fbpx

ANNETTE ความสำเร็จต้องสาป จากเพลงบาปใต้ท้องสมุทร

*Spoiler Alert : บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ Annette*

ในช่วงเวลาที่โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่เป็นเหตุให้โรงภาพยนตร์หลายๆ แห่ง ไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่ยังรวมถึงอีกหลายๆ ที่ทั่วโลกต้องปิดประตูให้บริการกันอีกครั้ง และส่งผลให้มีผลงานหนังเด่นๆ ดีๆ ที่ตกค้างยังไม่ได้ออกฉายเป็นจำนวนมากมายหลายร้อยเรื่อง ดูง่ายๆ จากภาพยนตร์สายต่างๆ ที่เพิ่งเปิดฉายเป็นปฐมฤกษ์ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 74 ประจำปี 2021 เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (ตรงกับช่วงเวลาทองที่โควิดในยุโรปเริ่มทุเลาลงพอดี) ก็มีจำนวนภาพยนตร์เกินกว่า 150 เรื่องเข้าไปแล้ว

และตัวอย่างหนังที่เรียกได้ว่าน่าจะเป็นภาพแทนของการเฉลิมฉลองการชมภาพยนตร์ในโรงในช่วงเวลาที่สาหัสที่สุดอีกครั้งหนึ่งของแวดวงอุตสาหกรรมหนัง ก็คือภาพยนตร์เปิดเทศกาลในสายประกวดเรื่อง Annette ของผู้กำกับ Leos Carax ชาวฝรั่งเศสนั่นเอง

Annette เป็นหนังเพลง rock opera fantasy ที่พูดและร้องกันเป็นภาษาอังกฤษเรื่องแรกของผู้กำกับ Leos Carax ผู้ปักหลักทำหนังฝรั่งเศส พูดฝรั่งเศส ในฝรั่งเศสมาตั้งแต่ต้นยุค 1980s โดยลีลาสำคัญของผู้กำกับท่านนี้คือความโฉบเฉี่ยวหวือหวาบวกกับงานภาพอิ่มสีสันฉูดฉาดบาดตา จนต่อมาได้รับการขนานนามว่าเป็นหนังกลุ่ม cinéma du look ของฝรั่งเศสร่วมกับผลงานในยุค 1980s ของผู้กำกับ Jean-Jacques Beinix เช่น Diva (1981) Moon in the Gutter (1983) Betty Blue (1986) และผู้กำกับ Luc Besson เช่น Subway (1982) The Big Blue (1988) โดยไม่นำพาการพัฒนาเนื้อหาเรื่องราวให้ซับซ้อนเกินจำเป็น เพราะหัวใจสำคัญของการเสพงานภาพยนตร์คือการมองเห็น องค์ประกอบเชิงภาพที่สะดุดตาจึงน่าจะเป็นคุณลักษณะที่ประจักษ์มากที่สุดในการทำหนัง

แต่ในขณะที่ผู้กำกับร่วมรุ่นอย่าง Jean-Jacques Beinix และ Luc Besson ได้หันเหไปทำหนังแนวทางอื่นๆ ในเวลาต่อมา  Leos Carax กลับเลือกที่จะรักษาลีลาอันสวิงสวายที่เขาเคยทำไว้ในหนังอย่าง Boy Meets Girl (1984) และ Bad Blood (1986) ตลอดจนในผลงานยุคหลังๆ อย่าง The Lovers on the Bridge (1991) Pola X (1999) Holy Motors (2012) จนมาถึง Annette (2021) อย่างเหนียวแน่น         

Annette เล่าเรื่องราวของคู่รักหนุ่มสาวนักแสดงที่พำนักอยู่ใน LA โดยฝ่ายชาย Henry (นำแสดงโดย Adam Driver) เป็นนักแสดงตลกเดี่ยวไมโครโฟน stand-up comedy ผู้ชอบเล่นมุกโหดห่าม จนเริ่มจะเสื่อมความนิยมลงเรื่อยๆ จากอาการก้าวร้าวเซ็งชีวิตของตัวเขาเอง ในขณะที่ฝ่ายหญิง Anne (นำแสดงโดย Marion Cotillard) เป็นนางเอกนักร้องโอเปร่าเสียงดีที่ไม่ว่าจะหันไปแสดงเรื่องไหนก็ขายตั๋วได้หมดเกลี้ยงจนต้องขึ้นป้าย Sold Out ในทุกๆ ครั้ง ทั้งคู่พบรักกันโดยฝ่ายชายมีมอเตอร์ไซค์คันยักษ์เป็นพาหนะคู่ใจ ขณะที่ฝ่ายหญิงมักจะใช้บริการรถลีมูซีนรับส่งอยู่เสมอ 

