fbpx
ผัสสะแห่งเทศกาล ควันไฟ​ การเชือดหมูก่อนคริสต์มาสในโรมาเนีย

ผัสสะแห่งเทศกาล ควันไฟ​ การเชือดหมูก่อนคริสต์มาสในโรมาเนีย

ณัฎฐา ชื่นวัฒนา เรื่องและภาพ

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

**บทความนี้อาจมีภาพที่รุนแรงหรือกระทบกระเทือนจิตใจ**

 

“บ้านที่มีชีวิต คือบ้านที่มีควันไฟ”

ฉันจำไม่ได้แน่ว่าใครเป็นคนพูดคำนี้ให้ฉันได้ยินเป็นคนแรก แต่ก็เพิ่งจะรู้ทีหลังว่าเป็นประโยคที่ใช้กันแพร่หลายในยุโรป กองไฟสำคัญมากโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวอันเย็นยะเยือก ไอร้อนจากกองไฟช่วยทำให้ร่างกายมนุษย์รักษาอุณหภูมิและชีวิตเอาไว้ได้แม้สภาพภายนอกจะหนาวเหน็บ ดังนั้น ควันไฟที่เกิดจากองไฟจึงถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตมนุษย์ บ้านไร้ควันไฟถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนการทิ้งร้าง เมื่อไร้ควันไฟ ก็ไร้มนุษย์ และไร้ชีวิต

ฉันเดินย่ำหิมะตรงไปยังกระท่อมหลังเล็กที่มีควันไฟลอยเอื่อยจากปล่องควัน บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในฟาร์มริมถนนกลางหุบเขาแห่งหนึ่งในโรมาเนีย อากาศตอนเช้าตรู่ในช่วงปลายเดือนธันวาคมในแถบบูโควินา (Bucovina) ทางตอนเหนือของโรมาเนียตอนนี้มีอุณหภูมิราว -2 องศาเซลเซียส ถ้านับเอาตามมาตรฐานท้องถิ่นในฤดูกาลนี้แล้ว ก็ถือว่ากำลังเย็นสบาย

เมื่อเดินเข้าไปใกล้กระท่อมหลังเล็ก ฉันสังเกตว่าใกล้ๆ กันมีกองไฟใหญ่อีกกองหนึ่ง ด้านบนมีหม้อต้มน้ำใบมหึมาที่กำลังเดือดพลุ่งอยู่ด้วย แม้ว่าในบริเวณนั้นจะมีกองไฟถึงสองกองอยู่ใกล้ๆ กัน แต่กลิ่นแรกที่ปะทะจมูกของฉันกลับไม่ใช่กลิ่นควันไฟ

แต่กลับเป็นกลิ่นคาวเลือดจากร่างของหมูที่ถูกเชือดไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้

การเชือดหมู หรือ Tăiatul Porcului เป็นหนึ่งในประเพณีและพิธีกรรมที่สำคัญมากช่วงก่อนวันคริสต์มาสของชาวโรมาเนีย ประเพณีนี้เกือบสูญหายไปในช่วงรัฐบาลเผด็จการคอมมิวนิสต์ใต้การนำของ นิโคไล เชาเชสคู (Nicolae Ceaușescu) ซึ่งครองอำนาจตั้งแต่ปี 1965 – 1989 เชาเชสคูใช้ระบอบคอมมิวนิสต์ในการบริหารประเทศ ดังนั้นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลจึงเป็นสิ่งต้องห้าม รัฐบาลจะจัดการทรัพยากรและอาหารส่วนกลาง หมูก็จัดเป็นทรัพยากรทางอาหาร ส่งผลให้การครอบครองหมูเพื่อนำมาเชือดในเทศกาลคริสต์มาสเป็นสิ่งผิดกฏหมาย แต่ถึงอย่างนั้นชาวโรมาเนียก็ฝ่าฝืนข้อห้ามนี้อย่างกว้างขวางแบบท้าทายอำนาจรัฐ แม้รัฐบาลจะปราบปรามอย่างไรก็ไม่เป็นผล จนประเพณีนี้เหลือรอดมาถึงปัจจุบัน

ประเพณีนี้มีรากฐานมาจากการบูชายัญด้วยเลือดของพวกเพแกน (Pagan) ที่เชื่อในเรื่องผีสางและธรรมชาติ เมื่อศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ได้เข้ามามีอิทธิพลในแถบนี้ การบูชายัญหมูในเดือนธันวาคมจึงถูกเปลี่ยนความหมายไปตามความเชื่อทางศาสนาที่เปลี่ยนแปลง

ศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ในโรมาเนียได้ผูกคำอธิบายเกี่ยวกับประเพณีนี้เสียใหม่ว่า การเชือดหมูในวันที่ 20 ธันวาคมของทุกปีเป็นวัน “อิกนัต” (Ignat) เป็นการระลึกถึงมรณสักขีผู้สละชีวิตเพื่อแสดงความภักดีในพระเป็นเจ้าและศาสนาคริสต์ มรณสักขีท่านนั้นคือ นักบุญอิกเนเชียสแห่งแอนติออก (St. Ignatius of Antioch) นักบวชชาวซีเรียในตำนาน ผู้ยืนยันในความเชื่อและปฏิเสธที่จะละทิ้งพระเป็นเจ้า จนถูกลงโทษด้วยการโยนร่างให้สิงโตฉีกทึ้งและกัดกินจนเสียชีวิต

 

โบราณคดีผัสสะ กับกลิ่นคาวเลือดแห่งเทศกาล

 

กลิ่นคาวเลือดรุนแรงที่อบอวลอยู่ในบรรยากาศตอนนี้ เป็นสัญญาณแสดงถึงเทศกาลเฉลิมฉลองที่ชัดเจนกว่าที่ฉันเคยนึกไว้มาก จนอดคิดไม่ได้ว่ากลิ่นคาวเลือดจากการบูชายัญหรือแล่เนื้อที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานโบราณคดีจากที่ต่างๆ ทั่วโลกในอดีตนั้นจะมีกลิ่นบรรยากาศแบบเดียวกันหรือเปล่า? และเราจะนับเอาข้อมูลเรื่อง “กลิ่น” เป็นหลักฐานทางโบราณคดีชนิดหนึ่งได้ไหม?

ตามปกติแล้ว ในการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีจากการขุดค้นและการเก็บข้อมูลด้านชาติพันธุ์วรรณนาทางโบราณคดี (Ethnoarchaeology) จากการเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมของกลุ่มคนในปัจจุบันแบบทั่วไป มักให้ความสำคัญกับการจดบันทึกหลักฐานที่มองเห็นได้ด้วยตาเป็นหลัก (Skeates and Day 2020) ผัสสะการมองเห็นถูกให้ความสำคัญเหนือข้อมูลที่ได้จากการรับรู้ด้วยผัสสะแบบอื่น เช่น กลิ่น, เสียง, รส หลายครั้งข้อมูลเกี่ยวกับผัสสะที่นอกเหนือการมองเห็นมักถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง

เหตุที่การจดบันทึกข้อมูลที่ได้มาจากการใช้ผัสสะชนิดอื่นที่ไม่ใช่สายตาไม่ได้รับความนิยมในหมู่นักโบราณคดีเก่า ก็เพราะนักโบราณคดีเก่ามองว่าข้อมูลที่ได้จากผัสสะ เช่น กลิ่น, เสียง, รส นั้นเป็นข้อมูลที่ใช้อัตวิสัยล้นเกิน เต็มไปด้วยความคิดเห็นของผู้เขียนเพียงคนเดียว (Tilley 1994) ผัสสะด้านอื่นมักสร้างคำบรรยายที่เพ้อเจ้อและมุมมองเกี่ยวกับผัสสะโดยเฉพาะกลิ่นเป็นมุมมองดิบเถื่อนเยี่ยงสัตว์ (Classen et al. 1994: 3–4) ทำให้นักโบราณคดีเก่ามองว่าเรื่องราวอื่นๆ เกี่ยวกับ กลิ่น, เสียง, รส ในทางโบราณคดีนั้นเป็นเรื่องของความมโนนฤมิตรคิดไปเอง ไม่เป็นกลางพอที่จะได้รับความน่าเชื่อถือทางวิชาการด้วยซ้ำไป

ในสหรัฐอเมริกา การพึ่งพาการเก็บข้อมูลทางโบราณคดีด้วยการมองเห็นนั้นถูกมองว่าเป็นผลของอิทธิพลของการจัดระเบียบทางความรู้แบบวิทยาศาสตร์ในงานโบราณคดี ที่ส่งผลให้เกิดระบบความคิดแบบโบราณคดีกระบวนการ (Processual Archaeology) และปฎิฐานนิยม (Positivism) ทำให้ละเลยข้อมูลและประสบการณ์จากผัสสะด้านอื่นของมนุษย์ (Pursell 2020, Thomas 2020)

