นาฏกรรมในท้องพระโรง

นาฏกรรมในท้องพระโรง

ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่อง

ณัฐพล อุปฮาด ภาพประกอบ

 

ภาพที่ 1 พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Tanks-outside-ananta-samakhom-throne-hall.jpg

 

ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 พระที่นั่งอนันตสมาคม อาคารหินอ่อนแบบตะวันตกที่รัชกาลที่ 5 รับสั่งให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นท้องพระโรงของพระราชวังดุสิต ใช้สำหรับรับรองแขกบ้านแขกเมืองและเป็นที่ประชุมปรึกษาราชการ ได้รับบทบาทใหม่เป็นกองบัญชาการของคณะราษฎร และเป็นที่ควบคุมตัวประกัน อันได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์ นายทหารและตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายสิบคน

หนึ่งในนั้นคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรีในรัชกาลที่ 7 ซึ่งหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาของพระองค์ได้เขียนบรรยายสภาพห้องควบคุมตัวประกันภายในรั้วเหล็กของพระที่นั่งอนันตสมาคมไว้ในหนังสือ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” ว่า

 

“ถึงบ้านบ่าย ๒ โมงเศษ พอดีหมดแรง หมดกำลัง นึกเห็นเสด็จพ่อสีเหลืองเป็นขี้ผึ้ง นั่งเก้าอี้สานไม้ดำอย่างตามโฮเต็ลเจ๊ก หน้าต่างและทางลมเดินข้างบนปิดแน่นด้วยเอาไม้ตอกตะปู ทั้งๆ ที่มีลูกกรงเหล็กอยู่แล้ว ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ กลับหลังหันเข้าชนฝาหมดทุกสิ่ง มีเตียงใหญ่นอนเบียดๆ ได้ ๒ คน ๑ เตียง มีผ้าปู มุ้ง หมอนใบเล็กๆ ๑ ใบพร้อม พื้นโสโครกไปด้วยรอยตีน เพราะไม่ได้เช็ดล้าง มีประตูๆ เดียวที่เป็นทางอากาศเดินเข้าออกได้ และประตูนั้นเปิด ๒ บาน เพื่อให้ทหารยามถือหอกปลายปืนคุมอยู่คนละบานประตู”

 

เมื่อกล่าวถึงรุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรามักนึกถึงลานพระราชวังดุสิตหรือลานพระบรมรูปทรงม้าที่พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎรยืนอ่านประกาศคณะราษฎร ที่ซึ่งในเวลาต่อมา หมุดคณะราษฎรได้ถูกฝังไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งโมงยามอันสำคัญนั้น

ทว่า ในที่นี้ ขอชวนให้พิจารณาสิ่งก่อสร้างอีกแห่งหนึ่งในบริเวณเดียวกันที่ปรากฏเป็นดั่ง ‘ฉากหลัง’ ของเหตุการณ์ดังกล่าว

‘ฉากหลัง’ ที่ว่านี้คือพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งอันที่จริงแล้วทำหน้าที่มากกว่าการเป็นแค่ ‘ฉากหลัง’ ที่รองรับเหตุการณ์ หากแต่มีบทบาทเป็นพื้นที่เชิงนาฏกรรม (theatrical space) ในกระบวนการก่อตัวของอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใหม่ของคณะราษฎร

 

ภาพที่ 2 พระราชวังดุสิตจากมุมมองทางอากาศ ตรงกลางคือพระที่นั่งอนันตสมาคม https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Aerial_view_of_Dusit_Palace,_Bangkok_Thailand.jpg

 

พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต อันเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2440 พระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริว่าพระบรมมหาราชวังนั้นแออัดคับแคบเกินไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินใหม่เพื่อสร้างพระราชวังดุสิต ที่ประกอบไปด้วยพระที่นั่งต่างๆ พระตำหนัก และสวนอีกหลายแห่ง

