fbpx

How to be human เปิดบทเรียนความเป็นมนุษย์ (ที่ดีกว่าเดิม) กับ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

 

คงไม่ผิดอะไร หากจะบอกว่าอารยธรรมและลักษณะสังคมมนุษย์ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันล้วนเป็นผลผลิตจากคนรุ่นก่อนหน้า – ไม่ใช่มนุษย์หรอกหรือที่สามารถสรรค์สร้างวัฒนธรรม คิดค้นภาษาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตนเอง และไม่ใช่มนุษย์หรอกหรือที่กระทำการต่างๆ จนมีส่วนประกอบร่างสร้างสังคมที่มีรูปร่างหน้าตาแบบที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้

ทว่าแม้ประวัติศาสตร์ของมนุษย์จะสืบสาวยาวกลับไปได้ไกลขนาดไหน แต่การศึกษามนุษย์ในฐานะศาสตร์ หรือที่เรียกกันว่า ‘มานุษยวิทยา’ ได้ถือกำเนิดขึ้นมาราวสองศตวรรษก่อนหน้านี้ และมีพลวัตรวมทั้งผลิดอกออกยอดองค์ความรู้ใหม่ๆ ควบคู่ไปกับพัฒนาการของมนุษย์ตามลำดับ 

ทั้งนี้ นอกจากบทบาทของมานุษยวิทยาในแวดวงวิชาการ ทั้งในระดับโลกและในประเทศไทยแล้ว นักมานุษยวิทยาก็เริ่มขยายพื้นที่ นำองค์ความรู้ของตนเองเข้าไปทำงานและประยุกต์ใช้แบบข้ามศาสตร์ ส่งเสียงให้โลกโอบรับความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์มากขึ้นในยุคที่แนวคิดพลเมืองโลกเริ่มปรากฏ

กระนั้นเอง มานุษยวิทยาก็ต้องเผชิญคำถามที่ท้าทายหลายประการ กล่าวคือมานุษยวิทยาล้มเหลวหรือไม่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และทำความเข้าใจมนุษย์ ในเมื่อเรายังเห็นความเกลียดชังและการป้ายความเป็นอื่นแพร่กระจายไปราวกับโรคร้าย หรือแม้กระทั่งการหวนกลับมาพินิจตัวศาสตร์อีกครั้งในวันที่การทำความเข้าใจมนุษย์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ รวมไปถึงการตอบคำถามที่ฟังดูเรียบง่าย ทว่าลึกลงไปแล้วกลับซับซ้อนยิ่งนัก อย่างการหาความหมายของความเป็นมนุษย์ และการพยายามทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าว

ถ้าพูดให้ถึงที่สุด ในโลกที่แตกต่างหลากหลายเช่นนี้ เราจะทำอย่างไรจึงจะเข้าใจมนุษย์ได้ เราจะทำอย่างไรที่จะไม่ใช่แค่เป็นมนุษย์ แต่เป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น มองเห็นบางสิ่งที่เราอาจหลงลืมไปในความคุ้นเคย สังเกตเห็นแง่งามที่ซ่อนอยู่ในทุกมิติของสังคม และตระหนักได้ว่าความหลากหลายไม่ใช่ศัตรูร้ายที่ต้องจำกัด หากแต่เป็นความงดงามที่ทำให้โลกมีเสน่ห์มากขึ้น

ในช่วงที่โลกคล้ายจะเรียกร้องการทำความเข้าใจมนุษย์ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมา 101 ชวนอ่านบทสนทนากับ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เกี่ยวกับพัฒนาการและองค์ความรู้แบบมานุษยวิทยา รวมไปถึงโจทย์ท้าทายใหม่อย่างมานุษยวิทยาแห่งความหวัง ปิดท้ายด้วยการเรียนการสอนศาสตร์นี้ในไทย และการปรับตัวของมานุษยวิทยาในยุคโรคระบาด

ทั้งหมดนี้ เพราะ ‘มานุษยวิทยาต้องรอด’

ศาสตร์มานุษยวิทยาเกิดขึ้นและมีพัฒนาการอย่างไร และถ้าพูดให้เป็นรูปธรรม ศาสตร์นี้ศึกษาเกี่ยวกับอะไรบ้าง

ถ้าพูดถึง ‘มานุษยวิทยา’ อาจจะฟังดูเป็นวิชาการที่ล้ำลึก แต่จริงๆ แล้ว เราใช้ความเข้าใจทางมานุษยวิทยาในชีวิตประจำวันทุกๆ วัน เพราะมานุษยวิทยาเป็นเรื่องความเข้าใจคน แล้วทุกๆ เรื่องที่เราทำก็ต้องอาศัยความเข้าใจคน เช่น ครูอาจารย์จะสอนหนังสือก็ต้องเข้าใจผู้เรียน คนขายของจะทำสินค้ามาขายก็ต้องเข้าใจลูกค้า คือไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ต้องเข้าใจผู้คน จะขึ้นรถเมล์ ไปทำงาน ไปซื้อของ เราเห็นพฤติกรรมผู้คนในที่ต่างๆ ก็ต้องเข้าใจว่าทำไมเขาถึงทำแบบนี้

ความรู้เหล่านี้คือความรู้ทางมานุษยวิทยาที่ซึมซาบอยู่ในชีวิตประจำวัน เราใช้มันโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่พอพูดถึงมานุษยวิทยาในฐานะที่เป็นศาสตร์ก็อาจจะมีความซับซ้อนมากขึ้น นักมานุษยวิทยามักจะศึกษาปรากฏการณ์ที่แปลกหรือแตกต่างออกไปจากที่เราเคยชิน เช่น ศึกษาพิธีกรรม ประเพณีความเชื่อ หรือพฤติกรรมในวัฒนธรรมต่างๆ  ถ้าเป็นสมัยก่อนก็อาจจะเป็นชนเผ่าหรือประเพณีดั้งเดิม แต่ระยะหลัง นักมานุษยวิทยาหันมาศึกษาสังคมสมัยใหม่มากขึ้น เช่น ศึกษาผู้คนในเมือง วัยรุ่น หรือชีวิตรูปแบบต่างๆ อย่างเช่นการไปศึกษาวัฒนธรรมป๊อบ (pop culture) หรือเกมเมอร์ (gamer) ว่าการเล่นเกมของเขาเป็นอย่างไร อยากจะเข้าใจเขา ก็ถือเป็นความรู้ด้านมานุษยวิทยาเช่นเดียวกัน

จะเห็นว่า ด้านหนึ่งมานุษยวิทยาอาจดูเหมือนเป็นความรู้ที่ลึกลับ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราทุกคน การที่เรามีชีวิตอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวันต้องอาศัยความรู้ทางมานุษยวิทยา ไม่ว่าจะมากหรือน้อย

 

ความรู้แบบมานุษยวิทยาเป็นอย่างไร คุณหมอช่วยขยายความได้ไหม

จริงๆ มานุษยวิทยาถือเป็นวิธีการมองโลกแบบหนึ่ง ถ้าจะบอกว่าเป็นศาสตร์ ก็เคยมีนักมานุษยวิทยาพูดไว้ว่า มานุษยวิทยาถือเป็นมนุษยศาสตร์ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด ขณะเดียวกันก็เป็นวิทยาศาสตร์ที่มีความเป็นมนุษย์มากที่สุดเช่นกัน คือเป็นวิชาที่พยายามที่จะเข้าใจความเป็นมนุษย์โดยการสังเกตและการเก็บข้อมูลที่ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อที่จะทำความเข้าใจปรากฏการณ์อย่างรอบด้านที่สุด อย่างเช่น ถ้าเราพยายามทำความเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม เราก็อาจจะสังเกตผ่านพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การแต่งกาย ปฏิสัมพันธ์ที่เขามีกับเพื่อนบ้าน หรือกิจกรรมทางสังคมที่เขาเข้าร่วม นักมานุษยวิทยามักจะต้องทำงานภาคสนามยาวนานเพื่อเก็บข้อมูลหลายๆ ด้าน ไม่ได้มองว่าพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นพฤติกรรมหรือความชอบส่วนบุคคลนะ แต่จะพยายามทำความเข้าใจเชื่อมโยงไปถึงเงื่อนไขหรือบริบททางสังคมที่ทำให้พฤติกรรมหรือการแสดงออกนั้นๆ ปรากฏขึ้น เพื่อทำความเข้าใจแง่ต่างๆ ของความเป็นมนุษย์ที่อยู่ลึกลงไปจากสิ่งที่เห็น

นักมานุษยวิทยาคนหนึ่งชื่อ Marshall Sahlins อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างมานุษยวิทยากับวิทยาศาสตร์ว่า วิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาสิ่งที่เราคุ้นเคยและรู้จักกันดี เช่น พืช สัตว์ หรือสสารต่างๆ แต่เป็นการค้นคว้าเพื่อหาสิ่งใหม่ที่เราไม่รู้จัก เช่น อนุภาคใหม่ สปีชี่ส์ใหม่ สารประกอบใหม่ที่เราไม่รู้จัก ยิ่งถ้าศึกษาลึกลงไปถึงระดับอะตอมหรือควอนตัมก็ยิ่งค้นพบสิ่งที่เราไม่เคยเจอ แต่ในทางมานุษยวิทยา เราเริ่มจากศึกษาอะไรที่ดูไม่คุ้นเคยเลย เช่น พิธีกรรม หรือพฤติกรรมที่แปลกๆ ในสังคมอื่น แต่พอศึกษาลึกลงไป สิ่งที่เจอกลับยิ่งคุ้นและยิ่งเข้าใจได้ว่า มันก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ที่เราทุกคนล้วนเป็นเช่นนั้น ทำให้เราเข้าใจมนุษย์มากขึ้นและช่วยให้เราก้าวข้ามอคติที่แยกมนุษย์ออกจากกัน กล่าวโดยสรุปก็คือนักวิทยาศาสตร์ศึกษาสิ่งที่คุ้นเคยเพื่อค้นพบสิ่งแปลกใหม่ แต่นักมานุษยวิทยาทำความเข้าใจสิ่งแปลกใหม่เพื่อก้าวข้ามอคติบางอย่าง

ในแง่นี้จึงอาจจะบอกได้ว่า มานุษยวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเพื่อเข้าใจความแตกต่าง เป็นความรู้ที่ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายได้

เวลาพูดถึงมานุษยวิทยา เรามักจะได้ยินอีกคำที่มาคู่กันบ่อยๆ คือ สังคมวิทยา ในประเทศไทยก็มีบางคณะที่จัดการเรียนการสอนทั้งสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จริงๆ แล้วสองศาสตร์นี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ผมคิดว่าเราอาจเปรียบศาสตร์ต่างๆ เป็นเหมือนสายธารความรู้ของมนุษย์ก็ได้ คือแต่เดิมความรู้เหล่านี้อาจเป็นลำธารใหญ่สายเดียว แต่พอมันเดินทางมาถึงบางช่วงของประวัติศาสตร์ ก็อาจจะเจอกับภูมิประเทศที่ทำให้สายธารความรู้นี้แยกออกเป็นลำธารสาขา ความรู้ก็แยกสาขาไปตามเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ แล้วบางทีลำน้ำเล็กๆ ก็อาจมาบรรจบกันจนเกิดเป็นศาสตร์ข้ามสาขาที่ใหญ่ขึ้นก็มี จึงเรียกได้ว่าศาสตร์ที่แยกออกเป็นสาขาๆ ก็ไม่ได้แยกเป็นอิสระจากศาสตร์อื่น คือไม่มีเส้นแบ่งขอบเขตที่ตายตัว ยิ่งด้านสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ที่เป็นการศึกษาทางสังคม ความคิดความอ่านของมนุษย์ ก็ยิ่งยากที่จะแบ่งวิชาต่างๆ ออกจากกัน คือมันทับซ้อนกันอยู่มาก

สำหรับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา แต่ก่อนเราจะถือว่าสังคมวิทยาเป็นการศึกษาสังคมสมัยใหม่หรือสังคมที่มีภาษาเขียน นักสังคมวิทยาในตะวันตกจะศึกษาองค์กร สถาบันต่างๆ หรือรูปแบบทางสังคมในประเทศตัวเอง แต่นักมานุษยวิทยาจะไปศึกษาวัฒนธรรมดั้งเดิมหรือสังคมต่างวัฒนธรรม เช่น ชนเผ่า กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกล แต่มาระยะหลัง เส้นแบ่งเหล่านี้เลือนลางลงไปมาก นักมานุษยวิทยาจำนวนหนึ่งรู้สึกว่า การไปศึกษาวัฒนธรรมที่แปลกหรือแตกต่างจากเราอาจจะกลายเป็นการยิ่งตอกย้ำความเป็นอื่น กลายเป็นการสร้างภาพตัวแทนหรือผลิตซ้ำความแปลกประหลาดของวัฒนธรรมอื่น และในขณะเดียวกัน ก็อาจทำให้นักมานุษยวิทยารู้จักสังคมที่ตนเองใช้ชีวิตอยู่น้อยลงไปด้วย งานของ Margaret Mead ที่ศึกษาการเลี้ยงดูลูกในสังคมชาวเกาะ Samoa เป็นตัวอย่างที่นักมานุษยวิทยาหันกลับมามองสังคมอเมริกัน มาวิพากษ์วิจารณ์วิธีการเลี้ยงดูลูกในสังคมตัวเอง จนในระยะหลังเกิดกระแสในต่างประเทศเรียกว่า ‘มานุษยวิทยากลับบ้าน’ คือกลับมาทำความเข้าใจสังคมในบ้านของตัวเอง

พอเป็นอย่างนี้ เส้นแบ่งระหว่างสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในปัจจุบันจึงเลือนรางลงมาก ทั้งในแง่ประเด็นที่สนใจ หรือแม้แต่วิธีการศึกษาก็คล้ายกันมาก จะแตกต่างกันบ้างก็ตรงที่นักสังคมวิทยาอาจจะใช้วิธีการศึกษาเชิงปริมาณมากหน่อย แต่นักมานุษยวิทยามักจะชอบการศึกษาเชิงคุณภาพ แต่ดูรวมๆ แล้วก็ไม่ต่างกันมาก เส้นแบ่งมันเบลอเต็มที

 

นักมานุษยวิทยาในไทยก็ทำงานคล้ายกับที่คุณหมอยกตัวอย่างมาด้วยหรือเปล่า

นักมานุษยวิทยาไทยส่วนใหญ่จะศึกษาสังคมไทยนะ แต่อาจจะไปศึกษากลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มที่มีวัฒนธรรมต่างๆ ในประเทศไทย เพิ่งจะสักสิบกว่าปีมานี้ที่นักมานุษยวิทยาไทยเริ่มไปทำงานภาคสนามในต่างประเทศมากขึ้น เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ พม่า มาเลเซีย หรือที่อิตาลีก็มี ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี ในทางมานุษยวิทยาเราถือว่า การพาตัวเองไปอยู่ในที่ๆ ไม่คุ้นเคย จะชวนให้เรากลับมาคิดได้ว่า ในเรื่องที่เราเคยชินและเคยมองว่ามันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ มันก็อาจไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป คือเห็นอะไรที่แตกต่างออกไป และกลับมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเคยคิดหรือเคยเป็น ทำให้พินิจพิเคราะห์ได้ละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งก็อาจจะนำไปสู่การตั้งคำถามต่ออีกว่า อะไรทำให้เราเป็นอยู่แบบนี้ หรือเราจะอยู่กันต่อไปอย่างไร

 

ถ้าเปรียบเทียบกับระดับสากล มานุษยวิทยาในไทยอยู่ตรงไหน ทั้งในแง่ความรู้และวิธีการศึกษา

ผมมองว่าแวดวงมานุษยวิทยาไทยค่อนข้างเข้มแข็ง นักมานุษยวิทยาไทยมีศักยภาพสูง เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผลงานที่ตีพิมพ์ก็แหลมคม ถือว่าเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ได้เลย ด้านการพัฒนาองค์ความรู้ก็มีทั้งจุดเด่นของเรา อีกอย่าง เรามีสถาบันอย่างศูนย์มานุษยวิทยาที่สนับสนุนในเรื่องมานุษยวิทยาโดยเฉพาะ มีการติดตามความเคลื่อนไหวของความรู้ในระดับสากลอย่างใกล้ชิด

ถ้าจะพูดถึงมานุษยวิทยาของไทยให้ชัดขึ้น ผมขอแบ่งออกเป็นสองสถานะ สถานะแรกคือ ไทยในฐานะพื้นที่วิจัยที่นักวิชาการต่างประเทศเข้ามาทำการศึกษา อันนี้ถ้าเปรียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ไทยไม่ได้มีนักมานุษยวิทยาเข้ามาศึกษามากกว่าประเทศอื่น ปัญหาใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นเรื่องภาษาไทยที่ดูจะยากกว่าภาษาอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ อย่างเปรียบเทียบกับอินโดนีเซียหรือเวียดนาม อย่างน้อยก็ง่ายกว่าเพราะเป็นภาษาที่ใช้ตัวอักษรโรมัน หรือประเทศอย่างเช่น ลาว กัมพูชา พม่า ก็มีเสน่ห์ในแง่ที่เป็นพื้นที่ใหม่ที่เพิ่งเข้าไปศึกษากันมากขึ้นในระยะหลัง รวมทั้งการมีการพัฒนาของนานาชาติที่ถูกมองว่าเข้าไปกดขี่ขูดรีดทรัพยากร

แต่ถามว่าไทยไม่เป็นที่สนใจเลยไหม ก็ไม่เชิง ในอดีตก็มีงานศึกษาในสังคมไทยที่กลายเป็นผลงานสำคัญจำนวนไม่น้อย ทั้งการศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนาแบบเถรวาทหรือพระป่า การศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในระยะหลังมานี้ ปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยก็เป็นที่สนใจของนักวิชาการ เช่น หนังสือเรื่อง Owners of the Map: Motorcycle Taxi Drivers, Mobility, and Politics in Bangkok ของ Claudio Sopranzetti หรือ Opposing Democracy in the Digital Age: The Yellow Shirts in Thailand ที่เขียนโดย เอม สินเพ็ง ที่วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของพันธมิตรต่อเนื่องมาจนกลายเป็น กปปส. และขบวนการเสื้อเหลือง หรือ Bangkok is Ringing: Sound, Protest, and Constraint โดย Benjamin Tausig ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัล British Forum for Ethnomusicology ในปีที่ผ่านมา ก็เป็นหนังสือที่น่าสนใจมากๆ

สถานะที่สองคือ ถ้าไม่มองไทยในฐานะพื้นที่ที่ถูกศึกษา แต่ดูเรื่องการศึกษาของนักมานุษยวิทยาไทยของเราเอง ผมคิดว่านักวิชาการไทยก็ได้ผลิตผลงานสำคัญๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้สนใจติดตามสถานการณ์ต่างๆ และความเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคนี้และของโลกไม่น้อยเลยทีเดียว ทว่าจุดอ่อนของเราก็อาจจะเป็นเรื่องภาษาเช่นกัน คือนักมานุษยวิทยาไทยจะเขียนงานที่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก ทำให้มีผลงานปรากฏในระดับนานาชาติไม่มากเท่าที่เราอยากเห็น

แก่นของมานุษยวิทยาคือ การเข้าใจว่าความเป็นมนุษย์เป็นอย่างไร คือศึกษาเพื่อตอบคำถาม how to be human? เพื่อว่าเราจะเป็นมนุษย์ที่เข้าใจคนอื่นมากกว่าเดิม เข้าใจโลกที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม 

ศาสตร์มานุษยวิทยามีจุดเด่นอย่างไร ช่วยยกตัวอย่างหน่อยได้ไหม และเรามีวิธีหรือเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่ามานุษยวิทยามีจุดเด่นสำคัญ 3 ข้อนะ ข้อแรกคือ การเห็นโลกจาก ‘มุมมองของคนใน’ คือการเข้าใจโลกจากมุมมองของคนที่เราไปศึกษา เช่น ผู้คนในแต่ละวัฒนธรรมคิดหรือรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ อย่างไร ความเข้าใจแบบนี้จะช่วยลดอคติที่เราอาจมีและช่วยไม่ให้เราไปตัดสินคนอื่นๆ โดยใช้มุมมองของเรามากเกินไป

ข้อที่สองคือ ‘เข้าใจบริบท’ คือเห็นสิ่งต่างๆ ว่ามันไม่ได้ดำรงอยู่โดดๆ แต่มีเงื่อนไขและบริบท ทั้งทางประวัติศาสตร์ โครงสร้างและความสัมพันธ์ระดับต่างๆ เช่น ในครอบครัว สังคม ชุมชน ที่ทำให้คนคิด เชื่อ อธิบายโลก หรือมีพฤติกรรมบางอย่าง ในทางมานุษยวิทยามีตัวอย่างที่ว่า พฤติกรรมแบบเดียวกัน แต่ถ้าบริบทต่างกัน ก็มีความหมายไม่เหมือนกัน อย่างเช่น ถ้าเราเห็นคนๆ หนึ่งยืนหลิ่วตาอยู่ ถามว่าเขาหลิ่วตาทำไม ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะส่งสัญญาณอะไรบางอย่างให้เพื่อน หรือกำลังล้อเลียนเพื่อนที่เป็นคนชอบขยิบตา หรืออาจจะกำลังฝึกหลิ่วตาเพื่อจะไปจีบสาวอยู่ก็ได้ (หัวเราะ) เป็นไปได้หลายอย่าง แต่เราจะเข้าใจว่าการหลิ่วตานั้นมีหมายความอะไรกันแน่ก็ต้องไปดูที่บริบท เช่น ถ้าเขาหลิ่วตาอยู่หน้ากระจกก็อาจเป็นไปได้ว่าเขากำลังซ้อมหลิ่วตาอยู่ อันนี้เราจะคิดเอาเองและสรุปไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจบริบทแวดล้อม มานุษยวิทยาจึงเป็นศาสตร์ที่ละเอียดอ่อนในการเข้าใจบริบท

และข้อที่สามคือ ‘การมองปรากฏการณ์แบบองค์รวม’ องค์รวมในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ามานุษยวิทยาจะเข้าถึงความเข้าใจที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ แต่เป็นวิธีการมองโลกที่ถือว่าส่วนย่อยจะมีความหมายก็เมื่อเราเห็นว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่ใหญ่กว่าอย่างไร เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด เช่นงานศึกษาเรื่องการดื่มเหล้าของคนพื้นเมือง สาเหตุก็อาจไม่ได้เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่อาจเชื่อมโยงไปถึงการล่มสลายของท้องถิ่น การสิ้นหวังเพราะตกงาน ไร้อำนาจที่จะจัดการและไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร เหล้าอาจเป็นการหลีกหนีจากความจริงที่เขาถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่มีทางสู้ ในขณะที่รัฐเองก็มีรายได้จากการจำหน่ายหรือโฆษณาสุรา ทั้งหมดนี้ประกอบกันหลายส่วนจนเกิดเป็นพฤติกรรม ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ด้วยการรณรงค์งดเหล้า แต่มีเหตุปัจจัยที่ซับซ้อนหลายระดับที่ต้องเข้าใจ

 

มานุษยวิทยามีพลวัตการเปลี่ยนแปลงภายในศาสตร์ หรือวิธีการศึกษาอย่างไรบ้าง

มานุษยวิทยาเองก็ไม่ได้หยุดนิ่ง มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปตามสังคม เท่าที่สังเกตมา ผมคิดว่ามุมมองของมานุษยวิทยามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ 4 ด้าน

ด้านแรกคือ ความหมายหรือนิยามของวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไป  สมัยก่อนเวลาพูดถึงวัฒนธรรม เรามักจะคิดว่า วัฒนธรรมเป็นเรื่องประเพณีอันดีงาม แต่ตอนหลังมานี้ วัฒนธรรมมีความหลากหลายขึ้น วัฒนธรรมอาจไม่ได้หมายถึงจารีตเดิม เพราะมันมีทั้งวัฒนธรรมไพร่ คนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง คนไร้บ้าน คนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ หรือ LGBT พูดง่ายๆ คือคำว่าวัฒนธรรมถูกทำให้เป็นพหูพจน์มากขึ้น มานุษยวิทยาไทยก็ศึกษาวัฒนธรรมของกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น นอกจากนั้น ความหมายของวัฒนธรรมก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีงามเสมอไป แต่อาจฝังแฝงการกดขี่หรือเป็นเครื่องมือในการเอารัดเอาเปรียบ หรืออาจถูกใช้เพื่อดำรงรักษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจบางอย่าง ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมก็อาจกลายเป็นอาวุธของผู้ถูกกดขี่ที่ใช้ท้าทายหรือต่อรองกับอำนาจที่กระทำกับเขาได้ด้วย

