fbpx
หะยีอามีน โต๊ะมีนา, ดิ แอนนิมอลส์ และสงครามเย็น

หะยีอามีน โต๊ะมีนา, ดิ แอนนิมอลส์ และสงครามเย็น

นวลน้อย ธรรมเสถียร เรื่องและภาพ

Music is the universal language of mankind
ดนตรีเป็นภาษาสากลของมนุษยชาติ

– Henry Wadsworth Longfellow –

ในบ้านไม้หลังเล็กของ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา’ มีห้องด้านหลังที่ปรากฏของเก่าจำนวนหนึ่งกองอยู่มุมห้องรอการสะสาง หนึ่งในนั้นเป็นกระเป๋าใบเก่าที่เมื่อเปิดออกดูก็พบว่า เต็มไปด้วยแผ่นเสียงดนตรีสากล นี่เป็นสมบัติส่วนตัวที่หลงเหลืออยู่ของ หะยีอามีน โต๊ะมีนา’ บุตรชายคนที่สองของหะยีสุหลง ผู้ที่เรื่องราวของเขากลายเป็นบทหนึ่งในประวัติศาสตร์อันน่าอึดอัดของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยและผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้

ลูกหลานรุ่นปัจจุบันของตระกูลคือ จาตุรนต์ เอี่ยมโสภา’ ชี้ให้ดูชานบ้านด้านหน้าที่หันออกสู่ลานโล่ง เขาบอกว่ามันเป็นจุดประวัติศาสตร์ มันคือที่ๆ จอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี เคยขึ้นกล่าวปราศรัยในระหว่างที่เดินทางไปเปิดสาขาพรรคเสรีมนังคศิลาในปัตตานี ในขณะที่ผู้ก่อตั้งพรรคนี้คือต้นตอที่ทำให้หะยีอามีนต้องเข้าคุกเกือบสี่ปี และยังเป็นผู้ที่ทำให้เขาต้องเข้าสู่พรรคเสรีมนังคศิลา ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเขายังเป็นคู่แข่งกับพรรค

แผ่นเสียงจำนวนไม่มากเหล่านี้ สามารถจุดจินตนาการของเราไปได้ไกลโพ้น และมันอาจจะทำให้เราได้รู้ว่า ความเป็นไปในและนอกบ้านนั้นอันที่จริงเชื่อมโยงกันอย่างที่เรานึกไม่ถึง

ผู้มีดนตรีในหัวใจ

คนทั่วไปมักจะคิดถึงหะยีสุหลงในฐานะคนที่นำพาการเปลี่ยนแปลงมาสู่มุสลิมในสามจังหวัด สร้างความตระหนักในเรื่องการประพฤติปฏิบัติทางศาสนา จนบางคนถือว่าเขาเป็นคนแรกๆ ที่นำพาอิสลามานุวัฒน์มาสู่พื้นที่ เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมไม่แปลกที่ผู้คนจำนวนมากจะมีจินตนาการในบางเรื่องกับลูกหลานของหะยีสุหลง แต่คำบอกเล่าของลูกหลานในตระกูลให้ข้อมูลบางอย่างที่อาจจะทำให้หลายคนต้องประหลาดใจ ที่สำคัญมันทำให้เราเห็นอีกด้านหนึ่งของบุคคลที่หลายคนคิดว่ารู้จักเขาดีแล้ว

จาตุรนต์เล่าถึงวิธีการเลี้ยงบุตรหลานของหะยีสุหลงว่า เขามีแนวคิดที่เป็นของตัวเองและไม่ได้หันหลังให้กับโจทย์เฉพาะหน้า ในบรรดาลูก 7 คน บุตรชาย 4 คนล้วนมีชื่อเป็นภาษาไทย แต่มาเปลี่ยนในภายหลัง ลูกๆ ของหะยีสุหลงทั้ง 7 คนไม่มีใครเข้าเรียนในโรงเรียนสอนศาสนา ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะหะยีสุหลงเป็นผู้สอนด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่หะยีสุหลงทำในเรื่องการศึกษาของลูกๆ คือส่งพวกเขาเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนที่ดีที่สุดในพื้นที่ในขณะนั้น ผลคือทำให้พวกเขาทุกคนพูดไทยได้อย่างคล่องแคล่วชัดเจน เข้าใจขนบธรรมเนียมและมารยาทแบบไทย

ตัวหะยีสุหลงเองนั้น ถ้าดูจากเอกสารที่ครอบครัวมี จะเห็นได้ว่าบ่งบอกถึงการที่เขามีการติดต่อกับผู้คนอย่างหลากหลาย เป็นที่ชัดเจนว่าเขาพยายามส่งเสริมลูกหลานให้มีความรู้ทัดเทียมกับสังคมรอบข้าง เขามิได้หันหลังให้กับระบบ แม้ว่าจะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์นานัปการ

จาตุรนต์เล่าว่าในวัยเด็ก เกือบทุกปีในช่วงเวลาปิดเทอม ครอบครัวของเขาซึ่งมีสมาชิกจำนวนมากจะ ‘ยกขบวน’ กันร่วม 30 คนเดินทางไป ‘เที่ยว’ กรุงเทพฯ พวกเขาจะเข้าชมวัดพระแก้ว ไปสนามหลวง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แล้วไปอยุธยาเพื่อเที่ยวดูวัดเก่า มัสยิด ก่อนจะนั่งรถไฟไปเชียงใหม่เพื่อเที่ยวดอยสุเทพ เป็นสิ่งที่ชัดเจนอย่างมากว่าผู้ใหญ่ในบ้านต้องการให้ทุกคนใช้ภาษาไทยได้คล่องและเข้าใจความเป็นไทยอย่างทะลุปรุโปร่ง

