fbpx

Les Années และความเป็นส่วนตัวที่ ‘ไม่เป็น’ ส่วนตัวของ อานนี แอร์โนซ์ เจ้าของโนเบลสาขาวรรณกรรมคนล่าสุด

อานนี แอร์โนซ์ (Annie Ernaux) คือนักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมคนล่าสุดจาก Les Années (2008) บอกเล่าชีวิตมนุษย์นับตั้งแต่ช่วงปี 1941 เรื่อยมาจนถึงปี 2006 โดยสิ่งหนึ่งซึ่งถือเป็นจุดเด่นของ Les Années คือเป็นงานเขียนที่มีลักษณะเรื่องเล่าส่วนตัวของแอร์โนซ์ หากแต่ก็ ‘ไม่ส่วนตัว’ ด้วยการเล่าถึงสังคม ชนชั้นและความเปลี่ยนผ่านของโลกอันเป็น ‘ประสบการณ์ร่วม’ ที่ผู้อื่นสามารถเข้าไปมีพื้นที่ด้วยได้

สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา ‘Annie Ernaux กับงานเขียนส่วนตัวที่ไม่ส่วนตัว’ โดย อาจารย์ ดร.อนุสรณ์ ชมภูพล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิเคราะห์และสำรวจความเป็นส่วนตัวและไม่เป็นส่วนตัวของเรื่องเล่าซึ่งด้านหนึ่งเป็น ‘อัตชีวประวัติ’ หากแต่ก็มีเงื่อนไขอื่นที่ทำให้ Les Années ไม่อาจเป็นอัตชีวประวัติหรือเรื่องเล่าของแอร์โนซ์แต่คนเดียวได้

ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า งานของแอร์โนซ์นั้นมีจุดเด่นอยู่ที่เป็นงานเชิงอัตชีวประวัติโดยที่ตัวผู้เขียนนั้นไม่ได้ต้องการให้ผลงานของเธอเล่าเรื่องชีวิตของตัวเองคนเดียว แต่อยากให้คนอื่นได้มีส่วนร่วมต่อเรื่องราวต่างๆ ที่เธอได้พบเจอและได้ใช้เวลาร่วม ดังนั้นหากจะกล่าวโดยสรุปแล้ว งานของแอร์โนซ์จึงเป็นงานเขียนที่ตั้งต้นขึ้นมาจาก ‘ความเป็นส่วนตัว’ ที่ขยับขยาย เปิดพื้นที่ให้ผู้อื่นเข้ามาอยู่ในเรื่องเล่าด้วย โดยเฉพาะผลงานเรื่อง Les Années ที่สร้างชื่อให้แอร์โนซ์ -ทั้งในฝรั่งเศสและประเทศตะวันตก- เป็นวงกว้าง

Portrait taken on November 12, 1984 in Paris shows French writer Annie Ernaux after being awarded with the Prix Renaudot for “La Place”. (Photo by Pierre GUILLAUD / AFP) อานนี แอร์โนซ์ ในปี 1984

กล่าวสำหรับตัวแอร์โนซ์ เธอเติบโตที่เมืองเล็กๆ ของประเทศฝรั่งเศส ในครอบครัวที่มีฐานะไม่ค่อยดีนัก พ่อแม่ของเธอเป็นลูกจ้างในโรงงานและรวบรวมเงินได้ก้อนหนึ่งจนเปิดร้านขายของเป็นของตัวเองได้ “อย่างไรก็ตาม แม้ครอบครัวของแอร์โนซ์จะยากจน แต่พ่อแม่ของเธอก็ทำงานอย่างหนักเพื่อส่งเงินให้ลูกสาวได้ไปเรียนในโรงเรียนเอกชน ซึ่งเป็นโรงเรียนศาสนาที่นักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชนชั้นกลาง” ดร.อนุสรณ์กล่าว “ดังนั้น นี่จึงเป็นช่วงที่แอร์โนซ์ได้พบความแตกต่างทางชนชั้นจากสังคมเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ตลอดจนการข้ามชนชั้นของแอร์โนซ์ในฐานะอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสและในฐานะนักเขียน หรือคือการเข้ามาสู่ในโลกของคนมีความรู้ มีวัฒนธรรม ขณะที่พ่อแม่ของเธอเป็นผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนหลังจากนั้น เธอเข้าศึกษาต่อปริญญาโทด้านวรรณคดีฝรั่งเศสที่นอร์มังดี โดยช่วงที่เป็นนักศึกษานั้นเธอผ่านประสบการณ์การทำแท้งอันเป็นเหตุการณ์สำคัญในชีวิตเธอ ซึ่งในเวลาต่อมาเธอก็เขียนถ่ายทอดประเด็นเหล่านี้ลงในงานเขียนด้วย”

