fbpx

อังคาร กัลยาณพงศ์กับคำถามสุดยอดแฟนพันธุ์แท้วรรณกรรมซีไรต์ คณะราษฎร ลำนำภูกระดึง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และปรีดี พนมยงค์

ครั้งแรกสุดเลยที่ผมครุ่นคิดและลงมือเขียนงานเกี่ยวกับอังคาร กัลยาณพงศ์ ว่าด้วยเรื่องราวดังที่คุณผู้อ่านกำลังจะได้ยลต่อไปนี้ คือในปีพุทธศักราช 2553 หรือราวๆ 13 ปีที่แล้ว ขณะเป็นนักศึกษาชั้นปริญญาตรี ตอนนั้นผมพยายามหาหนทางนำเสนอโดยส่งไปตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับต่างๆ แต่กลับเงียบหาย และตอนนั้นท่านอังคาร มหากวีของเมืองไทยยังไม่อำลาโลก

ถ้าถอยย้อนกาลเวลาไปก่อนหน้าอีก ผมทำความรู้จักท่านอังคารหนแรกๆ ตอนเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย รับทราบว่าเขาคือกวีซีไรต์ ผู้ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (Southeast Asian Writers Award) เจ้าของผลงานหนังสือ ปณิธานกวี แต่ด้วยความรู้สึกลึกๆ กึกก้องในใจ เอ๊ะ! กวีผู้นี้ ทำไมเขียนงานดูอ่านยาก และยังมีฉันทลักษณ์แปลกๆ แหวกแนวพิกล ไม่เคร่งครัดเป๊ะๆ ตามแบบโบราณ

ช่วงที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาและกำลังหมั่นฝึกปรือเขียนกวีนิพนธ์ ผมดื่มด่ำผลงานของท่านอังคารจำนวนมากมายหลายชิ้นผ่านหนังสือหลายเล่ม เช่น กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์ และ บางกอกแก้วกำศรวล หรือ นิราศนครศรีธรรมราช เป็นต้น ตามประสาเยาวรุ่นหนุ่มฟ้อ ผมย่อมชอบใจกับชิ้นงานสะท้อนความเจ็บปวดจากความรักจำพวก “เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า มิหวังกระทั่งฟากฟ้า ซบหน้าติดดินกินทราย จะเจ็บจำไปถึงปรโลก ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ…”  หรือ “อนิจจาน่าเสียดาย ฉันทำชีวิตหายไปครึ่งหนึ่ง ส่วนที่สูญนั้นลึกซึ้ง มีน้ำผึ้งบุหงาลดามาลย์…”  ขณะเดียวกันก็ตื่นเต้นและทึ่งกับภาพพจน์ของ “วักทะเลเทใส่จาน รับประทานกับข้าวขาว เอื้อมเก็บบางดวงดาว ไว้คลุกข้าวซาวเกลือกิน…” และ “โลกนี้มีโฉนดท่านทั้งนั้น โฉนดฉันอยู่ปรโลกโชคทมิฬ”  ฮึกเหิมไปกับ “ใครดูถูกดูหมิ่นศิลปะ อนารยะไร้สกุลสถุลสัตว์ ราวลิงค่างเสือสางกลางป่าชัฏใจมืดจัดกว่าน้ำหมึกดำ…” รวมถึงใคร่ครวญเมื่อสัมผัสเข้ากับ “โลกนี้มิอยู่ด้วย มณี เดียวนา ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง ปวงธาตุต่ำกลางดี  ดุลยภาพ ภาคจักรพาลมิร้าง เพราะน้ำแรงไหน”

ยิ่งอ่านยิ่งศึกษาเรื่องราวของท่านอังคาร ผนวกกับพอทราบว่าเป็นกวีชาวใต้ บ้านเกิดอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ผมพลันยิ่งหลงใหลและสถาปนาให้เขาเป็นประหนึ่ง ‘ไอด้อล’ ในการสร้างสรรค์บทกวี โดยเฉพาะการส่งอิทธิพลต่อความคิดทำนอง “ฉันทลักษณ์ไม่ได้คลอดมาจากมดลูกของใครคนใดคนหนึ่ง”

อังคาร กัลยาณพงศ์

จวบกระทั่งตอนเข้าเรียนปริญญาตรี ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมยังคงปลาบปลื้มต่อวิถีความเป็นกวีของท่านอังคาร ตามเสาะหาผลงานมาขะมักเขม้นอ่านเนืองๆ มิหนำซ้ำ ผมค้นพบว่าเขาไม่เพียงแต่เขียนกวีนิพนธ์อย่างเดียว หากเคยเขียนงานร้อยแก้วในเชิงเรื่องสั้นไว้หลายชิ้นและนำมารวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา เรื่องสั้นหนึ่งในเล่มที่ผมชอบมากคือ ‘คุณหญิงหอยกับคุณนายหอยเห่อสนทนากัน’ ห้วงเวลานี้เอง ผมเพิ่งทราบที่มาของการเรียกขาน ‘ท่านอังคาร’ กล่าวคือ ในแวดวงกวีสมัยนั้น โดยเฉพาะกลุ่มของกวีละแวกหน้าพระลานใกล้ๆ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ปรากฏการเรียกขานหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี เจ้าของนามปากกา ‘พ.ณ ประมวญมารค’ โอรสในกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ว่า ‘ท่านจันทร์’ ครั้นอังคาร กัลยาณพงศ์เข้ามาเป็นกวีละแวกหน้าพระลาน จึงมีคำเรียกขานให้เป็น ‘ท่านอังคาร’ ด้วย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชเคยเขียนแซวเรื่องนี้ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐว่า อีกหน่อยคงจะมี ‘ท่านพุธ’ และ ‘ท่านพฤหัส’ ทยอยตามมา

นักศึกษาธรรมศาสตร์เยี่ยงผมมิแคล้วสนใจเรื่องการเมือง ช่วงนั้นผมก็ได้เห็นท่านอังคารเข้าไปมีบทบาททางการเมืองโดยเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและขึ้นอ่านบทกวีบนเวทีชุมนุมบ่อยๆ ทั้งยังจัดพิมพ์หนังสือกวีนิพนธ์เรื่อง มัฆวานรังสรรค์ ออกมาเผยแพร่เมื่อปีพุทธศักราช 2551 นับจากนั้นมา พออ่านหนังสือกวีนิพนธ์ของท่านอังคาร คราใด แม้จะเป็นผลงานเก่าๆ ผมจะคอยสังเกตสังกาแนวคิดทางการเมืองของเขาเสมอๆ จึงพบว่า ท่านอังคารมักสอดแทรกน้ำเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหน็บแนมการเมืองและนักการเมืองเอาไว้มากโขทีเดียว เฉกเช่น มีบทกวีชิ้นหนึ่ง ถ้าผมจำไม่ผิด (เคยอ่านเมื่อนานเกินกว่าสิบปีแล้ว) เนื้อหากล่าวถึงกรณีที่กรรมกรก่อเหตุอาชญากรรมทางเพศ เปิดด้วยบทโคลงว่า

