fbpx
โปรดอย่าทิ้งความฝัน !

โปรดอย่าทิ้งความฝัน !

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

 

ตู้หนังสือเราเวลานี้เริ่มกลายเป็นที่วางของเล่นลูกแล้ว จากที่เคยว่างๆ ปล่อยให้ฝุ่นจับ กลับกลายเป็นถูกจับจองด้วยคอลเลคชั่น ‘อันปังแมน’ ตั้งแต่ตู้สล็อตใบเล็ก รถไฟลาก ไมโครโฟน กล่องสังกะสี กีตาร์พลาสติก ฯลฯ รวมแล้วร่วมสิบชิ้น ลูกน่าจะมีของเล่นอันปันแมนมากที่สุดในบรรดาของเล่นทั้งหมดที่มี

มองดูของเล่นที่มีก็ทำให้นึกย้อนไปถึงช่วงที่ลูกคลอดใหม่ๆ เราต้องประหยัดเงินทุกบาทสตางค์ เพราะพ่อกับแม่ไม่มีรายได้ประจำ พวกเราทำงานหาเงินได้น้อยลงหลังจากหยุดกิจการร้านอาหารไป

เราพยายามคิดหาของเล่นลูกแนวประหยัด จากกลุ่มขายสินค้ามือสองของญี่ปุ่น พ่อไม่มีความรู้เรื่องของเล่นเท่าไหร่หรอก แม่ต่างหากที่ขวนขวายเสาะหาซึ่งมักจะเป็นในตลาดออนไลน์

พอแม่เข้าไปท่องโลกเสมือนนานเข้าๆ ก็ย่อมชำนาญ พอเจอของดีราคาถูกเข้า ก็เป็นที่ถูกอกถูกใจ แม่พบว่าของเล่นและของใช้ลายอันปังฯ ยังเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมของเล่นด้วย

หลังจากนั้น อันปังฯ ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเรา เป็นมิตรกับลูกนอกเหนือไปจากตุ๊กตาหมาไวโอเลต หมีบราวน์ กระต่ายชมพู โดเรมอน ควายน้อย และยีราฟม่วง ที่บรรดาน้าๆ ป้าๆ หิ้วติดไม้ติดมือมาให้ลูกเป็นช่วงๆ

ไม่แน่ใจว่าลูกชอบอันปังแมนตั้งแต่เมื่อไหร่ อาจจะเป็นสมัยที่ลูกยังไม่ทันเดินได้ ที่ขอบเตียง พ่อจะผูกโมบายอันปังฯ ไว้ ส่วนกลองอันปังฯ ที่แม่หาซื้อมือสองมาได้เป็นชิ้นแรกๆ ก็เป็นเสมือนที่รองรับแรงเหวี่ยงแขนข้อมือของลูกไป

พอลูกโตขึ้นมาหน่อย ทุกครั้งที่เราหยิบบรรดาอันปังฯ มาเล่นกัน ลูกมักจะเปิดเพลงอันปังฯ ฟังแล้วเต้นไปด้วย ลูกทำท่าย่อๆ และว่ายแขนไปมาคล้ายวัยรุ่นสายย่อที่เซิ้งอยู่ตามงานบุญงานบวช พ่อมั่นใจว่าไม่เคยสอนเต้นท่านี้ แต่ทั้งแม่และเพื่อนๆ พ่อหลายคนยืนยันว่าในบ้านเรา ท่าเต้นแบบนี้ไม่มีใครอื่นแล้วที่เต้นได้ และมันน่าจะส่งผ่านกันทางสายเลือด

คงเป็นธรรมชาติของเด็กเล็กที่เหมือนฟองน้ำ ซึมซับทุกอย่างที่สัมผัส ตั้งแต่ลูกยังแบเบาะ เพลงแรกๆ ที่ลูกได้ยินผ่านของเล่นคือเพลง Anpanman’s march พวกเราเองตอนแรกก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเพลงเกี่ยวกับอะไรแน่ แต่ทำนองเพลงที่ฟังแล้วรู้สึกเหมือนถูกปลุกเร้าให้มีความหวัง แม้ว่าความเป็นจริงของกิจการที่บ้านทำให้เรารู้สึกคล้ายจะสิ้นหวัง เราก็ยังมีลูกและเพลงอันปังฯ ที่ยังทำให้ยิ้มได้