แอร์โนซ์เข้าสู่เส้นทางนักเขียนด้วยการตีพิมพ์นิยายอัตชีวประวัติของตัวเอง โดยเลี่ยงการใช้ชื่อจริงของตัวเองและแต่งเติมบางส่วนเข้าไปด้วย ลักษณะเช่นนี้ปรากฏอยู่ใน Les Armoires vides (1974) ที่ส่งให้เธอเป็นที่รู้จักในแวดวงวรรณกรรม และ La Place (1983) งานเขียนที่คว้ารางวัล Renaudot อันเป็นรางวัลทางวรรณกรรมรางวัลใหญ่ของฝรั่งเศส ก่อนที่ Les Années จะส่งให้เธอกลายเป็นนักเขียนหญิงฝรั่งเศสที่คว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมได้

ตลอดระยะเวลาของการทำงานเขียนหนังสือ แอร์โนซ์ตั้งคำถามต่อสิ่งที่เธอเขียนอยู่ตลอดว่าควรจะจัดหมวดหมู่งานของตัวเองอย่างไร ดังนั้น การจะเลือกนิยามเพื่อระบุประเภทงานของเธอนั้นจึงต้องอ้างอิงคำพูดของแอร์โนซ์เป็นหลัก โดยในระยะแรกนั้น งานเขียนของแอร์โนซ์มีลักษณะเป็นนวนิยายหรือเรื่องแต่ง

“งานเขียนเชิงนวนิยายของแอร์โนซ์มีการสร้างสรรค์และตั้งชื่อตัวละครขึ้นมาใหม่ โดยจะเห็นได้จาก Les Armoires vides เล่าผ่านตัวละครหลักที่ชื่อ เดอนีส์ หญิงสาวที่กำลังนั่งรอทำแท้ง อันเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่แอร์โนซ์เคยผ่านมาแล้ว แต่เราจะพบว่านี่เป็นงานเขียนเชิงนิยายเมื่อแอร์โนซ์รังสรรค์ชื่อตัวละครขึ้นใหม่ ไม่ใช่ชื่อของเธอโดยตรง” ดร.อนุสรณ์กล่าว ทั้งยังยกตัวอย่างงานเชิงนิยายของแอร์โนซ์อีกชิ้นคือ Ce qu’ils disent ou rien (1977) เล่าผ่านตัวละครที่ชื่อ อานส์ ซึ่งเป็นชื่อที่ใกล้กับชื่อจริงของผู้เขียนอย่าง อานนี ตลอดจน La Femme gelée (1981) เรื่องของผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและมีลูกสองคน ตัวละครจึงต้องรับบทบาททั้งการเป็นแม่ เป็นภรรยาที่ต้องดูแลทั้งบ้าน ดูแลทั้งลูก ทั้งยังต้องทำงานเป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศส หรืออาจจะกล่าวได้ว่า นี่คือชีวิตของอานนี แอร์โนซ์ ที่ถูกบอกเล่าผ่านรูปแบบ ‘นิยาย’ เท่านั้น

La Place (1983) (ที่มาภาพ)

ขณะที่ในเวลาต่อมา ดร.อนุสรณ์ชี้ว่า แอร์โนซ์เปลี่ยนวิธีการเล่าเขียนงานจากนวนิยายเป็นเรื่องเล่าอัตชีวประวัติโดยใช้คำว่า recit autobiographique เพื่อนิยามลักษณะงานประเภทนี้ของเธอ หรือก็คือเป็นเรื่องเล่าที่มีความเป็นอัตชีวประวัติ โดยอาจเล่าเรื่องของตัวเองหรือของคนในครอบครัว ตัวอย่างงานที่เห็นได้ชัดคือ La Place (1983) ซึ่งแอร์โนซ์เปลี่ยนวิธีการเขียนใหม่ด้วยการไม่สนใจโครงสร้างแบบนวนิยาย โดยใช้ภาษาเรียบง่ายเพื่อเล่าถึงชีวิตของพ่อตัวเองที่เป็นผู้ใช้แรงงาน เติบโตมาจากการเป็นเด็กชายไม่มีความรู้ ปากกัดตีนถีบและต้องสู้ชีวิตมาจนเติบใหญ่

