fbpx
“ระหว่างทางกลับบ้าน” กับหนทางอันแห้งแล้งของกวีนิพนธ์รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ของไทย

“ระหว่างทางกลับบ้าน” กับหนทางอันแห้งแล้งของกวีนิพนธ์รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ของไทย

อาทิตย์ ศรีจันทร์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ

 

ในที่สุด การประกาศผลรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือซีไรต์ประจำปี 2563 ก็ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในปีนี้เป็นการประกวดวรรณกรรมประเภท ‘กวีนิพนธ์’ และเล่มที่ได้รับรางวัล คือ “ระหว่างทางกลับบ้าน” ของ อังคาร จันทาทิพย์ ซึ่งเป็นการคว้ารางวัลซีไรต์ครั้งที่ 2 ของอังคารหลังจากที่เคยได้รางวัลซีไรต์จากรวมบทกวีนิพนธ์เรื่อง “หัวใจห้องที่ห้า” ดังนั้น อังคารจึงเป็น ‘กวี’ คนแรกที่ได้ ‘ดับเบิ้ลซีไรต์’ ต่อจากนักเขียนที่ทำได้ไปแล้วอย่าง “ชาติ กอบจิตติ”, “วินทร์ เลียววารินทร์” และ “วีรพร นิติประภา”

ก่อนอื่นใด ผมคิดว่าข้อที่น่าพิจารณาในงานของอังคาร จันทาทิพย์ คือตัวผู้ประพันธ์เอง อังคารเป็นช่างฝีมือที่ดีสำหรับการเขียนกวีนิพนธ์ เขารู้จักเครื่องมือของเขาในการสื่อความหมายเป็นอย่างดี นั่นคือ ‘กลอน’ ในงานของเขา ไม่ว่าจะเป็น “หัวใจห้องที่ห้า” หรือ “ระหว่างทางกลับบ้าน” ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นความสามารถในทางช่างฝีมือของเขาได้อย่างชัดเจน อังคารรู้ว่าฉันทลักษณ์ประเภทกลอนของกวีนิพนธ์ไทยมีความสามารถที่หลากหลาย และเขาก็สามารถดึงเอาความสามารถนั้น รวมถึงคุณสมบัติของกลอนออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ อังคารยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการดัดแปลงและแปรรูปการนำเสนอของกลอนได้อย่างน่าสนใจ จุดเด่นของกลอนนอกจากเรื่องสัมผัสในแล้ว จังหวะการอ่านก็ถือเป็นหัวใจสำคัญอีกประการหนึ่ง ตั้งแต่เด็กจนโต คนไทยอยู่กับกลอนที่มีมาตรฐานการอ่านชัดเจน นั่นคือ จังหวะคำแบบกลอนแปดสุนทรภู่ อย่าง 3/2/3 หรือ 3/3/3 เรามักจะรู้สึกว่าถ้าคำในแต่ละวรรคมีสัมผัสในและลงจังหวะเช่นนี้คือกลอนที่ดี กลอนที่ไพเราะ หรือเป็นกลอนที่คุ้นเคย

สิ่งที่อังคารทำ คือการนำเอาจังหวะทั้งหลายบรรดามีในการอ่านกลอนมาใช้ โดยการเล่นกับจังหวะของอังคารไม่ใช่การนำจังหวะมาใช้ซ้ำๆ อย่างสม่ำเสมอ แต่เป็นการใช้จังหวะที่ติดขัด เพื่อสร้างจังหวะในการสื่อสารที่แปลกและแตกต่างไปจากกลอนที่คนทั่วไปเคยรับรู้หรือเข้าใจมาก่อนหน้านี้

ดังที่เราจะเห็นจังหวะฟังดูแปลกหูและดูแปลกตาในการอ่าน จากตัวอย่างบท “ไม่ร้างก็แต่ถนนมุ่งกลับบ้าน”

 