การสร้างพระราชวังดุสิตซึ่งเชื่อมต่อกับพระบรมมหาราชวังด้วยถนนราชดำเนินนั้น สะท้อนความพยายามในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของกษัตริย์สยามในฐานะผู้มีความศิวิไลซ์และเป็นสมัยใหม่ตามแบบอย่างอารยธรรมตะวันตก ทั้งยังสื่อถึงพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ในรัชสมัยของพระองค์ มีสถาปนิก วิศวกร จิตรกรชาวยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวอิตาเลียนได้รับการว่าจ้างให้มาทำงานในราชสำนักมากมาย พระที่นั่งอนันตสมาคมเริ่มต้นสร้างเมื่อ พ.ศ.2450 หลังจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง ตัวอาคารออกแบบและสร้างโดยทีมอิตาเลียนของกระทรวงโยธาธิการ ได้แก่ มาริโอ ตามานโญ (Mario Tamayo) อันนิบาเล ริกอตติ (Annibale Rogotti) คาร์โล อัลเลกรี (Carlo Allegri) และเอมิลิโอ โจวานนี กัลโล (Emilio Giovanni Gallo) ภายใต้การควบคุมของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

พระที่นั่งอนันตสมาคมมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก คือ Neo-Italian Renaissance ใช้วัสดุหลักคือหินอ่อนจากเมืองคาร์รารา (Carrara) ประเทศอิตาลี เป็นอาคารหลังคาโดมขนาดใหญ่ รายล้อมด้วยโดมย่อยหกโดม ภายในเพดานโดมประดับด้วยภาพเขียนสีปูนแห้ง (fresco-secco) เป็นภาพประวัติศาสตร์ราชวงศ์จักรีตั้งแต่รัชกาลที่ 1-6 ฝีมือของคาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) และกาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) ตัวอาคารมีความสูงราว 49.5 เมตร ใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้นแปดปีด้วยงบประมาณ 15 ล้านบาท

ถึงแม้ว่ารัชกาลที่ 5 จะสวรรคตก่อนพระที่นั่งอนันตสมาคมจะแล้วเสร็จ แต่ภูมิทัศน์ของพระราชวังดุสิต ณ ปลายถนนราชดำเนิน อันมีพระที่นั่งอนันตสมาคมและพระบรมรูปทรงม้าตั้งตระหง่านอยู่กลางลาน ก็เป็นพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความยิ่งใหญ่ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระองค์ทรงเป็นผู้ลงหลักปักฐาน และก็ตามประวัติศาสตร์ที่เรารู้กันว่าในอีกสองรัชกาลต่อมา เมื่อรัชกาลที่ 7 เสด็จแปรพระราชฐาน ณ วังไกลกังวล หัวหิน คณะราษฎรก็ยึดอำนาจและประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งจับเอาเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งไว้เป็นตัวประกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อยื่นเงื่อนไขต่อรัชกาลที่ 7

การเลือกพื้นที่ลานพระราชวังดุสิตและพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นศูนย์กลางของปฏิบัติการยึดอำนาจมีนัยยะสำคัญว่า นี่คือการท้าทายและประกาศชัยชนะทางอุดมการณ์ หลังจากพระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎรที่ขึ้นต้นด้วย “ราษฎรทั้งหลาย” ที่ลานพระราชวังดุสิต การปฏิวัติก็ได้บรรลุผ่านวัจนกรรมหรือการกระทำการที่อาศัยภาษา (speech act) ที่ถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบแห่งการเห็นได้อย่างชัดแจ้ง (visibility) และการมีประจักษ์พยาน (witness)

ในวาระนั้น คณะราษฎรใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นกองบัญชาการปฏิวัติ และเป็นที่คุมขังกลุ่มตัวประกันที่ได้ ‘รับเชิญ’ มาด้วย การกระทำดังกล่าวได้เปลี่ยนบทบาทของพระที่นั่งอนันตสมาคมจาก ‘ท้องพระโรงรับอาคันตุกะ’ และ ‘ที่ประชุมปรึกษาราชการ’ เป็น ‘ที่ควบคุมตัว’ ยิ่งไปกว่านั้น กองทหาร รถถัง และอาวุธนานาชนิดยังกระจายอยู่เต็มพื้นที่ บันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัยข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ภายในอาณาเขตของพระที่นั่งอนันตสมาคมเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงจากสภาพปกติ (ทั้งนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงถูกคุมตัวอยู่ในห้ององครักษ์ที่เป็นเรือนแถว ไม่ใช่ภายในตัวอาคารพระที่นั่ง)

