fbpx
ประชาธิปไตย เสรีภาพ งบทหาร และสวัสดิการประชาชน

ประชาธิปไตย เสรีภาพ งบทหาร และสวัสดิการประชาชน

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แม้จะมีการอภิปรายว่าด้วยการจัดสรรงบอย่างดุเดือดทั้งจาก ส.ส. ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเองก็ตาม 

หนึ่งในประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือการลดลงของงบประมาณ ‘ด่านหน้า’ สู้กับโควิด-19 อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  มองอย่างผิวเผิน การลดลงของงบประมาณเหล่านี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก เพราะงบประมาณในภาพรวมของประเทศก็ลดลงเหลือเพียงแค่ 3.1 ล้านล้านบาท (จาก 3.28 ล้านล้านบาทของงบประมาณปี 2564) แต่ประเด็นอยู่ที่ว่างบที่จัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุขได้รับน้อยกว่ากระทรวงกลาโหมกว่า 50,000 ล้านบาท ทั้งที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านสุขภาพ 

ดังนั้น หลายคนจึงมองว่าการจัดสรรงบประมาณครั้งนี้เป็นการกระทำที่ ‘ไร้สามัญสำนึก’ และ ‘ไม่สมเหตุสมผล’ เอาเสียเลย อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่า ‘ความไร้สามัญสำนึก’ และ ‘ไม่สมเหตุสมผล’ นี้อาจมีคำอธิบายที่น่าสนใจซ่อนอยู่

งบกองทัพกับระบอบการปกครอง

นับตั้งแต่ปี 1973 สัดส่วนค่าใช้จ่ายทางการทหารต่อจีพีดีของโลกมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด ในปี 1973 การใช้จ่ายอยู่ที่ 3.8 % ของจีดีพีโลก ขึ้นสูงสุดในปี 1982 ที่ระดับ 4.34 % เพราะมีสงคราม Falklands และสงครามกลางเมืองเลบานอนในปีนั้นเป็นต้นมา หลังจากปี 1985 เป็นต้นมา การใช้จ่ายทางการทหารในโลกก็ค่อยๆ ลดลง และนับจากสงครามเย็นสิ้นสุดในปี 1991 ค่าใช้จ่ายทางทหารก็ลดมาอยู่ที่ประมาณ 2.3 % ของจีดีพี 

การใช้จ่ายทางการทหารของโลก

การใช้จ่ายทางทหารของโลก

สำหรับงบกองทัพของไทยคิดเป็นประมาณ 1.2 – 1.4% ของจีดีพี  ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลก แต่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (1.7%) รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย (1.4% และ 1.1% ของจีดีพีตามลำดับ)

อย่างไรก็ตาม การที่สัดส่วนงบประมาณกองทัพต่อจีดีพีอยู่ในระดับที่ต่ำอาจไม่ได้สะท้อนสถานการณ์ด้านงบประมาณที่แท้จริงเสมอไป เพราะต้องคำนึงถึงบริบทด้านความมั่นคงของแต่ละประเทศด้วยว่า ประเทศหนึ่งๆ จำเป็นต้องใช้งบประมาณด้านการทหารมากหรือน้อยเพียงใด อยู่ในภาวะสงครามหรือไม่ งบประมาณที่ได้รับเอาไปลงทุนใช้จ่ายอะไร เป็นต้น ซึ่งมีบทวิเคราะห์ที่พยายามตอบคำถามประเด็นเหล่านี้อยู่แล้ว ผู้เขียนจึงไม่ขอลงรายละเอียด

ประเด็นที่ผู้เขียนสนใจมากกว่าคือ งบกองทัพกับรูปแบบการปกครอง ที่ผ่านมาก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตอยู่แล้วว่า งบกองทัพไทยเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา และหลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ในการแบ่งเค้กงบประมาณ กองทัพมักจะได้สัดส่วนเค้กชิ้นใหญ่ขึ้นทุกปีๆ (แม้จะใหญ่ขึ้นเล็กน้อยก็ตาม แต่การที่กองทัพเค้กก้อนใหญ่ขึ้น ย่อมหมายความว่ามีหน่วยงานอื่นได้เค้กในสัดส่วนที่เล็กลง) 