ด้านที่สองคือ หันมาศึกษาเรื่องปฏิบัติการมากขึ้นแทนที่จะเน้นเรื่องโครงสร้าง เราจะเห็นงานวิจัยที่เน้นเรื่องการปฏิบัติทางสังคม การขับเคลื่อนเครือข่าย ตั้งแต่เรื่องเอดส์ ปัญหาความไม่เป็นธรรม เรื่องสิ่งแวดล้อม การพัฒนา หรือกลุ่มชาติพันธ์ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ในแง่นี้ ความรู้ทางมานุษยวิทยาจะถูกใช้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมมากขึ้น ไม่ใช่ศึกษาเพื่อเข้าใจอย่างเดียว เราจึงเห็นนักมานุษยวิทยาออกมาขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาต่างๆ มากขึ้น

ด้านที่สามคือ การรื้อกรอบการมองที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง จากเดิมที่มานุษยวิทยาสนใจศึกษาแต่เฉพาะมนุษย์ ปัจจุบันมีการหันมาศึกษาสิ่งต่างๆ ที่มากไปกว่ามนุษย์เพิ่มขึ้น เช่น ศึกษาสัตว์ เชื้อโรค พืช หรือวัตถุสิ่งของ เพราะเราจะเข้าใจมนุษย์โดยศึกษาแต่มนุษย์อย่างเดียวไม่ได้ วัฒนธรรมหรือความเป็นอยู่ของมนุษย์จะถูกกำกับและทำให้เป็นไปได้ด้วยสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (nonhuman) รวมทั้งวัตถุสภาวะต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาท แม้แต่ความจำของมนุษย์ก็เป็นไปไม่ได้หากเราไม่มีอุปกรณ์มาจดบันทึก มนุษย์กับเครื่องจักรกลก็อาจไม่ได้แยกขาดจากกันเหมือนที่เราเคยคิด เรียกว่า เราเป็นไซบอร์ก (cyborg) หรือที่เราเคยคิดว่า มนุษย์เป็นผู้กระทำการให้เกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่การกระทำการของมนุษย์ไม่มีทางสำเร็จได้ ถ้าไม่มีวัตถุหรือสิ่งของต่างๆ มาเป็นผู้ร่วมกระทำการ ในแง่นี้ สัตว์ พืช หรืออมนุษย์ก็มีสถานะเป็นผู้ปฏิบัติการ เราจึงต้องศึกษาควบคู่กันไปโดยปริยาย

ตัวอย่างเช่น งานของอาจารย์เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เรื่องภววิทยาเชิงวัตถุ (object-oriented ontology) หรือการศึกษาเรื่องสาธารณูปโภคที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ของอาจารย์จักรกริช สังขมณี ในความหมายว่าวัตถุสิ่งของหรือระบบใดๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นทำให้ชีวิตทางสังคมของเราเป็นไปได้ บางทีเราไม่ได้ใส่ใจอะไรกับสิ่งของเหล่านี้ อย่างพวกสาธารณูปโภค เราก็แทบจะลืมความสำคัญของมันไปเลย เพราะปกติพอเข้ามาในตึกแล้วเปิดไฟ ไฟก็ติด หรือเปิดน้ำ น้ำก็ไหล จนเราไม่ต้องรู้สึกว่ามันมีอยู่ จะรู้สึกต่อเมื่อวันไหนน้ำไม่ไหลหรือไฟดับ เราดันโครงสร้างพื้นฐานหรือสาธารณูปโภคเหล่านี้ไปเป็นฉากหลังเสียทั้งหมด มองเห็นแต่เฉพาะมนุษย์เป็นผู้กระทำการ ทั้งที่จริงๆ แล้ว การกระทำการของมนุษย์จะเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานหรือสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ อย่างเช่น สัตว์ ต้นไม้ใบหญ้า หรือแม้แต่เชื้อโรคเชื้อรา วัตถุสิ่งของเป็นผู้ร่วมกระทำการด้วย

การมองแบบนี้จะช่วยให้เราขยายมุมมอง เห็นโลกที่ไม่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางจนเกินไป จะว่าไปแล้ว ปัญหาวิกฤตต่างๆ ของโลกก็อาจกล่าวได้ว่าเกิดจากการใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมก็ล้วนแต่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายของมนุษย์ การหันมาให้ความสนใจกับการมองโลกที่ไม่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางจึงมีความสำคัญ

และด้านสุดท้ายคือ การหันมาศึกษาวิทยาศาสตร์หรือความรู้สมัยใหม่มากขึ้น สมัยก่อนเราจะแบ่งโลกว่าเป็นโลกทางธรรมชาติ เป็นหน้าที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษา ส่วนโลกทางสังคมเป็นหน้าที่นักสังคมศาสตร์ เรียกว่า นักวิทยาศาสตร์ก็ศึกษาโลกกายภาพ วัตถุ มวลสารหรือมิติทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ส่วนนักสังคมศาสตร์ก็มาศึกษา ‘ภาพตัวแทน’ ต่างๆ เช่น ระบบความคิด ความเชื่อ ภาษา สัญลักษณ์ พิธีกรรม หรือความสัมพันธ์ทางสังคม

ทว่าในปัจจุบัน เส้นแบ่งที่แยกโลกออกเป็นสองส่วนนี้ถูกมองว่าเป็นเส้นแบ่งที่จอมปลอมหรือเปล่า ทำไมเราจึงได้แบ่งโลกแบบนี้ หรือจริงๆ มันเป็นแค่ผลผลิตของวิธีคิดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ที่สำคัญคือเกิดคำถามว่า การแบ่งโลกแบบนี้ทำให้เกิดผลเสียอะไรที่คาดไม่ถึงไหม เช่น มันทำให้ความรู้ของเราแยกเป็นส่วนๆ โลกทางกายภาพถูกผูกขาดโดยนักวิทยาศาสตร์ และการบริหารทรัพยากรธรรมชาติกลายเป็นเรื่องของนักเทคนิคไป อย่างการจัดการป่าก็ไม่ต้องสนใจคน ไปๆ มาๆ กลายเป็นคนอยู่กับป่าไม่ได้ เพราะศาสตร์การจัดการป่าแยกขาดจากศาสตร์การเข้าใจมนุษย์ คุณจะเอาแต่ป่าโดยไม่เข้าใจวิถีชีวิตหรือภูมิปัญญาของพี่น้องชาติพันธุ์ที่เขาอยู่อาศัยและดูแลป่ามาหลายร้อยปีเลย การแบ่งสองโลกที่แยกออกจากกันกลายเป็นทำให้ความคิดและความรู้ของมนุษย์บิดเบี้ยวไป เหมือนโลกถูกแบ่งด้วยวิธีคิดแบบสายวิทย์-ศิลป์ ยิ่งเมื่อวิธีคิดแบบหนึ่งเรืองอำนาจ ความรู้อีกฝั่งก็ไม่มีที่อยู่ที่ยืน หรือถูกด้อยค่าไปเรื่อยๆ

ในระยะหลัง นักมานุษยวิทยาหันมาศึกษาศาสตร์ต่างๆ มากขึ้น เช่น เข้าไปศึกษาการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ นักชีววิทยา หรือเข้าไปร่วมงานในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ทำให้เรามีความรู้และสามารถพูดถึงสิ่งที่ในอดีตเป็นพื้นที่ลึกลับที่เราเข้าไม่ถึงและเป็นความรู้ผูกขาดของนักวิทยาศาสตร์ได้ ตรงนี้นักมานุษยวิทยาที่ชื่อ Laura Nader บอกว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับโลกไม่ได้เกิดจากชาวบ้านที่นักมานุษยวิทยามักไปศึกษา เพราะส่วนใหญ่พวกเขาเป็นคนไร้อำนาจที่ถูกกระทำ ปัญหาเกิดจากคนที่มีอำนาจ นักมานุษยวิทยาจึงควรหันมาศึกษาผู้มีอำนาจหรือฝ่ายที่กระทำกับคนอื่นด้วย แทนที่จะสนใจแต่เรื่องคนตัวเล็กตัวน้อย วัฒนธรรมดั้งเดิม หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน

เท่าที่ฟังดูเหมือนกับว่า มานุษยวิทยาเป็นศาสตร์ที่กว้าง มีผู้สนใจศึกษาเรื่องย่อยๆ ต่างกันออกไป แล้วเรามีจุดร่วมอะไรไหมที่ร้อยเรียงความสนใจศึกษาเรื่องย่อยๆ เหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน

ผมคิดว่าแก่นของมานุษยวิทยาคือ การเข้าใจว่าความเป็นมนุษย์เป็นอย่างไร คือศึกษาเพื่อตอบคำถาม how to be human? เพื่อว่าเราจะเป็นมนุษย์ที่เข้าใจคนอื่นมากกว่าเดิม เข้าใจโลกที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม จากที่เราเคยตัดสินว่าคนอื่นงมงาย หรือจากความเชื่อที่เราเคยสงสัยว่าเชื่อไปได้ยังไง ถ้าคุณได้เข้าไปอยู่ในโลกของเขาแล้ว ดีไม่ดีก็อาจจะเชื่อและปฎิบัติไม่ต่างไปจากเขาเลยก็ได้

อย่างเช่น เราอาจเคยได้ยินว่าบางคนจบปริญญาเอก บางคนจบแพทย์ แต่ก็ยังไปรักษากับคนทรงหรือทำพิธีกรรมรักษาโรค ถ้ามองเผินๆ ก็อาจตัดสินเอาง่ายๆ ว่ามันเป็นความงมงาย แต่สำหรับคนที่เป็นโรคซึ่งไม่มีทางรักษา เรียกว่าสิ้นหวังจากการแพทย์สมัยใหม่แล้ว หมอบอกว่าคุณตายแน่ๆ ในอีก 3 เดือน 6 เดือน แล้วจะให้เรานอนรอความตายหรือ เป็นเรา เราก็คงไม่ยอมหรอก เพราะฉะนั้นถ้ามีใครบอกว่าหมอพื้นบ้านที่ไหนดี สมุนไพรที่ไหนใช้ได้ หรือแม้แต่มีหมอผีหรือคนทรงที่ไหน เขาก็คงจะไป อย่างน้อยมันก็ยังเป็นความหวังได้บ้าง

แต่เราก็ไม่ต้องไปเผชิญชะตากรรมเดียวกันนี้จึงจะเข้าใจคนอื่นได้ ที่สำคัญ นักมานุษยวิทยาไม่ได้ ‘กลาย’ เป็นคนที่เราไปศึกษา กลายเป็นชาวบ้าน หรือเป็นพี่น้องชาติพันธุ์ หรือ LGBT  แต่เราไปศึกษาอย่างมีความเข้าอกเข้าใจ เอาความเป็นมนุษย์ของเราไปสัมผัส เข้าไปเรียนรู้แบบไม่รีบตัดสิน มานุษยวิทยาถือว่าแม้เราจะแตกต่างกันมากมาย แต่มันก็เป็นไปได้ที่ความเข้าใจกันจะก้าวพ้นความแตกต่างนั้นได้ เพราะเราต่างมีความเป็นมนุษย์อันหนึ่งอันเดียวกันอยู่ก่อนแล้ว

