fbpx

คุณแม่ไม่มา คนทำงานไม่พอ : ภาพสะท้อนบริการฝากครรภ์ที่กลายเป็นสิ่งรั้งท้ายในวิกฤตโควิด

ฝากครรภ์ โควิด

“กรมอนามัย เผยโควิด-19 ทำหญิงท้องฝากครรภ์น้อยลง – ดูแลสุขภาพก่อนคลอดไม่ครบเกณฑ์”

“โควิด-19: ในเดือน ส.ค. (2564) ศบค. พบ หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตเฉลี่ยวันละหนึ่งราย สั่งเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มนี้เพิ่ม”

“เครือข่ายภาคประชาชน บุกสธ. ยื่น 4 ข้อเรียกร้องดูแลหญิงตั้งครรภ์ให้พ้นโควิด”

พาดหัวข่าวเหล่านี้คือหนึ่งในบทจารึกเกี่ยวกับวิกฤตการณ์โควิด-19 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงเรียกร้องอื้ออึงให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างทั่วถึง และรับมือโรคระบาดด้วยการนำเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ สุ้มเสียงสะท้อนความเดือดร้อนของกลุ่มแม่และเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างหญิงตั้งครรภ์ดูเหมือนจะแผ่วเบา ถูกกลบหาย กลายเป็นข่าวบนหน้าสื่อไม่กี่วันแล้วคนก็ลืมเลือนไป

ในเวลาต่อมา 101 Public Policy Think Tank เปิดเผยข้อมูลจากรายงาน 7 แนวโน้มสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์เด็กและครอบครัวไทย ปี 2022 ว่าช่วงที่โควิดแพร่ระบาดรุนแรง เด็กและครอบครัวประสบปัญหาเข้าถึงบริการของรัฐยากยิ่งขึ้น สำหรับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์นั้นปรากฏชัดว่าจำนวนคุณแม่ที่เข้ารับการฝากครรภ์ครั้งแรกและการดูแลสุขภาพจนครบกำหนดคลอดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยจากเดิม ในไตรมาส 4/2020 มีหญิงฝากครรภ์ครั้งแรกจำนวน 84.1% ในไตรมาสที่ 3/2021 กลับลดลงเหลือเพียง 68.9% เช่นเดียวกับอัตราเข้ารับการดูแลสุขภาพครบตามเกณฑ์ก่อนคลอด ลดลงจาก 79.5% ในไตรมาส 4/2020 เหลือแค่ 56.1% ในไตรมาส 3/2021



ตัวเลขดังกล่าวฉายภาพให้เราเห็นผลกระทบจากโควิดต่อแม่และเด็กชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ลำพังข้อความไม่กี่บรรทัดหรือกราฟเส้นเดียวคงไม่อาจเล่าเรื่องราวได้ครบถ้วนทั้งหมด

เราจึงต่อสายหาพยาบาลด่านหน้า ขอให้พวกเขาเล่าว่าเบื้องหลังปรากฏการณ์นี้เป็นอย่างไร อะไรคือปัญหาของหญิงตั้งครรภ์ที่พวกเขาต้องรับมือ และอะไรคือปัญหาด้านบริการสาธารณสุขที่ต้องแก้ไขหลังได้บทเรียนจากวิกฤตโรคระบาด


เมื่อคนทำงานรับภาระมากกว่าบริการฝากครรภ์


อันที่จริง ช่วงบ่ายวันธรรมดา ‘พี่แป๋ว’ ไม่ได้มีเวลาว่างมากนัก เธอเพิ่งจะประชุมเสร็จก่อนยกหูโทรศัพท์คุยกับเราไม่นาน และกำลังรอเข้าการประชุมอีกครั้งในหนึ่งชั่วโมงถัดไป หลังจากเริ่มต้นเส้นทางพยาบาลประจำแผนกฝากครรภ์ตั้งแต่ปี 2554 จวบจนตอนนี้พี่แป๋วอายุ 40 ปี เป็นช่วงที่ความรู้และความเชี่ยวชาญกำลังถึงจุดอิ่มตัว จึงไม่น่าแปลกใจหากเธอจะขอเวลาให้คำปรึกษากับพยาบาลรุ่นน้องบ้างบางจังหวะของการสนทนา และถ้านับรวมว่าโรงพยาบาลที่พี่แป๋วทำงานอยู่ถือเป็นโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ก็ยิ่งเข้าใจได้ว่าทำไมงานในแผนกฝากครรภ์จึงมีให้จัดการอยู่ตลอดเวลา

“วันๆ หนึ่งจะมีคนมาฝากครรภ์ใหม่ 15-20 ราย” พี่แป๋วประมาณการตัวเลขให้ โดยฝากครรภ์ใหม่ที่ว่า คือคุณแม่ที่เพิ่งเข้ามารับการตรวจครรภ์ และทำเอกสารกับทางแผนกครั้งแรก “จริงๆ แผนกของเราทำงาน 5 วัน สามารถรับได้เต็มที่วันละ 30 ราย แต่เนื่องจากมีปัญหาอัตรากำลังที่อาจไม่เพียงพอ ปกติเลยรับฝากครรภ์ใหม่เฉลี่ยวันละสูงสุดไม่เกิน 25 ราย กรณีที่เคยนัดตรวจครรภ์กับเรามาก่อนแล้ว เราก็ไม่ได้จำกัดจำนวนการตรวจเลย”