เพลง Anpanman’s march มีลักษณะคล้ายเพลงมาร์ชปลุกใจ แต่สนุกกว่า สดใสกว่า เสียงแรกที่เริ่มด้วยแฉและฉาบ แยกซ้าย-ขวาเป็นสเตอริโอ ผสมเสียงสังเคราะห์ แต่ยังมีกลิ่นอายของออเคสตร้าย่อมๆ ทั้งคีย์บอร์ด ฟลุต ทรอมโบน กลองชุด และมีการประสานเสียงร้องด้วย

 

YouTube video

 

ผู้ประพันธ์เนื้อเพลงนี้คือ ทาเคชิ ยานาเสะ (Takashi Yanase) ซึ่งเป็นคนที่ให้กำเนิดการ์ตูนอันปังแมนขึ้นมาบนโลกนี้ในปี 1973 ด้วย ส่วนคนประพันธ์ทำนองคือ มิกิ ทากาชิ (Miki Takashi) ขับร้องโดย มามิ นากายาม่า (Mami Nakayama) ต้องยอมรับว่าพวกเขาได้ร่วมกันสร้างสรรค์ทำให้โลกยิ้มได้จริงๆ

แม้ว่าทาเคชิ ยานาเสะ จะจากไปในปี 2013 ตอนอายุ 94 ส่วนมิกิ ทากาชิ จะจากไปในปี 2009 ตอนอายุ 64 แต่มรดกของพวกเขายังคงขับเคลื่อนโลกสีเทาๆ นี้ต่อไป

อะไรที่ทำให้อันปังแมนครองใจคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะเด็กเล็กมากขนาดที่อุตสาหกรรมต่อยอดจากการ์ตูนอันปังฯ สร้างรายได้ถึงกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ว่ากันว่าจุดกำเนิดอันปังฯ นั้นมาจากการหวนรำลึกอดีตของทาคาชิ ยานาเสะ ที่เขาเคยผ่านช่วงชีวิตอันอดอยากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก่อน

การที่วัยเด็กของเขาอยากกินขนมปังไส้ถั่วแดงหรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า “อันปัง” จนขนาดเนรมิตมาเป็นตัวแทนของการต่อสู้กับความหิวโหยได้ แปลว่าชีวิตที่ผ่านเผชิญสงครามมาไม่ใช่เรื่องน่าล้อเล่นนัก

เรื่องราวของอันปังแมนนั้นเกี่ยวกับอาหาร เต็มไปด้วยเหล่าขนมปังหลากประเภทที่นอกจากอันปังแมนซึ่ง เป็นฮีโร่คอยช่วยเหลือเพื่อนๆ จากปีศาจไบคิ้น หรือแบคทีเรียแล้ว ยังมีลุงแยม เชฟผู้อบขนมปัง และตัวละครที่ถูกสร้างจากขนมปังหลายพันคาแรคเตอร์ จนปี 2009 Guinness World Records บันทึกว่าซีรีย์อันปังแมน มีตัวละครออกมากที่สุดถึง 1,768 ตัว

อันปังแมนนั้นมีแง่มุมให้ความรู้มากมายในเรื่องชีวิตประจำวัน เรายังจำได้ว่าเมื่อลูกเริ่มพูดและจดจำสิ่งรอบตัวได้ อันปังฯ คือสิ่งแรกๆ ที่ลูกสนทนาด้วยภาษาที่เราฟังไม่ออก ลูกพึมพำๆ เป็นภาษาเฉพาะของลูก และเราต่างรู้ว่าเราจะไม่รบกวนเวลานั้นของลูก

บางคนอาจมองว่าการ์ตูนอันปังฯ เป็นเรื่องเพ้อฝันของเด็ก แต่หากดูเรื่องราวแล้ว หลายๆ ตอนก็สะท้อนให้เห็นแง่มุมที่ไม่เด็กเอาเสียเลย การ์ตูนอันปังฯ ยังมีการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ว่าศัตรูของขนมปังนั้นคือน้ำ เชื้อราและแบคทีเรีย ว่ากันอีกว่านอกจากจมูกสีแดงของอันปังฯ ที่แทนสัญลักษณ์ไส้ถั่วแดงแล้ว แก้มที่แดงระเรื่อของอันปังฯ นั้นเกิดจากการที่มันต้องบิขนมปังจากแก้มตัวเองแบ่งให้เด็กๆ ผู้หิวโหยด้วย