มโนมอบแด่มาร์กซ เลนิน

แขนถวายสตาลิน เทอดหล้า

ดวงใจมอบโฮจิมินห์ นาพ่อ

เกียรติศักดิ์รักของข้าฯ มอบให้เหมาเจ๋อตง

ผู้นิยมอ่านวรรณคดีไทยคงจะคุ้นเคยดีว่าโคลงบทนี้ดัดแปลงมาจากบทพระราชนิพนธ์ดั้งเดิมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตรายสัปดาห์ ประจำวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2461 พระองค์ทรงได้แรงบันดาลใจมาจากโคลงสุภาษิตนักรบของฝรั่งเศส และทรงถ่ายทอดสู่พากย์ไทย ความว่า

มะโนมอบพระผู้  เสวยสวรรค์

แขนมอบถวายทรงธรรม์  เทอดหล้า

ดวงใจมอบเมียขวัญ      และแม่

เกียรติศักดิ์รักของข้า     มอบไว้แก่ตัว

กวีนิพนธ์อีกเล่มหนึ่งที่โดดเด่นของท่านอังคารคือ ลำนำภูกระดึง แท้จริงผมเคยอ่านงานนี้มาตั้งแต่ครั้งเป็นนักเรียนมัธยมปลาย ทว่าก็มัวเพลิดเพลินกับถ้อยคำภาพพจน์รสโวหารของมหากวี รวมถึงจินตนาการคล้อยตามฉากและบรรยากาศธรรมชาติอันงดงามของป่าเขาภูกระดึงในจังหวัดเลย เพราะผมไม่เคยไปเยี่ยมเยือนที่นั่น (จนบัดนี้ก็ยังไม่เคย) ทำให้มิทันฉุกนึกตั้งคำถามต่อบทกวีบางตอน ซึ่งท่านอังคารแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างดุเดือด โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์คณะราษฎร ครั้นล่วงถึงปีพุทธศักราช 2553 ผมลงทะเบียนเรียนวิชาเกี่ยวกับกวีนิพนธ์ไทย ก็ตั้งใจจะเขียนบทความเรื่องแนวความคิดของอังคาร กัลยาณพงศ์ที่มีต่อคณะราษฎรอันปรากฏในลำนำภูกระดึง เพราะยังมองไม่เห็นใครหยิบยกประเด็นนี้มาอภิปราย แต่ก็มีอันให้ไม่ได้ส่งงานชิ้นนี้ในวิชาเรียน จึงหมายมั่นส่งไปให้ทางนิตยสารต่างๆ พิจารณา หากท้ายสุด ต้นฉบับบทความนี้วางแน่นิ่งให้ฝุ่นเกาะจับเสียนานจนเนิ่นในลิ้นชักของมนุษย์ย้ายหอพักบ่อยๆ

ชีวิตวัยหนุ่มของผมไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของท่านอังคาร อีกหนช่วงกลางปีพุทธศักราช 2555 เนื่องจากผมได้เข้าร่วมแข่งขันในรายการแฟนพันธุ์แท้ตอนวรรณกรรมซีไรต์ ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 คืนวันศุกร์ที่ 31 สิงหาคมปีนั้น ผมสามารถฝ่าฟันเกมตอบคำถามหลายด่านจนเข้าสู่รอบสุดท้ายคือคำถามสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ ซึ่งถ้าตอบได้ถูกต้องก็จะกลายเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้วรรณกรรมซีไรต์ พร้อมคว้าของรางวัลน่าประทับใจ

คำถามสุดยอดแฟนพันธุ์แท้มีอยู่ว่า “นักเขียนรางวัลซีไรต์ที่ไม่ได้มารับรางวัลด้วยตัวเองคือใคร / คนที่มารับแทนคือใคร/ วรรณกรรมที่ได้รับรางวัลคือเรื่องอะไร/ ได้รางวัลปีอะไร”

รับฟังคำถามแล้ว ผมมั่นใจว่าคงจะตอบได้ แต่เพื่อแก้ขวยเขิน เพราะคำถามรอบสุดท้ายนี้ ส่วนมากต้องทำสีหน้าเครียดครุ่น ซึ่งผมไม่ค่อยถนัดนัก จึงตัดสินใจสวมหน้ากากอินทรีแดง นั่นกลายเป็นภาพจำของผมในสายตาผู้ชมและแฟนรายการมาตราบปัจจุบัน

แน่นอนครับ คืนนั้นผมตอบคำถามได้ถูกต้อง โดยตอบว่า นักเขียนรางวัลซีไรต์ที่ไม่ได้มารับรางวัลด้วยตัวเองคืออังคาร กัลยาณพงศ์, คนที่มารับแทนคือเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งเป็นกวีซีไรต์ประจำปีพุทธศักราช 2523, วรรณกรรมที่ได้รับรางวัลคือเรื่อง ปณิธานกวี และได้รางวัลปีพุทธศักราช 2529 

ผู้ที่มาเฉลยคำตอบคืออาจารย์นิตยา มาศะวิสุทธิ์ ผู้เป็นกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมซีไรต์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนได้รับฉายา ‘คุณย่าซีไรต์’

ผมยังอธิบายเหตุผลสมทบว่า ที่ท่านอังคารมิได้มารับพระราชทานรางวัลซีไรต์ซึ่งจัดให้มีพิธีมอบ ณ โรงแรมโอเรียนเต็ลเมื่อค่ำวันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พุทธศักราช 2529 นั้น เพราะเกิดอาการป่วยกะทันหัน ซึ่งข้อมูลนี้ผมเคยอ่านมาจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับประจำวันที่ 10 ตุลาคม ของปีนั้น ซึ่งพาดหัว ‘กวี ‘อังคาร’ ป่วยกะทันหัน อดไปงานพระราชทานฯ’ และมีเนื้อข่าว

“เมื่อค่ำวันที่ 9 ต.ค. 29 ที่โรงแรมโอเรียนเต็ลได้จัดให้มีพิธีพระราชทานรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมอาเซียน (ซีไรท์) ประเภทกวี ซึ่งสำหรับไทยนั้นได้แก่เรื่อง “ปณิธานกวี” ของนายอังคาร กัลยาณพงศ์ ตามที่ได้ตัดสินไปแล้วเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2529 นั้น

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า นายอังคารไม่ได้มาปรากฏกายให้แขกในงานได้เห็นหน้าเห็นตากันเลยตั้งแต่เปิดงาน จนแขกในงานพากันถามไถ่ถึง ผู้สื่อข่าวได้สอบถามยังคณะกรรมการจัดงานทราบว่า นายอังคารป่วยกะทันหันอยู่ที่ อ.ไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ไม่สามารถจะเดินทางมารับพระราชทานรางวัลได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการจัดงานได้เชิญนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ขึ้นรับพระราชทานแทนแล้ว”

