fbpx
Amulet : ติดอยู่ระหว่างการปราบปราม

Amulet : ติดอยู่ระหว่างการปราบปราม

แมท ช่างสุพรรณ เรื่อง

 

Amulet : ติดอยู่ระหว่างการปราบปราม

 

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 1968 กองกำลังตำรวจปราบจราจลแห่งกรุงเม็กซิโกได้เข้ายึด National Autonomous University of Mexico (UNAM) ด้วยเหตุผลว่าเป็นศูนย์กลางการรวมตัวกันของขบวนการนักศึกษาที่ปรารถนาให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญ คือ รัฐบาลใช้ทรัพยากรและเงินลงทุนจำนวนมากไปกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้นในกลางเดือนตุลาคม การเข้าปราบปรามและปิดยึดมหาวิทยาลัยมีระยะเวลาสิบสามวัน ตลอดระยะเวลานั้น มีหญิงชาวอุรุกวัยคนหนึ่งติดอยู่บนอาคารเรียน

เรื่องราวข้างต้นเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงไม่กี่วันก่อนการสังหารหมู่นักศึกษาที่ตลาเตโลลโก (Tlatelolco Massacre) ต่อจากนี้ไปเป็นเรื่องของวรรณกรรม

“นี่จะเป็นเรื่องราวสยองขวัญ เรื่องของการฆาตกรรม การสืบค้น และความสยดสยอง แต่มันจะไม่ปรากฏออกมาอย่างนั้น ด้วยเหตุผลเรียบง่ายว่าฉันคือผู้เล่า เล่าโดยฉัน มันจะไม่ดูเป็นอย่างนั้น ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้ว มันคือเรื่องราวของอาชญากรรมอันโหดร้าย”

เอาซิลิโอ ลากูตูร์ (Auxilio Lacouture) หญิงอุรุกวัยผู้เปรียบตนในทีว่าเป็น ‘มารดาแห่งกวีนิพนธ์เม็กซิกัน’ ขึ้นต้นเรื่องเล่าอย่างชวนกังขา ก่อนจะย้อนกลับไปถึงวันเวลาแห่งทศวรรษ 60 ที่เธอเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเมื่อใดที่จากบ้านเกิดมาอาศัยอยู่ในเม็กซิโกอย่างผิดกฎหมาย เอาซิลิโอหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ ในมหาวิทยาลัยและทำความสะอาดที่พักอาศัยให้กับกวีที่ชื่นชอบ ในยามค่ำคืน เธอเที่ยวเตร่และสังสรรค์กับกลุ่มกวีวัยเยาว์ ซึ่งทำให้เธอได้รู้จักกับอาร์ตูโร่ เบลาโน่ (Arturo Belano) ในปี 1970

ในวันที่กองกำลังทหารและตำรวจปราบจราจลเข้ายึด UNAM เอาซิลิโอติดอยู่ในห้องน้ำชั้นสี่ของคณะปรัชญาและวรรณคดี โดยมีเพียงหนังสือบทกวีของเปโดร การ์เฟียส (Pedro Garfias) กวีสแปนิชที่เธอชื่นชมอยู่กับเธอ

เวลาในโลกค่อยๆ คืบคลานไป เอาซิลิโอเริ่มปลดปล่อยตัวเองไปกับความคิด เสียงและเรื่องเล่าของเธอท่องไปในกาลเวลาอันบิดเบี้ยว เธอพูดถึงอาร์ตูโรเสมือนว่ารู้จักเขามาก่อนแล้วจากอนาคต พูดถึงเหตุการณ์ที่เธอพบเจอในอดีต พูดถึงผู้คนที่จากไปแล้วประหนึ่งว่าเคยพบเจอกันมาก่อน

การผจญภัยในความคิดที่คาบเกี่ยวอยู่กับความจริงและความฝันดุจเมามายของเอาซิลิโอนำไปสู่ภาพระห่ำของกวีหนุ่มละตินอเมริกันในทศวรรษ 70 บทสนทนาที่บ้านของศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ เรเมดิโอส บาโร่ (Remedios Varo) ที่เธอเห็นภาพวาดหุบเขาประหลาดตา การพบพานกับลิเลียน แซร์ปาส (Lilian Serpas) กวีหญิงชาวซัลวาดอร์ที่เคยมีสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับเช เกบาร่า (Che Guevara)  ซึ่งพาเอาซิลิโอไปพบการ์โลส กอฟฟีน แซร์ปาส (Carlos Coffeen Serpas) ลูกชายของเธอที่เป็นศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ ผู้มากับปริศนาแห่งปกรณัมกรีก

นอกจากการพบเจอกับบุคคลต่างๆ แล้ว เอาซิลิโอยังได้พบกับนางฟ้าในยามค่ำคืนที่ทำให้เธอเอ่ยคำพยากรณ์อนาคตถึงผลงานของนักเขียนและกวีต่างๆ เช่น มาร์แซล พรูสต์ (Marcel Proust) อลิซ เชลดอน (Alice Sheldon) หลุยส์ แฟร์ดิน็อง เซลีน (Louise Ferdinand Celine) โอลิเบริโอ ฆิรอนโด้ (Oliverio Girondo) และนิกานอร์ ปาร์ร่า (Nicarnor Parra)