เธอเสริมว่าจำนวนดังกล่าวยังไม่นับรวมบริการฝากครรภ์นอกเวลาปกติที่เปิดทำการทุกวัน ดังนั้นหากเฉลี่ยรวมกัน อาจมีคุณแม่ป้ายแดงมาขอรับบริการฝากครรภ์มากถึงวันละ 30-40 คนเลยทีเดียว

ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการดูแลหญิงตั้งครรภ์หลายร้อยคนต่อเดือนไปพร้อมๆ กัน กระนั้นพี่แป๋วก็ยังคงตั้งใจตอบทุกคำถามของเราอย่างกระตือรือร้น และแนะนำอย่างจริงใจว่า “ทันทีที่คนไข้ทราบว่าตั้งครรภ์ ก็ควรมาฝากครรภ์เลย” ยิ่งเป็นการฝากครรภ์ครั้งแรก ยิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นการตรวจสภาพร่างกายมารดาอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อเตรียมพร้อมต่อการดูแลทารกไปจนถึงกำหนดคลอด

“วันที่มาฝากครรภ์ เราจะถามว่ามีอาการผิดปกติอะไร เช่น มีเลือดออก ปวดท้องบ้างไหม และประเมินโรคประจำตัวเพื่อดูว่าต้องการการรักษาเร่งด่วน มีภาวะแทรกซ้อนหรือเปล่า เมื่อตรวจเสร็จ คนไข้จะเข้าสู่กระบวนการฝากครรภ์ครั้งที่หนึ่ง ทำชุดเอกสารฝากครรภ์ เจาะเลือดเพื่อตรวจกรุ๊ปเลือด ตรวจธาลัสซีเมีย ตรวจคัดกรองเบาหวาน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี และเอดส์”

ทางแผนกฝากครรภ์จะนัดหมายให้คุณแม่มาฟังผลเลือดในอีก 1-2 สัปดาห์ให้หลัง และอาจตรวจเลือดของคู่สมรสเพิ่มเติมหากตรวจพบความผิดปกติของฝ่ายหญิง ส่วนการตรวจครรภ์ในคราวถัดๆ ไป พี่แป๋วเล่าคร่าวๆ แต่ฉะฉานราวกับจำขึ้นใจว่าแต่ละช่วงอายุครรภ์จำเป็นต้องได้รับการตรวจเรื่องอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่นไตรสมาสที่ 1 ช่วง 11-14 สัปดาห์ ทารกจะได้รับการจะได้รับการอัลตราซาวด์ ตรวจภาวะดาวน์ซินโดรม ไตรมาสที่ 2 ช่วง 18-20 สัปดาห์ ตรวจคัดกรองความพิการของทารก (Fetal Anomaly) และตรวจเบาหวานอีกครั้งเมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ ขณะที่ไตรมาสที่ 3 อายุครรภ์ช่วงสุดท้ายจะเป็นการตรวจประเมินสุขภาพตามลักษณะร่างกายและโรคประจำตัวของมารดา

ความที่โรงพยาบาลของพี่แป๋วมีขนาดใหญ่ ทรัพยากรเพียบพร้อมและชื่อเสียงการรักษาที่ดี จึงมักเป็นแหล่งที่พึ่งสุดท้ายบรรดาคุณแม่ผู้อุ้มท้องในภาวะเสี่ยง บางคนมีปัญหาตั้งแต่ครรภ์ยังอ่อน บางคนก็ประสบภาวะแทรกซ้อนช่วงใกล้คลอด ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้พี่แป๋วรู้ดีว่าร่างกายผู้หญิงแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ต้องการการดูแลฟูมฟักทารกในครรภ์ไม่เหมือนกัน

“พี่จึงไม่ค่อยสนับสนุนให้คุณแม่ดูแลตัวเองที่บ้านอย่างเดียวสักเท่าไหร่ ถ้าถามว่าไม่ฝากครรภ์เลยแล้วมาคลอดได้ไหม ได้ คนทำค่อนข้างเยอะด้วย แต่ตามบทบาทของเราก็อยากเน้นย้ำว่าคนไข้ควรมาตรวจเป็นระยะๆ เพื่อดูทั้งการเปลี่ยนแปลงของลูกและตัวคนไข้เอง ถ้าหากไม่มา เราอาจจะบังคับไม่ได้ คงบอกได้แค่ต้องรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเอง” เธอกล่าว โดยรีบเสริมต่อว่าจริงๆ แล้ว ตนเองสังเกตเห็นคุณแม่หลายคนที่ให้ความสำคัญของการตรวจสุขภาพครรภ์อย่างต่อเนื่อง แต่ ..“ปัญหาส่วนใหญ่ที่พี่เจอจากคนไข้ที่หายไป ไม่มาตามนัดคือมักมีปัญหาค่าใช้จ่าย”

