fbpx

The Invisible Race: ‘เอเชียนอเมริกัน’ ชนชาติที่หล่นหายไปในประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่


0.


ช่วงเย็นวันที่ 16 มีนาคม 2021, นครแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย

กระสุนจากปลายกระบอกปืน 9 มม. ด้วยแรงเหนี่ยวไกของ โรเบิร์ต แอรอน ลอง ชายผิวขาวชาวอเมริกัน วัย 21 ปีได้ปลิดชีวิตผู้บริสุทธิ์ลง 8 คนภายในเวลาห่างกันไม่ถึง 1 ชั่วโมง

“เขา [ลอง] แค่มีวันที่ย่ำแย่มากๆ เลยทำลงไป” เจ้าหน้าที่ตำรวจมลรัฐจอร์เจียชี้แจงต่อสาธารณชน

แต่ 6 ใน 8 ชีวิตที่ต้องสังเวยให้แก่ความกระหายเลือดคือชีวิตของหญิงชาวเอเชีย – ผู้อพยพจากโลกตะวันออกที่หอบหิ้วความฝันเดินทางมายังสหรัฐอเมริกา ดินแดนอันถูกขนานนามว่า ‘ดินแดนแห่งโอกาส’

คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่าเชื้อไฟแห่งความเกลียดชังเอเชียกำลังลุกลามทั่วสหรัฐฯ อีกครั้ง

เหตุการณ์บุกยิงร้านสปา 3 ร้านในนครแอตแลนตาปะทุขึ้นท่ามกลางกระแสสูงของการเหยียดเชื้อชาติเอเชีย นับว่าเป็นอีกครั้งในกว่า 3,800 เหตุการณ์ที่เอเชียนอเมริกันตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมความเกลียดชัง หลังอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เรียกขานไวรัสโควิด-19 ว่า ’ไวรัสจีน’ (Chinese Virus) และ ‘กังฟลู’ (Kung Flu) เมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมา

แน่นอนว่ากระสุนที่พุ่งจากปลายกระบอกปืน ณ วันนั้นคือความสูญเสีย ความเศร้าโศก ความเจ็บปวด ตามมาด้วยความโกรธแค้นในหมู่ชุมชนเอเชียนอเมริกัน

แต่ยิ่งไปกว่านั้น เสียงปืนครั้งนี้ที่ลั่นดังสนั่นกว่าครั้งไหนๆ ได้ปลุกอเมริกันชนให้ตื่นว่า ความรุนแรงที่ชาวเอเชียนอเมริกันต้องเผชิญนั้นหาใช่ความโชคร้ายหรือความเกลียดชังส่วนบุคคลอีกแต่ประการใด หากแต่คือความรุนแรงแฝงลึกของประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่บนดินแดนแห่งเสรีภาพและความเท่าเทียมที่ถูกทำให้ ‘ลืม’ มานานกว่าสองศตวรรษ

เชื้อชาติเอเชียที่ถูกทำให้ ‘มองไม่เห็น’ มานานกำลังปรากฏเด่นชัดขึ้นกว่าที่เคย

                                                      

1.


การเหยียดและความเกลียดชังต่อชาวชาติเอเชียเกิดขึ้นอย่างธรรมดาดาษดื่น แนบเนียนและซึมลึกกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอย่างแยบยล ไม่ว่าจะเป็นตามท้องถนน รถบัส รถไฟ ร้านค้า ที่ทำงานหรือห้องเรียน การเหยียดคือสิ่งที่ทั้งคนเอเชียหลากหลายเชื้อชาติและคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียมีโอกาสประสบพบเจอได้เสมอ แต่จะเจอบ่อยหรือนานๆ ครั้งเจอนั้นขึ้นอยู่กับ ‘เมือง’ และ ‘กระแสการเมืองภายในสหรัฐฯ และโลก’

ความเกลียดชังต่อชาวเอเชียปรากฏออกมาได้หลากหลายรูปแบบ เริ่มจากคำพูดที่แอบแฝงความรุนแรงไร้รอยแผลและเลือดไว้อย่างการ ‘เหยียดที่ไม่เหยียด’ (microaggression) และคำสบถเหยียดเชื้อชาติ (racial slurs)