เอาซิลิโอผู้หิวโหยจนต้องกินกระดาษชำระถูกช่วยเหลือออกมาในวันที่ 30 กันยายน 1968 สองวันก่อนเหตุการณ์ที่ตลาเตโลลโก

หลังจากเธอรอดชีวิตลงมาจากอาคารเรียน เธอเห็นภาพนิมิตของหุบเขาประหลาดตาจากบ้านของเรเมดิโอสอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ ภาพที่เธอเห็นมีกลุ่มเยาวชนจำนวนมากเดินร้องเพลงมุ่งหน้าไปสู่หุบเหวในภาพวาด

ก่อนหน้าที่ปรากฎตัวใน Amulet เอาซิลิโอ ลากูตูร์เคยมีบทบาทมาก่อนแล้วเล็กน้อยใน The Savage Detective นวนิยายโด่งดังที่ตีพิมพ์ก่อนหน้าเพียงหนึ่งปี แต่ดูเหมือนว่าโรแบร์โต โบลัญโญ่ (Roberto Bolano) ยังคงมีเรื่องราวมากมายที่อยากให้เธอบอกเล่า

เขาเลือกใช้บทร่ายเดี่ยว (monologue) ถ่ายทอดห้วงความคิดของเอาซิลิโอขณะติดอยู่ในห้องน้ำระหว่างการปิดยึดมหาวิทยาลัย ภาพที่ถูกบรรยายออกมามีความสับสนปนเป จนแทบแยกไม่ออกว่าเรื่องใดเกิดขึ้นก่อนหลัง เรื่องใดเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเพ้อฝัน แสดงให้เห็นถึงสภาวะจิตใจที่สับสน อันเกิดจากความหวาดกลัวหลังเห็นความรุนแรงของการปราบ และความกล้าหาญที่จะมีชีวิตรอด นอกจากนั้นยังใช้เสียงแว่วหรืออาการประสาทหลอนจากการอดอาหารเป็นสื่อในการเล่นกับบทสนทนาของการดำเนินเรื่อง

เสน่ห์จากภาพสติสัมปชัญญะจากกาลเวลาที่บิดเบี้ยวของเอาซิลิโอ คือการเสนออ่านเหตุการณ์ได้สองแบบ ทั้งในแง่ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติของระบบเวลาที่เกิดขึ้นจริงกับปัจเจกบุคคล หรือทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องเล่าของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นลำดับบนเส้นของเวลา หากแต่เกิดความสับสนจากสภาพทางจิตของตัวผู้เล่า ซึ่งแต่ละความหมายขึ้นอยู่กับว่า ผู้อ่านจะเลือกอยู่กับเรื่องราวด้วยตรรกะของวิทยาศาสตร์หรือตรรกะของบทกวี

จากความโกลาหลในห้วงคำนึงของเอาซิลิโอ หากค่อยๆ จัดเรียงเหตุการณ์ใหม่และพิจารณา จะพบว่าสิ่งที่แนบเนียนอยู่ในเนื้อหา คือการบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หลากหลายระดับ

ระดับแรก คือการบันทึกเรื่องราวของอัลซิร่า เซาสต์ สกาฟโฟ่ (Alcira Soust Scaffo) ครูและกวีหญิงชาวอุรุกวัยที่ติดอยู่บนอาคารเรียนของ UNAM จริงๆ ในประวัติศาสตร์ ซึ่งการซ่อนตัวไม่ยอมให้ฝ่ายปราบปรามจับได้ กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการต่อสู้อย่างไม่ยอมจำนนกับอำนาจแห่งปี 1968

โบลัญโญ่ทาบบทบาทของหญิงสาวที่เขารู้จักเป็นการส่วนตัว และมีความสนิทสนมในลักษณะเพื่อนผู้อ่อนวัยกว่า วางลงไปบนตัวของเอาซิลิโอ ลากูตูร์เพื่อสำรวจสภาพจิตใจและวิธีการของผู้ที่ต้องปลอบประโลมให้ตัวเองเข้มแข็งในเหตุการณ์น่าหวาดกลัว

ระดับที่สอง คือการเขียนอัตชีวประวัติของโบลัญโญ่แฝงอยู่ในนามของอาร์ตูโร่ เบลาโน่ ซึ่งเป็นตัวตนที่สอง (alter ego) ของเขาเอง เรื่องราวที่ถูกบอกเล่าผ่านถ้อยคำของเอาซิลิโอ คือภาพประสบการณ์ชีวิตวัยหนุ่มสุดโลดโผนของเขาในเม็กซิโก ซิตี้ จะมีอะไรดีไปกว่าการบันทึกเรื่องราวซ่อนเร้นของนักเขียนนวนิยายลงไปในนวนิยายที่เขียนขึ้นเอง