ราคาของการเข้ารับบริการฝากครรภ์ที่พอจะเปิดเผยได้คือประมาณ 2,500 บาทสำหรับการฝากครรภ์ครั้งแรก ซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,500 คนหากมาขอรับบริการนอกเวลา ขณะที่ค่าตรวจครั้งถัดไปขึ้นอยู่กับว่าคุณหมอจะมีวินิจฉัยให้ตรวจอะไรบ้าง แต่โดยพื้นฐานมีค่าใช้จ่ายประมาณ 200-300 บาทต่อครั้ง – แน่นอนว่าราคานี้คงไม่สะเทือนครอบครัวชนชั้นกลางมากนัก  แต่ถ้าคิดถึงครอบครัวผู้มีรายได้น้อยที่ต้องพึ่งค่าแรงขั้นต่ำในการใช้ชีวิต การมาตรวจแต่ละครั้งอาจต้องกัดฟันพอสมควร

ในสถานการณ์ปกติ ดูเหมือนสภาพเศรษฐกิจและค่าแรงจะเป็นกำแพงกั้นคนส่วนหนึ่งออกจากการเข้าถึงบริการฝากครรภ์อยู่แล้ว เมื่อมีวิกฤตโควิดเข้ามาเพิ่ม คงจินตนาการได้ไม่ยากว่ากำแพงจะยิ่งถูกต่อเติมให้สูงและหนาขึ้นสักแค่ไหน หลายครอบครัวตกงาน ไม่มีรายได้ กระทั่งไม่กล้าออกจากบ้านมาใช้ชีวิต – ข้อหลังนี้แม้แต่คุณแม่ที่ไม่มีปัญหาทางการเงินมาก่อนก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน พี่แป๋วพบว่าจำนวนผู้มาติดต่อขอฝากครรภ์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลายกรณีผิดนัด ไม่กลับมาตรวจซ้ำ และไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วทั้งแม่และลูกมีสุขภาพเป็นอย่างไร 

ขณะเดียวกัน ฟากฝั่งของโรงพยาบาลเองก็ออกนโยบายควบคุมโรคที่ส่งผลต่อการบริการ “ตอนที่เกิดการระบาดหนักๆ เราต้องแบ่งการทำงานออกเป็นสองทีม ครึ่งหนึ่งมาโรงพยาบาล อีกครึ่งหนึ่ง work from home เพราะถ้ามาทำงานทั้งทีมแล้วเกิดคลัสเตอร์ขึ้นมา หน่วยของเราอาจต้องปิดบริการ จึงต้องปฏิบัติตามนโยบายโรงพยาบาล

“เมื่อลดจำนวนบุคลากรที่มาทำงานลงครึ่งหนึ่ง เราจึงต้องจำกัดจำนวนการรับฝากครรภ์ใหม่ เพราะถ้ารับเต็มอัตราเหมือนสถานการณ์ปกติ เราจะทำงานได้ไม่ทัน ทั้งหมอ พยาบาล และทีมอื่นๆ ด้วย โดยเฉลี่ยจากเดิมจะรับใหม่ 15-25 รายต่อวัน ในช่วงโควิดก็รับแค่ 5-7 รายต่อวัน เท่ากับลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง ส่วนการนัดหมายตรวจครรภ์ก็นัดห่างขึ้น ปกติถ้าเป็นเคสที่ดูไม่มีความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน เราจะนัดเจอแต่ละครั้งห่างกัน 4-6 สัปดาห์ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ แต่พอมีโควิด บางคนต้องรอถึง 8 สัปดาห์กว่าจะได้เจอกันครั้งหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม หากเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยง ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด พี่แป๋วก็ยืนยันว่ายังคงนัดหมายตามกำหนดการปกติ ไม่เพิกเฉยละเลย เพียงแต่ปัญหาคือเครื่องมือเกี่ยวกับการตรวจครรภ์มีเฉพาะแค่ในโรงพยาบาล ไม่อาจโยกย้าย และยังไม่ได้นำเทคโนโลยีอื่นๆ มาแก้ไขปัญหา อย่างมากก็มีแค่สายด่วนให้คำปรึกษา ดังนั้นถ้าคุณแม่ตัดสินใจไม่มาตามนัด ฝ่ายหมอและพยาบาลก็อาจติดตามตัวได้ยาก

นอกจากนี้ ยังไม่นับรวมการที่โรงพยาบาลเลือกจะโยกย้ายบุคลากรไปดูแลผู้ป่วยโควิดมากกว่าให้บริการด้านอื่น “หน่วยงานของพี่เป็น OPD (Out-Patient-Department : ผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแบบไม่พักที่โรงพยาบาล) คนเลยต้องไปช่วยหน่วยตรวจอื่น ที่สำคัญคือจุดตรวจโควิดในคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) และพยายาลก็ต้องไปออกหน่วยฉีดวัคซีนด้วย

“ปีที่หนักๆ ช่วง 2563-2564 มีนโยบายแบบนี้เกือบทั้งปีเลยค่ะ โดยเฉพาะหกเดือนแรกของช่วงปี 2563 ที่ค่อนข้างรุนแรง เป็นการระบาดระลอกแรกๆ นโยบายจะเข้มงวดมากๆ เราต้องเซฟทั้งสุขภาพของบุคลากร ทั้งได้รับมอบหมายไปทำงานตำแหน่งอื่น พอมาปี 2564 สถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย ก็กลายเป็นว่าบุคลากรกลับติดเชื้อเพิ่มขึ้น สุดท้ายเราก็ยังประสบปัญหาบุคลากรไม่เพียงพออยู่เหมือนเดิม” พี่แป๋วเล่าเสียงอ่อนใจ

