fbpx
นัยและความสำคัญของ Amazon HQ2

นัยและความสำคัญของ Amazon HQ2

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

หลายคนคงได้ยินข่าวนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ข่าวที่ว่า Amazon กำลังเติบใหญ่จนต้องมองหาสำนักงานใหญ่หรือ Headquarter แห่งใหม่ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Amazon HQ2

HQ2 นี้ จะเป็นเหมือนส่วนหัวของธุรกิจในด้านค้าปลีกออนไลน์และบริษัทเทคโนโลยีของอเมซอนในอเมริกาเหนือ เพื่อจะได้บรรเทาเบาบางสำนักงานใหญ่เดิมที่อยู่ในซีแอตเติล

กระบวนการสรรหาที่ตั้งของ HQ2 นั้น ยาวนานและซับซ้อนราวกับการเฟ้นหาประเทศเจ้าภาพการจัดโอลิมปิกก็ว่าได้ เพราะเริ่มกันมาหลายปีแล้ว และมีการประกาศหาสถานที่ที่จะสร้าง HQ2 ขึ้น โดยให้รัฐบาลและองค์กรพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายยื่นข้อเสนอเข้ามา ซึ่งก็พบว่ามีเมืองมากกว่า 200 เมือง ทั้งในแคนาดา เม็กซิโก และในสหรัฐอเมริกาเอง ยื่นข้อเสนอเข้ามา

ถามว่าทำไมเมืองต่างๆ ถึงให้ความสนใจในอเมซอนมากขนาดนั้น คำตอบก็คือขนาดธุรกิจ ถ้าไปดูสำนักงานใหญ่ของอเมซอนเดิมที่อยู่ในซีแอตเติล เราจะพบว่ามีการย้ายไปย้ายมาอยู่หลายหน แต่ที่สุดก็ลงเอยไปอยู่ในย่านที่เรียกว่า South Lake Union ซึ่งในตอนแรกเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเบา แต่พออเมซอนเข้าไปอยู่ ย่านนั้นก็กลายเป็นย่านสำคัญของเมืองขึ้นมาทันที เพราะอเมซอนใช้พื้นที่ถึง 750,000 ตารางเมตร (ถ้านึกไม่ออกว่าใหญ่ขนาดนั้น ก็ให้ลองนึกถึงห้างทาคาชิยาม่าของ Iconsiam ที่นั่นมีพื้นที่ 36,000 ตารางเมตร คือใหญ่กว่านั้นราวๆ 20 เท่าได้) อยู่ในอาคารต่างๆ ถึง 33 อาคาร และมีพนักงานมากกว่า 40,000 คน เรียกว่าเป็นเมืองอีกเมืองหนึ่งที่ซ้อนอยู่ในเมืองเดิมก็เห็นจะได้

ด้วยเหตุนี้ เมื่อจะหาสำนักงานใหญ่แห่งที่สอง ก็ประมาณกันว่าน่าจะยิ่งใหญ่อลังการไม่แพ้เดิม โดยอเมซอนประกาศว่า HQ2 น่าจะลงทุนราวๆ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อสร้างเสร็จแล้ว ตั้งใจว่าจะมีพนักงานราว 50,000 คน ซึ่งเท่ากับเปลี่ยนภูมิทัศน์ เศรษฐกิจ ประชากร และมิติต่างๆ ของเมืองไปโดยสิ้นเชิง ดังนั้น หลายเมืองจึงต้องการให้อเมซอนเข้ามาอยู่กับตัวเอง

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่นะครับ เพราะอเมซอนกำหนดคุณสมบัติหลายอย่างของเมืองนั้นๆ เอาไว้ เช่น

–  เมืองนั้นต้องเป็นเมืองใหญ่ที่มีคนมากกว่า 1 ล้านคน

–  บริเวณที่จะสร้าง HQ2 ได้ จะต้องอยู่ไม่ห่างจากศูนย์กลางเมืองเกิน 48 กิโลเมตร

–  ภายในระยะ 45 นาที ต้องมีสนามบินนานาชาติ

–  ต้องอยู่ใกล้ไฮเวย์สายหลักไม่เกิน 2-5 กิโลเมตร

–  ต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่เข้าถึงได้

–  พื้นที่ที่จะใช้ทำออฟฟิศของอเมซอนได้ ต้องมีมากถึง 740,000 ตารางเมตร อาจไม่ต้องมากขนาดนี้ทันที แต่ในอนาคตต้องสามารถขยายได้