การเก็บข้อมูลด้วยสายตานี้อาจเป็นที่มาของการตีความแบบ “พูดไม่เกินของ” ที่แพร่หลายในหมู่นักโบราณคดีกระบวนการในไทย ที่ได้รับอิทธิพลจากโบราณคดีสกุลอเมริกันในช่วงทศวรรษที่ 1970 ซึ่งมักใช้การตีความจากหลักฐานที่มองเห็นได้ด้วยสายตาเป็นหลักด้วย

แต่สำหรับโบราณคดีสากลนั้น การศึกษาทางโบราณคดีที่มาแรงและได้รับความสนใจในแวดวงวิชาการที่สุดในตอนนี้กลับเป็นการศึกษา “โบราณคดีผัสสะ” (Sensory Archaeology) ที่ศึกษาปัจจัยที่มองไม่เห็นจากการรับรู้ผัสสะของมนุษย์โบราณในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลิ่น, เสียง, สัมผัส ที่เป็นผลมาจากการออกแบบสภาพแวดล้อม หรือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และโบราณวัตถุในรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้เกิดอารมณ์และและความรู้สึกของมนุษย์ ทำให้โบราณคดีผัสสะนั้นเกี่ยวพันกับการศึกษาเรื่องโบราณคดีของอารมณ์ (Archaeology of Emotions) ของคนในอดีตร่วมด้วย

ปัจจัยด้านผัสสะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของมนุษย์ในทุกยุคสมัย ตั้งแต่การออกแบบวัตถุ, การผลิตสิ่งของ, การตั้งถิ่นฐานและการจัดการพื้นที่ชุมชน ฯลฯ จึงไม่แปลกเลยที่มีการศึกษาทางโบราณคดีเกี่ยวกับผัสสะที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาออกเผยแพร่มากมาย ตั้งแต่กลิ่นของเมืองโบราณ (Bartosiewicz 2003) ไปจนถึงกลิ่นและสัมผัสที่กลายเป็นจุดเด่นของภาชนะดินเผาสมัยโบราณจากโปรตุเกส (Newstead& Casimiro 2018) ที่คงกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ได้ถึงปัจจุบัน เป็นต้น

ความก้าวหน้าทางทฤษฎีของโบราณคดีผัสสะล้วนเกิดจากการไม่ยอมจำนนต่อนิยาม รวมทั้งอุคมคติการสร้างความเป็นภววิสัยของข้อมูล โบราณคดีเก่าปฏิเสธข้อมูลที่ได้จากผัสสะประเภทอื่นว่าเป็นการ “พูดเกินของ” แต่แท้ที่จริงแล้ว นักโบราณคดีไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบันก็มีจุดหมายในการ “พูดเกินของ” ในกรอบของ “ความเป็นมนุษย์” เพื่อยกระดับความรู้ เพื่อสร้างเรื่องราวอดีตให้มีชีวิตชีวาตลอดมา โดยเฉพาะในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา (2017-2020) การศึกษาผัสสะทางโบราณคดีได้ก้าวหน้าด้านทฤษฎีและวิธีวิทยาจน Sensory Turn ได้กลายเป็นความเคลื่อนไหวด้านทฤษฎีและการตีความทางโบราณคดีที่น่าสนใจมากที่สุดในขณะนี้ (Skeates and Day 2020)

อาจพูดได้ว่าความก้าวหน้าทางโบราณคดีที่เราได้เห็นในปัจจุบันทั้งหมดนั้น เกิดจากความพยายามของนักโบราณคดีที่มุ่งผลักเพดานศึกษาให้เห็นถึงพลวัตของ “ความเป็นมนุษย์” และมนุษย์ที่มีชีวิตชีวาในอดีต ผ่านการพินิจพิจารณา “ของ” หรือโบราณวัตถุด้วยมุมมองที่หลายหลาย รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่มองไม่เห็นด้วยสายตา อันสามารถบ่งบอกถึงพฤติกรรมอันซับซ้อนเบื้องหลังร่อยรอย “วัตถุ” ของคนในอดีตได้

 

ตัด, หั่น, ชำแหละ, และแยกส่วน

 

ภาพถนนบริเวณหน้าฟาร์มของคุณฟาลุทซา (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

เจ้าบ้านคือ คุณฟาลุทซา กับภรรยา ลูกสาว และหลานชายตัวน้อย ออกมาจับไม้จับมือทักทายที่หน้าบ้านและพาฉันไปแนะนำให้รู้จักกับ “ช่าง” นักแล่เนื้อ (The Butcher) ที่รับจ้างเดินสายเชือดหมูและแล่เนื้อทั่วแถบบูโควินาในช่วงเดือนธันว่าคม ตามแต่จะมีผู้ว่าจ้าง ช่างนักแล่คนนี้มีตารางการทำงานที่อัดแน่นในช่วงเดือนธันวาคม โดยครอบครัวที่ต้องการว่าจ้างเขาให้ไปจัดการชำแหละหมูในช่วงนี้ ต้องจัดแจงวางแผนเพื่อจองตัวล่วงหน้ากันนานหลายเดือน