เกือบสิบปีก่อน เคยมีผู้มาร่วมสนทนากับผมว่า แท้จริงเหตุที่ท่านอังคารไม่ได้มารับรางวัล เพราะเพื่อนเกรงว่าจะไปเมาในงานจึงกักตัวเอาไว้ สำหรับกรณีนี้ ต่อมา ส.ศิวรักษ์ ได้กล่าวถึงผ่านคลิปใน youtube เรื่อง ‘อังคาร กัลยาณพงศ์ ผู้ทำให้ ส.ศิวรักษ์ เลิกคิดจะเป็นกวี’ เผยแพร่โดย Dhanadis – ธนดิศ  เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พุทธศักราช 2565 ทำให้ทราบว่าเพื่อนที่กักตัวท่านอังคารก็คือ ส.ศิวรักษ์ นั่นเอง โดยกักตัวไว้ที่หมู่บ้านเด็กริมแม่น้ำแควน้อย ตําบลท่าเสา อําเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

อังคาร กัลยาณพงศ์ ในแม่น้ำแคว

ควรเล่าเพิ่มเติมอีกสักหน่อย ทางด้านโรงแรมโอเรียนเต็ล เมื่อทราบผลการตัดสินว่าผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปีพุทธศักราช 2529 คืออังคาร กัลยาณพงศ์ ก็มีหลายคนปีติยินดี คนหนึ่งย่อมมิพ้นชาลี อมาตยกุล ผู้จัดการดูแลอาหารและเครื่องดื่มประจำโรงแรม (ทั้งยังบุกเบิกร้านอาหารศาลาไทยริมน้ำ) ซึ่งถึงกับประพันธ์กาพย์ยานี 11 ว่าด้วยอาหารในงานพิธีพระราชทานรางวัลไว้รอต้อนรับ

ซุปใสไก่กระทง  คล้ายอนงค์เนื้อนิ่มเนย

เฉกเช่นชู้คู่เชย  ประกบเกยกับเครื่องครบ

สันในอุ่นไอควัน   อัคคีนั้นหอมตรลบ

เหล้าองุ่นพูนเพิ่มภพ  คละเครื่องทบเข้าตำรา

ส้มหวานปานโอสถ  แกมเสาวรสสดจากพนา

พรักพร้อมพรมรสพา ช็อกโกแลตให้หายขม

กาแฟสีออกดำ        ชวนให้คล้ำในอารมณ์

ขืนขื่นเคยระทม   เทวษทุกข์ในดวงมาลย์

ช้ำชอกก็พลันหาย  ด้วยดับได้เพราะพิษหวาน

เทวะจะเจือจาน  เอื้อประทานหวานทิพย์มา

ขออนุญาตวกกลับไปยังลำนำภูกระดึง ตลอดช่วงพุทธศักราช 2555 ผมเกิดแรงมานะที่จะหยิบเอาต้นฉบับบทความในลิ้นชักมาปัดฝุ่นเพื่อนำเสนออีกครั้ง ประกอบกับปีนั้น ท่านอังคารถึงแก่มรณกรรมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม (ก่อนรายการแฟนพันธุ์แท้ ตอนวรรณกรรมซีไรต์จะออกอากาศเพียง 6 วัน แต่จริงๆ ถ่ายทำบันทึกรายการไว้ล่วงหน้านานกว่าสองเดือน) จึงเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสเหมาะ หากในที่สุด ต้นฉบับของผมก็เงียบเชียบอยู่ในลิ้นชักอย่างเคย กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์และเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2565 ผมปักใจมั่นจะส่งต้นฉบับบทความชิ้นนี้มาให้ทาง The101.world พิจารณา ในวาระครบรอบ 10 ปีแห่งมรณกรรมของอังคาร กัลป์ยาณพงศ์ และครบรอบ 10 ปีที่ผมได้เป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้วรรณกรรมซีไรต์  แต่การเผชิญชีวิตแสนชุลมุนกลับฉุดรั้งผมให้มิอาจทำสำเร็จ ฉะนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2566 ผมภูมิใจเหลือล้นที่จะได้เห็นต้นฉบับบทความที่เดินทางขรุขระมายาวนานเกือบ 13 ปีเผยแพร่สู่สายตาคุณผู้อ่านทั้งหลายสักที

ลำนำภูกระดึง จัดพิมพ์ครั้งแรกสุดเมื่อปีพุทธศักราช 2512 โดยสำนักพิมพ์ศึกษิตสยามที่ ส.ศิวรักษ์ หรือนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นผู้ดำเนินกิจการ ภาพปกคือสนหน้าผาภูกระดึง ซึ่งอังคารวาดขึ้นเองด้วยสีถ่าน

ก่อนหน้านั้น สำนักเดียวกันเคยจัดพิมพ์หนังสือ กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์ ออกมาเมื่อปีพุทธศักราช 2507 นำเอาบทกวีต่างๆ ที่เผยแพร่ในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ มารวบรวม และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธศิริโสภา ประทานทุนทรัพย์เป็นค่าตีพิมพ์ สุลักษณ์เล็งเห็นกระแสตอบรับค่อนข้างดี โดยเฉพาะกระแสปฏิกิริยาที่โจมตีหนักหน่วงในข้อหาว่าอังคารเขียนบทกวีผิดฉันทลักษณ์เมื่อช่วงปีพุทธศักราช 2509 และหนังสือเล่มเดิมเป็นเพียงการรวมบทกวีชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาไว้แห่งเดียวเท่านั้น จึงอยากจะตีพิมพ์หนังสือกวีนิพนธ์ที่เป็นงานชุดใหญ่ชิ้นแรกของอังคาร

ลำนำภูกระดึง มีลักษณะเดียวกันกับงานประพันธ์ประเภทนิราศ เพียงแต่ท่านอังคารเรียกขานให้เป็น ‘ลำนำ’ และแทนที่กวีจะคร่ำครวญเพ้อถึงการต้องลาจากนางอันเป็นที่รักตามขนบนิราศโบราณ ก็เปลี่ยนมาคร่ำครวญเพ้อถึงความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ ความเสื่อมทรามยุ่งเหยิงของสังคมเมืองกรุง และความตกต่ำทางจิตใจในหมู่มนุษย์ ดำเนินเรื่องด้วยกาพย์กึ่งกลอนจำนวน 100 ชิ้น มีบทไหว้ครูไหว้ทวยเทพต่างๆ สรรใช้ถ้อยคำทั้งขรึมขลังและจับใจ แต่ก็ทันสมัยอยู่ในที

ส.ศิวรักษ์เขียนถึงหนังสือเล่มนี้ในสตรีสาร ฉบับประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2512 มีความลงท้ายว่า “และแม้ ลำนำภูกระดึง จะไม่ใช่งานชั้นยอดเยี่ยม แต่ก็เป็นหลักฐานอันแสดงให้เห็นว่างานเขียนของอิสรชน ย่อมอยู่เหนือมหาชน เหนือนักเขียนสามัญ เหนือมัณฑนศิลป์ด้วยประการทั้งปวง ทั้งนี้ก็เพราะกวี มีชีวิตเพื่อสร้างศิลปะ ให้อมตะตราบฟ้าดินสลาย จนเสร็จสมอุดมคติจึงตาย ไว้แววเกียรติยศวิญญาณเอยฯ”

