fbpx

All of Us Are Dead: ซอมบี้ บูลลี่ และ อุปลักษณ์ของความรุนแรงในโรงเรียน

All of Us are Dead ซีรีส์ซอมบี้เกาหลีเรื่องล่าสุดใน Netflix กำลังเป็นที่โจษขานถึงความสนุกสนานตื่นเต้น โดยเฉพาะความพยายามของเหล่านักเรียนโรงเรียนมัธยมฮโยซาน ในการเอาชีวิตรอดจากบรรดาฝูงซอมบี้ที่ลุกลามบ้าคลั่งไปทั่วโรงเรียน นี่เป็นหนึ่งในสื่อบันเทิงของเกาหลีว่าด้วยซอมบี้ที่ออกมาให้เราได้ชมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากภาพยนตร์ Train to Busan และซีรีส์ Kingdom ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในแง่ของการตอบรับจากผู้ชม

คอลัมน์ชาติพันธุ์ฮันกุกในครั้งนี้จะชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักซอมบี้ให้มากขึ้น  และสำรวจว่าภายใต้ความตื่นเต้นระทึกขวัญของการวิ่งหนีซอมบี้ในโรงเรียนนั้น ซีรีส์ All of Us Are Dead กำลังบอกอะไรกับเรา การทำความเข้าใจตัวตนและความหมายที่ซ่อนอยู่ของซอมบี้ จะทำให้เราสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายที่ว่านี้ ก่อนที่จะมันลุกลามกัดกินพวกเรา และนำพาสังคมไปถึงจุดที่เราทุกคนล้วนตายกันหมดดังชื่อเรื่อง

ซอมบี้

ซอมบี้ คือสายพันธุ์ของสิ่งที่ตายแล้วแต่กลับยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งอาจเกิดจากฝีมือของมนุษย์ โดยอาศัยวิธีทางไสยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกิดจากการผสมปนเปของสิ่งมีชีวิตข้ามสายพันธุ์ แม้ว่าซอมบี้จะปรากฏให้เห็นในหลายลักษณะ แต่โดยส่วนมากแล้ว เราจะพบว่าซอมบี้นั้นแม้มีตัวตน แต่ก็ปราศจากซึ่งจิตใจ ไร้ซึ่งความรู้สึก ไม่มีความทรงจำ และไม่ต้องการสื่อสารกับใคร ตัวตนของมันตัดขาดจากอัตลักษณ์หรือสายสัมพันธ์ที่มีมาก่อนหน้า ชีวิตของมันถูกผลักดันด้วยสัญชาตญาณดิบ พวกมันไร้เจตจำนง เร่ร่อนไปอย่างไร้ทิศทางท่ามกลางฝูงชนที่ไม่แยแสต่อกัน พวกมันพร้อมที่จะกัดกินมนุษย์คนอื่นที่มีชีวิตจิตใจ และที่สำคัญ พวกมันขยายจำนวนแพร่พันธุ์ในสังคมได้อย่างรวดเร็ว และยากที่จะกำจัดให้หมดสิ้นไปได้  

เราดำรงอยู่ท่ามกลางซอมบี้มากมายในสภาพความเป็นจริงของสังคม มีคนรอบตัวเราที่ใช้ชีวิตอย่างไร้จิตวิญญาณ บางคนปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยแรงผลักดันที่ปราศจากความยั้งคิด บางคนถูกตัดขาดละเลยจากสังคม บางคนใช้ชีวิตอย่างโหยหาอะไรบางอย่างอยู่ตลอดเวลา บางคนดำเนินชีวิตอย่างไร้จุดหมาย และบางคนพร้อมทำร้ายคนที่เข้ามาใกล้ ผู้คนเหล่านี้เพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วในสังคมสมัยใหม่ ไม่ต่างจากการซอมบี้และลักษณะการเป็นพาหะเชื้อร้าย (contagious) ของมัน

