fbpx
อัลกอริทึมของความแปรปรวนในความรุนแรง 15 ปี ชายแดนใต้/ปาตานี

อัลกอริทึมของความแปรปรวนในความรุนแรง 15 ปี ชายแดนใต้/ปาตานี

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

รายงานจากฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch Database) ล่าสุด เหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงเดือนมิถุนายน 2562 มีจำนวนเหตุการณ์ 20,323 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 6,997 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 13,143 ราย  หากดูเฉพาะสถิติในปี 2562 (มกราคม– มิถุนายน) มีจำนวนเหตุการณ์ 222 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 92 รายและผู้ได้รับบาดเจ็บ 153 ราย

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนลักษณะพิเศษของความขัดแย้งในพื้นที่แห่งนี้ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ แม้ว่าทิศทางของการก่อเหตุความรุนแรงจะมีแนวโน้มลดต่ำลงในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา แต่ลักษณะทั่วไปของเหตุการณ์เป็นความรุนแรงที่มีความยืดเยื้อเรื้อรัง และลักษณะเหตุการณ์ยังมีระดับความรุนแรง ความแปรปรวน-ขึ้นสูงๆ ต่ำๆ สลับกันตลอดเวลา ตามจังหวะของแต่ละห้วงเหตุการณ์ คลื่นที่ขึ้นสูงต่ำแบบนี้ดูเหมือนจะมียอดสูงสุดในสองช่วง คือในปี 2550 (2,396 เหตุการณ์) และในปี 2555 (1,850 เหตุการณ์)

ถ้าเหตุการณ์เป็นแบบแผนซ้ำๆ แบบนี้ ทิศทางที่เป็นไปได้อาจมีสองแนวทาง หากจะพิจารณาจากอิทธิพลของปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ก็คือ แนวทางแรก ความรุนแรงอาจจะลดต่ำลงไปเรื่อยๆ ในรอบ 5 ปี ข้างหน้า ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นความสำเร็จในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของรัฐบาล ส่วนแนวทางที่สองนั้น ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงและยึดเยื้อเรื้อรังเช่นนี้ เรื่องมันก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่วงรอบใหม่ของความรุนแรงอาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ถ้าสังเกตดูให้ดีเราจะเห็นว่า 15 ปีที่ผ่านมา วงจรคลื่นของความรุนแรงมีลักษณะแบบแผนที่ขึ้นลงแบบเป็นช่วงของฤดูกาล (Seasonality) ในทุกๆ ห้วง 4 หรือ 5 ปี ซึ่งความรุนแรงจะขึ้นสูงสุดในรอบ ปี จากนั้นก็ต่ำลงและสูงขึ้นอีกเป็นช่วงๆ เหมือนกับวงจรอุบาทว์ ปรากฏการณ์ซ้ำๆ ดังกล่าวดูเหมือนเป็นอัลกอริทึม (Algorithm) อันเป็นแบบแผนอะไรบางอย่างซึ่งสังเกตเห็นได้ชัด อะไรจะเกิดขึ้นถ้าความแปรปรวนเช่นนี้มีความถี่ซ้ำมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้จากตัวแปรหลายอย่างในเรื่องนโยบายการแก้ปัญหาอย่างสันติที่ยังมีความไม่แน่นอน

 

 

 

แม้ว่าในรอบ 15 ปีที่ผ่านมาจะมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้เกือบ 7,000 คน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตรายปีนับตั้งแต่ปี 2556 มีแนวโน้มลดลงจาก 521 คนในปี 2556 มาเป็นจำนวน 309 คนในปี 2559 และ 218 คนในปี 2561 จำนวนที่สูงขึ้นของผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบแม้จะแปรผันไปตามจำนวนครั้งของเหตุการณ์ที่สูงต่ำเป็นบางช่วง แต่จำนวนผู้เสียชีวิตกลับลดลงเป็นลำดับ การลดลงของจำนวนผู้เสียชีวิตรายปีสอดรับกับระดับความถี่ของเหตุการณ์รายปีที่ลดลงตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน

เมื่อดูคลื่นสูงของเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้ง 15 ปี น่าสังเกตว่ามีเหตุการณ์สองช่วงที่สูงและต่ำลงอย่างเด่นชัด แต่ภูมิหลังของการลดลงของเหตุการณ์นั้นต่างกัน ในครั้งแรก การลดลงของเหตุการณ์ในปี 2551 นั้นอาจเป็นผลจากปฏิบัติการทางทหารที่เข้มข้นขึ้นตามนโยบายรัฐในช่วงนั้นในเรื่องการเพิ่มกำลังทหารมาในพื้นที่ การบังคับใช้กฎหมายพิเศษและเพิ่มการใช้จ่ายด้านความมั่นคง แต่ก็ควรเข้าใจด้วยว่าการลดลงของเหตุการณ์ในห้วงที่สอง ในปี 2556 นั้น จุดเปลี่ยนที่สำคัญน่าจะเกิดจากปฏิบัติการที่เรียกว่ากระบวนการสันติภาพที่เริ่มในปีดังกล่าว อันเป็นผลจากการปรับตัวของทุกฝ่ายในสนามความขัดแย้ง ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างเป็นระบบ นี่คือความแตกต่างของ “การลดลง” ของเหตุการณ์ในสองช่วงดังกล่าว

แต่ปัจจัยในเรื่องความต่อเนื่องของแนวทางสันติภาพในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในระยะหลัง โดยเฉพาะนับแต่ปี 2560 หลังจากการพูดคุยกันระหว่างมาราปาตานีกับตัวแทนรัฐบาลประยุทธ์ นับแต่ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ซึ่งนับได้ประมาณ 20 กว่าครั้ง การพูดคุยสันติสุขระยะหลังก็ยังมีความไม่แน่นอนแฝงอยู่มาก การพูดคุยไม่มีความก้าวหน้าในปีที่ผ่านมาและหยุดชะงักลงตั้งแต่เดือนกุมพาพันธ์ 2562 นี่คือที่มาของคำถามที่ว่าวงจรความรุนแรงอาจจะกลับมาได้อีกหรือไม่ในอนาคต ?

 

 

เมื่อดูในรายละเอียด จากการแยกประเภทของเหตุการณ์ทั้งหมดในรอบ 15 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2547-2561 เหตุการณ์ความรุนแรงส่วนใหญ่คือการยิง (ร้อยละ 40.85) การโจมตีด้วยระเบิด (ร้อยละ 20.33) นอกจากนี้ยังมีการบังคับใช้กฎหมายด้วยการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น (ร้อยละ 9.04) และการวางเพลิง (ร้อยละ 8.39)

เหตุการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงมีผลต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมากมาย ข้อสังเกตก็คือการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เกิดจากการก่อเหตุโดยการยิง (ร้อยละ 81) มีผู้เสียชีวิตจากการก่อเหตุระเบิดด้วย แต่เมื่อเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตจากการระเบิดกับผู้เสียชีวิตทั้งหมดในรอบ 15 ปีระหว่างปี 2547-2562 มีจำนวนประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น รองลงมาคือผู้เสียชีวิตจากการโจมตีด้วยอาวุธ (ร้อยละ 2) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าส่วนใหญ่ความรุนแรงมักจะเป็นการก่อเหตุโดยการกระทำฝ่ายเดียว (One-sided Attacks) ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของการก่อความไม่สงบ (Insurgency) อันเป็นความขัดแย้งที่มีลักษณะอสมมาตร (Asymmetric Conflict) ส่วนผู้บาดเจ็บนั้นส่วนใหญ่เป็นผลจากเหตุการณ์ระเบิด (ร้อยละ 56) รองลงมาคือบาดเจ็บจากการยิง (ร้อยละ 36) และการโจมตี (ร้อยละ 4)

