ธร ปีติดล เรื่อง
อัมสเตอร์ดัม
“วันหนึ่งที่หนาวเหน็บในเดือนกุมภาพันธ์ การจากไปของมอลลี่ เลน พาให้เพื่อนรักสองคนได้กลับมาพบกัน เวอร์นอน ฮาลิเดย์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ และไคลฟ์ ลินเลย์ นักประพันธ์เพลงชื่อดัง ทั้งคู่ต่างก็เคยเป็นคนรักของมอลลี่ ในงานศพนั้น เวอร์นอนและไคลฟ์ยังได้พบกับ จูเลียน การ์โมนี อดีตคนรักของมอลลี่อีกคนหนึ่ง ผู้เป็นนักการเมืองขวาจัดที่กำลังมีโอกาสจะได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี … เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากทั้งสามได้พบกันจะทำให้ทั้งเวอร์นอนและไคลฟ์ต้องพบกับการตัดสินใจครั้งใหญ่ การตัดสินใจที่จะแสดงถึงตัวตนทางจริยธรรมที่แตกต่างของคนทั้งสอง และจะทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล”
‘อัมสเตอร์ดัม’ (Amsterdam) เป็นนวนิยายที่เขียนโดย เอียน แมคอีแวน นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ เจ้าของผลงาน ‘Atonement’ เรื่องราวของคู่รักที่พลัดพรากและยังอาลัยกับข้อผิดพลาดในอดีต ซึ่งถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์จนได้รับรางวัลออสการ์
แมคอีแวนเขียนอัมสเตอร์ดัมเพียงไม่กี่ปีก่อนจะเขียน Atonement และหากจะมองเพียงโลกของนวนิยาย อัมสเตอร์ดัมถือเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดชิ้นหนึ่งของเขา เพราะทำให้เขาได้รับรางวัลอันทรงเกียรติอย่าง Man Booker Prize ในปี ค.ศ. 1998
จุดเด่นของอัมสเตอร์ดัม คือการเล่าถึงความท้าทายในการตัดสินใจทางจริยธรรมของมนุษย์ รวมทั้งโศกนาฏกรรมที่ตามมาเมื่อการตัดสินใจนั้นผสมปนเปไปกับความอ่อนแอ ความโกรธเกรี้ยว และความไม่สมบูรณ์อื่นๆ ในจิตใจมนุษย์
เพียงไม่นานหลังจากที่เวอร์นอนได้พบกับจูเลียน การ์โมนี่ นักการเมืองที่เขาเกลียดชังและมองว่าเป็นอันตรายยิ่งกับอนาคตของประเทศชาติ เขาก็ได้รับข้อมูลสำคัญชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของจูเลียน หากข้อมูลนี้ได้รับการเผยแพร่ออกไป อาจจะส่งผลถึงขั้นทำให้อนาคตทางการเมืองของจูเลียนต้องดับลง
สำหรับไคลฟ์ เขากำลังอยู่ในช่วงที่สำคัญที่สุดในชีวิตนักประพันธ์เพลง เขาได้รับมอบหมายให้แต่งซิมโฟนีเพื่อนำมาใช้ประกอบการเฉลิมฉลองช่วงเวลาของการเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ (Millennium) ของสหราชอาณาจักร ผลงานชิ้นนี้จะถูกบรรเลงไปทั่วทุกแห่งหน และหากเขาสามารถแสดงฝีมือให้งานนี้กลายเป็นงานชิ้นเอกได้ แน่นอนว่าชื่อของเขาจะถูกจดจำในหน้าประวัติศาสตร์
ทั้งเวอร์นอนและไคลฟ์ต่างกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งในชีวิต แต่ทั้งสองกลับมีแนวทางทางจริยธรรมที่ต่างกันไปในการเผชิญกับความท้าทายในช่วงเวลานี้