ก่อนยายจะเสีย ผมเคยถามยายว่าทำไมเราต้องทำแบบนี้ทุกปี ยายตอบสั้นๆ ว่า บ้านเราต้องช่วยคน ถ้าเราไม่รู้ภาษาไทย เราจะช่วยคนอื่นได้ยังไง จะเถียงแทนชาวบ้านได้ยังไง และเขาก็จะดูถูกเราว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง

ลูกๆ ของหะยีสุหลงทำงานธนาคาร เป็นนักการเมือง และทำธุรกิจ หะยีอามีนลงสมัครรับเลือกตั้งแบบอิสระไม่สังกัดพรรคใดในการเลือกตั้งปี 2500 แต่มันเป็นการหย่อนบัตรที่แหล่งข้อมูลด้านการเมืองต่างติดป้ายให้เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ หะยีอามีนต้องแข่งกับผู้สมัครของพรรคเสรีมนังคศิลาที่มีผู้สนับสนุนมากบารมีและอำนาจอย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่เขากลับได้รับชัยชนะท่ามกลางความประหลาดใจของคู่แข่ง

อย่างไรก็ดี จากข้อเขียนของ เด่น โต๊ะมีนา’ (เด่น โต๊ะมีนา ปัญหา 4 จังหวัดภาคใต้เป็นปัญหาใหญ่จริงหรือ ใน สารประชาธิปัตย์ ฉบับที่ 11 ..-.. 2523) เปิดเผยว่า หลังจากนั้นหะยีอามีนก็ถูกบีบให้เข้าสู่พรรคเสรีมนังคศิลา เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีมหาดไทยโดยไม่มีการทาบทามแต่อย่างใด แต่อายุการเป็นผู้แทนหนแรกของเขาสั้นกุดจากการที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ทำรัฐประหารและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในปลายปีเดียวกันนั้น หะยีอามีนลงสมัครรับเลือกตั้งอีกและก็ได้ชัยชนะอีก แต่การทำหน้าที่ ส.. หนถัดมาก็อยู่ได้ไม่นานเช่นกัน เพราะจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจอีกหนพร้อมทั้งยุบพรรคการเมืองแล้วขึ้นบริหารเองในปีถัดมา สถานการณ์การเมืองของไทยในเวลานั้นลุ่มๆ ดอนๆ ไปตามสภาพประชาธิปไตยที่ทหารหยิบยื่นให้ และยากที่บรรดาคนที่ต้องการทำงานการเมืองจะมีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างจริงจัง

สำหรับหะยีอามีน การเข้าใกล้ศูนย์อำนาจก็คือการเข้าไปอยู่ร่วมกับกลุ่มคนที่มีส่วนทำให้พ่อของเขาหายไป มันเป็นสภาพ ‘หน้าสิ่วหน้าขวาน’ และแน่นอนว่ากลืนไม่เข้าคายไม่ออก จาตุรนต์เชื่อว่าการให้หะยีอามีนไปทำงานกับรัฐมนตรีมหาดไทยเป็นความพยายามในการเก็บ ‘ลูกศัตรู’ ไว้ใกล้ตัว เขาคาดเดาว่าการทำงานในสภาพเช่นนั้นต่างคนต่างก็ย่อมไม่ไว้ใจกันอย่างหนัก และไม่ว่าจะมองด้านใด น่าจะอนุมานได้ว่าบรรยากาศคงไม่ราบรื่นนัก

ขณะเดียวกันในด้านส่วนตัว หะยีอามีนก็ทำธุรกิจด้วย เขาทำงานกับสุริยนต์ ไรวา ส..นราธิวาส ในสมัยนั้นซึ่งมีเรือพาคนไปฮัจย์ จึงเป็นที่มาของการที่หะยีอามีนทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้

เหตุใดหะยีอามีนจึงสนใจ ‘เล่นการเมือง’ จาตุรนต์เล่าว่า เขามองเห็นว่าการเมืองเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้คนมี ‘เสียง’ โดยเฉพาะในยุคของเผด็จการอันเป็นยุคที่ผู้คน ‘พูด’ ไม่ได้ การเล่นการเมืองนับว่าช่วยเปิดโอกาสอันนั้น ทั้งยังอาจจะเป็นการได้มาซึ่งสถานะที่จะปกป้องตัวเองด้วย ซึ่งสำหรับคนที่ชีวิตขึ้นอยู่กับความหวั่นวิตกเรื่อยมาว่าจะถูกจัดการเช่นด้วยวิธีการ ‘อุ้มหาย’ อย่างตระกูลโต๊ะมีนาแล้ว เครื่องมือเช่นนี้นับว่าสำคัญยิ่ง

อีกประการหนึ่ง คน ‘โต๊ะมีนา’ รู้ตัวว่ามีผู้คนคาดหวัง และครอบครัวอยู่ในสถานะที่จะต้องช่วยเหลือชาวบ้าน การจะช่วยชาวบ้านและดูแลตัวเองได้นั้นเราจะต้องอยู่ในที่สว่างตลอดเวลา ต้องทำอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นก็อาจจะตายไปอย่างเงียบๆจาตุรนต์ว่า