เมืองต่างๆ ที่เข้าร่วมแข่งขันมีตั้งแต่อยู่ในอาร์คันซอว์ ฮาวาย เวอร์มอนต์ ไวโอมิง รวมไปถึงในแคนาดาอย่างนิวบรันสวิค ที่สนุกก็คือ แต่ละเมืองทำแคมเปญรณรงค์ด้วย เช่นเมืองสโตนเครสต์ (Stonecrest) ในย่านชานเมืองของแอตแลนต้า จอร์เจีย ถึงกับจัดให้มีการลงคะแนนเสียงโหวตกันเลยว่า ถ้าอเมซอนมาตั้งที่นี่ จะผนวกพื้นที่ 345 เอเคอร์เข้ากับตัว HQ2 แล้วก่อตั้งเป็นเมืองโดยใช้ชื่อว่าเมือง Amazon ไปเลย

นอกจากนี้ นายกเทศมนตรีของเมืองแคนซัสซิตี้ในมิสซูรี ก็ลุกขึ้นมาซื้อสินค้า 1,000 ชิ้น จากอเมซอน แล้วนำไปบริจาคให้กับการกุศล รวมทั้งเข้าไปให้คะแนนสินค้าทุกชิ้นห้าดาวด้วย แล้วเวลาเข้าไปรีวิวสินค้าในอเมซอน ก็จะเขียนถึงเมืองแคนซัสซิตี้ในแง่ดีๆ เพื่อเป็นการสร้างคะแนนนิยม

หรือเมืองเบอร์มิงแฮมในแอละแบมา ก็ทำ ‘กล่องอเมซอน’ ขนาดใหญ่เอาไว้ทั่วเมือง ที่กล่องจะมีปุ่มให้กด เมื่อไหร่มีคนไปกด มันก็จะส่งข้อความทวีตออกไปบอกว่าเมืองนี้ดีอย่างไร ทำไมอเมซอนถึงควรมาตั้งท่ีนี่ แม้แต่นิวยอร์กซิตี้เอง นายกเทศมนตรีก็ยังประกาศเลยว่าจะทาสีอาคารสำคัญๆ ในเมืองให้เป็นสีส้มเพื่อโปรโมทให้อเมซอนมาสร้าง HQ2 ที่นี่

สรุปแล้ว อเมซอนเลยต้องใช้เวลานานถึง 14 เดือน ด้วยการคัดแล้วคัดอีก คัดจนได้ผู้เข้ารอบสุดท้าย ซึ่งก็มีอยู่ 20 เมือง แต่ทั้ง 20 เมือง อยู่ในสหรัฐอเมริกาเกือบทั้งหมด (มีแคนาดาหลงมาหน่อย) แล้วทางอเมซอนก็ตระเวนทัวร์ไปทุกเมือง เพื่อดูศักยภาพ ความพร้อม และความเหมาะสมต่างๆ

ในที่สุด อเมซอนก็ประกาศ HQ2 ออกมา ซึ่งอาจทำให้หลายคนประหลาดใจ เพราะไม่ใช่ที่เดียว แต่เป็นสองที่ นั่นแปลว่าอเมซอนจะ ‘แยก’ HQ2 ออกเป็นสองแห่ง แต่ละแห่งจะมีพนักงานราว 25,000 คน โดยสองแห่งที่ว่า ก็คือ Long Island City ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับย่านควีนส์ในนิวยอร์ก กับอีกเมืองหนึ่งคือเมือง Crystal City ในเคาน์ตี้ Arlington ในรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากวอชิงตันดีซีเท่าไหร่นัก

