fbpx
โบราณการครัว ณัฏฐา ชื่อวัฒนา

โบราณคดีร่วมสมัยของศพไร้ชื่อ และ อาหารจานโปรดในความทรงจำของแม่

ณัฎฐา ชื่นวัฒนา เรื่อง

 

หลักฐานโบราณคดีที่ ศ.เจสัน เดอ ลีอน (Jason De León) ศึกษานั้นต่างจากหลักฐานทางโบราณคดีส่วนมาก เพราะหลักฐานโบราณคดีชนิดนี้เป็นหลักฐานที่มี “กลิ่น”

ฝูงแมลงวันบินว่อนไปทั่วพื้นทรายที่ทอดยาวจนสุดลูกหูลูกตา ณ ทะเลทรายโซโนราอันร้อนระอุและแห้งแล้ง ใกล้ๆ กันมีต้นกระบองเพชรและพุ่มไม้ขึ้นเป็นหย่อมๆ สลับกับพื้นทรายโล่งกว้าง มีลมร้อนจนบาดผิวพัดผ่านเป็นระยะ ระหว่างที่นักโบราณคดีกำลังเดินเท้าหาหลักฐานในอดีตของมนุษย์ร่วมสมัย ซึ่งหลักฐานที่ว่าก็รวมถึงร่างกายมนุษย์ที่เพิ่งสิ้นลมหายใจด้วย

การสำรวจทางโบราณคดีตามปกติทั่วไปนั้น นักโบราณคดีจะใช้สายตาในการสำรวจหาร่องรอยของโบราณวัตถุบนผืนดินเป็นส่วนใหญ่ เพราะโบราณวัตถุที่มีอายุตั้งแต่ร้อยถึงพันปีขึ้นไปได้เสื่อมสภาพไปมาก เกือบทั้งหมดสูญเสียรูปลักษณ์ดั้งเดิม รวมทั้ง “กลิ่น” ที่เคยมีไปหมดแล้ว

แต่หลักฐานโบราณคดีที่ ศ.เดอ ลีอน ศึกษา คือร่องรอยของแรงงานนอกระบบ (Undocumented Immigrant) ชาวเม็กซิกันและชาวอเมริกาใต้ที่พยายามลักลอบเดินทางผ่านทางชายแดนประเทศเม็กซิโกบริเวณทะเลทรายโซโนรา แรงงานนอกระบบดังกล่าวเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 จนถึงปัจจุบัน แม้จะมีมาตรการควบคุมเขตแดนต่างๆ เพิ่มขึ้น ตั้งแต่การสร้างกำแพงหรือติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มบริเวณเขตแดน มาตรการที่เข้มงวดต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถลดจำนวนผู้ลักลอบเข้าเมืองลงได้

 

สภาพแวดล้อมบริเวณชายแดนเม็กซิโก-สหรัฐอเมริกา ในบริเวณทะเลทรายโซโนรา (ภาพโดย Dan Sorensen)

 

โลงศพสีสดแขวนอยู่บนรั้วบริเวณชายแดนที่คั่นระหว่างเมืองติฮัวนา กับ เมืองซานดิเอโก สื่อถึงแรงงานนอกระบบที่เสียชีวิตขณะลักลอบข้ามแดน (ภาพโดย Tomas Castelazo)

 

แรงงานส่วนใหญ่มักเริ่มต้นการเดินทางที่เขตแดนบริเวณทะเลทรายโซโนรา พอเดินทางถึงพรมแดน แรงงานทั้งหมดจะทิ้งข้าวของส่วนใหญ่ที่นำติดตัวมา เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ไม่จำเป็น และนำเฉพาะของที่จำเป็นที่สุดติดตัวข้ามพรมแดนไปเท่านั้น เพื่อความคล่องตัวในการเดินทาง จากนั้นแรงงานส่วนมากก็จะเริ่มเดินเท้าจากพรมแดนฝั่งประเทศเม็กซิโกมุ่งหน้าขึ้นเหนือเพื่อข้ามพรมแดนสู่สหรัฐอเมริกา

แต่กว่าจะเดินทางถึงจุดหมาย แรงงานเหล่านี้ต้องเอาตัวรอดกลางทะเลทรายที่ปราศจากน้ำและอาหาร ข้าวของที่ติดตัวไปก็มีจำนวนน้อยแค่พอใส่เป้ใบเล็กๆ ได้เท่านั้น สภาพแวดล้อมในทะเลทรายก็แปรปรวน มีทั้งพายุทราย อากาศที่ร้อนแผดเผาในเวลากลางวันแต่หนาวจัดในเวลากลางคืน และยังต้องคอยซ่อนตัวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก

ปกติแล้วการเดินทางกินเวลาหลายวันจนถึงกว่าสัปดาห์ แต่เพราะความยากลำบากและสภาพแวดล้อมที่ไร้ปราณีในทะเลทรายแห่งนี้ทำให้แรงงานจำนวนมากมายได้เอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่ทะเลทรายโซโนรา แรงงานจำนวนมากกลายเป็นศพไร้ชื่อที่ไร้อัตลักษณ์และถูกลืม สิ่งของเครื่องใช้ที่แรงงานเหล่านี้นำติดตัวมาก็กลายเป็น “ขยะ” จำนวนมหาศาลในมุมมองของเจ้าหน้าที่สหรัฐ ต้องคอยจัดกำลังมาเก็บกวาด “ขยะ” จำนวนมหาศาลเหล่านี้จากพรมแดนทุกปี แต่โครงการวิจัยของ ศ.เดอ ลีอน กลับมองว่าของเหล่านี้เป็น “โบราณวัตถุ” ในนิยามของโบราณคดีร่วมสมัยที่สามารถเล่าเรื่องอดีตร่วมสมัยได้

 

แผนที่แสดงจุดที่แรงงานนอกระบบเสียชีวิต (จุดสีแดง) ในช่วงระหว่างปี 1999-2019 โดยบริเวณที่มีแรงงานเสียชีวิตอย่างหนาแน่นอยู่ในแถบทะเลทรายโซโนรา (Humane Borders Fronteras Compasivas)

 

โบราณคดีร่วมสมัย: ขยะ หรือ โบราณวัตถุ?

 

โบราณคดีร่วมสมัย​ (Archaeology​ of the Contemporary Past) เป็นสาขาทางโบราณคดีที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1990 หรือแค่ราวๆ 30 ปีมานี้เอง แต่โดยหลักการนั้นพัฒนามาจากแนวคิดทางโบราณคดีที่มีมาก่อนในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 โดยความสนใจของนักโบราณคดีสาขานี้จะต่างจากวิชาโบราณคดีเก่าที่เน้นการศึกษาอดีตที่ห่างไกลออกไปเท่านั้น แนวคิดหลักที่ต่างออกไปส่งผลให้วิธีการเก็บข้อมูล เช่น การศึกษาขุดค้น, สำรวจ, และตีความหลักฐานต่างไปจากโบราณคดีแบบเดิมด้วย โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับนิยามและการให้คุณค่าของโบราณวัตถุ ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเก่าแก่เพียงอย่างเดียวอีกแล้ว

Bruneau และ Balut (1982) อธิบายว่า เมื่อวิชาโบราณคดีได้หลุดพ้นจากกรอบการกำหนดอายุเก่า-ใหม่แบบเดิมแล้ว จะทำให้รูปแบบการวิเคราะห์หลักฐานที่เกี่ยวกับมนุษย์เปลี่ยนไป โดยพิจารณาหลักฐานที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ “ในทุกยุคสมัย” ที่เปลี่ยนจากเดิม ทำให้โบราณคดีร่วมสมัยสามารถศึกษาอดีตและวัตถุที่มาจากช่วงระหว่างปลายคริสตศตวรรษที่ 19 – 20 ด้วย

“โบราณวัตถุ” ในนิยามของโบราณคดีร่วมสมัย คือ “ขยะ” ที่ไร้ค่าในนิยามของโบราณคดีเก่านั่นเอง เพราะวิชาโบราณคดีแบบเก่าเน้นการศึกษาวัตถุจากอดีตที่ห่างไกล ยิ่งวัตถุเก่าแก่มากก็ยิ่งมีคุณค่าทางโบราณคดีมากตามไปด้วย แต่วัตถุในปัจจุบันกลับถูกตีค่าเป็น “ขยะ” ที่ไม่มีคุณค่าทางโบราณคดีและไม่จัดเป็น “โบราณวัตถุ” แต่อย่างใด

เนื่องจากโบราณคดีร่วมสมัยเน้นการศึกษาอดีตร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน การขุดค้นจึงไม่ใช่วิธีหลักในการหาข้อมูลอีกต่อไป เพราะโบราณคดีร่วมสมัยเน้นศึกษาปัจจุบันและอดีตอันใกล้ที่ยังดำเนินอยู่ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนักโบราณคดีกับหลักฐานเกิดขึ้นในแนวระนาบแห่งปัจจุบันเพียงสมัยเดียว ต่างจากความสัมพันธ์ในแนวดิ่งที่ได้จากการขุดค้นและลำดับอายุสมัยเก่า-ใหม่ จากชั้นดินในหลุมขุดค้นในงานโบราณคดีเก่า