ไม่ร้างก็แต่ถนนมุ่งกลับบ้าน

เทศกาลของคุณกรุ่นความเศร้า

ทางบางสายคล้ายร้างเพียงบางเงา

ขาดเพียงเขา และอาจขาดเพียงคุณ

สารทเดือนสิบไม่มา สงกรานต์เดือนห้าไม่เห็น

ยะเยียบเย็น หัวอกเอ๋ย เคยอบอุ่น

หวนคิดถึงสองข้างทางเคยคุ้น

อบอวลกลิ่นแผ่นดินกรุ่น อุ่นนัยน์ตา

(หน้า 74)

 

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การสร้างจังหวะแปลกไปจากกลอนแปดทั่วๆ ไปนั้น ทำให้เกิดการรับรู้ภาพที่บทกวีพยายามนำเสนอแปลกหูและแปลกตาตามไปด้วย ดังนั้นหากพิจารณาในเชิงช่างฝีมือทางวรรณศิลป์แล้ว อังคาร จันทาทิพย์ทำออกมาได้น่าสนใจ ซึ่งวิธีการอันน่าสนใจประการหนึ่ง คือ การเขียนกลอนที่อ่านดูแล้วเหมือนจะไม่เป็นกลอน แต่เมื่อลองหาจังหวะที่ถูกต้องเจอในบทนั้นๆ ก็จะพบว่ามันคือกลอนที่มีการตัดแต่งจังหวะให้แปลกออกไป

ผมใช้คำว่า “เมื่อลองหาจังหวะที่ถูกต้อง” เพราะบทกวีของอังคารนั้นมีจังหวะที่บังคับคนอ่านให้อ่านตามอยู่ โดยคนอ่านไม่รู้ตัวว่ากำลังอ่านตามจังหวะที่ถูกกำหนดเอาไว้ ถ้าอ่านผิดจังหวะไปเสียแล้วความก็ไม่ได้ เสียงก็ไม่ได้ รสคำก็ไม่ได้ มันจะกลายเป็นกลอนประหลาดๆ ซึ่งไม่ตรงตามตำราการแต่งคำประพันธ์ในวิชาภาษาไทย

แต่ความประหลาดนี้เองที่ถือว่าเป็นจุดเด่นของอังคาร และยังแสดงให้เห็นว่ามันคือกวีนิพนธ์ภายใต้กรอบคิดของ ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’ แบบไทยอีกด้วย…

ถ้าหากเรามุ่งพิจารณาประเด็นของวรรณกรรมสร้างสรรค์ของไทยไปที่กลวิธีการสร้างสรรค์ เราจะพบว่านี่คือการละเล่นกับแบบแผนฉันทลักษณ์อย่างหนึ่ง หมายความว่ากวีนิพนธ์ในงานเชิงสร้างสรรค์นั้นเปิดโอกาสให้กวีได้แสดงศักยภาพในการคิดว่า จะทำให้ผลงานแปลกหรือแตกต่างภายใต้แบบแผนที่มีอยู่ได้อย่างไรบ้าง จะพัฒนากรอบคิดที่มี (และบังคับอยู่) ให้ดูหวือหวาหรือดูมีลูกเล่นอย่างไร

 

 พูดให้สุดกว่านี้อีกก็คือ

“เราจะก๋ากั่นกับฉันทลักษณ์ของกวีนิพนธ์ไทยได้แค่ไหนกันเชียว”

 

เราสามารถมีลูกเล่น ซุกซน ทดลองอะไรก็ได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบคิดแบบฉันทลักษณ์ไทย อารมณ์ของกวีนิพนธ์สร้างสรรค์แบบไทยๆ ก็คล้ายกับเด็กๆ ที่วิ่งเล่นอยู่ในสนามเด็กเล่นซึ่งมีกฎหลวมๆ อยู่ และต้องไม่ออกจากสนามเด็กเล่นนั้น

