fbpx

แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง All Quiet on the Western Front

แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง

ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ดูหนังหลากสัญชาติ ซึ่งถูกเลือกให้ ‘ติดทีมชาติ’ เป็นตัวแทนในการส่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมครั้งที่กำลังจะถึง ประกอบไปด้วย Decision to Leave (เกาหลีใต้), Plan 75 (ญี่ปุ่น), Holy Spider (เรื่องนี้แปลกหน่อยคือ เป็นหนังอิหร่านแต่ส่งเข้าชิงในฐานะตัวแทนประเทศเดนมาร์ก) และ All Quiet on the Western Front (เยอรมนี)

จริงๆ แล้วยังมีอีกเรื่องคือ Argentina, 1985 (สามารถดูได้ใน prime video) ตัวแทนจากอาร์เจนตินา ซึ่งได้รับคำชื่นชมอย่างท่วมท้น และมีลุ้นติดกลุ่มเป็น 1 ใน 5 เรื่องสุดท้ายที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง แต่ผมยังไม่ได้ดู เพราะหนังมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์และการเมือง ต้องขอเวลาสักพักเพื่อทำการบ้านเตรียมความพร้อม

ทุกเรื่องที่กล่าวมา ล้วนน่าสนใจและมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดีมากๆ จนตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกเชียร์เรื่องไหน

Decision to Leave เป็นหนังที่ใช้พล็อตแบบพิศวาสฆาตกรรม (ประมาณเดียวกับ Basic Instinct) แต่ไปไกลและลึกกว่า ด้วยการพลิกผันกลายเป็นหนังรักโรแมนติกที่บาดลึกตราตรึงใจ เป็นงานโชว์ฝีมือการกำกับและชั้นเชิงการเล่าเรื่องที่จัดเจนของพาร์ค ชาน วุค

Plan 75 โดดเด่นด้วยวิธีการเล่าแบบ ‘ทำน้อย ได้เยอะ’ สะท้อนเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุได้อย่างถี่ถ้วน สมจริง และกระทบใจผู้ชมอย่างจัง

Holy Spider เล่าถึงคดีฆาตกรรมฆ่าต่อเนื่อง แต่แทนที่จะเป็นไปตามครรลองของหนังประเภทสืบสวนสอบสวน งานชิ้นนี้กลับนำพาผู้ชมไปสัมผัสกับ ‘สังคมฆ่าต่อเนื่อง’ พูดถึงด้านลบมืดหม่นในอิหร่าน ทั้งปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ, ความเคร่งครัดต่อศาสนาจนสุดโต่ง และการตีความหลักคำสอนให้คล้อยตามความเชื่อความเข้าใจที่น่าสะพรึงกลัว, ทัศนคติของตำรวจ สื่อมวลชน และสังคมโดยรวม ซึ่งเกื้อหนุนต่อการก่ออาชญากรรมและการใช้ความรุนแรง เป็นหนังที่โดดเด่นด้วยสไตล์สมจริง ความเก่งกาจในการใช้ภาษาหนังสะกดตรึงผู้ชมอยู่หมัดตั้งแต่ต้นจนจบ และทำให้ผมเดินออกจากโรงด้วยสภาพจิตตก และมีอาการเหมือนโดนทุบหัวแรงๆ

ทั้งหมดที่กล่าวมา น่าจะอยู่ในช่วงปลายโปรแกรมหรืออาจจะออกจากโรงไปแล้ว เพื่อความสะดวกในการติดตามดูของท่านผู้อ่าน ผมจึงเลือก All Quiet on the Western Front มาเล่าสู่กันฟัง เนื่องจากหนังเพิ่งเผยแพร่ทาง Netflix

All Quiet on the Western Front สร้างและดัดแปลงจากนิยายคลาสสิกชื่อเดียวกันปี 1929 ของเอริช มาเรีย เรอมาร์ก (ฉบับภาษาไทย แปลออกมาในปีเดียวกัน โดยหม่อมเจ้าขจรจบกิตติคุณ กิติยากร ใช้ชื่อว่า ‘แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง’)

นิยายเรื่องนี้ ประสบความสำเร็จทั้งยอดขายและคำวิจารณ์ ได้รับการนำมาดัดแปลงเป็นหนัง 3 ครั้ง ฉบับแรกสุดสร้างเมื่อปี 1930 กำกับโดย ลูว์อิส ไมล์สโตน เข้าชิงรางวัลออสการ์ 4 สาขา คือ หนังเยี่ยม กำกับ บทภาพยนตร์ และกำกับภาพ โดยคว้ารางวัลไปครองใน 2 สาขาแรก