คนไทยที่เคยอาศัยที่สหรัฐฯ ต้องพบเจอประสบการณ์อันน่ากระอักกระอ่วนเหล่านี้ไม่น้อย ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ นักศึกษาปริญญาเอกแห่ง University of Southern California และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ภาณุภัทร จิตเที่ยง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยประสบการณ์จากการเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ ยุคก่อนทรัมป์ครองเมืองในงานเสวนา ‘Hate Crime อาชญากรรมจากความเกลียดชังและการเหยียดคนเอเชียในสหรัฐอเมริกา’ ทั้งคู่เล่าว่าไม่เคยเผชิญการเหยียดตลอดช่วงเวลาที่อาศัยอยู่ในวอชิงตัน ดีซี ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘liberal bubble’

แต่หลังทรัมป์ครองเมือง แม้ว่าปองขวัญจะย้ายไปศึกษาต่อในเมืองที่มีประชากรชาวเอเชียมากพอสมควรอย่างลอสแองเจลลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ความเกลียดชังต่อชาวเอเชียก็เริ่มส่งเสียง “เรากำลังจะขึ้นบัสไปมหาวิทยาลัย ตอนกำลังจะก้าวขึ้นรถก็มีคนตะโกนว่า ‘รถคันนี้ไม่ได้ไปเมืองจีนนะ’ เขาเหมารวมว่าเรามาจากจีน แต่เราไม่ได้มาจากจีน”

ส่วนภาณุภัทรที่ย้ายไปยังเมืองแมดดิสัน มลรัฐวิสคอนซิล อีกหนึ่ง ‘liberal bubble’ ท่ามกลางรัฐผิวขาว เล่าว่าหนีไม่พ้นกระแสการเหยียดเช่นกัน ไม่ว่าจะถูกนักศึกษาท้วงติงเรื่องภาษาอังกฤษที่ติดสำเนียงกลางคาบเรียน หรือเห็นนักศึกษาเชื้อสายเวียดนามถูกเรียกว่าเป็น ‘คนจีน’ ตลอดเวลา

ทางดวงยิหวา อุตรสินธุ์ อาจารย์จาก New York University, Abu Dhabi ซึ่งเกิดและโตที่บรองซ์ มหานครนิวยอร์กในช่วงสงครามเย็นทศวรรษที่ 1980 เล่าว่าสมัยเด็กเธอถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำ เมื่อกลับมาที่สหรัฐฯ ในช่วงปี 1997 แม้จะพบการเหยียดแค่ประปราย แต่ก็ยังถูกเหยียดด้วยประโยคสุดคลาสสิก “กลับประเทศไปซะ” (“Go back to your country”) ทั้งๆ ที่เกิดในสหรัฐฯ “This is where I was born” เธอตอกกลับ แต่แน่นอนว่าอีกครั้งที่เธอกลับไปยังสหรัฐฯ ยุคทรัมป์ เธอสัมผัสได้เช่นกันว่าการเหยียดรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังถูกผู้หญิงละตินตะคอกใส่ระหว่างรอรถไฟฟ้าใต้ดินในนิวยอร์กว่า “เร็วๆ เข้าสิ ไอ้เจ๊ก!” (“Hurry up, ching!”)

ตลอดระยะเวลาการระบาดของโควิด-19 ทั้งในซีแอตเทิล แมนแฮตตัน ชิคาโก คลีฟแลนด์ ไปจนถึงไมอามี คนเอเชียหลากหลายเชื้อชาติทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี  ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฯลฯ หลากหลายวัย หลากหลายอาชีพล้วนถูกตะคอกใส่ว่า “กลับจีนไปพร้อมกับไวรัสซะ!”  

มองอย่างผิวเผินอาจไม่มีอะไร ราวกับว่าคำสบถนั้นมุ่งโจมตีไปที่บุคคล แต่ที่จริงแล้วการกระทำเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้คือการแสดงออกธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวันที่แฝงไปด้วยอคติต่อชนกลุ่มน้อย แต่หากมองในภาพใหญ่ การ ‘เหยียดที่ไม่เหยียด’ และคำก่นด่าเหล่านี้คือ ‘ส่วนผสม’ ที่ค่อยๆ นำไปสู่จุดเดือดของอาชญากรรมต่อความเกลียดชังและธำรงการเหยียดเชื้อชาติเอเชียอย่างเป็นระบบ (และเงียบงัน) ในสหรัฐฯ