เมื่อนึกย้อนไปในช่วงโควิดระบาดหนัก หนึ่งในปัญหาที่ไม่ว่าใครต้องเจอคือการขาดแคลนวัคซีนที่มีคุณภาพ แม้ บุคลากรทางการแพทย์จะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก แต่ก็เกิดข้อถกเถียงถึงประสิทธิภาพการป้องกันโรค อีกทั้งพี่แป๋วยังเปิดเผยว่าในโรงพยาบาลที่ได้รับวัคซีนตามการจัดสรรของรัฐเพื่อฉีดให้ประชาชน หลายครั้งก็ไม่อาจนำวัคซีนที่มีมาฉีดกลุ่มเสี่ยงอย่างหญิงตั้งครรภ์ได้เลยทันที

“ช่วงที่มีการระบาด เราจะให้ข้อมูลคนไข้ทุกคนว่าครรภ์อายุ 12 สัปดาห์ขึ้นไปสามารถฉีดวัคซีนได้เลย เราสนับสนุนทั้งให้ความรู้ ส่งตัวไปฉีดในศูนย์ฉีดวัคซีนของโรงพยาบาล แนะนำเมื่อมีโควตาของวัคซีนมาให้ ถึงขนาดพาคนไข้ไปสถานที่รับฉีดเลยก็มี

“แต่เราเจอปัญหาคือ หนึ่ง มีวัคซีนให้แต่คนไม่ไปฉีด สอง คนที่อยากฉีดกลับไม่มีวัคซีน เพราะถ้าโควตาวัคซีนที่โรงพยาบาลได้มาจากรัฐเป็นของประชาชนกลุ่มอื่นไม่ใช่โควตาของหญิงตั้งครรภ์ก็นำมาฉีดให้ไม่ได้ เราก็ไปหาวัคซีนมาเองไม่ได้ การเข้าถึงวัคซีนเลยต้องอิงตามนโยบายของประเทศ”

เมื่อหัวเรือใหญ่อย่างรัฐบาลตัดสินใจบริหารผิดพลาด ผลกระทบจึงส่งต่อกันเป็นลูกโซ่สู่แม่และเด็ก โดย นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเผยว่าหากเทียบจากปี 2554 ถึงปี 2564 อัตราการเสียชีวิตของมารดาไทยเพิ่มสูงขึ้นจาก 8.9 ต่อแสนการเกิดมีชีพ เป็น 28.32 เช่นเดียวกับสถานการณ์การเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดก็เพิ่มขึ้น จาก 3.68 ต่อแสนการเกิดมีชีพในปี 2558 เป็น 4.51 ในปี 2564 ซึ่งหนึ่งในปัจจัยเสริมที่ทำให้อัตราทั้งสองเพิ่มขึ้น คือการที่มารดาติดเชื้อโควิด-19

บทเรียนในห้วงยามโรคระบาดนำมาสู่ข้อเสนอของพี่แป๋วว่า “อยากให้สร้างระบบที่สามารถดูแลทั้งหญิงตั้งครรภ์ซึ่งติดโควิดได้ในคราวเดียว

“ปัญหาที่เราเจอคือเมื่อมีคนไข้แจ้งเข้ามาว่าติดโควิด เราช่วยเหลือได้แค่ในส่วนของการดูแลครรภ์ ถามคนไข้ว่ามีอาการทางสูติกรรมไหม มียาบำรุงเพียงพอไหม มีนัดหมายเมื่อไหร่จะได้ประสานกับคุณหมอเจ้าของไข้ให้เลื่อนนัด แต่ในเรื่องการดูแลอาการโควิด พี่ไม่สามารถช่วยเหลือคนไข้ได้มากพอ เพราะการดูแลไม่เป็นระบบเดียวกัน เราไม่สามารถไปก้าวล่วงระบบใหญ่ที่ดูแลคนไข้โควิดได้ กลายเป็นว่าเราต้องผลักภาระให้คนไข้โทรไป 1133 เพื่อแจ้งเข้าระบบว่าติดโควิดถึงจะได้รับการดูแลเพิ่ม

จุดนี้เป็นน่าเห็นใจคนไข้ว่าถ้าติดโควิดก็ต้องแจ้งแยกออกเป็นสองทาง ปัญหาคือบางทีคนไข้ก็ไม่รู้ต้องติดต่อที่ไหนยังไงบ้าง การช่วยเหลือโควิดก็ไม่ทั่วถึง ถ้าทำให้ระบบดูแลครรภ์และดูแลโควิดเป็นเนื้อเดียวกันได้ ให้อำนาจแก่เรา พอหญิงตั้งครรภ์และติดโควิดติดต่อเข้ามา เราสามารถจัดการได้เลยว่าจะจัดการเรื่องดูแลครรภ์และอาการโควิดยังไงได้บ้าง จะประสานส่งต่อคนไข้ไปสถานพยาบาลที่รักษาได้”

