fbpx
วิทยาศาสตร์ที่พึ่งสร้าง อัลเฟรด มาร์แชล และการเอาตัวรอดของเศรษฐศาสตร์

วิทยาศาสตร์ที่พึ่งสร้าง อัลเฟรด มาร์แชล และการเอาตัวรอดของเศรษฐศาสตร์

ภาพประกอบจาก commons.wikimedia.org/wiki/File:Alfred_Marshall.jpg

ท่ามกลางกระแสดิสรัปชันอย่างหนักหน่วงและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิต ทั้งในด้านการทำงาน การละเล่น การเรียนรู้ รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน รวมทั้งตัวตนของแต่ละปัจเจก อย่างถึงราก คำถามท้าทายของโลกความรู้คือ ศาสตร์ต่างๆ ต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่นี้

เศรษฐศาสตร์เองก็ไม่พ้นถูกตั้งคำถามเช่นกัน และดูเหมือนว่าจะเป็นหนึ่งในวิชาที่ ‘มีความเสี่ยง’ จะโดนดิสรัปต์ได้จากหลายเรื่องเสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเป็นศาสตร์ที่มีการวิเคราะห์ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ไม่เป็นจริง การนำไปประยุกต์ใช้ที่ต้องเจอกับข้อจำกัดมากมาย หรือการเป็นศาสตร์ที่ได้ชื่อว่าเกี่ยวกับเศรษฐกิจ แต่ไม่ยักจะทำนายวิกฤติเศรษฐกิจได้ แถมไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้สักเท่าไรนัก รวมถึงลักษณะของเศรษฐศาสตร์ที่เป็น ‘วิชาการ’ มากกว่า ‘วิชาชีพ’ ทำให้ผู้เรียนมองไม่ค่อยเห็นเส้นทางอาชีพ ต่างกับบัญชี วิศวกรรมศาสตร์ หรือแพทยศาสตร์ ฯลฯ ที่มองเห็นเส้นทางอาชีพได้ชัดกว่า (แต่ไม่ได้หมายความว่าวิชาที่กล่าวมาจะไม่โดนดิสรัปต์นะครับ)

ชุมชนนักเศรษฐศาสตร์เองตระหนักถึงความท้าทายนี้มาพักหนึ่งแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา งานประชุมวิชาการของนักเศรษฐศาสตร์ระดับชาติได้จัดเสวนาวิชาการภายใต้หัวข้อ ‘เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว?’ ซึ่งชวนนักเศรษฐศาสตร์จากทั่วประเทศมาตอบคำถามว่า “เศรษฐศาสตร์ ‘ตาย’ แล้วหรือยัง?” และจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เศรษฐศาสตร์ถูกลบเลือนหายออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์

ในที่ประชุมวิชาการได้นำเสนอให้เห็นพัฒนาการใหม่ๆ ขององค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ที่สอดคล้องกับโลกใหม่ และแนวทางที่อาจช่วยให้เศรษฐศาสตร์สามารถเอาตัวรอดได้ เช่นการขยับไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลที่ใหญ่ขึ้น แต่ต้องคงไว้ซึ่งความสามารถในการเล่าเรื่องที่เชื่อมโยงตัวแปรต่างๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล หรือการเปิดกว้างต่อความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของพฤติกรรมมนุษย์ที่บ่อยครั้งก็ไม่ได้มีเหตุผลทางเศรษฐกิจ รวมถึงการทลายกำแพงของการเป็น standalone sciences ไปพูดคุย เชื่อมโยง หรือวิวาทะกับศาสตร์ต่างๆ มากขึ้น