เมื่อทักทายกันเสร็จแล้ว ทุกคนก็กลับไปจดจ่อกับการทำงานของตัวเองทันที หมูที่ถูกเชือดหลอดลมไปก่อนหน้านี้ถูกแขวนห้อยหัวบนตะขอเพื่อให้เลือดไหลออกมามากที่สุด ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่จะเผาผิวของหมูเพื่อลอกขน โดยการใช้ไฟจากคบไฟแก๊สเผาหนังหมูจนไหม้เป็นสีดำ ก่อนจะค่อยๆ ราดน้ำเดือดและใช้มีดค่อยๆ “ปอก” เอาชั้นขนและผิวนอกของหมูออกจนเกลี้ยง ให้เหลือเพียงหนังหมูสีขาวบริสุทธิ์เพื่อรอการชำแหละในขั้นต่อไป

ก่อนที่จะมีคบไฟแก๊ส การเผาหมูแบบนี้จะเอาหมูทั้งตัวไปกลิ้งบนกองไฟที่ลุกโชน เพื่อให้ไฟร้อนนั้นไหม้ขนหมูออกไปจนหมด โดยช่างแล่เนื้อจะต้องหมั่นพลิกตัวหมูบนกองไฟให้ทั่วถึง เพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อหมูสุกจนแข็ง

 

ภาพประกอบของปฏิทินจากยุโรปยุคกลาง แสดงการฆ่าและชำแหละหมูในช่วงเดือนธันวาคม รูปทั้งสองถูกวาดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ภาพ a. จาก The London Rothschild Hours, Southern Netherlands ภาพ b. จากปฏิทินของพระราชินีอิซาเบลย่าแห่งคาสติล (Queen Isabella of Castile) สังเกตได้ว่าภาพทั้งสองมีกองไฟเป็นส่วนประกอบของภาพ โดยภาพ a. เป็นกองไฟกลางแจ้ง ในขระที่ภาพ b. เป็นเตาไฟในอาคารเปิดโล่งนอกปราสาท (ภาพจาก British Library)

 

ภาพกิจกรรมและขั้นตอนการแล่หมูนี้มีปรากฏในปฏิทินภาพของยุโรปในยุคกลางช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 จำนวนมาก การแล่หมูในเดือนธันวาคมเป็นกิจกรรมประจำเดือนของคนยุคกลางส่วนมากในยุโรป สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรกรหลังช่วงเก็บเกี่ยว หมูจะถูกขุนให้อ้วนด้วยการปล่อยในป่าโอ๊คในฤดูใบไม้ร่วง หมูจะกินลูกโอ๊คที่ร่วงหล่นในป่าจนอ้วนพีได้ที่

คุณฟาลุทซาก็ขุนหมูให้อ้วนก่อนเชือดด้วยวิธีเดียวกันนี้ ลูกโอ๊คทำให้เนื้อหมูที่ได้จากการขุนในวิธีนี้มีรสชาติอร่อย วิธีนี้ยังเป็นวิธีเดียวกับการขุนสุดยอดเนื้อหมูรสเลิศราคาแพงอย่างหมูพันธุ์ไอบีริโก (Iberico) ที่ใช้ทำฮามอน (Jamon) หรือแฮมขาหมูอันเลื่องชื่อของสเปนอีกด้วย

เมื่อนายช่างได้ราดน้ำร้อนและปอกเอาขนที่ไหม้ไฟออกไปจนเกลี้ยงเกลาแล้ว ตอนนี้ร่างของหมูที่ถูกแขวนอยู่ตรงตะขอเบื้องหน้านั้น เมื่อชำเลืองแวบหนึ่งก็ชวนให้นึกถึงร่างซีดขาวของพระคริสต์ที่ถูกตรึงกางเขนที่ฉันเคยเห็นมากเหลือเกิน

แต่ก่อนที่ความคิดจะเตลิดไปกว่านี้ ช่างแล่เนื้อก็เริ่มลอกหนังหมูออกเป็นริ้วสี่เหลี่ยมผืนผ้า แล่เนื้อหมูจากด้านหลังออกเป็นส่วนๆ อย่างรวดเร็ว หัวหมูและเท้าของหมูถูกตัดแยกออกไปต้มในหม้อน้ำก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นช่างก็เริ่มแล่เนื้อจากส่วนไหล่, สันคอ, สันนอก, สันใน, เนื้อสามชั้นบริเวณท้อง, พวงเครื่องใน, เรื่อยไปถึงใช้ขวานเหล็กตัดกระดูกซี่โครงออกเป็นจำนวนสองแผ่นจากด้านซ้ายขวา, กระดูกสันหลังและขาหมูถูกตัดออกมาเป็นอย่างสุดท้าย