ซอมบี้เป็นอุปลักษณ์ของ ความตายที่ยังมีชีวิต (living dead) ในสังคมที่ผู้คนกระทำต่อกันเหมือนไม่มีชีวิต ในสังคมที่ผู้คนดำรงชีวิตอยู่อย่างตายทั้งเป็น และรวมถึงการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของความสัมพันธ์ที่เป็นพิษและความรุนแรงในสังคม

ในวงการซอมบี้ศึกษา (Zombie Studies) ซอมบี้เป็นสัญลักษณ์ของความเน่าเฟะ ความเป็นอื่น ความไร้ระเบียบ และการตอบโต้อย่างเกรี้ยวกราดรุนแรง ซึ่งถูกบ่มเพาะหรือเป็นผลมาจากโครงสร้างและความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคม งานจำนวนไม่น้อยเชื่อมโยงซอมบี้กับปะวัติศาสตร์การค้าทาส ผลจากสงคราม การขูดรีดในระบบทุนนิยม ชีวิตที่เปลือยเปล่าของผู้ลี้ภัย ผู้ตกเป็นเหยื่อของการเหยียดเชื้อชาติ สีผิว และเพศสภาพ ไปจนถึงผลจากความรุนแรงที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติ[1]  ในซีรีส์ All of Us Are Dead ซอมบี้เป็นผลผลิตของความรุนแรง ระบบคุณค่า และความสัมพันธ์เชิงลบ ตลอดจนการเพิกเฉยต่อความผิดปกติในสถานศึกษา

อีบยองชาน ครูวิทยาศาสตร์แห่งโรงเรียนมัธยมฮโยซาน ทำการทดลองโดยการสกัดฮอร์โมนจากสัตว์มาฉีดให้กับลูกชายของตนเองซึ่งมักถูกรังแกโดยรุ่นพี่และเพื่อนในโรงเรียน  ทั้งนี้ ด้วยความหวังว่าฮอร์โมนดังกล่าวจะกระตุ้นให้ลูกชายของเขาเกิดความเกรี้ยวกราด สามารถตอบโต้คนอื่นที่มาทำร้าย และล้มเลิกความคิดที่จะฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา การทดลองข้ามสายพันธุ์ที่ว่านี้ได้ก่อให้เกิดเชื้อไวรัสร้ายที่เปลี่ยนแปลงให้มนุษย์กลายมาเป็นสัตว์ประหลาด ชัดเจนว่า ซอมบี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ หากแต่เป็นสิ่งสร้างทางสังคม (social construct) ซึ่งผลมาจากความอยุติธรรมเชิงสถาบัน การเพิกเฉยทางสังคม และการใช้อำนาจความรุนแรงข่มเหงรังแกคนอื่นที่เกิดขึ้นรอบตัวเรานี่เอง

โรงเรียนกับความรุนแรง

ต้นตอของการเกิดขึ้นของซอมบี้ใน All of Us Are Dead ก็คือความพยายามในการตอบโต้ต่อการถูกรังแก การถูกเพิกเฉย และการไม่ได้รับความยุติธรรมจากการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนถือเป็นหนึ่งในปัญหาหลักในสังคมเกาหลี รวมถึงในประเทศอื่นๆ มาอย่างยาวนาน 

ข้อมูลจากการสำรวจในกว่า 50 ประเทศชี้ว่าประมาณ 43% ของนักเรียนชั้นประถมศึกษามีประสบการณ์เคยถูกรังแกอย่างน้อยหนึ่งครั้ง และมี 14% ของนักเรียนต้องเผชิญกับการถูกรังแกทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจเฉพาะในกลุ่มประเทศภายใต้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ชี้ให้เห็นว่าประมาณ 23% ของนักเรียนรายงานว่าพวกเขาตกเป็นเหยื่อของการถูกรังแกอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือน และประมาณ 8% ของนักเรียนรายงานว่าพวกเขาถูกกลั่นแกล้งรังแกบ่อยครั้งกว่านั้น  