จริงๆ แล้วการปรับตัวของเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อแรงปะทะภายนอกไม่ได้พึ่งเกิดในยุคนี้เท่านั้น เพราะทุกครั้งที่มีวิกฤติหรือความเปลี่ยนแปลงใหญ่ เศรษฐศาสตร์จะถูกตั้งคำถามท้าทายเสมอ โดยหนึ่งในช่วงเวลาที่วิชาเศรษฐศาสตร์ถูกท้าทายมากที่สุดคือช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของแนวคิดนีโอคลาสสิก (Neoclassic) และเป็นช่วงของการปรับตัว-เอาตัวรอดครั้งสำคัญ จนทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์มีหน้าตาแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 องค์ความรู้ของเศรษฐศาสตร์ถือว่าก้าวหน้าไปอย่างมาก เพราะมีการนำเครื่องมือและวิธีวิเคราะห์สมัยใหม่มาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะงานของนักเศรษฐศาสตร์สามคนสำคัญที่มีคุณูปการต่อการปฏิวัติหน่วยสุดท้าย (Marginalist Revolution)[1]  ได้แก่ Carl Menger (1840-1921) ที่ใช้เหตุผลแบบนิรนัย (deductive reasoning) ในการหาความเชื่อมโยงระหว่าง ‘มูลค่า’ กับ ‘ความพอใจเชิงอัตวิสัย’ หรือ William Stanley Jevons (1835-1882) ที่ต่อยอดปรัชญาอรรถประโยชน์นิยมไปสู่ทฤษฎีความพอใจที่ใช้คณิตศาสตร์มาช่วยให้นับหน่วยได้ รวมถึง Leon Walras (1834-1910) ที่แทบทำให้เศรษฐศาสตร์เป็นระบบคณิตศาสตร์บริสุทธิ์การวิเคราะห์ดุลยภาพทั่วไป (general equilibrium)

นอกจากระเบียบวิธีวิจัยและเครื่องมืออันทันสมัยแล้ว ผลงานทางปัญญาของพวกเขายังได้นำไปสู่ข้อสรุปใหม่ที่ต่างจากความรู้ในยุคคลาสสิกอย่างสิ้นเชิง โดยงานของทั้งสามคนชี้ว่า ‘มูลค่า’ หรือ ‘ราคา’ สินค้าหนึ่งๆ ถูกกำหนดมาจากด้านอุปสงค์หรืออรรถประโยชน์ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับสำนักคลาสสิกที่มองว่า ราคาถูกกำหนดมาจากฝั่งอุปทานหรือต้นทุน (โดยเฉพาะพลังแรงงาน)

มองดูเผินๆ คล้ายว่า แนวคิดคลาสสิกกำลังจะถูกดิสรัปต์ด้วยความรู้ใหม่ และควรต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง? ทว่า Alfred Marshall (อัลเฟรด มาร์แชล, 1842-1924) ได้รวบรวมความคิดของเหล่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่สมาทานแนวคิดการปฏิวัติหน่วยสุดท้าย และรังสรรค์ทฤษฎีมากมาย จนทำให้เศรษฐศาสตร์เข้าสู่ยุคนีโอคลาสสิกอย่างเต็มตัว โดยจุดเด่นของเศรษฐศาสตร์ของมาร์แชลคือการวิเคราะห์ด้วยตัวแบบอุปสงค์-อุปทาน ถือเป็นการจับแนวคิดหน่วยสุดท้ายทางฝั่งอรรถประโยชน์แต่งงานกับแนวคิดฝั่งอุปทานของคลาสสิก และทำให้เห็นว่าทั้งสองฝั่งล้วนมีบทบาทในการกำหนดมูลค่าของสิ่งต่างๆ