แต่แม้จะมีสถานะเป็นผู้แทนและมีชีวิตอยู่ในสายตาคนของทางการตลอดเวลา หะยีอามีนก็ยังถูกเล่นงานทางการเมืองจนได้ เพราะโรคระแวงอันฝังรากลึกในหมู่ผู้กุมอำนาจทางการเมือง ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ เมื่อหะยีอามีนพยายามรวบรวมผลงานเขียนจากในเรือนจำของหะยีสุหลงเพื่อจะตีพิมพ์เป็นหนังสือภาษามลายูชื่อ รวมแสงแห่งสันติโดยเนื้อหานั้นจาตุรนต์ชี้ว่าเป็นบทขอพรเป็นส่วนใหญ่ แต่ความสงสัยไม่ไว้ใจทำให้ ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเวลานั้นสั่งให้ระงับการพิมพ์ จากนั้นหะยีอามีนถูกจับฐานพิมพ์งานที่ถือว่าเป็นการปลุกระดม เขาต้องขึ้นศาลโดยไม่มีทนาย และเข้าไปอยู่ในเรือนจำทั้งก่อนและระหว่างการดำเนินคดี

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ศาลจะอ่านคำตัดสิน อัยการได้แจ้งขอถอนฟ้องเสียก่อน ซึ่งทำให้เขาได้ออกจากเรือนจำในปี พ.ศ.2507 หลังจากนั้นเขาก็หันไปทำธุรกิจอย่างเดียว หะยีอามีนได้เป็นประธานคณะกรรมการอิสลามของปัตตานีในเวลาต่อมา ส่วนในบ้านนั้น มีคนรับช่วงต่อในการลงทำงานการเมืองแทน ซึ่งก็คือเด่น โต๊ะมีนา น้องชายของเขาที่เรียนจบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมีอาชีพเป็นทนายความ แม้ว่าเด่นจะไม่ได้วางเป้าหมายชีวิตในด้านนี้เอาไว้ แต่ความรักและเคารพในตัวพี่ชายทำให้เขาหันไปลงเล่นการเมืองตามข้อเสนอของหะยีอามีน

ในปี พ.ศ.2518 มีการชุมนุมประท้วงใหญ่ที่กินเวลายาวนานที่สุดคือ 45 วันในปัตตานี การประท้วงหนนี้สืบเนื่องมาจากกรณีสังหารประชาชนและโยนศพทิ้งน้ำที่สะพานกอตอ แต่มีผู้รอดชีวิตคือ ด..สือแม บราเซะ ที่กลายเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวการกระทำดังกล่าว ซึ่งจุดชนวนให้มีการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม

วันที่ 3 ของการประท้วง ได้มีผู้โยนระเบิดและยิงใส่ผู้ชุมนุมจนมีคนตายไปอีก 12 คน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมย้ายสถานที่จากศาลากลางจังหวัดไปยังมัสยิดกลาง เพราะรู้สึกว่าปลอดภัยมากกว่า เนื่องจากในขณะนั้นหะยีอามีนเป็นประธานคณะกรรมการอิสลามปัตตานี ชื่อของเขาจึงตกเป็นเป้าสายตา และโรคหวาดระแวงในหมู่ผู้กุมอำนาจทางการเมืองไทยก็เริ่มกำเริบอีกครั้ง ดังนั้นในช่วงหนึ่งของการประท้วง ครอบครัวโต๊ะมีนาจึงมีเรื่องให้แตกตื่นว่าประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำรอย เมื่อมีการเชิญตัวหะยีอามีนเข้าค่ายอิงคยุทธและครอบครัวไม่สามารถติดต่อได้อยู่พักใหญ่ ถึงกับเกิดข่าวลือไปทั่วว่าหะยีอามีนเจอชะตากรรมอันเดียวกันกับพ่อของเขาคือหะยีสุหลงเข้าให้แล้ว

ต้นปีถัดมาเมื่อการชุมนุมจบลง แต่ปัญหาใหญ่กว่าเพิ่งจะเริ่มขึ้น นั่นคือการที่ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการจัดและร่วมชุมนุมหนนั้นต่างเริ่มหายตัว บ้างก็ตายไป จาตุรนต์เล่าความทรงจำในช่วงนั้นว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ครอบครัวได้ข่าวคนตายถี่มาก แทบทุกเช้าจะมีข่าวอุสตาสหรือผู้นำศาสนาถูกยิง บางครั้งสามวันติดๆ กันที่ทำให้เขาจำได้เพราะครอบครัวต้องไปงานศพบ่อยครั้ง แรงกดดันต่อผู้คนในพื้นที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปี แล้วมีอยู่วันหนึ่งเขาและครอบครัวก็ได้เดินทางไปมาเลเซีย

จาตุรนต์เล่าว่า วันหนึ่งในปี พ.ศ.2525 แม่บอกให้ลูกๆ หยุดเรียนหนึ่งสัปดาห์เพราะว่าพวกเขาจะได้ไปมาเลเซียกัน แต่แม่ไม่ให้บอกใคร” พอโตขึ้นเขาได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงนั้นมีข่าวการจัดทำแบล็คลิสต์ขึ้นมา โดยมีชื่อของหะยีอามีนเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลด้วย ในช่วงนั้น นายเด่นที่ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของนายชวน หลีกภัย รัฐมนตรียุติธรรม ได้ถือโอกาสช่วงที่ได้เข้าร่วมประชุมกับแม่ทัพภาคที่ 4 ในวันหนึ่ง สอบถามเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา แล้วก็ได้รับคำตอบว่าบัญชีนั้นมีจริง แต่แม่ทัพบอกว่า ตัวเขาเองยังไม่เคยเห็นว่ามีการ ‘ทำ’ จริง แต่ข้อมูลเพียงแค่นี้ก็มากพอแล้วที่จะทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งพากันออกเดินทางไปมาเลเซีย ซึ่งรวมไปถึงหะยีอามีนด้วย