เวอร์นอนมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่สร้างคุณค่าให้กับการกระทำของเขาคือ ‘ผลลัพธ์’ ไม่ว่าวิธีการจะเลวร้ายอย่างไร เขาจะมุ่งหน้าทำต่อไปหากเห็นว่าท้ายที่สุดมันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สำคัญกว่า ทว่าจริยธรรมของไคลฟ์นั้นแตกต่างไปจากเวอร์นอนอย่างสิ้นเชิง เขามองเห็นแต่เพียง ‘หน้าที่’ ที่ยิ่งใหญ่ของตนในการประพันธ์ดนตรีให้ออกมาสมบูรณ์แบบ
เมื่อเวอร์นอนต้องการให้ไคลฟ์สนับสนุนการตัดสินใจของเขาในการตีแผ่ข้อมูลส่วนตัวของจูเลียน ไคลฟ์กลับต่อว่าถึงความเลวร้ายในสิ่งที่เวอร์นอนจะทำ แต่ไคลฟ์เองก็ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ดีไปกว่าเวอร์นอนเท่าไรนัก เพราะเขายังไม่สามารถประพันธ์ส่วนสำคัญที่สุดในซิมโฟนี่ได้เสียที เขาละทิ้งความสนใจในทุกสิ่งรอบกายเพื่อแต่งส่วนสำคัญนี้ จนถึงขั้นปล่อยปละละเลยเมื่อพบเห็นสตรีที่กำลังร้องขอความช่วยเหลือจากการถูกทำร้าย ซึ่งเมื่อเวอร์นอนรับรู้ถึงสิ่งที่ไคลฟ์ทำลงไป ก็ต่อว่าไคลฟ์อย่างรุนแรงเช่นกัน
จริยธรรมของมนุษย์กับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น
เรื่องราวของเวอร์นอนและไคลฟ์ ชวนให้คิดต่อไปถึงประเด็นทางจริยธรรมที่สำคัญยิ่ง กล่าวคือ มนุษย์ควรให้คุณค่ากับอะไรมากกว่ากันระหว่าง ‘ผลลัพธ์’ กับ ‘หน้าที่’ จึงจะนำไปสู่สังคมที่ดีขึ้นได้
เมื่อเวอร์นอนถูกท้าทายจากไคลฟ์ถึงเหตุผลในสิ่งที่เขาต้องการจะทำ เขาโต้ตอบกลับไปอย่างดุเดือด
“ไคลฟ์ ฟังนะ คนอย่างนายอยู่แต่ในสตูดิโอทั้งวัน นายไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ฉันกำลังจะทำมันสำคัญแค่ไหน ถ้าเราหยุดการ์โมนี่ไม่ได้ในวันนี้ และถ้าเกิดเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี…จะมีคนอีกมากมายต้องตกอยู่ในความยากจน จะมีคนอีกมากต้องติดคุก ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน จะมีแต่ความวุ่นวายและอาชญากรรม…ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีแต่จะเลวร้ายลงเพราะคนอย่างการ์โมนี่จะมุ่งตอบแทนเพื่อนฝูงในแวดวงธุรกิจมากกว่าจะไปสนใจสนธิสัญญาแก้ปัญหาโลกร้อน และเขายังจะก่อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจด้วยการพาประเทศของเราออกจากสหภาพยุโรป”
เวอร์นอนอยู่ในโลกของนักหนังสือพิมพ์ เขารู้สึกได้ถึงความหมายในงานของเขาผ่านการสร้าง ‘ผลกระทบ’ กับสังคมผ่านข่าวสาร มากไปกว่านั้น เขายังคุ้นชินกับการได้สัมผัส ‘อำนาจ’ ของตนเองผ่านการสร้างผลกระทบเหล่านั้น สิ่งที่น่าคิดต่อคือ หากผู้คนในสังคมล้วนเป็นคนแบบเวอร์นอน ที่มุ่งให้คุณค่ากับผลลัพธ์จากการกระทำเป็นหลัก เราจะสามารถสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้จริงไหม ?