หากสงครามโรคระบาดมีแววยืดเยื้อไม่จบง่ายๆ อย่างน้อยถ้าพัฒนาบริการสาธารณสุขให้ ‘ครบจบในที่เดียว’ ได้ ทั้งพี่แป๋วและคนฟังอย่างเราก็คาดว่าน่าจะช่วยลดความเสี่ยงและความสูญเสียต่อบรรดาคุณแม่ไปได้ไม่น้อยเลย


เมื่อหญิงตั้งครรภ์ ประสบปัญหามากกว่าเรื่องสุขภาพ


โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกลิ้งคำ หรือเรียกย่อๆ ตาม ‘พี่ผานิต’ ว่า รพ.สต.กลิ้งคำ ในตำบลบ้านจั่น จังหวัดอุดรธานีไม่ใช่สถานพยาบาลที่ใหญ่นัก เท่าที่เราฟังจากคำบอกเล่าอีกฟากหนึ่งของสายโทรศัพท์ คือภาพของคนทำงานอันประกอบไปด้วย พยาบาล 3 คน นักวิชาการ 1 คน ทันตาภิบาล 1 คน และลูกจ้างอีก 3 คน กำลังวิ่งวุ่นหัวหมุนกับการดูแลประชากรรวมสิบหมู่บ้าน จำนวนกว่า 9,800 คน ทั้งด้านการรักษา ออกตรวจสุขภาพตามบ้าน รณรงค์ให้ความรู้ และส่งเสริมป้องกันโรคอย่างการฉีดวัคซีน  

“กำลังคนไม่เพียงพอหรอกค่ะ” พี่ผานิตหัวเราะเสียงอ่อนขณะกล่าว เธออายุ 49 ปี ทำงานที่รพ.สต.แห่งนี้ย่างเข้าปีที่ 7 ในฐานะพยาบาลวิชาชีพชำนาญการและผู้อำนวยการ ดังนั้นถ้าจะมีใครสักคนรู้จักกลิ้งคำและชาวบ้านตำบลบ้านจั่นเป็นอย่างดี พี่ผานิตคือหนึ่งในนั้น

“อันที่จริง ถ้าจะดูแลประชากร 9,000 คนควรมีบุคลากรทางการแพทย์อย่างน้อย 8 คน เรามีกันแค่ 5 คนก็พยายามทำอย่างเต็มที่ที่สุด ที่นี่แทบจะไม่มีวันหยุดเลย วันเสาร์อาทิตย์เราจะออกมาทำงานรณรงค์ ฉีดวัคซีนโควิดให้คนในหมู่บ้าน ออกคัดกรองเบาหวาน ซึ่งเราต้องรีบออกไปที่หมู่บ้านกันตั้งแต่ตีห้าครึ่งนะคะ รีบไปทำเพราะเดี๋ยวต้องกลับมาให้บริการที่ รพ.สต. ต่ออีก”

คนที่นี่ขยันขันแข็งยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ พวกเขาเริ่มงานกันก่อนฟ้าสางและทำงานกระทั่งหลังตะวันลับฟ้า ในส่วนของพี่ผานิตเองนอกจากจะปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับทุกคน เธอยังดูแลแผนกรับฝากครรภ์ รวมถึงงานด้านแม่และเด็กในโรงพยาบาล โดยจะรับบริการฝากครรภ์ทุกวันพุธ แต่เนื่องจากตำบลบ้านจั่นอยู่ติดกับตัวเมือง คุณแม่หลายคนมีทางเลือกมากกว่าฝากครรภ์กับทาง รพ.สต. ทำให้ผู้เข้ารับบริการส่วนใหญ่เป็นคนที่ต้องการฝากครรภ์ใกล้บ้านและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เฉลี่ยปีละ 40-50 คน

สิ่งที่ตามมาคือพี่ผานิตได้เห็นว่าคุณแม่หลายคนขาดความรู้ในการดูแลครรภ์อย่างเหมาะสม “ในเขตรับผิดชอบของพี่มีกลุ่มชุมชนแออัด เลยได้เจอกระทั่งแม่ที่เสพยา เพราะสามีเป็นคนขาย เขามาฝากท้องครั้งแรกแล้วหายไปเลย เราก็ให้ อสม. ให้เจ้าหน้าที่ของเราไปตามกลับมาตรวจ เขาก็มาบ้างไม่มาบ้าง ส่วนมากจะไม่ยอมมา

“ด้วยความที่เราอยู่กับชุมชนมานานก็จะรู้ว่าบ้านไหน ใครเสี่ยงเรื่องยาเสพติดบ้าง บางครั้งเราต้องตรวจปัสสาวะคนที่มาฝากครรภ์ด้วย เพราะเคยมีเคสคุณแม่ติดเหล้า ความดันสูงตลอด แต่เขาไม่ยอมบอกเรา พอเราส่งตัวไปตรวจที่โรงพยาบาลอุดร ก็มารู้ทีหลังว่าทารกคลอดออกมาหัวใจพิการ”

ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหาคุณแม่วัยใสยังมีให้พี่ผานิตเห็นจนแทบเป็นเรื่องปกติ เธอเล่าว่าเด็กอายุน้อยที่สุดที่เคยมาขอรับการตรวจตั้งครรภ์คือ 11 ปี แถมเคยมีกรณีเด็กอายุ 13 ปีท้องแล้วป่วยเป็นลมชักจนต้องยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งทั้งหน่วยงานผู้ดูแลและเด็กหญิงต่างก็ถูกชาวบ้านต่อต้านประณามเพราะเชื่อว่าเป็นการทำบาป

“เราเลยพยายามทำโครงการให้ความรู้ในโรงเรียนของชุมชนเรื่องการป้องกัน การใช้ถุงยางอนามัย และเอาถุงยางอนามัยให้ อสม. ไปแจกตามหมู่บ้านเผื่อมีเด็กต้องการใช้ และให้เขาช่วยสำรวจเด็กกลุ่มเสี่ยงตั้งท้องก่อนวัยอันควรเพื่อที่จะได้ติดตามดู”

พี่ผานิตเล่าต่อว่าหลายครั้งปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวฝ่ายหญิง แต่เป็นการใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่ทำให้ชีวิตแม่และเด็กไม่เคยปลอดภัย ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้ในทุกกลุ่มสังคม ไม่ใช่แค่ในชุมชนแออัดหรือผู้มีรายได้น้อย เธอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ว่าเคยเจอทั้งวัยรุ่นอายุ 15 ปีตั้งครรภ์กับสามีอายุ 40 และต้องกลายเป็นม่ายเพราะสามีเกิดอาการคลุ้มคลั่งทำร้ายผู้อื่นจนถูกตำรวจจับ ทั้งสาววัย 21 ผู้มาฝากครรภ์ด้วยใบหน้านองน้ำตา เพราะถูกสามีอายุเพียง 16 ปีทุบทำร้ายเป็นประจำ ฯลฯ

ข้อสังเกตที่น่าสนใจต่อปัญหาต่างๆ นานา ไม่ว่าการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร หรือการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ล้วนมีจุดร่วมคล้ายคลึงกัน คือการที่ผู้ถูกกระทำไม่ได้อาศัยร่วมกับพ่อแม่ บางคนเป็นกำพร้า บางคนอยู่กับญาติ ไม่มีที่ไปและไม่มีที่พึ่งทางใจนอกจากคนรัก

“ปัญหาครอบครัวส่งผลมาก เท่าที่ถามแม่วัยรุ่นเกือบทั้งหมดไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ พ่อแม่มีปัญหากัน ครอบครัวไม่สมบูรณ์แทบทั้งนั้น ทำให้อาจไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ยิ่งในชนบทบางที่ก็มีแนวคิดว่าต้องสอนลูกหลานด้วยการดุด่า เขาไม่ได้รับฟังเด็ก พูดคุยกับเด็กเกี่ยวเรื่องเพศที่ถูกต้อง มองแค่การพกถุงยางเป็นเรื่องน่าอาย ก็ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้น”

ในแง่หนึ่ง การฝากครรภ์จึงดูเหมือนเป็นมากกว่าบริการเพื่อดูแลสุขภาพมารดาและทารก เพราะมันเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกระทำได้ส่งเสียงขอความช่วยเหลือ และเปิดโอกาสให้พยาบาลผู้ดูแลอย่างพี่ผานิตได้หยิบยื่นความช่วยเหลือผู้หญิงในการแก้ไขปัญหาครอบครัว

“เราก็พยายามช่วยอย่างสุดความสามารถ อย่างกรณีโดนสามีทำร้าย เราจะประสานไปยังโรงพยาบาลอุดรธานีที่มีนักสังคมสงเคราะห์ให้ช่วยเหลือคุณแม่ตั้งครรภ์เพิ่มเติม แต่ที่น่าเป็นห่วงคือพอเราดูแลเขาในสถานพยาบาลเสร็จ ถ้าเขาไม่มีที่ไป ยังไงก็ต้องกลับไปอยู่ที่เดิมอยู่ดี ถึงเราจะมี อสม. มีเจ้าหน้าที่คอยติดตามดู บางครั้งก็ไม่สามารถลงลึกถึงเรื่องภายในครอบครัว แค่ถามไถ่ข่าวคราวเท่าที่ทำได้”

สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยหายไป และอาจถูกทำให้เงียบเสียงลงเมื่อวิกฤตโควิดมาเยือน

“หลังจากเกิดโควิด คนไข้ที่มาฝากท้องก็ลดลง” พี่ผานิตกล่าว “ไม่รู้ว่าเพราะอะไรนะ อาจเป็นเพราะคุมกำเนิดกันมากขึ้นด้วยหรือเปล่า หลังๆ คนมาฝากท้องกับเราลดลง น้อยกว่าช่วงที่มีโควิดด้วยซ้ำ เฉลี่ยจากเดิมมี 50 คน ก็เหลือแค่ 30 คนต่อปี”

ความเสี่ยงเรื่องติดเชื้อเป็นสิ่งที่หญิงตั้งครรภ์ทุกพื้นที่ต้องเจอ ยิ่งเป็นคุณแม่ผู้อาศัยในชุมชนแออัด ความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มมากกว่าปกติ กระนั้น ปัญหาที่พี่ผานิตพบคือไม่ใช่ทุกคนที่ตระหนักถึงการป้องกันโรคด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หรือยอมเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันแต่โดยดี