ท่านอังคารพรรณนาภาพบรรยากาศและถ่ายทอดสภาวะอารมณ์ตั้งแต่นั่งรถจากในเมือง ระหว่างเดินขึ้นภูกระดึง และขากลับลงมา อย่างเข้าใจธรรมชาติใกล้ชิด ทั้งนำเอาชื่อเรียกขานจุดต่างๆ ตามรายทางมาตั้งเป็นชื่อบทย่อยๆ อันได้แก่ เชิงเขา, ปางกกข่า, ซำตาแฮก, ซำบอน, ซำกกกอก, ซำกอซาง, ซำกกหว้า, ซำกกไผ่, ซำกกโดน ไปจนถึงหลังแป อันเป็นยอดแห่งภูเขาทรายสันตัด ยังเคยมีเรื่องเล่าอีกว่าท่านอังคารเป็นคนที่ชื่นชอบและผูกพันกับภูเขา

ตอน ลำนำภูกระดึง ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรก คนหนึ่งที่ได้อ่านแล้วประทับใจจนเขียนกลั่นกรองความซาบซึ้งออกมาเป็นงานร้อยแก้วคือเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ข้อเขียนชื่อ ‘ภูกระดึง’ ลงพิมพ์เผยแพร่ในวิทยาสารปริทัศน์ ฉบับที่ 13 ป 3 ปีที่ 23 ประจำวันที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2513 เปิดฉากว่า

“ลมฤดูร้อนแห่งเดือนเมษา ฯ ผ่าวพัดมาเหมือนเสียงเรียกจากป่าเขาลำเนาไพร  มิ่งไม้เจ้าจะแต่งดอกประดับใบ ทั้งพุ่มหญ้าผกากรองต่างจะกรองสี  ที่ผาสูงค่อยจางหมอกออกอวดยอด เงื้อมชะโงกลงส่องเงาในโตรกละหานทรายที่ชายภู ลำนำจากป่าเขาราวกระดึงดังและดั่งจะชวนให้ชมภู กู่ไปถึงชั้นดาวดึงส์”

ต่อจากนั้นเนาวรัตน์นำผู้อ่านไปสัมผัสจุดต่างๆ ระหว่างทางขึ้นภู

ซำแฮก หรือที่พักแรกเมื่อร้อนเหนื่อยเพราะไต่ขึ้นมา จึงเปลี่ยนเป็นเรียก ซำตาแหก เสียให้สาสม

          ซำตาแหกแรกถึงตะลึงแล้ว

ทรายแก้วขาวนวลสวนไม้ป่า

          งามแง่โขดเขินเนินศิลา

ฟ้าสร้างอุทยานทำทานดิน

ร้อนก็จะร่มด้วยม่านไม้รวกแลไผ่ป่าเป็นแผงที่ขึ้นอยู่แต่รายเนิน เสียงนกและเสียงลมที่ไล่ล้อสัพยอกกันมาแต่เนินไม้นั้น ไพเราะกว่าดนตรีที่มนุษย์ประดิษฐ์ ตลอดซำต่าง ๆที่ได้พักล้วนมีชื่อเรียกเป็นสำเนียงป่าทั้งสิ้น เช่น ซำกกกอก ซำกกหว้า ซำกกโดน และซำแค่ แล้วก็ถึงหลังแป คือขึ้นถึงภู ที่โขดเขินเป็นตะปุ่มตะป่ำ ชะง้ำชะเงื้อม ก็เปลี่ยนเป็นทะเลหญ้าโล่งลิ่ว ไล่ระดับอยู่ในดงสนป่า เปลือกหนาแตกใบเป็นฟูฝอยปลายกิ่งก้าน ชอุ่มและไสวราวนฤมิต

           ถึงหลังแปแลละลิบลิ่ว

ทิวสนสะพรั่งดั่งเหมือนฝัน

          ทะเลหญ้ากว้างอ้างว้างนั้นพลัน

ไหวหวั่นเป็นคลื่นห้อมล้อมกาย

ทิวทัศน์ที่บนภูนั้น งามเสียจนแทบว่า สองตาไม่พอมอง ลมสดแลแดดใส ไม้ดอกดูกะจิดหริดแอบฉะอ้อนอยู่กับซอกหินและตะไคร่สีทองนั้น งามเกินกว่ามือหยาบจะแตะต้อง ที่ดอกโตก็บานแฉล้มแย้มยิ้ม  เป็นสีม่วงลออ ราวจะรอหยาดน้ำค้างให้มาค้างกลีบ

ตะวันที่นี่ ดวงโตกว่าที่ใด เห็นจะเป็นเพราะมาอยู่ใกล้ตะวันนั่นเอง ณ ผานางแอ่นนั้นเอาไว้นั่งชมตะวันเมื่อเช้า และผานกเค้าก็เอาไว้นั่งชมตะวันเมื่อตก ดวงโตเต็มสีเข้มแดงค่อยกระเพื่อมพ้นขึ้นมาจากทะเลหมอก หลังม่านใบสน ต่ำลงไปเป็นหุบเขา เห็นยอดไม้รำไรอยู่ในเวิ้งละอองควัน

         เริ่มสูงลิ่วเห็นทิวยอดไม้

อยู่ใต้บาทาน่าปลาบปลื้ม

        นาทีนี้ฟ้าให้ยืม

แววตาแลหล้าสุดอาลัย

หมอกค่อยคลี่ม่านเผยให้เห็น สนป่าเริงระบำ ออกอวดลำทีละต้น แล้วบรรจงรูดม่านลบภาพเลือนหายกลับไปใหม่ สลับเล่นอยู่เช่นนั้นในวันที่มีฝนตก สระแก้วและสระอโนดาต น้ำใสสะอาดชวนให้ลงอาบ เห็นกรวดหินทรายและไม้น้ำหลากสี

         สระแก้วน้ำพะแพร้วพราวใส

นวลใยธุลีทรายคล้ายปูผ้า

     เป็นธารน้อยห้อมล้อมด้วยศิลา

ขอบสระหญ้าขาวนวลยวนใจ

สรรพสิ่งที่นี่ยังเป็นธรรมชาติ ชีวิตตื่นขึ้นมาตามแสงรวีเมื่อทิวา แล้วระงับหลับลงเมื่อค่อนอัสดงคต ที่ผานกเค้า กลางคืนเมื่อพระจันทร์เจ้ากระจ่าง ทอแสงนวลเย็น ผ่านม่านใบสนลงทำประกายกับดอกหยาดน้ำค้างในดงหญ้า จักจั่นเรไรและแมลงกลางคืนคือดนตรีขับกล่อมอยู่ชั่วนาตาปี

ใครหนอนฤมิตไว้งามซึ้ง

ภูกระดึงดั่งฟากฟ้ามหาสถาน

ชะโงกเงื้อมผาฟ้าปั้นปาน

หวานรูปเงาฝันอันเหนือจริง”