“หลังจากนี้ งานเขียนชิ้นต่อๆ มาของแอร์โนซ์ ก็มักไม่ระบุประเภทของวรรณกรรมที่ปกหนังสือขณะที่เล่มก่อนหน้ามีคำว่าเป็น ‘นิยาย’ ชัดเจน และจะพบว่าเธอตั้งใจเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเขียนของตัวเอง” ดร.อนุสรณ์กล่าว “Une Femme (1987) แอร์โนซ์เล่าถึงแม่ของตัวเอง เล่าความเป็นจริงในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง และความสัมพันธ์ของเธอในฐานะลูกสาวกับแม่ หรือเรื่อง L’Autre fille (2011) ที่แอร์โนซ์เล่าถึงพี่สาวของเธอที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ก่อนที่ตัวแอร์โนซ์จะเกิด หรือคือการเขียนถึงพี่สาวที่เธอไม่เคยได้พบ ผ่านการได้ยินแม่คุยกับเพื่อนบ้านว่า แม่เคยมีลูกสาวคนหนึ่งที่ดีกว่าตัวแอร์โนซ์ L’Autre fille จึงเป็นเสมือนปมหนึ่งที่ติดอยู่ในใจของเธอมาโดยตลอด เรื่อยมาจน Mémoire de fille (2016) ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น เล่าถึงประสบการณ์การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุ 17 ปีของแอร์โนซ์เอง และล่าสุดคือ Le jeune homme (2022) เขียนถึงความสัมพันธ์ของเธอกับชายหนุ่มที่อายุน้อยกว่า 30 ปี”

ดร.อนุสรณ์ชี้ว่า หากไม่เคยผ่านหนังสือของแอร์โนซ์เลย ผู้อ่านย่อมเข้าใจว่า Les Années คือนิยายเล่มหนึ่งโดยไม่มองว่ามันคืองานเขียนเชิงเรื่องเล่าอัตชีวประวัติ การจะพินิจพิเคราะห์งาน Les Années จึงต้องใช้องค์ประกอบอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนเล่มก่อนๆ ของแอร์โนซ์เพื่อจำแนกและจัดรูปแบบตัวงานชิ้นที่ส่งเธอคว้าโนเบลเล่มนี้ โดยตอนท้ายของ Les Années ก็มีข้อความที่ระบุว่าเป็นงานที่สามารถจัดอยู่ในรูปแบบงานเขียนเชิงอัตชีวประวัติที่ไม่มีความเป็นส่วนตัว และต้องการให้มีความเป็นส่วนรวม อันเป็นเอกลักษณ์เด่นประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้

พ้นไปจากงานทั้งสองรูปแบบ แอร์โนซ์ยังมีงานเขียนเชิงบันทึกประจำวันที่ทำให้เธอเป็นนักเขียนไม่กี่คนในฝรั่งเศสที่ได้ตีพิมพ์งานเขียนบันทึกที่ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว โดยแอร์โนซ์มักบันทึกสิ่งที่เธอพบเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น คนที่เธอพบในรถไฟใต้ดินหรือคนรอบตัวต่างๆ และหากเธอจะเขียนเล่าเรื่องชีวิตตัวเองนั้น ก็มักอยู่ในรูปแบบไดอารี บันทึกความป่วยไข้ของแม่ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ผ่านสายตาของแอร์โนซ์ที่ไปเยี่ยมเยือนแม่ที่โรงพยาบาล รวมทั้งมีรูปแบบบันทึกการเขียนงาน เล่าโครงการของการเขียนหนังสือเล่มต่างๆ และ L’Usage de la photo (2005) หนังสือบรรยายรูปสรรพสิ่ง ข้าวของต่างๆ ระหว่างเธอกับอดีตคนรัก ผ่านถ้อยคำที่ระบุกิจกรรมที่พวกเขามีร่วมกันในห้วงเวลานั้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายงานเขียนเชิงอัตชีวประวัติเพียงแต่มีรูปเป็นสารตั้งต้น โดยงานทั้งหลายนี้เมื่อนำมาเชื่อมโยงกัน ก็จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้เห็นว่า Les Années เป็นงานเขียนที่จากชีวิตของแอร์โนซ์

