fbpx
“Air America” : จากภารกิจลับในยุคสงครามเย็นถึงการพา ‘กระดูกอเมริกัน’ กลับบ้าน

“Air America” : จากภารกิจลับในยุคสงครามเย็นถึงการพา ‘กระดูกอเมริกัน’ กลับบ้าน

ณัฐรินทร์ รัตนะพิบูลย์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน (ซึ่งตรงกับวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา) นับเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของกองทัพสหรัฐฯ และอเมริกันชนทั่วโลก เนื่องจากเป็นวันแห่งการรับรู้เชลยสงคราม/ผู้สูญหายแห่งชาติ (National POW/MIA Recognition day) ซึ่งเป็นวันสำคัญที่ชาวอเมริกันจะร่วมรำลึกถึงเชลยสงครามและผู้สูญหายในสงคราม โดยเฉพาะในสงครามเวียดนามซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลให้เกิดวันนี้ขึ้น

ในฐานะที่ประเทศไทยเคยเป็นที่ตั้งของสำนักงานชันสูตรทางนิติวิทยาศาสตร์กลาง (the Central Identification Laboratory) แห่งแรกของสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 1973 และปัจจุบันยังเป็นที่ตั้งของหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 (Detachment 1) ของกองบัญชาการร่วมบัญชีเชลยสงคราม/ผู้สูญหายในปฏิบัติการ Joint POW/MIA Accounting Command ซึ่งปัจจุบันคือ Defense POW/MIA Accounting Agency (DPAA) แห่งแรกของกองทัพสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็น 1 ใน 3 หน่วยเฉพาะกิจ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อนำร่างของลูกหลานอเมริกันในสงครามอินโดจีนกลับคืนสู่มาตุภูมิ ดังนั้น ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีเรื่องราวชวนให้หยิบมาเล่าเต็มไปหมด

ในหอวีรบุรุษของเพนตากอน ‘ชิพ’ หรือที่รู้จักในชื่อ พันเอกชัยชาญ หาญนาวี ชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นทหารต่างชาติเพียงนายเดียวที่ได้รับเกียรติให้มีรูปถ่ายแขวนในหอเกียรติยศแห่งนี้ในฐานะอดีตลูกเรือสายการบินแอร์อเมริกา (Air America) เขาเคยถูกจองจำในคุกโห่โล (Hoa Lo Prison) หรือ ฮานอยฮิลตัน (Hanoi Hilton) สถานที่จองจำเชลยสงครามชาวอเมริกัน และเป็นเชลยสงครามคนสุดท้ายที่ถูกจองจำยาวนานที่สุดในเรือนจำโห่โล คือถูกจองจำเป็นเวลานานถึง 9 ปี 4 เดือน 8 วัน ในวันที่พันเอกชัยชาญเสียชีวิต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยถึงขั้นต้องมีหนังสือแสดงความเสียใจไปถึงครอบครัวของพันเอกชัยชาญ

 

พันเอกชัยชาญ หาญนาวี
ที่มา: https://www.pownetwork.org/

 

มาถึงตรงนี้รู้สึกอยากรู้กันบ้างหรือยังครับว่า เหตุใดอดีตลูกเรือสายการบินแอร์อเมริกาถึงได้รับการยกย่องขนาดนี้ แล้วทำไมคนไทยถึงถูกจับกุมไปขังที่เวียดนามได้ แอร์อเมริกาคือสายการบินธรรมดาไม่ใช่หรืออย่างไร

เรื่องนี้เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ความมั่นคงในยุคสงครามเย็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ท่ามกลางบรรยากาศร้อนระอุของสงครามในอินโดจีนที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น หน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา (CIA) เปลี่ยนชื่อสายการบินขนส่งทางอากาศเอกชน (Civil Air Transport – CAT) ที่บินปฏิบัติการลับหลายภารกิจในช่วงต้นของสงครามเย็นในจีน เวียดนาม และลาว เป็น ‘สายการบินแอร์อเมริกา’ (Air America) และตั้งสำนักงานใหญ่และฝ่ายซ่อมบำรุงใหญ่ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ฐานบินอุดร (Udon Air Force Base) จังหวัดอุดรธานี เปลี่ยนส่วนหนึ่งของฐานบินอุดรให้กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ชั้นความลับที่ ‘ลับ’ ที่สุดในโลก