เนาวรัตน์มิวายเน้นย้ำ

“ใครเคยไปภูกระดึง แล้วได้อ่าน ลำนำภูกระดึง ที่ อังคาร กัลยาณพงศ์ ได้บรรจงเขียนไว้นั้นแล้ว คงอยากจะไปอีก ไปเก็บกรองภาพอันงดงามละเมียดละไมเหล่านั้นไว้ให้ประทับใจไปนานแสนนาน ภูกระดึงงามอยู่เช่นนี้ ทุกฤดูกาล หน้าฝน ฝนก็จะฉ่ำชะธรรมชาติ ให้สะอาดสดใส เมื่อหนาวก็งามด้วยละอองหมอก  เหมยอบอาบดวงดอกไม้ ให้บานอยู่เป็นช่อใหญ่ ครั้งถึงฤดูร้อนเล่า น้ำในสระใส และหมอกจางๆ เคล้าลมรินโชยเป่ามาแต่ป่า ก็จะช่วยให้ระรื่นใจได้ดี ไม่แพ้ที่ใด แทบจะกล่าวได้ว่า หากภพนี้มีสวรรค์จริงแล้ว ที่นี่ละคือสวรรค์ เพราะความรู้สึกเมื่ออยู่บนภูนั้น คลับคล้ายเหมือนจะอยู่บนวิมานในม่านเมฆ หรือว่า อีกก้าวหนึ่งก็จะถึงสวรรค์อย่างที่ อังคาร กัลยาณพงศ์ ว่าไว้

บรรยากาศประหลาดคลับคล้าย

ละม้ายกึ่งครึ่งโลกครึ่งสวรรค์

ทั้งทิวาราตรีสลับกัน

ดั่งในความฝันอันเหนือจริง”

พร้อมปิดท้ายข้อเขียนว่า

“ฤดูร้อนเริ่มแล้ว ถ้ามีเวลามากพอ เราจะชวนกันขึ้นไปพักผ่อนบนภูกระดึง ใครคนหนึ่งเคยพูดไว้ว่า ทะเลนั้นชวนให้ว้าเหว่ ส่วนภูเขานั้นดูขรึมสง่าและลึกลับ บางคนชอบป่าเขามากกว่าทะเล เพราะทำให้ไม่เหงา และได้รู้สึกถึงความลึกซึ้งแห่งชีวิตและความงามตามธรรมชาติ นั่นคือได้ใกล้ชิดกับตัวเองอย่างแท้จริง บางคนก็ชอบป่าเขา แต่ทว่าเป็นไปในทางทำลาย แม้การเข้าไปรุกรานความสงบโดยการเข้าไปปรุงแต่งตามกิเลสของตน ก็ชื่อว่าทำลายป่า เข้าป่าแต่มองป่าด้วยสายตาชาวเมือง นั่นก็ชื่อว่า ทำลายป่า ยิ่งเข้าป่าแล้วมองป่าด้วยสายตาอันป่าเถื่อน ยิ่งทำลายป่าเช่นกัน เข้าป่าต้องให้เห็นป่า และต้องให้ป่าเห็น จึงจักไม่ชื่อว่า ทำลายป่า ภูกระดึงจึงเป็นแดนหนึ่งที่ยังพิสูจน์กฎนี้อยู่ ตราบใดที่การเดินขึ้นภู ยังเป็นไปด้วยอาการที่ต้องแลกกับความสะดวกสบายประสาโลก ทั้งหลายทั้งปวงที่มนุษย์ติดอยู่เช่นนี้ ภูกระดึงก็จักยังคงความงามไว้อวดตาทิพย์ อันอาจมีอยู่ในโลกนี้ได้ตราบนั้นฯ”

นักเรียนหนุ่มคนหนึ่งที่จังหวัดปัตตานีอ่านพบข้อเขียนร้อยแก้วเรื่องข้างต้นในนิตยสาร ก็ตัดกระดาษหน้านั้นเก็บเอาไว้ด้วยความประทับใจ เขาไม่คาดนึกว่า พอปีถัดมาจะได้เรียนวิชาการประพันธ์ไทยกับผู้เขียน นักเรียนคนนั้นชื่อกัณหา แสงรายา

ล่วงเข้าปีพุทธศักราช 2514 เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ลาออกจากงานประจำที่วิทยาสารปริทัศน์ แล้วเดินทางมาเป็นครูสอนหนังสือที่คณะศึกษาศาสตร์และโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ใช่เพียงเร้าอารมณ์ให้เข้าถึงธรรมชาติ ใน ลำนำภูกระดึง เราจะเห็นท่านอังคารพยายามสอดแทรกการวิพากษ์วิจารณ์สังคมไว้เป็นระยะ เฉกเช่นตอนหนึ่งน่าสะดุดตาคือ การวิจารณ์ว่าเมืองกรุงเต็มไปด้วยแหล่งปรนเปรอกามารมณ์อย่างสถานอาบอบนวด

๏ ค่ำเช้าเข้าหอสีซอลึงค์ อบนวดซึ้งแสนห้าร้อยสวรรค์

         ราตรีอึงมี่กลางแสงจันทร์  เลี้ยงรับขวัญใหม่ไชโยยาว ฯ

ผู้คุ้นกับวรรณคดีไทยคงจะร้อง อ๋อ! ตรงนี้ดัดแปลงมาจากตอนหนึ่งใน กาพย์พระไชยสุริยา ของสุนทรภู่ ที่ว่า “ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอล่อกามา…”

หรืออีกตอนหนึ่งที่ยกเอาตัวละครอย่างชูชกใน พระเวสสันดรชาดก ที่ตะกละตะกลาม กินอาหารไม่รู้จักอิ่มหนำมาเทียบเคียงกับพฤติกรรมของนักการเมืองที่โกงกินประเทศไม่รู้จักพอ

ข้อที่น่าสนใจยิ่งยวดก็ดังผมเกริ่นไปแล้ว มีตอนหนึ่งใน ลำนำภูกระดึง ที่ท่านอังคารวิพากษ์วิจารณ์คณะราษฎรด้วยถ้อยคำรุนแรงแข็งกร้าว บทกวีนั้นชื่อ ‘มนุษยธรรม’ แทรกอยู่ช่วงที่กวีพรรณนาการเดินทางขึ้นภูระหว่างปางกกข่ากับซำตาแฮก เนื้อความว่า