ความสัมพันธ์แนวระนาบนี้เป็นจุดเด่นที่สุดของโบราณคดีร่วมสมัย เนื่องจากนักโบราณคดีมีชีวิตอยู่ร่วมยุคกับหลักฐานที่ศึกษา ทำให้โบราณคดีร่วมสมัยสามารถศึกษาถึงประเด็นที่เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ได้มากกว่าโบราณคดีเก่าที่มีหลักฐานจำกัด โดยใช้วิธีวิทยาที่หยิบยืมมาจากวิชามานุษยวิทยาหลายสาขา เช่น ชาติพันธุ์วิทยา, มานุษยวิทยากายภาพ, นิติวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

โบราณคดีร่วมสมัยสามารถศึกษาประเด็นทางมานุษยวิทยาที่ซับซ้อนขึ้น เช่น ประสบการณ์, พฤติกรรม, ความทรงจำส่วนบุคคล​ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มักหล่นหายไปตามกาลเวลา เพราะประเด็นทางมานุษยวิทยาเหล่านี้มักถูกกลบจนมิดใต้กรอบการศึกษาอายุสมัย,  รูปแบบ, และคุณค่าทางศิลปกรรมที่เคยเป็นประเด็นสำคัญของงานโบราณคดีเก่า

นอกจากนี้ โบราณคดีร่วมสมัยยังสามารถศึกษาประเด็นทางสังคมอื่นๆ รวมถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน, ภาพชีวิตของคนจน, คนร่อนเร่, ผู้ยากไร้ คนเหล่านี้เป็นบุคคลล่องหนที่ถูกสังคมละเลยตลอดมา นอกจากจะมีชีวิตแบบไร้เสียงในสังคมปัจจุบันแล้ว คนกลุ่มนี้ก็มักเป็นผู้สูญหายจากภาพอดีตที่สร้างจากมุมมองของโบราณคดีเก่าอยู่เสมอ

 

ภาพเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนกับกองเสื้อผ้าของแรงงานนอกระบบที่ชายแดนเม็กซิโก-สหรัฐอเมริกา (The Bureau of Land Management)

 

ภาวะล่องหนของคนที่ถูกลืม

 

จุดหมายของการค้นคว้าอดีตของโบราณคดีร่วมสมัยไม่ใช่การนำเสนอเรื่องเล่าที่เปี่ยมไปด้วยสุนทรียภาพ แต่เป็นการทำเรื่องล่องหนในอดีตให้กลับมามีตัวตนอีกครั้ง การแสดงให้เห็นเด่นชัด (Manifestation) เป็นจุดหมายหนึ่งของโบราณคดีร่วมสมัย หมายถึงการทำอดีตที่หายไปกับกาลเวลาให้กลับมามีตัวตนเด่นชัดอีกครั้ง ทำให้มุมมองและเรื่องราวในอดีตที่เคยถูกซ่อนไว้ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ได้กลับมาเปิดเผยตัวตนให้เห็นและสัมผัสได้อีกในปัจจุบัน อดีตที่หายไปเหล่านั้นอาจรวมถึง ความทรงจำ ประสบการณ์ส่วนบุคคลของคนตัวเล็กตัวน้อย รวมทั้งแง่มุมที่แสดงถึงความเป็นมนุษย์ที่มักหายไปจากบันทึกทางประวัติศาสตร์และการตีความของโบราณคดีเก่า

ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาชีวิตของแรงงานนอกระบบ (Undocumented Immigrant) แถบทะเลทรายโซโนราด้วยแนวทางโบราณคดีร่วมสมัย จึงไม่ได้มีจุดหมายทางวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีจุดหมายทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนด้วย การศึกษาของ ศ.เดอ ลีอน ไม่เพียงแต่สร้างความก้าวหน้าทางวิชาการด้านความรู้ทางโบราณคดีเท่านั้น แต่การศึกษาหลักฐานทางวัตถุเกี่ยวกับแง่ความทรงจำอันละเอียดอ่อนระหว่างการเดินทาง รวมทั้งรายละเอียดในช่วงลมหายใจสุดท้าย ยังได้คืนความเป็นมนุษย์และความเป็นธรรมให้กับแรงงานเหล่านี้ ราวกับเป็นการประท้วงการปฏิบัติของรัฐบาลสหรัฐต่อแรงงานข้ามชาติ ที่ทั้งสร้างเรื่องในแง่ลบและปฏิบัติกับแรงงานราวกับเป็นหนู แมลงสาบ เหล่าสัตว์ที่ก่อความรำคาญ เรื่องราวที่รัฐสร้างส่งผลให้เกิดความชอบธรรมในการจับกุมและปฏิบัติต่อคนเหล่านี้ด้วยกำลังรุนแรง