จนกระทั่ง Anne ตั้งครรภ์และได้ให้กำเนิดทารกเพศหญิงรูปร่างหน้าตาแปลกประหลาด ปราศจากเนื้อหนังแห่งการเป็นมนุษย์นามว่า Annette ออกมา ชะตาชีวิตของทั้ง Henry และ Anne จึงเริ่มดำดิ่งสู่ห้วงเหวใต้ท้องมหาสมุทร จนพวกเขาอาจไม่สามารถมีความสุขด้วยกันได้อีกต่อไป

เนื้อหาของ Annette ร้อยเรียงออกมาผ่านภาษาและท่วงทำนองของบทเพลงหลากหลาย จนตัวละครแทบจะไม่ได้พูดกันเลย ผ่านการรังสรรค์ในแบบฉบับของงาน rock opera จากฝีมือของวงดนตรีคู่พี่น้องดูโอ้นามว่า Sparks ซึ่งประกอบไปด้วย Ron และ Russell Mael ด้วยเหตุนี้บทเพลงในภาพยนตร์จึงมีกลิ่นอายของการเป็นเทพนิยายร่วมสมัยภายใต้บรรยากาศแห่งฝันร้าย ด้วยสำเนียงดนตรีที่ดัดแปลงความคลาสสิกของงานโอเปร่าตามแบบฉบับดั้งเดิมให้มีจังหวะจะโคนและการเรียบเรียงในแบบดนตรีร็อค ซึ่งโหนเปลี่ยนบันไดเสียงกันอย่างแปลกแปร่ง ก่อนจะแต่งแต้มด้วยเสียงซินธิไซเซอร์ที่ชวนให้นึกถึงดนตรีโปรเกรสซีฟพังค์ร็อค ซึ่งเคยเป็นที่นิยมในช่วงยุค 1970-1980s ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีบรรยากาศแห่งความสยองขวัญที่ชวนให้นึกไปถึงงานมิวสิคัลเช่น The Phantom of the Opera (1986) ของ Andrew Lloyd Webber อย่างอดไม่ได้เลยทีเดียว

นอกจากโครงเนื้อหาเรื่องราว บทเพลง และเส้นสายลายดนตรีเหล่านี้ ผู้กำกับ Leos Carax ก็ยังแต่งแต้มสีสันด้านการกำกับตามแนวทางถนัดแบบจัดเต็มชวนให้ต้องร้อง ว้าว! โอ้แม่เจ้า! ในทุกฉากทุกตอน เริ่มตั้งแต่เสียงเกริ่นนำเพื่อทำความเข้าใจในความจำเป็นที่จะต้องรักษา ‘ความเงียบ’ ระหว่างการฉาย ที่ไม่ว่าคนดูจะหัวเราะ ร่วมร้อง เคาะจังหวะ หรือจะไอ จะจาม จะหายใจ จะผายลมใดๆ ก็ขอให้ทำแบบเงียบๆ ไว้ในหัวเท่านั้น ตลอดจนการอารัมภบทด้วยฉาก long take ที่ให้เหล่านักร้อง นักดนตรีและนักแสดงเดินขบวนต้อนรับผู้ชมว่าจะเริ่มเรื่องกันแล้วนะ ก่อนที่ Adam Driver จะเปลี่ยนเสื้อแจ็กเก็ตขึ้นควบมอเตอร์ไซค์คู่ใจที่จอดไว้หน้าร้านอาหารไทย ‘สยามชาญ’ เพื่อเริ่มต้นเล่า 