ในเกาหลีใต้เอง ข้อมูลจากการสำรวจออนไลน์ระดับประเทศของกระทรวงศึกษาธิการแสดงให้เห็นว่า นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษามีอัตราของการถูกรังแกมากกว่านักเรียนในระดับมัธยมศึกษาถึงสามเท่า นั่นแสดงว่าความรุนแรงในโรงเรียนนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงวัยเด็ก ในบรรดาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนทั้งหมด การกลั้นแกล้ง (bullying) การล่วงละเมิดทางวาจา (verbal abuse) และการกีดกันทางสังคม (social exclusion) เป็นรูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุด

ในเมืองใหญ่อย่างกรุงโซล นักเรียนมากกว่า 40% รายงานว่าเคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอย่างน้อยหนึ่งครั้งในรอบหนึ่งปี โดยที่การกลั่นแกล้ง การทำร้ายร่างกาย (physical attack) และการล่วงละเมิด (harassment) เป็นความรุนแรงที่พบได้บ่อยที่สุด ความรุนแรงในโรงเรียนเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ซึ่งไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่เกี่ยวพันอย่างมากกับผู้ก่อความรุนแรงด้วย จากการสำรวจพบว่า มากกว่า 30% ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาในห้าเมืองใหญ่ของเกาหลียอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ในโรงเรียน ที่สำคัญก็คือว่า ความรุนแรงดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในรั้วโรงเรียนเท่านั้น ในสังคมที่เด็กและเยาวชนมีชีวิตอีกด้านหนึ่งอยู่บนโลกออนไลน์ การกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต (cyberbullying) จากเพื่อนและรุ่นพี่ในโรงเรียนได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา[2]  

ความรุนแรงในโรงเรียนมักจะเกิดขึ้นในหลายลักษณะพร้อมกัน

ความรุนแรงในโรงเรียนเกิดขึ้นในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางกายภาพ เช่น การทำร้ายร่างกาย การรีดไถเงิน การทำลายหรือยึดข้าวของเครื่องใช้ และรวมถึงการทำโทษนักเรียนทางร่างกายด้วย ความรุนแรงทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้วาจาว่ากล่าว ดูถูก เสียดสี และรวมถึงการข่มขู่ให้หวาดกลัว ความรุนแรงทางเพศซึ่งคร่อมข้ามทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ การข่มขืน การอนาจาร และความรุนแรงทางสังคม เช่น การกลั่นแกล้ง การประจาน การกีดกันแบ่งแยกออกจากกลุ่ม และการทำให้อับอาย

ใน All of Us Are Dead เราได้เห็นรูปแบบความรุนแรงในโรงเรียนข้างต้นในหลายลักษณะ ชอลซูตกเป็นเหยื่อของการทำร้ายร่างกายจากกลุ่มอันธพาล และถูกบังคับให้มีส่วนในการกลั่นแกล้งประจานอึนจีทางอินเทอร์เน็ต อึนจีถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกกลั่นแกล้งทางไซเบอร์จนทำให้เธอคิดจะกระโดดตึกฆ่าตัวตาย ควีนัมนักเลงผู้กลายมาเป็นซอมบี้กลายพันธุ์ มักถูกรุ่นพี่หัวโจกข่มขู่และใช้กำลังบังคับ ซูฮยอกเองก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอันธพาลที่ชอบใช้ความรุนแรงมาก่อน หัวหน้าห้องนัมราถูกทำให้รู้สึกแปลกแยกและปลีกตัวออกห่างจากเพื่อนคนอื่น ๆ เพียงเพราะเธอเรียนเก่งที่สุดของห้อง กยองซูถูกประจานและดูถูกเพราะฐานะทางเศรษฐกิจของเขา และนายอน แม้เกิดในครอบครัวที่ฐานะดี แต่ก็มีสภาพจิตใจที่อ่อนแอและพร้อมทำร้ายคนอื่น เพราะเธอไม่เคยได้รับการเหลียวแลสนใจจากใครเลย นี่ยังไม่รวมความรุนแรงทางเพศซึ่งส่งผลต่อการตั้งครรภ์ในวัยเรียน  

