fbpx
ถึงพี่ฮาริสกับ “จุดตัดบนฟากฟ้า”

ถึงพี่ฮาริสกับ “จุดตัดบนฟากฟ้า”

อาทิตย์ ศรีจันทร์ เรื่อง

 

พี่ฮาริส…

ในเบื้องต้น ผมต้องบอกก่อนว่า ผมตั้งใจว่าจะเขียนวิจารณ์รวมบทกวีของพี่เล่มล่าสุดคือ “จุดตัดบนฟากฟ้า” ที่ผมเห็นอยู่ในร้านหนังสือมาสักพักใหญ่แล้ว แต่ก็ไม่มีโอกาสหยิบมาอ่านเสียที ผมอยากเขียนบทวิจารณ์งานกวีนิพนธ์บ้าง เพราะในบ้านเรา อย่างที่พี่รู้ (อันที่จริงใครก็รู้) ว่าตลาดของกวีนิพนธ์นั้นมันช่างแคบเสียเหลือเกิน ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ากวีกับผู้ที่ยังอ่านงานกวีนิพนธ์อยู่ในปัจจุบันนั้นฝั่งไหนมีมากกว่ากัน กวีนิพนธ์ในบ้านเรามีลมหายใจที่รวยรินเหลือเกินนะพี่ฮาริส แต่ก็นั่นล่ะ ผมตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าอยากจะเขียนถึงงานพี่ ผมยังเคยเปรยกับพี่เจ้าของร้านหนังสือที่ผมเห็นงานพี่วางขายอยู่เลยว่า ผมอยากเขียนถึงกวีนิพนธ์บ้าง โดยเฉพาะงานของ มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม

ในภาพจำของผม มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม เป็นกวีที่มีพลังงานล้นเหลือ ทุกครั้งที่พี่อ่านบทกวีของตัวเอง มันเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผมได้ทุกครั้ง น้ำเสียง ลีลาการอ่าน มันส่งพลังในการสื่อสารของบทกวีได้อย่างมหาศาล แทบทุกครั้งที่ผมฟังพี่อ่านตามงานต่างๆ มันเหมือนกับกำลังอยู่ในสนามการต่อสู้อะไรสักอย่างที่ผู้อ่านกวีแบบพี่ต้องเอาชีวิตเข้าแลกกับมัน ฟาดฟันมัน แล้วพี่ก็เดินลงจากเวทีอย่างสง่าผ่าเผย

ผมน่าจะรู้จักพี่ครั้งแรกในงาน “การเมืองในมิติกวีนิพนธ์” เมื่อปี 2552  งานนั้นเป็นงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดงานหนึ่งของวงการกวีนิพนธ์ไทย เพราะในงานได้รวบรวมกวีระดับหัวแถวแนวหน้าและกวีหน้าใหม่ที่น่าสนใจขึ้นอ่านบทกวีของพวกเขาในหัวข้อ “การเมืองไทย” ซึ่งขณะนั้นอยู่ในช่วงระอุและดุเดือดเลือดพล่านอยู่พอสมควร