จาตุรนต์เล่าว่าพวกเขาแยกกันเดินทางและไปรวมตัวกันที่บ้านญาติในมาเลเซีย พวกเขาร่วมยี่สิบคนไปอยู่รวมกันในห้องเล็กๆ ห้องหนึ่ง แต่ห้องที่ว่านี้ มันคือจุดเริ่มต้นของชีวิตหะยีอามีนในมาเลเซีย ซึ่งเป็นชีวิตที่จาตุรนต์บอกว่าเป็นไปอย่างยากลำบาก และเท่าที่เขารู้คนที่หนีไปอีกหลายคนต่างประสบชะตากรรมไม่ได้ดีไปกว่ากัน กล่าวคือทุกคนล้วนลำบากทั้งสิ้น

ในสมัยที่ พล..ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้บัญชาการทหารบก มีการ ‘ทาบทาม’ ให้หะยีอามีนกลับประเทศไทย แต่หะยีอามีนเห็นว่าความปลอดภัยของเขาในเมืองไทยก็คงจะแขวนไว้กับพล..ชวลิต เท่านั้น หมายความว่าเมื่อพล.อ.ชวลิต หมดวาระการเป็น ผบ.ทบ.ชีวิตของเขาคงต้องตกอยู่ในอันตรายอีก หะยีอามีนจึงปฏิเสธ แต่เขาได้ฝากข้อความถึงพล..ชวลิต เป็นคำบอกเล่าของความรู้สึกอันกรุ่นไปด้วยความคิดถึงบ้านว่า แบกทองบ้านคนอื่น ก็ไม่เหมือนแบกฟืนบ้านเราทั้งนี้ หะยีอามีนได้สั่งลูกหลานว่าเมื่อเสียชีวิตลง ให้นำศพของเขากลับมาฝังในฝั่งไทย

หะยีอามีนทิ้งความทรงจำอันอบอุ่นไว้ให้กับหลานอย่างจาตุรนต์ สำหรับเขาหะยีอามีนเป็น entertainer หรือเป็นคนที่สร้างความครื้นเครงให้กับครอบครัวตลอดเวลา เขาเล่นดนตรีได้และพึงพอใจที่จะใช้เสียงเพลงสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับคนในครอบครัวเสมอโดยไม่ต้องรอฤดูเทศกาลใดๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ครอบครัวมีเด็กๆ ร่วม 20-30 คน หะยีอามีนได้มีวาระสังสรรค์กันตลอด และเป็นครอบครัวที่เต็มไปด้วยเสียงดนตรี ไม่ว่าจะเป็นดนตรีสากลหรือไทยก็ตาม จาตุรนต์เล่าถึงเวลาที่หลานๆ แต่ละคนร้องเพลงเพื่อให้ได้รางวัลจากลุง เขายังจำได้ว่าหนหนึ่งเขาร้องเพลง ‘เปาบุ้นจิ้น’ ให้หะยีอามีนฟัง นับเป็นความครึกครื้นเล็กๆ ระหว่างเขากับลุง

ช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ หะยีอามีนจะใช้รถบรรทุกหกล้อที่มีไว้ทำธุรกิจพาลูกหลานในครอบครัวไปเที่ยว พวกเขาจะไปชายทะเล เช่น หาดแฆแฆ น้ำตกทรายขาว หาดชลาลัย สมัยก่อนชายทะเลที่ใกล้มากคือแถวๆ หลัง ม.นี่เอง เราจะเอาข้าวไปกินด้วยกันแล้วก็ดูพระอาทิตย์ตก

บ้านของหะยีอามีนมีทีวีสีเครื่องแรก ทำให้มีเด็กๆ จากบ้านใกล้เรือนเคียงพากันไปดูทีวีสีกันเต็มบ้าน เรียกได้ว่าไม่เคยมีความเงียบเหงาในบ้านโต๊ะมีนา

ลุงอามีนเป็นคนชอบคุย ช่างเที่ยวและช่างกินนั่นคือภาพจำของจาตุรนต์ที่มีต่อหะยีอามีน คนที่หลายคนในภาครัฐยกให้เป็นหัวขบวนของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เขาชื่นชอบการฟังดนตรี จึงไม่น่าแปลกใจที่ในกระเป๋าใบนั้นจะมีแผ่นเสียงเก่าจำนวนไม่น้อยให้เห็น เขาเชื่อว่าลุงน่าจะมีแผ่นเสียงในครอบครองอีกหลายแผ่น แต่คงจะนำติดตัวไปมาเลเซียด้วย ที่เหลืออยู่จึงน่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งใน ‘คอลเลคชัน’ เท่านั้น เมื่อพลิกดูก็พบว่าบนหน้าปกที่เหลืองเก่าและขาดวิ่นตามกาลเวลานั้น บางแผ่นยังปรากฏลายเซ็นของเจ้าตัวเป็นภาษาอังกฤษกำกับไว้อย่างชัดเจน สงสัยพวกนี้จะเป็นเพลงโปรดจาตุรนต์ว่า