 

คำเตือน: รูปภาพอาจมีความรุนแรงหรือกระทบกระเทือนจิตใจ (คลิกเพื่อชมรูป)

นายช่างกำลังจัดการชำแหละซากหมู (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

ครูสอนแล่เนื้อชาวสโลวักเคยบอกว่า การแล่เนื้อของแต่ละชาตินั้นจะมีรอยการตัดและหั่นที่แตกกต่างกันไป ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับที่ฉันเคยได้รู้จากชั้นเรียนกระดูกสัตว์ทางโบราณคดีด้วยเช่นกัน ว่าร่องรอยการตัด, หั่น, ชำแหละ ที่แตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรมนั้น หลายครั้งก็สามารถพบร่องรอยเหล่านั้นได้บนกระดูกสัตว์โบราณจากการขุดค้นด้วย

คุณฟาลุทซาหันมาจัดการกับพวงเครื่องใน โดยจัดการกับไส้เป็นอันดับแรก พวงเครื่องในหมูสดก้อนยักษ์ถูกลำเลียงไปที่ลำธารสายเล็กข้างบ้านที่มีหม้อน้ำเดือดกับกองไฟรอท่าอยู่ นายช่างใช้น้ำเดือดทำความสะอาดเครื่องใน โดยเฉพาะไส้หมูที่จะนำไปเตรียมทำเป็นไส้กรอก (Cârnat) ไส้กรอกที่กรอกไส้เสร็จแล้วจะถูกนำไปรมควันและแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง และเป็นส่วนหนึ่งของอาหารที่ใช้ในการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสต่อไป

 

คุณฟาลุทซากับกองไฟริมธารน้ำใกล้บ้าน (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

กลิ่นที่ผันแปร กับสัญญะแห่งงานพิธี

 

เนื้อหมูที่ถูกแยกออกเป็นส่วนๆ ถูกลำเลียงไปวางไว้บนโซฟาที่ปูรองด้วยแผ่นพลาสติกผืนใหญ่ในครัว ครัวนี้เป็นกระท่อมหลังเล็กแยกออกมาจากบริเวณบ้าน ในครัวมีเตาไฟทำจากเหล็กหล่ออยู่ที่มุมห้อง บนเตามีหม้อต้มน้ำและข้างเตามีกองฟืนไม้ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง เตาเหล็กหล่อนี้นอกจากจะเป็นเตาทำอาหารแล้วยังเป็นเครื่องให้ความร้อนเพียงอย่างเดียวในห้องครัว

ช่างและครอบครัวคุณฟาลุทซาแล่เนื้อหมูส่วนต่างๆ ออกจากกระดูกเพื่อมาบดทำไส้กรอกที่ผสมกับกระเทียมสด, เกลือ, พริกไทย และเครื่องปรุงชนิดอื่นๆ ส่วนเนื้อสามชั้นส่วนท้องของหมูนั้นถูกนำมาปรุงด้วยกระเทียมสด, เกลือ, ผงปาปริก้า และม้วนเป็นแท่งกลมก่อนมัดด้วยเชือกให้คงรูป เพื่อนำไปรอการรมควันพร้อมกับไส้กรอกในเตารมควันที่ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านต่อไป ส่วนเหล่าเครื่องในและส่วนต่างๆ นอกจากนี้ เช่น เครื่องในและหัวหมูที่ถูกต้มรอไว้ ก็จะนำมาใส่อ่างเพื่อแยกเนื้อกับกระดูกออกจากกันเพื่อทำเป็นเนื้อเย็นที่เรียกว่า โทบา (Tobă) เป็นเนื้อ Cold Cut มีรสสัมผัสแบบเยลลีเย็นที่เป็นอาหารคาว โทบา เป็นอาหารเรียกน้ำย่อยในวันคริสต์มาสต่อไป เรียกได้ว่าการเชือดหมูในครั้งนี้แทบจะไม่มีส่วนใดของหมูที่เหลือทิ้งเลย

 

เนื้อหมูสามชั้นปรุงรสและมัดด้วยเชือกเพื่อรอการรมควัน (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