ในสายตาของทางการ แรงงานนอกระบบเป็นได้ทั้ง ”ขยะ”, ผู้สร้าง “ขยะ, ต้นเหตุของความสกปรกและสถิติทางอาชญากรรมที่ทางการต้องคอยเก็บกวาดไปให้พ้นตา เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม จึงอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เรื่องราวของแรงงานเหล่านี้ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์จนเหลือเพียงกลุ่มตัวเลขทางสถิติที่ไร้ชีวิตในรายงานเล่มหนาของรัฐบาล กลายเป็นข้อมูลไร้ชื่อ ไร้ตัวตน อัตลักษณ์

กลายเป็นตัวเลขไร้ความหมายที่ถูกลืมในที่สุด

แรงงานนอกระบบชาวเม็กซิกันและชาวอเมริกาใต้ในสหรัฐอเมริกา คือกลุ่มคนที่ถูกลืมทั้งในขณะที่มีชีวิตและสิ้นลมหายใจ เรื่องราวของคนกลุ่มนี้ถูกตีตราด้วยคำว่า “Undocumented (แปลว่า นอกระบบ)” ที่มีความหมายแฝงอีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องราวของแรงงานกลุ่มนี้จะ “ไม่ถูกบันทึก” ในระบบ ดังนั้น เรื่องราวของแรงงานข้ามแดนจึงหายไปจากเรื่องอดีตกระแสหลัก สาเหตุหนึ่งก็เพราะเรื่องราวนี้ไม่งดงามน่าฟัง ไม่สร้างความบันเทิงเท่ากับเรื่องราวโบราณคดีเทพนิยายอลังการ แถมยังเต็มไปเรื่องราวของความยากแค้นและทุกข์ทรมาน

 

ตารางแสดงชนิด, ประเภท, และปริมาณของ “ขยะ” ที่เก็บกวาดไปจากชายแดนเม็กซิโก-สหรัฐอเมริกา (The Bureau of Land Management)

 

เศษซากแห่งความทุกข์ทรมาน

 

หลักฐานทางวัตถุของแรงงานนอกระบบที่หลงเหลือบนพื้นทรายในทะเลทรายโซโนรา เผยให้เห็นถึงช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตที่หายไปจากบันทึกและความทรงจำของญาติมิตรต่อผู้ตาย กองข้าวของที่กระจัดกระจายและวัตถุสีจางจากแดดทะเลทราย เผยให้เห็นความคิดและมุมมองส่วนบุคคลต่อการเดินทางข้ามทะเลทรายที่ได้กลายเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายในหลายกรณี

ข้าวของต่างๆ ถูกบรรจุในเป้ใบเล็กและกระเป๋าเงินของแรงงาน ส่วนมากเป็นของจำเป็นที่มีความหมายสำคัญทางจิตใจต่อผู้ตาย พอที่จะนำติดตัวข้ามพรมแดนมาได้ นอกจากบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว ก็มีของจุกจิกประเภทรูปถ่ายครอบครัว, บทสวดภาวนาที่เขียนไว้บนเศษกระดาษด้วยลายมือ, รูปเคารพทางศาสนา, ไม้กางเขนที่แสดงถึงความเชื่อส่วนบุคคล, ของใช้ประจำวันจำพวกแปรงสีฟัน มีดโกนหนวดที่กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นนั้น สื่อถึงร่องรอยในชีวิตประจำวัน รวมทั้งวัตถุที่สามารถระบุถึงเพศของผู้ใช้ เช่น ยกทรง กางเกงใน ที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดตามพุ่มไม้

รองเท้าเป็นของชิ้นสำคัญในการเดินทาง รองเท้าที่พบส่วนใหญ่มีสภาพผุพัง พื้นรองเท้าเปิดอ้า รองเท้าบางคู่ถูกมัดไว้ด้วยกันด้วยถุงเท้าเพื่อที่จะใช้งานต่อได้กลางทะเลทราย ความเสียหายนี้เกิดจากการใช้งานอย่างหนัก จากการเดินผ่านพื้นผิวขรุขระที่เต็มไปด้วยหิน รองเท้าที่เสียหายมักทำให้เกิดแผลที่เท้า ทำให้ฝ่าเท้าพุพองเป็นแผลอย่างรุนแรงได้