แผ่นเสียงเก่า

จากซ่องนางโลมแห่งนิวออร์ลีนส์
ถึงสี่เต่าทองกับบทเพลงเพื่อชีวิตในไทย

อัลบั้มเพลงของหะยีอามีนในกระเป๋าใบนั้นล้วนเป็นเพลงสากลของทศวรรษ 60s และ 70s แผ่นที่ติดตาผู้เขียนเป็นเพลงดังในปี 1964 อันเป็นปีที่หะยีอามีนเดินออกจากเรือนจำ ที่ดังข้ามปีน่าจะมาจากอัลบั้ม The Best of the Animals โดยวง The Animals โดยเฉพาะเพลง The House of the Rising Sun มันเป็นเพลงที่หลายคนลงความเห็นว่ามีความเป็นอมตะด้วยเสียงร้องของเอริค เบอร์ดอน ที่สอดรับกับเนื้อหาที่ค่อนข้างหนัก

There is a house in New Orleans
They call the Rising Sun
And it’s been the ruin of many a poor boy
And God, I know I’m one

ที่นิวออร์ลีนส์มีบ้านหลังหนึ่ง
พวกเขาเรียกมันว่า บ้านตะวันทอแสง

มันเป็นที่ดับอนาคตเด็กหนุ่มหลายราย
และพระเจ้า ผมรู้ว่าผมเองก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น

เนื้อเพลงกล่าวถึงเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่พ่อติดพนัน เขาทอดทิ้งอนาคตเอาไว้ในซ่องนางโลมแห่งนิวออร์ลีนส์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เชื่อกันว่าหมายถึงสำนักโสเภณีที่เคยมีอยู่จริงที่นิวออร์ลีนส์ ในช่วงปี 1862

ผู้รู้อธิบายไว้ว่าอันที่จริง The House of the Rising Sun เป็นเพลงโฟล์คที่เคยมีคนนำมาร้องหลายรายแล้ว แต่ถือได้ว่าผลงานของวง ดิ แอนนิมอลส์ ประสบความสำเร็จมากที่สุด แม้แต่บ็อบ ดีแลน นักดนตรีชื่อดังจากยุคสมัยเดียวกันที่เคยเอาเพลงนี้มาร้องก่อนหน้านั้น พอมาได้ยินเวอร์ชันของแอนนิมอลส์เข้าก็ได้แรงบันดาลใจจนต้องเอามาร้องใหม่ในสไตล์ร็อค ซึ่งก็ได้ใจไปอีกแบบ จนแฟนคลับบางรายถึงกับบอกว่า ดีแลนในความเป็นร็อคเกอร์ได้แจ้งเกิดก็ภายใต้ร่มเงาของ ดิ แอนนิมอลส์ นี่เอง

โลกของดนตรีก็คือภาพสะท้อนของสังคม และ The House of the Rising Sun นั้นมีความ ‘ติดดิน’ ที่บ่งบอกประสบการณ์ร่วมของคนในสังคม เป็นเรื่องราวชีวิตของคนจนและความล้มเหลวของพวกเขา ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่อาจนับได้ว่าเป็นลักษณะร่วมของผู้คนจำนวนไม่น้อย มันกลายเป็นเนื้อหาในบทเพลงของศิลปินร่วมสมัยอีกหลายราย เช่น เอลวิส เพรสลีย์ ในเพลง The Ghetto ที่เป็นเรื่องของเด็กหนุ่มในสลัม มันบอกเราว่า ความยากจนผลิตคนให้กลายเป็นอาชญากร จนกลายเป็นวัฏจักรแห่งความชั่วร้าย เพลงของเอลวิส สะท้อนวิธีคิดที่ว่า ความจนมักไม่เปิดทางเลือกให้กับผู้คน ยิ่งจนยิ่งตกเป็นเหยื่อของปัญหาอย่างไม่สิ้นสุด

วงดนตรีวงหนึ่งที่รับอิทธิพลจากเอลวิสไปเต็มๆ ก็คือ เดอะ บีทเทิลส์ จากอังกฤษ ที่ต่อมากลายเป็นวงที่มีอิทธิพลมากที่สุดวงหนึ่งในยุค 60s บีทเทิลส์ยอมรับว่า หากปราศจากเอลวิส พวกเขาคงไม่ถือกำเนิดในโลกของดนตรีอย่างแน่นอน บีทเทิลส์นั้นรุกเข้าสู่พื้นที่ดนตรีในจังหวะเดียวกันกับที่เอลวิสกำลังอยู่ในขาลง อัลบั้ม ‘For Sale’ ของบีทเทิลส์ออกสู่คนฟังในปี 1964 และแน่นอนอัลบั้มนี้ก็อยู่ในกระเป๋าใบนั้นของหะยีอามีนด้วย

ในยุคแรกๆ ของบีทเทิลส์นั้นเต็มไปด้วยเพลงสนุกสนานแนววัยรุ่น แต่ต่อมาเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น วงเริ่มปรับแนว เพลงหลายเพลงบ่งบอกถึงการแสวงหาตัวตน หรือบ้างก็มีเนื้อหาทางการเมืองชัดเจน เพลงที่ได้รับการตีความว่ามีเนื้อหาทางการเมืองเมื่อดูจากภาพของยุคสมัย เช่น All You Need Is Love เพลง Come Together หรือ Taxman และ Piggies ที่ลืมไม่ได้ก็คือเพลงของจอห์น เลนนอน โดยเฉพาะในระยะที่เขาบินเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็น Imagine หรือ Revolution และ Give Peace a Chance แต่บางคนยกให้เพลง Working Class Heroes เป็นเพลงแนวประชดสังคมที่เด่นที่สุดของเลนนอนที่มักจะแต่งเพลงรื่นหู คลับคล้ายเพลงรักแต่เนื้อหาท้าทายความคิดอย่างหนัก

Imagine there’s no countries. It isn’t hard to do
Nothing to kill or die for. And no religion too
Imagine all the people living life in peace