อมาร์ตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์และปรัชญาชาวอินเดียตั้งคำถามเช่นนี้ไว้ในหนังสือ ‘The Idea of Justice’ เซนให้คำตอบว่าการใส่ใจแต่เพียงผลลัพธ์ไม่อาจช่วยสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ผลลัพธ์นั้นถูกตีความหมายไว้คับแคบ ตัวอย่างเช่น หากเราตีความว่าผลลัพธ์ที่มนุษย์ต้องการคือความสุข เราก็จะแสวงหาสังคมที่ดีจากการสร้างความสุขสูงสุดให้กับสมาชิกในสังคม โดยไม่สนใจว่าความสุขนั้นอาจมาจากกระบวนการที่เลวร้าย และกระบวนการที่เลวร้ายนั้น ในแง่หนึ่งย่อมทำให้เกิดสังคมที่ ‘ไม่ดี’ หรือ ‘ไม่มีความสุข’ ได้เช่นกัน
หากแนวทางจริยธรรมของเวอร์นอนที่ให้คุณค่าสูงสุดกับผลลัพธ์ ไม่อาจเป็นแนวทางไปสู่สังคมที่ดีขึ้นได้ แล้วแนวทางของคนอย่างไคลฟ์ที่ให้ความสนใจกับการทำ ‘หน้าที่’ ของตนเองให้ดีที่สุดล่ะ ?
ออกจะเป็นความโชคร้ายอย่างยิ่ง เพราะในชั่วขณะที่ไคลฟ์พบเห็นสตรีที่ถูกทำร้ายอยู่นั้น กลับเป็นช่วงเวลาที่เขากำลังคิดออกถึงเหล่าตัวโน้ตที่ถวิลหามาเป็นท่อนสำคัญในซิมโฟนีที่แต่งไม่จบเสียที ไคลฟ์บอกกับตัวเองว่า
“หากเขาต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ทำร้ายกันครั้งนี้ เขาก็อาจต้องสูญเสียโอกาสที่สำคัญที่สุดในอาชีพของเขาไป เหล่าตัวโน้ตที่เขากำลังได้ยินอยู่จะต้องเลือนหายไปแน่ๆ จริงๆ แล้วที่บริเวณนี้มันทั้งกว้างและเส้นทางเดินก็ยังมีหลากหลาย มันคงไม่แปลกอะไรถ้าเขาจะไม่เจอกับเหตุการณ์นี้ จะคิดไปว่าเขาไม่ได้อยู่ที่นั่นตรงนั้นก็ได้ เพราะแท้จริงแล้วเขาก็อยู่แค่ในดนตรีของเขา ทั้งหมดมันเป็นเรื่องของ ‘ชะตาของเขา’ และ ‘ชะตาของคนอื่น’ เส้นทางที่แตกต่างกัน”
ถ้าเรามองตัวตนของไคลฟ์ให้ลึกซึ้งมากขึ้น ก็จะพอเข้าใจได้เช่นกันว่าทำไมเขาถึงมีความคิดเช่นนี้ ไคลฟ์เป็นนักประพันธ์ที่เชื่อว่าพรสวรรค์ของตนเองนั้นมาพร้อมกับหน้าที่พิเศษ เขามองตนเองไว้สูงส่ง เทียบเคียงกับนักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่เช่นโมสาร์ทและชูเบิร์ท เขามองว่าชีวิตเขาในทุกๆ ด้านดำเนินไปก็เพื่อให้หน้าที่ในการค้นหาความงามทางดนตรีที่ยังไม่ได้มีใครพบมาก่อนสำเร็จลุล่วงไปได้
แล้วถ้าสังคมเรามีแต่คนแบบไคลฟ์อยู่เต็มไปหมด คนที่มุ่งทำแต่เพียงหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด สังคมเราจะดีขึ้นไหม?