แวดวงวรรณกรรมตอนนั้น นักเขียน กวี ต่างคนต่างก็เริ่มแสดงจุดยืนทางการเมืองของตัวเองอย่างชัดเจน แน่นอนว่าพี่ฮาริสไม่เคยลังเลที่จะอยู่ข้างประชาชน และต่อสู้กับอำนาจที่กดขี่บีฑาประชาชนทั้งหลายผ่านบทกวีและกิจกรรมต่างๆ สารพัด ในวันนั้น นอกจากพี่ไผ่ (ไม้หนึ่ง ก.กุนที) ที่ร่ายบรรเลง “สถาปนาสถาบันประชาชน” แล้ว พี่ฮาริสเป็นกวีอีกคนหนึ่งที่น่าสนใจและผมประทับใจมาก ความเร่าร้อนและพลังงานอันล้นเหลือที่เปล่งประกายออกมาจากบทกวีของพี่ ทำให้ผมรู้สึกว่ากวีนิพนธ์ไทยนี่โคตรมันแบบมันมากๆ หลังจากที่ผมอยู่กับความแห้งแล้งของกวีนิพนธ์ไทย คือพวกกวีนิพนธ์ฉันทลักษณ์มานานหลายปี ในวันนั้นผมจำได้ว่าบทกวีของพี่ฮาริสไม่ได้คมคายหรือเต็มไปด้วยถ้อยคำที่ตกแต่งอย่างสวยงามตามแบบศิลปะการประพันธ์ที่ดี แต่บทกวีของพี่เต็มไปด้วยความอัดอั้นตันใจ ดุดัน มุทะลุ บทกวีของพี่ฮาริสเรียกเสียงฮือฮาจากคนทั้งห้องประชุมที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร…มันจริงๆ นะพี่ วันนั้นน่ะ…

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อมีการอ่านบทกวีที่ใด ไม่ว่าจะเป็นงานอ่านกวี หรือกิจกรรมทางการเมือง ผมก็จะเห็นพี่อยู่เสมอ พี่อยู่ท่ามกลางกวีและนักเขียนที่ใช้ความสามารถและทักษะของตัวเองเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อประชาชน เพื่อคนยากไร้ ผมเห็นพี่อยู่ตรงนั้นเสมอ…

บทกวีของพี่… สำหรับผมในตอนแรกที่ได้ฟังและได้อ่าน มันน่าตื่นเต้น มันเร้าใจ มันเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด ดุดัน บทกวีของพี่ไม่มีความประนีประนอมใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่ากับเนื้อหา รูปแบบ หรือแม้กระทั่งคนอ่าน ความโกรธเกรี้ยวในบทกวีกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของพี่ กลายเป็นความเร้าใจในบทกวีของพี่ไปเสียแล้ว เวลาพี่พูดถึงอำนาจบางอย่างในสังคมที่ดูเหมือนว่าแตะต้องไม่ได้ และเป็นอำนาจที่ดิบเถื่อน ไร้มนุษยธรรม จัดการกับผู้คนได้อย่างเลือดเย็น พี่พูดถึงอำนาจพวกนี้ด้วยความโกรธเกรี้ยวเสมอ

แน่นอนว่าพี่เป็นกวีที่พูดเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตรงไปตรงมาและดุดันที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ผมเห็น บทกวีของพี่ไม่ต้องการเรียกร้องน้ำตาหรือความเห็นใจใดๆ ทั้งสิ้น บทกวีของ มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม จึงเปรียบเสมือนการเอาน้ำร้อนไล่สาด “อำนาจ” ที่ดิบเถื่อนในสังคมไทยอย่างโกรธเกรี้ยวเสมอ..

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมต้องบันทึกเอาไว้ก่อนคือ บทกวีของพี่ฮาริส อย่างที่ผมบอกไปแล้ว (และพูดเรื่องนี้กับมิตรสหายหลายท่านเสมอ) ว่าเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด ดุดัน มันเป็นเช่นนั้นเสมอ (อย่างน้อยก็ในภาพจำของผมเอง) แต่หลายปีมานี้ ไม่ว่าจะด้วยประสบการณ์ในการอ่านของผมหลากหลายขึ้น หรือการรับรู้และเข้าใจงานวรรณกรรมขยายขอบเขตมากขึ้น ตลอดจนความกราดเกรี้ยวกับสังคมการเมืองไทยร่วมสมัยกินพลังชีวิตไปมากกว่าครึ่ง มันทำให้ผมตระหนักถึงบทกวีเกี่ยวกับสังคมการเมืองขึ้นมาในอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือความเป็นงานศิลปะของถ้อยคำ