พอเราได้มาอ่านเจอเนื้อร้องฉบับแปลของเพลงประกอบเรื่องนี้ ยิ่งทำให้รู้สึกว่าทาเคชิ ยานาเสะ ไม่ใช่คนเขียนการ์ตูนเท่านั้นแต่ยังเป็นกวีด้วย แม่ของลูกเคยเปรยสั้นๆ หลังรู้ความหมายของเพลงนี้ว่า “อื้อหืม ไม่เหมือนเพลงเด็กเอาเสียเลย” ซึ่งก็คงจะจริง

ทาเคชิ ยานาเสะ เขียนเพลงนี้ไว้ว่า…

ฉันรู้  ..ว่าชีวิตนั้นมีค่า แม้ว่าแผลในใจจะปวดยิ่งนัก

ฉันเกิดมาเพื่ออะไร
ฉันเกิดมาเพื่อทำอะไร
ฉันควรจะตอบคำถามเหล่านี้ได้
ถึงตอนนี้ รอยยิ้มบนหน้าเราแฝงไปด้วยความเจ็บปวด

ฉันรู้ ..ว่าชีวิตนั้นมีค่า แม้ว่าแผลในใจจะเจ็บปวดยิ่งนัก
ไปเถอะ อันปังผู้กล้า เธอปกป้องความฝันของผู้คนได้
ความสุขของเธอคืออะไร
ฉันไม่อยากจากไปแบบไม่รู้คำตอบ

โปรดอย่าทิ้งความฝัน !
อย่าให้น้ำตารินไหล
เพราะความฝันจะพาเธอไปทุกที่ ที่เธอต้องการ
อย่ากลัวเลย เธอสามารถเป็นฮีโร่ให้คนอื่นได้

ความรัก ความกล้าหาญ นั้นอยู่กับเธอ
เวลาจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว
วันหนึ่งท้องฟ้าอาจมืดลง
นั้นคือเหตุผลที่เราต้องยิ้มไว้

บทสัมภาษณ์ มาโกโตะ อะมาโนะ (MAKOTO AMANO) ที่ปรึกษาสำนักพิมพ์และผู้ผลิตสื่ออันปังแมน ใน The Japan Times เขาเล่าถึงทาเคชิ ยานาเสะ ไว้ว่า “He never talked down to children or treated them like babies,” Amano says. “Even if kids don’t know a word, they still remember it and as they grow up they find out what it means and learn how to use it. He never dumbed it down just because they were children.”

 

ทาเคชิ ยานาเสะ (Takashi Yanase) ภาพจาก The Japan times

 

นี่อาจเป็นภาพสะท้อนความคิดของทาเคชิ ยานาเสะ ที่ฝังอยู่ในใจเด็กเล็กทั่วญี่ปุ่น รวมถึงลูกและเรา-พ่อแม่ด้วย

โลกของทาเคชิ ยานาเสะ ไม่มีอะไรให้ท้าทายหรือกังวลอีกแล้ว หลังเขาจากไปก็เหลือแต่โลกของพวกเรา-คนที่ยังมีชีวิต เป็นโลกที่เต็มไปด้วยผู้สูงวัย เพราะเด็กเกิดใหม่กำลังลดลงและผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจก็ไม่ได้เตรียมการวางแผนอะไรไว้สำหรับอนาคตด้วย

ซ้ำร้ายหลายคนยิ่งเผาผลาญเวลาในอนาคตล่วงหน้าไปแล้ว เพียงเพราะพวกเขาต้องการรักษาโลกใบเก่าไว้

เราไม่แน่ใจว่าอันปังแมนรู้เรื่องนี้หรือยัง

 

____________________________
อ่านคอลัมน์เมื่อเวลามาถึงทั้งหมดต่อที่นี่ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save