“แรกเริ่มที่แอร์โนซ์เปลี่ยนจากการเขียนนวนิยายมาสู่การเขียนธรรมดาโดยไม่มีลูกเล่นหรือวรรณศิลป์มาเล่าชีวิตพ่อใน La Place เป็นเหมือนจุดตั้งต้นที่ทำให้แอร์โนซ์ตั้งคำถามว่าเธอจะเลือกเล่าเรื่องที่ต้องการด้วยรูปแบบใด หรือแม้แต่เรื่อง Une Femme ที่เธอเขียนถึงแม่ ตัวนักเขียนก็พูดปิดท้ายผลงานว่า งานเล่มนี้ไม่ได้เป็นอัตชีวประวัติของแม่หรือความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับแม่แค่ในมุมมองของแม่ลูก แต่ต้องการให้มีความคาบเกี่ยวกับส่วนอื่นว่า ‘สิ่งนี้ไม่ใช่ชีวประวัติ ไม่ใช่นวนิยาย (…) อาจจะเป็นอะไรบางอย่างระหว่างวรรณคดี สังคมวิทยา และประวัติศาสตร์’ หรือคือเป็นงานที่คาบเกี่ยวทั้งความเป็นเรื่องเล่าของเธอกับแม่ และในเชิงสังคมวิทยาเมื่อเรื่องเล่าสำรวจชีวิตของแม่ผู้ใช้แรงงานและมาจากชนชั้นล่าง ล้อมรอบด้วยบริบททางสังคมที่แทบไม่มีอะไรเลย หรือความเป็นประวัติศาสตร์ที่แอร์โนซ์มองว่าแม่กับเธอต่างข้ามช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์และเหตุการณ์จริงหลายอย่างมากด้วยกัน นั่นคือเรื่องเล่าเหล่านี้ไม่ได้มีแค่เธอกับแม่ แต่มีคนอื่นๆ ในสังคมร่วมอยู่ด้วย” ดร.อนุสรณ์กล่าว “หรือคือเรื่องราวนั้นเป็นมากกว่าอัตชีวประวัติ ไปพ้นจากการเป็นเรื่องส่วนตัว มีมิติทางสังคมและมีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือเป็นสิ่งที่เมื่อเล่าไปแล้วคนอื่นก็เข้าใจเพราะอยู่ในสังคม ในชนชั้น ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่เรื่องเล่าพูดถึง จึงมีความเป็นบุคคลอื่นอยู่ในข้อเขียนของเธอด้วย”

Les Années จึงเป็นงานเขียนรูปแบบใหม่ของ ‘อัตชีวประวัติที่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวและที่เป็นส่วนตัว’ นอกจากเป็นหนังสือที่มีจำนวนหน้ามากที่สุดในบรรดางานเขียนทั้งหมดของแอร์โนซ์แล้ว มันก็เล่าถึงชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนมาถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 21 และหากพินิจในเชิงโครงสร้างทางวรรณกรรม ก็จะพบว่า Les Années ประกอบด้วยส่วนนำ โดยเธอตั้งต้นด้วยการให้ ‘ผู้เล่าเรื่อง’ พูดถึงข้อความสั้นๆ ซึ่งอาจเป็นทั้งการบรรยายภาพหรือสโลแกนเล็กๆ ที่ปรากฏในยุคสมัยนั้น แล้วจึงเข้าสู่เนื้อหาหลัก นอกจากนี้ยังมีรูปถ่ายประกอบอีก 15 รูปและคลิปจากกล้องวิดีโอตัวเก่าอีกสองคลิป ทั้งหมดนี้กอรปสร้างเพื่อเล่าเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งตั้งแต่อายุ 1 ปีจนถึง 66 ปี ผ่านการใช้สรรพนามบุรุษที่สามหรือ ‘elle’ ในภาษาฝรั่งเศส แล้วจึงปิดท้ายด้วยเนื้อหาที่มีลักษณะคล้ายส่วนนำ พูดถึงข้อความหรือสโลแกนสั้นๆ และความยาวเพียงสองหน้ากระดาษ

Les Années (2008) ฉบับพิมพ์ครั้งแรก (ที่มาภาพ)