ไม่จบเพียงแค่สุ้มเสียงสบถปนขับไล่เท่านั้น หลายครั้งที่ความเกลียดชังต่อคนเอเชียยังแปรเปลี่ยนไปสู่ความรุนแรงที่สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ร้านค้า บ้านเรือน ร่างกาย หรือแม้กระทั่งขั้นที่ความรุนแรงพรากชีวิตไป อย่างที่ล่าสุดเกิดขึ้นแล้วที่ซานฟรานซิสโกกับวิชา รัตนภักดี ชายสูงวัยเชื้อสายไทยที่เสียชีวิตหลังถูกวัยรุ่นผิวสีผลักลงพื้นอย่างรุนแรงเมื่อเดือนมกราคม 2021 ที่ไชนาทาวน์ในโอกแลนด์ กับหญิงสูงอายุเชื้อสายฮ่องกงวัย 75 ปี และแน่นอน — ที่นครแอตแลนตา

แม้แรงจูงใจในการก่อเหตุจะพิสูจน์ได้ยากทางกฎหมายว่ามีต้นธารจากความเกลียดชังต่อคนเอเชียหรือไม่ แต่ตอนนี้ สิ่งที่ต่างไปจากการความรุนแรงต่อชาวเอเชียที่ผ่านมาในอดีต คือการที่สังคมอเมริกาเริ่มหันกลับมามองและยอมรับว่า ‘การเหยียดคนเอเชียอย่างเป็นระบบคือเรื่องจริง’ เฉกเช่นเดียวกันกับที่คนผิวสี คนละติน หรือเนทีฟอเมริกันเผชิญ ไม่ใช่เพียงแค่ความเคราะห์ร้ายของเหยื่อแต่ละรายที่ ‘บังเอิญ’ เป็นคนเชื้อสายเอเชียซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างที่สื่อมักรายงานตลอดมา หรืออย่างที่ตำรวจมักพยายามบ่ายเบี่ยงในหลายกรณี

แฮชแท็ก #StopAsianHate ที่ดีดตัวขึ้นสู่เทรนด์อันดับหนึ่งในโลกทวิตเตอร์และการเดินขบวนประท้วงในหลายเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐฯ ช่วงเดือนมีนาและเมษาคือหนึ่งในสัญญาณของการตื่นรู้

กระนั้นก็ตาม ก่อนเสียงปืนจะลั่นในช่วงเย็นวันที่ 16 มีนาคม 2021 แม้ความเกลียดชัง ความรู้สึกที่ถูกบีบขับ และการกดขี่สำหรับชาวเอเชียหลายคนนั้นแจ่มชัด แต่สังคมอเมริกันกลับถูกปิดตาให้มองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ราวกับถูกซ่อนไว้


2.


อะไรที่ปิดตาสังคมอเมริกันอยู่?

หากมองสหรัฐฯ ดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าก่อร่างสร้างตัวจากเนื้อดินแห่งเสรีภาพและความเท่าเทียมลงไปให้ลึก จะพบว่าเงามืดที่ตามติดอุดมการณ์ยกย่องความเสมอภาคคือประวัติศาสตร์แห่งความไม่เท่าเทียมระหว่างเชื้อชาติ

เรื่องราวที่มักกล่าวขานกันมากคือการต่อสู้ระหว่างคนผิวขาวผู้กดขี่และคนผิวดำผู้ถูกกดขี่ ซึ่งรากความโกรธแค้นจากระบบทาสอันนำไปสู่ลัทธิเหยียดคนผิวดำยังคงเป็นมรดกตกทอดมาสู่สังคมอเมริกันในปัจจุบัน อย่างที่ประจักษ์ให้เห็นในปรากฏการณ์ #BlackLivesMatter เมื่อกลางปี 2020

เฉกเช่นเดียวกัน ประวัติศาสตร์การกีดกันและเบียดขับคนเอเชียไปสู่ ‘ความเป็นอื่น’ คือส่วนหนึ่งของการสร้างชาติอเมริกาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ที่ชาวจีนอพยพก้าวเท้าเข้ามาแสวงหาความมั่งคั่งจากการสร้างทางรถไฟและขุดทองในแผ่นดินอเมริกา คนเอเชียถูกไล่ล่าจากคนขาวทั้งนอกกฎหมายและในนามของกฎหมาย ไล่ตั้งแต่รุมประชาทัณฑ์ชาวจีนจนเสียชีวิต ไล่เผาไชนาทาวน์ในวอร์ชิงตัน ออกกฎหมาย The Chinese Exclusion Act 1882 กีดกันการอพยพเข้ามาของคนจีน เพิ่มความเข้มข้นของกฎหมายผู้อพยพ กีดกันไม่ให้ชาวเอเชียแปซิฟิกอพยพมายังสหรัฐฯ ผ่าน Asiatic Barred Zone Act 1917 ไปจนถึงการสร้างค่ายกักกันคนอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นที่ถูกตีตราว่าเป็น ‘ภัยความมั่นคง’ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