ความสกปรกรกรุงรัง รอยเท้าบนพื้นโสโครก ไม้ตอกตะปูทับลูกกรงเหล็ก เครื่องเรือนหันหลังชนฝา สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนภาวะกลับตาลปัตรของอำนาจ คือกายภาพของความกลับหัวกลับหาง สามัญชนบุกรุกพื้นที่ของเจ้าโดยปราศจากความยำเกรง ปราสาทราชวังกลายเป็นพื้นที่สามานย์ ที่ประชุมปรึกษาราชการกลายเป็นคุกกักขังผู้คนที่เคยมาทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง

พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันที่ 24 มิถุนายนจึงเปรียบเหมือนภาพแทนของระบอบเก่าที่ถูกล้มล้าง

 

ภาพที่ 3 การประชุมสภาในพระที่นั่งอนันตสมาคมในสมัยคณะราษฎร https://th.m.wikipedia.org/wiki/ไฟล์:Ananta_Samakhom_Throne_Hall_Parliament.jpg

 

เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงตอบรับข้อเสนอของคณะราษฎรแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พระที่นั่งอนันตสมาคมจึงเปลี่ยนบทบาทใหม่อีกครั้งเป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกในวันที่ 28 มิถุนายน และทำหน้าที่เป็นรัฐสภาไปจนถึงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517

 

ภาพที่ 4 พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นภายในท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

วันที่ 10 ธันวาคม ปีเดียวกัน พระที่นั่งอนันตสมาคมได้รับบทสำคัญอีกครั้ง คือเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก ในวาระพิเศษนี้ ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคมอันเป็นสัญลักษณ์ของระบอบเก่า ได้กลายเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านสถานะ เป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างกลาง (liminal space) ซึ่งชนชั้นนำกับสามัญชน อดีตกับอนาคต และจินตนาการกับความเป็นจริงได้มาบรรจบกัน เพื่อให้กำเนิดระบอบการปกครองใหม่

แน่นอนว่าพระที่นั่งอนันตสมาคมไม่ใช่โรงละคร และพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่ละครเวที แต่ความเป็นนาฏกรรม (theatricality) นั้นเป็นคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของพิธีกรรม กล่าวคือเป็นการ ‘perform’ ใน ‘setting’ เฉพาะอย่างหนึ่ง พิธีกรรมเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่สร้างความเปลี่ยนแปลงจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่ง และ/หรือการเปลี่ยนสถานะของบุคคล โดยผู้เข้าร่วมพิธีกรรมแต่ละคนมี ‘บทบาท’ ที่ถูกกำหนดแตกต่างกันออกไป

ภาพถ่ายภาพนี้แสดงให้เห็นภายในท้องพระโรงที่มีการตกแต่งประดับประดาอย่างอลังการ นี่คือท้องพระโรงที่สร้างขึ้นเพื่อต้อนรับอาคันตุกะต่างชาติในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บนเพดานแวดล้อมไปด้วยภาพของบูรพกษัตริย์ในอดีต (แม้จะมองเห็นไม่ชัดนักจากภาพถ่ายขาวดำ แต่เหนือพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร หรือฉัตรเก้าชั้นที่อยู่กึ่งกลางภาพนั้น คือภาพรัชกาลที่ 4 ทรงทำนุบำรุงศาสนา)

เครื่องทรงของรัชกาลที่ 7 ในวันนั้นก็สื่อสัญญะความเป็นกษัตริย์อย่างเต็มที่ พร่างพราวด้วยเครื่องทอง อัญมณีและสิ่งสูงค่าอื่นๆ พระองค์ทรงเครื่องบรมภูษิตาภรณ์ ฉลองพระองค์ครุย สวมชฎามหากฐินปักขนนกการเวก เสด็จประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร

 

ภาพที่ 5 รัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญ ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