ดร.อนุสรณ์แสดงความเห็นว่า การที่ผู้แต่งไม่ได้ระบุประเภทของวรรณกรรมบนหน้าปกหนังสือ (ซึ่งเป็นสิ่งที่มักปรากฏบนหน้าปกหนังสือส่วนใหญ่) จึงเป็นพื้นที่ของผู้อ่านในการจะตีความงานเขียนดังกล่าวได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ ยังมีการดึงเนื้อหาบางส่วนจากในหนังสือมาตีพิมพ์บนปกว่าแอร์โนซ์นั้น “จารึกดำรงชีวิตลงในรูปแบบใหม่ของอัตชีวประวัติที่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวและที่เป็นส่วนรวม” กับ Les Années ซึ่งเล่าเรื่องตัวละครหญิงที่ต้องการเขียนหนังสือ และพยายามหารูปแบบของงานเขียนที่จะเล่าเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งโดยไม่ให้เป็นชีวประวัติของตัวเอง “Les Années จึงไม่ใช่อัตชีวประวัติรูปแบบเดิมที่เราเคยรู้จัก ไม่เหมือนอัตชีวประวัติของ ฌ็อง-ฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau -นักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส) ที่เขียนอัตชีวประวัติเมื่อศตวรรษที่ 18 แอร์โนซ์จึงไม่อยากเขียนสิ่งที่เป็นรูปแบบเดิมที่คนเคยเขียนมาแล้ว กระนั้น ก็ยังมีความเป็นอัตชีวประวัติเป็นสารตั้งต้นอยู่ดี และใครที่อ่านก็จะเห็นภาพของตัวเองด้วย งานของเธอจึงเป็นอัตชีวประวัติรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้เป็นแบบดั้งเดิมที่เราเคยรู้จัก” ดร.อนุสรณ์ว่า

ดร.อนุสรณ์ได้ยกทฤษฎีการวิเคราะห์งานเขียนของ ฟิลลิปป์ เลอเฌิน (Philippe Lejeune -นักทฤษฎีด้านอัตชีวประวัติชาวฝรั่งเศส) ซึ่งชี้ว่า ในงานเขียนเชิงอัตชีวประวัตินั้น บุคคลต่างๆ ทั้งในและนอกตัวบทต้องมีอัตลักษณ์ทางบุคคลที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้แต่งหรือนักเขียนซึ่งอยู่นอกตัวบท กับผู้เล่าเรื่องในโลกหนังสือและตัวละคร “หากเราไม่เคยอ่านงานของแอร์โนซ์มาก่อน จะพบว่ามันไม่เป็นอัตชีวประวัติเพราะเธอใช้สรรพนาม ‘elle’ หรือผู้หญิง ไม่ได้ใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งเช่นคำว่า ฉันหรือผม ในการเล่า แต่เป็นเสมือนการสร้างตัวละครและชีวิตขึ้นมาใหม่ พร้อมกันนี้ก็แทรกบริบททางประวัติศาสตร์สังคมเข้าไปด้วย จนดูราวกับ Les Années เล่าชีวิตของตัวละครหญิงที่เติบโตขึ้นมาผ่านกาลเวลาและบริบททางสังคมต่างๆ ราวกับไม่ใช่ตัวนักเขียนเองเพราะตลอดทั้งเรื่อง ผู้เขียนไม่ได้ใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง กระนั้น การวิเคราะห์งานเขียนเล่มนี้ก็ต้องอาศัยองค์ประกอบภายนอกอื่นๆ เช่น หนังสือและงานเขียนเล่มอื่นๆ ของแอร์โนซ์เพื่อสะท้อนความเป็นอัตชีวประวัติที่ซ่อนอยู่ข้างใน” ดร.อนุสรณ์กล่าว