ซากรองเท้าที่เปื้อนเลือด กางเกงชุ่มปัสสาวะ ชุดชั้นในที่เต็มไปด้วยคราบประจำเดือน ซากวัตถุเหล่านี้มีร่องรอยที่แสดงถึงความเจ็บปวด ความยากลำบาก ความรุนแรง และความทุกข์ทรมานที่แรงงานได้รับระหว่างการเดินทาง

หากโชคร้ายถูกเจ้าหน้าที่จับ แรงงานก็จะถูกจับมัดมือก่อนถูกนำไปขังคุก เชือกที่ใช้มัดมือแรงงานที่แสดงถึงความรุนแรงจากรัฐ ก็เป็นวัตถุที่สามารถพบได้ทั่วไปตามเส้นทางในทะเลทรายแห่งนี้

การเดินทางข้ามทะเลทรายของแรงงาน ไม่เพียงทำให้เกิดบาดแผลและความทุกข์ทรมานทางกายเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดบาดแผลทางใจ โดยการพบเห็นความโหดร้ายระหว่างการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการจี้ปล้น, ซากศพ, ความตายที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง ก็ทำให้เห็นผลกระทบ รวมทั้งบาดแผลทั้งกายและใจของแรงงานอพยพที่ไม่อาจสังเกตได้จากการศึกษาเรื่องราวจากวัตถุเพียงอย่างเดียว

พลังในเรื่องเล่าของโบราณคดีร่วมสมัย คือการสร้างเรื่องราวที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นมนุษย์​ทั้งดีและร้าย​ การนำมุมมองอัตวิสัยของนักโบราณคดีมาสื่อสารประสบการณ์ที่พบเห็น​ ทำให้คนปัจจุบันสามารถเข้าใจสารที่สื่อได้แทบจะในทันที การสื่อสารที่ทรงพลัง​และเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก​ ทำให้รายงานของโบราณคดีร่วมสมัยมีลักษณะของกลวิธีการสื่อสารเชิงวรรณกรรม​ ส่งผลให้ตัวรายงานไม่ได้เป็นแค่บันทึกทางเทคนิคเช่นงานโบราณคดีเก่าอีกต่อไป ข้อมูลทางโบราณคดีร่วมสมัยที่ถูกสร้างขึ้น​ สามารถแปรข้อมูลที่ได้เป็นเรื่องเล่าของผู้คน​ เรื่องเล่าที่ได้ยังสร้างบทสรุป​ (Closure)​ ตอบคำถามถึงชะตากรรมของผู้ตายต่อญาติมิตรของผู้เสียชีวิต​ เพื่อเริ่มต้นกระบวนการเยียวยาทางจิตใจของผู้อยู่ข้างหลัง

 

แม่ของผู้สูญหายแห่งซินาโลอา

 

คุณวิโอเลตตา มัลโดนาโด วัลเดซ (Violetta Maldonado Valdez) เป็นแม่ของคุณมาเรียน (Marian Gisele Río Maldonado) คุณมาเรียนได้หายตัวไปในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2014 หลังจากที่คุณมาเรียนหายตัวไป คุณวิโอเลตตาก็ตามหาลูกสาวอย่างไม่ลดละ จนกระทั่งคุณวิโอเลตตาเจอศพของลูกสาวในหลุมฝังศพแห่งหนึ่ง เมื่อขุดดินออกไปคุณวิโอเลตตาเห็นกระโปรงแล้วก็จำลูกสาวของตัวเองได้ เธอบอกคนอื่นๆ ทันทีว่า “นี่แหละลูกฉัน”

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคุณวิโอเลตตาและลูกสาว เกิดจากแก๊งค้ายาเสพติดและกลุ่มติดอาวุธในรัฐซินาโลอา (Sinaloa) ประเทศเม็กซิโก ที่มีการฆ่า ลักพาตัว และการบังคับสูญหายเกิดขึ้นรายวัน มีจำนวนคนหายมากเกินกว่าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะติดตามได้หมด จนกระทั่งพวกแม่ๆ และญาติของผู้สูญหายได้รวมตัวกันตั้งองค์กรชื่อว่า Las Rastreadoras del Fuerte ขึ้นเพื่อตามหาผู้สูญหาย

