fbpx

All The Beauty and The Bloodshed เจ็บตรงไหน สู้ตรงนั้น

ฟังดูแปลกที่ผู้คนเข้าไปในโถงทางเดินของพิพิธภัณฑ์เพื่อประท้วงบริษัทยาด้วยการล้มลงนอน ด้วยการขอให้พิพิธภัณฑ์เลิกรับเงินสนับสนุน หรือถอดถอนชื่อของตระกูลหนึ่งออกจากที่ต่างๆ ในนั้น หนึ่งในผู้นำการประท้วงเป็นคุณป้าผมแดงคนหนึ่งที่ใครๆ รู้จักเธอดีเพราะเธอคือ Nan Goldin 

สารคดีเรื่องนี้ว่าด้วยชีวิตของเธอ ศิลปินและช่างภาพชาวอเมริกันที่โด่งดังมากที่สุดคนหนึ่ง และในขณะเดียวกันสารคดีเรื่องนี้ก็ไม่ได้ว่าด้วยชีวิตของเธอ แต่ว่าด้วยสภาวะทางการเมืองตั้งแต่ระดับปัจเจกไปจนถึงระดับโลกที่วางล้อมรอบตัวเธอ เป็นทั้งน้ำหนักที่กดทับ กำแพงที่ขวางกั้น เป็นทั้งทุ่งโล่งแห่งการสร้างสรรค์ และสนามแห่งการต่อสู้ และวิธีที่ศิลปะงอกงามขึ้นมาเพื่อเป็นทั้งดอกผลและเครื่องมือของการต่อสู้ ในทางตรงกันข้าม ศิลปะเองก็รับใช้สิ่งที่มันต่อสู้ด้วย

หนังแบ่งเป็นสองส่วนและเล่าข้ามกันไปมาผ่านบทย่อย 5-6 บท ที่ล้วนหยิบยกชื่อมาจากข้อเขียน ชิ้นงาน หรือบทสนทนาที่เกิดในช่วงชีวิตของเธอ ครึ่งหนึ่งเป็นการเล่าชีวิตของเธอตั้งแต่ตอนยังเด็ก เล่าถึงพี่สาวที่ฆ่าตัวตายเพราะไม่อาจทนแรงกดดันของพ่อแม่เธอได้ เล่าเรื่องการที่พ่อแม่ตัดสินใจส่งเธอไปอยู่บ้านอื่นเพราะหมอบอกว่าถ้าเธอยังอยู่บ้าน เธอจะลงเอยเหมือนพี่สาว เล่าเรื่องการที่เธอเป็นเด็กเกเร จนถูกไล่ออกจากทุกที่ที่เธอไป เล่าเรื่องการเข้าไปอยู่ในชุมชนศิลปินชาวเควียร์ การหลงใหลการถ่ายภาพที่เริ่มจากกล้องโพลารอยด์ที่ได้จากเพื่อน และการที่เธอใช้ภาพถ่ายแทนภาษา เธอเล่าถึงเพื่อนๆ ของเธอ ที่เต็มไปด้วยคนแปลกๆ ทั้งช่างภาพ นักเต้น ศิลปิน นักแสดง คนขี้เหล้า คนติดยา และคนขายบริการทางเพศ เล่าเรื่องความรักความสัมพันธ์ของเธอทั้งกับคู่รักหญิงและชาย เล่าเรื่องการไปเต้นตามบาร์อะโกโก้เพื่อหาเงินมาซื้อฟิล์ม การใช้ชีวิตช่วงหนึ่งเป็นหญิงขายบริการ เป็นบาร์เทนเดอร์ เล่าเรื่องการแสดงภาพถ่ายของเธอที่โดยมากเป็นการถ่ายภาพเพื่อนๆ ของเธอด้วยสายตาอันแสนพิเศษ การจัดแสดงด้วยการทำเป็นสไลด์โชว์ แล้วเปิดเพลงประกอบ จนเธอเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น และดิ้นรนในโลกศิลปะ จนในที่สุดเธอเป็นเธอแบบที่เธอเป็นในตอนนี้ 