ดร.อนุสรณ์นำกรอบวิธีคิดของเลอเฌินมาวิเคราะห์งาน Les Années ของแอร์โนซ์ และพบว่าหากมองผ่านการเล่าเรื่อง Les Années มีความเป็นอัตชีวประวัติ เพราะตัวละครหญิงในเรื่องกับผู้เล่าเรื่อง (แอร์โนซ์) นั้นมีอัตลักษณ์เหมือนกันในเชิงชีวิต สิ่งสำคัญคือเมื่อต้องเล่าเรื่องบริบททางสังคม ผู้เล่าเรื่องเลือกใช้สรรพนาม on และ nous ซึ่งในภาษาฝรั่งเศสคือสรรพนามบุรุษที่สามที่ไม่ระบุอัตลักษณ์ โดยอาจจะแปลได้เป็นทั้ง เขา, พวกเขา หรือเรา, พวกเรา ดังนั้นเมื่อผู้เล่าเรื่องเลือกใช้สรรพนามเช่นนี้ ก็ทำให้เรื่องเล่าที่ปรากฏนั้นโยงผู้คนให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรื่องกำลังเล่าทันที ทั้งผู้อ่านยังจะพบว่า ลักษณะการใช้สรรพนาม on ปรากฏหลายครั้ง เช่น ตอนที่ผู้เล่าเรื่องเล่าบรรยายรูปของวัยเด็กของคนหลังสงครามโลกครั้งที่สองว่า “(…) เราเติบโตขึ้นโดยไม่มีอะไรมารบกวน (…) เราเริ่มไปโรงเรียนพร้อมด้วยกระดานชนวนและดินสอ” เป็นต้น

“ด้วยลักษณะการเลือกใช้สรรพนามเช่นนี้ เราจะพบว่านั่นคือชีวิตวัยเด็กของคนทั่วไป รวมทั้งวัยเด็กของตัวละครหญิงในเรื่องด้วย มากไปกว่านั้น เมื่อผู้เล่าเรื่องเลือกใช้สรรพนาม on ก็ราวกับว่าผู้เล่าเรื่องต้องการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสรรพนามนี้ โดยเราจะสังเกตได้ว่า ผู้เล่าเรื่องไม่ได้เลือกใช้สรรพนามบุรุษที่สามเพื่อกันตัวเองออกจากเรื่องที่กำลังเล่า วัยเด็กของตัวละครหญิงและวัยเด็กของผู้เล่าเรื่อง จึงน่าจะเป็นช่วงวัยเดียวกันทั้งหมด” ดร.อนุสรณ์ระบุ และกล่าวว่า บางครั้ง การใช้สรรพนาม nous หรือเรา/พวกเรา ยังเป็นการบอกโดยนัยว่ามี ‘ตัวฉัน’ อยู่ในสรรพนามนั้นด้วย เช่น ประโยคที่ว่า “พวกเราในส่วนของเด็กๆ ซึ่งกลับมานั่งกินของหวาน เรายังรอฟังเรื่องราวสนุกสนาน” โดยจะพบว่าผู้เล่าเรื่องตั้งใจใช้สรรพนามเพื่อบอกว่าในประโยคดังกล่าว มีเรื่องราวชีวิตของผู้เล่าเรื่องที่แฝงไปกับชีวิตของเด็กคนอื่นๆ -รวมทั้งชีวิตของตัวละครผู้หญิงในเรื่อง- ด้วยเหมือนกัน หรือก็คือเป็น ‘พวกเรา’ ในภาพรวมที่ประกอบไปด้วย เธอ (บุรุษที่สามของตัวละครหญิง), พวกเขา (เด็กคนอื่นๆ) และฉัน ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่อง โดยทั้งหมดนี้ซ่อนอยู่ภายใต้สรรพนาม nous ทำให้เห็นว่าชีวิตของผู้เล่าเรื่องหรือตัวละครที่นำเสนอนั้น ไม่ได้มาจากสายตาของผู้เล่าเรื่องที่อยู่ภายนอก แต่เป็นสายตาที่เกิดจากการมองจากภายใน เพราะเรื่องราวนั้นมีผู้เล่าเรื่องหรือ ‘ตัวฉัน’ ซ่อนอยู่ภายในสรรพนามนี้