กลุ่มคุณแม่ของผู้สูญหายรวมตัวกันหาร่องรอยของผู้สูญหายด้วยตัวเองโดยใช้วิธีการสอบถามคนทั่วไป เดินสำรวจในพื้นที่ที่ได้เบาะแสเพื่อหาร่องรอยของหลุมฝังศพ หากพบพื้นที่น่าสงสัย พวกแม่ๆ ก็จะใช้พลั่วขุดเปิดดินเพื่อหาร่องรอย และใช้เหล็กแหลมยาวราว 3 ฟุต แทงลงไปที่ก้นหลุม หากมีหลักฐานพวกเศษเสื้อผ้า, เนื้อเยื่อ, เส้นผม, หรือกลิ่นซากศพติดขึ้นมาที่ปลายเหล็กแหลม ก็แสดงว่ามีซากศพอยู่ด้านล่าง เมื่อแน่ใจว่าพบศพแล้ว เหล่าคุณแม่ก็จะเปิดหน้าดินเพื่อกู้ศพขึ้นมาพิสูจน์ตัวตนต่อไป

ฉันทึ่งกับวิธีการทำงานของเหล่าคุณแม่ชาวเม็กซิกันกลุ่มนี้มาก เพราะวิธีการหาร่องรอยและหลักฐานเหล่านี้แทบจะไม่ต่างจากวิธีการทางชาติพันธุ์วิทยา รวมทั้งการสำรวจทางโบราณคดีในปัจจุบันเลย และเป็นอีกครั้งที่ “กลิ่น” เป็นร่องรอยสำคัญในการสืบหาร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ร่วมสมัยที่เกี่ยวข้องกับผู้สูญหาย

สำหรับหลักฐานทางโบราณคดีที่มีอายุเก่าแก่ ผัสสะจำพวก รส, กลิ่น, เสียง, สัมผัส มักเป็นสิ่งแรกๆ ที่หายไปจากข้อมูลทางโบราณคดี หากอธิบายกันแบบกำปั้นทุบดินแล้ว ก็พูดได้ว่าโบราณคดีนั้นศึกษาแต่สิ่งที่ตายไปแล้วเป็นส่วนมาก

พอสิ่งมีชีวิตหมดลมหายใจไปแล้ว ร่างกายก็กลายเป็นร่างแน่นิ่งไร้การรับรู้ สิ้นสภาพเดิม ไร้เสียง สุดท้ายเมื่อกาลเวลาผ่านไป ร่างนั้นก็เหลือเพียงเศษเสี้ยวของร่างกายที่เคยมี แถมอดีตที่ห่างไกลยังพรากเอาความทรงจำของผู้ตายไปจากคนรอบตัวอีก

สำหรับแม่ของผู้สูญหายชาวเม็กซิกัน ความทรงจำและประสบการณ์ที่มีกับลูกเป็นสิ่งสุดท้ายที่แม่ๆ เหล่านี้เก็บเอาไว้ได้ โดยเฉพาะสูตรอาหารจานโปรดของลูกที่แม่เคยทำ ที่ยังคงรายละเอียดแจ่มชัดในความทรงจำของแม่เกือบทุกคน คุณแม่เหล่านี้ใช้การปรุงอาหารจานโปรดของลูกเป็นทั้งเครื่องเตือนความทรงจำและการสร้างประสบการณ์ในอดีตเกี่ยวกับลูกให้กลับมาแจ่มชัดอีกครั้ง

แม้ว่าประสบการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ และคงอยู่เพียงชั่วขณะที่ลิ้มรสก็ตาม

 

เซวิเช (Ceviche) ในความทรงจำของแม่

 

เซวิเชกุ้ง จากสูตรของคุณวิโอเลตตา (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

องค์กร Las Rastreadoras del Fuerte ได้รวบรวมอาหารจานโปรดของผู้สูญหายเป็นตำราอาหารที่บรรจุเรื่องราวความทรงจำของแม่และลูกเอาไว้ อาหารโปรดของคุณมาเรียนในขณะที่มีชีวิตคือ เซวิเชกุ้ง (Shrimp Ceviche) มีลักษณะคล้ายยำกุ้งที่ที่มีรสเปรี้ยวเผ็ด เป็นอาหารยอดนิยมในแถบเม็กซิโกและอเมริกาใต้ สูตรอาหารเซวิเชจากต้นฉบับของคุณวิโอเลตตานั้นไม่มีสัดส่วนของวัตถุดิบเลย มีแต่รายชื่อส่วนประกอบและวิธีการทำแบบรวบรัดเท่านั้น ฉันจึงจำเป็นต้องเดาวิธีทำจากแนวทางที่รวบรัดนั้น จนได้วิธีทำและส่วนประกอบที่พอหาได้ในเมืองไทย ดังนี้