อมาร์ตยา เซน อธิบายว่าการให้ความสำคัญแต่กับการทำหน้าที่ ก็ไม่อาจเป็นหนทางไปสู่สังคมที่ดีขึ้นได้เช่นกัน เซนอภิปรายโดยยกตัวอย่างถึงแนวคิดทางจริยธรรมแบบอิสรนิยม (Libertarianism) ที่ให้คุณค่าสูงสุดกับหน้าที่ และการปกป้องไม่ให้สิทธิของสมาชิกสังคมถูกละเมิด โดยเฉพาะสิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน ปัญหาของแนวคิดเช่นนี้ก็คือ การใส่ใจแค่การปกป้องสิทธินั้นไม่เพียงพอจะแก้ปัญหาสังคมได้หลายกรณี ตัวอย่างเช่น ภาวะอดอยากของคนบางกลุ่มในสังคมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีการละเมิดสิทธิเสมอไป แต่อาจเกิดขึ้นจากความล้มเหลวของกลไกตลาดหรือแม้กระทั่งสภาพดินฟ้าอากาศ เช่นนี้แล้ว การละเลยผลลัพธ์ที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์เช่นความอดอยากก็ย่อมทำให้การเน้นแต่หน้าที่ไม่อาจทำให้สังคมดีขึ้นได้
สังคมที่เป็นธรรมของอมาร์ตยา เซน
ความแตกต่างในจริยธรรมของเวอร์นอนและไคลฟ์ นำพาเขาทั้งสองสู่ความขัดแย้ง ทั้งคู่ต่างมองอีกฝ่ายเป็นศัตรูที่ไม่เข้าใจคุณค่าของสิ่งที่พวกเขาต้องการทำ หรือแม้กระทั่งคุณค่าสำคัญที่ให้ความหมายกับชีวิตเขา ท้ายที่สุดความขัดแย้งนี้ลงเอยที่การพบกันของทั้งคู่ที่ ‘อัมสเตอร์ดัม’ ที่ซึ่งโศกนาฏกรรมอันแสนเลวร้ายจะเกิดขึ้นกับเขาทั้งสอง
หากจริยธรรมที่แตกต่างของเวอร์นอนและไคลฟ์ไม่สามารถหาจุดลงเอยได้ แล้วในโลกของทฤษฎีทางจริยธรรมล่ะ มีแนวทางไหนที่จะหาจุดลงเอยระหว่างการให้ความสำคัญกับหน้าที่และผลลัพธ์ได้
ใน ‘The Idea of Justice’ อมาร์ตยา เซน ได้พยายามหาคำตอบให้กับคำถามนี้ด้วยการแสวงหาแนวคิดเรื่องความเป็นธรรมที่ก้าวข้ามข้อจำกัดของแนวทางที่เน้นแต่หน้าที่หรือผลลัพธ์
เซนอ้างถึงจริยธรรมที่เน้นให้คุณค่ากับหน้าที่ว่าเป็นรากฐานของแนวคิดเรื่องความเป็นธรรมที่เน้นการสร้างกฎเกณฑ์เพื่อสร้างสังคมที่ดี ตัวอย่างเช่น สังคมที่ให้คุณค่าสูงสุดกับหน้าที่ในการปกป้องสิทธิ ก็มักจะมุ่งออกแบบและแสวงหากฎเกณฑ์ที่จะช่วยปกป้องสิทธิได้ดีที่สุด เขาวิพากษ์ว่าแท้จริงการทำเช่นนี้อาจไม่ได้ตอบโจทย์การสร้างความเป็นธรรมได้ การจินตนาการถึงสังคมที่เป็นธรรมและออกแบบกฎเกณฑ์เพื่อตอบสนองจินตนาการนั้นๆ มักละเลยสิ่งที่สำคัญกว่า คือการมุ่งความสนใจไปที่ชีวิตมนุษย์จริงๆ ว่าเป็นอย่างไร
แนวคิดเรื่องความเป็นธรรมของเซนจึงเน้นให้เรามองไปที่ชีวิตที่มนุษย์ตามความเป็นจริง การสร้างความเป็นธรรมตามแนวคิดเช่นนี้จะคำนึงถึงผลลัพธ์สำคัญก็คือเสรีภาพในชีวิตผู้คน โดยเฉพาะโอกาสของมนุษย์ในการใช้ชีวิตที่ดีได้ตามความใฝ่ฝัน
