fbpx
แวววับ จับใจ ไร้ลิ้น: พัฒนาการของโบราณคดีชาตินิยมอลังการ กับ มื้ออาหารที่หายไป

แวววับ จับใจ ไร้ลิ้น: พัฒนาการของโบราณคดีชาตินิยมอลังการ กับ มื้ออาหารที่หายไป (2)

ณัฎฐา ชื่นวัฒนา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

อ่าน แวววับ จับใจ ไร้ลิ้น: การเมือง โบราณคดีชาตินิยมอลังการ กับมื้ออาหารที่หายไป (1)

ทำ “ฝรั่ง” ให้เป็น “ไทย”

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2460-2490 โบราณคดีอาณานิคมจาก “ตะวันตก” ได้ถูกทำให้เป็น “ไทย” โดยผ่านการนุ่งผ้าแถบ สวมชฎา แปลงร่างวิชาโบราณคดีอาณานิคมแบบฝรั่ง ให้เป็นสกุลความรู้ทางศิลปศาสตร์แขนงหนึ่งของไทยอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้มุมมองทางโบราณคดีโดยเฉพาะโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์กลายเป็นโบราณคดีกระแสหลักของไทย ความรู้ทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อส่งเสริมแนวคิดชาตินิยม ที่ชนชั้นปกครองไทยใช้วิชาโบราณคดีเป็นเครื่องมือในการก่อร่างสร้างอัตลักษณ์ของชาติ ผ่านการศึกษาลักษณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมในอดีตด้วยแนวคิดนำเข้าแบบ “โบราณคดีชาตินิยมอลังการ” โดยให้ความสำคัญกับโบราณวัตถุในฐานะศิลปวัตถุ ตามกรอบวิชางานช่างแบบไทยประเพณี โบราณคดีไทยในฐานะสกุลช่างไทยประเพณี สัมพันธ์โดยตรงกับมุมมองของโบราณคดีชาตินิยมอลังการในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

การศึกษาอดีตในลักษณะของ “ช่างหลวงอุปถัมภ์” เน้นการศึกษาประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำ ดังที่ปรากฏความในประกาศจัดการตรวจรักษาของโบราณ วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2466 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ความว่า “…ในสยามประเทศมีของโบราณ เช่น เจดียสถาน และวัตถุต่างๆ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินและช่างผู้ชำนาญศิลปะศาสตร์ได้สร้างไว้แต่ปางก่อนเป็นอันมาก ของโบราณเช่นกล่าวมาย่อมเป็นหลักฐานในทางพงศาวดารและเป็นเครื่องอุปกรณ์การตรวจตราหาความรู้โบราณคดีต่างๆ อันเจริญประโยชน์และเกียรติยศของบ้านเมือง เพราะฉะนั้นบรรดาอารยประเทศจึงถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องเอาเป็นธุระเกื้อกูลการตรวจรักษาของโบราณอันมีอยู่ในประเทศของตน…”

ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ลักษณะแนวคิดในการทำงานทางโบราณคดียังเป็นคงรูปแบบเดิม คือ เน้นการศึกษาศิลปวัตถุและหลักฐานเกี่ยวกับพงศาวดารเป็นหลัก วิชาโบราณคดีก็ถูกนำมารับใช้อุดมการณ์ชาตินิยมของรัฐอย่างเปิดเผยและเป็นระบบผ่านการสื่อสารในช่องทางต่างๆ

ในเวลานี้ นิยามของโบราณสถาน โบราณวัตถุ และหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ ที่ควรค่าแก่การดูแลรักษา เชื่อมโยงโดยตรงกับความเป็นศิลปวัตถุและคุณค่าทางศิลปะ ดังที่ปรากฏในพระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ. 2477 ซึ่งกำหนดให้โบราณสถาน, โบราณวัตถุ และหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ เป็นสมบัติของชาติ และต้องได้รับการดูแลเป็นมาตรฐานจากรัฐบาลส่วนกลาง ทำให้งานโบราณคดีไทยในช่วงนี้ เน้นการศึกษาด้านงานช่าง ยังคงสถานะของความเป็น “ช่างหลวงอุปถัมภ์” ไม่ได้เป็น “สำนักคิด” แต่อย่างใด

โบราณคดีในมหาวิทยาลัยช่าง

วิชา “โบรานคดี” (สะกดแบบเก่า) ในฐานะวิชาช่าง ได้ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร มีพระยาอนุมานราชธนเป็นอธิการบดีคนแรก ดังเนื้อความในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 54 เล่มที่ 60 วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 3 “…ไห้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมหาวิทยาลัยหนึ่ง เรียกว่า “มหาวิทยาลัยสิลปากร” มีหน้าที่จัดการสึกสาวิชาประติมากัม จิตรกัม ดุริยางคสิลป นาตสิลป วิชาโบรานคดี และวิชาสิลปอย่างอื่น…

ประวัติของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2498 มีจุดประสงค์ คือ สร้างบุคลากรทางโบราณคดีเพื่อเข้ารับราชการในกองโบราณคดี กรมศิลปากร และผลิตนักวิชาการด้านโบราณคดีในประเทศไทย “…เนื่องจากเล็งเห็นว่าในประเทศไทยเป็นประเทศที่มีโบราณวัตถุสถานอยู่เป็นจำนวนมาก โบราณวัตถุสถานเหล่านี้ย่อมเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชาติ เป็นเครื่องผูกพันและช่วยกระตุ้นเตือนให้คนในชาติรู้สึกภาคภูมิใจ รักชาติ มุ่งมานะที่จะรักษาเอกราชของชาติให้ดำรงคงอยู่ตลอดกาล การศึกษาโบราณคดีเท่ากับเป็นการช่วยรักษาวัฒนธรรมอันสูงส่งของชาติไว้มิให้สูญหาย จึงควรมีบุคลากรที่สามารถศึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจและรักษาโบราณวัตถุสถานของชาติไว้…” มุมมองและนิยามดังกล่าว เป็นสิ่งเดียวกับนิยามของ “โบราณคดีชาตินิยมอลังการ” นั่นเอง

หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ภาพจากหนังสือพระราชทานเพลิงศพ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์)
หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ภาพจากหนังสือพระราชทานเพลิงศพ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์)
อ.ชิน อยู่ดี (ภาพจากหนังสือพระราชทานเพลิงศพ อ.ชิน อยู่ดี)
อ.ชิน อยู่ดี (ภาพจากหนังสือพระราชทานเพลิงศพ อ.ชิน อยู่ดี)

หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดของ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรกของคณะโบราณคดี คณาจารย์ท่านสำคัญในช่วงแรกก่อตั้งที่รู้จักกันดีหลายท่าน คือ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล และ อ.ชิน อยู่ดี บิดาของวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย โดย อ.ชิน เพิ่งกลับจากการอบรมวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากประเทศอินเดีย ซึ่งใช้ระบบการเรียนการสอนแบบอังกฤษในช่วงปี พ.ศ. 2496 – 2497

ในช่วงแรกของการก่อตั้งคณะโบราณคดี วิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ยังคงแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกับความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยอย่างแยกกันไม่ออก ดังที่ปรากฏในการศึกษาของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ที่จัดจำแนกรูปแบบศิลปวัตถุตาม “ฝีมือช่าง” และการลำดับอายุโดยเรียงลำดับเวลาจากราชวงศ์ที่เรืองอำนาจ ซึ่งเป็นลำดับเวลาตามแบบพงศาวดารไทย (หนังสือ “เรื่องโบราณคดี” หนังสือประกอบงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ วันที่ 10 พฤจิกายน พ.ศ. 2531) ซึ่งการลำดับเวลาและการใช้ฝีมือช่างในการจำแนกรูปแบบทางศิลปะและลำดับยุคสมัยทางโบราณคดีนั้น กลายเป็นมาตรฐานในการลำดับยุคสมัยในงานโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ของไทยในเวลาต่อมา ดังปรากฏในงานพระนิพนธ์หลายเล่มของ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ด้วย

งานวิจัยด้านโบราณคดีทั้งสองสาขา ทั้งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์และโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่เพิ่งก่อร่างสร้างวิชา ยังคงเน้นการศึกษาหลักฐานเชิงประจักษ์จากโบราณวัตถุสถานต่างๆ เป็นหลักเช่นเดิม และมองอดีตในภาพกว้างแบบภูมิภาคและการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัตถุในภาพรวม ไม่ได้อธิบายอดีตในแบบปัจเจกบุคคล พฤติกรรม และชีวิตประจำวันของคนธรรมดาแต่อย่างใด

หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล
หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล (ภาพจาก Wikipedia)

เรื่องเล่านอกสายตา: โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ขณะที่วิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ไทยได้มาซึ่งสถานะที่มั่นคงในวงวิชาการไทยแล้ว วิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เพิ่งเริ่มก่อตัวขึ้นในฐานะ “คนนอก” โดยข้อมูลทางโบราณคดีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ไม่ได้แสดงถึงความยิ่งใหญ่ “อลังการ” ของประวัติศาสตร์ชาติไทย เช่นเดียวกับความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ เนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้นไม่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ “อลังการ” ของประวัติศาสตร์ชาติไทยในอุดมคติของชนชั้นปกครองของไทย

