fbpx
รำลึกถึงไอน์สไตน์ หลังการจากไปครบ 62 ปี

รำลึกถึงไอน์สไตน์ หลังการจากไปครบ 62 ปี

คุณรู้จักผู้ชายคนนี้ดีเพียงไหน?

 

ถ้าเขาไม่ได้ไว้ผมยุ่งรุงรัง หน้าตาหัวหูดูเป็นศาสตราจารย์สติเฟื่องจนกลายเป็นไอคอนทางวิทยาศาสตร์ที่ใครๆ ก็หยิบเขาไปใช้ผ่านกระบวนการทางการตลาดและการเป็นภาพตัวแทนของวิทยาศาสตร์อยู่ตลอดเวลา-คุณคิดว่าเราจะรู้จักเขาเหมือนที่เรารู้จักเขาอยู่ตอนนี้ไหม

และที่คิดว่าเรารู้จักเขา เรารู้จักเขามากเพียงใด?

ที่จริง นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลกหลายคน อย่างนีลส์ บอห์ร หรือแม็กซ์ แพลงค์ ซึ่งค้นพบสิ่งสำคัญไม่ด้อยไปกว่าไอน์สไตน์ ก็มีรูปลักษณ์เหมือนไอน์สไตน์ แต่อะไรทำให้ไอน์สไตน์ยิ่งใหญ่กว่าคนอื่น

มนุษย์คนหนึ่งเป็นทั้งอัจฉริยะ นักมนุษย์นิยม นักเล่าเรื่องตลก กวี นักฝัน นักไวโอลินฝีมือดี บิดาแห่งระเบิดนิวเคลียร์ นักต่อต้านสงคราม เพื่อนผู้ซื่อสัตย์ คนเจ้าชู้ นักต่อสู้เพื่อสันติภาพ คนหัวดื้อ และคนเพี้ยน, ได้อย่างไร-ในเวลาเดียวกัน

ปีหน้า, คือปีครบรอบ 1 ศตวรรษ ของการที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ค้นพบสิ่งยิ่งใหญ่ให้กับคลังความรู้ของมวลมนุษยชาติ

แต่คุณรู้หรือไม่ ว่าเขาค้นพบอะไร

ไม่เหมือนนักประดิษฐ์, สิ่งที่ไอน์สไตน์ค้นพบไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์เป็นรูปธรรม แต่มันคือความเข้าใจต่อจักรวาลอันไพศาล และความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างอวกาศกับกาลเวลา-แน่นอน ทั้งหมดนี้ย่อมไม่ใช่สิ่งของที่มองเห็นหรือจับต้องได้

เรามาทำความรู้จักกับสิ่งที่ไอน์สไตน์ค้นพบ และเรียนรู้ว่า ชีวิตของชายผู้ยิ่งใหญ่คนนี้เป็นอย่างไร เขาเคยทำอะไรผิดพลาดบ้างหรือไม่ ทั้งในเรื่องทฤษฎี ชีวิต ความรัก และความหัวดื้อของเขา

แล้วคุณจะพบว่า ไอน์สไตน์ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มนุษย์ที่ต้องทุ่มเทเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ และเขาก็ประสบความสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างเหมือนมนุษย์ทั่วไป

แต่กระนั้น ก็มีบางสิ่งในตัวเขา-สิ่งซึ่งยากจะอธิบาย สิ่งที่ทำให้มนุษย์คนนี้แตกต่างไปจากคนอื่น!

 

ชีวิตมหัศจรรย์ของไอน์สไตน์

 

ฉันมีชีวิตอยู่ในความโดดเดี่ยว

ซึ่งปวดร้าวเมื่อเยาว์วัย

ทว่าหอมหวาน เมื่อถึงขวบปีที่ชีวิตสุกงอม

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

 

เด็กนักเรียนในชิคาโกคนหนึ่ง เคยเอ่ยปากถามครูด้วยคำถามง่ายๆ, ว่า “ไอน์สไตน์ประดิษฐ์อะไรเหรอครับ เขาถึงได้ยิ่งใหญ่นัก”

ครูคนนั้นใช้เวลาคิดอยู่นาน แต่ที่สุดก็ตอบนักเรียนไม่ได้

ครูบางคนอาจตอบนักเรียนว่า ไอน์สไตน์ประดิษฐ์ระเบิดนิวเคลียร์ แต่นั่นเป็นคำตอบที่ผิดอย่างสาหัส เพราะแม้ไอน์สไตน์จะได้ชื่อว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก แต่เขาคือนักวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ที่ทุ่มเทให้กับทฤษฎี เขาไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่นำเอาทฤษฎีมาประดิษฐ์เป็นสิ่งของเพื่อขายเหมือนที่นักขายตัวทั้งหลายกระทำกันในยุคสมัยที่การตลาดครองโลก