จริงๆ แล้ว เรื่องความเป็นมนุษย์นี้อาจต้องทำความเข้าใจสักนิดก่อน คือปัจจุบันมีกระแสความคิดเรื่อง ‘พ้นมนุษย์’ (post-human) ที่เสนอว่า แนวคิดมนุษย์นิยมตะวันตกที่ถือว่ามนุษย์เป็นสิ่งพิเศษ แตกต่างจากสรรพสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตอื่นๆ สัตว์ หรือวัตถุสิ่งของ หรือที่เรียกว่า human exceptionalism เป็นผลผลิตของวิธีคิดที่แยกมนุษย์ออกจากสิ่งอื่น แยกออกจากธรรมชาติ ออกจากสังคม และที่สำคัญคือ เป็นการอ้างเอาคุณสมบัติบางอย่างว่าเป็นของมนุษย์ แต่ถ้าเอาเข้าจริงๆ หลายๆ อย่างที่เรามองว่าเป็นคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้มีอยู่แค่ในมนุษย์ สัตว์ก็มีอารมณ์ความรู้สึก มีความใส่ใจในการเลี้ยงลูก มีความคิดสร้างสรรค์ เชื้อโรคเชื้อราก็ขยายอาณานิคมออกไปไม่ต่างจากมนุษย์ขยายถิ่นที่อยู่อาศัย ดังนั้น คุณสมบัติหลายอย่างที่เราเรียกว่า ‘ความเป็นมนุษย์’ ก็ไม่ใช่ของมนุษย์นะ เพียงแต่เราอาจจะรู้จักมันจากการแสดงออกของมนุษย์ก่อน ก็เลยเหมารวมว่านี่คือความเป็นมนุษย์ไป ปัจจุบัน มานุษยวิทยาจึงมีการศึกษาสัตว์ (animal studies) รวมทั้งการศึกษาชาติพันธุ์นิพนธ์ของพืช (plant ethnographies) เพื่อที่จะเข้าใจภววิทยาหรือการดำรงอยู่ของความจริงที่แตกต่างออกไปจากการใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง

ถ้าจะพูดให้ชัดขึ้น คุณสมบัติหลายอย่าง เช่น การช่วยเหลือแบ่งปันกัน ก็ไม่ได้มีแต่ในมนุษย์ ถ้าเราสังเกตต้นไม้ในเมืองที่ถูกตัดโค่นเหลือแค่ตอ ภายในไม่กี่เดือนมันก็จะแห้งตาย แต่มีการศึกษาต้นไม้ในป่าที่สมบูรณ์พบว่า แม้บางต้นจะถูกโค่นลงมาหลายปี แต่โคนต้นที่เหลืออยู่ก็ยังเขียว ยังมีชีวิตอยู่แม้จะผ่านไปหลายสิบปี ทั้งๆ มันไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ แต่มันก็ไม่ตายเพราะมันได้สารอาหารที่ต้นไม้รอบๆ ส่งมาหล่อเลี้ยงมันไว้ นี่คือสิ่งที่เรารู้จักในนามความเอื้ออารีของความเป็นมนุษย์ แต่จริงๆ มันอยู่ในทุกสรรพสิ่ง

ในแง่นี้ มานุษยวิทยาจึงไม่ได้ไปมองหาแร่ธาตุ เอนไซน์ หรือสารประกอบแปลกใหม่ที่เราไม่รู้จัก เหมือนอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการค้นพบสปีชีส์ใหม่หรือนักควอนตัมฟิสิกส์อยากจะค้นพบอนุภาคใหม่ แต่นักมานุษยวิทยาไปทำความเข้าใจเพื่อจะได้สะท้อนกลับมาตอบคำถามว่า ‘ความเป็นมนุษย์’ คืออะไร

บทเรียนเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกันก็เป็นความเข้าใจที่พ้นมนุษย์ไปด้วย เพื่อจะไม่ให้เราติดกับดักการแบ่งโลกออกเป็นมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ วัตถุกับสังคม วิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์ หรือแบ่งโลกออกเป็นเราและคนอื่น ซึ่งเป็นที่มาของอคติที่ก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่าง การศึกษาของมานุษยวิทยาในระยะหลังจึงมุ่งรื้ออคติที่ฝังแฝงอยู่ในวิชามานุษยวิทยาเอง เป็นอคติที่ว่ามีแต่มนุษย์เท่านั้นที่มีวัฒนธรรม มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่เป็นผู้กระทำการ วัตถุสิ่งของหรือสัตว์อื่นล้วนแต่เนือยนิ่งและดำรงอยู่เพื่อรองรับการกระทำของมนุษย์

ทั้งหมดที่ว่ามาถือเป็นภารกิจใหญ่ของการสร้างความรู้ ไม่ใช่เฉพาะมานุษยวิทยา แต่รวมทั้งศาสตร์อื่นๆ เช่น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา มนุษยศาสตร์ ก็ต้องเข้ามาร่วมกันท้าทายวิธีคิดแบบนี้ด้วย

 

เราบอกได้ไหมว่า นี่คือความพยายามเข้าใจความเป็นมนุษย์ เพื่อสลายความเป็นมนุษย์

ใช่ครับ เหมือนที่พูดไปแล้วว่า ในระยะหลัง แนวคิดที่เรียกว่าพ้นมนุษย์ (post-human) จะมองว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก รวมถึงสภาวะโลกรวน เกิดจากวิธีคิดที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง คือ เอาประโยชน์ของมนุษย์เป็นสิ่งสูงสุด เช่น แม่น้ำ ผืนดิน ป่า ภูเขา ถูกมนุษย์ทำลายได้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง สิ่งต่างๆ ถ้ามันไม่เป็นประโยชน์กับมนุษย์ เราก็กำจัดมันทิ้งไปได้ เหมือนกับว่า ถ้ามันไม่สมประโยชน์ของมนุษย์ มันก็ไม่คู่ควรจะอยู่บนโลกใบนี้

หรืออย่างถุงพลาสติก ซึ่งเราใช้อย่างสะดวกสบาย ใช้เสร็จ หมดประโยชน์ก็ทิ้งไป แต่ปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่นก็อาจเข้าไปติดในถุง หรือพลาสติกที่กลายเป็นขยะท่วมท้นในปัจจุบัน มนุษย์เราก็ไม่แคร์ เราจะสนใจแต่เพียงความสะดวกสบายเท่านั้น นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่หันมามองความรู้ที่ไม่ใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางในระยะหลังมานี้

 

นอกจากการศึกษามานุษยวิทยาจะทำให้เราเข้าใจมนุษย์ได้ลึกซึ้งมากขึ้นแล้ว ในทางปฏิบัติ ความรู้ทางมานุษยวิทยาจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในสังคมหรือสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้อย่างไร

ความรู้ทางมานุษยวิทยาสามารถถูกนำไปใช้ได้ตั้งแต่ระดับนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิทางวัฒนธรรม สิทธิมนุษยชน การต่อสู้กับอคติทางสังคมต่างๆ แม้แต่เรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็มีมิติทางวัฒนธรรมที่ซ้ำเติมผู้เสียโอกาส หรือการเข้าใจเงื่อนไขและโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมของกลุ่มเปราะบางต่างๆ ก็ล้วนแต่ต้องการความเข้าใจเงื่อนไขบริบทของผู้ด้อยโอกาส หรือระบบบริการสาธารณะ เช่น ระบบโรงพยาบาล ถ้าออกแบบโดยไม่เข้าใจคนเลย แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือหรือเยียวยาก็อาจจะเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ หรือผลิตซ้ำวิธีคิดที่ลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้

ในระยะหลังมานี้ มีนักมานุษยวิทยาในตะวันตกไปทำงานในภาคธุรกิจมากขึ้น มีการนำเอาความรู้และวิธีวิทยาทางมานุษยวิทยาเพื่อใช้ศึกษาลักษณะการใช้งานของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ นักมานุษยวิทยาจึงเข้าไปมีบทบาทในการออกแบบสินค้า เฟอร์นิเจอร์ สถาปัตยกรรม โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่ใช้ข้ามวัฒนธรรม เพราะสิ่งที่อนุญาตให้ทำได้ในสังคมหนึ่งอาจผิดกาละเทศะหรือเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมหนึ่ง เช่น สินค้าบางชนิดอาจถูกออกแบบมาให้ใช้เท้าเขี่ย ก็คงไม่เป็นไรในสังคมตะวันตก แต่คนตะวันออกก็คงจะไม่นิยม เพราะเราถือว่าการใช้ขาทำกิจกรรมต่างๆ เป็นเรื่องไม่เหมาะสม แบบนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดถึงเช่นกัน

ทั้งหมดนี้ทำให้มานุษยวิทยาค้นพบประโยชน์ของตัวเองได้อย่างกว้างขวางขึ้น ทั้งในแง่การทำงานเพื่อให้สังคมเกิดความเป็นธรรมมากขึ้น หรือคอยวิพากษ์วิจารณ์ ให้ข้อชี้แนะในส่วนที่สังคมยังต้องการการเปลี่ยนแปลง ช่วยพัฒนาบริการทางสังคม หรือแม้แต่สินค้าและบริการภาคธุรกิจให้เหมาะสมและละเอียดอ่อนกับกลุ่มคนที่อาจจะไม่ได้เป็นตัวอย่างที่เขาคำนึงถึงในช่วงแรกที่ออกแบบสินค้าและบริการนั้น

ส่วนในประเทศไทย เราอาจจะเห็นคนเรียนมานุษยวิทยาไปทำงานด้านการสร้างเนื้อหา (content creator) เยอะ เช่น นักเขียน นักข่าว หรือทำสารคดี อีกส่วนก็จะเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ทางมานุษยวิทยาในการทำงานในวงการอื่นๆ เช่น การพัฒนา การศึกษา งานด้านสิ่งแวดล้อม หรือในวงการแพทย์และสาธารณสุข ในแวดวงโฆษณาและการบริหารงานบุคคล (HR) ที่ต้องการความเข้าใจมิติความเป็นมนุษย์ก็สามารถใช้ประโยชน์จากนักมานุษยวิทยาได้ เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่ต้องศึกษาการใช้พฤติกรรมการใช้สินค้าอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะนักมานุษยวิทยาจะมีเครื่องมือการวิจัยที่เรียกว่า ‘การสังเกตแบบมีส่วนร่วม’ ที่จะช่วยให้เข้าถึงความรู้สึกนึกคิดหรือบริบทการใช้ผลิตภัณฑ์ว่าจริงๆ แล้วผู้ใช้ใช้อย่างไร รู้สึกอย่างไร สินค้าบางชนิดอาจมีนัยเชิงสัญลักษณ์ ความรู้ความเข้าใจลักษณะนี้มักหาไม่ได้จากแบบสำรวจ แต่วิธีวิจัยแบบมานุษยวิทยาช่วยได้เยอะ เพราะเป็นการศึกษาจากการเข้าไปคลุกวงใน ทำให้เข้าใจมุมมองของคนใช้ เป็นต้น

 

ในกรณีที่นักมานุษยวิทยาได้เข้าไปศึกษาคนกลุ่มหนึ่งและนำข้อมูลที่ได้มาช่วยในเรื่องธุรกิจ แล้วจะเป็นไปได้ไหมว่า ข้อมูลที่เรานำเสนออาจกลับกลายเป็นช่องทางให้ภาคธุรกิจฉกฉวยประโยชน์จากคนกลุ่มนั้นแทน โดยที่นักมานุษยวิทยาเองก็อาจจะไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ แบบนี้นักมานุษยวิทยาควรจะวางตัวอย่างไร

โจทย์นี้น่าสนใจมากครับ ในต่างประเทศ มีนักมานุษยวิทยารวมตัวกันเป็นองค์กรชื่อว่า EPIC (Ethnographic Practitioners in Corporations) เพราะเขาต้องเจอกับปัญหานี้ การมารวมตัวกันก็เพื่อวางมาตรฐานทางจริยธรรมว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เพราะมานุษยวิทยาไม่ได้มีพันธะผูกพันแค่กับบริษัท แต่มีหน้าที่ต่อสังคมด้วย คือต้องไม่ยอมให้ข้อมูลหรือความรู้ที่เราสร้างขึ้นถูกใช้เพื่อเอารัดเอาเปรียบคนอื่น

ทีนี้ ถ้านักมานุษยวิทยาสักคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้คนเดียวก็อาจจะลำบาก เพราะลำพังตัวคนเดียวไม่มีอำนาจต่อรอง จึงเกิดการรวมตัวกันขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่ว่า  

การลงมือทำอะไรไปบ้างมีส่วนสำคัญในการหล่อเลี้ยงความหวังของมนุษย์ แม้มันจะล้มเหลวหรือไม่ได้ผล แต่ความหวังก็ทำให้มนุษย์เริ่มต้นใหม่ได้อีกเสมอ ในทางตรงข้าม ความสามารถในการเริ่มต้นใหม่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้มีความหวังว่า ความพยายามครั้งใหม่นี้จะทำให้อะไรๆ เป็นไปตามที่เราหวัง