 พระมหากษัตริย์แห่งสยาม       ในนามอานันทมหิดลนี้

เคยไหมฆ่าใครสักชีวี                   มีแต่เมตตาการุณรักฯ

๏ ผิดไกลในสมบูรณาญาสิทธิ์      จะเปลี่ยนทิศชาติไทยอันสูงศักดิ์

ควรหรือฆ่าท่านอเนจอนาถนัก     รักแต่ชีวิตมิตรญาติตัวเองฯ

๏ บุตรสยามอื่นหมื่นแสนดูแคลนค่า  ไม่ซ้อมก็ฆ่าฆ่าเสียตายเขลง

บ้างเผาทั้งเป็นเป็นอลเวง    หวาดเกรงอํามหิตอิทธิฤทธิ์ไทยฯ

๏ เพียงท่านปรารภรักประชาราษฎร์ เปิดศักราชชาติไทยสมัยใหม่

จะบริการแผ่นดินด้วยน้ำใจ          รับใช้ราษฎรไทยทั่วหน้ากันฯ

๏ ไม่ได้ทําคอร์รัปชั่นสักธุลี           ควรหรือล้างชีวีแหลกสลายขวัญ

คณะราษฎร์โกงชาติอเนกอนันต์   มิฆ่ากันกลับช่วยร่ำรวยซวย ฯ

๏ ยี่สิบสี่มิถุนาฯฟ้าผ่าชาติ            คณะราษฎร์บ้าอํานาจฤาสวย

ทําเพื่อโคตรตนเองร่ำรวย ชาติไทยจะม้วยด้วยเผด็จการ ฯ

๏ หลงแต่กินกากขี้คาวคิดฝรั่ง       ให้ไทยคิดมั่งเถอะดิรัจฉาน

งกโลภแต่ปริญญาน่ารําคาญ       แท้สามานย์กากขี้ยุโรปา ฯ

๏ ปลุกประชาธิปไตยจอมปลอม     อ้อมค้อมเพื่อตัวเองเบ่งกล้า

คณะราษฎร์ทําอะไรบ้างนา          ที่ฟ้าไทยดีขึ้นไม่เคยมีฯ

๏ มีแต่ขุนลูกสมุนร้ายไว้ฆ่า          ราษฎรทั่วหน้าดุจซากผี

ยโสโอหังฆ่าตาชาติตาปี              ทั้งนี้เพราะหัวหน้าสามานย์ระยำฯ

๏ ทําไมใครใครไม่ซ้อมชูชก           ที่งกฉ้อราษฎร์บังหลวงบ้าระห่ำ

กลับทําร้ายชาติไทยตาดําดำ       อํามหิตวิปริตอยู่นิจกาลฯ

๏ นี่หรือระบอบประชาธิปไตย       ไฉนสยดสยองพองขนสะท้าน

เหตุเพราะโรคคณะราษฎร์เริงสราญ ล้างผลาญบ้านเมืองเลื่องลือไกลฯ

๏ ทำลายเกียรติยศไทยทุกสิ่ง        เพื่อพวกปลิงยุงริ้นเป็นใหญ่

อ้างแต่รักชาติฉาบหน้าไป            ไม่รักใครกว่ารักพรรคพวกตนฯ

๏ ใครลักลอบฆ่าพระมหากษัตริย์  รับเป็นสัตย์เถอะสัตว์หน้าขน

หรือไร้ขาดแล้งความเป็นคน         อับจนมนุษยธรรมระยำจริง ๚ะ๛

ชัดเจนว่า ในทรรศนะของท่านอังคารช่วงต้นทศวรรษ 2510 นั้น มองเห็นคณะราษฎรเป็นผู้ร้ายและน่าชิงชังขนาดไหน

ลำนำภูกระดึง จัดพิมพ์ครั้งที่สอง ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2516 ในฉบับนี้ ดูเหมือนท่านอังคารจะเพิ่มเติมเนื้อหาเข้าไปตอนหนึ่งเพื่อระลึกถึงกลุ่มวรรณศิลป์สัญจรนำโดยกวีหนุ่มนาม สุรศักดิ์ ศรีประพันธ์  ที่ไปเยือนภูกระดึงแล้วประสบอุบัติเหตุถูกหินถล่มทับจนถึงแก่ชีวิตเมื่อปลายเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2513

ผมคงจะเผลอลืมเลือนว่า บทกวี ‘มนุษยธรรม’ ยังเคยถูกนำไปลงพิมพ์เผยแพร่ในอนุสารวรรณศิลป์ ที่จัดทำโดยสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ฉบับประจำเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2517 หากมิได้อ่านเจอสเตตัสเฟสบุ๊กของเยาวรุ่นนาม กฤตภาส รัตนเวสส์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พุทธศักราช 2565 อย่างไรก็ดี ผมสังเกตว่ามีการปรับแก้เนื้อความของบทกวีบางจุดบางวรรคจนผิดแผกไปจากที่ปรากฏใน ลำนำภูกระดึง ฉบับพิมพ์ครั้งแรกสุด ดังนี้

วรรคที่ว่า “บ้างเผาทั้งเป็นเป็นอลเวง หวาดเกรงอํามหิตอิทธิฤทธิ์ไทยฯ” แก้เป็น “บ้างเผาทั้งเป็นเป็นอลเวง หวาดเกรงชั่วชัดรัฐบาลไทย”

วรรคที่ว่า “จะบริการแผ่นดินด้วยน้ำใจ รับใช้ราษฎรไทยทั่วหน้ากันฯ” แก้เป็น “จะสมัครผู้แทนด้วยน้ำใจ รับใช้ราษฎรไทยทั่วหน้ากัน”

วรรคที่ว่า “๏ ยี่สิบสี่มิถุนาฯ ฟ้าผ่าชาติ คณะราษฎร์บ้าอํานาจฤาสวย” แก้เป็น “ยี่สิบสี่มิถุนาฯ ห่าลงชาติ คณะราษฎร์บ้าอํานาจฤาสวย”

วรรคที่ว่า “งกโลภแต่ปริญญาน่ารําคาญ  แท้สามานย์กากขี้ยุโรปาฯ” แก้เป็น “งกโลภแต่ดอกเตอร์เซ่อรำคาญ แท้สามานย์กากขี้ยุโรปา”

วรรคที่ว่า “๏ มีแต่ขุนลูกสมุนร้ายไว้ฆ่า ราษฎรทั่วหน้าดุจซากผี ยโสโอหังฆ่าตาชาติตาปี ทั้งนี้เพราะหัวหน้าสามานย์ระยำฯ” แก้เป็น “มีแต่ขุนตำรวจร้ายไว้ฆ่า ราษฎรทั่วหน้าดุจกากผี  ตำรวจฆ่าราษฎร์ตาชาติตาปี ทั้งนี้เพราะรัฐบาลสามานย์ระยำฯ”

วรรคที่ว่า “๏ ทําไมใครใครไม่ซ้อมชูชก ที่งกฉ้อราษฎร์บังหลวงบ้าระห่ำ” แก้เป็น “ทําไมตำรวจไม่ซ้อมนายกฯ ที่งกฉ้อราษฎร์บังหลวงบ้าระห่ำ”

วรรคที่ว่า “เหตุเพราะโรคคณะราษฎร์เริงสราญ ล้างผลาญบ้านเมืองเลื่องลือไกลฯ” แก้เป็น “เหตุเพราะห่าคณะราษฎร์เริงสราญ  แตกบ้านแตกเมืองเฟื่องกรุงไทย”

แม้จะปรับแก้ถ้อยคำ แต่สิ่งที่สะท้อนออกมาจากบทกวียังโจมตีคณะราษฎรอยู่ดี ทั้งๆ ที่เป็นช่วงภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2516 แล้ว นั่นแสดงว่า ทรรศนะของท่านอังคารยังคงเดิม หาได้เปลี่ยนแปลงไปหลังจากขบวนการนักศึกษาออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