เวลาผ่านไปเป็นเวลาเกือบบ่าย เนื้อหมูชำแหละก็ถูกจัดการไปได้มากแล้ว ภรรยาของคุณฟาลุทซาก็เริ่มเตรียมอาหารให้ฉัน ครอบครัว และนายช่างได้ทานกัน อาหารที่ว่านี้ก็ได้มาจากเนื้อหมูที่เชือดไว้เมื่อเช้าตรู่นั่นเอง โดยการแบ่งปันเนื้อหมูที่ได้จากการเชือดให้กับมิตรสหายได้ชิมเป็นครั้งแรกนี้เรียกว่า Pomana porcului ซึ่งเป็นขั้นตอนอย่างหนึ่งที่สำคัญในวันนี้

ฉันสังเกตว่า กลิ่นคาวเลือดที่อบอวลอยู่รอบตัวในบรรยากาศได้เปลี่ยนไปเป็นกลิ่นอาหารและควันไฟแทน เพราะเนื้อหมูสดเมื่อเช้าได้ถูกแปรรูปกลายร่างเป็นอาหารไปเกือบหมดแล้ว กลิ่นอาหารที่ลอยอยู่ในบรรยากาศนั้นคือกลิ่นของเนื้อหมูที่เจียวในน้ำมันหมูกับกระเทียมสด, กลิ่นข้าวโพดบดต้มกับมันฝรั่ง (Mămăligă with Potatoes) ที่เดือดปุดๆ อยู่บนเตา รวมทั้งกลิ่นเหล้ากลั่น ซุยก้า (Țuică) ใสแจ๋วดีกรีสูงที่กลั่นจากลูกพลัมหรือผลไม้หมัก ซุยก้ามีทั้งแบบที่กลั่นครั้งเดียวหรือสองครั้ง ยิ่งกลั่นมากครั้งปริมาณแอลกอฮอล์ที่ได้ก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย

 

หม้อต้มข้าวโพดบดผสมกับมันฝรั่งบนเตาเหล็กหล่อ (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

โดยทั่วไปแล้วการเปลี่ยนผ่านขั้นตอนในพิธีกรรมทางศาสนาที่ฉันเคยเห็นมานั้น มักมีการให้สัญญาณแสดงการจบสิ้นขั้นตอนและการเปลี่ยนผ่านในพิธีกรรม เพื่อกำกับผู้เข้าร่วมให้ปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไป สัญญาณที่ว่ามักใช้ผัสสะต่างๆ เช่น “เสียง” ผ่านบทสวด, อาขยาน, เพลง, “สัมผัส” ด้วยการรดน้ำมนต์, หรือ “กลิ่น” เช่นการจุดธูปโดยประธานขณะเริ่มพิธี การจุดโถกำยาน (Thurible) ในศาสนาคริสต์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้เข้าร่วมพิธีสัมผัสพิธีกรรม สร้างอารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้งดื่มด่ำผ่านการกระตุ้นผัสสะทั้งหมดของผู้เข้าร่วมพิธี

การเตรียมพร้อมผ่านผัสสะทั้งหมด ส่วนมากนั้นก็เพื่อเตรียมพร้อมกับการรับรู้ด้วยผัสสะอย่างสุดท้ายที่สำคัญที่สุดของพิธีกรรม คือ การลิ้มรสด้วยการกิน ไม่ว่าจะเป็นมื้ออาหารในช่วงวันคริสต์มาส หรือการกินขนมปังและเหล้าองุ่นในพิธีรับศีลมหาสนิท หรือการลิ้มรสแรกของเนื้อหมูในวันนี้ก็ตาม

คุณฟาลุทซา เรียกให้ฉันนั่งร่วมกินข้าวที่โซฟาในครัวกับครอบครัวและนายช่างนักแล่ บนโต๊ะอาหารมีก้อนข้าวโพดบดต้มผสมมันฝรั่งที่บากเป็นส่วนส่งควันฉุยอยู่บนเขียงไม้กลม จานเนยแข็งทำเองที่ฝานเป็นชิ้นเรียงกันถูกวางอยู่เคียงข้างจานเนื้อหมู ปรุงรสด้วยน้ำมันหมูเจียวสดใหม่ คุณฟาลุทซารินซุยก้าใส่จอกแก้วใสแจกจ่ายไปรอบโต๊ะ ก่อนชูแก้วและกล่าวคำว่า “โนรอค” (Noroc) เพื่อเชิญทุกคนดื่มอวยพรและเป็นสัญญาณการเริ่มมื้ออาหารอย่างเป็นทางการ