ภาพถ่ายบรรยากาศภายในท้องพระโรง รูปลักษณ์ของรัชกาลที่ 7 และการจัดตำแหน่งแห่งที่ของบุคคลในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ แสดงถึงสุนทรียภาพที่ผูกอยู่กับชนชั้นอันมีสถาบันกษัตริย์อยู่ในลำดับสูงสุด แวดล้อมด้วยเชื้อพระวงศ์ ข้าราชบริพาร นายทหาร ขุนนาง และสมาชิกคณะราษฎรอยู่บนพื้นที่ต่ำกว่า การจัดตำแหน่งแห่งที่ภายในพระราชพิธีสะท้อนมรดกของระบอบเก่าอย่างเห็นได้ชัด เราจึงอาจอ่านฉากพระราชพิธีนี้ได้ว่าอุดมการณ์และสำนึกเชิงชนชั้นมีบทบาทโดดเด่นเกินหน้าอุดมการณ์ใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาค เพราะสถาบันกษัตริย์ดูสูงเด่นเหนือกว่าผู้ใด

กระนั้น เราก็อาจอ่านอีกแบบได้เช่นกันว่า องค์กษัตริย์ทั้งในอดีต (ในรูปของงานจิตรกรรมบนเพดานเบื้องบน) และปัจจุบัน (รัชกาลที่ 7) เป็นทั้งพลังและประจักษ์พยานในการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเก่าไปสู่ระบอบใหม่ แม้บรรยากาศทั้งหมดจะเต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์และขนบธรรมเนียมตามอย่างโบราณราชประเพณี แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นไปเพื่อการเปลี่ยนผ่านให้สมบูรณาญาสิทธิราชย์สลายหายไป เปิดทางใหม่ให้กับระบอบการเมืองที่สถาบันกษัตริย์มีอำนาจน้อยกว่าเดิม

ความย้อนแย้งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในภาพถ่ายที่เน้นย้ำความเป็น liminal space ของพระที่นั่งอนันตสมาคม ในขณะที่ท้องพระโรงคือ threshold building องค์รัชกาลที่ 7 ก็ทรงเป็น liminal body ผ่านการกระทำการลงพระปรมาภิไธยให้การรับรองระบอบใหม่ ในการกระทำนั้น พระองค์เองก็ทรงเปลี่ยนจากกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ

 

พิธีกรรมจึงไม่ได้จัดขึ้นเพื่อดำรงความยั่งยืนของสิ่งที่เคยเป็นมา แต่เพื่อความจบสิ้นของสิ่งเดิมก่อนการให้กำเนิดสิ่งใหม่

 

ยิ่งไปกว่านั้น พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญที่เต็มไปด้วยพิธีรีตองและศัพท์แสงในระบอบเก่ายังชวนให้คิดถึงบทบาทของภาษากับการหวนคืนสู่อำนาจเชิงสมมติ อำนาจเชิงจินตนาการ อำนาจที่ในความเป็นจริงได้สูญสลายไปแล้ว เนื่องจากระบอบการปกครองได้เปลี่ยนไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ตอนที่คณะราษฎรประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน แล้วเหตุใดภาษาและพิธีการที่บ่งบอกถึงชนชั้นยังมีความหมายและบทบาทอยู่อีก?

คำตอบอาจอยู่ที่การมองพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญในฐานะพิธีกรรมอันแสดงถึงการต่อรอง ประนีประนอมกันระหว่างสองอุดมการณ์ในห้วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ในฐานะพื้นที่กึ่งจริงกึ่งจินตนาการ ความเป็นนาฏกรรมของพระราชพิธีสะท้อนภาพฝันถึงชั่วขณะแห่งการหวนคืนสู่อำนาจของสถาบันกษัตริย์ เพียงชั่วขณะหนึ่งของเรื่องสมมติ เพื่อมอบสถานะความเป็นผู้ให้กำเนิดระบอบใหม่ (พระราชทาน) ที่ในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ (เพราะระบอบใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว)

พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญจึงเป็นเสมือนเครื่องย้อนเวลากลับสู่ช่วงเวลาก่อนการปฏิวัติ การกระทำอันเป็นไปไม่ได้ในโลกของความเป็นจริงก็คือการหวนคืนสู่อดีตในเชิงจินตนาการ เป็นการปลอมแปลง (masquerade) เป็นภาพลวงตาที่สมมติว่าการเปลี่ยนผ่านระบอบเป็นไปอย่างราบรื่น (ราวกับว่าเรื่องรุนแรงอย่างการจับตัวประกันไม่เคยเกิดขึ้น)

 

“จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งให้ตรารัฐธรรมนูญแห่ง   ราชอาณาจักรสยาม ประสิทธิ์สารทประกาศพระราชทานแก่ประชากรของพระองค์ ให้ดำรงอิสสราธิปไตยโดยบริบูรณ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 44 หน้า 533 วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2475

 

ทั้งนี้ นอกจากจะมองว่าพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญจะเป็นนาฏกรรมที่ทุกคนมาสวมบทบาทสมมติร่วมกันแล้ว เหตุการณ์นี้ยังแสดงให้เห็นว่าระบอบใหม่ยังไม่มีอำนาจในตัวเองอย่างสมบูรณ์ ความย้อนแย้งนี้เองที่สะท้อนการต่อรองระหว่างสองระบอบ ดูเหมือนว่าระบอบใหม่ยังคงต้องพึ่งพาระบอบเก่า ต่างต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ลักษณะดังกล่าวได้ปรากฏชัดขึ้นในภาพถ่ายที่เผยแพร่ข่าวเรื่องการพระราชทานรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา

 

ภาพที่ 6 ไทยเขษมรวมข่าว ฉบับวันที่ 229 วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

การสร้างความรับรู้และสถาปนาความเป็นจริงให้กับสิ่งที่ผ่านกระบวนการเชิงพิธีกรรมจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีประจักษ์พยานทางสายตา หลังจากจบพิธีการในท้องพระโรงซึ่งเป็นพื้นที่ปิด รัชกาลที่ 7 ได้โปรดให้เจ้าพระยาพิชัยญาติรับพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้วเดินออกมาที่สนามหญ้านอกพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อแสดงรัฐธรรมนูญบนพานแว่นฟ้าแก่ประชาชนที่มาชุมนุมให้เห็นโดยทั่วกัน ต่อจากนั้นก็มีภาพถ่ายที่เผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ไปทั่วประเทศ ภาพถ่ายในสื่อจึงเป็นกลไกสำคัญของการจ้องมองและสร้างสำนึกใหม่ให้กับสาธารณะ (อันที่จริงมีภาพเคลื่อนไหวเป็นหนังพูดโดยภาพยนตร์เสียงศรีกรุงด้วย)

ภาพในสื่อมีส่วนอย่างมากในการประกาศ ยืนยัน และให้ความชอบธรรมแก่ระบอบใหม่ ภาพถ่ายจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่บันทึกของเหตุการณ์ แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นตามมา ช่วยส่งต่อชั่วขณะแห่งการลงพระปรมาภิไธยขององค์กษัตริย์จากท้องพระโรงออกสู่สายตาของสาธารณชนภายนอก สื่อสารว่าสถาบันกษัตริย์ได้ให้ความชอบธรรมและรับรองระบอบใหม่ของคณะราษฎร

ภาพถ่ายจึงเป็นเครื่องมือชวนเชื่อและสถาปนาระบอบใหม่ ทั้งต่อสายตาของชาวไทยด้วยกันเองและชาวต่างชาติที่เฝ้ามองปรากฏการณ์นี้ นอกจากนี้ ภาพถ่ายยังเป็นเครื่องมือในการหลอมรวม (means of inclusion) เอาประชาชนเข้ามาเป็นสักขีพยานของพิธีกรรมที่ตนไม่ได้เห็นหรือมีส่วนร่วมจริง แต่มีส่วนร่วมมองเห็นได้ผ่านสื่อ

 

ภาพที่ 7 พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่หน้ารัฐสภา (หลังเก่า) มีข้อความ จากพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติจารึกอยู่บนแผ่นหินอ่อนสีดำบนฐานใต้พระที่นั่งพุดตานกาญ จนสิงหาสน์ ภาพถ่ายโดยธนาวิ โชติประดิษฐ

 

ดังที่เราเห็นกันในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาว่า ภาพถ่ายรัชกาลที่ 7 ในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญได้หวนกลับมาเล่นบทอื่นที่ไม่เป็นคุณต่อคณะราษฎร นั่นคือ การจับคู่ภาพดังกล่าวกับข้อความในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ซึ่งอันที่จริงแล้วเขียนขึ้นในอีกวาระหนึ่ง ข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเปนของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” ที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2477 (นับตามปีพุทธศักราชเก่า) ถูกนำมาประกบกับภาพถ่ายของพระองค์ในวันที่ 10 ธันวาคม และกลายเป็นหัวใจสำคัญของวาทกรรมการเมืองในยุคหลังคณะราษฎรว่าสถาบันกษัตริย์เป็นผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย ส่วนคณะราษฎรเป็นพวกชิงสุกก่อนห่าม

(ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าคณะราษฎรประมาทเลินเล่อหรือประนีประนอมมากเกินไปจนเกิดผลสะท้อนกลับ เพราะอาจจะใช่หรืออาจจะไม่ใช่ก็ได้ อย่าลืมว่าการมองย้อนหลังกลับเข้าไปในอดีตแล้วเห็นข้อผิดพลาดเป็นเรื่องง่าย เพราะเราในปัจจุบันเห็นผลที่เกิดขึ้นแล้ว แต่คนในอดีตไม่เห็น การฟื้นคืนอำนาจของสถาบันกษัตริย์เป็นผลของเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์มากมายเกินกว่าจะบอกว่าเป็นความผิดพลาดของการจัดพระราชพิธี 10 ธันวาคมแต่เพียงลำพัง ภาพและข้อความดังกล่าวเพียงแต่ถูกเลือกหยิบมาเพื่อเป็นส่วนประกอบของวาทกรรมที่ใหญ่กว่า)

การปฏิวัติ 24 มิถุนายนและพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคมได้ชี้ให้เห็นว่า การสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการถือกำเนิดของระบอบรัฐธรรมนูญนั้นเกิดบนภูมิทัศน์ที่มีนัยยะทางการเมืองอย่างพระราชวังดุสิต อันมีพระบรมรูปทรงม้าและพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นใจกลาง พื้นที่ดังกล่าวเป็นลานนาฏกรรมขนาดใหญ่ ดั่งอุปลักษณ์ของเส้นทางประชาธิปไตยของไทยที่เริ่มต้นจากจุดจบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ประชาธิปไตยและหวนคืนกลับสู่ระบอบดั้งเดิมใหม่อีกครั้งหนึ่ง เป็นการช่วงชิงกันระหว่างสองอุดมการณ์ที่ในปัจจุบันก็ยังคงไม่ยุติ ตามอมตะวาจาของจอมพล ป. พิบูลสงครามว่า

 

“ผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วย จะต้องรบกันไปอีก และแย่งกันในระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้”

 

พ.ศ. 2560 ปีเดียวกันกับการหายไปอย่างลึกลับของหมุดคณะราษฎรที่ลานพระราชวังดุสิต พระที่นั่งอนันตสมาคมปิดโดยไม่มีกำหนด

 

 

หมายเหตุ

 

  • บทความนี้เป็นส่วนขยายของการพูดคุยในรายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2563 และเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของผู้เขียนเรื่อง Revolution versus Counter-Revolution: The People’s Party and the Royalist(s) in Visual Dialogue (Birkbeck College, University of London, 2016)

 

  • พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ร่างโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) แต่เดิม คณะราษฎรตั้งใจให้เป็นรัฐธรรมนูญถาวร ทว่า รัชกาลที่ 7 ทรงรับสั่งให้ใช้ฉบับนี้เป็นการชั่วคราว และให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไป รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกจึงเป็นฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ตามที่รู้จักกันในปัจจุบัน

 

  • หลังจากยุติบทบาทในการเป็นรัฐสภาไปเมื่อ พ.ศ. 2517 พระที่นั่งอนันตสมาคมยังคงเป็นสถานที่จัดงานเนื่องในพระราชพิธีและรัฐพิธีต่างๆ รวมทั้งนิทรรศการ ศิลป์แผ่นดิน ที่จัดแสดงผลงานศิลปหัตถกรรมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ระหว่าง พ.ศ. 2551-2560

 

  • สำหรับประเด็นเรื่องภาพถ่ายรัชกาลที่ 7 ในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญกับข้อความในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ โปรดดูบทความของผู้เขียนชื่อ ‘ปฏิบัติการความทรงจำของภาพ: พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าที่อยู่ที่หน้ารัฐสภา’ ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2560)

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save