ทั้งหมดนี้เห็นได้ชัดว่าการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบส่วนมาก เกิดจากการยิงสังหารโดยมีเป้าหมายปฏิบัติการที่ชัดเจนในทางอุดมการณ์การเมือง/เป้าหมาย ไม่ใช่การก่อเหตุโดยสุ่มๆ อย่างไร้เป้าหมายหรือเป็นแบบอาชญากรรมทั่วไป

 

 

 

ที่น่าเสียใจสำหรับความรุนแรงดังกล่าวก็คือ ส่วนใหญ่ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา คือพลเรือนหรือประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ถืออาวุธซึ่งรวมทั้งผู้หญิงและเด็ก ดังจะเห็นได้จากสถิติที่ร้อยละ 61 ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นเป้าหมายที่อ่อนแอหรือพลเรือน (Soft Targets) ส่วนทหาร ตำรวจ และกองกำลังติดอาวุธซึ่งเป็นเป้าหมายที่เข้มแข็ง (Hard Targets) ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตมีประมาณร้อยละ 38 โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าดูเฉพาะผู้กลุ่มที่เสียชีวิตอย่างเดียว พลเรือนก็มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 71 ส่วนเป้าหมายที่มีความเข้มแข็งหรือทหาร ตำรวจและกองกำลังติดอาวุธเสียชีวิตร้อยละ 28

 

 

 

คำถามที่น่าคิดก็คือว่า ใครเป็นคนก่อความรุนแรง หรือสาเหตุของความรุนแรงมาจากอะไรกันแน่?

ฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้บันทึกสาเหตุของการเกิดเหตุการณ์แต่ละครั้งตามรายงานร่วมกันของทหาร/ตำรวจ/ฝ่ายปกครอง โดยชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2547-2562 (ข้อมูลถึงเดือนมิถุนายน) เหตุการณ์โดยรวมเกิดจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบหรือปฏิบัติการของขบวนการฯ ร้อยละ 71 รองลงมาคือเหตุการณ์ที่แหล่งข้อมูลทั้งจากทหาร/ตำรวจและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องระบุว่าไม่ชัดเจน หรือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรนับเป็นร้อยละ 20 เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากอาชญากรรมเป็นร้อยละ 5 และเหตุการณ์ที่ระบุว่าเกิดจากประเด็นยาเสพติดคิดเป็นร้อยละ 3 นอกจากนั้นเป็นเรื่องอื่น

แต่เมื่อดูข้อมูลเฉพาะปี 2561 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบหรือของขบวนการฯ ลดลงเป็นร้อยละ 44  เหตุการณ์ที่แหล่งข้อมูลระบุว่าสาเหตุไม่ชัดเจนหรือไม่สามารถระบุได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 44 เช่นกัน เหตุการณ์ที่เกิดจากอาชญากรรมนับเป็นร้อยละ 11 และเหตุการณ์ที่เกิดจากประเด็นยาเสพติดคิดเป็นร้อยละ 1  ข้อควรสนใจคือ แนวโน้มเหตุการณ์ในระยะหลังถูกบันทึกว่าไม่สามารถระบุสาเหตุได้ มีจำนวนและสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างน่าสังเกต

 

 

 

 

ปรากฏการณ์เช่นนี้ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือความแปรปรวนที่ต้องให้ความสนใจด้วย ความรุนแรงที่ไม่สามารถระบุได้ว่ามาจากปัจจัยหรือสาเหตุอะไรมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากปี 2557 เป็นต้นมา ลักษณะความเสี่ยงในที่นี้ก็คือความแปรปรวนไม่แน่นอนของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระยะหลัง บางครั้งยังไม่สามารถอธิบายได้ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ว่าเกิดจากอะไร ใครเป็นผู้ทำ อันมีผลทำให้ประชาชนเกิดความหวาดระแวงในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้เหตุการณ์มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นจำนวนน้อยครั้งลงก็ตาม