ส่วนประกอบ: กุ้ง​ (กุ้งขาวขนาดใหญ่)​ 15 ตัว, พริกเซราโน (Serrano chile) 1 เม็ด, ซัลซ่า​เผ็ด 1 ช้อนโต๊ะ หากหาซัลซ่าไม่ได้ อาจใส่ซอสพริกศรีราชาผสมพริกขี้หนูตำหรือซอสตาบาสโก (Tabasco) แทนได้, เครื่องดื่มผสมที่ทำจากน้ำมะเขือเทศผสมน้ำตาลหรือที่เรียกว่า คลามาโต้​ (Clamato) 2 ช้อนโต๊ะ, เครื่องเทศ, น้ำต้มหอยกาบ ที่มักใช้เป็นส่วนผสมเครื่องดื่มคอกเทล, หอมใหญ่สับ​ 3 ช้อนโต๊ะ, มะเขือเทศสับหยาบ​ 3 ช้อนโต๊ะ, ผักชีสับ 2 ช้อนโต๊ะ, น้ำมะนาว​ 1/2 ลูก, เกลือและพริกไทยปรุงรสตามชอบ

วิธีทำ: นำกุ้ง (กุ้งสดหรือต้มแล้วแต่สะดวก) แกะแต่เนื้อมาฉีกหรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก นำเนื้อกุ้งที่ได้ไปปรุงรสด้วยเกลือ พริกไทย และน้ำมะนาว จากนั้นก็ใส่หอมใหญ่และมะเขือเทศหั่นเป็นชิ้นลูกเต๋า, ผักชีสดหั่น, พริกเซราโนหั่น ปรุงรสเพิ่มด้วย Huichol salsa จากนั้นก็ใส่คลามาโตแช่เย็นตามลงไป สูตรเซวิเชที่ผสมคลามาโตนี้ได้รับความนิยมในเม็กซิโกและเป็นรสชาติที่คุณมาเรียนโปรดปราน พอใส่ส่วนผสมทั้งหมดลงไปในอ่างผสมแล้วก็คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรุงรสตามชอบพร้อมรับประทาน จะกินเป็นอาหารจานเดียวแบบยำ หรือจะกินกับแผ่นตอร์ติย่าก็ได้

ฉันละเลียดรสเซวิเชกุ้งรสเปรี้ยวเผ็ด พลางครุ่นคิดถึงคุณค่าของเรื่องเล่าในนิยามของโบราณคดีเก่าและโบราณคดีร่วมสมัย โบราณคดีเก่าให้คุณค่ากับข้อมูล (Data) และการกำหนดอายุ (Chronological order) อย่างมาก เพราะข้อมูลที่ได้นั้นแยกขาดจากยุคสมัยในปัจจุบัน สิ้นความทรงจำ รวมทั้งความเป็นมนุษย์ที่อาจเชื่อมต่อกับความรับรู้ของคนในปัจจุบันได้ไปเกือบหมด

ในขณะที่คุณค่าของโบราณคดีร่วมสมัยนั้นกลับต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง โบราณคดีร่วมสมัยให้คุณค่ากับการเล่าเรื่อง (Storytelling) และการนำเสนอเรื่องราวอย่างมีชีวิตชีวาพอๆ กับการรวบรวมข้อมูลทางวัฒนธรรม เรื่องเล่าที่มีชีวิตชีวานั้นสร้างความเป็นมนุษย์ให้กลับคืนมาได้และยังเป็นการลดระยะห่างของมนุษย์ในอดีตและปัจจุบันให้เข้ามาใกล้กัน คล้ายกับเรื่องราวในหนังสืองานศพที่คนไทยคุ้นเคย

ฉันคิดว่าการทำงานของนักโบราณคดีนั้นมีความคล้ายคลึงกับการเขียนหนังสืองานศพอยู่มากทีเดียว โดยเฉพาะในแง่ของการเล่าเรื่องในฐานะคนนอก เพราะหนังสืองานศพส่วนมาก ผู้เขียนมักเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงใกล้ชิด ที่ร่วมกันจัดพิมพ์เรื่องราวอุทิศให้แก่ผู้ตายด้วยความอาลัยรัก เรื่องราวในเล่มส่วนมากก็เป็นความทรงจำฉบับสังเขปของผู้วายชนม์ บรรจุประวัติและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากประสบการณ์ของผู้เขียนในฐานะญาติสนิทมิตรสหาย