ไม่ว่าบทกวีจะส่งสารที่ดุดัน เกรี้ยวกราด หรือปลุกเร้าอารมณ์ของมวลชนขนาดไหนก็ตาม มันน่าจะต้องมีการประดับตกแต่งถ้อยคำหรือวิธีการในการสื่อสารที่ประณีตบรรจงมากขึ้น ไม่เพียงแค่ต้องปลุกเร้าอารมณ์ แต่ตัวมันเองยังต้องเต็มไปด้วยอารมณ์ เพื่อให้ทุกคนที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับตัวบทกวีชิ้นนั้นสามารถเข้าใจ เข้าถึงและซึมซับความกราดเกรี้ยวได้

สำหรับผมแล้วนะ พี่ฮาริส ความกราดเกรี้ยวมันจะถูกปลุกเร้าได้ ต้องเอาอารมณ์หลายๆ แบบเข้าไปผลักดันความโกรธของผู้คน ผลักให้พวกเขาโกรธกับชะตากรรมที่น่าเศร้าและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้พวกเขาได้เผชิญกับอารมณ์ของความสูญเสียอันเนื่องมาจากการกดขี่บีฑาของผู้มีอำนาจ ให้พวกเขาได้ประจันหน้ากับความไม่แยแสและเย็นชาไม่เห็นหัวประชาชนอย่างเราๆ

ทั้งหมดที่ผมกล่าวมา ต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมาว่า ผมยังหาไม่เจอมากนักในงานของพี่ก่อนหน้านี้… พี่มีแต่ความโกรธ ซึ่งความโกรธของพี่ยังไม่พอที่จะไปผลักดันอารมณ์ของผู้คนให้มีความรู้สึกร่วมกับสิ่งที่พี่พยายามสื่อสารและพาผู้อ่านไปให้ถึงจุดๆ นั้น บทกวีของพี่มีแต่ความโกรธที่ผมเองก็ยังไม่รู้ว่าควรจะไปทางไหนต่อ… ใช่ ผมก็โกรธเหมือนพี่นั่นล่ะ… แต่พี่จะให้ผมทำอะไรต่อ… ในฐานะที่มันเป็นกวีนิพนธ์แนวสังคมการเมือง พี่ผลักอารมณ์ผมไปสู่หุบเหวของความกราดเกรี้ยวทางการเมืองแล้ว มันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปบ้าง นี่คือสิ่งที่คาใจผมมาหลายปีเวลาที่อ่านและฟังงานของพี่ฮาริส

จนเมื่อผมได้อ่าน “จุดตัดบนฟากฟ้า” รวมบทกวีนิพนธ์เล่มล่าสุดของพี่… ผมยอมรับว่าก่อนหน้าที่ผมจะอ่านนั้น ผมมีสมมติฐานเกี่ยวกับงานของพี่อยู่พอสมควร คือ ผมคิดว่าตัวเองจะได้รับพลังความโกรธในบทกวีของพี่อย่างที่เคยเป็นมาตลอดแน่ๆ ผมเตรียมตัว เตรียมใจซึมซับพลังจากบทกวีของพี่อย่างเต็มที่ ก่อนจะเปิดอ่านในบทแรก ผมตั้งตัว ตั้งรับ สูดลมหายใจลึกๆ แต่แล้วก็พบกับความผิดหวัง…

ความผิดหวังที่ว่านี้ไม่ใช่ความรู้สึกในทางลบ แต่มันเป็นความผิดหวังที่น่าเบิกบานใจสำหรับผม ผมเริ่มอ่านไปเรื่อยๆ และเริ่มเห็นว่ามันมีอะไรแตกต่างไปจากงานที่พี่เคยมีมาก่อนหน้านี้ เช่น ในบทกวี “ความรู้” ที่พี่ฮาริสจะใช้กรรไกรไปตัดภูเขาไฟ

