fbpx
เครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

เครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

ในห้วงระยะเวลาก่อน, ระหว่าง, และภายหลังการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 เราต่างได้เห็นบทบาทขององค์กรจำนวนหนึ่งที่แสดงตนออกมาบ่อยครั้งมากขึ้น

บทบาทขององค์กรเหล่านี้ก็ได้ดำเนินไปในทิศทางที่สนับสนุน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ขัดขวางต่อระบบอำนาจนิยมที่ดำรงอยู่ และในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นบทบาทที่ดูราวกับจะไม่สอดคล้องกับมาตรฐานในระบอบประชาธิปไตย เช่น การตีความว่าหัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ, การตีตกข้อกล่าวหาเรื่องโต๊ะจีนของพรรค พปชร. อย่างง่ายดาย, การยุบพรรคการเมืองโดยปราศจากการรับฟังข้อแก้ต่างของผู้ถูกกล่าวหา, การปฏิเสธการนับคะแนนจากต่างประเทศทั้งที่มิใช่ความผิดของผู้ออกเสียง เป็นต้น รวมถึงล่าสุดการแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในข้อหาถือหุ้นในบริษัทสื่อสาร อันเป็นการดำเนินการอย่างรวดเร็ว

แม้บางองค์กรอาจยังไม่แสดงบทบาทอย่างชัดเจนในห้วงเวลานี้ แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าอีกไม่นาน ก็จะได้ออกมาแสดง ‘ปาฏิหาริย์’ กันอีกรอบ เป็นที่คาดหมายได้ว่าการทำหน้าที่ขององค์กรเหล่านี้ จะเป็นไปในทิศทางที่อยู่ในด้านตรงกันข้ามกับสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและมีเจตนารมณ์ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ

การทำความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ขององค์กรเหล่านี้ อาจกระทำได้ด้วยการพิจารณาถึงปฏิบัติการของแต่ละองค์กรว่าได้ทำหน้าที่ไปโดยสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของตนเองหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้จะมุ่งพิจารณาบทบาทขององค์กรเหล่านี้ในฐานะที่เป็นเครือข่ายอันมีอุดมการณ์ เป้าหมาย และผลประโยชน์บางประการร่วมกัน เฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการยืนอยู่ตรงกันข้ามกับระบอบประชาธิปไตย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการทำหน้าที่ในฐานะ ‘ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย’

 

กลับคืนสู่เวทีประชาธิปไตย

 

ภายหลังจากที่บทบาทลดต่ำลงภายใต้ระบอบอำนาจนิยม (อันเนื่องมาจากเป็นการปกครองและใช้อำนาจของ คสช. เป็นสำคัญ) มาบัดนี้เมื่อสังคมไทยกำลังเริ่มต้นที่จะหวนกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นจังหวะเวลาที่ ‘เครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย’ จะเข้ามารับช่วงบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะบังเกิดขึ้น

การสร้างเครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย (หรือถูกเรียกและเข้าใจกันกว้างขวางว่า ‘องค์กรอิสระ’ อันมีนัยที่เป็นบวก) เป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีความพยายามในการควบคุมการขยายตัวของระบบการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ผ่านการจัดตั้งองค์กรที่มาจากการสรรหา โดยบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความเชื่อว่าจะสามารถทำให้การเมืองของไทยเดินหน้าไปได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ในระยะเริ่มต้น องค์กรต่างๆ เหล่านี้ยังมีจุดยึดโยงกับอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชนอยู่

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งและการโต้กลับของฝ่ายอนุรักษ์/อำนาจนิยม ในช่วงทศวรรษ 2550 ได้ส่งผลให้การออกแบบและการจัดวางสถานะขององค์กรเหล่านี้มีความผันแปรไปอย่างไพศาล ประกอบกับกระแส Royal Judicial Activism นับตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมา เป็นผลให้องค์กรเหล่านี้เคลื่อนไปสู่การเป็นเครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยที่เด่นชัดมากขึ้น