“ตอนที่เรารณรงค์ให้ฉีดวัคซีนช่วงแรกเป็นวัคซีนซิโนแวค ถ้าคนไม่อยากฉีดก็พอเข้าใจได้ แต่ต่อมามีไฟเซอร์ เราก็ไปตามคนท้องตามลิสต์รายชื่อที่มี เอารถไปรับมาฉีดวัคซีน ก็ยังบางครอบครัวที่ตะโกนด่าเรา ไม่ยอมให้คนท้องมาฉีด แล้วก็ลามไปถึงไม่ยอมมาฝากท้องด้วย”

พี่ผานิตคาดว่าสาเหตุของการปฏิเสธวัคซีนเป็นเพราะคนเหล่านี้ยังไม่ได้เห็นผลกระทบของการติดโควิด หรือเห็นประโยชน์ของวัคซีน เนื่องจากในจังหวัดอุดรธานีช่วงที่พี่ผานิตและทีมงานออกรณรงค์ฉีดวัคซีนแก่ประชาชนยังไม่มีเคสผู้ป่วยโควิดให้เห็นเป็นข่าวมากนัก “แต่สุดท้าย ครอบครัวที่มาว่าเรานี่แหละ พอลูกคลอดได้สองเดือนก็ติดเชื้อเพราะโดนคนที่ติดก่อนหน้านั้นมาหอมมาอุ้ม แม่ที่มาดูแลก็ติด แล้วบ้านหลังนี้อยู่กันเป็นสิบคน ติดลามกันไป 4 คนได้”

เธอยังจำได้ดีว่าตอนนั้นเมื่อตรวจพบการระบาดในชุมชนแออัดแห่งนี้ ก็รีบประสานงานขอความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน ทั้งปลัดเทศบาล ปลัดตำบล นายอำเภอ ตำรวจ ไปจนถึงผู้ว่าฯ มาร่วมกันทำ ‘Bubble and Seal’ ชุมชน ซึ่งในสายตาของพี่ผานิต ข้อดีอย่างเดียวของโควิดคือทำให้ รพ.สต. ได้ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน รู้จักลู่ทางขอความช่วยเหลือได้มากขึ้น

“จากเหตุการณ์นี้ทำให้ทุกคนตระหนักและกลัว ยอมจะฉีดวัคซีนกัน สุดท้ายเราได้ฉีดให้แทบทุกหลัง เป็นตัวอย่างว่าถ้าไม่เจอกับตัว บางคนก็ไม่ตระหนักกันจริงๆ”

พ้นไปจากเรื่องโควิดแล้ว พี่ผานิตยังยอมรับว่าท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดยืดเยื้อ งานบริการด้านการดูแลแม่และเด็กของทาง รพ.สต. นั้นลดน้อยลงจากปกติจริง “ด้วยความที่คนของเราน้อยแล้วทุกอย่างไปทุ่มให้การดูแลโควิดหมด ทั้งการควบคุมโรค ดูแลคนไข้ จ่ายยา รณรงค์ฉีดวัคซีน ก็พูดตามตรงว่าเราอาจจะละเลยเรื่องแม่และเด็กลงไปบ้าง เรายังมีบริการฝากท้องอยู่ทุกวันพุธ ฉีดวัคซีนพื้นฐานให้เด็กๆ ตามเดิม แต่การลงไปเยี่ยมหลังคลอด หรือออกตรวจตามบ้านก็ลดลง เลือกเฉพาะเคสที่มีปัญหาถึงลงไปเยี่ยม

“การติดตามพัฒนาการเด็กก็หยุดไป แต่ก่อนเราจะมีห้องตรวจพัฒนาการเด็ก ติดแอร์ไว้ให้บริการทั้งตรวจเด็กและฉีดวัคซีน ตรวจครั้งหนึ่งใช้เวลา 30-40 นาที ก็ต้องลดเวลาตรวจลง เปลี่ยนไปใช้วิธีสอนแม่ให้ตรวจพัฒนาการของลูก ถ่ายวิดีโอส่งเข้ามาในไลน์กลุ่มที่มีสมาชิกฝากท้องและแม่ลูกอ่อนรวมกันให้เราดู ถ้าเป็นคนที่มีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีก็ให้ใช้แอป KhunLook เป็นคู่มือติดตามการฉีดวัคซีนของลูกและตรวจพัฒนาการ ในนั้นจะมีกลุ่มคุณหมอเด็กคอยตอบคำถาม ควบคู่ไปกับการตรวจในไลน์กลุ่มเรา”

จริงอยู่ว่าการตรวจผ่านวิดีโอและสอบถามผ่านไลน์อาจมีประสิทธิภาพน้อยลงกว่าการพบปะพยาบาล แต่ข้อดีอย่างหนึ่งที่พี่ผานิตเห็นคือคุณแม่มีความกระตือรือร้น ดูแลลูกอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพราะเมื่อได้เห็นพัฒนาการของเด็กคนอื่นในกลุ่มไลน์ ก็ยิ่งย้อนกลับไปใส่ใจลูกของตนเองว่าเป็นอย่างไร