จนถึงปัจจุบัน หนังฉบับปี 1930 ก็ยังเป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นเวอร์ชันที่ดีที่สุด

ครั้งต่อมา เป็นหนังที่สร้างสำหรับฉายทางโทรทัศน์เมื่อปี 1979 (ในบ้านเราเรื่องนี้เข้าฉายตามโรง) คุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดี แต่คุณภาพก็ยังห่างไกลจากนิยายและหนังฉบับปี 1930 อยู่มาก

ฉบับล่าสุดปี 2022 นั้น ยังต้องรอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ก็มีปัจจัยเด่นชัดบางประการที่เมื่อนำไปเทียบเคียงกับฉบับปี 1930 แล้วได้ผลลัพธ์ด้อยกว่า นั่นคือฉบับปี 2022 (ซึ่งเป็นครั้งแรกที่งานเขียนชิ้นนี้สร้างเป็นหนังเยอรมัน) มีการดัดแปลงปรับเปลี่ยนค่อนข้างมาก ทั้งการรวบรัดตัดทอนรายละเอียดหลายๆ อย่างออกไป และการผูกแต่งเรื่องราวบางส่วนที่ไม่มีอยู่ในนิยายเพิ่มเข้ามา

พูดง่ายๆ คือ หากยึดเอานิยายเป็นเกณฑ์ All Quiet on the Western Front ฉบับปี 2022 กำกับและเขียนบทโดยเอ็ดเวิร์ด แบร์เกอร์ อาจทำให้คนที่เคยชื่นชอบประทับใจจากการอ่านหนังสือมาก่อน รู้สึกผิดหวังใน ‘ความไม่เหมือน’ ซึ่งมีอยู่ตลอดทั่วทั้งเรื่อง ตั้งแต่ต้นจนจบ

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองกันที่ผลรวมของหนัง, การถ่ายทอดประเด็นแก่นเรื่องเนื้อหาสาระ (ซึ่งยังคงตรงตามเรื่องเดิม) คุณภาพและความประณีตพิถีพิถันในด้านงานสร้าง, อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่หนังพาผู้ชมไปพบสัมผัส ความกล้าคิดกล้าทดลองที่จะเปลี่ยนเรื่องให้ผิดแผกไปจากนิยาย (บางอย่างเปลี่ยนแล้วก็ด้อยกว่า ที่เด่นชัดคือลีลาการเล่าที่มีลักษณะบทกวีอันคมคาย ลึกซึ้ง ละเมียดละไม และสะเทือนใจในนิยาย ตรงนี้หายไปเกือบหมด ขณะที่บางอย่างเปลี่ยนแล้วก็ดีขึ้น เช่น การสะท้อนถึงความไร้สาระของสงครามได้อย่างเจ็บปวดและเย้ยหยันสุดขีด)

ผมยังไม่มีโอกาสได้ดูหนังฉบับปี 1930 แต่พอจะสรุปกว้างๆ ได้ว่า ชอบทั้งตัวนิยายและหนังปี 2022 ในระดับใกล้เคียงกัน ดีไปคนละแบบนะครับ (เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่ง คือผมชอบการดัดแปลงแบบที่เต็มไปด้วยความไม่เหมือน และห่างไกลจากต้นฉบับ แต่พร้อมๆ กันนั้นก็ยังทำให้ผู้ชมสามารถรู้สึกอยู่ตลอดว่าทั้งนิยายและหนัง ยังคงเป็น ‘เรื่องเดียวกัน’)

All Quiet on the Western Front ฉบับนิยาย เล่าเรื่องทั้งหมดผ่านมุมมองของตัวเอกชื่อ พอล บอยเมอร์ เน้นความรู้สึกนึกคิด อารมณ์เบื้องลึกในใจ ทัศนะ และการตั้งคำถามของตัวละคร ผ่านสถานการณ์ต่างๆ ที่เขาพบเจอในสมรภูมิและชีวิตความเป็นอยู่ช่วงพักรบ มิตรภาพความสัมพันธ์กับผองเพื่อน มากกว่าจะคำนึงถึงพล็อตและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามลำดับเวลา

พูดง่ายๆ คือนิยายมีเส้นเรื่องที่ไม่ชัดเจน บวกรวมกับสภาพความเป็นไปของเหตุการณ์ที่ย่ำซ้ำอยู่ในวงจรเดิมๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น ก็ทำให้สิ่งที่ควรจะเป็นเค้าโครงเรื่องเกิดความพร่าเลือน แต่ทั้งหมดนี้ก็ส่งผลให้เกิดความคมชัด เข้มข้นในส่วนของแก่นสารใจความหลัก ไม่ว่าจะเป็นความคิดอ่านของเด็กหนุ่มซึ่งเคยมองโลกด้วยสายตาที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสา และทั้งหมดนี้ก็ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับด้วยสงคราม กลายเป็นคนกร้านโลก การต่อสู้เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด (ทั้งจากข้าศึกฝ่ายตรงข้าม และจากการดิ้นรนนำพาตนเองให้หลุดพ้นจาก ‘ฝันร้าย’ ต่างๆ ที่ตามหลอกหลอนจิตใจ) ความรู้สึกเคว้งคว้างว่างเปล่าไร้ที่ยึดเหนี่ยว ความไม่มั่นใจและเคลือบแคลงสงสัยว่าจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไรหลังจากสงครามยุติลง

นิยายนั้นมีถ้อยทีเหมือนนำพาผู้อ่านไป ‘รับฟัง’ คำบอกเล่า ความรู้สึกนึกคิด และความในใจของพอล บอยเมอร์อย่างใกล้ชิดถี่ถ้วน ขณะที่หนังเลือกใช้วิธีที่แตกต่าง ผู้ชมแค่ติดตามตัวละครพอล บอยเมอร์ ในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่มีระยะห่างออกมา ได้พบได้เห็นว่าตัวละครพบเจออะไรตั้งแต่ต้นจนจบ เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร และนำแง่มุมต่างๆ ที่พบเห็นมาไตร่ตรองด้วยตนเองว่าสะท้อนไปสู่แง่คิดเช่นไร

ด้วยวิธีการเช่นนี้ หนังเรื่อง All Quiet on the Western Front ฉบับปี 2022 จึงมีเค้าโครงเรื่องที่จับต้องได้ เป็นรูปเป็นร่างมากกว่านิยาย (และดูเข้าใจง่ายกว่าการอ่าน)

กล่าวคือ มันเล่าถึงกลุ่มเด็กหนุ่มที่อาสาสมัครเข้าเป็นทหาร ทั้งด้วยการถูกโน้มน้าวชักจูง ทั้งด้วยความรู้สึกฮึกเหิมส่วนตัว ทุกคนต่างมองว่า การเป็นทหารคือวีรกรรมอันน่าภาคภูมิใจ เป็นเรื่องตื่นเต้นเร้าใจ เป็นความกล้าหาญในการเสียสละเพื่อมาตุภูมิ เป็นสิ่งที่เด็กหนุ่มทุกคนพึงกระทำ

ที่สำคัญคือ เด็กหนุ่มเหล่านี้มองสงครามด้วยความไม่รู้โดยสิ้นเชิง คลาดเคลื่อนห่างไกลจากความเป็นจริง ต่างเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่แนวรบ จะใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์พิชิตข้าศึก และสามารถรุกคืบหน้าไปถึงปารีสในเวลาอันใกล้ จากนั้นก็กลับบ้าน เรียนต่อ มีแฟน ทำงาน และใช้ชีวิตอย่างสงบสุข

ด้วยเวลาอันรวดเร็ว หนังก็เล่าให้เห็นว่าทั้งหมดคิดผิด ตั้งแต่วันแรกๆ ที่มาถึงแนวรบ ความฝันสวยหรูทุกอย่างก่อนหน้าถูกลบล้างลงหมดสิ้น จากนั้นก็เป็นความเลวร้ายเกินจินตนาการระลอกแล้วระลอกเล่า และความสูญเสียสารพัดสารพัน จนกระทั่งจิตใจพังทลายยับเยิน

ความเปลี่ยนแปลงประการสำคัญในฉบับหนังปี 2022 ก็คือ การเพิ่มเนื้อเรื่องอีกส่วนหนึ่งเกี่ยวกับนายทหารระดับผู้บัญชาการ ซึ่งควบคุมนโยบายและออกคำสั่งจากแนวหลัง มีทั้งฝ่ายที่ประเมินสถานการณ์แล้วพบว่าเยอรมันเพลี่ยงพล้ำสูญเสียใกล้จะพ่ายแพ้ จึงคิดอ่านหาหนทางเจรจาสงบศึก และนายทหารที่หลงติดยึดมั่นอยู่กับเรื่องเกียรติยศศักดิ์ศรี พร้อมที่จะออกคำสั่งรบไม่เลิกรา โดยไม่คำนึงถึงการสูญเสียใดๆ ทั้งสิ้น