สายการบินแอร์อเมริกาเป็นสายการบินเอกชนที่ถูกออกแบบมาเพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศในสงครามกลางเมืองลาว มีสถานีเรดาห์ เครื่องรับส่งวิทยุที่ทันสมัยที่สุดในโลก เฮลิคอปเตอร์ รวมถึงเครื่องบินที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้สามารถวิ่งขึ้นลงทางสั้นสำหรับขึ้นลงสนามบินล่องแจ้ง สนามบินที่กล่าวกันว่าลึกลับที่สุดในโลก มีภารกิจส่งกำลังบำรุงและสนับสนุนกองกำลังม้งของนายพลวังเปาและกองกำลังทหารอาสาไทยในลาว

นอกจากนี้ สายการบินแอร์อเมริกายังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนสงครามลับในลาว สกัดกั้นภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ ตลอดจนขัดขวางการก่อสร้างเส้นทางโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh Trail) ซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงอุปกรณ์ส่งกำลังบำรุงของฝ่ายเวียดนามเหนือสู่เวียดนามใต้ คอยรับส่งเจ้าหน้าที่ทูต ผู้ลี้ภัย หน่วยรบพิเศษ บุคคลสำคัญ สายลับ แพทย์ ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ประธานาธิบดี เจ้าหน้าที่ CIA ไปยังพื้นที่ปฏิบัติงาน อีกทั้งยังมีหน้าที่ควบคุมเทคโนโลยีทางทหารที่ล้ำสมัยที่สุดในโลกที่ตั้งอยู่อย่างลับๆในประเทศลาว และคอยกู้ภัยนักบินอเมริกันที่ถูกยิงตกเหนือน่านฟ้าลาว

 

ความทรงจำจาก Lima Site 85

 

Lima Site 85 หรือ ภูผาที ยอดเขาเล็กๆแห่งหนึ่งในแขวงหัวพัน กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญแห่งหนึ่งของสงครามลับในลาวที่ CIA กองทัพไทย และกองทัพพระราชอาณาจักรลาว เห็นความสำคัญจนต้องวางกำลังไว้โดยรอบ เนื่องจากบนยอดเขาลูกนี้เป็นที่ตั้งของสถานีเรดาห์บัญชาการการทิ้งระเบิด (Bomb Directing Central, Radar) แบบ Reeves AN/MSQ-77 ที่คอยนำทางและชี้เป้าหมายการทิ้งระเบิดในเวียดนามเหนือของสหรัฐอเมริกากว่า 55% เรียกได้ว่า สถานีเรดาห์เล็กๆ บนยอดภูผาทีแห่งนี้ทำให้ชาวเวียดนามนับแสนคนในฮานอยและไฮฟองกลายเป็นคนไร้บ้าน เนื่องจากสามารถชี้เป้าทิ้งระเบิดได้เหมือนตาทิพย์

แอร์อเมริกาเป็นสายการบินที่ส่งเฮลิคอปเตอร์มาส่งเสบียงและสิ่งอุปกรณ์ทดแทนที่นี่อย่างลับๆเสมอ อนึ่ง เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงข้อครหาว่าไม่เคารพสถานะความเป็นกลางของลาว แอร์อเมริกาใช้วิธีบินปฏิบัติการจากจังหวัดอุดรธานีเพื่อคอยรับส่ง ‘คนลาวปลอม’ หรือก็คือทหารนิรนามชาวไทย ทหารม้ง และเจ้าหน้าที่ CIA ไปยังพื้นที่ปฏิบัติการในลาว ซึ่ง Lima Site 85 ก็คือหนึ่งในปลายทางของสายการบินนี้

หลังเพียรตามหามานานแรมปี กองทัพเวียดนามเหนือพบสถานีเรดาห์แห่งนี้ในปลายปี 1967 และเริ่มโจมตีสถานีเรดาห์นี้ในวันที่ 12 มกราคม 1968 โดยกองทัพเวียดนามเหนือส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดปีกสองชั้นแบบ Antonov-2 Colt จำนวน 4 ลำ บินเข้าทิ้งระเบิดที่ Lima Site 85

