเราจะกล้าออกไปล้ม แล้วเราจะรู้ว่าฉันผิด โอเค งั้นฉันเปลี่ยน ไม่เสียหน้าอะไรเลย แล้วทุกคนก็ผิดกันได้ การผิดเป็นเป็นเรื่องสำคัญ ปรัชญาเป็นแบบนี้

อันธิฌา แสงชัย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save