กลับมาที่กวีนิพนธ์ของอังคาร จันทาทิพย์ ผมคิดว่างานของเขาต้องตามสูตรตามแบบฝึกฝนของวรรณกรรมสร้างสรรค์แบบไทยๆ คือเป็นช่างฝีมือที่ดี มีฝีมือทางด้านการแต่งกลอนหรือเขียนกวีนิพนธ์ที่ยอดเยี่ยมมากๆ มีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนารูปแบบหรือฉันทลักษณ์ของกวีนิพนธ์ การสะท้อนภาพชีวิตและสังคมก็ทำได้ ‘ชัดเจน’ ใช้ “บ้าน” เป็นสื่อในการสร้างความหมายของบ้านหลายๆ แบบ ไม่ใช่แค่บ้านที่มีลักษณะเป็นโครงสร้างทางกายภาพ เป็นหัวใจก็ได้ เป็นความคิดคำนึงก็ดี งานของเขา ‘เห็น’ อะไรได้ชัดเจนดีในความรู้สึกของผม

อย่างไรก็ตาม ผมตระหนักว่า ภาษาของกวีนิพนธ์น่าจะแตกต่างจากภาษาของเรื่องสั้นและนวนิยายบ้าง ถ้าใช้ภาษาคล้ายๆ กันหรือแบบเดียวกัน การอ่านเรื่องสั้นหรือนวนิยายน่าจะให้ความสำเริงสำราญอารมณ์ได้มากกว่า เพราะมีเนื้อเรื่องให้ติดตามมากกว่ากวีนิพนธ์ (นอกเสียจากว่าจะเขียนนิยายด้วยกวีนิพนธ์) ภาษาของกวีนิพนธ์ในความคาดหวังของผมเองน่าจะเป็นภาษาที่สร้างประสบการณ์ทางอารมณ์ความรู้สึก นั่นคือ ในทุกๆ ถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในตัวบทกวีนิพนธ์ควรจะเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่านมากกว่าจะเป็นการให้ภาพที่ชัดเจน

ผมคิดว่า เมื่อต้องอ่านกวีนิพนธ์ ผมอยาก ‘รู้สึก’ มากกว่า ‘เห็น’ (ทั้งนี้ การเห็นกับการรู้สึกนั้นก็อาจเป็นเรื่องถกเถียงกันได้ต่อไปไม่สิ้นสุด ในบางครั้ง มันเป็นเรื่องอัตวิสัยมากๆ เพราะแต่ละคน ‘เห็น’ กับ ‘รู้สึก’ ไม่เหมือนกัน)

ในบทกวี “ถูกบังคับให้สูญหายจากบ้านที่เขาพยายามปกป้อง” ซึ่งอังคารอุทิศให้แก่ “บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ ที่ถูกบังคับให้สูญหาย” ควรจะเป็นบทกวีที่เร้าอารมณ์ได้มากกว่าที่มันเป็นอยู่ เพราะตัวบทกวีกำลังเล่าถึงการถูกบังคับให้สูญหายของบิลลี่ พอละจี นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่หายตัวไปหรือเรียกอีกอย่างว่า ‘ถูกอุ้ม’ การถูกอุ้มของบิลลี่นั้นย่อมยังความเศร้าโศกอย่างยิ่งแก่ครอบครัวและญาติสนิทมิตรสหายของเขา แต่สิ่งที่ผมได้จากการอ่านบทกวีชิ้นนี้ของอังคาร คือภาพที่บรรยายว่าคนข้างหลังบิลลี่เศร้าโศกเสียใจอย่างไร และพูดถึงสิ่งที่บิลลี่ทำ คือการพิทักษ์ปกป้องแผ่นดินที่อยู่ที่ทำกินของชุมชน ความสัมพันธ์ระหว่างคน ชุมชนกับพื้นที่ และรัฐ

การเห็นภาพเหล่านั้น สำหรับผมแล้ว มันไม่อาจเร้าอารมณ์ความรู้สึกของการสูญเสียไปได้เลย ทั้งในแง่ของสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของครอบครัวอย่างบิลลี่  สูญเสียที่อยู่ที่ทำกินของชุมชนเพราะถูกรัฐไล่รื้อและกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุก

ความชัดเจนในการนำเสนอภาพของอังคารไม่เหลือพื้นที่สำหรับการจินตนาการอารมณ์ที่ตัวบทกวีต้องการจะนำเสนอได้เลย ผมคิดว่าอังคารรู้ดีและมีความสามารถมากพอที่จะใช้กลวิธีทางวรรณกรรมมาผลักดันอารมณ์ความรู้สึกในบทกวีได้ดีกว่านี้

ถ้าผลักประเด็นให้ไปไกลกว่านั้น ผมคิดว่าอังคารไม่ใช้ประโยชน์จากความคลุมเครือในการสร้างสรรค์บทกวี ความคลุมเครือนั้นมีประโยชน์ถ้าหากเข้าใจและสามารถนำเอามาใช้สื่ออารมณ์ความรู้สึก โดยเฉพาะอารมณ์ความรู้สึกในแง่ลบหรือความสูญเสีย มันอาจช่วยให้เกิดความรู้สึกสับสน ไม่มั่นคง และยังอาจเปิดพื้นที่ให้จินตนาการถึงความสูญเสียได้ในอีกมิติหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นปัญหากับผมมากที่สุดเมื่ออ่าน “ระหว่างทางกลับบ้าน” คือแทนที่ผมจะรู้สึกกับสิ่งที่เขานำเสนอ ผมกลับเห็นแต่ภาพ ได้ยินแต่เสียง ทั้งยังเป็นภาพและเสียงแห้งๆ ขาดมิติความลึกในสิ่งที่ตัวบทกวีพยายามจะเสนอ

ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะการวางตัวของอังคารกับงานของเขา และสิ่งที่เขาพยายามจะเสนอ ข้อสังเกตของผมเมื่อตอนอ่านงานของอังคารก็คือ เขาไม่นำตัวเองเข้าไปอยู่ในปัญหาที่เขาอยากจะนำเสนอ ในแง่หนึ่งก็อาจจะเข้าใจได้ว่าเป็นเพราะไม่อยากทำให้ตัวบทกวีมีอคติมากจนเกินไป การถอยตัวเองออกมาอยู่วงนอกของปัญหานั้น ดูเหมือนว่าจะช่วยให้มองเห็นปัญหาในมุมที่กว้างขึ้น ชัดเจนขึ้นและปราศจากอคติ

หรือกล่าวให้ชัดเจนกว่านั้น ผมคิดว่าอังคารกำลังทำให้สิ่งที่เขากำลังพูดอยู่ผ่านตัวบทกวีเป็นวัตถุที่สามารถมองเห็นได้รอบด้าน เมื่อพูดถึงปัญหาสังคม มันก็ควรมองเห็นปัญหาเหมือนวัตถุที่อยู่ในมือเรา และสามารถหมุนไปมาเพื่อให้เราเข้าใจปัญหานั้น ‘ได้ดีขึ้น’

สำหรับผมแล้ว เวลาที่ต้องอ่านงานเขียนใดๆ ก็ตามที่มีทีท่าเช่นนี้ กล่าวคือ ไม่ยอมเปลืองตัวเข้าไปอยู่ในปัญหาเพียงเพราะไม่อยากให้เกิดอคติในการนำเสนอ

 

ผมมักจะมีคำถามอยู่ตลอดเวลาว่า มันจำเป็นขนาดไหนกันเชียวที่เราต้องทำตัวเป็นผู้อยู่เหนือปัญหาที่เราตั้งใจจะนำเสนอ

 

