fbpx
สุขแบบสัตว์ๆ

สุขแบบสัตว์ๆ

เห็นภาพนี้แล้วคุณคิดเห็นเป็นยังไงบ้าง หลายคนอาจจะมองว่าสุนัขตัวนี้คงกำลังมีความสุขอยู่ กำลังส่งยิ้มให้เรา เราสังเกตได้จากท่าทางที่พวกมันแสดงออกมา ความรู้สึกที่สัมผัสได้  ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งอาจจะเห็นเป็นอีกอย่าง สุนัขตัวนี้อาจไม่ได้รู้สึกอะไรเลยก็เป็นได้ พวกสัตว์นั้นไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ที่เราเห็นว่าสัตว์เหมือนมีความรู้สึก เพราะเราเอาความรู้สึกแบบมนุษย์ไปอธิบายพวกสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง

เป็นไปได้ไหมว่า ที่เราเห็นสัตว์สุขก็เพราะเราสุข เป็นการทึกทักไปเองทั้งนั้น!

การศึกษาเรื่องความรู้สึกของสัตว์มีมากว่า 200 ปีแล้ว โดยชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชื่อก้องโลก ได้เขียนหนังสือชื่อ The Expression of Emotions in Man and Animals ศึกษาเปรียบเทียบอารมณ์ต่างๆ ของคนและสัตว์โดยเฉพาะพวกนก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ว่ามีส่วนคล้ายหรือต่างกันอย่างไร ดาร์วินสรุปว่า เหล่าพวกสัตว์นั้นมีความตระหนักรู้ (animal consciousness) และมีความรู้สึกเหมือนมนุษย์อยู่เหมือนกัน แต่อาจมีระดับของความรู้สึกที่ต่างออกไป อย่างไรก็ดี การศึกษาของดาร์วินดูจะขัดกับความเชื่อของคนในยุคนั้นที่มองว่าสัตว์ไม่มีจิตใจ ไม่มีความรู้สึก เปรียบได้กับเป็นเครื่องจักรเท่านั้น นิโคลา มานบรานซ์ (Nicolas Malebranche) ลูกศิษย์ของเรอเน เดการ์ต (René Descartes) นักปรัชญาชื่อดังในยุคนั้นกล่าวว่าเหล่าพวกสัตว์ ‘กินโดยปราศจากความรื่นรมย์ ร้องไห้โดยปราศจากเจ็บปวด เติบโตโดยปราศจากการเรียนรู้ ไร้ซึ่งความปรารถนา ไม่มีความรู้สึกกลัว และไม่รู้อะไรเลย’

แม้คนในยุคนั้นจะไม่ได้มีความเห็นคล้อยตามดาร์วิน แต่มีความพยายามทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาว่าสัตว์มีอารมณ์ความรู้สึกหรือไม่ กอร์ดอน กัลลอป (Gordon Gallup) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ศึกษาเรื่องการรู้จักตน (self-awareness) ซึ่งเป็นพื้นฐานในการศึกษาเรื่องความรู้สึกของสิ่งมีชีวิต ได้ทดสอบการตอบสนองของลิงชิมแปนซีเมื่อทำสัญลักษณ์ไว้บริเวณใบหน้าของชิมแปนซีในกระจก หากเจ้าชิมแปนซีเอื้อมมือไปแตะกระจกบริเวณที่ทำสัญลักษณ์ไว้แสดงว่ามันมีการรู้จักตน ซึ่งผลการทดลองพบว่าชิมแปนซีสามารถทำได้ และเมื่อกัลลอปทดสอบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทอื่นๆ อีก ทั้ง อุรังอุตัง กอริลลา โลมา ช้าง นก Magpie ก็ได้ผลเช่นเดียวกัน

เมื่อมีการศึกษาความรู้สึกของสัตว์ที่ลึกขึ้น นักศึกษาพฤติกรรมของสัตว์พบว่าเหล่าสัตว์มีความรู้สึกกลัวความรู้สึกเจ็บปวด ซึ่งสามารถวัดได้จากระดับฮอร์โมนความเครียด (stress hormone cortisol) ที่พุ่งสูงขึ้น