แน่นอนว่ามันเป็นความเปรียบ เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่ใครสักคนจะเอากรรไกรไปตัดภูเขาไฟ แต่ผมก็สังเกตเห็นได้ว่า มันสะท้อนให้เห็นความผุพังบางอย่างของสิ่งที่เราสามารถเห็นและเห็นได้ชัดเจนมากในสังคมไทยนี้ ภูเขาไฟนั้นยิ่งใหญ่และร้อนระอุ การระเบิดของมันสร้างความพินาศฉิบหายให้กับอะไรก็ตามที่อยู่ใกล้ๆ ภูเขาไฟเป็นสิ่งที่เราไม่อาจรู้ได้เลยว่ามันจะปะทุและระเบิดเมื่อไร ความพยายามที่จะจัดการกับความไม่แน่นอนของภูเขาไฟนี้เองที่เปรียบเสมือนกรรไกร

โลกทัศน์ภายในบทกวีพยายามทำให้เราเห็นว่า ในโลกใบนี้มีความพยายามที่จะจัดการกับความไม่แน่นอนของภูเขาไฟ แต่สิ่งที่เรามีอยู่ในมือ มันก็แค่กรรไกรธรรมดาๆ ดังนั้นมันเป็นไปไม่ได้เลยแม้แต่น้อยที่จะจัดการปัญหาที่ใหญ่เกินตัวเพียงนั้น บทกวีนี้จึงเต็มไปด้วยความสิ้นหวังต่อปัญหาตรงหน้า และที่สำคัญ อย่างที่พี่บอกเอาไว้ในบทกวีชิ้นนี้ คือ

 

“การบรรลุถึงเทคนิคชั้นสูงนี้

เป็นของต้องห้ามทางปฐพีวิทยา

ครูของครูของครูของครูของครู

ไม่เคยสอน” (หน้า 16)

 

แน่นอน พี่ฮาริส เราไม่เคยถูกสอนหรืออบรมให้จัดการกับปัญหาที่อยู่ตรงหน้า เราไม่เคยเห็นว่าภูเขาไฟคือปัญหาด้วยซ้ำ ในทางตรงกันข้าม เราบูชาไหว้สาอย่างเสมอมั่น… ตลอดมา..

ส่วนบทกวี “กระดานหก” เป็นวิธีการเล่าถึงสภาวะที่อธิบายไม่ได้ว่าทำไมคนเราจึงสูงต่ำไม่เท่ากันผ่านการละเล่นกระดานหกของเด็กๆ บทกวีชิ้นนี้ดูตรงไปตรงมามากๆ ในการสื่อความ แต่ความพิเศษของมันคือ พี่ฮาริสเอาการละเล่นของเด็กธรรมดาๆ มาใช้ การละเล่นที่เราไม่ตระหนักว่ามันสะท้อนให้เห็นถึงความต่ำสูงในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงเข้าไปอยู่ในการละเล่นโดยที่เราไม่รู้ตัว นานวันเข้า ความเหลื่อมล้ำนี้ถูกเก็บสะสมจนเราเองก็ไม่สามารถอธิบายได้เช่นกันว่าเหตุใดมันจึงเป็นเช่นนั้น ในวัยเด็ก เราอาจไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราไม่เท่ากัน ดังที่ในบทกวีของพี่บอกว่า

 

“ตอนนั้น, เธอยังเด็กเกินไป

เกินได้คำตอบว่าทำไมบางคนลอยสูงแตะฟ้า

บางคนต่ำเตี้ยจมดิน” (หน้า 19)

 

แต่นั่นคือเด็กใช่ไหมพี่ฮาริส เขายังไม่เข้าใจว่าทำไมบางคนสูงเสียดฟ้าและบางคนต่ำเตี้ยเสียเหลือเกิน และนั่นก็เป็นเพียงการเล่น แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ล่ะ ผู้ใหญ่ทั้งหลายที่มีประสบการณ์มากพอจะรู้ว่าทำไมมันจึงเป็นแบบนั้น พวกเขามีคำตอบไหม? แน่นอนมันควรจะต้องมี ต่อมา คำถามที่สำคัญกว่า คือผู้ใหญ่จัดการอย่างไรกับโลกแบบนี้ ปล่อยและอดทนไปกับโลกที่เราดันให้ใครบางคนสูงเหนือหัวเราจนไม่อาจเอื้อมถึง และกดตัวเราเองให้ต่ำลงไปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นั่นคือโลกของเราใช่ไหมพี่ฮาริส…