นอกจากนี้ อเมซอนยังจะเปิด Operations of Excellence ซึ่งเป็นสำนักงานอีกแห่งหนึ่งในแนชวิล เทนเนสซี ด้วย ที่นี่จะมีพนักงานเพิ่มอีก 5,000 คน โดยการว่าจ้างพนักงานเข้ามาทำงานในออฟฟิศทั้งสามที่นี้ จะเริ่มขึ้นในปีหน้า ทางอเมซอนบอกว่า พนักงานจะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 150,000 เหรียญ

คุณอาจสงสัยว่า ทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นข่าวดัง กับการที่บริษัทหนึ่งจะเปิดสำนักงานใหญ่ใหม่ จะอะไรกันนักกันหนาหรือ ที่จริงเรื่องนี้มีสิ่งที่อยู่นอกเหนือไปจากการเปิดออฟฟิศใหม่ที่ต้องพิจารณากันหลายอย่างทีเดียว

เรื่องแรกก็คือ การที่อเมซอน ‘ตีฟู’ เรื่องขึ้นมาจนเป็นข่าวใหญ่นั้น แท้จริงมีเรื่องทางธุรกิจอยู่เบื้องหลัง ที่จริงแล้ว อเมซอนจะเลือกเมืองไหนก็ได้ทั้งนั้น เพราะอเมซอนเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีข้อมูลมหาศาลอยู่ในมือ เผลอๆ อาจมีข้อมูลเกี่ยวกับเมืองต่างๆ มากกว่าที่เมืองนั้นๆ มีเสียอีก แต่การที่ทำให้เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา ก็เพราะอเมซอนได้รับ ‘ดีล’ พิเศษจากเมืองต่างๆ

ดีลสำคัญที่สุดก็คือการลดภาษี เช่นเมื่ออเมซอนเลือก Long Island City ในระยะสิบปีข้างหน้า อเมซอนก็จะได้รับการลดหย่อนภาษีมากถึงกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือเป็นประโยชน์ในอนาคต แล้วไม่ใช่แค่นิวยอร์กรัฐเดียวที่ยื่นผลประโยชน์แบบนี้ให้ รัฐนิวเจอร์ซีย์เสนอได้มากกว่าอีก คืออยู่ที่ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และแมรี่แลนด์ก็เสนอให้ถึง 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ที่สุดอเมซอนก็ไม่ได้เลือก

ที่จริงแล้ว เมืองต่างๆ นั้นให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้อยู่แล้ว มีรายงานของ Brookings (Brookings Metropolitan Polica Program) (ดูได้ที่นี่) บอกว่าเมืองต่างๆ ในอเมริกา จ่ายเงิน (ในรูปของสิทธิประโยชน์ทางภาษี) ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ราว 45 ถึง 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยคาดว่า จะได้รับประโยชน์กลับคืนมาในรูปของรายได้ต่างๆ แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่าที่จริงแล้วน่าจะได้ไม่คุ้มเสีย

อเมซอนไม่ได้มีแค่ HQ2 เท่านั้น เพราะที่จริงอเมซอนมีออฟฟิศเล็ก (ที่จริงๆ ก็ไม่ได้เล็กมาก) อยู่ตามเมืองต่างๆ อยู่แล้ว เช่นในนวร์ก (Newark) ของนิวเจอร์ซีย์ ก็ถือเป็นเมืองที่เป็นฐานทัพของ Audible อันเป็นออดิโอบุ๊คของอเมซอน โดยมีออฟฟิศพื้นที่ราว 36,000 ตารางเมตร (พอๆ กับห้างทาคาชิยาม่าใน Iconsiam นั่นแหละครับ) หรือในวอชิงตัน  เจฟ เบซอส ก็เคยซื้อพิพิธภัณฑ์เก่ามูลค่า 23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้วนำมาเปลี่ยนเป็นที่อยู่ส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่นั้น (ไม่นับรวมการซื้อ Washington Post เมื่อปี 2013 นะครับ)