ความรุนแรงในโรงเรียนเป็นภาพสะท้อนโครงสร้างและค่านิยมของสังคมที่ใหญ่ออกไป

ความรุนแรงในโรงเรียนไม่ได้เป็นเรื่องเชิงบุคคลระหว่างผู้ก่อความรุนแรงและเหยื่อเท่านั้น หากแต่เชื่อมโยงกับบรรทัดฐานความสัมพันธ์ และรูปแบบการบริหารจัดการในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้อำนาจของครูและผู้บริหาร การจัดลำดับชั้นของนักเรียนตามความสามารถ และรูปแบบการลงโทษด้วย นอกจากนี้ งานการศึกษาเรื่องความรุนแรงในโรงเรียนจำนวนไม่น้อยชี้ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนเป็นภาพสะท้อนค่านิยมของสังคมที่กว้างออกไป ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับผู้อาวุโส การเหยียดเพศ การยกย่องคนที่มีฐานะ หน้าตา และสติปัญญา การแข่งขันเพื่อเอาชนะ การให้ความสำคัญกับเส้นสายและพรรคพวก ตลอดจนการเพิกเฉยทางสังคมต่อความความทุกข์ทนของคนอื่น[3]

บูลลี่ : พื้นที่คร่อมข้ามระหว่างผู้กระทำกับเหยื่อ

หนึ่งในรูปแบบความรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือการกลั่นแกล้ง หรือ การบูลลี่ (bullying) มีการให้นิยามการบูลลี่ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วการบูลลี่มักหมายถึง พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความรุนแรงซึ่งกระทำต่อผู้อื่นอันเป็นผลมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม บางคนมองว่าการบูลลี่ต้องเป็นพฤติกรรมที่กระทำต่อผู้อื่นซ้ำๆ หรือกระทำโดยกลุ่มคน แทนที่จะเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากบุคคลเพียงคนเดียว แต่กระนั้นประเด็นข้อแตกต่างปลีกย่อยเชิงนิยามเหล่านี้ ก็ไม่ได้ลบล้างความจริงที่ว่าการบูลลี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในโรงเรียน ส่งผลต่อผลถูกกระทำในหลายมิติ และความบอบช้ำที่เกิดขึ้นนั้นดำรงอยู่อย่างยาวนานแม้ว่าผู้ถูกกระทำนั้นจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม

จากการศึกษาอาการที่เกิดจากความผิดปกติทางจิตและความพยายามฆ่าตัวตาย ของคนวัยหนุ่มสาวซึ่งเคยตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่ในช่วงวัยเรียน พบว่า บุคคลที่มีประวัติของการถูกบูลลี่มีแนวโน้มที่จะถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะซึมเศร้า (depression) และวิกลจริต (psychosis) มากกว่าบุคคลทั่วไป ประสบการณ์ของการถูกบูลลี่มักเชื่อมโยงกับอาการของโรคซึมเศร้า เช่น ความสามารถในการจัดการกับอารมณ์และความสัมพันธ์ทางสังคมที่ลดลง ความยากลำบากในการผูกมิตรกับคนอื่น และความรู้สึกโดดเดี่ยวที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ การศึกษาชี้ว่าคนที่เคยถูกปฏิเสธจากกลุ่มเพื่อนหรือถูกกกีดกันทางสังคมมาก่อน มักจะมีทัศนคติเชิงลบต่อสิ่งต่างๆ มีความหวาดระแวงต่อการถูกกลั่นแกล้ง และรู้สึกไม่มั่นคงต่อสถานภาพทางสังคมของตนเอง ที่สำคัญก็คือ แม้ว่าจะผ่านการช่วงเวลาของใช้ชีวิตในโรงเรียนมานานแล้ว แต่คนหนุ่มสาวที่เคยมีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนเหล่านี้ ก็มักมีแนวโน้มต่อการมีความคิดและความพยายามในการฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไปเมื่อพวกเขาเติบโตมีอายุมากขึ้น ความบอบช้ำทางจิตใจที่เกิดขึ้นในวัยเรียนนี้ทำให้พวกเขามีชีวิตไม่ต่างจากซอมบี้ ที่ซึ่งตัวตนวางทาบอยู่บนความคาบเกี่ยวระหว่างการมีชีวิต การไร้ชีวิต และการมีชีวิตอยู่อย่างตายทั้งเป็น[4]  