ในทางกลับกัน หลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ผูกพันกับการศึกษาวิถีชีวิตและการใช้เทคโนโลยีของชนพื้นเมือง ได้กลายเป็นเรื่องแสดงถึงความ “โง่เง่าเต่าตุ่น” มากกว่าความเป็น “อารยะ” ดังที่พระยาอนุมานราชธน อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับชนพื้นเมืองไว้ในคำนำหนังสือ “กำเนิดคน” ว่า: “…ถ้าเอาชาวเกาะเจ้าของถิ่นในทวีปออสเตรเลีย หรือชาวป่าที่อยู่กลางทวีปแอฟริกา ซึ่งมีความเป็นอยู่เลวทรามต่ำต้อยที่สุดในบรรดามนุษย์ด้วยกัน, ความผิดแปลกกับลิงยิ่งน้อยลงไปอีก, เพราะมนุษย์จำพวกนี้โง่เง่าเต่าตุ่นที่สุด รูปร่างหน้าตาตลอดจนความเป็นอยู่ก็น่าเกลียดที่สุด เทียบกับลิงโกริลาก็ปานๆ กัน… (หน้า ข, 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480)”

คำอธิบายนี้จัดวางวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ให้อยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าในยุคแรกเริ่มไปโดยอัตโนมัติ เพราะโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้นใช้องค์ความรู้ที่มาจากชนพื้นเมืองในพื้นที่ต่างๆ ของโลกเป็นส่วนมาก ซึ่งวัฒนธรรมทางวัตถุในรูปแบบนี้มักไม่มีองค์ประกอบที่แสดงถึง “ความยิ่งใหญ่อลังการของชาติบ้านเมือง” เช่นเดียวกับหลักฐานทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นคำอธิบายในแบบ “โบราณคดีอาณานิคม” ที่มีอิทธิพลมากในหมู่ปัญญาชนสยามช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ทำให้วิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ไทยไม่ถูกครอบไว้ด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมอย่างแน่นหนาเท่ากับโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์

หลักฐานทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะสมัยสุโขทัยและอยุธยา เกี่ยวพันโดยตรงกับประวัติศาสตร์การปกครองของไทยปัจจุบัน การศึกษาอดีตในช่วงเวลานี้จึงมีนัยยะทางการเมืองสูงและมากกว่าโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์มาก ดังพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในปี พ.ศ. 2506 ความว่า “…เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย…”

ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่มีนักวิชาการต่างชาติเคยเข้ามาทำการขุดค้นในแหล่งโบราณคดีสมัยอยุธยาและสุโขทัยเลย นับตั้งแต่สมัยที่งานโบราณคดียังอยู่ภายใต้การดูแลของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในขณะที่แหล่งโบราณคดีสมัยทวาราวดีและสมัยก่อนประวัติศาสตร์อื่นๆ มีการขุดค้นโดยนักโบราณคดีต่างชาติและมีความร่วมมือในการศึกษาระหว่างกรมศิลปากรและนักวิชาการต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอตลอดมา

แม้เรื่องเล่าและตรรกะของวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ไทย จะไม่ได้อยู่ใต้กรอบคิดของ “ชาตินิยมอลังการ” มากเท่าสมัยประวัติศาสตร์ แต่โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ไทยก็ยังไม่สามารถหลุดจากกรอบความรู้ของช่างได้ ดังนั้น การศึกษาหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในช่วงแรกจึงเน้นที่การศึกษารูปแบบของโบราณวัตถุโดยการบรรยายอย่างละเอียด จนเป็นขนบของการทำงานไปแบบกลายๆ

ส่วนลักษณะในการตีความโบราณวัตถุก็มีลักษณะคล้ายกับการตีความทางประติมานวิทยา (Iconography) ที่มีหลักการและการให้ความหมายโบราณวัตถุแต่ละชนิดค่อนข้างตายตัวอย่างมากในช่วงแรก เช่น หลุมศพแสดงถึงพิธีกรรม, เครื่องมือหินแสดงถึงทักษะการผลิดเครื่องมือ, ภาชนะดินเผาแสดงให้เห็นทักษะงานช่าง ฯลฯ นอกจากนี้ วิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยังเน้นการศึกษาแง่มุมเกี่ยวกับทักษะและเทคโนโลยีด้านงานช่างในการผลิตโบราณวัตถุ เช่น การผลิตภาชนะดินเผา, การทำโลหกรรม, เครื่องมือหิน, การทำลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว ฯลฯ เช่นเดียวกับโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ แต่การศึกษาอดีตของมนุษย์ในโบราณคดีทั้งสองแบบยังเป็นการศึกษาอดีตที่ “ไร้ลิ้น” ไม่มีเรื่องอาหารการกินและชีวิตคนธรรมดาอยู่เช่นเดิม คล้ายกับปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์

ในตอนนี้วิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์กำลัง “หาที่ทาง” ของตัวเองที่จะเข้ามาอยู่ในกรอบของประวัติศาสตร์กระแสหลักแบบ “ชาตินิยมอลังการ” เพื่อหลีกหนีภาพจำที่ว่าช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องของ “พวกโง่เง่า, ป่าเถื่อน” ไม่แสดงถึงความศิวิไลซ์ของชาติและความก้าวหน้าทางวัฒนธรรม เช่นเดียวกับหลักฐานด้านศิลปกรรมในสมัยประวัติศาสตร์

วิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เพิ่งจะถูกผนวกรวมเข้าไปในเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทยอย่างเป็นทางการ ในช่วงหลังทศวรรษที่ 1970 หลังจากการค้นพบและขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงความ “อลังการ” เชิงทักษะช่างศิลป์ รวมทั้งความเป็น “อารยธรรมยิ่งใหญ่ที่สูญหาย” (Anderson, 1991) ของไทย

วิทยาศาสตร์ในงานโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ช่วงสงครามเย็น

ช่วงทศวรรษที่ 1970 ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามเย็น (ประมาณ พ.ศ. 2503 – 2513) มีความสำคัญต่องานโบราณคดีไทยร่วมสมัยเป็นอย่างมาก เพราะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์

เหตุการณ์แรก คือ โครงการความร่วมมือทางโบราณคดีระหว่างไทย – เดนมาร์ก (The Thai – Danish Prehistoric Expedition) มีการสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ในบริเวณลุ่มแม่น้ำแควน้อยและแควใหญ่ ในปี พ.ศ. 2503 – 2505 ซึ่งเป็นความร่วมมือทางโบราณคดีระหว่างประเทศโครงการแรก และมีความสำคัญกับพัฒนาการโบราณคดีไทยเป็นอย่างมาก เพราะนักโบราณคดีไทยได้เรียนรู้หลักการขุดค้นแบบสากล และหลักการทำงานทางโบราณคดีด้วยแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ที่มิได้ให้คุณค่าของหลักฐานทางโบราณคดีในฐานะที่เป็นศิลปวัตถุเพียงอย่างเดียว เพราะหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากโครงการนี้ ประกอบด้วยโครงกระดูกมนุษย์ กระดูกสัตว์ เครื่องมือหิน และหลักฐานทางโบราณคดีประเภทอื่นที่ไม่ได้มีความเป็น “ศิลปวัตถุ” ดังนิยามในอดีตในหลักฐานทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ แต่หลังจากนี้ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งขึ้น คือ การประกาศใช้ พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ได้ออกบังคับใช้เป็นครั้งแรกเพื่อควบคุมการลักลอบค้า ขุดทำลายแหล่งโบราณคดีทั่วประเทศ

มาตรา 4 ได้นิยามหลักฐานทางโบราณคดีไว้ว่า: “…โบราณสถาน หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้างหรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี, โบราณวัตถุ หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี, ศิลปวัตถุ หมายความว่า สิ่งที่ทำด้วยฝีมือและเป็นสิ่งที่นิยมกันว่ามีคุณค่าในทางศิลป…”

จากนิยามดังกล่าว เมื่อเทียบกับนิยามของหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏอยู่ในเอกสารทางกฏหมายที่กำหนดขึ้นโดยรัฐและผู้มีอำนาจในสมัยก่อน ก็เห็นได้ชัดถึงความเปลี่ยนแปลงในน้ำเสียงและนิยามที่ล้วนแล้วแต่ลดความเป็น “ชาตินิยมอลังการ” ในมุมมองที่เกี่ยวกับหลักฐานทางโบราณคดีลงอย่างเห็นได้ชัด นิยามของหลักฐาน “ความสวยงามอลังการ” และคุณค่าด้านสุนทรียศาสตร์ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าถูกลดบทบาทลงอย่างชัดเจน แปรผันกับบทบาทขององค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สามารถบ่งบอกถึงเรื่องราวทักษะและความประณีตในเชิงช่างจากการศึกษา รวมทั้งการมีที่ทางของหลักฐานทางโบราณคดีประเภทอื่นที่ไม่ได้เป็นศิลปวัตถุ และไม่เคยอยู่ในนิยามของหลักฐานทางโบราณคดีมาก่อน เช่น กระดูกคน, กระดูกสัตว์

การศึกษาเรื่อง “คน” ในระดับปัจเจกเป็นครั้งแรกผ่านการวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ด้วยความรู้ทางกายวิภาคและมานุษยวิทยากายภาพ เป็นหลักฐานที่แสดงถึงมุมมองต่อหลักฐานทางโบราณคดีที่เปลี่ยนไปโดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการตีความมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากความก้าวหน้าทางด้านโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากโครงการไทย-เดนมาร์ก ซึ่งเป็นจุดตัดสำคัญของวิวัฒนาการทางความคิดของโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ไทย ที่เริ่มเปิดมุมมองการศึกษาเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนโบราณและหลักฐานทางโบราณคดีในฐานะปัจเจกบุคคลมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากวิชาทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ที่ยังเน้นการศึกษาด้านศิลปกรรมโดยเฉพาะศิลปกรรมทางศาสนา และการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางวัตถุในภาพรวมระดับภูมิภาคอยู่เช่นเดิม