ระดับที่ต่อมา คือการบันทึกถึงผู้คนในแวดวงวรรณกรรมและบทกวีของละตินอเมริกา สำหรับชื่อที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงซ้ำ ชื่อที่ค่อยๆ เลือนไปจากรับรู้ การเขียนถึงให้ถูกอ่านและสงสัย คืออุบายในการสร้างความปรารถนาหามาอ่าน โบลัญโญ่เหมือนจะเข้าใจดีถึงความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ หรือถ้าเป็นเพียงแค่การยกย่องส่วนตัวโดยไม่มีเจตนาอื่นใด ผลของมันก็หอมหวนทวนลมไปแสนไกล

ระดับท้ายสุด คือการบันทึกเหตุการณ์ความรุนแรงทางประวัติศาสตร์ด้วยการเล่าเรื่องอื่น การพูดถึงโดยอ้อม โดยการเปรียบเทียบเปรียบเปรย คือการแสดงความสามารถของการเล่าเรื่องที่ไม่หยุดอยู่แค่การเป็นเครื่องมือบันทึกความจริง พลังของถ้อยคำและบทบาทของตัวละครช่วยต่อชีวิตของประวัติศาสตร์ในการรับรู้และการสืบค้นของผู้คนไปอีกทาง

“…ฉันอยู่ที่มหาวิทยาลัยในวันที่สิบแปดกันยายนตอนที่กองทัพเข้ายึดพื้นที่ ไล่จับกุมและฆ่าฟันไม่เลือกหน้า ไม่ เพียงไม่กี่คนที่ถูกฆ่าที่มหาวิทยาลัย นั่นเป็นที่ตลาเตโลลโก ขอให้ชื่อนั่นอยู่เป็นนิรันดร์ในความทรงจำของเรา…”

ดูเหมือนว่าการลืมจะเป็นต้นเค้าหนึ่งแห่งความสยดสยองทั้งปวงที่ไม่ถูกเล่าอย่างตรงไปตรงมา

อาจจะดูล้าสมัย หรือมาถึงล่าช้าเมื่อหยิบนวนิยายที่เขียนขึ้นปี 1999 มาพูดถึงในปี 2020 ทั้งที่มีนวนิยายร่วมสมัยอื่นๆ มากมายให้พูดถึง แต่เพราะประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเสมอ ทำให้เราต้องพูดถึงเรื่องเก่าก่อนอีกครั้งในการพิจารณาปัจจุบัน

เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำให้เกิดการส่งเสียงแสดงความไม่เห็นด้วยออกมา ไม่ใช่จากกลุ่มที่แสดงความไม่พอใจหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการได้มาซึ่งอำนาจของรัฐบาล หากแต่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักถึงความไม่ชอบมาพากลอันแนบสนิทอยู่กับการกระทำเหนือเหตุผล เริ่มจากเสียงกระซิบในกลุ่มเล็กๆ ที่ระบายความไม่พอใจ จากนั้นค่อยๆ ดังขึ้น จนเป็นเสียงสะท้อนในสังคม และกลายเป็นการรวมกลุ่มต่อต้านของนักศึกษา

ระหว่างที่การแสดงออกของนักศึกษาเริ่มชัดเจนขึ้น กระบวนการตอบโต้นักศึกษาก็เริ่มดำเนินการโจมตีด้วยคำพูดต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นความไม่รู้เดียงสา ขาดความรู้จนตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง ก่อความไม่สงบ หรือแม้กระทั่งยกตัวอย่างของความพ่ายแพ้ของขบวนการนักศึกษาในอดีตมาตอกย้ำว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด

เด็กๆ อย่างพวกแกมันจะไปรู้อะไร!!!

คำถามคือจริงหรือที่ว่าพวกเขาไม่รู้อะไร?

แม้จะไม่ได้มีท่าทีต่อต้าน แต่นิมิตแห่งหุบเขาประหลาดตาก็สร้างความตื่นกลัวและเหตุสงสัยบางประการแก่เอาซิลิโอเช่นกัน ในขณะเดียวกันนั้น เสียงร้องเพลงจากเยาวชนก็ให้คำตอบที่ลึกซึ้งและกระจ่างแก่ใจ

ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสยองขวัญ เพราะประวัติศาสตร์มีนัยแฝงแห่งการลืมเลือน ประวัติศาสตร์จึงอุบัติซ้ำอยู่เสมอ

เพื่อให้จดและจำ บางครั้งเราจึงต้องใช้ท่าทีของวรรณกรรม และท่วงทำนองของบทกวี

 

ขอขอบคุณ

คุณก้อง ฤทธิ์ดี สำหรับ “barbaric poeticism”

คุณนันท์นรี พานิชกุล สำหรับความช่วยเหลือในการออกเสียงภาษาสเปน

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save