ไอน์สไตน์ไม่ได้ประดิษฐ์อะไร แต่เขาได้ค้นพบความลับบางอย่างของจักรวาล

มันเป็นความลับที่อ่อนโยน

ในปี 1934 เมื่อเด็กชายราล์ฟ การ์ดเนอร์ มีอายุ 11 ปี เขาได้พบกับไอน์สไตน์ในงานเลี้ยงหนึ่ง ไอน์สไตน์ถามเขาว่า เขาเล่นเครื่องดนตรีอะไรบ้างไหม การ์ดเนอร์บอกว่าไม่ได้เล่น ไอน์สไตน์พูดว่าเขาเล่นไวโอลิน แล้วก็ถามต่อว่าการ์ดเนอร์เล่นหมากรุกเป็นไหม เด็กชายตอบว่าไม่เป็น การ์ดเนอร์ชักเป็นกังวลแล้วว่า อัจฉริยะของโลกอาจคิดว่าเขาเป็นคนบื้อใบ้ที่ทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง แล้วก็เลิกคุยกับเขา แต่ไอน์สไตน์กลับบอกเขาว่า ถ้าเล่นหมากรุกไม่เป็น เขาจะสอนให้

แล้วการ์ดเนอร์ก็ได้เรียนหมากรุกกับไอน์สไตน์ต่อมาอีกหลายสัปดาห์

ใช่แล้ว, ไอน์สไตน์มีวิญญาณความเป็นครูอยู่ในสายเลือด

แต่ในสายเลือดเส้นเดียวกัน ยังมีความเป็นเด็กผู้ชายซุกซนหมกมุ่นกับของเล่น ความเป็นศิลปินผู้ละเอียดอ่อนและบอบบางในความรู้สึก ผสานอยู่กับความหัวดื้อไม่มีขีดจำกัดอีกด้วย

ตัวตนของไอน์สไตน์นั้นซับซ้อนพอๆ กับทฤษฎีที่เขาค้นพบ การจำกัดเขาด้วยนิยามคำใดคำหนึ่งไม่เคยพอสำหรับมนุษย์ผู้นี้ ไอน์สไตน์เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 1879 ที่อูล์ม เยอรมนี แม้ร่ำลือกันว่า ไอน์สไตน์จะเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่ง หัวทึบจนครูบ่น แต่นั่นก็เป็นเพียงคำร่ำลือและเป็นมายาคติที่ทั้งจริงและไม่จริง

ในหนังสือชื่อ Einstein : A Life ของ เดนิส ไบรอัน ผู้เขียนค้นพบว่า ที่จริงแล้วไอน์สไตน์ไม่ได้หัวทึบ เขาเก่งคณิตศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก แค่อายุ 10 ขวบ เด็กชายไอน์สไตน์ก็สนทนากับแม็กซ์ ทาล์มีย์-นักศึกษาแพทย์ที่มากินข้าวกลางวันที่บ้านเขาเป็นประจำได้โดยมีสติปัญญาเท่าเทียมกันแล้ว ทาล์มีย์สอนไอน์สไตน์ให้รู้จักอ่านหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มากมาย

วิชาที่ไอน์สไตน์ไม่เก่งก็คือภาษากรีก เขาไม่เอาอ่าวกับวิชานี้จนครูที่สอนต้องเรียกเขามายืนหน้าชั้นและดุว่าว่าไอน์สไตน์จะต้องเอาดีในเรื่องไหนๆ ไม่ได้แน่ๆ

แต่นั่นอาจเป็นเพราะเขาไม่สนใจ เพราะหากไอน์สไตน์สนใจอะไร เขาจะตามติดสิ่งนั้นไม่ปล่อยเหมือนคนกระหายหิว ครั้งหนึ่ง เมื่อเดินถือไวโอลินไปบนถนน เขาได้ยินเสียงผู้หญิงคนหนึ่งเล่นเปียโนเพลงที่เขาชอบ ไอน์สไตน์เกิดอดรนทนไม่ได้ กระโจนขึ้นบันไดไปที่ห้องพักของผู้หญิงคนนั้น แล้วก็ตะโกน “อย่าหยุด! อย่าหยุด!” เหมือนคนบ้า แล้วเขาก็หยิบไวโอลินขึ้นมาสีร่วมวงไปกับเธอด้วย

พูดง่ายๆ-ไอน์สไตน์ทำอะไรฉับพลันทันที ใจร้อน แต่มุ่งมั่น และไม่สนใจต่อกฎเกณฑ์

เมื่ออายุ 19 ปี เขาตกหลุมรักกับ มิเลวา มาริก เพื่อนร่วมชั้นเรียนชาวเซอร์เบีย วิธีจีบหญิงของไอน์สไตน์นั้นโรแมนติกพิลึกๆ เพราะเขาแต่งเพลงให้เธอ แต่เนื้อหาของเพลงดันเป็นเรื่องความรักของหมาสองตัวที่ชื่อจอห์นนี่กับดอลลี่

Oh my! That Johnnie boy!