ก็ไม่น่าแปลกที่เกือบตลอดทศวรรษ 2510 ท่านอังคารจะมองคณะราษฎรเป็นพวกชั่วช้าสามานย์สุดขีด และพอตอกย้ำด้วยบทที่ว่า “ใครลักลอบฆ่าพระมหากษัตริย์ รับเป็นสัตย์เถอะสัตว์หน้าขน” อันหมายถึงเขาเชื่อมั่นว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 สวรรคตด้วยการถูกลอบปลงพระชนม์ บุคคลผู้เป็นเป้าหมายหลักของการโจมตีและมองเห็นเป็นปีศาจย่อมมิพ้น นายปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกใส่ความให้อยู่เบื้องหลังคดีสวรรคต นั่นเพราะท่านอังคารเองมีเพื่อนที่คลุกคลีด้วยกันและช่วยจัดพิมพ์หนังสือกวีนิพนธ์ให้อย่าง ส.ศิวรักษ์ ผู้แสดงท่าทีวิพากษ์วิจารณ์นายปรีดีเรื่อยมานับแต่ปลายทศวรรษ 2500 เริ่มต้นจากการวิจารณ์หนังสือ The Devil’s Discus เพื่อมุ่งกระทบนายปรีดีเมื่อปีพุทธศักราช 2507 จนกระทั่งนายปรีดีเขียนงานชื่อ บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย ออกมาเมื่อกลางปีพุทธศักราช 2515 เพื่อตอบโต้และด่า ส.ศิวรักษ์ ว่าเป็นพวก ‘สวะสังคม’ (social scum) เป็นพวกซากเดนศักดินาหรือเศษโสมมซึ่งอวดดีและเห็นแก่ตัว ตอนนั้น ส.ศิวรักษ์อ่านแล้วก็บันดาลโทสะ จึงเขียนโต้กลับอย่างรุนแรงเช่นกัน

ความคิดทางการเมืองของ ส.ศิวรักษ์ น่าจะมีจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 ครั้นถึงช่วงต้นทศวรรษ 2520 เขาทบทวนศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์เสียใหม่จนมองเห็นว่า แท้จริงนายปรีดีและคณะราษฎร์เป็นผู้สร้างคุณูปการต่อบ้านเมือง นำไปสู่การที่ ส.ศิวรักษ์ ขอขมาโทษต่อนายปรีดีในปีพุทธศักราช 2523

การเปลี่ยนทรรศนะของ ส.ศิวรักษ์ น่าจะส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนทรรศนะเสียใหม่ของอังคาร กัลยาณพงศ์ด้วย ซึ่งเห็นได้จากท่าทีที่แสดงออกผ่านบทกวี โดยเฉพาะเมื่อนายปรีดีถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 2 พฤษภาคม พุทธศักราช 2526 ท่านอังคารก็เขียนบทกวีชื่อ ‘แด่ท่านรัฐบุรุษอาวุโส’ เนื้อความว่า

๏ อโหโอ้อนาถมฤตยู  จู่ปรหล้ามาล่าแล้ว 

ซึ่งปูชนียบุคคลแก้ว  แววรุ้งรัตนาค่าชาติไทย ฯ

๏ พณฯ ท่านปรีดี พนมยงค์  องค์กายทิพย์สถิตสวรรค์ชั้นไหน 

ณ ชั้นนั้นเทวษหาโศกาลัย ม้วยสมัยก็ไม่ม้วยอัญชลี ฯ

๏ น้อมมิ่งขวัญกตัญญูกู้กล้า  นิมิตปัญญาเลิศประเสริฐศรี

บูชาคุณค่าอมตะความดี  คู่ปฐพีน้ำฟ้าบ่าธรรมะไป ฯ

๏ สยามฟื้นคืนสิทธิ์อิสระเสรี  มีอธิปไตยจริงอันยิ่งใหญ่

เพราะท่านแก้สนธิสัญญาไทย  แจ่มใสวิเศษสุขทุกวิญญาณ ฯ

๏ ปราชญ์เปรื่องเลื่องลือเกียรติยศ  อุโฆษหมดทั่วหล้ามหาสถาน 

เอกราชชาติย่อยยับอัประมาณ ท่านกู้สถานการณ์ไว้จับใจ ฯ

๏ รัฐบุรุษวิสุทธิ์ศรีชีวิต  แววสถิตกลางดวงใจแห่งสมัย

เสมอบุหงาหอมอ้อมทุกขวัญไทย  เร่งแรงใจถึงชัยอุดมการณ์ ฯ

๏ แผ่นดินสิ้นคนดีศรีอยุธยา  ยากจักหาตราบฟ้าอวสาน

วิปโยคยุคมืดทมิฬมาร  นานสุดนานทรมานชาติอนาถนัก ฯ

๏ สิ้นท่านสิ้นหวังหมดขลังแล้ว ลับบุรุษแก้วที่กู้เกียรติศักดิ์ 

เผด็จการจะผลาญชาติที่รัก จมปลักงั่งบ้าแต่อาดูร ฯ

๏ ราวเอกรุ้งดาราระย้าระยับ  มาดิ่งดับผลึกรุ้งวาวสูญ

สะเทือนใจไหวหวั่นไว้เทอดทูน ค่ามนุษย์แท้ทนพิษอนิจฺจํ ฯ

๏ ขออำนาจพระศรีรัตนไตร  โอมอวยสิทธิชัยวิเศษขลัง

ให้ท่านผ่านมิติทิพย์จีรัง  ยั่งยืนอยู่คู่ฟ้าดินเทอญ ๚ะ๛

อีกทั้งในปีพุทธศักราช 2529 ท่านอังคารได้ประพันธ์บทกวี ‘แด่อาจารย์ปรีดี-สุภา’ เพื่ออ่านสดุดีในการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานเนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปีแห่งมรณกรรมของ นายปรีดี พนมยงค์ และในโอกาสครบรอบ 50 วัน แห่งมรณกรรมของ นายสุภา ศิริมานนท์ ณ ศาลาธรรมุเทศ วัดทองนพคุณ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมปีนั้น