เมื่อมองซอมบี้ในฐานะอุปลักษณ์ของความรุนแรง เราจะพบว่าซอมบี้มีตัวตนอยู่ในสถานะที่นักมานุษยวิทยา วิกเตอร์ เทอร์เนอร์ (Victor Turner) เรียกว่า ‘สภาวะคร่อมข้าม’ (liminality)[5] ความน่าหวาดกลัวของมันวางอยู่บนสภาวะไร้ซึ่งสถานะตัวตนที่ชัดเจน มันเป็นสิ่งที่ตายแล้วแต่ยังกลับมีชีวิต มันเคยเป็นเพื่อน เป็นญาติ หรือเป็นคนที่เรารู้จัก แต่กลับกลายเป็นคนแปลกหน้าในเวลาอันสั้น มันมักปรากฏตัวในเวลาและรูปแบบที่เราไม่คาดฝัน มันวิ่งพล่านไร้ระบบระเบียบ และยากต่อการจัดประเภท นอกจากนี้ ซอมบี้ยังต่างจากปิศาจในแง่ที่มันไม่ได้มีตัวตนเพียงตัวเดียว หากแต่สามารถแพร่กระจายและขยายประชากรมากมายได้ง่ายในสังคม ซอมบี้จึงเป็นภาพตัวแทนอย่างดีของความเป็นอื่น (otherness) ที่คร่อมข้าม และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วในสังคมนั่นเอง 

ความรุนแรงในโรงเรียนมีลักษณะไม่ต่างจากสภาวะคร่อมข้ามของซอมบี้ ที่ซึ่งความเป็น ‘เหยื่อ’ (victim) และ ‘การเป็นผู้กระทำ’ (perpetrator) ความรุนแรงนั้นไม่มีเส้นแบ่งที่ตายตัว ความสัมพันธ์ที่ไม่แยกขาวออกจากดำอย่างชัดเจนนี้ ถูกฉายให้เห็นใน All of Us Are Dead อย่างชัดเจน ตัวละครในเรื่องช่วยให้เราเข้าใจความซับซ้อนและลักษณะคร่อมข้ามของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนเป็นอย่างดี

ควีนัม ผู้ร้ายหรือเหยื่อ?

ยุนควีนัม ซอมบี้ตัวร้ายและตายยาก เป็นนักเลงหัวโจก เขากับเพื่อนร่วมกันใช้กำลังข่มขู่และบังคับให้อึนจีเปลื้องผ้า ถ่ายวิดีโอและนำไปเผยแพร่ประจานในอินเทอร์เน็ต ควีนัมยังเป็นผู้ลงมือฆ่าครูใหญ่ของโรงเรียนอย่างอำมหิต เขาเป็นตัวร้ายในสายตาของใครหลายคน ไม่ต่างจากซอลชู เด็กนักเรียนชายที่หนีเอาตัวรอดขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปคนเดียว ทิ้งให้เพื่อนคนอื่นๆ ต้องตกอยู่ในอันตรายจากหลบหนีฝูงซอมบี้อย่างเอาเป็นเอาตาย หรือไม่ต่างจากนายอน เด็กสาวที่นอกจากจะชอบใช้คำพูดดูถูกเหยียดหยามคนอื่นอยู่เสมอแล้ว เธอยังทำในสิ่งที่เลวร้ายที่สุด นั่นคือการเอาผ้าที่เปื้อนเลือดซอมบี้ไปเช็ดแผลของกยองซู ซึ่งทำให้เขาต้องกลายมาเป็นซอมบี้อย่างน่าเวทนา