เนื้อเรื่องตรงส่วนที่เพิ่มเข้ามานี้ได้อรรถรสเข้มข้นขึ้นในเชิงเสียดสีเย้ยหยันและอารมณ์เจ็บปวดสะเทือนใจ แต่ผลข้างเคียงก็คือทำให้บทสรุปทิ้งท้ายมีความสละสลวยตรึงใจน้อยกว่านิยาย

All Quiet on the Western Front ทั้งนิยายและหนัง เป็นงานต่อต้านสงครามที่ทรงพลัง และสะท้อนเนื้อหาหลักๆ 2-3 ประการ

อย่างแรกคือ ความโหดร้ายยิ่งกว่าหนังสยองขวัญอันเกิดจากสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะการสู้รบแบบสงครามสนามเพลาะในสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น เอื้ออำนวยต่อการประหัตประหารกันอย่างโหดร้ายทารุณ มันเป็นรูปแบบการทำศึกที่ผลัดกันรุกผลัดกันรับ สถานการณ์ตรึงกำลังยันกันและคุมเชิง ไม่ได้มีฝ่ายได้เปรียบเสียเปรียบอย่างจะแจ้งเด่นชัด ยืดเยื้อยาวนานจนไร้วี่แววว่าจะสิ้นสุด จนนำไปสู่เหตุการณ์บาดเจ็บและตายจำนวนมากมายมหาศาลแก่ทุกฝ่าย

ในแง่นี้ หนังเรื่อง All Quiet on the Western Front เป็นหนังต่อต้านสงครามที่โดดเด่นมาก ในการนำเสนอฉากสู้รบออกมาได้น่ากลัว จริงจัง เต็มไปด้วยความโหดร้ายและความรุนแรง เป็นภาพและบรรยากาศชนิดที่เรียกว่า ‘นรกมีจริง’ ดูแล้วเศร้าสะทกสะเทือนอารมณ์อย่างยิ่งยวด 

ทั้งนิยายและหนังไม่ได้มุ่งเน้นให้รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุต้นตออันเป็นชนวนให้เกิดสงคราม หรือสถานการณ์ต่างๆ ของสงครามในแง่ภาพรวมภาพกว้างว่าฝ่ายใดรุกคืบมาอยู่ตรงไหนที่ใด ใครกำลังยึดกุมความได้เปรียบ ใครเป็นฝ่ายพลาดพลั้งเสียที พูดอีกแบบคือเรื่องนี้เน้นการเจาะลึกสู่ภาพใกล้ระยะประชิด เห็นแต่เพียงทหารสองฝ่ายสู้รบประจัญบานกันอย่างสับสนอลหม่าน กระทั่งหลายๆ ขณะผู้ชมก็แยกแยะไม่ออกด้วยซ้ำว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายไหน ทราบแต่เพียงว่าเกิดการล้มตายต่อหน้าต่อตาราวกับใบไม้ร่วง และเป็นความตายอันน่าอเนจอนาถ

เมื่อคำนึงถึงปีที่นิยายเรื่องนี้เขียนขึ้น ถือได้ว่างานชิ้นนี้ ‘มาก่อนกาล’ สำหรับนิยายสงคราม นั่นคือมันเป็นเรื่องราวของการสู้รบที่ไม่มีตรงไหนตอนใดบังเกิดสิ่งที่สามารถเรียกว่าเป็น ‘วีรกรรม’ หรือความสง่างามได้เลย (ย้อนมองไปในประวัติศาสตร์แวดวงหนังอเมริกัน กว่าหนังสงครามจะมีทิศทางต่อต้านและสะท้อนความเลวร้ายของสงครามอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ก็ปาเข้าไปร่วมๆ ทศวรรษ 1970 เลยทีเดียว)

การละเว้นไม่พูดถึงภาพรวม ไม่เอ่ยอ้างเรื่องต้นตอบ่อเกิดว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดสงคราม ส่งผลให้ All Quiet on the Western Front เกิดความแหลมคมในประเด็นเนื้อหาต่อมา นั่นคือความไร้สาระของสงคราม

เมื่อติดตามดูหนังหรืออ่านนิยายไปได้สักพัก ผู้ชมและผู้อ่านล้วนเกิดคำถามเช่นเดียวกับตัวละคร ว่ารบกันเพื่ออะไร? รบไปทำไม? ความไม่เข้าใจถึงเหตุผลที่มาที่ไปเหล่านี้ตอกย้ำให้ความไร้สาระของสงครามทวีเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