ใน “จุดตัดบนฟากฟ้า” ผมแลเห็นประเด็นที่บทกวีพยายามนำเสนอ คือการบันทึกถึงความผุพังที่ค่อยๆ กร่อนเซาะสังคมไทยและฝังอยู่ในสำนึก (conscious)  ของปัจเจกบุคคล มันทำให้เราไม่นึกระแวงสงสัย มันทำให้เราเฉย ชาชินกับความพังทลายที่เกิดขึ้นจากภายในตัวเรา และถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากภายนอกอีกต่อหนึ่ง ความผุพังที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องผสมผสานกับความเกรี้ยวกราดในบทกวีของพี่ ทำให้ “จุดตัดบนฟากฟ้า” มีพลังในการสื่อสารอารมณ์ได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว

ทุกๆ ครั้ง เมื่อต้องอ่านกวีนิพนธ์ของพี่ แน่นอนว่าเป็นกวีไร้ฉันทลักษณ์อย่างที่พี่ทำเสมอมา สิ่งที่ช่วยเร้าอารมณ์ผม คือการแสดงบทกวีของพี่ฮาริสขณะอ่าน น้ำเสียง อารมณ์ของการแสดง มันช่วยตบแต่งปั้นอารมณ์ของบทกวีให้ออกมามีพลังของความโกรธเกรี้ยวอยู่เสมอ แต่ใน “จุดตัดบนฟากฟ้า” ผมเห็นพัฒนาการทางอารมณ์ของพี่ชัดเจนมาก อย่างที่ผมบอกไปก่อนหน้านี้ว่า ผมผิดหวังกับเล่มนี้ แต่เป็นความผิดหวังที่น่าเบิกบานใจ บทกวีของพี่ยังคงมีความโกรธ แต่เป็นความโกรธที่ถูกจัดวางอย่างประณีตบรรจง พี่ใช้สารพัดเทคนิคทางวรรณกรรมมาช่วยทำให้บทกวีของพี่ทรงพลัง โดยไม่ต้องอาศัยน้ำเสียงที่โมโหโกรธาของพี่สักเท่าไรเลย

มันเป็นเรื่องที่น่ายินดีนะพี่ฮาริส… สำหรับผมผู้เฝ้ารอพัฒนาการในบทกวีของพี่เช่นนี้มานานแล้ว…

เทคนิคทางวรรณกรรมที่พี่ระดมใช้มันเพื่อสร้างบทกวีนั้น มันไม่ใช่เทคนิคที่สูงส่งดังที่กวีรุ่นใหญ่ๆ ในประเทศนี้เขาชอบทำกัน สิ่งที่พี่ทำ คือการเอาภาพของสิ่งที่มันไม่เข้ารูปเข้ารอยกัน สิ่งที่ไม่เพียงอยู่ตรงกันข้าม แต่ยังขัดแย้งกันมานำเสนอ จะว่าเป็นความเปรียบที่เกินจริงอย่างที่เขาเรียกว่าอติพจน์ก็ไม่ใช่ เพราะมันไม่ได้มุ่งไปทางนั้นเลย หรือเป็นภาพความขัดแย้งแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ก็ยังไม่น่าจะใช่ ผมคิดว่าคำที่ใช้อธิบายวิธีการนำเสนอในบทกวีของพี่น่าจะเป็น “การบิดเบือน”

จากที่ผมสังเกตนะ พี่ฮาริส พี่เอาภาพของวัตถุมาผสมผสานกับเหตุการณ์ในห้วงเวลาที่ไม่สามารถจัดลำดับได้อย่างชัดเจน เอามา “บิดเบือน” จากสิ่งที่มันควรจะเป็น ดังนั้น สิ่งที่พี่บิดเบือนจึงเป็นการบิดเบือนตัวเองโดยเนื้อแท้ แต่การบิดเบือนดังกล่าวได้ทำหน้าที่เสนอ “ความจริง” บางอย่างที่มันถูกบิดเบือนอยู่ในสังคม