ลองฝันถึงการไม่มีประเทศ มันไม่ยากเย็นอันใด
ไม่ต้องสังหารใคร สละชีวิตเพื่ออะไร ไม่ต้องมีศาสนา
ลองฝันถึงการที่ผู้คนมีชีวิตอยู่ในสันติภาพ

ไซมอน แอนด์ การ์ฟันเกล ก็เช่นกัน เขาอาศัยท่วงทำนองอันไพเราะใส่เนื้อหาที่สะท้อนปัญหาสังคม เพลง The Boxer พูดถึงความล้มเหลวของเด็กหนุ่มที่เข้าไปแสวงหาโอกาสของชีวิตในเมือง แต่แล้วก็ต้องพ่ายแพ้ความเป็นเมืองและซมซานกลับบ้าน

When I left my home and my family
I was no more than a boy
In the company of strangers
In the quiet of the railway station
Running scared,
Laying low, seeking out the poorer quarters
Where the ragged people go
Looking for the places
Only they would know

เมื่อฉันจากบ้านมา ฉันยังเป็นเพียงเด็กหนุ่ม
ในหมู่คนแปลกหน้า ที่สถานีรถไฟอันเงียบงัน
หวั่นวิตก ซุกตัวตามลำพังในพื้นที่ซอมซ่อ
ที่ที่จะมีเพียงคนเข็ญใจเท่านั้นที่จะไป ที่ที่มีเพียงพวกเขาเท่านั้นที่รู้จัก

Tracy Chapman บอกเล่าเนื้อเพลงคล้ายกันนี้ในเพลง Fast Car ลูกที่เกิดมาในครอบครัวที่ล้มเหลวและดิ้นรนแสวงหาชีวิตใหม่ ซึ่งอันที่จริงแล้วแชปแมนก็เกิดในปี 1964 อันเป็นปีเดียวกันกับที่ The House of the Rising Sun ของ ดิ แอนนิมอลส์ และอัลบั้มฟอร์เซลของบีทเทิลส์ออกสู่ตลาด ผลงานเหล่านี้สะท้อนว่าปัญหาต่างๆ เป็นปัญหาร่วมสมัยของทุกที่ แม้ว่าอาจจะมีรายละเอียดต่างกัน แต่ประเด็นเหล่านี้มีสภาพความเป็นสากล มีคนตกเป็นเหยื่อของการเอารัดเอาเปรียบและการแย่งชิง บ้างก็มีชีวิตที่ลงเอยด้วยการจมปลักอยู่ในอบายมุข หญิงสาวหลายคนใช้ชีวิตเปลืองเปล่าไปในสำนักโคมเขียว คำว่าการแสวงหาจึงไม่ใช่เพียงแค่ภายนอก แต่มันยังหมายถึงการค้นหาตัวตนของตนเองด้วย

ทุนนิยมสะสมปัญหาสังคม แต่อีกด้านหนึ่ง ประชาธิปไตยที่มาพร้อมกันก็เปิดพื้นที่ให้กับแนวคิดใหม่ที่ให้สิทธิและเสียงแก่คนสามัญ ยุค 60s จึงมีการเรียกร้องและเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและเสียงในทางการเมืองอย่างมาก ผู้คนหันไปใช้การต่อสู้บนท้องถนน การประท้วงกลายเป็นกลยุทธ์การต่อสู้ของคนสามัญในทุกที่ ตั้งแต่อเมริกามาจนถึงประเทศไทยและสามจังหวัดภาคใต้ และดนตรีกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม มันเป็นยุคสมัยของการเพิ่มพลังให้กับผู้คนบนท้องถนน

คนโหยหาการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าผ่านการมีส่วนร่วมทางการเมือง นักร้องศิลปินผิวสีต่างมีดนตรีที่กล่าวถึงสิทธิของคนผิวดำ ในขณะที่นักร้องหญิงหลายรายเรียกหาความเคารพในตัวสตรี เช่น Aretha Franklin ออกเพลง Respect ในช่วงปลายทศวรรษ 60s ที่บางคนยกให้เป็นเพลงประจำขบวนการสิทธิสตรีในยุคนี้ไป ประโยคเด็ดในเนื้อเพลงคือ ‘All I’m askin’ is for a little respect when you get home…’ ในขณะที่ Helen Reddy ประกาศศักดาของผู้หญิงกันเลยทีเดียวในเพลง I am Woman ซึ่งออกมาในปี 1972

วงดังอีกวงในเวลานั้นที่มีอัลบั้มรวมอยู่ในกลุ่มแผ่นเสียงของหะยีอามีนคือ Grateful Dead ซึ่งในกลุ่มผู้สนใจเพลงการเมืองยกให้วงนี้มีเพลงที่จุดความคิดให้สังคมอย่างน่าสนใจ คือ Uncle John’s Band กูรูด้านดนตรีบางรายยกให้เป็นหนึ่งในเพลงที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งยวดของศตวรรษ 70s นอกจากนี้แล้วก็ยังมีศิลปินและอัลบั้มอีกหลายรายในความครอบครองของหะยีอามีน เช่น Peter Frampton ในเพลง Wind of Change (คนละเพลงกับ Wind of Change ของ Scorpion) Elmore James เพลง Layla โดย Derek and the Dominos ซึ่งมีตัวตนของ Eric Clapton อยู่ด้วย

แคลปตันเป็นนักดนตรีที่มีอิทธิพลอย่างมากในแนวบลูส์ ซึ่งเพลงในแนวนี้หะยีอามีนมีอยู่ไม่น้อย ในช่วงทศวรรษนี้นับว่าบลูส์และร็อคเป็นแนวที่ทรงอิทธิพลที่สุด พวกเขาเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการบุกเบิกในด้านดนตรีสำหรับยุคถัดๆ มา