นักมานุษยวิทยาควรวางตัวอย่างไร ถ้าเราลงพื้นที่ศึกษาและพบว่า คุณค่าหรือวัฒนธรรมย่อยของชุมชนหนึ่งขัดกับคุณค่าสากลที่เรายึดถือ เราควรจะจัดการกับทางแพร่ง (dilemma) ตรงนี้อย่างไร เส้นแบ่งของการเคารพความแตกต่างกับการแทรกแซงอยู่ที่ตรงไหน

นี่เป็นโจทย์ที่มีการถกเถียงกันมายาวนานว่า นักมานุษยวิทยาจะเข้าไปแทรกแซงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นหนึ่งได้ขนาดไหน บางคนอาจจะมองว่า การที่เราเข้าไปศึกษาชุมชนหนึ่ง เราก็มีความผูกพันและต้องตอบแทนให้กับชุมชนเช่นกัน เราจึงมีหน้าที่ต้องช่วยเปลี่ยนแปลงชุมชนไปในทางที่ดีด้วย  แต่บางคนก็มองว่า เราเข้าไปในชุมชนเพียงระยะหนึ่งและไม่ได้เป็นสมาชิกของคนกลุ่มนั้น เราอาจจะใช้ค่านิยมบางอย่างที่เอาไปตัดสินว่าอะไรเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีหรือไม่ดี บางทีการใช้ค่านิยมหรือความคิดของเราไปกำหนดก็อาจจะไม่ใช่ความต้องการของชุมชนก็ได้ ตรงนี้ก็เป็นข้อถกเถียงที่หาคำตอบได้ยาก

แต่สำหรับผมแล้ว ถ้ามันเป็นเรื่องความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม เช่น การดูแลผู้ประสบภัยพิบัติ การช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วย หรือการส่งเสริมอาชีพอะไรพวกนี้ ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนขึ้น เช่น เรื่องความขัดแย้งหรือเรื่องการเมืองในพื้นที่ เรื่องการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับประเพณีความเชื่อ ก็เป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวัง เรื่องอะไรที่ทำได้ก็ควรทำ แต่หลักการสำคัญคือ การศึกษาทำความเข้าใจกับปัญหาให้ลึกซึ้ง แลกเปลี่ยนและรับฟังความเห็นของคนในชุมชน

ปัจจุบัน มีความเคลื่อนไหวที่เรียกว่า ‘มานุษยวิทยาสาธารณะ’ คือ การทำให้มานุษยวิทยาเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากขึ้น ซึ่งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรก็สนับสนุนแนวคิดนี้ คือ เราอยากให้มีการใช้ความรู้ทางมานุษยวิทยาเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้น ซึ่งก็อาจทำได้หลายด้าน อย่างการประยุกต์ใช้ความรู้มานุษยวิทยาในการทำงานต่างๆ เช่น มานุษยวิทยาการแพทย์ที่อาจช่วยให้การสาธารณสุขหรือการดูแลผู้ป่วยใส่ใจต่อมิติความเป็นมนุษย์มากขึ้น อีกแบบหนึ่งเป็นการใช้มานุษยวิทยาในการผลักดันนโยบายสาธารณะ เช่น เรื่องการส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรม การคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นการนำความรู้ของเราไปทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ

นอกจากนี้ เรายังมุ่งส่งเสริมให้เกิดการทำงานข้ามศาสตร์กันมากขึ้นเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมถึงการส่งเสริมบทบาทของนักมานุษยวิทยาในการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (anthropological activism) เพื่อแสดงให้เห็นว่านักมานุษยวิทยาก็ไม่ได้นิ่งดูดายกับปัญหาสังคมด้วย

ปัจจุบันมีการพูดถึง ‘มานุษยวิทยาแห่งความหวัง’ (The Anthropology of Hope) อยากชวนคุณหมอคุยว่า องค์ความรู้แบบมานุษยวิทยาถูกนำไปจับกับคำว่า ‘ความหวัง’ อย่างไร

ต้องบอกว่าเรื่องมานุษยวิทยากับความหวังเป็นเรื่องที่ท้าทายแวดวงมานุษยวิทยาไม่น้อย เพราะแต่เดิม มานุษยวิทยามักจะศึกษาและเกี่ยวข้องเฉพาะกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น เราเขียนเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตอนทำงานภาคสนาม และเราสังเกตสิ่งนั้นได้ แต่เราจะไม่สนใจเรื่องที่ยังไม่เกิดหรือเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

แต่ในระยะหลังมานี้ เริ่มมีความสนใจเรื่อง speculative anthropologies คือมานุษยวิทยาที่มองความเป็นไปได้ในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรได้ การเขียนเรื่องราวในปัจจุบันบนความคาดหมายต่ออนาคตก็กลายเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น กลุ่มของนักมานุษยวิทยาที่ทำงานในแวดวงการออกแบบ (Anthropology of Design) ซึ่งจะต้องคิดหรือคาดเดาว่า ผลิตภัณฑ์ที่เราช่วยออกแบบนั้นจะถูกนำไปใช้อย่างไร หรือมันจะมีชีวิตทางสังคมต่อไปอย่างไรในอนาคต เช่น เฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้จะไปอยู่ตรงไหนในบ้านของผู้ที่ซื้อไป และมีความเป็นไปได้ที่จะถูกใช้งานอย่างไรบ้าง ตรงนี้เท่ากับว่าเราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะเกิดในอนาคต ส่วนมานุษยวิทยาที่จำกัดตนเอง คิดและเขียนเฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นไปแล้ว ก็เหมือนการมีชีวิตอยู่ในโลกของอดีต เป็นการจำกัดความรู้ของเราไว้แค่กับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือเขียนถึงสิ่งที่เราไปสังเกตมา แต่ก็ต้องบอกด้วยว่า จริงๆ แล้ว แนวคิดที่เรียกว่า speculative anthropologies ก็ไม่ได้มองอดีตกับอนาคตแยกขาดจากกัน คือแม้ว่าเราจะศึกษาเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว แต่มุมมองของเราก็แฝงไว้ด้วยความคาดหวังในสิ่งที่จะเกิดขึ้นเสมอ และแม้ว่าอนาคตจะเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนหรือคาดเดาได้ยาก แต่สิ่งที่มานุษยวิทยาสามารถนำเสนอได้ก็คือ การฉายให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่นำพาเราให้เดินทางไปข้างหน้าอย่างมีความหวังได้

ทีนี้ ถ้าเราพูดถึง ‘ความหวัง’ จริงๆ แล้วมันคืออนาคตที่กำลังทำงานอยู่ในปัจจุบัน หรือจะเรียกว่า future in the making ก็ได้ มานุษยวิทยาของความหวังจึงเป็นการศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแต่มีส่วนวาดอนาคต และในขณะเดียวกันก็ศึกษาว่าสิ่งที่เราคาดหวังในอนาคตมีส่วนกำหนดความเป็นอยู่ของเราในปัจจุบันอย่างไร

สมมติว่าเราอยากย้ายประเทศ ในความเป็นจริงจะย้ายได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่นี่คือความหวังว่าเราอาจจะไปมีชีวิตที่ดีกว่า เราอยากจะมีสวัสดิการหรือสวัสดิภาพที่ดี มีทางเท้าที่ไม่ขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อจนเกินไป เราอยากได้รถเมล์ที่ไม่ใช่ผ่านมา 30-40 ปีแล้วยังเหมือนเดิม ทั้งหมดนี้เป็นการดึงเอาความเป็นไปได้หลากหลายในอนาคตมาแปลงเป็นความหวังบางอย่างของเรา ทำสิ่งที่เราอยากจะมีขึ้นในอนาคตให้มาปรากฏในพื้นที่ปัจจุบัน ซึ่งมันจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ ประเด็นหนึ่งที่นักมานุษยวิทยาสนใจคือ ความหวังเหล่านี้ทำงานอย่างไร ความหวังได้เปิดเผยให้เห็นความเป็นไปได้อะไรขึ้นมาบ้าง

การศึกษามานุษยวิทยาของความหวังจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอนาคต หรืออาจจะเรียกว่าช่วยกันก่อร่างสร้างความเป็นไปได้ในอนาคต ผมคิดว่าสังคมปัจจุบันกำลังดิ้นรนอยู่บนความหวังที่เลือนราง และไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ลึกๆ เราก็ล้วนต้องมีความหวัง หรือต้องรักษาความหวังของเราไว้ เวลานี้จึงเป็นเวลาที่เราควรจะมาครุ่นคิดอย่างจริงจังว่า ความรู้ทางมานุษยวิทยาจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอนาคตที่กำลังถูกสร้างขึ้นวันนี้ ในเวลานี้ ของเราอย่างไร

ถ้าความหวังคืออนาคตที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน ในทางมานุษยวิทยามีวิธีทำให้ความหวังเหล่านี้เป็นจริงได้ไหม

เราอาจคิดได้เหมือนกันนะว่า ความหวังแท้จริงแล้วก็เป็นความจริงแบบหนึ่ง คนบางคนอาจมีชีวิตอยู่ด้วยความหวังมากกว่าสิ่งตรงหน้าที่ถือกันว่าเป็นความจริง ความหวังจึงเป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยเสริมพลังอำนาจ (empower) ให้เราสู้ต่อไปได้ แต่ในอีกแง่หนึ่ง มีนักมานุษยวิทยาบางคนบอกว่า ความหวังทำให้มนุษย์เฉื่อยชา พอมีความหวัง ก็เลยเอาแต่นั่งหวังไปวันๆ ความหวังจึงเป็นตัวถ่วงทำให้เราไม่ลงมือกระทำ อันนี้ก็อาจจะเหมือนอารมณ์ความรู้สึกอื่นๆ ของมนุษย์นะ บางคนมีความรักก็กระฉับกระเฉง อยากทำนั่นทำนี่ แต่สำหรับบางคน ความรักก็ทำให้วันๆ ไม่อยากทำอะไรเลย อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า ความหวังอาจจะมีหลายแบบและทำงานได้ในหลายลักษณะ คนต่างชนชั้น มีอำนาจต่างกัน ก็มีความสามารถที่จะวาดหวังต่างกันด้วย เรียกง่ายๆ ว่ามันมีความเหลื่อมล้ำในทางความหวังด้วย สังคมหรือโครงสร้างบางอย่างอาจพรากความหวังไปจากชีวิตของคนบางกลุ่มไป พูดง่ายๆ คือ สำหรับคนที่ไม่เคยมีโอกาสทางสังคม ต้องดิ้นรนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เขาก็คงจะไม่สามารถจะหวังอะไรมากไปกว่าการอยู่รอดในแต่ละวัน

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าความหวังของคนมีไม่เท่ากันที่ชัดๆ ก็อย่างเช่นในสถานการณ์วิกฤต ความล้มเหลวในการจัดการโรคระบาดหรือรับมือกับภัยพิบัติทำให้ประชาชนต้องดิ้นรนเอาตัวรอดอย่างสิ้นหวัง แต่นายทุนใหญ่อาจเห็นช่องทางทำมาหากินหรือแสวงประโยชน์จากสถานการณ์วิกฤต ก็จะมีความหวังเป็นพิเศษในขณะที่ประชาชนทั่วไปอาจกำลังสิ้นหวัง

ดังนั้น ที่บอกว่ามนุษย์มีความหวังได้ไม่เท่ากันก็เพราะความหวังเป็นการหยิบยืมความเป็นไปได้มาจากที่อื่น เช่น สถานที่อื่น เวลาอื่น หรือคนอื่น เพราะความหวังคือสิ่งที่เราสร้างขึ้นเพื่อท้าทายสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ ความหวังถูกสร้างขึ้นจากความเป็นจริงในกาละเทศะอื่นที่ไม่ใช่ที่นี่-เดี๋ยวนี้ เช่น การย้ายประเทศก็เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นในประเทศอื่น การซื้อหวยก็เพื่อโอกาสที่จะร่ำรวยในเวลาข้างหน้า หรือแม้แต่ในสถานที่ที่ไม่มีอยู่จริง เช่น ตอนนี้ไปเที่ยวไม่ได้เพราะโรคระบาด ก็ใช้วิธีเที่ยวทิพย์ไปก่อน หรือแม้แต่การด่าที่มีกระแสว่านโยบายรัฐถูกขับเคลื่อนด้วยการด่า สะท้อนว่าแม้เราจะหมดหวังกับวิธีอื่นๆ แต่เราก็ยังหวังว่าด่าแล้วอะไรมันจะดีขึ้นบ้าง 