หนังสือ Principles of Economics (ต่อจากนี้จะเรียกสั้นๆว่า Principles) ของมาร์แชล ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1890 ได้พาเศรษฐศาสตร์เข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ด้วยอัตลักษณ์ทางทฤษฎีที่เปลี่ยนไป Principles ได้นำเสนอการวิเคราะห์แบบเศรษฐศาสตร์ที่มีวิธีลักษณะเฉพาะตัวมากขึ้น โดยนำเสนอวิธีการวิเคราะห์ด้วยหลักการ ‘caeteris paribus’ หรือ การกำหนดสิ่งอื่นๆ ให้คงที่ (other things being equal) เพื่อเป็นการ ‘จำแนก’ (segregate) ปัจจัยรบกวนอื่นออกไป และโฟกัสเฉพาะตัวแปรที่สนใจเพื่อให้สามารถประเมินผลของได้ชัดเจน (คล้ายกับการควบคุมการทดลองทางวิทยาศาสตร์) มาร์แชลจึงสนใจการวิเคราะห์ดุลยภาพเฉพาะส่วน (partial equilibrium) โดยเขาได้เปรียบวิธีการดังกล่าวว่าเหมือนกับกฎแรงโน้มถ่วงของฟิสิกส์ โดยบอกว่าตัวแปรราคาก็เหมือนกับ “หินที่ห้อยด้วยเชือกถูกทำให้เคลื่อนออกจากตำแหน่งดุลยภาพ [สุดท้าย] พลังของแรงโน้มถ่วงก็นำมันกลับมาที่ตำแหน่งดุลยภาพเดิมโดยพลัน” (Marshall, 2013[1890], หน้า 288) และสิ่งที่พาระบบกลับมาสู่ดุลยภาพในที่นี้คือพลังของอุปสงค์และอุปทานนั่นเอง

นอกจากเปรียบเปรยกับฟิสิกส์แล้ว ในบทที่ 13 ของ Principles มาร์แชลยังใช้การวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์เปรียบเปรยกับทฤษฎีวิวัฒนาการของ Charles Darwin (ชาร์ลส์ ดาร์วิน, 1809-1882) อีกด้วย โดยเขาอภิปรายถึงหลักการประหยัดต้นทุนที่เกิดจากการขยายขนาดของธุรกิจ (หรือการประหยัดต่อขนาด)[2] ว่าเหมือนกับ ‘ต้นไม้ในป่าใหญ่’ ที่พยายามเติบโตให้สูงขึ้น เพื่อให้พ้นร่มเงาต้นอื่นๆ แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกต้นทำได้ แต่ต้นที่อยู่รอดจนสูงใหญ่ก็จะได้ส่วนแบ่งอากาศและแสงแดดมากขึ้น และแข็งแรงขึ้น ก็เหมือนกับนักธุรกิจที่ต้องทำงานหนักและอดออมเพื่อให้ขนาดของทุนและธุรกิจเติบโต เมื่อขนาดธุรกิจใหญ่ขึ้นเขาก็จะมีความได้เปรียบจากการใช้เครื่องจักรที่ชำนาญ การเข้าถึงเครดิตต่างๆ และถ้าหากอยู่รอดเขาก็จะเหนือกว่าคู่แข่งอื่นในด้านต้นทุน

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วการเปรียบเปรยของมาร์แชลนี้สำคัญหรือเกี่ยวอะไรกับการปรับตัวเพื่ออยู่รอดของเศรษฐศาสตร์?

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ดีเบตว่าด้วยความเป็นวิทยาศาสตร์เป็นดีเบตที่แหลมคมอย่างยิ่ง เพราะในห้วงเวลาดังกล่าวทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินดังมากในเกาะอังกฤษ และมีอิทธิพลแพร่เข้ามาในสังคมศาสตร์ กระแสความนิยมในวิทยาศาสตร์เป็นที่ปรากฏทั่วไปในแวดวงวิชาการ รวมถึงหมู่สมาชิกของสมาคมทางวิชาการชั้นนำอย่าง British Association for the Advancement of Science (ปัจจุบันนี้คือ British Science Association) ดังนั้นหากศาสตร์ใดที่สามารถเคลมได้ว่าตัวเองมีความเป็นวิทยาศาสตร์ ศาสตร์นั้นย่อมต้องได้รับความสนใจและความชอบธรรมอย่างมาก

อย่างไรก็ตามในห้วงเวลาดังกล่าว เศรษฐศาสตร์ถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงและรุนแรง โดยเฉพาะจาก Francis Galton (1822-1911) นักสถิติและสุพันธุศาสตร์ที่สังคมให้ความนับถือสูง (และเป็นผู้คิดค้นการทำ regression ที่นักเศรษฐศาสตร์ชอบใช้กัน) กัลตันเป็นหนึ่งใน ‘หัวหอก’ ที่เอือมและตั้งคำถามกับการคงอยู่ของเศรษฐศาสตร์อย่างรุนแรง โดยกัลตันผู้นิยมในหลักการ ‘นับทุกอย่างที่นับได้’ มองว่าเศรษฐศาสตร์ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์แม้ซักนิด และต้องการให้สาขาเศรษฐศาสตร์ออกไปจากสมาคมเสีย