เหตุการณ์สุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ การค้นพบแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี โดย นายสตีเฟน ยัง (Stephen Young) ในปี พ.ศ. 2509 โดยหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง นำไปสู่การศึกษาแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ในพื้นที่และช่วงเวลาเดียวกัน โดยจัดกลุ่มให้เป็น “วัฒนธรรมบ้านเชียง” ที่แสดงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและศิลปะ มีการพบหลักฐานการปั้นหม้อเขียนสีที่สวยงาม การทำโลหกรรมสำริดที่ในเวลานั้นเชื่อว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก รวมทั้งหลักฐานเกี่ยวกับการทำกสิกรรมและร่องรอยของพืชหลักอย่าง “ข้าว” โดยหลักฐานเรื่องข้าวที่พบถูกนำไปตีความผูกกับความเป็น “ชาวนา” และ “การทำนา” ที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการเกษตรในประเทศของรัฐบาลสมัยนั้น มากกว่าที่จะนำไปศึกษาเพื่อ “สร้างลิ้น” หาข้อมูลเกี่ยวกับการกินอยู่ของคนธรรมดาในสมัยก่อน

แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ได้ทำให้เกิดการสร้างภาพสังคมไทยโบราณที่ส่งเสริมเรื่องราวในอดีตที่มีนิยามตามอุดมคติของโบราณคดีอลังการ แสดงถึงความก้าวหน้าด้านงานช่างที่แสดงถึงอารยธรรมอันรุ่งเรืองในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สอดคล้องกับอุดมคติในประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่เคยจำกัดอยู่เฉพาะการศึกษาทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์

การพบหลักฐานเกี่ยวกับข้าว ยังสามารถกลายเป็นสารที่สอดคล้องกับนโยบายการเมืองที่เน้นการส่งเสริมการทำการเกษตร โดยมีข้าวเป็นพืชสำคัญอันดับหนึ่งของประเทศ ดังที่ปรากฏใน แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่สอง (พ.ศ. 2510 -2514) หน้า 110: “…การพัฒนาการเศรษฐกิจของประเทศไทยจำเป็นต้องถือการพัฒนาการเกษตรเป็นหลักทั้งนี้ เพราะการเกษตรเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจของชาติ ประชากรประมาณร้อยละ 80 ยึดถืออาชีพทางเกษตรกรรม…” การพบข้าวที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงจึงเป็นเหมือนการสร้างเรื่องราวของการทำการเกษตรที่เก่าแก่ของประเทศไทยอีกด้วย

ภาพจำลองการตกแต่งหม้อบ้านเชียง จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง
ภาพจำลองการตกแต่งหม้อบ้านเชียง จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง (ภาพจาก Wikipedia)

เมื่อหลักฐานทางโบราณคดีไปบรรจบเข้ากับอุดมคติและอัตลักษณ์ของรัฐชาติในขณะนั้น บวกกับการส่งเสริมการทำนาและการทำการเกษตรที่เป็นนโยบายหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงถูกผลักดันให้เข้าสู่การเป็นแหล่งมรดกโลกโดยรัฐบาลไทยในเวลาต่อมา รายละเอียดของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงในเอกสารของ ICOMOS (World Heritage List number 575: Ban Chiang, 28th September 1990) ก็ได้พูดถึงความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งมีหลักฐานการทำกสิกรรมยุคต้นที่บ้านเชียงที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก ได้ถูกยกมากล่าวถึงเป็นอันดับแรกๆ ในรายงาน

คุณค่าของหลักฐานทางโบราณคดีบ้านเชียงที่รัฐบาลไทยบรรจงนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก เป็นมุมมองและอุดมคติร่วมสมัยที่รัฐไทยมองและต้องการที่จะเป็นต่างหาก ตั้งแต่ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี การมีวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ความสามารถทางศิลปะ ไปจนถึงการเป็นประเทศเกษตรกรรมที่รุ่งเรือง หากจะบอกว่ารัฐบาลไทยใส่อุดมการณ์ชาตินิยม รวมทั้งอัตลักษณ์ของตนเข้าไปในเอกสารการพิจารณามรดกโลกของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงด้วยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นความพยายามที่รัฐบาลไทยในทุกสมัยได้พยายามสื่อกับประชาคมโลกมาตลอดนับแต่ครั้งยังเป็นประเทศสยาม ผ่านทางนิทรรศการแสดงสินค้าจากสยามในการแสดงสินค้านานาชาติจากทั่วโลก การพยายามพิสูจน์ว่าแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงก็มีคุณค่าพอที่จะเป็นมรดกโลกนั้น ก็ไม่ต่างกับการประกาศตัวและแสดงถึงความเป็นอารยะของประเทศไทยที่มีความเจริญต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน ใช้เรื่องราวในอดีตเป็นเครื่องแสดงความ “ศิวิไลซ์” ให้เป็นที่ยอมรับในประชาคมนานาชาติ