แม้จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทดแทนรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ความล้มเหลวภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ส่งผลให้รัฐธรรมนูญ 2560 พยายามที่จะสร้างอำนาจเหนือสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่เข้มข้นกว่าเดิม ทั้งในแง่ของการควบคุมด้วยกฎเกณฑ์บรรทัดฐานนานาชนิด การมอบอำนาจให้องค์กรต่างๆ อย่างล้นเหลือในการแทรกแซงและขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย และด้วยการดำรงอยู่แบบลอยพ้นจากการตรวจสอบของประชาชน

แม้จะมีการตรวจสอบระหว่างกันเองอยู่บ้าง ดังเมื่อมีการโต้แย้งต่อองค์กรใดเกิดขึ้น ประชาชนก็สามารถไปยื่นให้อีกองค์กรหนึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบและวินิจฉัยการกระทำ (อันเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งเป็นที่นิยมกันอยู่ในปัจจุบันของหลายฝ่าย) แต่จะพบว่าปฏิบัติการขององค์กรเหล่านี้ดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน

เป็นเรื่องปกติที่ความไม่ชอบมาพากลขององค์กรหนึ่ง จะถูกรับรองไว้ด้วยคำวินิจฉัยของอีกองค์กรหนึ่ง ซึ่งล้วนแต่มีระดับความน่าเชื่อถือต่ำเตี้ยเรี่ยดินไม่ต่างกันแต่อย่างใด ซ้ำยังมิใช่ปฏิบัติการขององค์กรใดองค์กรเดียวเท่านั้น ย่อมไม่มีถ้อยคำใดเหมาะสมไปการขนานนามองค์กรเหล่านี้โดยรวมว่าเป็น ‘เครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย’

 

เครือข่ายพันลึกลอยน้ำ

 

ในหนังสือเรื่อง Toward Juristocracy: The origins and consequences of the new constitutionalism (2007) ของ Ran Hirschl ซึ่งได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันตุลาการในหลายประเทศเปรียบเทียบกัน เขาเสนอว่า ในประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมสู่ระบอบประชาธิปไตยบนการเลือกตั้งที่เท่าเทียมกันของผู้คน ความเปลี่ยนแปลงนี้มีผลให้ชนชั้นนำที่มีอำนาจดั้งเดิม ไม่สามารถควบคุมกำกับการเมืองแบบที่เคยเป็นมา ส่งผลให้การรักษาอำนาจของกลุ่มตนต้องหันไปใช้สถาบันอื่นทดแทน เฉพาะอย่างยิ่งสถาบันตุลาการ ซึ่งเคยถูกจัดวางให้อยู่ห่างจากความขัดแย้งทางการเมือง

สถาบันตุลาการได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองแบบหนึ่ง ซึ่ง Hirschl เรียกว่าเป็น ‘การธำรงอำนาจนำดั้งเดิม’ (hegemonic preservation) เพื่อต่อรองและรักษาอำนาจของชนชั้นนำดั้งเดิมกับชนชั้นนำกลุ่มใหม่ที่มีฐานมาจากการเลือกตั้ง ผ่านการวินิจฉัยข้อพิพาทในเรื่องต่างๆ เพื่อทำให้ความชอบธรรมของชนชั้นนำเดิมดำรงอยู่ต่อไป

แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าสถาบันตุลาการในทุกสังคม จะต้องแปรสภาพไปทำหน้าที่ดังกล่าวในลักษณะเดียวกันเสมอไป หากยังคงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือปัจจัยภายในของแต่ละแห่ง ว่าเปิดโอกาสให้สถาบันตุลาการสามารถแสดงตัวได้มากน้อยเพียงใด