เช่น เวลาพูดถึงปัญหาการเมือง การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคม ไอ้การพูดว่า การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายนั้นไม่ดี มันสร้างอคติ สร้างกำแพงในใจ แบ่งเขาแบ่งเรา ทำให้เราโกรธกันโดยไม่จำเป็น ผมคิดว่า การพูดแบบนี้ไม่ต่างอะไรจากการเขียนว่า “พระอาทิตย์ย่อมขึ้นทางทิศตะวันออกในตอนเช้าและตกในทิศตะวันตกในเวลาเย็น, เมื่อลมพัดเราจะรู้สึกเย็น, ในฤดูร้อนเราจะร้อน แต่ถ้าถึงฤดูฝนควรจะกางร่มเพราะมันอาจจะเปียก”

ในบท “บ้านที่สร้างไม่เคยเสร็จ” (หน้า 86-88) บ้านที่สร้างไม่เสร็จถูกเอามาใช้เป็นอุปมาของสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง อังคารเชื่อมโยงการสร้างบ้านกับการสร้างสังคมเข้าด้วยกัน และสิ่งที่อังคารพยายามทำก็คือ โยนคำถามไปว่า บ้านหรือสังคมไม่สมบูรณ์แบบสักทีนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะทุกคนมีความเชื่อที่แตกต่างกัน? หรือทุกคนเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่ออยู่นั้นเป็นความดี เป็นความจริง ในขณะที่ความเชื่อของคนอื่นนั้น ไม่จริง บ้านหลังนี้จึงถูกสร้างขึ้นด้วยเลือดเนื้อแห่งความขัดแย้ง ซึ่ง

 

รื้อและสร้าง ยิ่งเสื่อมทรุดไม่หยุดหย่อน

ตอกเสาเข็ม โยกคลอน ถอนเสาเข็ม

สร้างและรื้อ ส่วนเหลือรอด มอดปลวกเล็ม

คงคาวเค็ม เลือดเนื้อหยาดเหงื่อไหล

(หน้า 87)

 

สิ่งที่อังคารพยายามจะเสนออาจสรุปได้ในตอนท้ายว่า บ้านหรือสังคมที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยความขัดแย้ง ต้องเอาเลือดเนื้อ เถ้ากระดูกมาฉาบทานั้น คือผลจากการที่เราๆ ท่านๆ เลือกกันเอง เลือกที่จะทำให้บ้านเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ต้องเสียเลือดเสียเนื้อในการสร้างบ้าน มันเป็นบ้านที่เราไม่มีวันสร้างเสร็จ และอาจต้องสูญเสียเลือดเนื้ออีกมากมายเพื่อที่จะสร้างบ้านหลังนี้

 

จะกล่าวอ้าง คั่งแค้นโกรธ โทษใครได้

รับเสียเถิด หากไม่ใช่เธอก็ฉัน

ละเลงมือ ระเริงเลือด ดุเดือดนั้น

เราออกแบบ เราเลือกสรร สร้างกันเอง…

(หน้า 88)

 

แน่นอน…เราทุกคนรู้ว่าความขัดแย้งมันไม่ดี ไม่มีใครพึงปรารถนา เราก็อยากจะเห็นไปเหมือนๆ กันทั้งหมดนั่นแหละ ชีวิตจะได้ไม่วุ่นวาย ไม่ซับซ้อน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สังคมมันขัดแย้งตลอดเวลา ความขัดแย้งเกิดขึ้นเป็นปกติในทุกๆ ที่ แม้กระทั่งในบ้าน ในครอบครัว

ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เราๆ ท่านๆ ‘เห็น’ และ ‘รับรู้’ ได้ในชีวิตประจำวัน แต่การนำเสนอออกมาในรูปแบบของงานศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะแห่งถ้อยคำของกวีนิพนธ์ มันควรคาดหวังได้ว่าเราจะได้อ่าน ได้ยินอะไรก็ตามที่ลึกซึ้งกว่านี้ อาจจะเป็นว่า ท่ามกลางความขัดแย้งทั้งหมดทั้งมวลนั้น อารมณ์ความรู้สึกที่ดลบันดาลให้เราคิดและทำสิ่งต่างๆ ในปริมณฑลของความขัดแย้งคืออะไร อารมณ์แบบไหนที่ขับเคลื่อนความขัดแย้งนั้นๆ มันก่อตัวขึ้นมาจากอะไร มันเป็นเพียงแค่การปะทะกันของความเชื่อที่แตกต่างกันเท่านั้นหรอกหรือ?