เห็นได้ชัดว่า การศึกษาโบราณคดีไม่เคยเป็นการศึกษาเรื่องอดีตที่จบไปแล้วเลยสักครั้ง แท้ที่จริงแล้วโบราณคดีกระแสหลักของไทยในยุคก่อน มุ่งศึกษาอดีตเพื่อเป็นภาพสะท้อนโลกทัศน์และอุดมคติของสังคมในปัจจุบันของไทยร่วมสมัยต่างหาก

ภาพพิธีเปิดนิทรรศการศิลปกรรมไทย ณ มหาวิทยาลัยอินเดียน่า ประเทศสหรัฐ
ภาพพิธีเปิดนิทรรศการศิลปกรรมไทย ณ มหาวิทยาลัยอินเดียน่า ประเทศสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2503 (ภาพจาก นิตยสารศิลปากร ปีที่ 4 ฉบับที่ 4 หน้า 36)
ภาพมุมสูงแสดงอาคารจัดแสดงของสยาม จากงาน World’s Fair ที่เมือง St. Louis ประเทศสหรัฐ ในปี ค.ศ. 1904
ภาพมุมสูงแสดงอาคารจัดแสดงของสยาม จากงาน World’s Fair ที่เมือง St. Louis ประเทศสหรัฐ ในปี ค.ศ. 1904 (Library of Congress)

 

ปัจจุบันคืออดีตที่ยังไม่จบสิ้น

เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึง ทศวรรษที่ 1970 มาพิจารณาวิวัฒนาการ อุดมคติ และเป้าหมายของการศึกษาทางโบราณคดีในแต่ละยุคสมัยในไทย พบว่ามุมมองและการประเมินคุณค่าหลักฐานของงานโบราณคดีกระแสหลักของไทยทุกสมัยที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่ให้คุณค่ากับอดีตที่สอดคล้องกับอุดมคติทางการเมืองร่วมสมัยทั้งสิ้น หลักฐานแห่งอดีตถูกใช้งานเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับปัจจุบัน เพื่อยืนยันถึงความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในอดีตที่เป็นจินตกรรมแสดง “ความยิ่งใหญ่ที่สูญหาย (Vanish greatness)” (Anderson, 1991) เพื่อตอกย้ำถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศที่เชื่อมโยงกับปัจจุบัน

มุมมองแบบงานช่างที่สอดคล้องกับความเป็น “ชาตินิยมอลังการ” ในช่วงรัชกาลที่ 6 จนถึงช่วงก่อนกึ่งพุทธกาล ก่อให้เกิดคำอธิบายอดีตของไทยในแบบ “แวววับ จับใจ ไร้ลิ้น” ซึ่งได้รับอิทธิพลด้านแนวคิดมาจากงานโบราณคดีอาณานิคมตะวันตก ปัญญาชนชนชั้นนำของไทยได้นำเอาแนวคิดโบราณคดีตะวันตกสร้างความรู้ที่ส่งเสริมการสร้างอาณานิคมภายใน เพื่อส่งเสริมความเป็นชาตินิยมสำหรับต่อต้านอิทธิพลจากจักรวรรดินิยมภายนอกที่รุกคืบเข้ามาทุกด้านในเวลานั้น

เนื่องจากอดีตในลักษณะนี้ถูกสร้างโดยชนชั้นนำ จึงมีมุมมองที่เน้นการสร้างประวัติศาสตร์ของชาติผ่านหลักฐานประเภทศิลปวัตถุที่หรูหราอลังการเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่เคยมีภาพของคนธรรมดา การดำรงชีวิต หรือแม้กระทั่งการกินอยู่ที่เป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิตอยู่ในนั้น ด้วยเพราะอดีตถูกทำให้ผูกพันกับประวัติศาสตร์ชาติ มีความเป็น “ทิพย์” ในคติไทย จึงไม่สามารถสร้างเรื่องราวในอดีตที่มีความเป็นมนุษย์ มีชีวิตและลมหายใจขึ้นมาได้จริง

การศึกษาด้านอาหารการกินอาจไปเติมเลือดเนื้อและลมหายใจ แสดงถึงความเป็นมนุษย์จนทำให้ประวัติศาสตร์ชาติหมดความศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งตามคติไทย ที่สถานะความเป็น “ชาติ” ต้องอยู่เหนือตัวบุคคล และคนธรรมดา

ภาพตู้จัดแสดงของสยาม ในงาน World’s Fair ที่เมือง St. Louis ประเทศสหรัฐ ปี ค.ศ. 1904
ภาพตู้จัดแสดงของสยาม ในงาน World’s Fair ที่เมือง St. Louis ประเทศสหรัฐ ปี ค.ศ. 1904 (Library of Congress)