ในขณะที่อีกส่วนหนึ่ง หนังติดตามการประท้วงครั้งล่าสุดของเธอ ที่เธอกับบรรดามิตรสหายประท้วงบริษัทยาที่ขาย Oxycontin ซึ่งเป็นยาระงับปวดอนุพันธุ์ของมอร์ฟีนที่ถูกเคลมว่าไม่เสพติด มีการสั่งใช้ยาตัวนี้ในโรงพยาบาลเพื่อระงับปวดหลังผ่าตัดจำนวนมาก และความจริงคือมันเสพติดได้ ส่งผลให้มีคนตายจากการได้ยาเกินขนาดนับแสนคน ตายจากใบสั่งยาก็ว่าได้ เธอเองก็เป็นหนึ่งในผู้เคยติดยาตัวนี้ที่เธอได้รับหลังการผ่าตัด แต่การประท้วงของเธอไม่ได้เป็นการประท้วงตัวบริษัท แต่เป็นการประท้วงผ่านจุดที่เธออยู่คือโลกศิลปะ เพราะตระกูล Sackler ที่เป็นเจ้าของบริษัทยา เป็นพวกคนร่ำรวยที่สนใจศิลปะ เป็นผู้มอบทุนอุดหนุนให้กับบรรดาแกลลอรี พิพิธภัณฑ์ทั่วโลก ทั้ง MET TATE ไปยัน Lourve จนได้วางชื่อเป็นชื่อห้องจัดแสดง ลาน หรือโถงต่างๆ เธอและเพื่อนของเธอในชื่อกลุ่ม P.A.I.N. เรียกร้องให้พิพิธภัณฑ์ แกลลอรีเหล่านั้นปฏิเสธทุนของระกูลนี้ และเอาชื่อของพวกเขาออกจากป้ายในที่ต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องแสดงว่าโลกศิลปะไม่ต้อนรับนายทุนค้าความตาย 

“ศิลปะที่ไม่มีการเมืองก็เป็นได้แค่เครื่องประดับ การเมืองที่ไม่มีศิลปะก็เป็นได้แค่โฆษณาชวนเชื่อ” (Art without politics is a decoration, politics without art is a propaganda.) เป็นประโยคที่ Anand Patwardhan คนทำสารคดีชาวอินเดียเคยพูดไว้ระหว่างการเสวนาในเทศกาล Asian Film and Video Art Forum ที่เกาหลีเมื่อหลายปีก่อน และเป็นประโยคที่สามารถเอามาอธิบายสารคดีเรื่องนี้ที่ตลอดทั้งเรื่องคอยชี้ให้เราเห็นว่าการเมืองของศิลปะ และศิลปะกับการเมืองเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก 

สารคดีอาจตั้งต้นจากตัวศิลปิน แต่เมื่อเรื่องดำเนินไป เราก็พบว่าถึงที่สุด Nan ไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นเครื่องมือที่หนังใช้มองประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของศิลปะกับการเมืองในบริบทสังคมอเมริกันที่ผ่านตัวอย่างการต่อสู้ทั้งกับเรื่องส่วนตัวและสังคมทั้งระบบ 

ภาพถ่ายของ Nan เองเป็นภาพที่ถ่ายชีวิตประจำวันของบรรดาคนชายขอบ คนนอกสังคม กะเทย คนติดยา ผู้หญิงขายตัว ตัวภาพของเธอเองเป็นภาพคนไม่สวยไม่หล่อ ในห้องเช่าเก่าโทรม ภาพของเธอเล่าชีวิตธรรมดาที่ยากลำบาก ล้มเหลว ป่วยไข้ โดยการทำให้พวกเขาเปล่งประกายขึ้นมาด้วยสายตาของเธอ ในทางหนึ่งภาพถ่ายของเธอจึงเป็นเนื้อหนังของการต่อสู้ของผู้คนที่ถูกสังคมกีดกัน เธอที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น เธอเล่าว่าช่วงเวลาเช่นนั้น ช่วงเวลาที่เธอเต้นอะโกโก้ ขายบริการ เป็นบาร์เทนเดอร์ในร้านเหล้า เป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำที่สุดของชีวิต ช่วงเวลาที่ตัวเธอนั้นงอกงาม ตัดข้ามกับช่วงเวลาที่เธอเป็นคนสามัญอาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่เป็นพลเมืองที่ดีของอเมริกัน แม่ที่เคร่งครัดและบีบคั้นเธอกับพี่สาว ดูเหมือนชีวิตแบบนั้นต่างหากที่กัดกินเธอ และเธอโชคดีที่รอดพ้นมาได้