สุดท้าย เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากเกิดการพัฒนาหลังจากโควิด พี่ผานิตเลือกตอบว่าต้องการแนวทางการดูแลแม่และเด็กในช่วงโควิดที่ชัดเจนจากผู้มีอำนาจ เพื่อที่หน่วยงานต่างๆ จะได้ปฏิบัติร่วมกัน

“หลังๆ พอเราเน้นเรื่องโควิดมากเกินไปทำให้งานกลุ่มแม่และเด็กเบาลง ทั้งตัวเจ้าหน้าที่ของเราและหน่วยงานที่ดูแลแม่และเด็กในพื้นที่ ตอนนี้ต้องพยายามกระตุ้นเพื่อกลับมาทำงานให้เข้มแข็งเท่าก่อนมีโควิด และเราอยากได้งบประมาณมาช่วยเหลือปัญหาทางสังคมของแม่และเด็กเพิ่มเติม ไม่ใช่แค่การดูแลเรื่องสุขภาพหรืออุปกรณ์เสริมพัฒนาการ” เพราะหน้าที่การงานที่ใกล้ชิดชุมชนทำให้พี่ผานิตเห็นว่าเราไม่อาจแยกปัญหาสุขภาพออกจากปัญหาครอบครัวได้อย่างเด็ดขาด หากต้องการดูแลครรภ์และเด็กให้มีสุขภาพสุขสมบูรณ์ หลายครั้งต้องร่วมแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างสังคมแวดล้อมด้วย

“ที่ผ่านมา ทางผู้มีอำนาจอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องแม่และเด็กเท่าไหร่ หรือให้แต่น้อย เรามักจะเห็นว่างบถูกนำไปเน้นพัฒนาสิ่งแวดล้อม ก่อสร้างถนนเป็นหลักสิบล้าน แต่เราเขียนโครงการของบมาช่วยพัฒนาเด็กได้แค่ปีละห้าพัน ไม่เกินหมื่นห้า แค่นั้นเอง”

ถ้าจะมีอะไรสักอย่างสะท้อนว่าผู้มีอำนาจให้ความสำคัญแก่แม่และเด็กอย่างไร นโยบายการดูแลและจำนวนเม็ดเงินที่ลงทุนให้ ก็คงเป็นหนึ่งในเครื่องยืนยันที่ชัดเจน


เพื่อแม่และเด็กในอนาคต


เรื่องราวของพี่แป๋วและพี่ผานิตเป็นเพียงเสี้ยวส่วนเล็กๆ จากผลกระทบภาพใหญ่ที่เกิดขึ้นต่อแม่และเด็ก รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ยามโควิดแพร่ระบาดรุนแรง ซึ่งข้อค้นพบในรายงานการสำรวจการประเมินผลกระทบเบื้องต้นของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยต่อการให้บริการในคลินิกฝากครรภ์ (ANC) และคลินิกเด็กสุขภาพดี (WCC) จัดทำโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย นั้นยิ่งตอกย้ำชัดว่าคลินิกฝากครรภ์และคลินิกดูแลเด็ก ไม่ว่าอยู่ในโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแทบทั่วประเทศล้วนประสบปัญหาทำนองเดียวกัน

กล่าวคือ บุคลากรในคลินิกเหล่านี้มีภาระงานเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องรับมือกับผู้ป่วยโควิดเพิ่มเติม ยิ่งเป็นจังหวัดที่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน หรือมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ยิ่งต้องทำงานตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้น บางคนติดเชื้อจากผู้เข้ารับบริการ ทำให้ขาดแคลนผู้ปฏิบัติงาน ที่สำคัญ การเข้ารับบริการทั้งฝากครรภ์และตรวจสุขภาพเด็กต่างลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะแม่และเด็กกังวลว่าจะติดเชื้อโควิด-19 จึงไม่มารับบริการ บ้างก็เป็นเพราะนโยบายของสถานพยาบาลไม่เอื้ออำนวยให้เข้าถึงบริการโดยง่าย

คำถามคือสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายหลังโรคระบาดซาลงหรือไม่ หญิงตั้งครรภ์และเด็กสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขอันพึงได้รับอย่างทั่วถึงครบถ้วนแล้วหรือยัง หากนับจากปากคำของพี่ผานิตที่สังเกตว่าจำนวนแม่ตั้งครรภ์ไม่กลับมารับบริการมากเท่าเดิม การทำงานด้านแม่และเด็กในจังหวัดคึกคักน้อยลง หรือถ้อยความจากพี่แป๋วที่กังวลว่าการดูแลคุณแม่ในระบบสาธารณสุขยังคงมีช่องโหว่ บางทีเราอาจจะต้องกลับมาทบทวนบทเรียนที่ได้รับจากโควิด และเริ่มมองหาแผนพัฒนาบริการที่มีอยู่

เพราะแม่และเด็กทุกคนล้วนมีสิทธิ์ที่จะมีสุขภาพดี แม้จะอยู่ในห้วงยามที่โรคระบาดกัดกินเราหรือไม่ก็ตาม



ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง the101.world และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save