ประการสุดท้าย ซึ่งเป็นแง่มุมสำคัญที่ปรากฏในหนังต่อต้านสงครามจำนวนมากมายในเวลาต่อมา ก็คือการเล่าแจ้งแถลงไข แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวมากสุดของสงครามไม่ใช่เพียงแค่บ้านเมืองถูกทำลายจนพังพินาศ ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแนวหลังต้องเผชิญกับความขัดสนอดอยาก หรือความตายและการบาดเจ็บจากการสู้รบนองเลือดเท่านั้น สิ่งที่น่ากลัวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ สงครามยังสั่นคลอนทำให้ ‘สูญสิ้นความเป็นคน’ เมื่อมนุษย์สามารถกระทำสิ่งที่เลวร้ายต่อกันอย่างเหี้ยมเกรียมโดยไม่รู้สึกรู้สมถึงความผิดถูกชั่วดี บางครั้งก็เพียงเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดปลอดภัย บางครั้งก็ด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้น บางครั้งก็ด้วยอารามลืมตัวขาดสติไปชั่วขณะ

บางคนก็ต้องทุกข์ตรมจมเศร้าอยู่กับความรู้สึกผิดในใจที่ตามหลอกหลอนไปทั้งชีวิต บางคนก็สูญเสียความเป็นมนุษย์ไปโดยถาวร

ทั้งนิยายและหนังเรื่อง All Quiet on the Western Front สะท้อนถึงแง่มุมต่าง ๆ ข้างต้นออกมาได้ยอดเยี่ยมและถี่ถ้วนมาก

ฉากหนึ่งที่ชวนจดจำเป็นอย่างยิ่งคือ พอล บอยเมอร์เผชิญหน้ากับทหารฝรั่งเศสแบบตัวต่อตัวในหลุมอันเกิดจากการระเบิดของปืนใหญ่ ฉากดังกล่าวเริ่มจากความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและจบลงอย่างเศร้าสลด แต่ที่ชวนให้หดหู่หม่นหมองและจับอกจับใจเหลือเกินก็คือ การแสดงให้เห็นว่า ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเยอรมันหรือฝรั่งเศส ต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน จนน่าอัศจรรย์ใจที่ต่างต้องมาเข่นฆ่ากันเอง

ฉากดังกล่าวในนิยายนั้น น่าทึ่งที่การพรรณนารายละเอียดเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดต่างๆ นานาของพอล บอยเมอร์ตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งแปรเปลี่ยนไปมาเป็นลำดับอย่างสมจริง และลงเอยด้วยแง่มุมลึกซึ้งกินใจ ขณะที่ในฉบับหนัง โดดเด่นที่ ‘การเล่าด้วยภาพ’ เกือบๆ จะไม่มีบทพูด แต่อธิบายเนื้อความเดียวกันกับนิยายได้ไม่ผิดเพี้ยน

ฉากดังกล่าวเป็นแสงสว่างน้อยนิดในเรื่องราวอันเต็มไปด้วยความมืดมิดของงานชิ้นนี้

ทั้งนิยายและหนัง All Quiet on the Western เป็นงานต่อต้านสงครามที่ไม่สนุกบันเทิง แต่มีเสน่ห์ชวนติดตามอย่างล้นเหลือ อารมณ์โดยรวมนั้นระคนปนกันระหว่างความน่าสะพรึงกลัวกับความหม่นเศร้าสะเทือนใจ (และเป็นเช่นนั้นตลอดทั่วทั้งเรื่อง)

อย่างไรก็ตาม นิยายและหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้ขาดไร้ไปเสียซึ่งด้านรื่นรมย์ แง่มุมเกี่ยวกับมิตรภาพในหมู่ผองเพื่อน ช่วงเวลาพักผ่อนหย่อนใจจากการสู้รบ ซึ่งเล่าได้อย่างมีชีวิตชีวาเอามากๆ เป็นอีกเสน่ห์สำคัญที่ตราตรึงใจมาก

ข่าวร้ายก็คือ มันเป็นความรื่นรมย์ เป็นอารมณ์ขัน เป็นความสุขอันแสนสั้น ก่อนที่เรื่องราวจะนำพาไปสู่เรื่องเศร้าเชือดเฉือนหัวใจอย่างหนักหน่วงในเวลาต่อมา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save