ฉันไม่เคยกินเนื้อหมูที่สดขนาดนี้มาก่อน รสของเนื้อหมูเด่นชัดแต่ไม่เหม็นคาว แม้จะปรุงรสเพียงเล็กน้อยด้วยเครื่องปรุงไม่กี่ชนิด มันหมูเจียวใหม่ๆ เพิ่มกลิ่นหอมให้เนื้อหมูอีกเท่าตัว เมื่อกินพร้อมกับมามาลิกา คือ ข้าวโพดบดต้มผสมมันฝรั่งที่คุณฟาลุทซาปลูกเองแล้ว ก็ยิ่งทำให้อาหารมื้อนี้เต็มไปด้วยรสชาติแห่งผืนดินของโรมาเนีย รสชาติและประสบการณ์ที่ว่านี้ยิ่งทำให้อาหารมื้อนี้มีความหมายพิเศษยิ่งกว่าเดิม

 

อาหารกลางวันจากเนื้อหมู ทานกับข้าวโพดบดผสมกับมันฝรั่งวางบนเขียงไม้ (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

กลิ่นควันไฟ และกองถ่านไร้ควัน

 

หัวหมูและลิ้นที่ต้มแล้วกำลังถูกแยกเนื้อออกจากกระโหลก (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

เมื่อทุกคนทานอาหารทั้งหมดเสร็จโดยไม่มีอาหารเหลือจากจานของทุกคนแล้ว ฉันช่วยภรรยาของคุณฟาลุทซาเก็บจานอาหารเพื่อเอาไปล้างด้านนอก ตอนนี้ฉันสังเกตเป็นครั้งแรกว่าฉันเริ่มได้กลิ่นควันไฟในห้องครัวอย่างชัดเจนขึ้นกว่าในตอนเช้าและตอนสาย กองไฟที่ต้มหัวหมูและเครื่องในหมูด้านนอกดูเหมือนว่าจะมอดไปได้พักใหญ่แล้ว แต่ก็ยังมีควันไฟโรยตัวขึ้นจากกองถ่านอย่างเบาบาง

ฉันอดไม่ได้ที่จะยืนพิจารณาร่องรอยของกองถ่าน หม้อ และถ้วยชามรามไหที่อยู่รอบเตา อดเปรียบเทียบกองถ่านกับกลุ่มถ่านที่พบเจอในหลุมขุดค้นอยู่เสมอไม่ได้ เพราะครั้งหนึ่งฉันก็เคยขุดเจอกลุ่มถ่านขนาดใหญ่ร่วมกับเศษกรามของหมูจากแหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่งเหมือนกัน ฉันจำได้แม่นว่ากองถ่านนั้นก่อตัวอย่างหนาแน่นและค่อนข้างเป็นระเบียบ พูดได้ว่าคงเป็นร่องรอยของการก่อไฟในอดีตอย่างแน่นอน หลักฐานที่มีรอบๆ ก็มีกระดูกกรามหมูอย่างที่ว่ามา และเศษภาชนะดินเผาแตกหักอีกจำนวนหนึ่ง ในตอนนั้นฉันก็ไม่ได้บันทึกการตีความลงไปมากกว่ารายละเอียดที่เห็นได้ด้วยตา กระทั่งฉันได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเชือดหมูในวันนี้ มันทำให้ฉันอดคิดไม่ได้ว่าช่องว่างของหลักฐานที่หลงเหลือไว้และพฤติกรรมของคนหรือการกระทำของคนในอดีตนั้นมีช่องว่างที่ห่างกันมากเหลือเกิน ด้วยหลักฐานด้านวัตถุอันจำกัดนี้ ถ้าหากฉันต้องมาตีความกองถ่านกองนี้แบบคนนอก ที่เป็นทั้งคนนอกวัฒนธรรมและต่างช่วงเวลานั้น ฉันจะตั้งต้นการตีความเพื่อสืบหาเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวันนี้อย่างไร?

นายช่างนักแล่เริ่มงานด้วยการนำหัวหมูที่ได้เทลงในกะละมังสแตนเลส และใช้มือเปล่าแยกเนื้อแก้มออกจากกระโหลกหมูที่ต้มจนสุกได้ที่ โดยไม่มีทีท่าว่าความร้อนจากเนื้อและกระดูกหมูนั้นจะลวกมือแต่อย่างไร เมื่อเห็นฉันเดินเข้ามาใกล้ เขาก็เอาหยิบเอากรามล่างของหมูขึ้นมาคาบและยิ้มกว้างตั้งท่าให้ฉันถ่ายรูปอย่างร่าเริง

 

นายช่างนักแล่โพสท่ากับกระดูกกรามหมู (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