ในเชิงของการเคลื่อนไหวทางสังคม ปัญหาจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยมกลายมาเป็นบ่อเกิดให้ผู้คนแสวงหาระบบใหม่ที่จะมาทดแทน ในยุคทศวรรษที่ 60s และ 70s เป็นยุคที่โลกได้รับอิทธิพลจากลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นโมเดล การขยายตัวอย่างรวดเร็วของระบบคอมมิวนิสต์ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างทุนนิยมและโลกเสรีฝั่งหนึ่งกับคอมมิวนิสต์อีกฝั่งหนึ่ง จนกลายเป็นบ่อเกิดของสงครามเย็นที่แผ่อิทธิพลครอบงำวิถีชีวิตผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม สำหรับคนที่ใช้ชีวิตในเมืองไทย ช่วงนี้พวกเขาต้องรับผลพวงของการเผชิญหน้าของสองระบบนี้ในสงครามอินโดจีน ขณะที่ประเทศก็อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ

ปี พ.ศ.2497 (1954) ปีที่หะยีสุหลงหายตัวไป มันเป็นระยะเวลาเดียวกันกับที่โลกได้เห็นการก่อตัวของสงครามเวียดนาม เป็นการหักล้างกันของค่ายคอมมิวนิสต์กับค่ายเสรีนิยมที่ส่งผลให้เกิดเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ และต่อมาสหรัฐฯ ก็กระโดดเข้ามาสนับสนุนเวียดนามใต้ สงครามขยายตัวจนดูดเอาประเทศรอบข้างเข้าไปร่วมวงด้วย ไทยเป็นอีกรายที่สนับสนุนสหรัฐฯ อย่างเหนียวแน่น ทำให้รัฐบาลทหารของไทยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสหรัฐฯ เพราะฝ่ายหลังต้องการพันธมิตรที่พวกเขาบอกว่า เพื่อเป็นปราการด่านสุดท้ายป้องกันลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังรุกไล่เข้ามาจากอินโดจีน

ไมตรีจากรัฐบาลสหรัฐเสริมพลังการเมืองให้รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และเพื่อนพ้องให้สามารถปราบปรามศัตรูทางการเมืองได้อย่างง่ายดาย โดยอาศัยข้ออ้างว่าปราบปรามคอมมิวนิสต์

เพื่อจะร่วมรบในเวียดนาม สหรัฐฯจัดตั้งฐานทัพขึ้นในไทยและส่งกำลังทหารราบเข้าสู่เวียดนามใต้และทิ้งระเบิด แต่เวียดนามเหนือก็พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าของความอดทนต่อสู้อย่างไม่ยอมแพ้ ทำให้สหรัฐฯ สูญเสียกำลังอย่างหนักและทำให้ผู้คนในประเทศเดือดพล่านไปด้วยการประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนาม นับว่าเป็นจังหวะเดียวกับที่ผู้คนในยุคนี้เริ่มตระหนักถึงพลังอำนาจของสามัญชนและการรวมตัวกันภายใต้อิทธิพลของแนวคิด ‘ชาวนาและกรรมกรต้องรวมตัวกัน’ ของลัทธิคอมมิวนิสต์

แผ่นเสียงเก่า

แผ่นเสียงเก่า

การเรียกร้องสิทธิการต่อต้านสงคราม การแสวงหาตัวตนและสันติภาพ กลายมาเป็นกระแส ‘บุปผาชน’ ทำให้ยุค 60s ถึง 70s เป็นยุคที่ส่งผลสะเทือนทางความคิดและศิลปะมาจนถึงสมัยหลังๆ บทเพลงหลายเพลงเรียกหาความเปลี่ยนแปลงหรือแสงสว่างให้กับยุคที่มืดมน เช่น Blowin’ in the Wind ของบ็อบ ดีแลน ก็เป็นหนึ่งในเพลงที่ทรงอิทธิพลในปี 1963 รวมทั้งเพลงของ Barry McGuire คือ Eve of Destruction ที่เตือนภัยถึงความย่อยยับของสงคราม หลายคนยกให้เพลง Fortunate Son ของวงซีซีอาร์หรือ Creedence Clearwater Revival เป็นเพลงต่อต้านสงครามที่ทรงอิทธิพลข้ามทศวรรษ

เพลงนี้ออกสู่สาธารณะในปี 1969 มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นอภิสิทธิ์ในสังคม เนื่องจากเวลานั้นผู้ชายอเมริกันถูกเกณฑ์เป็นทหารรวมทั้งจอห์น โฟเกอร์ตี้ นักร้องและนักแต่งเพลงของวงด้วย แต่ ‘ลูกท่านหลานเธอ’ หลายคนไม่ต้องพบกับชะตากรรมอันนี้

อีกเพลงที่น่าสนใจเป็นของ Phil Ochs นักแต่งเพลงและนักร้องซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าทำแต่เพลงแนวประท้วงอย่างเดียว เพลงของเขาที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนคือ I Ain’t Marching Anymore เนื้อหาเพลงไม่เบาเลยทีเดียว

It’s always the old to lead us to the war
It’s always the young to fall
Now look at all we’ve won with the saber and the gun
Tell me is it worth it all

คนที่บอกเราให้ทำสงครามมักจะเป็นคนแก่
คนที่สูญเสียมักจะเป็นคนหนุ่ม
ดูสิว่าอานม้ากับปืนทำให้เราได้อะไรมาในวันนี้
พูดได้ไหมว่ามันคุ้มค่าแล้ว