ตัวอย่างเช่น ในบท “ชายฝั่งล้วนมีเจ้าของ” พี่พยายามเสนอภาพของ “ชายฝั่ง” กับ “คนที่ลอยคอ” อยู่ “กลางคลื่นลม” เพราะพวกเขาไม่สามารถเป็นเจ้าของชายฝั่งได้ ในบทนี้เรารู้สึกได้ว่ามันกำลังพูดถึงทะเลล่ะนะ แต่เป็นทะเลอันเวิ้งว้างที่ไม่ควรมีใครเป็นเจ้าเข้าเจ้าของอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในที่สุด “ชายฝั่ง” เหล่านั้นก็เป็นของ “บรรพชนแห่งชาติ” ที่ไหลออกมาจาก “หน้าอก” ของ “ฉัน”

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ “ฉัน” นี้คือใคร คือเรา คือผม คือพี่ คือทุกๆ คนใช่ไหม ที่มีบรรพชนแห่งชาติอยู่กลางอกและยังเป็นเจ้าของแผ่นดินอีกด้วย “พวกเขา” จึงต้องลอยคอกลางคลื่นลม ในบทนี้ผมชอบคำว่า “คนที่เลือดกลิ่นขี้เถ้าจากบ้านเรือนที่ถูกเผา” “คนที่ออกตามหาประตูโดยที่ไม่มีบ้าน” (หน้า 30) เพราะมันทำให้ผมรู้สึกถึงอารมณ์อันคุกรุ่น มันเข้าไปเร้าสำนึกบางอย่างที่ผมมีต่อคนที่ “ตามหาประตูโดยที่ไม่มีบ้าน” มันน่าเวทนาถึงเพียงนั้น ชะตากรรมของคนที่บ้านก็ไม่มี แต่ต้องไปตามหาประตู ใช่ มันเป็นภาพที่ไม่น่าเชื่อเท่าไรนัก แต่มันพอจะคุ้นๆ อยู่ใช่ไหมพี่ฮาริส เหมือนบ้านเมืองของเราเลย…

“ประชากรที่นี่” เป็นอีกบทที่น่าสนใจสำหรับผมมาก โดยเฉพาะในบท

 

“ทารกน้อยน้อยคลานตามรอยเท้า

ในผังเมืองที่ปูด้วยเส้นคดโค้งเหนื่อยล้า

บานหน้าต่างรูปทรงกระสุน

หลังคารอยตีนตะขาบ

ธนบัตรที่เปื้อนเลือด” (หน้า 51)

 

ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่มีทารกคนไหนคลานตามรอยเท้าไปได้หรอก และบ้านใครกันที่มีรอยตีนตะขาบ แต่การบิดเบือนภาพเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อนำเสนอความจริงที่เป็นสัจธรรม และเป็นความจริงเชิงประจักษ์ได้ด้วยซ้ำไป มันเป็นความจริงในบ้านเมืองของเราไงพี่ฮาริส ดูเหมือนว่าในบทนี้ มันแสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้ถูกกระทำจากอำนาจที่ทั้งดิบและป่าเถื่อน ภาพที่ถูกนำเสนอออกมานั้นไม่ใช่ภาพของวัตถุที่อยู่นิ่งๆ ไร้ความเคลื่อนไหว แต่เป็นวัตถุที่บรรจุอารมณ์ความรู้สึกของการถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ ถูกเหยียบเอาไว้ด้วย “ตีนตะขาบ” แม้กระทั่ง “ธนบัตร” ก็ยังเปื้อนเลือด