ในกรณีของสังคมไทย จะเห็นได้ว่าการทำหน้าที่ของสถาบันตุลาการ กลายเป็นอำนาจหนึ่งที่สำคัญในการจัดการกับชนชั้นนำหรือกลุ่มที่เติบโตขึ้นมากับระบบการเลือกตั้ง การยุบพรรคการเมือง การตัดสินลงโทษผู้นำทางการเมือง การตัดสิทธิในการรับสมัครการเลือกตั้ง เป็นต้น ล้วนเป็นตัวอย่างของการใช้อำนาจทางกฎหมาย ในการจัดการกับกลุ่มอำนาจใหม่จากการเลือกตั้ง

สำหรับการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันตุลาการในพื้นที่การเมืองที่แผ่ขยายมากขึ้นของสังคมไทย การออกแบบโครงสร้างทางการเมืองยังทำให้เกิดองค์กรหลายองค์กรขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ร่วมกันในการปกป้องอำนาจนำดั้งเดิม ดังเห็นชัดเจนนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่ง กกต. ปปช. และศาลรัฐธรรมนูญ ได้ทำหน้าที่สอดคล้องกันมาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น การปกป้องอำนาจนำดั้งเดิมและการเป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตยในสังคมไทย จึงไม่ใช่เพียงแค่บทบาทขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นการเฉพาะ หากเป็นการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายโดยอยู่ภายใต้อำนาจนำ ผลประโยชน์ และอุดมการณ์การเมืองที่ใกล้เคียงกัน

การพิจารณาถึงเครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย อาจมีส่วนใกล้เคียงกับแนวความคิดเรื่อง ‘รัฐพันลึก’ (Deep State) ของ Eugenie Marieau (ในวารสาร Journal of Contemporary Asia, vol.46, no.3, 2016) โดยกรอบการมองแบบรัฐพันลึก เสนอว่าบทบาทและตำแหน่งของฝ่ายต่างๆ ในรัฐชนิดนี้ นอกจากตำแหน่งที่เป็นทางการแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ยังมีบทบาทอีกแบบหนึ่งในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ ไม่ชัดเจน ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นทางการอย่างสำคัญ

แต่เครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยที่ปรากฏตัวในสังคมการเมืองของไทย เป็นองค์กรที่ดำรงอยู่ในลักษณะที่เป็นทางการ ไม่ได้แอบซ่อน ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเร้นลึก เห็นได้อย่างชัดเจน และการทำหน้าที่ก็กล่าวอ้างอยู่บนการใช้อำนาจที่มีกฎระเบียบรองรับ

นอกจากนั้นแล้ว ในแง่ของความรับผิดชอบ ดูราวกับว่ารัฐพันลึกอาจไม่ต้องมีความชอบธรรมและความรับผิดต่อสังคม แต่เนื่องจากเครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยเป็นโครงสร้างที่ดำรงอยู่อย่างเป็นทางการ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการโผล่ขึ้นมาจากอำนาจที่ไม่เป็นทางการ องค์กรในเครือข่ายเหล่านี้จึงต้องเผชิญกับการเรียกร้องถึงความชอบด้วยกฎหมาย ความรับผิด ในกรณีที่ไม่อาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้

แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จะพยายามทำให้การควบคุมตรวจสอบเครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ด้วยภาวะที่เป็นทางการ ทำให้ไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อสังคมได้ แม้ว่าความรับผิดอาจยังเบาบางอยู่ในขณะปัจจุบัน แต่อย่างไรก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องตอบคำถามถึงข้อสงสัยต่างๆ อาจมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์

แต่ในระยะยาว ความชอบธรรมและความรับผิดชอบต่อสาธารณะ จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงอยู่อย่างมั่นคงขององค์กรเช่นนี้

 

อำนาจน้อยนิดมหาศาล

 