ในแง่นี้ ความหวังก็มีประวัติศาสตร์ของมันด้วย คือความหวังเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะสมหวังหรือผิดหวัง ความหวังครั้งก่อนก็มีส่วนในแง่ใดแง่หนึ่งที่จะก่อเกิดเป็นความหวังต่อๆ มา ความหวังจึงอาจถือว่ามีชีวิตทางสังคมของมันด้วย ความผิดหวังในปัจจุบันที่ยังเหลือเชื้อให้หวังต่อในอนาคตก็ทำให้คนไม่รู้สึกสิ้นหวัง แต่ก็ไม่ใช่หวังลมๆ แล้งๆ ไปเรื่อยๆ นะ เพราะเอาเข้าจริงถ้าเราไม่ลงมือทำอะไรเลย มันก็คงไม่มีความหวังอะไรแต่แรก ที่สำคัญ การลงมือทำอะไรไปบ้างมีส่วนสำคัญในการหล่อเลี้ยงความหวังของมนุษย์ แม้มันจะล้มเหลวหรือไม่ได้ผล แต่ความหวังก็ทำให้มนุษย์เริ่มต้นใหม่ได้อีกเสมอ ในทางตรงข้าม ความสามารถในการเริ่มต้นใหม่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้มีความหวังว่า ความพยายามครั้งใหม่นี้จะทำให้อะไรๆ เป็นไปตามที่เราหวัง

ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเบื้องต้นที่อยากเชิญชวนให้มาช่วยกันคิดว่า เราจะทำงานกับความหวังทางสังคมของผู้คนอย่างไร เราจะทำให้สังคมนี้ไม่เป็นสังคมที่ปล่อยให้ผู้คนสิ้นหวัง จนกลายเป็นการก่นด่าเกลียดชังกัน แต่ก็ไม่ใช่สังคมที่มองโลกแต่ในแง่ดีอย่างเดียว เพราะปัจจุบัน ดูเหมือนเราจะมีทางเลือกอยู่แค่สองทาง คือ เราจะขับเคลื่อนด้วยความโกรธและคำด่า หรือจะปลอบประโลมด้วยคำคมแบบโลกสวย เอาเข้าจริงๆ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังทั้งคำด่าหรือคำคมก็อาจจะเป็นความหวังหรือความสิ้นหวัง เราจึงควรจะมีบทสนทนากับความหวังที่ชวนกันออกจากกับดักคู่ตรงข้ามนี้ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องของปัจเจกที่จะมาปลอบประโลมหรือเยียวยากันเป็นรายๆ เหมือนกับการรักษาผู้ป่วยซึมเศร้าในทางการแพทย์

แสดงว่าความหวังไม่ใช่แค่เรื่องของปัจเจก แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้นด้วย

ใช่ครับ จริงๆ เราจะพูดถึงความหวังของปัจเจกโดยไม่พูดถึงสังคมเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ ความหวังจึงเป็นเรื่องทางสังคมที่เราอาจเรียกว่าความหวังทางสังคม (social hope) ทั้งในแง่ที่โครงสร้างสังคมเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนมีความหวังกันอย่างไร และมีโอกาสที่จะลงมือทำความหวังให้เป็นจริงได้อย่างไร ในแง่หนึ่ง การเข้าใจความหวังทางสังคมอาจทำให้เราพบว่า คนที่ดูจะแตกต่างหรือขัดแย้งกันสุดขั้ว พอลองไปดูจริงๆ ความหวังของเขาก็อาจจะไม่ได้ต่างกันเลย เขาอาจจะหวังให้มีชีวิตหรือมีสังคมที่ดีเหมือนกัน แต่คนที่คิดว่าเหมือนกัน เอาเข้าจริงอาจจะมีความหวังที่แตกต่างกันก็ได้ ยิ่งถ้าเราสืบสาวดูประวัติศาสตร์สังคมของความหวัง เราก็อาจเข้าใจว่าทำไมคนกลุ่มหนึ่งจึงมีหรือฝากความหวังบางอย่าง ความหวังของคนๆ หนึ่งมีชีวิตในทางสังคมของมันอยู่เหมือนกัน ถ้าพูดให้ชัดขึ้นคือ ความหวังหนึ่งสิ้นไปอาจก่อให้เกิดความหวังอีกแบบขึ้นมา ความหวังใหม่ที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ผลผลิตของปัจเจก แต่เป็นผลลัพธ์มาจากความสมหวังและสิ้นหวังในอดีต ซึ่งก็ถูกกำกับด้วยเงื่อนไขทางโครงสร้าง อำนาจการกระทำการ และการตัดสินใจทางการเมืองด้วย

ในระดับโลก เราเห็นการติดป้ายความเป็นอื่น การเหยียดและความรังเกียจเดียดฉันท์มากขึ้น ไล่เรียงตั้งแต่กระแสเกลียดชังอิสลาม (Islamophobia) ต่อต้านผู้อพยพ กระแสเหยียดเชื้อชาติหรือเกลียดชังชาวเอเชีย ทั้งหมดนี้มีนัยสำคัญอะไรต่อการศึกษามานุษยวิทยาบ้าง

สำหรับผม เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องสำคัญที่ท้าทายวงการมานุษยวิทยาที่สุดในระยะข้างหน้านี้ กระแสที่เกิดขึ้นในโลกเหมือนจะเรียกร้องนักมานุษยวิทยามากขึ้น และถ้าจะบอกว่าเป็นโอกาสที่จะแสดงให้เห็นว่าความรู้มานุษยวิทยามีความสำคัญขึ้นก็ได้ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาเราทำงานไม่สำเร็จ มานุษยวิทยาได้สร้างความรู้เพื่อต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติ สีผิว หรือชาติพันธุ์มาตลอด จริงๆ เราสู้มาตั้งแต่ความคิดแบบ scientific racism ที่ถือว่ามนุษย์มีความเฉลียวฉลาดแบ่งแยกตามเชื้อชาติ ความเฉลียวฉลาดชี้ขาดจากขนาดและรูปร่างของกะโหลกศีรษะ ไปจนถึงการจัดลำดับขั้นวิวัฒนาการของวัฒนธรรมต่างๆ ที่ถือว่ายุโรปเป็นพัฒนาการขั้นสูงสุดโดยมีชนชาติอื่นๆ เป็นพวกป่าเถื่อน มานุษยวิทยาได้พยายามต่อสู้เพื่อพิสูจน์ว่าลักษณะทางกายภาพไม่ได้เป็นตัวกำหนดสติปัญญาหรืออารยธรรมของมนุษย์เลย

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ อย่างกรณีของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) แสดงให้เห็นชัดมากๆ ว่าสังคมที่มีเรื่องการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ และการรังเกียจเดียดฉันท์จะยังคงอยู่กับเราอีกยาวนาน แม้ในสังคมอเมริกันที่เคยคิดว่าได้เอาชนะเรื่องการเหยียดมาแล้ว ถ้าเรายังจำได้นะ ตอนที่บารัก โอบามา ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี มีการเฉลิมฉลองว่าสังคมอเมริกันได้ก้าวพ้นเรื่องสีผิวไปแล้ว เพราะแม้แต่คนผิวดำก็ยังสามารถเป็นประธานาธิบดีได้ แต่จริงๆ อคติต่อเชื้อชาติมันฝังลึกและเป็นระบบจนการก้าวพ้นเป็นเรื่องยาก นี่ขนาดว่าในสหรัฐฯ ประวัติศาสตร์การต่อสู้เรื่องนี้มีความเข้มข้นหรือการศึกษาเพื่อสิทธิพลเมืองก็อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก แต่พอโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี กระแสเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิวก็ปะทุรุนแรง ยิ่งเมื่อเกิดโรคโควิด-19 ระบาด อคติต่อชาวเอเชียก็ถูกทรัมป์โหมกระพือจนกลายเป็นความรุนแรง

คุณหมอคิดว่ามานุษยวิทยายังทำงานไม่สำเร็จ อยากชวนคุยว่าอะไรเป็นสาเหตุของความไม่สำเร็จตรงนี้ หรือเราจะปรับตัวเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มานุษวิทยาทำงานสำเร็จได้ยังไง

มีการถกเถียงกันในแวดวงมานุษยวิทยาต่างประเทศว่า นักมานุษยวิทยาจำนวนไม่น้อยเขียนงานวิชาการเพื่ออ่านกันเองในหมู่นักมานุษยวิทยา อ่านกันเอง เข้าใจกันเอง ใช้ศัพท์แสงที่คนอื่นอ่านแล้วไม่เข้าใจ สาธารณชนก็ใช้ประโยชน์จากความรู้ที่นักมานุษยวิทยาผลิตขึ้นมาไม่ได้ ประเด็นที่นักมานุษยวิทยาทำการศึกษาวิจัยก็มักเป็นความสนใจส่วนตัว บางครั้งก็ไม่เกี่ยวกับปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญอยู่เลย อันนี้ในประเทศไทยก็อาจมีบางส่วน แต่นักมานุษยวิทยาไทยจำนวนมากก็ออกมามีบทบาททางสังคม ทั้งผลักดันนโยบายและกฎหมาย ทั้งมีบทบาทในการต่อต้าน วิพากษ์นโยบาย หรือแนวทางปฏิบัติภาครัฐในเรื่องต่างๆ  

แต่โดยภาพรวม ก็พอจะกล่าวได้ว่า เราจำเป็นต้องมีศักยภาพหรือทักษะหลายด้าน นอกเหนือจากงานวิชาการ เราต้องการนักมานุษยวิทยาที่สามารถสื่อสารและทำงานกับสาธารณะมากขึ้น ที่ศูนย์มานุษยวิทยา เราเองก็คุยกันว่าเราต้องการคนแบบ T-Type คือมีความรู้ดีในเรื่องมานุษยวิทยา เหมือนขาของตัวที T และมีทักษะอื่นๆ กว้างออกไปเหมือนเส้นขวางบนตัวอักษร T จากเดิมที่เราเน้นทักษะแบบตัวไอ I คือ เก่งขาเดียว อันนี้ก็เพื่อให้สามารถสื่อสารและผลิตงานที่นำไปใช้แนวกว้างได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่างานวิชาการหรือทฤษฎีต่างๆ จะไม่สำคัญ ถ้าเปรียบกับวงการแฟชั่น งานเชิงวิชาการหรือทฤษฎีชั้นสูงก็เหมือนกับชุดที่ดีไซเนอร์ออกแบบมา มันอาจจะใส่เดินถนนไม่ได้ แต่เป็นการบุกเบิก สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ และเป็นการแสวงหาทิศทางในอนาคต นำเสนอมุมมองที่สดใหม่ ตั้งคำถามสำคัญที่แม้เรายังไม่มีคำตอบเพื่อเป็นรากฐานของอนาคต แต่เราก็ต้องเน้นการนำความรู้ที่ใช้ประโยชน์ได้ไปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ได้ด้วย

หลายคนบอกว่านี่เป็นยุค digital disruption วงการมานุษยวิทยาเจอผลกระทบอะไรบ้างไหม

ผมคิดว่าเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้ disrupt อะไรในมานุษยวิทยาเท่าไรนัก ในทางตรงข้าม มันกลับทำให้เกิดประเด็นการศึกษาจนกลายเป็นมานุษยวิทยาดิจิทัล (digital anthropology) ที่ไม่เพียงแต่มีการผลิตผลงานสำคัญๆ มากมาย แต่ยังทำให้มีการสร้างระเบียบวิธีวิจัยใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม เพราะปกตินักมานุษยวิทยาจะลงพื้นที่ไปศึกษาชุมชนจริงที่มีตัวตนคนเป็นๆ อยู่ แต่ในโลกทางโซเชียลหรือโลกเสมือนจริง (virtual world) เราจะไม่สามารถใช้วิธีวิจัยแบบเดิมได้อีก การทำวิจัยก็เปลี่ยนแปลงไป เช่น เรารู้จักคนในทวิตเตอร์ (Twitter) แต่ตัวตนจริงๆ ของเขาคือใคร ชีวิตออนไลน์ของเขาทำให้เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตออฟไลน์หรือเปล่า เพราะมันอาจไม่ได้แยกขาดกันขนาดนั้น แม้แต่คนที่รู้จักกันในกลุ่มออนไลน์ แชตกันไปมาก็ยังอยากรู้จักตัวเป็นๆ กันเลย มีการนัดเจอกัน ไปกินข้าว ไปเที่ยว เป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงหลายมิติ

ถ้างานของนักมานุษยวิทยาต้องอาศัยการลงพื้นที่และพบปะพูดคุยกับคน แต่โควิด-19 เรียกร้องให้เราต้องเว้นระยะห่างทางสังคม หรืองดการพบปะพูดคุยกับคนอื่นให้มากที่สุด แล้วโลกมานุษยวิทยาได้รับผลกระทบอะไรจากโควิด-19 บ้าง

โควิด-19 นี่แหละที่เข้ามา disrupt มานุษยวิทยามากกว่าดิจิทัล ทั้งโลกการเรียนการสอนและการทำวิจัย เพราะไม่ว่านักมานุษยวิทยาจะไปทำวิจัยกับชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ หรือจะเปลี่ยนมาทำวิจัยในเขตเมือง โรงงาน หรือห้องทดลอง ก็ต้องเข้าหาตัวต่อตัว ไปพูดคุยกัน ไปใช้ชีวิตในสังคมของเขา แต่ตอนนี้นักมานุษยวิทยาทำงานในพื้นที่ไม่ได้แล้ว จากเดิมที่เราเคยคิดว่า นักมานุษยวิทยาจะต้องทำการสังเกตแบบมีส่วนร่วม เอาตัวเราเข้าไปในโลกของชาวบ้าน เพื่อที่จะสังเกตและบันทึกประสบการณ์อย่างคลุกวงใน เพื่อเขียนงานที่เรียกกันว่าเป็นการพรรณาอย่างเข้มข้น (thick description) แต่พอสถานการณ์ไม่อนุญาตให้เข้าไปคลุกวงในในพื้นที่ เราจะทำงานกันอย่างไร ตรงนี้แหละที่ disrupt มากกว่า digital disruption

อีกอย่างหนี่งที่โควิดเข้ามา disrupt มานุษยวิทยาคือ แต่ก่อนเรามักจะศึกษาเรื่องโรคระบาดที่เกิดขึ้นกับคนอื่น เช่น โรคระบาดอีโบลาในทวีปแอฟริกา ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในเอเชีย เราเป็นผู้เข้าไปศึกษา ตอนนี้เราเป็นผู้ประสบภัยเองด้วย ยิ่งทำให้เราต้องกลับมาคิดทบทวนว่า เมื่อเจอสภาวะแบบนี้ ศาสตร์ของเราต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะอยู่รอดได้ เราต้องแสวงหาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการออกแบบการวิจัยของเราแบบที่อดีตเราอาจไม่เคยคิด หรือไม่เคยลองทำ นี่กลายเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งที่บังคับให้เราต้องสร้างสรรค์เพื่ออยู่รอดเหมือนกัน

มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Ethnography through thick and thin ที่ตั้งโจทย์เรื่องนี้เลยว่า จริงหรือที่นักมานุษยวิทยาจะสามารถพรรณาอย่างเข้มข้น (thick description) ในโลกการทำงานปัจจุบันได้ เพราะถ้าเป็นในอดีต เราไปทำวิจัยในหมู่บ้าน ชาวบ้านอาจยอมรับให้เราเข้าไปร่วมในกิจกรรมต่างๆ เราก็เข้าไปศึกษาแบบคลุกวงในได้ แต่ในสังคมสมัยใหม่ เราจะทำงานภาคสนามได้เต็มที่ขนาดนั้นจริงหรือ เช่น ถ้าเราจะเข้าไปศึกษาชีวิตของคนงานในโรงเลี้ยงปศุสัตว์ ไปสังเกตการใช้สารเคมีในโรงงาน หรือไปวิจัยพฤติกรรมของข้าราชการชั้นสูง เขาจะยอมให้เราเข้าไปหรือ และถ้าเข้าไปคลุกคลีไม่ได้ เราจะยอมรับว่าบางเรื่องเราก็จะเข้มข้นไม่ได้ หรือเราต้องหาทางทำงานลักษณะอื่นขึ้นมาทดแทน เช่น ศึกษาวิจัยจากเอกสาร (archive research) กลายเป็นตั้งคำถามขึ้นมาอีกว่า ในอดีตที่เราเคยแบ่งโลกวิจัยออกเป็นงานค้นคว้าเอกสารกับงานวิจัยภาคสนาม การแบ่งแบบนี้มันยังจะเป็นวิธีคิดที่ถูกต้องไหม หรือจริงๆ ห้องสมุดก็ถือเป็นอีกหนึ่งภาคสนามของเรา

“เสน่ห์ของมานุษยวิทยาน่าจะอยู่ที่ความเข้าใจที่สดใหม่ต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เราอาจจะคิดว่าเรารู้แล้ว เป็นการมองโลกที่ชวนให้รู้สึกพิศวงกับโลกที่เราเข้าไปศึกษา ซึ่งผมว่านี่เป็นเสน่ห์ของความรู้ที่ขาดหายไปจากระบบการศึกษาไทย”

คุณหมอพอยกตัวอย่างได้ไหมว่า มานุษยวิทยานำวิธีการอะไรใหม่ๆ เข้ามาใช้ในช่วงโควิดบ้าง

ก็คงเหมือนกับเวลาทำงานอื่นๆ นะ เช่นการประชุม ตอนนี้เราลงพื้นที่ไม่ได้ ก็ใช้การสัมภาษณ์พูดคุยผ่านโปรแกรม zoom แทน ซึ่งแม้เราจะไม่ได้ไปอยู่ในบ้านหรือที่ทำงานของคนที่เราสัมภาษณ์ ก็ใช้การสังเกตจากภาพในกล้องว่าฉากหลังเขาเป็นแบบไหน บ้านเป็นยังไง มีใครอยู่ด้วยไหม ซึ่งการประชุมหรือสัมภาษณ์ออนไลน์ก็มีข้อดีเหมือนกัน คือทำให้หลายๆ คนในหลายๆ พื้นที่สามารถเข้าร่วมได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการประชุมชี้แจงกับทีมนักวิจัย การติดตามงานเขียน หรือการนำเสนอบทความเพื่อช่วยกันให้ความเห็น อันนี้ก็สามารถทำได้

อีกเรื่องที่ต้องปรับตัวคือ เรื่องความปลอดภัย อย่างการลงไปถ่ายภาพเพื่อบันทึกเหตุการณ์ เราก็อยากให้มีการเก็บบันทึกแบบ realtime แต่บางพื้นที่ก็มีความเสี่ยงสูง เช่น ห้องกักกันโรค หรือในโรงพยาบาลสนาม อันนี้ก็ต้องฝึกใส่ชุด PPE ต้องเข้าใจความเสี่ยง ถ้าจะให้ดีก็ต้องมีประกันสุขภาพให้เพื่อความอุ่นใจ ให้ตรวจหาเชื้อฟรี นักวิจัยที่รับงานเก็บข้อมูลก็อาจต้องมีค่าตอบแทนให้ในวันที่เก็บตัวกักกันโรคหรือสังเกตอาการด้วย นักมานุษยวิทยาบางคนก็เสนอให้การวิจัยเอกสารเป็นเหมือนภาคสนาม หรือการกลับไปใช้ข้อมูลเก่าที่เก็บบันทึกไว้มาเป็นวัตถุดิบในการทำงาน

จริงๆ แล้ว การแสวงหาวิธีการทำงานวิจัยภาคสนามแบบใหม่ๆ ก็ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นตอนที่มีสถานการณ์โควิด การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆ ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ต้องมีการสร้างสรรค์วิธีวิทยาใหม่ๆ ในการวิจัย ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจะเปิดตัวหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ มานุษยวิธีพ้นมนุษย์ (Emerging Methodologies) เป็นหนังสือเกี่ยวกับวิธีวิทยาที่นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างวิธีใหม่ๆ ที่จะศึกษาโลก อย่างเช่น มานุษยวิทยาผัสสะ คือถ้าเราจะเข้าใจโลกผ่านผัสสะที่มากกว่าการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์หรือถ่ายภาพ เราจะต้องใส่ใจกับประสบการณ์เชิงผัสสะของเราและของคนที่เราไปศึกษาอย่างไร เราจะเก็บข้อมูลโลกของเสียง (soundscape) ที่ไม่ได้มีแค่บทสัมภาษณ์ แต่รวมถึงสุ้มเสียงใกล้ไกลที่สอดประสานกันเป็นประสบการณ์ชีวิตได้อย่างไร แล้วยังมีผัสสะอื่นๆ อีก ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือธรรมารมณ์ เพราะที่ผ่านมา เราเก็บข้อมูลแบบมีอคติในเชิงผัสสะ (sensory bias) คือให้ความสำคัญกับเสียงบางอย่าง แต่ไม่สนใจผัสสะอื่นๆ เลย ทำให้เราละเลยข้อมูลบางอย่างไป แล้วเราจะปรับวิธีวิทยาให้ทำงานเป็น multisensory ยังไง อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของวิธีวิทยาใหม่ๆ ที่ต้องสร้างสรรค์ขึ้น

 

แสดงว่าโจทย์เรื่องวิธีการศึกษาใหม่ๆ ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ท้าทายสำหรับมานุษยวิทยาด้วย

ใช่ครับ จะบอกว่าเป็นเรื่องใหญ่ก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อเราเริ่มพูดถึงการศึกษาสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ก็เป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก เราจะศึกษาพืช สัตว์ หรือสิ่งของอย่างไร ในเมื่อเราสื่อสารกับเขาไม่ได้ แนวคิดการศึกษาใหม่ๆ เช่น multispecies ethnographies หรือหลากสายพันธุ์นิพนธ์ ซึ่งศึกษาสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างความจริงของโลกที่เรามีชีวิตอยู่ เราจะศึกษาอย่างไร แต่อันนี้ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า เราไม่ได้ศึกษาโลกของพืชหรือสัตว์เพื่อให้เข้าใจพืชหรือสัตว์ แต่เป็นการศึกษาเพื่อจะได้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่นๆ ที่ร่วมกันสร้างความเป็นไปได้ที่กลายเป็นโลกที่เราอาศัยอยู่ ซึ่งการจะเข้าไปศึกษาอะไรใหม่ๆ แบบนี้ก็ต้องมีวิธีการใหม่ๆ ด้วย

ถ้าจะว่าไป นักมานุษยวิทยาในยุคนี้เหมือนกับจะต้องเป็นศิลปินด้วยนะ คือต้องมีความคิดสร้างสรรค์มากในกระบวนการทำงาน เพราะแต่ละเรื่องใหม่ๆ ที่ทำไม่มีวิธีการสำเร็จรูปที่คุณจะนำไปผลิตงานซ้ำๆ ได้ เดิมเราไปศึกษาชุมชน เราก็รู้อยู่แล้วว่าเราจะไปเก็บข้อมูลอะไรบ้าง ไปสัมภาษณ์ใคร มีเหตุการณ์อะไรต้องไปสังเกต หรือจะสังเกตอะไร แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว แต่เราต้องคิดใหม่ว่าจะรู้เรื่องนี้ได้อย่างไร และนอกจากจะต้องเป็นศิลปินแล้ว เรายังต้องรู้เรื่องความรู้สมัยใหม่มากขึ้น ถ้าให้ผมเชิญชวนได้ ผมก็อยากจะเชิญทั้งนักวิทยาศาสตร์และศิลปินมาศึกษามานุษยวิทยาด้วย ในสถานการณ์ที่เราต้องการความคิดและวิธีการใหม่ๆ การทำงานข้ามเส้นแบ่งของสาขาวิชาจะทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นทั้งความท้าทายและเป็นโอกาสของการสร้างอะไรใหม่ๆ ผมรู้สึกว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับมานุษยวิทยาเลยทีเดียว

 

อยากชวนคุยเรื่องการเรียนมานุษยวิทยาในประเทศไทยบ้าง ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทย มีค่านิยมให้บุตรหลานเรียนอะไรที่ ‘จบไปแล้วหางานทำได้’ การที่เด็กคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาบอกว่า อยากเรียนมานุษยวิทยา อาจจะถูกคัดค้านและทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนสายไปเรียนอย่างอื่น ประกอบกับข่าวคณะทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์บางแห่งต้องปิดตัวลง คุณหมอมองเรื่องนี้อย่างไร