แม้ว่าแนวทางของอมาร์ตยา เซน จะเอนเอียงมาในทางที่เน้นการสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อชีวิตมนุษย์ เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม แต่เซนก็ทราบดีเช่นกันถึงปัญหาของแนวทางที่เน้นผลลัพธ์ และได้พยายามแก้ปัญหานี้ เขาเน้นย้ำว่าการให้ความสำคัญกับผลลัพธ์จะต้องมาพร้อมกับการไม่มองผลลัพธ์อย่างคับแคบ เขาเสนอว่าเราจะต้องใส่ใจกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ผลลัพธ์ที่ครอบคลุม’ (Comprehensive Outcomes) ซึ่งจะต้องรวมแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับผลลัพธ์อีกสามประการเข้ามาพิจารณา คือกระบวนการในการได้ผลลัพธ์ ความรับผิดชอบต่อการกระทำ และความสัมพันธ์ของมนุษย์
สำหรับแง่มุมแรก คือการให้ความสำคัญกับกระบวนการในการได้ผลลัพธ์ ก็เพราะกระบวนการที่ดีเป็นคุณค่าที่แยกไม่ออกจากผลลัพธ์ที่ดี การแก้ปัญหาความยากจนจากการปล้นชิงทรัพย์สินคนบางกลุ่มด้วยกำลัง ย่อมเลวร้ายกว่าการแก้ปัญหาด้วยแนวทางสันติและประชาธิปไตย
สำหรับแง่มุมของความรับผิดชอบต่อการกระทำ จะต้องนำมาพิจารณาด้วย เพราะผลที่มาจากความรับผิดชอบต่อการกระทำ ย่อมมีความหมายต่างไปจากผลที่ทุกคนมองว่าตนเองไม่เกี่ยวข้อง เซนอธิบายว่าการสร้างสังคมที่ดีจะต้องเปิดโอกาสให้มนุษย์ได้เข้ามามีบทบาทเป็นผู้กระทำ (Agency) ในการสร้างสรรค์ผลลัพธ์ต่างๆ การเปิดโอกาสนี้นอกจากจะส่งเสริมให้มนุษย์ได้เติมเต็มชีวิตของพวกเขาแล้ว ยังช่วยทำให้พวกเขาตระหนักถึงการรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองร่วมกระทำให้เกิดขึ้น
สำหรับแง่มุมสุดท้าย เซนเน้นว่าการสร้างสังคมที่เป็นธรรม จะไม่สามารถละเลยบทบาทของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ได้ กระบวนการแสวงหาสังคมที่ดีจะต้องคำนึงถึงข้อดีและข้อเสียที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่มีอยู่จริงของมนุษย์ด้วย ตัวอย่างเช่น มุมมองต่อสังคมที่ดีของเรานั้น ย่อมได้รับอิทธิพลไม่มากก็น้อยจากการที่เรามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนกลุ่มไหน เช่นนี้แล้ว การจะสร้างสังคมที่ดีให้เกิดขึ้น จึงจำเป็นจะต้องอาศัยมุมมองที่มาจากความสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน รวมถึงการเปิดโอกาสให้มนุษย์ได้แลกเปลี่ยนเหตุผลและมุมมองที่หลากหลาย สังคมที่ดีจึงจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
อ้างอิง
McEwan, Ian. (1998). Amsterdam. London: Jonathan Cape
Osmani, S.R. (2008). “The Sen System of Social Evaluation”. In Basu, K. and Kanbur, R (Eds.) Arguments for a Better World: Essays in Honor of Amartya Sen, Volume I: Ethics, Welfare, and Measurement. Oxford: Oxford University Press
Sen, Amartya (2010). The Idea of Justice. London: Penguin.