แต่กระนั้น นักศึกษาพฤติกรรม (Behaviorist) ของสัตว์ ก็เห็นว่าความรู้สึกที่เป็นด้านลบถือเป็นไปโดยสัญชาตญาณ เป็นความรู้สึกที่ไม่ซับซ้อน

ขณะที่ความรู้สึกด้านบวก เช่น ความสุข ความพึงพอใจ เป็นความรู้สึกที่ซับซ้อนมากกว่า ต้องอาศัยประสบการณ์ด้านจิตใจ (mental experience)

ความรู้สึก ‘เป็นสุข’ สามารถอธิบายได้ 3 ขั้นตอน อันดับแรกคือ ต้องมีการตอบสนองทางกายภาพต่อสิ่งกระตุ้น ตามด้วยการแสดงออกถึงความรู้สึก และส่วนสำคัญที่สุดคือการการวิเคราะห์ความรู้สึกนั้น จากการทดลองกับสัตว์ พบว่าสัตว์สามารถทำ 2 ขั้นตอนแรกได้ พวกมันตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นได้ และแสดงออกถึงความรู้สึกได้ เช่น เมื่อเราให้อาหารสุนัขและสุนัขกระดิกหาง แต่ยังไม่มีการทดลองใดๆ บอกว่า สัตว์สามารถ ‘วิเคราะห์’ ความรู้สึกของตัวเองได้

แม้มีความพยายามศึกษาความรู้สึกด้านบวกของสัตว์มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีประเด็นหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต้องระมัดระวังอย่างมาก นั่นคือต้อง ‘ไม่เอาลักษณะของมนุษย์ไปใช้กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์’ ซึ่งถ้าเรียกกันแบบวิชาการหน่อย ต้องเรียกว่าเป็น ‘มานุษยรูปนิยม’ หรือ anthropomorphism คือเอาความรู้สึกของมนุษย์มาตีความว่าเป็นความรู้สึกของสัตว์

นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งมองว่าเราไม่สามารถใช้มาตรวัดความรู้สึกของมนุษย์มาอธิบายความรู้สึกของสัตว์ได้ โดยยกตัวอย่างเรื่องราวของสุนัขฮาจิโกะที่เฝ้ารอเจ้าของที่หน้าสถานีรถไฟทุกวัน แม้ว่าเจ้าของจะตายไปแล้ว ฮาจิโกะกลายเป็นตัวแทนในเรื่องของความอดทนและความจงรักภักดี ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เป็นคุณสมบัติของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้เห็นว่า เราสามารถอธิบายการกระทำของเจ้าฮาจิโกะได้ แต่เราไม่สามารถตีความได้ว่าเจ้าฮาจิโกะมีความรู้สึกอดทนและจงรักภักดีแบบเดียวกับมนุษย์

เมื่อมองความรู้สึกของสัตว์แล้วย้อนมาดูความรู้สึกของคน ก็ชวนคิดได้ว่าความรู้สึกด้านลบสร้างง่าย เราอาจทำให้ใครกลัวได้ไม่ยากนัก แต่ความรู้สึกด้านบวกอย่างความสุขนั้นเป็นลักษณะเฉพาะตัว มีความสลับซับซ้อน

ดังนั้น คิดจะริทำให้ใครมีความสุข ต้องไม่สร้างความสุขแบบเดียว แล้วนำไปยัดเยียดให้คนอื่นต้องมามีความสุขเช่นเดียวกับเรา

แบบนั้นไม่เรียกว่าความสุข!

อ่านเพิ่มเติม

-บทความเรื่อง Do animals have emotions? ของ Patrick Barkham จาก The Guardian, November 13, 2014

-บทความเรื่อง Do animals experience happiness? ของ Josh Clark จาก Science How Stuff Works

-บทความเรื่อง Animals think, therefore…จาก The Economist

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save