ผู้เขียนมีสมมติฐานว่า งบกองทัพน่าจะมีส่วนสัมพันธ์กับเสรีภาพในการแสดงออก ผู้เขียนจึงลองนำข้อมูล Polity IV score ที่วัดเสรีภาพทางการแสดงออกมาดูว่าเสรีภาพทางการแสดงออกมีความสัมพันธ์กับงบทหารอย่างไร โดยจาก Polity IV score สามารถแบ่งประเทศออกเป็น 5 กลุ่ม[1] คือ 

  1. Colony หรือ ประเทศอาณานิคม มีคะแนนเท่ากับ -20
  2. Autocracy หรือ อัตตาธิปไตย หมายถึง ผู้นำคนเดียวมีอำนาจเบ็ดเสร็จ เช่น จีน เกาหลีเหนือ มีคะแนนอยู่ในช่วง -10 ถึง -6
  3. Closed Anocracy หรือ ระบอบที่ผสมระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย ผู้นำมาจากกลุ่มผู้มีอำนาจหรือกลุ่มผู้มีเครือข่ายทางการเมืองกลุ่มเล็กๆ ได้แก่ สิงคโปร์ มีคะแนนอยู่ในช่วง -5 ถึง 0
  4. Open Anocracy คล้ายกับ Closed Anocracy แต่ผู้เข้าชิงตำแหน่งทางการเมืองมาจากคนหลายกลุ่มนอกเหนือจากกลุ่มอภิชน เข่น มาเลเซีย รัสเซีย มีคะแนนอยู่ในช่วง 1 ถึง 5
  5. Democracy หรือ ประชาธิปไตย ประชาชนใช้อำนาจในการเลือกผู้นำ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมันนี อินเดีย มีคะแนนตั้งแต่ 6 ถึง 10

ประเทศที่มีข้อมูลงบประมาณด้านการทหารตั้งแต่ปี 2015 ย้อนกลับไปถึงปี 1972 ไม่มีประเทศใดเป็นประเทศอาณานิคม ผู้เขียนจึงจัดกลุ่มประเทศเป็น 4 กลุ่มหลัง พบว่า ประเทศอัตตาธิปไตยครองอันดับหนึ่งค่าใช้จ่ายทางการทหารสูงสุดตั้งแต่ปี 1974 เป็นต้นมา หรือคิดเป็น 88.6 % ของเวลาทั้งหมด ตามมาด้วยประเทศเผด็จการและประเทศประชาธิปไตย

การใช้จ่ายการป้องกันประเทศ แยกตามการปกครอง

การใช้จ่ายการป้องกันประเทศ แยกตามการปกครอง

คำอธิบายในเบื้องต้นที่สำหรับความสัมพันธ์นี้คือ ในประเทศเผด็จการเบ็ดเสร็จที่มาของอำนาจไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ผู้มีอำนาจจึงไม่ให้ความสำคัญกับงานด้านอื่นเท่ากับประเทศประชาธิปไตย ในประเทศเหล่านี้งบทางทหารและความมั่นคงจึงมีสัดส่วนใหญ่กว่าโดยเปรียบเทียบ

แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ การเพิ่มหรือลดงบประมาณกองทัพ จากจำนวนปีที่มีข้อมูล ประเทศประชาธิปไตยมีปีที่เพิ่มสัดส่วนงบทหารต่องบทั้งหมด 38.5 % กล่าวคือ หากมีข้อมูลทั้งหมด 100 ปี ประเทศประชาธิปไตยจะเพิ่มงบกองทัพ 38 ปี ส่วนปีที่เหลือเป็นการลดสัดส่วนลง ประเทศอัตตาธิปไตยมีแนวโน้มจะเพิ่มสัดส่วนงบทหารมากกว่าประเทศประชาธิปไตยถึง 6 %