แน่นอนว่าความเจ็บปวดรวดร้าวระหว่างสองเชื้อชาติไม่ใช่สิ่งที่เปรียบเทียบได้ แต่ทั้งหมดนี้ต่างจากประวัติศาสตร์คนผิวสีตรงที่ว่า นี่คือหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์อเมริกาที่เอริกา ลี นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชีย-อเมริกันแห่ง University of Minnesota บอกกับ The New York Times ว่า “ถูกเพิกเฉย” โดยอเมริกันชน

อดีตหล่อหลอมการเหยียดเอเชียอย่างเงียบงัน ไร้การตระหนักรู้

ต่อมาในปี 1965 การประกาศใช้กฎหมาย Immigration and Nationality Act ปลดล็อกเงื่อนไขการได้สัญชาติอเมริกัน เปิดประตูโอบรับคลื่นอพยพแห่งการแสวงหาโอกาสครั้งใหญ่จากทั้งเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ การก่อตัวของวาทกรรม ‘ชนกลุ่มน้อยดีเด่น’ หลังช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองทำให้ภาพ ‘เอเชียผู้ถูกกดขี่’ นั้นถูกลืม

วาทกรรม ‘ชนกลุ่มน้อยดีเด่น’ หรือ model minority เปลี่ยนภาพเก่า สร้างภาพจำใหม่ต่อสังคมอเมริกันว่า ชนชาติเอเชียคือชนชาติที่ประสบความสำเร็จในการลืมตาอ้าปากตาม ‘ฝันอเมริกัน’ (American Dream) ตรากตรำความยากลำบากด้วยน้ำพักน้ำแรงและมันสมองของตนเองจนสามารถบรรลุความมั่งคั่ง ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานที่มีเกียรติอย่างแพทย์ วิศวกร ทนายความ ผู้บริหาร หรือเจ้าของธุรกิจ โดยที่ไม่ต้องให้รัฐพยุงหลังเฉกเช่นคนผิวดำ คนละติน หรือชนกลุ่มน้อยอื่นๆ รวมทั้งยังมีครอบครัวที่มั่นคงแข็งแรงตามแบบแผนและเคารพต่อระเบียบและกฎหมายบ้านเมือง

ในทางหนึ่ง วาทกรรมชนกลุ่มน้อยดีเด่นหล่อหลอมความคิดความเชื่อในสังคมอเมริกันว่า ไม่ว่าจะมีผิวสีดำ สีน้ำตาล หรือสีเหลืองก็สามารถฝ่าฟันโครงสร้างทางสังคมที่กดทับไม่ให้พวกเขาเหล่านี้มีโอกาส ความสำเร็จ ความมั่งคั่ง และความสุขเทียบเท่าคนผิวขาว — และก็มีชนกลุ่มน้อยดีเด่นอย่างชาวเอเชียที่ทำสำเร็จอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้

ภาพความสำเร็จในการตะกายฝันค่อยๆ ทำให้เชื้อชาติเอเชีย ‘ล่องหน’ ไปจากโครงสร้างความไม่เท่าเทียมระหว่างเชื้อชาติในสหรัฐฯ ราวกับว่าเอเชียนอเมริกันมีสถานะเทียบเท่าคนผิวขาว ป่าวประกาศต่อสังคมว่าการกีดกันและเหยียดเชื้อชาติไม่มีจริง

แต่วาทกรรมก็คือวาทกรรม — วาทกรรมชนกลุ่มน้อยดีเด่นปิดตาและการรับรู้ของสังคมอเมริกันได้ แต่ไม่สามารถทำให้ความเป็นจริงที่ถูกซ่อนอยู่หายไปได้

White supremacy – ต้นธารแห่งความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติที่นำไปสู่การเหยียดคือความจริงที่ซุกซ่อนภายใต้วาทกรรมอย่างแยบยล


3.