แม้ในช่วงหลังกึ่งพุทธกาลจนถึงยุคสงครามเย็น การนำเสนออดีตแบบ “ชาตินิยมอลังการ” ได้คลายความเข้มข้นลง พร้อมๆ กับการรับแนวคิดวิทยาศาสตร์และอิทธิพลทางมานุษยวิทยาแบบอเมริกันเข้ามาในงานโบราณคดีไทย แต่การศึกษาเกี่ยวกับเทคนิคงานช่างในสมัยโบราณ เช่น การก่อพระ, ปั้นหม้อ, หล่อโลหะ ฯลฯ ก็ยังคงความสำคัญและเป็นประเด็นสำคัญในการศึกษาอดีตมากกว่าการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีในเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เมื่อดูเผินๆ แล้วก็จะเหมือนพัฒนาการงานโบราณคดีสากลทั่วไป แต่ทว่าโบราณคดีไทยนั้นยังมีจุดเด่นที่เน้นศึกษาหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า รวมทั้งขนบธรรมเนียมการ “พูดไม่เกินของ” ไม่ตีความเกินกว่าหลักฐานทางโบราณคดีในเชิงประจักษ์ โดยไม่การศึกษาถึงความเป็นไปได้ด้านพฤติกรรม ความคิดของมนุษย์โบราณในด้านต่างๆ ที่ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า ราวกับว่าการศึกษาประเด็นทางความคิดของสังคมโบราณเหล่านี้เป็นการประกอบอนันตริยกรรม คือบาปอันสาหัสอันสูงสุดที่ไม่พึงกระทำ

หลักฐานทั้งหมดเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าแก่นแกนแนวคิดหลักของโบราณคดีไทยในปัจจุบัน ยินยอมที่จะหยุดตนเองไว้กับความเป็น “ช่าง” ตามคติไทยประเพณี ซึ่งต่างจากพัฒนาการโบราณคดีในระดับสากลที่ได้พัฒนาต่อจนกลายเป็น “สำนักคิด” ไปแล้ว สรุปได้ว่า กระบวนการทำโบราณคดีให้เป็นไทยในช่วงแรกมีหลักสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ 1. ทำความรู้ด้านโบราณคดีให้เป็นงานช่าง 2. ปฏิเสธแนวคิดทฤษฎีตะวันตกในการสร้างประวัติศาสตร์ชาติ 3. นำเสนอหลักฐานในแบบ “ชาตินิยมอลังการ” ส่งเสริมความรุ่งเรืองยิ่งใหญ่ของชาติไทย

การนำเสนออดีตภายใต้ความคิดดังกล่าว ส่งผลให้เรื่องราวที่ถูกสร้างมีความห่างไกลกับคนปัจจุบัน จนทำให้อดีตมักมีสถานะเหนือมนุษย์ เพราะมีจุดหมายให้คนเคารพบูชาแบบมีระยะห่าง เป็นอดีตที่ตั้งเอาไว้บนหิ้งสูง แวววับ จับใจ ไร้ลิ้น ราวกับเป็นเทวรูปอันศักดิ์สิทธิ์ แม้ว่าเทวรูปบนหิ้งจะงดงามสง่าน่าเลื่อมใสสักปานใด แต่ก็ไร้ลิ้น ไม่มีชีวิต ไม่สามารถสื่อสารถึงชีวิตของคนธรรมดาที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมได้

อดีตแบบ แวววับ จับใจ ไร้ลิ้น จึงเป็นอดีตที่สิ้นมนต์ขลังในการสื่อสาร เพราะเป็นอดีตที่สร้างความเป็นอื่นกับสังคมปัจจุบันมากเกินไป ทำให้โบราณคดีเป็นเรื่องไกลตัวจนไม่สามารถนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรทางโบราณคดีได้ในโลกปัจจุบันอย่างยั่งยืนได้ แม้แต่หน่วยงานทางโบราณคดีของรัฐอย่าง กรมศิลปากร ก็ตระหนักถึงปัญหานี้ และได้ปรับตัวโดยริเริ่มโครงการต่างๆ รวมทั้งโครงการสำคัญคือ อาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มส.) ในสมัยของอธิบดี บวรเวท รุ่งรุจี เพื่อลดระยะห่างงานโบราณคดีกับประชาชนลง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 และได้ผลตอบรับในเชิงบวกจากชุมชนตลอดมา

ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน นักโบราณคดีไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็เรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงการตีความอดีตและนำเสนอหลักฐานทางโบราณคดีแบบ “แวววับ จับใจ” อีกต่อไปแล้ว แต่อิทธิพลการมองอดีตแบบชาตินิยมอลังการ ก็ยังมีอิทธิพลต่อการการใช้งานอดีตในสังคมไทยอยู่อย่างกว้างขวาง ดังนั้น คนปัจจุบันอย่างเราๆ ท่านๆ จึงต้องเติมความเป็นมนุษย์ให้อดีต โดยการตั้งคำถามกับเรื่องราวในอดีตแบบ “แวววับ จับใจ ไร้ลิ้น” กันต่อไป.