พูดได้ว่าหนังสืองานศพเป็นหนังสือที่ผู้ตายไม่ได้เขียน ผู้เขียนไม่ได้ตาย และผู้อ่านก็ยังมีลมหายใจ คล้ายกับการเล่าเรื่องและการทำงานโบราณคดีมากทีเดียว

วิชาโบราณคดีกับการจัดพิมพ์หนังสืองานศพนั้นมีส่วนคล้ายกันมากในส่วนนี้ คือนักโบราณคดีเขียนเรื่องสิ่งที่ตายไปแล้ว (วัฒนธรรมในอดีต) จากมุมมองของผู้มีชีวิต (ปัจจุบัน) แต่สิ่งที่ทำให้หนังสืองานศพที่เขียนโดยญาติมิตรนั้นเหนือกว่าการทำงานทางโบราณคดีก็คือ ความทรงจำที่มีความหมายของผู้ตายกับครอบครัว ประสบการณ์ร่วมจากความทรงจำทำให้เรื่องราวของผู้วายชนม์ที่บรรจุอยู่ในหนังสือเปี่ยมไปด้วยความหมายและความเป็นมนุษย์ แม้แต่ผู้อ่านที่เป็นคนนอกก็ยังสัมผัสได้

หากไม่มีการสื่อสารความเป็นมนุษย์แล้ว ก็ยากที่คนปัจจุบันจะมองอดีตโบราณให้มีความเป็นมนุษย์ได้ ส่วนมากผู้อ่านหรือประชาชนทั่วไปย่อมสัมผัสและรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์จากเรื่องราวในอดีตที่ใกล้ตัวได้มากกว่า​เรื่องอดีตอันไกลโพ้นที่กลายเป็นเรื่องของ​ “คนอื่น” อยู่แล้ว ยิ่งหลักฐานเก่าแก่ ดูเหมือนเรื่องราวที่ได้ก็ยิ่งมีความเป็นมนุษย์น้อยลงตามไป ธรรมชาติของกาลเวลากัดกร่อนบ่อนเซาะจนเหลือร่องรอยน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้เรื่องราวจากหลักฐานที่จำกัดของอดีตอันเก่าแก่ทวีความเป็น “คนอื่น” มากขึ้นอีก

ถ้าปราศจากความทรงจำและคำบอกเล่าเรื่องอาหารจานโปรดของคุณมาเรียน จากปากคำของคุณวิโอเลตตาแล้ว ฉันแน่ใจว่าเรื่องราวของคุณมาเรียนจากการวิเคราะห์หลักฐานฐานวัตถุนั้นคงเป็นแค่คำบรรยายที่รวบรัด หรือเป็นเรื่องราวที่เน้นที่ความทุกข์ทรมานช่วงสุดท้ายของชีวิต –ซึ่งเป็นเวลาส่วนน้อยของชีวิตเท่านั้น– หากปราศจากปากคำของคุณวิโอเลตตา เราคงไม่มีทางรู้เลยว่าอาหารที่คุณมาเรียนชอบกิน คือเซวิเชที่มีรสเผ็ด…เผ็ดจนน้ำตาไหล.

 

อ้างอิง

Beck, Jess. Ian Ostericher, Gregory Sollish, and Jason De León. 2015. Animal Scavenging and Scattering and the Implications for Documenting the Deaths of Undocumented Border Crossers in the Sonoran Desert. Forensic Science. 60 (S1).

Bruneau, P., and Balut, P.-Y. 1982. “Positions”. Revue d’Archéologie Moderne et d’Archéologie Genérale 1: 3–33.

De León, Jason. 2013. Undocumented migration, use wear, and the materiality of habitual suffering in the Sonoran Desert. Journal of Material Culture. 18(4) 321–345.

De León, Jason. 2015. The Land of Open Graves: Lliving and Dying on The Migrant Trail. University of California Press.

Gonzalez-Ruibal, Alfredo. 2019. An Archaeology of the Contemporary Era. Routledge.

Lucini, Zahara Gómez and Las Rastreadoras del Fuerte. 2020. The Memory Recipe Book: A collective project.

Sam Grabowska, Sam and John Doering-White. 2016. Material Memories (Re) Collecting Clandestine Crossings of the U.S.-Mexico Borderlands. In Maria Theresia Starzmann and John R. Roby (eds). Excavating Memory: Sites of Remembering and Forgetting. University Press of Florida (pp.199-217).

The Bureau of Land Management. 2016. Southern Arizona Project 2016 Border Report. The Bureau of Land Management, Arizona Office.

Holtzman, Jon D. 2006. Food and Memory. Annu. Rev. Anthropol. 35: 361–78.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save