แต่ในเวลาต่อมาเพื่อนๆ ของเธอก็ค่อยๆ ตายลง ติดยา ฆ่าตัวตาย เป็นเอดส์ หนังค่อยๆ ขยายจากเรื่องส่วนตัวเพื่อชี้ให้เห็นว่าความตายของเพื่อนๆ เธอไม่ได้เป็นเพียงความตายของคนที่สมควรตาย หนังติดตามช่วงที่เธอกับเพื่อนๆ จัดงานแสดงในแกลลอรีแห่งหนึ่งโดยโฟกัสไปที่เรื่องของเอดส์ในยุคสมัยที่สังคมยังไม่เข้าใจและตีตราผู้ป่วย ภาพวาด ภาพถ่าย บทความของผู้คนที่ต้องต่อสู้ทั้งกับโรคภัย และการถูกสังคมตีตรา ทำให้เป็นเรื่องร้อนแรงถึงขนาดที่ภัณฑารักษ์ (ที่ควรจะเป็นผู้สนับสนุน) ทำจดหมายฟ้องไปยังกองทุนเพื่อศิลปะแห่งชาติที่สนับสนุนการจัดแสดง แหล่งทุนไม่ให้เงิน แคตาล็อกนิทรรศการที่มีงานเขียนของ David Armstrong เพื่อนสนิทของเธอกลายเป็นข่าว ด้วยวิธีต่อสู้อย่างไม่กลัวผู้มีอำนาจ และการที่ Laeonard Bernsrien นักประพันธ์เพลงและวาทยากรคนสำคัญ ปฏิเสธเหรียญตราศิลปินแห่งชาติ เพราะกองทุนนี้ปฏิเสธการให้ทุนงานของ Nan ทำให้เสียงของผู้คนถูกได้ยิน ตามชื่อ ‘เราจะไม่หายไปเฉยๆ’ ที่เป็นชื่อแคตาล็อกของงานแสดงชิ้นนั้น ที่มีภาพถ่ายของคนรักเพศเดียวกัน งานประติมากรรม จดหมาย ไปจนถึงภาพถ่ายของผู้ติดเชื้อ HIV ที่ผ่ายผอม ภาพทรงพลังที่มาจากบรรดาคนที่ได้รับผลกระทบจากโรคจริงๆ และล้มตายลงจริงๆ

เราอาจกล่าวได้ว่า การต่อสู้บนท้องถนนของผู้คนสามัญ ลามเลยมาจนถึงงานศิลปะของ Nan และเพื่อนๆ ของเธอคือหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้การเข้าถึงการรักษาการติดเชื้อ HIV เกิดขึ้นได้ในทั่วโลก เช่นเดียวกับการลดการตีตราผู้ป่วย 

กระบวนการนี้จึงถูกนำมาใช้อีกครั้งในการประท้วงของตัวเธอเองหลายปีต่อมา เราเห็นแล้วว่าทุกอย่างเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างน่าพรั่นพรึงระหว่างชีวิตของคนชายขอบ โลกบริสุทธิ์ของศิลปะ การเมืองระดับประเทศ และทุนนิยม ไม่มีสิ่งใดปลอดพ้นอีกสิ่งหนึ่ง ทุนนิยมกำกับและเขมือบเอาทุกภาคส่วนเข้าไปด้วยเงินและกลไกการตลาด การเมืองเรื่องศิลปะก็เช่นกัน 

การประท้วงตระกูล Sackler ของเธอจึงดำเนินไปบนฐานคิดของคนที่เจ็บตรงไหนสู้ตรงนั้น เป้าหมายของเธอคือพิพิธภัณฑ์และแกลลอรีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีงานของเธอจัดแสดงถาวร ขอบเขตในการประท้วงของเธอนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมันตอกย้ำว่าในโลกแห่งศิลปะ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังก็คือทุนนิยมที่บ่อยครั้งตัวศิลปะเองนั้นพยายามต่อกรด้วย ระบบที่ศิลปินท้าทายกลายเป็นระบบที่โอบอุ้มตัวศิลปินและแวดวงไปพร้อมๆ กัน และสิ่งที่ศิลปินทำได้คือการต่อต้านไม่ยอมตาม