การปรากฏของ Principles จึงถูกที่ถูกเวลาอย่างยิ่ง มาร์แชลจับเศรษฐศาสตร์แต่งองค์ทรงเครื่องเสียใหม่ เพื่อให้มีความลงตัวกับ scientific method มากขึ้น โดย Philip Mirowski นักปรัชญาเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่า การทำตัวให้คล้ายวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการอุปมาอ้างถึงทฤษฎีวิวัฒนาการในระบบของมาร์แชล ได้ช่วยสร้าง ‘ภาพจำ’ ว่า ทฤษฎีนีโอคลาสสิกก็มีระบบพลวัตเช่นกัน (แต่จริงๆ คือไม่มี) และที่สำคัญกว่านั้นคือเป็นการต่อยอดกลยุทธ์ในการทำตัวให้เป็นพวกเดียวกับวิทยาศาสตร์ที่มีมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นคงให้แก่ ‘ตัวตน’ ของเศรษฐศาสตร์ในแวดวงวิชาการ โดย Phillips Mirowski (1995) วิเคราะห์ว่า การลอกเลียนวิทยาศาสตร์นี้ถือเป็น ‘กลยุทธ์’ ที่สำคัญในการปกป้องสถานภาพว่าเศรษฐศาสตร์ เพราะเป็นการสื่อสารกับคนอื่นโดยตรงว่า “ข้าก็มีความเป็นวิทยาศาสตร์ในสาขาเหมือนกันนะเว้ย!”

ผมเองไม่แน่ใจนักว่ามาร์แชลเขียนหนังสือด้วยท่วงท่าแบบนี้เพราะเหตุผลใดกันแน่ แต่สิ่งที่พอบอกได้คือ การพยายามที่จะเป็นวิทยาศาสตร์ของเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก ซึ่งมาร์แชลเป็นผู้บุกเบิก ไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางทฤษฎีที่บริสุทธิ์ เพราะอย่างน้อยในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ ‘วิทยาศาสตร์’ ก็ถูกใช้ในฐานะกลยุทธ์ทางการเมืองที่ทำให้เศรษฐศาสตร์รอดพ้นจากความเสี่ยงมาได้


อ้างอิง

Marshall, Alfred (2013[1890]). Principles of Economics. 8th edition. Palgrave

Mirowski, Philip (1995). More heat than light, Economics as social physics: Physics as nature’s

economics. Cambridge University Press.

Pearson, Karl (1924). The Life, Letters and Labours of Francis Galton Volume 2. Cambridge at

the University Press.


References
1 คำว่า ‘Marginal’ ตรงนี้เป็นคนละเรื่องกับการศึกษากลุ่มคนชายขอบของทฤษฎีสังคมวิทยา แต่เป็นวิธีวิเคราะห์แบบเศรษฐศาสตร์ที่มองว่า มนุษย์มีเหตุผลจะคิดตามหลักการส่วนเพิ่มหรือหน่วยสุดท้าย (ไม่ใช่ตามค่าเฉลี่ย หรือ ค่าทั้งหมด) และนำหลักการนี้ไปอธิบายพฤติกรรมและปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ เช่น ในแต่ละหน่วยที่มนุษย์บริโภคสินค้า ย่อมทำให้เขามีระดับความพอใจลดลงเรื่อยๆ หรือเป็นไปตามกฎการลดน้อยถอยลงของอรรถประโยชน์ เป็นต้น
2 การประหยัดต่อขนาด (economies of scale) เป็นหลักการอธิบายว่าเมื่อธุรกิจมีการขยายขนาดย่อมทำให้ต้นทุนเฉลี่ยในการผลิตลดลงได้ ซึ่งมาจากการใช้ปัจจัยการผลิตในระดับที่ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น หรือ การที่ธุรกิจมีความชำนาญมากขึ้น เป็นต้น

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save