นัยสำคัญที่น่าจะต้องตีความก็คือ ลักษณะความเสี่ยงหรือความแปรปรวนไม่แน่นอนของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระยะหลัง ยังมีผลต่อความรู้สึกของประชาชนหรือจิตวิทยาสังคมด้วย ประชาชนจึงมีความเชื่อมั่นน้อยลงต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ (Peace Survey) จำนวน 4 ครั้ง โดยองค์กรวิชาการ 20 สถาบัน เริ่มต้นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จนถึงครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน 2561 รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 6,321 คน เพื่อถามประชาชนเรื่องสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการสันติภาพ และข้อเสนอแนะต่อแนวทางแก้ปัญหาในอนาคต

ผลจากการสำรวจดังกล่าว มีประชาชนเพียง 1 ใน 4 (ร้อยละ 25.6) ที่รู้สึกว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่ประชาชนที่เหลืออีกราว 1 ใน 5 (ร้อยละ 21.7) มองว่าแย่ลง และมีอีกเกือบครึ่ง (ร้อยละ 42.6) ที่มองว่าเหมือนเดิม ยิ่งถ้านับคนที่บอกว่าสถานการณ์ไม่เปลี่ยนและคนที่มองว่าเหตุการณ์แย่ลงมารวมกันแล้วจะมากถึงร้อยละ 64  

ข้อมูลจึงสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบสี่ปีที่ผ่านมา ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในพื้นที่ให้ดีขึ้นในความรู้สึกของประชาชน ทั้งนี้สาเหตุที่สำคัญก็คือความแปรปรวนไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงความไม่ชัดเจนในนโยบายการแก้ปัญหารากเหง้านั่นเอง

 

 

ในอีกด้านหนึ่ง ความแปรปรวนและไม่แน่นอนยังสะท้อนให้เห็นจากการวิเคราะห์เส้นแนวโน้มสถานการณ์รายเดือนที่เปลี่ยนไปในทิศทางที่ลดต่ำลง ถ้านับยาวทั้ง 15 ปีตั้งแต่ปี 2547-2562 ซึ่งแนวโน้มลดลงนี้เห็นได้ชัดเจน แต่เมื่อดูในระยะสั้นระหว่างปี 2560-2562 เส้นแนวโน้มทางสถิติกลับแปรปรวน มีแนวโน้มลดลงแต่ปลายกระดกขึ้นเหมือนรูปตัวยูหรือระฆังหงาย แม้จะไม่ชัดเจนนักว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร แนวโน้มอาจจะลดลงก็ได้ แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่ความรุนแรงอาจมีทิศทางเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สูงขึ้น ซึ่งถ้าดูที่อัลกอริทึมในวงรอบวัฏจักร 4-5 ปีดังที่อธิบายไปแล้วข้างต้น เราคงไม่อาจปฏิเสธความน่าจะเป็นดังกล่าวได้เช่นกัน

 

 

เห็นได้ชัดเจนว่าความไม่แน่นอนเช่นนี้ ทำให้ต้องสนใจการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เพื่อผลักดันให้การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความหมาย ถูกจุดและตรงเป้ามากขึ้นกว่าเดิม รัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 2562 จะต้องคิดให้หนักเรื่องนี้ อะไรจะเกิดขึ้นถ้าอัลกอริทึมของความรุนแรงซึ่งได้มาจากการดูแบบแผนในอดีตกลับมาทำงานอีก ผู้กำหนดนโยบายต้องรู้ว่ายังมีพลังสังคมที่อยู่เบื้องหลังอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้และแก้ไข เราจะคิดสูตรแก้ไขแบบบูรณาการอะไรง่ายๆ ไม่ได้ เหตุการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เป็นสัญญาณบอกว่านี่คือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในปัจจุบัน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save