แนวโน้มการเพิ่มค่าใช้จ่ายการป้องกันประเทศ

ผู้เขียนลองวิเคราะห์งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยนำงบสาธารณสุขมาวิเคราะห์ พบว่าระยะเวลาเกินครึ่งของประเทศประชาธิปไตยมีแนวโน้มเพิ่มงบสาธารณสุข ส่วนประเทศเผด็จการรวมถึงอัตตาธิปไตยเพิ่มงบไม่ถึงครึ่งของระยะเวลาที่มีข้อมูล

แนวโน้มการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข

ประเทศไทยอยู่ตรงไหน?

ผู้เขียนลองนำ Polity IV score ของประเทศไทยมาวิเคราะห์พบว่า นับจากปี 1973 – 2015 ประเทศไทยมีระยะเวลาการเป็นประชาธิปไตยเกือบครึ่งหนึ่งคือ 17 ปี เท่ากับระยะเวลาที่เป็น Open Anocracy และมีเวลาที่เป็นเผด็จการกับอัตตาธิปไตย 6 และ 1 ปี ตามลำดับ 

สัดส่วนของการปกครองแบบต่างๆ ของประเทศไทยตั้งแต่ปี 1973-2015

สัดส่วนของการปกครองแบบต่างๆ ของประเทศไทยตั้งแต่ปี 1973-2015

ผลการวิเคราะห์พบว่า ประเทศไทยไม่แตกต่างกับที่อื่นในโลก ยิ่งระบบการเมืองปิดมากเท่าใด ปีที่งบกองทัพเพิ่มขึ้นก็จะมีจำนวนมากขึ้นเท่านั้น ในปีที่บ้านเมืองจัดว่าอยู่ในยุคประชาธิปไตย จำนวนปีที่มีการเพิ่มงบทหารมีไม่ถึง 1 ใน 4 ด้วยซ้ำ

แนวโน้มเพิ่มค่าใช้จ่ายการป้องกันประเทศของไทย แยกตามการปกครอง

แนวโน้มเพิ่มค่าใช้จ่ายการป้องกันประเทศของไทย แยกตามการปกครอง

จากข้อมูลที่เสนอมานี้ ผู้เขียนไม่ได้กล่าวว่าถ้ามีการเพิ่มงบป้องกันประเทศแล้วจะแสดงว่าประเทศนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย เท่ากับจะบอกว่าในประเทศประชาธิปไตย รัฐบาลจะถูกกดดันจากประชาชนไม่ให้ใช้งบไปกับสิ่งที่ไม่ได้เป็นประโยชน์โดยตรงกับประชาชนมากกว่า  

ที่สำคัญคือ ผู้เขียนตระหนักดีว่า Polity IV score เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการนิยามการเมืองไทยในช่วงเวลาหนึ่งๆ อยู่ในระบอบอะไร หากแต่ว่าการวิเคราะห์ตามแนวทางนี้เป็นแบบฝึกหัดทางปัญญาที่สนุกและให้ผลที่น่าสนใจสำหรับการอภิปรายต่อไป

ไม่มีอะไรรับประกันว่า การมีประชาธิปไตยจะนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณที่เป็นประโยชน์กับประชาชนโดยตรงมากกว่า แต่ก็สมเหตุสมผลอย่างยิ่งถ้าจะคาดหวังว่า รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยจะไม่เอางบประมาณไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และลดงบสวัสดิการประชาชนแบบ ‘ไร้สามัญสำนึก’ ในวันที่จำนวนผู้ป่วยโควิด -19 ในประเทศยังไม่มีท่าทีจะลด


[1] “Charts: Visualizing 200 Years of Systems of Government.” 7 Sept. 2019, https://www.visualcapitalist.com/visualizing-200-years-of-systems-of-government/. Accessed 8 Jun. 2021.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save