ผู้นำทางมากระซิบว่าเราควรเดินทางกลับกันก่อนมืดเพื่อที่จะไม่เป็นการรบกวนคุณฟาลุทซากับครอบครัวมากเกินไป ช่วงเวลาก่อนวันคริสต์มาสนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างชุลมุนวุ่นวายของครอบครัวชาวโรมาเนียที่ซึ่งต้องเชือดหมู, ไก่, ปลา รมควันไส้กรอกและเนื้อเพื่อแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้านและจัดการทุกสิ่งอันให้เสร็จก่อนอาหารเย็นในวันคริสต์มาส เพราะชาวโรมาเนียถือกันอย่างเคร่งครัดมากว่าจะไม่มีการฆ่าสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นในวันศักดิ์สิทธิ์เช่นวันคริสต์มาสอย่างเด็ดขาด

แต่ทุกมาตรฐานที่สร้างโดยมนุษย์ แม้จะเคร่งครัดเพียงใดก็ตาม ดูเหมือนว่าจะมีข้อยกเว้นได้เสมอ

ภายหลังการปฏิวัติเพื่อโค่นอำนาจรัฐบาลโรมาเนียในช่วงปลายเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1989 ฝ่ายปฏิวัติจับตัว นิโคไล และภรรยาคือ เอเลนา เชาเชสคู ทั้งสองถูกนำตัวขึ้นศาลพิจารณาคดีอย่างเร่งรีบและถูกตัดสินว่ามีความผิดในทุกข้อกล่าวหา ทั้งคู่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าที่ชานกรุงบูคาเรสต์ ในเวลา 4 โมงเย็น ของวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1989 ภาพเหตุการณ์ขณะประหารถูกบันทึกวีดีโอไว้และเผยแพร่ผ่านสถานีโทรทัศน์ทั่วโรมาเนียและทั่วยุโรป

ฉันจับมือขอบคุณคุณฟาลุทซาและครอบครัว ก่อนจะเดินห่างจากกองถ่านและตัวบ้าน ห่างจากปล่องควันไฟก่ออิฐที่มีควันลอยเอื่อยไว้เบื้องหลัง กลิ่นควันไฟในบรรยากาศเริ่มเจือจางไปกว่าเดิม

Merry Chirstmas.

 

อ้างอิง

Bartosiewicz, László. 2003. There’s something rotten in the state…:Bad smells in antiquity. European Journal of Archaeology. 6(2): 175–195.

Classen, C., D. Howes & A. Synnott. 1994. Aroma: the cultural history of smell. New York: Routledge.

Georgiana-Andreea Vlădușel. 2015. Origin and manifestations of holidays and traditions practiced by Romanians. Buletinul Științific al Universității Tehnice de Construcții București Seria: Limbi Străine și Comunicare. 2:53-61.

Jorge Moreno Andrés & Julián López García (2013) The Pig Slaughter. Anthropology Now. 5(3):102-124.

Jørgensen, Dolly. 2018. Blood on the Butcher’s Knife: Images of Pig Slaughter in Late Medieval Illustrated Calendars. In Bonnie Lander Johnson & Eleanor Decamp (eds.) Blood Matters: Studies in European Literature and Thought, 1400-1700. Philadelphia: University of Pennsylvania Press, pp. 224-37.

Maria Mateoniu-Micu. 2012. Public and the Private in Communist Romania: The Retrospective of a Dynamic Dichotomy Twenty Years after the Demise of the Communist Regime. Martor Revue d’Anthropologie du Musée du Paysan Roumain 17:51-68.

Newstead, Sarah & Tânia Manuel Casimiro. What’s that smell? New directions for materials studies. Antiquity 2020 Vol. 94 (377): 1314–1324.

Onofrei, Alexandra. 2017. Pig rearing, killing and consumption: the healing effects of multispecies engagement for the communities of Ilva Mică and Prundu Bârgăului. Thesis is submitted for the degree of Master by Research in Anthropology, University of Exeter.

Post, Paul. 1996. Rituals and the Function of the Past: Rereading Eric Hobsbawm. Journal of Ritual Studies. 10(2): 85 – 107.

Pursell, Corin C.O. 2020. Sensory approaches to the Woodland and Mississippian cultures of the Eastern Woodlands of North America. In Robin Skeates and Jo Day (eds.). The Routledge Handbook of Sensory Archaeology. Rouledge.

Skeats, Robin & Jo Day. 2020. Sensory archaeology: Key Concepts and debates. In Robin Skeates and Jo Day (eds.). The Routledge Handbook of Sensory Archaeology. Rouledge.

Thomas, Tim. 2020. Sensory archaeology in the Pacific. In Robin Skeates and Jo Day (eds.). The Routledge Handbook of Sensory Archaeology. Rouledge.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save