“เราต้องตระหนักว่า สหรัฐฯ มีโครงสร้างที่ไม่ว่ายุคสมัยไหน ก็จะยังมีคนกลุ่มหนึ่งอยู่ส่วนบน และอีกกลุ่มอยู่ส่วนล่างเสมอ” สก็อต คุราชิเงะ ศาสตราจารย์ด้านเชื้อชาติและชาติพันธุ์เปรียบเทียบจาก Texas Christian University กล่าวต่อ Vox ว่าด้วยความคงทนต่อกาลเวลาของโครงสร้างสังคมอเมริกา

ในที่นี้ แน่นอนว่าคนผิวขาวคือชนชั้นนำที่อยู่ส่วนบน และคนที่ไม่ได้มีผิวขาวที่เหลือคือคนที่อยู่ส่วนล่างอย่างเลี่ยงไม่ได้

ที่จริงแล้ว วาทกรรมชนกลุ่มน้อยดีเด่นคือผลงานการประกอบสร้างความเชื่อของคนขาว เพื่อเอื้อผลโยชน์ของสหรัฐฯ (ที่นำโดยคนผิวขาว) ทั้งนอกบ้านและในบ้าน

ช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯ ใช้วาทกรรมชนกลุ่มน้อยดีเด่นเพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของคนเอเชียในสหรัฐฯ ‘วาดภาพ’ ให้พันธมิตรในเอเชียเห็นความชอบธรรมของระบบทุนนิยมเสรีที่ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศแห่งโอกาสที่เอื้อให้ทุกคนประสบความสำเร็จได้ ในขณะเดียวกัน วาทกรรมชนกลุ่มน้อยดีเด่นก็ครอบงำอัตลักษณ์ความเป็น ‘เอเชีย’ ในสังคมอเมริกา “วาทกรรมดังกล่าวทำให้คนเอเชียรู้สึกว่าตนเองยึดโยงอยู่กับคนขาวมากกว่าที่จะเป็นพันธมิตรกับคนผิวสีอื่นๆ ที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จ

“นี่คืออีกสิ่งที่ทำให้คนเอเชียไม่ถูกนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ต้องบากบั่นต่อสู้ต่อความอยุติธรรมจากโครงสร้างสังคมที่กีดกันและไม่เท่าเทียม” ปองขวัญกล่าว

แม้เอเชียนอเมริกันจะล่องหนท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างคนขาว-คนดำ แต่วาทกรรมชนกลุ่มน้อยดีเด่นกลับมีพลังเงียบในการลดทอนขบวนการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรมให้เป็นธรรมสำหรับคนผิวดำ หรือกระทั่งย้อนกลับมาสร้างความหวาดกลัวต่อคนขาวว่าโอกาสทางเศรษฐกิจจะถูกคนเอเชียฉกฉวยไปจากมือ

ยิ่งไปกว่านั้น วาทกรรมชนกลุ่มน้อยดีเด่นปกปิดความจริงที่ว่า คนเอเชียหรือเอเชียนอเมริกันคือส่วนหนึ่งของการต่อสู้ต่อระบบที่กีดกันและกดขี่ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ไม่ถูกกีดกัน สามารถลืมตาอ้าปากและประสบความสำเร็จได้ตามที่เขาหลอกลวง แม้จะพยายามทุ่มสุดแรงเพื่อความฝันอเมริกันแล้วก็ตาม

เป็นความจริงที่เอเชียคือชนกลุ่มน้อยที่มั่งคั่งที่สุดในบรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งหมดในสหรัฐฯ แต่อีกความจริงหนึ่งที่ถูกซ่อนคือ เอเชียคือชนกลุ่มน้อยที่มีช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยและคนจนกว้างที่สุด และมีเอเชียนอเมริกันมากกว่า 12 เปอร์เซ็นต์เสียด้วยซ้ำที่ระดับรายได้อยู่ระดับต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ

ความแตกต่างหลากหลายทางอัตลักษณ์และฐานะทางเศรษฐกิจของเอเชียอเมริกันถูกมองข้ามไปอย่างสิ้นเชิง และถูกลดทอนให้เหลือเพียงแค่เอเชียที่เก่ง ขยัน และหัวดี

ความซับซ้อนเหล่านี้คือคลื่นใต้น้ำก่อนที่พายุแห่งความเกลียดชังจะมาถึง

หากเอเชียนอเมริกันยังมองไม่เห็นสิ่งที่ถูกซ่อนไว้ ยังไม่ข้ามพ้นจากความเป็นชนกลุ่มน้อยดีเด่น การสร้างความเป็นอันหนึ่งกันเดียวกันในหมู่ผองเอเชียเพื่อไปสู่โอกาส ความสำเร็จและความสุขอย่างเสมอภาคและแท้จริงจะไม่เกิด

และหากเสียงปืนไม่สามารถทำให้อเมริกันชนตื่นได้ เอเชียนอเมริกันก็จะยังเป็นเรือนร่างที่ล่องหนท่ามกลางความอยุติธรรม


หมายเหตุ อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากงานเสวนา “Hate Crime อาชญากรรมจากความเกลียดชังและการเหยียดคนเอเชียในสหรัฐอเมริกา” โดย สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save