So crazy with desire,

While thinking of his Dollie,

His pillow catches fire.

ทั้งคู่มีลูกสาวคนแรกในปี 1902 ก่อนที่จะแต่งงานกัน ลูกสาวคนนี้ชื่อลีสเซอร์ล เป็นลูกสาวที่ไอน์สไตน์ไม่เคยปริปากถึง เพราะเป็นลูกที่เกิดก่อนสมรส ลีสเซอร์ลหายไปจากชีวิตของไอน์สไตน์อย่างลึกลับ มีคนจำนวนมากสงสัยว่าเธอหายไปไหน แต่ก็ไม่มีใครรู้ความจริงเรื่องนี้ ว่ากันว่า มิเลวา ยกลีสเซอร์ลให้คนอื่นเลี้ยง และเธอเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก ก่อให้เกิดบาดแผลในชีวิตของทั้งไอน์สไตน์และมิเลวาขึ้น จนทำให้ชีวิตแต่งงานของทั้งคู่ไม่ราบรื่น

ไอน์สไตน์แต่งงานกับมิเลวาในปี 1903 และอยู่ด้วยกันจนถึงปี 1919 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาผลิตงานสร้างสรรค์ได้มากที่สุดในชีวิต

และเพียง 2 ปี หลังแต่งงาน ไอน์สไตน์ก็บรรลุถึงปีทองแห่งชีวิต นั่นคือปีอันแสนมหัศจรรย์…ปี 1905

ในปีนั้น ไอน์สไตน์วัย 26 ปี เขียนบทความสำคัญขึ้นมา 4 ชิ้น มันคือบทความที่เปลี่ยนแปลงวิธีคิดของฟิสิกส์ไปทั้งหมด ชิ้นที่โด่งดังที่สุดคือชิ้นที่ชื่อ On the Electrodynamics of Moving Bodies ซึ่งพูดถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเวลา ระยะทาง สสาร และวัตถุ ทั้งยังเป็นบทความที่โจมตีวิธีมองโลกแบบนิวตันของเซอร์ไอแซค นิวตัน ด้วย

ปี 1905 อาจเป็นปีมหัศจรรย์ที่ไอน์สไตน์แนะนำให้โลกรู้จักกับทฤษฎีสัมพัทธภาพก็จริงอยู่ แต่ปีที่เขาโด่งดังไปทั่วโลก ก็คือเมื่อเกิดสุริยุปราคา และนักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ทฤษฎีของไอน์สไตน์ว่ามันเป็นความจริงขึ้นมา นั่นก็คือปี 1919 เพราะสุริยุปราคาแสดงให้เราเห็นว่า แสงเดินทางเป็นเส้นโค้งเมื่อผ่านดวงอาทิตย์

เมื่อนักข่าวขอให้ไอน์สไตน์อธิบายคำว่า ‘สัมพัทธภาพ’ อย่างง่ายให้ฟัง ไอน์สไตน์ตอบว่า

“ก่อนหน้านี้ เชื่อกันว่าเวลาและอวกาศแยกขาดจากสสาร ทฤษฎีของผมบอกว่า เวลาและอวกาศนั้นแยกจากกันไม่ได้”

เขาแต่งงานครั้งที่ 2 ในปี 1919 กับ เอลซา โลเวนธาล ซึ่งมาคอยพยาบาลเขาตอนเขาป่วย และหลังจากนั้น ตลอดทศวรรษ 1920s ไอน์สไตน์ตระเวนทัวร์ไปทั่วโลกเพื่อเลคเชอร์และสอนถึงทฤษฎีของเขา แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เขามีชื่อเสียงมากที่สุด, เป็นความกล้าหาญที่จะต่อกรกับนาซีของเขาต่างหาก