ดร.อนุสรณ์ยังยกตัวอย่างการใช้สรรพนาม nous อีกกรณีหนึ่งนั่นคือประโยค “พวกเราที่เคยทำแท้งในห้องครัว เคยหย่าร้าง” ซึ่งทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า สรรพนาม nous ในที่นี้จึงหมายถึงผู้หญิงเพราะเคยผ่านการทำแท้ง ตัวละครอื่นที่เป็นเพศชายจึงถูกตัดออกไปโดยอัตโนมัติ “เทียบกับกับท่อนที่ผู้เล่าเรื่อง เล่าถึงช่วงชีวิตสมัยเด็ก ‘พวกเรา’ ในท่อนนั้นอาจหมายถึงทั้งเด็กหญิงและเด็กชายก็ได้ แต่ nous ในทีนี้หมายถึงผู้หญิง เพราะนอกจากจะเล่าเรื่องการทำแท้งแล้ว คำศัพท์บางคำของภาษาฝรั่งเศสก็ระบุเพศด้วย เช่นท่อนที่ว่า “Nous en étions incrédules” โดย nous ในประโยคนี้จะเกิดขึ้นกับประธานพหูพจน์ผู้หญิงเท่านั้น เท่ากับเป็นการย้ำว่ารูปประโยคดังกล่าวหมายถึง ‘ผู้หญิงหลายคน’ ชีวิตของตัวละครผู้หญิง ชีวิตของผู้เล่าเรื่อง จึงเป็นชีวิตของผู้หญิงที่เหมือนกัน นอกจากนี้ ผู้อ่านก็อาจจะตีความสรรพนาม nous ในบางประโยคว่าใช้แทน ‘ฉัน’ ได้ด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ ‘ฉัน’ ในฐานะผู้เล่าเรื่องที่เป็นผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังหมายถึง ‘ฉัน’ ในฐานะผู้แต่งที่แฝงตัวผ่านสรรพนามดังกล่าว

“ทั้งนี้ ในการเล่าเรื่องของ Les Années ก็เป็นการใช้สรรพนามบุรุษที่สามหรือตัว ‘อานน์’ อยู่ดี โดยที่อานน์หรือตัวละครหญิงในเรื่องนี้อาจจะเกี่ยวหรือไม่ได้เกี่ยวกับตัวแอร์โนซ์ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องเลยก็ได้ ดังนั้นหากอิงตามทฤษฎีของเลอเฌิน เราก็ยังต้องอ้างถึงตัวบุคคลต้นแบบว่าตัวอานน์กำลังอ้างอิงถึงใครที่เป็นบุคคลต้นแบบในโลกความเป็นจริงหรือไม่” ดร.อนุสรณ์ว่า และนี่เองที่ทำให้งานเขียนเก่าๆ ของแอร์โนซ์ถูกยกขึ้นมาเทียบเพื่อหา ‘ร่องรอย’ ของเรื่องจริงและเรื่องแต่งในนั้น “หากผู้อ่านเคยอ่านงาน La place ที่เล่าอัตชีวประวัติของแอร์โนซ์มาก่อน ก็คงตอบได้ว่าบุคคลต้นแบบดังกล่าวน่าจะเป็นคนเดียวกันกับตัวนักเขียนเอง ขอยกตัวอย่างเช่น การบรรยายรูปตัวละครตอนอายุ 16 ที่ปรากฏในเรื่องก็เป็นลักษณะการบรรยายรูปภาพของแอร์โนซ์ที่ปรากฏในงานเขียนเรื่องอื่นของเธอด้วย”

นอกจากนี้ ร่องรอยที่ทำให้ผู้อ่านสามารถอนุมานได้ว่าตัวละครอานน์ในเรื่อง Les Années น่าจะเป็นคนเดียวกับผู้เล่าเรื่องคือตัวแอร์โนซ์ ยังสะท้อนผ่านความมุ่งมั่นของตัวละครอานน์ที่ปรารถนาเขียนหนังสือที่เล่าเรื่องราวชีวิตตัวเอง รวมทั้งการนิยามผลงานว่า “จะต้องเป็นอัตชีวประวัติที่ไม่ได้เป็นส่วนตัว แต่มีคนอื่นเข้ามาอยู่ด้วย” จึงสอดคล้องกับผลงานเรื่อง Les Années ที่มีลักษณะดังกล่าวเป็นจุดเด่นของเรื่อง

“ความเหมือนกันของตัวละครกับบุคคลต้นแบบที่อยู่นอกตัวบท ทำให้เราสรุปได้ว่าตัวละครหญิงของ Les Années มีอัตลักษณ์เดียวกับผู้แต่ง และถ้าผู้เล่าเรื่องซึ่งเป็นผู้หญิงมีเรื่องราวชีวิตคล้ายกับตัวละครดังกล่าว จากการวิเคราะห์การใช้สรรพนามข้างต้น เธอก็น่าจะมีอัตลักษณ์เดียวกันกับผู้แต่งด้วย” ดร.อนุสรณ์สรุป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save