ในทางตรงกันข้าม ภายใต้ท่าทีแข็งกร้าวแบบเฟมินิสต์ เควียร์ และแอ็กติวิสต์ การต่อสู้ของเธอในอีกทางก็นุ่มนวลอย่างยิ่ง ภายใต้บริบทสังคมอเมริกันที่ฟาดฟันกันด้วย การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ การต่อสู้ของ Nan ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของ cancel culture ที่มาก่อนกาล (และในขณะนั้นยังไม่มีคำนี้ในความหมายปัจจุบันนี้อย่างเป็นทางการ) และตรงเป้ามากๆ ในฐานะอาวุธของผู้อ่อนแอเท่าที่มีในการต่อกรกับผู้มีดุลอำนาจสูงกว่าทั้งในฐานะนายทุนและสถาบัน ในขณะที่ cancel cultureในปัจจุบันหลังยุคโซเชียลมีเดีย ได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของมันไปในอีกทางอย่างทั้งน่าสนใจและน่าวิตก

ในอีกทางหนึ่ง หนังก็เต็มไปด้วยความนุ่มนวลของมนุษย์ หนังให้ภาพของ Nanในฐานะเฟมินิสต์และเควียร์อย่างเต็มที่ ความลื่นไหลทางเพศของเธอ ความหลงใหลในมนุษย์ของเธอ ชีวิตของบรรดาเพื่อนๆ ของเธอ การต่อสู้ในชีวิตที่เกิดจากความรักและความเจ็บปวด ทั้งความเจ็บปวดจากกความตายของพี่สาว ความเข้มงวดของพ่อแม่ ความเจ็บปวดจากความสัมพันธ์กับคนรัก (เธอเล่าว่าเธอรักๆ เลิกๆ กับผู้ชายคนหนึ่งเป็นเวลานาน ในที่สุดเขาบอกเลิกเธอด้วยการซ้อมเธอ สิ่งที่เธอทำไม่ใช่ไล่ฟ้องเขา แต่เป็นการถ่ายรูปตัวเองหลังจากนั้น) ความเจ็บปวดจากการสูญเสียเพื่อนให้กับโรคเอดส์ และการสูญเสียตัวตนให้กับการใช้ยาเกินขนาด ความเจ็บปวดกับความรักในมนุษย์ทำให้เธอต่อสู้ โดยมากก็เพื่อตนเองและคนใกล้ชิด และการเจ็บตรงไหนก็สู้ตรงนั้นเองกลายเป็นพลังของเธอ 

ยิ่งเขียนต่อไปก็ยิ่งจะเป็นการตรงกันข้ามกับหนังที่พยายามไม่เชิดชูเธอ ถึงที่สุดเราคงต้องจบบทความลงตรงนี้ ตรงที่การต่อสู้ของ Nan ไม่ใช่การต่อสู้ของ Nan เธอเป็นเพียงภาพแทนของการต่อสู้ของผู้คนอีกจำนวนมาก เธออาจเป็นภาพแทนของการต่อสู้ทางการเมืองในยุคก่อนหน้า ยุคสมัยที่เป้าหมายและวิธีการต่างออกไปจากปัจจุบันอย่างยิ่ง ในทางหนึ่งมันอาจเป็นวิธีการแบบเก่าๆ แต่ในอีกทางหนึ่งเราเห็นว่าเป้าหมายของการต่อสู้นั้นชัดเจนมากๆ และยังส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน นี่จึงเป็นตัวอย่างอันดีสำหรับคนหนุ่มสาวนักต่อสู้ในการได้เรียนรู้จากคนที่สู้มาก่อนและยังสู้อยู่ ได้ทบทวนวิธีการและเป้าหมายของตน และที่สำคัญที่สุดคือการได้เห็นถึงความหลากหลายในฐานะมนุษย์ที่เป็นคนๆ ไม่ใช่การจัดแบ่งผู้คนเหมารวมตามประเภทนิยาม ไม่ว่านิยามนั้นจะละเอียดแตกย่อยมากมายขนาดไหนก็ตาม 


อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ cancel culture ได้ที่

The Long and Tortured History of Cancel Culture

Why we can’t stop fighting about cancel culture

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save