ผมคิดว่าถ้ามานุษยวิทยาไปไม่รอด สังคมก็อาจจะไปไม่รอด เพราะอย่างที่บอกตอนแรกว่า เมื่อเราทำอะไรเกี่ยวกับผู้คน เราต้องเข้าใจคน ถึงจะไม่มีวิชาแบบมานุษยวิทยาดำรงอยู่ แต่เอาเข้าจริง ความรู้แบบนี้ทำให้คนอยู่ในสังคมได้ เกี่ยวข้องกับคนอื่นเป็น รู้จักวิธีการทำงานหรือมีชีวิตร่วมกับคนอื่น ถ้าไม่มีความรู้ตรงนี้แล้ว ความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งจนนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ผมคิดว่ามานุษยวิทยาเป็นวิชาที่ทำให้มนุษย์ดำรงอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายได้อย่างมีสันติภาพ

แต่ก็แน่นอนว่าโลกทางการศึกษาก็คงไม่ได้ถูกกำหนดจากคุณค่าของวิชาที่เรียนอย่างเดียว แต่มีความคาดหวังของครอบครัว พ่อแม่ อาชีพ นโยบายหรือทิศทางการพัฒนาที่ให้คุณค่ากับวิชาชีพบางอย่าง ทำให้เป็นธรรมดาที่วิชาความรู้ซึ่งอาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคง หรือไม่ค่อยมีโอกาสทางเศรษฐกิจก็อาจจะไม่เป็นที่นิยม ตรงนี้ก็ต้องยอมรับและดิ้นรนกันต่อไป

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้ามีเด็กสักคนอยากเรียนมานุษยวิทยา คุณหมออยากบอกอะไรกับเขา

ถ้าไม่ถือเป็นการเข้าข้างตัวเองมากจนเกินไป ผมคิดว่าโลกมีแนวโน้มจะต้องการความรู้มานุษยวิทยามากขึ้น เพราะเราต้องมีชีวิตบนความหลากหลายมากขึ้น ถ้าเราขาดความเข้าใจในความแตกต่าง สถานการณ์ความขัดแย้งทางสังคมก็จะรุนแรงขึ้นด้วย ทั้งเรื่องชนชาติ ศาสนา สีผิว หรือเพศสภาวะ ซึ่งปรากฏเด่นชัดและทวีความรุนแรงขึ้นในสังคมสหรัฐฯ และตะวันตก แม้ว่านโยบายเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (civic education) ของเขาแข็งแรงกว่าเราเยอะ และแม้เราอาจจะบอกว่า สังคมไทยคงไม่เจอปัญหาความขัดแย้งที่ว่ามาหรอก สังคมไทยเป็นสังคมแห่งมิตรไมตรี แต่ผมเชื่ออย่างมากว่า สังคมไทยในปัจจุบันก็ดูจะเต็มไปด้วยการแสดงออกซึ่งความเกลียดชัง การสร้างความเป็นอื่น หรือป้ายให้คนอื่นกลายเป็นฝั่งตรงข้าม สังคมจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจ ความรู้ และวิธีการที่เราจะอยู่กับเงื่อนไขความขัดแย้งต่างๆ เหล่านี้ต่อไปในอนาคต ความรู้เหล่านี้จะทำให้เราสามารถอยู่กับสังคมที่นับวันจะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่อดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างน้อยลง

เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้พูดกับคนที่จะมาเรียนมานุษยวิทยา ผมอยากให้เขามาเรียนเพราะอยากจะเห็นมานุษยวิทยามีคุณค่าต่อการช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ของโลก เพราะวิชานี้อาจจะไม่ได้ทำให้คุณร่ำรวยอะไร แต่มันอาจจะช่วยตอบโจทย์ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ แต่ก็แน่นอนว่า ถ้าจบมานุษยวิทยาไปแล้วมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ดี ก็จะดีขึ้นไปอีก เพราะการไม่ต้องดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดทางเศรษฐกิจก็อาจจะทำให้เกิดการทำงานเพื่อสังคมได้ดีขึ้นด้วย ตรงนี้เราก็ต้องเข้าใจว่า หากภาครัฐยึดโยงกับประชาชนและสังคมมากขึ้น ให้ความสำคัญกับคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้น  เราก็อาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ให้คุณค่ากับเรื่องเหล่านี้มากขึ้นด้วย

 

ทั้งในฐานะคนที่ศึกษาศาสตร์อื่นมาก่อน และในฐานะของคนที่ศึกษามานุษยวิทยาอยู่อย่างลึกซึ้ง คิดว่าอะไรคือเสน่ห์ของการศึกษามานุษยวิทยา

อันนี้ก็พูดยากเหมือนกัน มันเหมือนเราไปหลงรักใครสักคนหนึ่งและมีคนถามว่า เขามีเสน่ห์ที่ตรงไหน บางทีก็ไม่รู้จะตอบยังไง จะบอกว่า ชอบตรงตา คิ้ว รูปร่าง หรือนิสัยอะไรสักอย่างคงตอบยาก คือมันอาจไม่ได้ชอบที่จุดเดียว แต่รู้สึกน่าพิสมัยไปหมด (หัวเราะ) สำหรับผม มานุษยวิทยาเป็นวิชาการที่เปิดโลก เป็นวิชาการที่ทำให้เรารู้สึกว่า บางสิ่งที่เราเคยคิดหรือตัดสินว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มานุษยวิทยาจะเข้ามาช่วยคลี่ให้เห็นความซับซ้อน ไม่ให้เราด่วนตัดสิน แต่ทำให้เราเกิดความเข้าใจที่สลัดหลุดจากจากมายาคติหลายๆ อย่างได้

สำหรับผม เสน่ห์ของมานุษยวิทยาน่าจะอยู่ที่ความเข้าใจที่สดใหม่ต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เราอาจจะคิดว่าเรารู้แล้ว เป็นการมองโลกที่ชวนให้รู้สึกพิศวงกับโลกที่เราเข้าไปศึกษา ซึ่งผมว่านี่เป็นเสน่ห์ของความรู้ที่ขาดหายไปจากระบบการศึกษาไทย ที่เวลาเราเรียนแต่ละวิชาจะไม่รู้สึกพิศวงอะไรกับมัน คือไม่มี sense of wonder เลย

ตัวผมไม่ได้เรียนมานุษยวิทยาตั้งแต่ปริญญาตรี คือจบแล้วไปทำงานเป็นแพทย์ก่อน แล้วจึงไปเรียนต่อ ตอนปีแรกๆ ที่ไปเรียน ตำรามานุษยวิทยามันยากมาก แต่ผมก็อ่านถึงตีสามตีสี่ทุกวัน รู้สึกสนุก เหมือนกับว่าได้เปิดโลก จะบอกว่าเบิกกบาลก็ว่าได้ (หัวเราะ) คืออ่านไปก็ตื่นเต้นไปว่ามันมีเรื่องแบบนี้ด้วย พิธีกรรมที่ดูแปลกประหลาดกลับมีโครงสร้างที่เรามองไม่เห็น หรือคนท้องถิ่นที่ดำเนินวิถีชีวิตที่แปลกและแตกต่างกัน จริงๆ แล้ว ลึกลงไปกลับมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกันอย่างที่เราคิดไม่ถึง

ทั้งหมดนี้ทำให้เราได้เปิดโลกทัศน์ เคารพมนุษย์คนอื่น รู้สึกว่าคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่เราเคยละเลยไปกลับมามีชีวิตโลดแล่นอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของเราได้อีกครั้ง ผมคิดว่ามานุษยวิทยาเป็นศาสตร์และศิลป์ของการเข้าใจโลกที่งดงาม

What’s in your bag?

สำหรับนักมานุษยวิทยา ของชิ้นไหนที่ควรพกติดตัวไว้ พอดแคสต์รายการใดที่ควรฟัง – ต่อไปนี้คือคำแนะนำจาก นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

 

เปิดกระเป๋านักมานุษยวิทยา อะไรที่ควรฟัง พก ฯลฯ

ของชิ้นที่ 1 

“สมุดบันทึก

“ผมจะพกสมุดบันทึกเป็นประจำ เป็นสมุดที่ผมใช้จดงานและจดข้อสังเกตเมื่อเข้าไปอยู่ในที่ต่างๆ แต่ก่อนใช้เป็นสมุดบันทึกเวลาลงภาคสนาม แต่ปัจจุบันที่ประชุมกลายเป็นภาคสนามของผม ก็จะใช้สมุดนี้จดบันทึกสิ่งที่ได้ฟังหรือสังเกตเห็น

ผมคิดว่าการจดบันทึกช่วยให้เราใส่ใจรายละเอียดของชีวิตได้ดี บางเรื่องที่เราคิดว่าจำได้ เอาเข้าจริง การอ่านสิ่งที่เราจดทำให้เรารู้เลยว่าถ้าไม่จด หลายเรื่องเราก็จะจำไม่ได้เลยว่ามีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น”

ของชิ้นที่ 2 

“หูฟัง โทรศัพท์ และพอดแคสต์ (podcast)” 

“ผมฟังพอดแคสต์บ่อยๆ โดยใช้หูฟังกับโทรศัพท์นี้ รายการที่ผมฟังและอยากแนะนำให้ทุกคนคือ Radiolab คือมันดีทุกตอน สำหรับผมนี่เป็นพอดแคสต์ที่ดีที่สุดในโลก

นอกจากนี้ ผมยังฟังการบรรยายหรือเสวนาวิชาการของต่างประเทศ ตอนนี้ผมฟังพอดแคสต์มากกว่าอ่านหนังสือนะ การฟังรายการแนะนำหนังสือหรือเสวนาเกี่ยวกับหนังสือใหม่ๆ ก็ช่วยให้เราไม่ต้องอ่านเอง และรู้ว่ามีหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้อยู่ ตามหนังสือที่ออกมาใหม่ๆ ได้ทัน”

ของชิ้นที่ 3 

“ฮาร์โมนิก้า (harmonica)” 

“ผมจะมีฮาร์โมนิก้าติดไว้ในรถ เวลารถติดก็จะเอาออกมาเป่า คือมันเป็นความอภิรมย์ของผมมั้ง เพราะผมรู้สึกว่าถ้าเหนื่อยจะมีสองอย่างที่ทำให้หายเหนื่อย สิ่งแรกคือทำงานช่างไม้ เวลาเครียด เบื่อหน่ายหรือเหน็ดเหนื่อย แค่เดินเข้า workshop ทำงานไม้ ผมก็จะหายเหนื่อยแล้ว แค่ได้หยิบจับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ช่าง เอาใบกบมาฝนให้คม เอาสิ่วมาลับ ก็จะรู้สึกผ่อนคลายและสงบ

แต่ถ้าเราไม่มีโอกาสทำงานช่างไม้ก็จะเล่นดนตรี โดยเฉพาะเป่าฮาร์โมนิก้า ผมเป่ามาตั้งแต่เด็ก ตอนนี้ผมมีอยู่หลายสิบอัน แต่มีอันหนึ่งที่ผมจะใส่ไว้ในรถ บางทีเวลารถติดก็หยิบมาเป่า มีเหมือนกันที่มีคนมอง เขาคงคิดว่าคนนี้ขับรถไปด้วย เป่าฮาร์โมนิก้าไปด้วย (หัวเราะ) นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมเพลิดเพลินใจ ช่วยให้ชีวิตน่าอภิรมย์ขึ้นมาหน่อย เพราะเสียงฮาร์โมนิก้ามันเย็นสบายดี พกพาสะดวกด้วย

ของที่ผมอยากแนะนำก็จะเป็น 3 สิ่งนี้แหละ ชิ้นแรกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทางการงาน ชิ้นที่สองเป็นความสุขทางปัญญา และชิ้นสุดท้ายช่วยให้ชีวิตมีความอภิรมย์”

เรื่อง: กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

อดีตเป็นนักเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัจจุบันเป็นทาสสุนัขตัวอ้วนและคนรักชานมไข่มุก

ภาพถ่าย: กมลชนก คัชมาตย์

จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รักแมว ภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด สนใจการนำประเด็นทางสังคมมาทำเป็นสื่อสร้างสรรค์ชนิดใหม่ๆ

ภาพถ่าย: อรญา ศรีสังวาลย์

นักศึกษาจากวิทยาลัยนวัตกรรม ธรรมศาสตร์ สนใจการเมืองและวัฒนธรรมในระดับวิถีชีวิต รักความบังเอิญของคู่สีพอๆ กับการถ่ายภาพ

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ The101.world

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save