ฉากการแสดงบนเวทีของทั้ง Henry และ Anne ที่มีผู้ชมแน่นขนัดเต็มโรงละครแบบไม่ต้องเว้นระยะ นักร้อง นักดนตรีร่วมประชันแนวทำนองขับขานบรรเลงกันอย่างใกล้ชิด นับเป็นภาพอันชวนให้สะกิดใจสำหรับช่วงนี้เวลานี้เสียเหลือเกิน และที่โดดเด่นที่สุดก็เห็นจะเป็นการออกแบบตัวละคร ‘ผู้ชม’ ที่มีทั้งปฏิกิริยาต่อมุกตลกและบทสนทนาปุจฉาต่อ Henry กันแบบพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างน่ารักน่าชัง สำแดง ‘พลัง’ แห่งมหรสพการแสดงว่าเคยมีอำนาจต่อความนึกคิดและอารมณ์ความรู้สึกของพวกเราได้มากมายเพียงไหน เรียกได้ว่าเป็นภาพที่พวกเราไม่ได้สัมผัสกันมาเป็นเวลานานมากแล้วในห้วงยุคแห่งการเว้นระยะในที่สาธารณะอย่างทุกๆ วันนี้ 

ส่วนตัวละครบุตรี Annette ตัวหนังก็ได้ออกแบบความพิเศษไว้ให้เป็นอย่างดี ด้วยการอาศัยหุ่นเชิดหน้าตาน่ารักน่าชังมารับบทบาท ราวกับจะประกาศว่าตัวละครนี้ได้รับแรงบันดาลใจสำคัญจากหนังสยองขวัญอย่าง ‘แค้นฝังหุ่น’ อย่างไรอย่างนั้น ซึ่งก็สามารถสร้างความพิลึกพิลั่นปั่นป่วนตรรกะแห่งความสมจริงทั้งหลายและทำให้หนังมีสมบัติของความเป็นเทพนิยายได้มากยิ่งขึ้น

ยังไม่พอ ความแม่นเป๊ะในการกำกับของ Leos Carax สามารถเห็นได้ชัดจากความไหลลื่นกลมกลืนไปกับท่วงทำนองและจังหวะจะโคนของเส้นสายลายดนตรี ที่สามารถนำเสนอภาพแห่งฝันร้ายคลอไปกับบทเพลงได้จนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ลำพังฉากร่าย monologue ของวาทยกรหนุ่มร่ำระบายความในใจหนหลังระหว่างเขากับ Anne ที่ดำเนินไปพร้อมๆ กับการซ้อมบรรเลงจริงของวงออร์เคสตร้าก็น่าจะพิสูจน์ได้อย่างแจ่มชัดแล้วว่า Leos Carax ประณีตกับทุกจังหวะการกำกับของเขามากขนาดไหน จึงไม่น่าประหลาดใจที่สุดท้ายเขาจะสามารถคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีการประกวดเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์มาได้จากหนังเรื่องนี้

ส่วนสำหรับสมาชิกชมรมที่ชอบตีแตกสัญลักษณ์หนังหรือคุ้ยความหมายเบื้องหลังข้าวของประกอบฉากทั้งหลาย ก็น่าจะสามารถเพลิดเพลินไปกับการแกะรอยสัญญะสำคัญๆ (motif) ได้ตลอดความยาวของภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นโทนสีเขียวขี้ม้าเรืองแสง รถมอเตอร์ไซค์คันยักษ์ และเบาะพนักพิงรถลีมูซีน ซึ่งก็เคยปรากฏตัวในหนังเรื่องก่อนๆ ของผู้กำกับ Leos Carax มาแล้วหลายครั้ง กระทั่งผลแอปเปิลสีแดงที่ Anne ชอบกัดรับประทานในทุกโอกาส (โดยไม่ยอมแตะแอปเปิลเขียวซึ่งเป็นสีประจำตัวของสามี) หวีกล้วยหอมสุกเหลืองของ Henry รวมถึงปานแดงบนแก้มของผู้เป็นบิดา และแผลบนหน้าผากของ Annette เอง ที่น่าจะชวนให้แกะรอยไขปมกันได้สนุกอยู่ไม่น้อย