เพราะฉะนั้น อเมซอนจึงแน่นแฟ้นกับพื้นที่ต่างๆ หลายแห่ง รวมทั้งมีงบประมาณสำหรับการล็อบบี้ ซึ่ง Wired รายงานว่า (ดูได้ที่นี่) ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา งบสำหรับการล็อบบี้นั้นเพิ่มขึ้น 400 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า กระบวนการสรรหา HQ2 อันสลับซับซ้อนนี้ จะเต็มไปด้วยการต่อรอง เม็ดเงิน และผลประโยชน์ทางธุรกิจมากมายขนาดไหน

แต่ต่อให้อเมซอน ‘สนิท’ กับหลายฝ่ายขนาดไหน สหรัฐอเมริกาก็ใหญ่เกินกว่าอเมซอนจะเข้าไปมีอิทธิพลได้ทุกด้าน ดังนั้น อเมซอนจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอ อย่างเช่นเมื่อเลือก Long Island City แล้ว ก็จะมีฝ่ายที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย เช่น วุฒิสมาชิกคนหนึ่งจากควีนส์บอกในทำนองที่ว่าไม่ค่อยจะอยากได้อเมซอนเท่าไหร่ เพราะเมืองจะต้องเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ระบบรถใต้ดินก็ยังแย่อยู่ และเมืองเองก็ต้องการเงินนำมาลงทุนในอีกหลายเรื่อง คนที่อาศัยอยู่ในเมืองจำนวนมากก็เป็นกังวลกับการที่อเมซอนจะเข้ามา ‘เปลี่ยน’ เมืองด้วย

ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือซีแอตเติล ซึ่งเมื่ออเมซอนเข้าไปสร้างสำนักงานใหญ่ที่นั่น ราคาของบ้านและที่ดินก็พุ่งสูงขึ้นเร็วกว่าเมืองใหญ่อื่นๆ จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สภาเมืองซีแอตเติลต้องผ่านกฎหมายเกี่ยวกับภาษี ที่บังคับให้บริษัทใหญ่ๆ ต้อง ‘กลับข้าง’ คือแทนที่จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ก็ต้องหันมาจ่ายคืนให้ชุมชนแทน โดยอเมซอนต้องจ่ายเงินปีละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะถือว่าขนหน้าแข้งไม่ร่วงสำหรับเจฟ เบซอส ซึ่งเรื่องนี้ นักกฎหมายบางคนก็เรียกว่าเป็น Amazon Tax

ดังนั้น ทั้งวอชิงตันและนิวยอร์กจึงอาจจะรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ เพราะตอนนี้ก็มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยที่ราคาพุ่งสูงขึ้นไปจนวิกฤตอยู่แล้ว Wall Street Journal (ดูรายละเอียดได้ที่นี่) ทำอินโฟกราฟิกเพื่อแสดงให้เห็นว่า เมืองอย่าง Crystal City นั้น ‘อยู่ตรงไหน’ เมื่อเทียบกับนิวยอร์กและค่าเฉลี่ยของประเทศในเรื่องต่างๆ เช่น การขนส่งมวลชน ธุรกิจในเมืองที่อยู่ใน Fortune 500 จำนวนของตลาดเกษตรกรในเมือง ประชากรที่จบปริญญาตรี ฯลฯ ซึ่งก็จะเห็นได้เลยว่า Crystal City เป็นเมืองที่มีสเกลเล็กกว่านิวยอร์กในทุกเรื่อง บางเรื่องอาจสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แต่หลายเรื่องก็ต่ำกว่า ทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า เมืองจะ ‘รองรับ’ HQ2 ได้จริงหรือ เช่น อาจเกิดการจราจรติดขัด ซึ่งในระยะยาวอาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดีก็ได้

อย่างไรก็ตาม การได้เห็นกระบวนการต่อสู้ต่อรองในทางธุรกิจที่เปิดเผย แม้จะมีการล็อบบี้อยู่เบื้องหลัง ก็ถือเป็นเรื่องสนุก และน่าจะเป็นกรณีศึกษาให้กับบริษัทใหญ่ๆ ในเมืองไทย ที่คิดจะเปิดโน่นเปิดนี่แบบใหญ่ๆ อลังการด้วย

ขั้นตอนความโปร่งใสและการรับรู้ของสาธารณชนนั้น – พูดได้เลยว่าต่างกันเยอะ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save