ไอน์สไตน์อาจเกิดที่เยอรมนี แต่เขามีเชื้อสายยิว เขาจึงต่อต้านนโยบายโหดเหี้ยมของนาซีอย่างสุดขั้ว ทั้งยังประนามนาซีผ่านสื่อด้วย ในปี 1919 เขาเริ่มต้นช่วยเหลือชาวยิวให้หนีออกจากเยอรมนีไปสู่ยุโรปตะวันออก แน่นอน ไอน์สไตน์เองก็ตกเป็นเหยื่อของขบวนการต่อต้านยิว เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจในปี 1933 เขาต้องหนีออกจากเบอร์ลินไปอเมริกา ได้รับสัญชาติอเมริกัน รวมทั้งได้ตำแหน่งทางวิชาการที่พรินซ์ตันด้วย

ไอน์สไตน์กลายเป็นคนดัง กลายเป็นสัญลักษณ์ของนักวิทยาศาสตร์ผู้รักสันติภาพ เขาตระเวนทัวร์พูดเรื่องเกี่ยวกับการเมืองไปทั่วยุโรป เขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีรูสเวลท์ ให้อเมริกาเร่งสร้างระเบิดนิวเคลียร์ก่อนเยอรมันจะทำได้ แต่ต่อมา เมื่อเห็นว่าระเบิดนิวเคลียร์อาจส่งผลร้ายได้ถึงเพียงไหน เขาก็ผลักดันให้มีการห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์ ต่อมา เขาได้รับข้อเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีของอิสราเอล แต่เขาปฏิเสธ และมีความเห็นที่ทำให้ชาวยิวต้องอึ้งว่า เราไม่จำเป็นต้องสร้างรัฐอิสราเอลขึ้นมาก็ได้ ถ้าหากวิธีนี้จะทำให้โลกเกิดสันติภาพระหว่างยิวและอาหรับขึ้นมาได้

ไอน์สไตน์ได้รับการยอมรับนับถือในระดับโลก ว่าเขาเป็นเสมือนนักบุญผู้อุทิศตนให้แก่สันติภาพ

แต่ในความโด่งดังนี้เอง ไอน์สไตน์กลับต้องโดดเดี่ยวขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะนักฟิสิกส์,

และมีชีวิต 30 ปีสุดท้าย คลุกอยู่กับความล้มเหลวทางทฤษฎี

ทำไม

 

ทฤษฎีสำหรับทุกสิ่ง : 30 ปีแห่งความล้มเหลวของไอน์สไตน์

คนทุกคน…ล้วนต้องหาวิถีแห่งการคิดของตัวเอง หากเขาไม่อยากพลัดหลงไปในความเป็นไปได้จำนวนมหาศาลทั้งหลาย แต่กระนั้น ไม่มีใครแน่ใจได้หรอกว่า หนทางของตัวเองถูกต้อง ฉันก็เหมือนกัน

ตอนหนึ่งจากจดหมายที่ไอน์สไตน์เขียนถึงมอฟแฟต

 

เมื่อจอห์น มอฟแฟต เขียนจดหมายถึงไอน์สไตน์ เขาไม่คิดหรอกว่าผู้ยิ่งใหญ่อย่างไอน์สไตน์จะตอบจดหมายเขา

มอฟแฟตคือคนธรรมดาคนหนึ่งที่เรียนไม่จบไฮสกูลด้วยซ้ำไป แต่นอกจากความสนใจในฟิสิกส์แล้ว เขายังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เหมือนไอน์สไตน์

นั่นก็คือความเป็นคนนอก

30 ปีสุดท้ายในชีวิตของไอน์สไตน์ เขาเริ่มถูกกีดกันออกจากสังคมของนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ก็เพราะเขาปฏิเสธที่จะเชื่อทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัมอันทรงพลัง ไอน์สไตน์คิดว่า กลศาสตร์ควอนตัมเป็นเรื่องไร้เหตุผล เขารู้ว่ามันเป็นอย่างไร แต่เขาไม่เชื่อ เขาไม่ชอบปรัชญาของกลศาสตร์ควอนตัม โดยเฉพาะเรื่อง ‘แมวของชโรดิงเจอร์’ ที่บอกว่า อนุภาคซึ่งมีคุณสมบัติเป็นคลื่นด้วยนั้น ไม่ได้ดำรงอยู่จนกว่าจะมีผู้สังเกต เขาบอกว่าธรรมชาติไม่น่าจะวิปริตได้ถึงขนาดนั้น และหันหน้าเข้าสู่การคิดค้นเรื่องทฤษฎี Unified คือทฤษฎีที่รวมเอาแรงทั้งหมดในธรรมชาติเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ก็เพื่อแข่งขันกับกลศาสตร์ควอนตัม