สำหรับใครหลายคน ควีนัม ซอลชู และนายอน คือตัวร้าย ซึ่งสามารถการกระทำความรุนแรงต่อคนอื่นๆ ได้อย่างไร้ความเป็นมนุษย์  อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาให้ดี เราจะพบว่าพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มีชีวิตเพียงด้านเดียวในแง่ของการเป็นผู้ก่อความรุนแรงต่อคนอื่นเท่านั้น ทว่า พวกเขาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ มาก่อนทั้งสิ้น ควีนัมถูกรุ่นพี่กดหัวและใช้กำลังบีบบังคับให้เขาเป็นลูกสมุนมาอย่างยาวนาน ซอลชูเป็นนักเรียนที่อ่อนแอที่มักถูกกลั่นแกล้งอยู่เสมอ นอกจากนี้เขายังถูกบังคับให้มีส่วนในการไซเบอร์บูลลี่อึนจีเพื่อนสาวที่เขาหลงรัก ส่วนนายอน เธอถูกละเลยจากครูและเพื่อนที่โรงเรียน และต้องแบกรับแรงกดดันจากครอบครัวที่มองหาความเป็นเลิศทางการเรียนจากเธอ

เมื่อพิจารณาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เราจะพบว่าเส้นแบ่งระหว่างผู้กระทำกับเหยื่อมักถูกคร่อมข้ามอยู่เสมอ จากการศึกษาการบูลลี่ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนในเกาหลีใต้รวมทั้งในที่อื่น ๆ ผ่านแนวคิดทางอาชญาวิทยาว่าด้วยความกดดันทั่วไป (General Strain Theory)[6] พบว่า เยาวชนที่มีความกดดันอันเกิดจากประสบการณ์ของการตกเป็นเหยื่อจากความรุนแรง หรือมีแรงกดดันจากความขัดแย้งในครอบครัวมาก่อน มักมีแนวโน้มที่จะเข้าไปมีส่วนในพฤติกรรมบูลลี่ โดยเฉพาะในเวลาที่พวกเขาสามารถควบคุมตัวเองได้น้อยหรือมีโอกาสไปข้องแวะกับกลุ่มเพื่อนที่มักก่อเรื่องอยู่เสมอ นักเรียนที่ถูกเพื่อนบูลลี่มาก่อน มักแสดงพฤติกรรมบูลลี่คนอื่น ทั้งเพื่อปกป้องตนเองและเพื่อปลดปล่อยความกดดันที่สะสมมาจากการเป็นผู้ถูกกระทำนั่นเอง[7]  

เช่นนั้นแล้ว วงจรการระบาดของความรุนแรง ก็คือ คนที่ตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่ มักจะกลายเป็นคนที่บูลลี่ หรือก่อความรุนแรงต่อผู้อื่นในเวลาต่อมา ความรุนแรงถูกถ่ายทอดและแพร่กระจายเหมือนกับไวรัสร้ายที่ขยายพันธุ์โดยซอมบี้ และความรุนแรงในตัวมันเองก็เหมือนซอมบี้ครึ่งผีครึ่งคน ในแง่ที่ว่ามันดำรงอยู่อย่างคร่อมข้ามระหว่างเหยื่อกับผู้กระทำนั่นเอง

ความตายที่ยังหายใจ

จากที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ความรุนแรงในโรงเรียนไม่ได้เป็นเรื่องเชิงบุคคลระหว่างผู้ก่อความรุนแรงและเหยื่อเท่านั้น หากแต่เชื่อมโยงกับบรรทัดฐาน ความสัมพันธ์ และมาตรการต่างๆ ในสถาบันการศึกษาด้วย จากการสำรวจการรับมือของครูในโรงเรียนต่อปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนพบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่มีรูปแบบการรับมือกับการบูลลี่และความรุนแรงต่างๆ อย่างเป็นระบบ ส่วนหนึ่งของปัญหาดังกล่าวก็คือ ทัศนคติของครูและผู้บริหารโรงเรียนส่วนใหญ่ที่ว่าการกลั่นแกล้งในโรงเรียนนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของเด็ก ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตอะไรนัก

นอกจากนี้ โรงเรียนจำนวนมากมักปกปิดหรือเก็บงำกรณีที่เกิดขึ้นไว้ในโรงเรียนโดยไม่พยายามเข้าไปแก้ไขด้วยเพราะกลัวเสียชื่อเสียง หรือไม่ก็ผลักภาระให้เป็นเรื่องของผู้ปกครอง ในหลายกรณี นักเรียนที่เป็นผู้ก่อเหตุหรือตกเป็นเหยื่อได้รับการแก้ไขโดยการให้ย้ายที่เรียน แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหามากนัก ด้วยเหตุว่า การย้ายที่เรียนมักทำให้เกิดการตัดขาดจากเพื่อนกลุ่มเดิม ส่งผลให้ปรับตัวได้ยากและถูกตัดขาดจากสังคม และที่สำคัญ การกลั่นแกล้งในปัจจุบันมักเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์ ที่ทำให้ผู้กลั่นแกล้งยังคงสามารถก่อกวนเหยื่อได้ แม้ว่าจะไม่ได้พบหน้ากันในโรงเรียนก็ตาม[8]

การสูญเสียคนรุ่นใหม่ เท่ากับการสูญเสียความหวัง

เป็นที่ทราบกันดีว่าระบบการศึกษาในเกาหลีนั้นเป็นระบบที่มีการแข่งขันกันสูง นักเรียนและผู้ปกครองโดยเฉพาะในระดับชั้นมัธยมต่างหมกมุ่นกับการเรียนเพื่อสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยความหวังว่าการศึกษาจะช่วยเสริมสร้างชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้น มีสถานภาพได้รับการยอมรับ ได้มีคู่ครองที่ดี และมีอาชีพการงานที่มั่นคง ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ระบบการศึกษาที่บ้าคลั่งนี้ ได้ทำลายชีวิตและก่อให้เกิดความตึงเครียดและความรุนแรงที่แสดงออกมาทั้งในครอบครัวและในโรงเรียนอย่างมากมาย ความรุนแรงที่ว่านี้หากไม่ทำให้คนเหล่านี้ดำรงชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น หลายครั้งมันก็นำไปสู่การปลิดชีวิตของคนหนุ่มสาวก่อนวัยอันควร

จากการสำรวจในปี 2012 พบว่ามีจำนวนวัยรุ่นที่ถูกสำรวจมากกว่า 10% บอกว่าเคยมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย การสำรวจที่ดำเนินการในปีถัดมาพบว่าร้อยละของวัยรุ่นที่มีความคิดฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเป็น 37% และในปี 2014 เพิ่มมากขึ้นเป็น 50% โดยเกือบหนึ่งในสามกล่าวว่าพวกเขารู้สึกหดหู่เป็นอย่างมาก และประมาณ 40% ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่บอกว่ามีความคิดฆ่าตัวตายนั้น ระบุว่ามีสาเหตุจากความเครียดเพราะได้คะแนนไม่ดี

การศึกษาที่บ้าคลั่งไม่ต่างจากซอมบี้

ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา รัฐบาลเกาหลีให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น ในปี 2001 รัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี คิมแดจุง มีนโยบายทำสงครามกับความรุนแรงในโรงเรียน มีการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงให้ดูแลแผนกสืบสวนความรุนแรงในโรงเรียน

ในปี 2003 กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งมาตรการป้องกันเชิงกฎหมายว่าด้วยความรุนแรงในโรงเรียน ส่งผลให้โรงเรียนต่างๆ ต้องดำเนินโครงการให้การศึกษาเชิงป้องปรามแก่ครูและนักเรียนเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้โรงเรียนสร้างคณะกรรมการมาตรการความรุนแรงในโรงเรียน และจัดให้มีบริการให้คำปรึกษาและที่ปรึกษามืออาชีพมากขึ้น ในปี 2004 มีการออกกฎหมายว่าด้วยความรุนแรงในโรงเรียน ตามมาด้วยการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษภายใต้รัฐบาลของโนมูฮย็อน เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนอย่างจริงจัง