หากพิจารณาถึงพื้นที่ซึ่งประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนกำหนดในโครงสร้างทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะพบว่าพื้นที่ของโครงสร้างอำนาจอย่างเป็นทางการที่เปิดรองรับอำนาจประชาชนมีอยู่ไม่มากเท่าใด ซึ่งปรากฏอยู่เฉพาะกับอำนาจในการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น องค์กรจำนวนมากไม่ได้อยู่ภายใต้การตรวจสอบของประชาชนแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ ฝ่ายตุลาการ หรือแม้กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติก็ตาม

ถ้าพิจารณาเฉพาะในส่วนของอำนาจนิติบัญญัติ สมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้งมีจำนวนถึงหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ส่วนประชาชนทั้งประเทศมีอำนาจเลือกได้อีกเพียงสองในสาม ยิ่งในสถานการณ์ที่ผลการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปแบบ ‘พลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน’ โดยคะแนนระหว่างคนที่สนับสนุนและคัดค้านระบอบอำนาจนิยมไม่แตกต่างกันมาก ก็ไม่ควรที่ฝ่ายชนชั้นนำดั้งเดิมจะต้องกังวลใจมากนักกับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น

แต่จากการเคลื่อนไหวของเครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยอย่างพร้อมเพรียง ณ ห้วงเวลานี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นใจในความเข้มแข็งและความศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายชนชั้นนำ เฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัยที่ทำให้ศูนย์กลางของอำนาจเปลี่ยนแปลงไป ย่อมทำให้เกิดความไม่ชัดเจนถึงรูปแบบและความสัมพันธ์ของแต่ละฝ่ายว่าจะดำรงอยู่ในแบบใดต่อไป

อาจกล่าวได้ว่า การปรากฏตัวของพรรคอนาคตใหม่นำมาซึ่งความตื่นตระหนกในหมู่ชนชั้นนำมิใช่น้อย ลำพังการต่อรองและการใช้มาตรการทางกฎหมายของเครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยกับพรรคเพื่อไทย หรือพรรคที่แตกตัวออกมา ก็อาจพอจะทำให้สลายความเข้มแข็งทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยลงได้อยู่บ้าง ดังที่ได้เคยเกิดมากว่าทศวรรษ

แต่สำหรับพรรคอนาคตใหม่ มีความแตกต่างออกไปอย่างสำคัญ ความพยายามในการปกป้องอำนาจทางการเมืองให้ดำรงอยู่ด้วยเครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยแบบเดิมๆ ในเงื่อนไขที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก อาจเป็นภารกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จได้โดยง่าย

ไม่ใช่เพียงเพราะความเป็นพรรคซึ่งนำเสนอภาพของคนรุ่นใหม่อย่างเดียว แต่เพราะข้อเสนอทางนโยบายที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนจำนวนไม่น้อยในสังคม การลงคะแนนให้อย่างเกินความคาดหมายย่อมสะท้อนให้เห็นว่า โลกและชีวิตที่ถูกนำเสนอโดยระบอบอำนาจนิยม ไม่ได้เป็นโลกและความใฝ่ฝันที่คนจำนวนมากต้องการ

ต้องไม่ลืมว่าคนกลุ่มนี้ คือผู้ที่กำลังเติบโตเป็นกำลังหลักของสังคมต่อไปในภายภาคหน้า และมีแต่จะขยายออกไปกว้างขวางมากขึ้นในอนาคต

นอกจากไม่มีทางปฏิเสธ ยังต้องนับรวมพลังเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เฉกเช่นที่สังคมอารยะอื่นๆ กระทำกัน และนำพาสังคมไปสู่การจัดการความเห็นต่างอย่างสันติที่สุดภายใต้ระบอบประชาธิปไตย การยืนฝืนกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างสิ้นคิด จะไม่ทำให้สังคมไทยก้าวเดินไปได้แต่อย่างใดเลย ทั้งยังอาจเป็นการปูทางสู่ความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้น

คำถามสำคัญก็คือ สังคมไทยยังมีต้นทุนเพียงพอสำหรับการจัดการกับหายนะในลักษณะเช่นนี้อยู่อีกหรือไม่

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save