ในปี 1927 เมื่อไอน์สไตน์อายุ 48 ปี เขาปะทะกับนีลส์ บอห์ร นักควอนตัมฟิสิกส์ผู้เลื่องชื่อของโลกไม่แพ้ไอน์สไตน์ ในการประชุมที่บรัสเซลส์ ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันจนไอน์สไตน์เสียชีวิตในปี 1955 ด้วยเหตุนี้ ในระยะหลัง นักฟิสิกส์ส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยสนใจงานของไอน์สไตน์นัก

มอฟแฟตเขียนจดหมายถึงไอน์สไตน์ด้วยเรื่องนี้ เขาเขียนไปบอกไอน์สไตน์ว่า เขาไม่ชอบเลยกับสิ่งที่ไอน์สไตน์กำลังทำอยู่ และไม่คาดว่าจะได้รับจดหมายตอบ เพราะคงมีคนเขียนจดหมายไปหาไอน์สไตน์มากมาย

มอฟแฟตไม่เหมือนชายหนุ่มวัย 20 ปี ทั่วไป เขายังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ เลิกเรียน ไม่มีงานทำ เป็นคนนอกของสังคมเต็มตัว แต่เขาสนใจฟิสิกส์และเรียนรู้ด้วยตัวเอง เขาจึงอ่านงานของไอน์สไตน์เข้าใจ มองเห็นจุดอ่อนในงานของไอน์สไตน์ และเลือกเขียนจดหมายไปบอกตามที่เขาคิด ทั้งคู่เขียนจดหมายแลกเปลี่ยนกันนานหกเดือน

มอฟแฟตกลายเป็นหลักฐานความขัดแย้งและล้มเหลวในชีวิตช่วงหลังของไอน์สไตน์ เพราะหลังจากหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ข่าวเรื่องเขากับไอน์สไตน์ เขาก็ได้รับเชิญจากนีลส์ บอห์ร และเออร์วิน ชโรดิงเจอร์ ให้ไปสนทนาด้วย บอห์รนั้นบอกว่าไอน์สไตน์เพี้ยนไปเสียแล้ว ขณะที่ชโรดิงเจอร์ซึ่งนอนป่วยอยู่ที่ดับลิน ก็โกรธไอน์สไตน์มากถึงขั้นพูดว่าไอน์สไตน์เป็นไอ้โง่

ไอน์สไตน์อาจตายไปพร้อมกับความล้มเหลว เพราะเขาไม่อาจค้นพบทฤษฎีสำหรับทุกสิ่ง หรือทฤษฎีรวมแรงในธรรมชาติได้ แต่ในท่ามกลางความขัดแย้งของนักฟิสิกส์ ต่อมาอีกหลายสิบปี นักวิทยาศาสตร์ก็ได้หยิบเอาวิธีคิดของทั้งไอน์สไตน์ บอห์ร ชโรดิงเจอร์ และนักวิทยาศาสตร์อื่นๆ ขึ้นมาผสานรวมกัน

ในช่วงชีวิตของไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์คิดว่าแรงในธรรมชาติมีสองแรง คือแรงโน้มถ่วงและแรงแม่เหล็กไฟฟ้า และไอน์สไตน์ก็พยายามจะรวมแรงสองแรงนี้เข้าด้วยกัน แต่หลังจากนั้น มีการค้นพบว่ายังมีแรงพื้นฐานอีกสองแรง คือแรงนิวเคลียร์แบบอ่อนและแรงนิวเคลียร์แบบเข้ม จึงเกิดความพยายามจะรวมแรงทั้งสี่เข้าให้ได้ ทว่าแม้จนปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็ยังรวมแรงทั้งสี่เข้าด้วยกันไม่ได้

คาร์โล โรเวลลี นักฟิสิกส์ทฤษฎีแห่งฝรั่งเศส บอกว่าไอน์สไตน์นั้นมาถูกทางแล้ว เพียงแต่เขาใช้ ‘ส่วนผสม’ ที่ผิดเท่านั้น

ไอน์สไตน์เองอาจบอกว่า 30 ปีสุดท้ายในชีวิตของเขา คือ 30 ปีแห่งความล้มเหลว ในวันที่ 18 เมษายน 1955 เขาอาจตายไปกับคำถามที่ค้างคาอยู่ในใจ แต่ถ้าเขาได้รู้ว่า ความล้มเหลวของเขา ที่แท้คือพื้นฐานให้กับฟิสิกส์ยุคใหม่ โดยเฉพาะทฤษฎีสตริง,

 

เขาคงได้แต่ระบายรอยยิ้ม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save