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ได้กำหนดให้การแก้ปัญหาความรุนแรงและการบูลลี่ในโรงเรียนเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของชาติ ในสมัยประธานาธิบดี พัคกึนฮเย ในช่วงปี 2013 การลดความรุนแรงในโรงเรียนถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสี่นโยบายหลักด้านยุติธรรมทางอาญา โดยให้ความสำคัญกับปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนในระดับเดียวกับความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหาร

อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวของรัฐบาลยังไม่ประสบความสำเร็จนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าการแก้ไขปัญหาความรุนแรงนั้นเป็นปัญหาที่มีรากหยั่งลึกอยู่ในระบบความสัมพันธ์และระบบคุณค่าในสังคม จำเป็นที่จะต้องอาศัยความเข้าใจ การปรับเปลี่ยน และความร่วมมือทั้งจากในโรงเรียนเอง จากการทำงานของหน่วยงานรัฐที่จริงจังกว่านี้ และความร่วมมือจากสถาบันทางสังคมอื่นๆ ในสังคมไปพร้อมกัน

โรงเรียนไม่เป็นเพียงแค่ภาพสะท้อน หากแต่ยังเป็นอนาคตของสังคมด้วย

บทสรุปของสงครามกับซอมบี้

นอกจากความระทึกขวัญและความบันเทิงแล้ว ซีรีส์ All of Us Are Dead ได้ชวนให้เรากลับมาพิจารณาการทำสงครามเพื่อเอาชนะซอมบี้ในฐานะที่เป็นภาพแทนของการแพร่ระบาดของความรุนแรงในโรงเรียน ในสงครามที่ว่านี้ มีปมปัญหาหลายอย่างที่ซีรีส์เรื่องนี้ได้ทิ้งไว้ให้เราได้คิดต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่เยาวชนคนรุ่นใหม่มักถูกทอดทิ้งจากรัฐ ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เชื่อมโยงความเหลื่อมล้ำกับปัญหาสังคม ตลอดจนการสร้างพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับคนรุ่นใหม่จะเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันด้วยความไว้วางใจ เข้าใจความแตกต่าง และเอื้ออาทรต่อกัน สงครามที่ว่านี้ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งจะสามารถต่อสู้ได้เพียงลำพัง ยิ่งเราตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนที่ว่านี้ได้เร็วมากเท่าไร เราก็จะสามารถหยุดการระบาดแพร่พันธุ์ของซอมบี้ในโรงเรียนและในสังคมได้รวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น

เราต้องไม่ลืมว่า ซอมบี้มัธยมไม่ได้เป็นสิ่งที่มีมาอยู่แล้วตั้งแต่ต้น หากแต่เป็นผลมาจากการละเลยเพิกเฉยต่อความรุนแรงและความอยุติธรรรมที่เกิดขึ้นต่อหน้าของเราทุกคนนี่เอง


[1] Lauro, Sarah Juliet (ed.). 2017. Zombie Theory: A Reader. Minneapolis and London: University of Minnesota Press.

[2] Han, Seunghee. 2021. School Violence in South Korea: International Comparative Analysis. Singapore: Springer.

[3] Kwon, Soonjung. 2015. Violence in South Korean Schools and the Relevance of Peace Education. PhD Dissertation, University of Birmingham. 

[4] Bang, Young Rong and Park, Jae Hong. 2017. “Psychiatric Disorders and Suicide Attempts among Adolescents Victimized by School Bullying” Australasian Psychiatry 25(4): 376-380.

[5] Turner, Victor. 1995. The Ritual Process: Structure and Anti-Structure. New York: Aldine de Gruyter.

[6] Agnew, Robert. 1992. “Foundation for a General Strain Theory of Crime and Delinquency” Criminology, 30: 47-88.

[7] Moon, Byongook, Merry Morash, and John D. McCluskey. 2012. “General Strain Theory and School Bullying: An Empirical Test in South Korea” Crime & Delinquency, 58(6): 827–855.

[8] Yoon, Jina, Sheri Bauman, Taesan Choi, and Alisa S. Hutchinson. 2011. “How South Korean Teachers Handle an Incident of School Bullying.” School Psychology International, 32(3): 312–29.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save