ผมคิดว่ามันมีแง่มุมที่จะนำเสนอได้อีกมากมาย และผมเชื่อว่าอังคาร จันทาทิพย์ในฐานะกวีฝีมือดีคนหนึ่งในประเทศนี้ก็รู้ รู้ดีกว่าผมแน่ๆ แต่อาจจะต้องยอมเปลืองตัวกันสักหน่อย เท่านั้นเอง

ผมพยายามระลึกอยู่เสมอเวลาที่อ่านกวีนิพนธ์ว่า บทกวีที่ผมกำลังอ่านอยู่นั้นจะนำพาประสบการณ์ทางอารมณ์ของผมไปในทิศทางใด ทำให้ผมตระหนักถึงอารมณ์ความรู้สึกที่แปลก หรือสร้างอารมณ์สะเทือนใจได้มากน้อยเพียงใด ไม่ว่ามันจะมีอคติใดๆ ก็ตาม หรือจะใช้เล่าเรื่องก็เป็นไปได้ บทกวีควรจะเร้าอารมณ์ความรู้สึก ผสานความคิด ภาพและความรู้สึกของผู้อ่านให้ได้มากที่สุด ไม่น่าจะเป็นภาพแห้งๆ ที่เห็นทุกอย่างแต่กลับไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย มิพักต้องพูดถึงความพยายามในการเทศนาสั่งสอนผู้อ่านในฐานะที่กวีเป็นผู้หยั่งรู้โลก เข้าใจโลก มีญาณกวี (มันคืออะไร?) มีหน้าที่ต้องขัดเกลาความรู้สึกและจิตใจอันหยาบกระด้างของผู้อ่านที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

ไม่ต้องสั่งสอนหรือปั้นคำสวยๆ ที่ไม่กินอารมณ์ความรู้สึกมากนักก็ได้ครับ เอาแค่ว่าซื่อสัตย์และจริงใจต่อความรู้สึกของตัวเอง ปล่อยใจให้ไหลไปกับความรู้สึกในวาบหนึ่งของความคิด แล้วบรรจงหล่นถ้อยคำออกมา แก้ไขมันซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อให้ซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองมากที่สุด

ผมตระหนักว่ากวีก็คือมนุษย์ครับ มีความคิดที่ทั้งเข้าท่าและไม่เข้าท่า ความรู้สึกบางอย่างของกวีอาจจะไม่เข้าท่าบ้างก็ได้ แต่มันต้องทำให้คนอ่านรู้สึกรู้สาอะไรสักหน่อยเกี่ยวกับตัวบทกวีที่ตัวเองบรรจงปรุงแต่งมันขึ้นมา… ผมยินดีจะอ่านบทกวีนิพนธ์ที่ถูกปรุงขึ้นจากอคติ แต่สามารถสั่นสะเทือนอารมณ์ได้มากกว่าบทกวีกลางๆ ที่แม้จะเห็นได้ชัดเจนแต่รู้สึกรู้สากับมันได้น้อยเหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม “ระหว่างทางกลับบ้าน”​ ก็เป็นรวมกวีนิพนธ์รางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือซีไรต์ แถมว่ายังเป็นผลงานเล่มที่สองที่ได้รางวัลนี้อีกด้วย รวมบทกวีเล่มนี้อาจจะมีแง่งามบางอย่างให้ถกเถียงกันต่อไปได้อีก แต่ผมเองก็หวังว่าในอนาคตจะได้อ่านงานของอังคาร จันทาทิพย์ โดยที่ไม่ต้องเรียกร้องว่า “ขอผมรู้สึกอะไรสักอย่างกับบทกวีของท่านหน่อยเถอะครับ”

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งเลยครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save