ถึงแม้ว่าตัวบทจะไม่ได้มีความซับซ้อนในเชิงจิตวิทยาอันจะเป็นภาระในการศึกษาตีความของนักแสดงมากนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการแสดงในบทบาทต่างๆ ของหนังเพลงพันธุ์ประหลาดอย่าง Annette เรื่องนี้อาศัยเทคนิคการแสดงที่สันทัดจัดเจนอยู่ไม่น้อยเลยเหมือนกัน โดยเฉพาะทักษะด้านการร้องไปแสดงไป เนื่องจากนักแสดงจำเป็นต้องแสดงบทบาทที่สวมอยู่ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาแนวเสียงของตัวเองในช่วงที่กำลังประสานทำนองกับคนอื่นๆไว้ด้วยเช่นกัน

ซึ่งทั้ง Adam Driver และ Marion Cotillard ต่างพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเขาสามารถรับมือกับความท้าทายอันสุดหินนี้ได้เป็นอย่างดี และไม่ว่าการแสดงจะมีแนวโน้มที่จำเป็นจะต้องเล่นใหญ่กันขนาดไหน ทั้งคู่ก็ยังรักษาอารมณ์แห่งความน่าเชื่อได้ โดยเฉพาะฝ่าย Adam Driver ที่สะท้อนภาวการณ์ดำดิ่งสู่หายนะภายในของตัวละครได้อย่างน่ากลัวเสียเหลือเกิน แถมด้วยรูปโฉมโครงหน้าที่ออกจะบิดเบี้ยวไปจากภาพพิมพ์นิยมของการเป็นหนุ่มหน้ามนไปไกล ก็ยิ่งทำให้ Adam Driver น่าจะเป็นตัวตายตัวแทนของนักแสดงหน้าแปลกแทนอดีตขาประจำของ Leos Carax อย่าง Denis Lavant ได้อีกหลายเรื่องทีเดียว

อย่างไรก็ดี ด้วยลีลาที่ออกจะแปลกหม่นจนผิดรูปผิดรอยงานภาพยนตร์ตระกูล musical fantasy ที่เล่าเรื่องเทพนิยายโลกสวยไปจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม ก็อาจทำให้ Annette ไม่ใช่หนังที่จะถูกใจมหาชนคนดูในวงกว้างโดยทั่วไปในระดับเอกฉันท์ แม้ว่าหลายคนอาจจะถูกใจในพลังความคิดสร้างสรรค์อันแตกต่างพรั่งพรู แต่ก็มีอีกหลายคนที่อาจรู้สึกเหินห่างกับความวิปริตผิดปกติของหนังในหลายๆ จุดได้ด้วยเหมือนกัน

แต่กระนั้น ผลตอบรับที่แตกต่างก็กลายเป็นเสน่ห์สำคัญแห่งการร่วมชมภาพยนตร์ด้วยกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วไม่ใช่หรือ ในเมื่อห้วงเวลาที่น่าประทับใจกว่าของการรับชมภาพยนตร์ คือการได้ตีตั๋วเข้าไปชมภาพยนตร์สักเรื่อง ได้หัวเราะ สะอึกสะอื้นร้องไห้ สบถด้วยความไม่พอใจ กรีดร้องใจหาย ถอนหายใจ หรือส่งเสียงกรนด้วยความเบื่อหน่าย ท่ามกลางผู้คนที่ร่วมชมจำนวนมาก ก่อนจะออกจากโรงเพื่อแลกเปลี่ยนทรรศนะความคิดว่ารู้สึกอย่างไรกับภาพยนตร์ที่เพิ่งได้ดู

ผู้เขียนได้แต่หวังเพียงว่าภาพต่างๆ เหล่านี้จะกลับคืนมาในเร็ววัน เพราะภาพยนตร์บางเรื่องโดยเฉพาะภาพยนตร์อย่าง Annette ช่างเป็นงานที่เหมาะจะดูในโรงภาพยนตร์ใหญ่ ด้วยภาพและเสียงอันอลังการแบบถึงอกถึงใจ อันจะทำให้พวกเราสามารถสัมผัสถึง ‘ความมหัศจรรย์แห่งภาพยนตร์’ ได้โดยแท้จริง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save