โอมกราบพระรัตนไตร  น้อมใส่เหนือเกล้าไว้  ได้อาราธนาทิพย์

สิบทิศทุกบุญฤทธิ์       อุทิศแด่ท่านปรีดี       พนมยงค์ศรีสวัสดิ์หล้า

สถิตฝั่งฟ้าเกียรติยศ     แต่อดสูอยู่ทั้งชาติ      ด้วยอำนาจอันธพาล

เผด็จการทรราชร้าย     ให้ไทยดุจทาสสถุล     ลืมบุญคุณวีรบุรุษ

พุทโธท่านปรีดี           ศรีพนมยงค์ยิ่งแก้ว      มาลับแล้วเหลืออัฐิธาตุ

ทั้งชาติจะใช้น้ำตา        ต่างธาราบุหงาหอม     อ้อมวิญญาณเกียรติยศ

อนาคตอารยสมัย         เมื่อไทยมิใช่ทาส         เอกราชราษฎร์เรืองรุ่ง

มุ่งสันติธรรมนำโลก      ลบโศกสยามหมดสิ้น     ขวัญแผ่นดินสถิตหล้า

รู้ค่าทิพย์เกียรติยศ       หมดอมนุษย์ครองเมือง   จุ่งรุ่งเรืองแจ่มจ้า

วีรบุรุษเลอหล้า            คู่ฟ้าสยามขลัง             สิทธิเทอญฯ

พฤษภาฯ ที่หกไซร้   วิเศษเหตุ  ดังฤา

อัฐิธาตุจากฝรั่งเศส     สู่ฟ้า

พนมมือทั่วประเทศ     เทอญท่าน

เพื่อเกียรติยศสมัยหน้า   รุ่งหล้าเลอขลังฯ

โอ้อยุธยาไม่สิ้น  คนดี

         กู้แผ่นดินสยามศรี        สวัสดิ์ไว้

         ปรีดีดิ่งชีวี                 ช่วยชาติ

         ไทยผ่านทาสทุกข์ไหม้   ท่านม้วยด้วยสยามฯ

                  เทิดนามกลางปิ่นเกล้า   อัญชลี

         เหนือค่าคุณความดี       สั่งฟ้า

         กตัญญูกตเวที              ทั้งชาติ

         เมื่อราษฎร์อารยะกล้า     ทั่วหล้าเลิศสมัยฯ

                  สยามใหม่ไหวตื่นพื้น   วิญญาณ เร็วรา

         เกียรติยศชาติมหาศาล       ลึกซึ้ง

         สยามจงอยู่คู่กาล             กับโลก

         โศกแผ่นดินอัดอึ้ง             เร่งร้ายสลายสูญ ฯ

                  โอ้อาดูรแต่ด้วย   คนดี

         มาล่าแล้งปฐพี              เปล่าแล้ว

         อุดมคติ ค่าวิเศษศรี        สมัยใหม่

         เร็วมุ่งใจเมืองแก้ว          พร่างแพร้วมิติขลัง ฯ

                  หวังรวมญาติพี่น้อง    มิตรสหาย

         มาร่วมวิญญาณหมาย       ไม่ม้วย

         ช่วยชุบชาติก่อนสาย      ตายจาก กันนา

         นิมิตใหม่มิติใหม่ด้วย      สิ่งแก้ววิเศษขลัง ฯ

                  สุภา สุภาพบุรุษรุ้ง  รัตนา หนึ่งนา

         ศิริ รุ่งธรรมจริยา            ค่าไร้

         มานนท์ ลิ่วลา               จากโลก

         เหลือแต่เกียรติยศไว้       นิ่งไหว้ระลึกถึง ฯ

                  ลึกซึ้งคิดใหม่พริ้ง   สิ่งวิสุทธิ์

         คือเพื่อสันติสุขมนุษย์         ทั่วฟ้า

         ยิ่งเรียนแก่นแท้วิมุติ   วิโมกข์มิ่ง  ยิ่งแล

         ทิ้งซึ่งอัตตากล้า          เพื่อหล้าวิเศษสมัย ฯ

                  โอม ไชยไปสุคติแก้ว   มไหศวรรย์

         สถิตทิพยสถานอัน          เลิศแล้ว

         รัตนไตรปกมิ่งขวัญ          ชุบชื่น  เสมอเทอญ

         จุติใหม่จุ่งเพริศแพร้ว        พร่างฟ้าวิเศษขลัง ฯ

บทกวีที่ท่านอังคารเขียนถึงนายปรีดี มันสมองของคณะราษฎรในช่วงทศวรรษ 2520 อ่านอย่างตริตรองดู ก็จะพบว่าเป็นคนละอารมณ์กับที่เคยเขียนไว้ในทศวรรษ 2510 อย่างสิ้นเชิง

ลำนำภูกระดึง ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่สามารถนำมาขบคิดวิเคราะห์ถึงความเปลี่ยนแปลงทรรศนะทางการเมืองของอังคาร กัลยาณพงศ์ ได้อย่างแจ่มชัด ชวนให้นึกฉงนเหมือนกันว่าไฉนเล่าจึงไม่ค่อยมีใครหยิบยกเอาประเด็นนี้มาขยายความบ้าง สำหรับผม การนำเสนอเรื่องราวดังที่สาธยายมาหลายบรรทัดแล้วนั้น ย่อมยังให้เกิดความเริงโลดในหัวใจพองโตมิใช่เบา


เอกสารอ้างอิง

  1. กัณหา แสงรายา. “พบแล้ว…บทร้อยแก้ว ภูกระดึง ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ที่สูญหาย” เพื่อนนักอ่าน. ฉบับที่ 10 (มกราคม 2537). หน้า 56-62
  2. ชาลี อมาตยกุล. อินไซด์โรงแรมระดับอินเตอร์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2534
  3. ดุสิตสมิต. เล่ม 1 ฉบับที่ 7 (25 มกราคม 2461)
  4. นรนิติ เศรษฐบุตร. 10 ปี ซีไรท์ คำให้การเรื่องราวรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ปี 2522-2531.พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2531
  5. เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์. “ภูกระดึง.” วิทยาสารปริทัศน์. ฉบับที่ 13  ป 3 ปีที่ 23 (5 เมษายน 2513)
  6. โลกหนังสือ. ปีที่ 4 ฉบับที่ 8 (พฤษภาคม 2524)
  7. สยามรัฐ. (10 ตุลาคม 2529)
  8. สุนทรภู่. กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา. นายสนิท พลอยน้อย พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ นางทรัพย์ พลอยน้อย ณ เมรุวัดเมืองเก่า ตำบลปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2495. พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2495
  9. ส. ศิวรักษ์. เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2540
  10. ส. ศิวรักษ์. “ลำนำภูกระดึง.สตรีสาร (23 กุมภาพันธ์ 2512)
  11. อังคาร กัลยาณพงศ์. กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์. พระนคร: ศึกษิตสยาม, 2507
  12. อังคาร กัลยาณพงศ์. แด่ท่านรัฐบุรุษอาวุโส.” ใน มิตรกำสรวล เนื่องในมรณกรรมของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”, 2526. หน้า 96
  13. อังคาร กัลยาณพงศ์. แด่อาจารย์ปรีดี-สุภา.” ใน พจนาลัย สุภา ศิริมานนท์ อนุสรณ์ในงานปลงศพสุภา ศิริมานนท์ วันที่ 25 มิถุนายน 2529 ณ เมรุวัดโสมนัสวรวิหาร. กรุงเทพฯ: อรุณการพิมพ์, 2529
  14. อังคาร กัลยาณพงศ์. บางกอกแก้วกำศรวล หรือ นิราศนครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ: ศึกษิตสยาม, 2521
  15. อังคาร กัลยาณพงศ์. ปณิธานกวี. กรุงเทพฯ: กะรัต, 2529
  16. อังคาร กัลยาณพงศ์. มัฆวานรังสรรค์. กรุงเทพฯ : บ้านพระอาทิตย์, 2551
  17. อังคาร กัลยาณพงศ์. ลำนำภูกระดึง. พระนคร: ศึกษิตสยาม, 2512
  18.  อังคาร กัลยาณพงศ์. ลำนำภูกระดึง. พิมพ์ครั้งที่ 2. พระนคร: ศึกษิตสยาม, 2516
  19. อังคาร กัลยาณพงศ์. หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: ประพันธ์สาส์น, 2540

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save