บทกวีแห่งความกราดเกรี้ยวของพี่พยายามเข้าไปผลักดันอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่าน แต่มันทำให้ผู้อ่าน “รู้สึก” ได้หรือไม่นั้นยังไม่มีใครทราบแน่ชัด และในฐานะที่มันเป็นกวีนิพนธ์สังคมการเมือง อารมณ์ที่ถูกปลุกเร้าย่อมนำไปสู่ปฏิบัติการทางการเมืองในทางใดทางหนึ่งเสมอ

ถ้าตัวอย่างที่ผมยกมานี้ พี่ฮาริสคิดว่ามันยังไม่เร้าอารมณ์พอ มีอีกบทที่ผมประทับใจ นั่นคือ “พลส่งกระสุน”

ท่ามกลางความคลุมเครือของความหมายและภาพนำเสนออันบิดเบี้ยว คำถามที่เกิดขึ้นคือ “ใครคือพลส่งกระสุน” และเขาส่งกระสุนให้ใคร ส่งปืนให้ใคร ส่งโซ่ตรวนให้ใคร “พลส่งกระสุน” ของพี่อาจไม่ได้หมายถึงพลที่อยู่ในระดับปฏิบัติการ แต่เป็นพลที่อยู่แนวหลัง คอยให้ความช่วยเหลือตลอดจนออกคำสั่งให้กองทัพ ให้ชายชุดพรางไป “กวาดล้างสิ่งที่สมควรต่อต้าน” และมันเป็น “การกวาดล้างที่น่าสรรเสริญ” เสียอีกด้วย

พี่บอกเอาไว้ในบทกวีชิ้นนี้นะว่า การกวาดล้างที่ว่าได้สร้าง “ความหวาดกลัวของประชาชนที่พวกคุณจงเกลียดจงชัง” แต่ไม่ว่าอย่างไร มันก็ “มิอาจลึกซึ้งละมุนละไมเท่ากลิ่นดินปืนที่ติดมือพวกคุณ” ใช่ มันทั้งโกรธและแค้น แต่ในขณะเดียวกัน เราก็กลัว มันช่างคุ้นในความทรงจำของผมกับพี่เหลือเกิน… ใช่ไหมพี่ฮาริส มันคือเรื่องบ้านเมืองของเราเองใช่ไหม ในอารมณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้มันยังมีบท “พลเมืองชั้นถัดไป” (หน้า 98) “โรงงานอาวุธ” (หน้า 102) และ “ปีศาจแห่งความเกลียดชัง” (หน้า 104) อีกด้วย

พี่ฮาริส ถึงส่วนที่ผมจะต้องกล่าวลาพี่แล้วนะครับ สิ่งที่ผมเขียนขึ้นนี้ พี่อาจจะไม่ได้อ่าน เพราะป่านนี้ พี่คงอยู่ในอาณาจักรของพระเจ้าแล้ว แต่ผมยังคงคิดถึงความกราดเกรี้ยวของพี่อยู่เสมอ มันเป็นความกราดเกรี้ยวที่พิเศษมากๆ สำหรับผม เพราะพี่ใช้ความกราดเกรี้ยวนั้นต่อสู้กับศัตรูของประชาชน ต่างจากกวีอีกหลายคนในประเทศนี้ที่เขาอาจจะต่อสู้กับอะไรสักอย่างอยู่ก็ได้ แต่การต่อสู้ของพวกเขาหลายๆ ครั้ง มันคือการยกเท้ามาวางบนหัวประชาชนอย่างผม อย่างพี่ พวกเขาดูเหนือชั้นสุดๆ ไปเลยล่ะพี่ฮาริส พี่ฮาริสรู้ดีนี่ ใช่ไหม อย่างไรก็ตาม อย่าโกรธพวกเขาเลยนะพี่ พวกเขาก็ต้องกินข้าวน่ะ…

เราจะพบกันอีกครั้งในที่ใดที่หนึ่ง…

ด้วยรัก…

 

อ้างอิง

มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม. 2562. จุดตัดบนฟากฟ้า. กรุงเทพฯ: สมมติ.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save