ยังมีอีกหลายต่อหลายเพลงและหลายศิลปินด้วยกัน จนยากจะบรรยายหมด แต่ถือได้ว่าช่วง 20 กว่าปีนี้เป็นยุคทองของการผลิตงานเพลงแนวประท้วง ที่สะท้อนปัญหาสังคมและเพลงแนวการเมืองก็คงจะไม่ผิดนัก

สังคมไทยเองก็เช่นกันที่การประท้วงนั้นมีการแสดงออกผ่านดนตรี เช่น เพลงลูกทุ่ง จัดได้ว่าเป็นเพลงที่อยู่ในแถวหน้าในการสะท้อนปัญหาสังคม เพลงที่มีผู้พูดถึงเช่น ‘กลิ่นโคลนสาบควาย’ ของไพบูลย์ บุตรขัน ในฐานะที่เชิดชูสถานะของชาวนาอันเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย

อย่าดูถูกชาวนาเห็นว่าอับเฉา มือถือเคียวชันเข่า เกี่ยวข้าวเลี้ยงเราผ่านมา
ชีวิตคนนั้นมีราคา ต่างกันแต่ชีวิตชาวนา บูชากลิ่นโคลนสาบควาย

การเกิดขึ้นของขบวนการนักศึกษาไทยถือว่าได้อิทธิพลส่วนหนึ่งจากการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มคนสาวในโลกตะวันตก ผสานกับแรงต้านการกดทับจากรัฐบาลเผด็จการ นักเคลื่อนไหวไทยได้รับอิทธิพลทางโมเดลการระดมมวลชนแบบฝ่ายซ้าย เช่น การประท้วงและชุมนุมบนท้องถนนที่ต่อมาระบาดไปทุกหย่อมหญ้า แม้แต่ในสามจังหวัดภาคใต้ ภาพจำที่ชัดเจนที่สุดภาพหนึ่งหนีไม่พ้นการชุมนุมประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับกรณีสะพานกอตอที่ปัตตานีซึ่งกินเวลาถึง 45 วันในปี พ.ศ.2518 ควบคู่ไปกับการชุมนุมอีกนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะในระหว่างเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 และเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519

ในยุคนี้ศิลปินจำนวนไม่น้อยผลิตผลงานที่พวกเขาเรียกว่าศิลปะเพื่อชีวิตออกมา ด้วยแนวคิดที่ว่างานศิลปะต้องสะท้อนความเป็นจริงและปัญหาสังคม ไม่ใช่ศิลปะเพียงเพื่อศิลปะเท่านั้น ‘เพลงเพื่อชีวิตได้รับการผลิตออกมาในยุคของการทำกิจกรรมของนักศึกษา

เพลงเหล่านั้นน่าจะได้รับอิทธิพลจากบรรดาเพลงของศิลปินตะวันตกที่ต่อต้านระบบและต่อต้านสงคราม วงดนตรีหลายวงแจ้งเกิดในช่วงนั้นอย่าง คาราวาน แฮมเมอร์ โคมฉาย และศิลปินเดี่ยวอีกหลายราย บุคคลหนึ่งที่ถือว่ามีส่วนปลุกเพลงเพื่อชีวิตอย่างมากก็คือจิตร ภูมิศักดิ์ บทกวีของเขาเช่น ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ หรือ ‘เปิบข้าว’ ถูกนำไปใส่ทำนองกลายเป็นเพลงที่โด่งดังไปทั่ว

เปิบข้าวทุกคาวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้นะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกทนและขมขื่นจนเคียวคาว

และมาวันหนึ่ง เมื่อนักศึกษาถูกปราบปรามจากการกวาดล้างในเหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ นักศึกษาจำนวนมากหนีไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แต่ในสามจังหวัดภาคใต้นั้นการกวาดล้างเริ่มขึ้นก่อนในกรุงเทพฯ หลังจากที่การชุมนุมประท้วงใหญ่ที่มัสยิดกลางในปลายปี 2518 จบลงเมื่อต้นเดือนมกราคม 2519  ทันทีที่การประท้วงจบลง การปราบปรามก็เริ่มต้นขึ้น

บุคคลที่มีบทบาทในการชุมนุมประท้วงเริ่มเสียชีวิตหรือไม่ก็หายตัวไป คนที่เหลือบางคนหันไปเข้าร่วมกับขบวนการ บ้างก็หลบหนี บรรยากาศการกดทับเช่นนี้ดำเนินต่อเนื่องมาอีกหลายปี จนวันหนึ่งหะยีอามีน โต๊ะมีนาก็ ‘ลี้ภัยการเมือง’ ไปอย่างเงียบๆ อีกคนหนึ่ง

ชีวิตการเมืองของคนในสามจังหวัดภาคใต้ในยุคนี้จึงนับว่าอยู่ในกระแสสังคมโลกไม่ต่างไปจากที่อื่นๆ บทเพลงที่เรียกหาการเปลี่ยนแปลง ล้วนสะท้อนภาพของการต่อสู้ของผู้คนที่อยู่ในระนาบปัญหาใกล้เคียงกัน เมื่อพิจารณาหน้าปกแผ่นเสียงในกระเป๋าใบนั้นของหะยีอามีน เราจึงมองเห็นถึงชีวิตและการต่อสู้ของผู้คนในทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะที่ใดก็ตาม

____________________________

หมายเหตุ – ตีพิมพ์ครั้งแรกใน The Melayu Review ฉบับที่ 2 ปี 2019

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save