 

อ้างอิง

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. 2473. ปาฐกถาเรื่อง สงวนของโบราณ พ.ศ. 2473 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภาทรงแสดงแก่เทศาภิบาล ณ พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อวันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. 2497. เรื่องก่อนประวัติศาสตร์. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนจรดทะเบียน (นายกุย กุยยกานนท์).

ปฐมฤกษ์ เกตุทัต. 2559.  โบราณคดีของโบราณคดี. ในหนังสือ บ้านเชียง: ปฐมบทโบราณคดีไทย. โอ.เอส.พรินติ้งเฮาส์. หน้า 11- 60.

ประกาศจัดการตรวจรักษาของโบราณ วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2466

ประวัติคณะโบราณคดี,  http://archae.su.ac.th/about/history (accessed 24th July 2020, 5.27pm)

ชาตรี ประกิตนนทการ. 2561. งานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะยุคต้นสงครามเย็น: สำนักศิลปากรกับแนวคิดชาตินิยมสายกลาง. หน้าจั่ว. 15: 40-89.

ชิน อยู่ดี. 2510. สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรมศิลปากร.

พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

พระยาอนุมานราชธน. 2480. กำเนิดคน. หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงวิธูรธนายุตก์ (เสียง ชูเกษ) วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480.

พระยาอนุมานราชธน. 2503. พงศาวดารดึกดำบรรพ์ (อารยธรรมยุคดึกดำบรรพ์). ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมสาส์น.

พระยาอนุมานราชธน. 2515. เรื่อง แหลมอินโดจีนสมัยโบราณ. สำนักพิมพ์บรรณาคาร.

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. 2014. ว่าด้วยแนวทางของการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยโบราณ. ดำรงวิชาการ. 13(1): 205-238.

หลวงวิจิตรวาทการ. 2505. ปาฐกถา เรื่อง การศิลปากรในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ข้าหลวงประจำจังหวัด แสดงในที่ประชุมข้าหลวงประจำจังหวัดทั่วพระราชอาณาจักร ณ หอประชุมศิลปากร, วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2478. ในหนังสือ นิพนธ์บางเรื่องของ หลวงวิจิตรวาทการ. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงวิจิตรวาทการ.

แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่สอง (พ.ศ. 2510 -2514).

ม.ล. ปิ่น มาลากุล. 2506. วารสาร “จันทรเกษม” ฉบับที่ 54 เดือนกันยายน-ตุลาคม 2506.

สุภมาศ ดวงสกุล. 2552. แหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมบ้านเก่าและที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง (แควใหญ่และแควน้อย): สรุปข้อมูลจากการสำรวจทางโบราณคดี ปี พ.ศ. 2552. เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องโบราณคดีของสังคมเกษตรกรรม จากบ้านเก่าถึงหนองราชวัตร วันที่ 26-28 สิงหาคม 2552. โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 95-118.

ศรัณย์ ทองปาน. 2005. การพิมพ์ ของร้อน และครู : ข้อสังคมบางประการว่าด้วยการฝึกหัดและถ่ายทอดวิชาช่างในสังคมไทย. ดำรงวิชาการ. 4(1): 24 – 38.

อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล. 2559 โบราณคดีชาตินิยม. ในหนังสือ บ้านเชียง: ปฐมบทโบราณคดีไทย. โอ.เอส. พรินติ้งเฮาส์. หน้า 61- 80.

Anderson, B.R. O’G. 1991. Imagined communities: reflections on the origin and spread of nationalism. London: Verso. [Revised edition.]

Breasted, J. H. 1916. Ancient times, a history of the early world. Ginn and company, Boston.

Glover, I. C. 2003. National and Political Uses of Archaeology in Southeast Asia. Indonesia and the Malay World. 31(89): 16-30.

ICOMOS. 1990. World Heritage List (Number 575): Ban Chiang. 28th September 1990.

Peleggi, M. 2002. The Politics of Ruins and the Business of Nostalgia. White Lotus, Bangkok.

Shoocongdej, R. 2008. The Impact of Colonialism and Nationalism in the Archaeology of Thailand. In Selective Remembrances: Archaeology in the Construction, Commemoration, and Consecration of National Pasts.University of Chicago Press.

Winichakul, T. 2000. ‘Siwilai’: A Geographical Discourse of Civilizational Thinking in the Late Ninetheenth and Early Twentieth-Century” Siam. Journal of Asian Studies. 59 (3): 528-549.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save