ความตลกร้ายคือเครื่องบิน AN-2 จำนวน 2 ลำที่ถูกส่งมาทิ้งระเบิดในช่วงบ่ายของวันนั้นบินสวนเข้ากับเฮลิคอปเตอร์ของสายการบินแอร์อเมริกา ที่กำลังขนส่งกระสุนปืนไปยัง Lima Site 85 เช่นเดียวกัน ยุทธเวหาครั้งแรกและครั้งเดียวในโลกระหว่างอากาศยานปีกหมุนและอากาศยานปีกตรึงจึงเกิดขึ้นเหนือน่านฟ้าลาว โดย เท็ด มัวร์ (Ted Moore) นักบินเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1D บินไล่ตามเครื่องบินทิ้งระเบิด 2 ลำ ของกองทัพเวียดนามเหนือ ขณะที่ เกล็น วู้ด (Glenn Wood) ช่างเครื่อง ใช้ปืนไรเฟิลจู่โจมแบบ AK-47 ยิงเครื่องบินทิ้งระเบิดทั้งสองลำ เครื่องบินทิ้งระเบิดลำหนึ่งเสียการทรงตัวจนชนเข้ากับสันเขา อีกลำหนึ่งเสียหายจนชนเข้ากับภูเขาเช่นกัน

ปีต่อมา เกล็น วู้ด ช่างเครื่องผู้ยิงเครื่องบินทั้งสองลำจนตกเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติภารกิจในลาว ส่วน เท็ด มัวร์ รอดชีวิตจากสงครามและใช้ชีวิตเงียบๆ ในสหรัฐอเมริกาหลังสงครามสงบ

 

Air American Helicopter
ที่มา: https://www.air-america.org/

ความหวังของนักบิน

 

บทบาทสำคัญหนึ่งของแอร์อเมริกาคือการช่วยเหลือกู้ภัยนักบิน และขนย้ายซากเครื่องบินที่ติดตั้งระบบสอดแนมก่อนตกไปอยู่ในมือศัตรู เนื่องจากเทคโนโลยีทางทหารใดๆ ที่ตกไปอยู่ในมือของฝ่ายเวียดนามเหนือจะถูกส่งกลับไปยังสหภาพโซเวียตเพื่อทำการวิจัย อันจะนำไปสู่การพัฒนาระบบอาวุธที่เหนือกว่าฝ่ายสหรัฐอเมริกา

ภารกิจนี้เองที่ทำให้เครื่องบินของสายการบินแอร์อเมริกาถูกยิงตกเพิ่มขึ้นจนน่าใจหาย เนื่องจากฝ่ายคอมมิวนิสต์รู้ว่า หากมีเครื่องบินของฝ่ายอเมริกาตกในพื้นที่ใดก็ตามในลาว สายการบินแอร์อเมริกาจะพาเจ้าหน้าที่กู้ภัยและเจ้าหน้าที่เทคนิคเข้ามาเพื่อกู้ภัยนักบินและขนย้ายหรือทำลายซากเครื่อง ฝ่ายคอมมิวนิสต์จึงสบโอกาสใช้จุดตกเป็นเหยื่อล่อให้เฮลิคอปเตอร์ของสายการบินแอร์อเมริกามาติดกับและทำการระดมยิงจนตกเพิ่มอีกลำ

ภารกิจเสี่ยงตายนี้เองที่เป็นที่มาความสำคัญของวัน POW/MIA ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากบรรดานักบินของกองทัพอากาศ นักบินของแอร์อเมริกา ทั้งที่บินไปหรือกลับจากภารกิจ มักถูกยิงตกกลายเป็นผู้สูญหายในป่าทึบของลาว ในช่วงสงครามเวียดนาม มีกำลังพลของสหรัฐสูญหายในภารกิจมากถึง 1,741 นาย และกว่าร้อยละ 90 ยังไม่พบร่าง ซึ่งกำลังพลส่วนใหญ่สูญหายจากการทำภารกิจในลาว และถูกยิงตกเหนือน่านฟ้าลาวระหว่างภารกิจกู้ภัยหรือทิ้งระเบิดที่เวียดนามเหนือ

ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือในการเก็บกู้วัตถุระเบิด (UXO) ในลาว ควบคู่ไปกับการเก็บกู้กระดูกที่เชื่อว่าเป็นของทหารอเมริกันที่สูญหายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในลาว อย่างไรก็ดี การค้นหาร่างผู้สูญหายไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เจ้าหน้าที่ต้องรับมือกับระเบิดตกค้าง ต้องปฏิบัติหน้าที่ในป่าทึบที่ยังเต็มไปด้วยกับดักจากสงคราม เจอเส้นทางคมนาคมที่ยากลำบากต่อการเข้าถึง อีกทั้งยังเจอกับการที่คนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ของรัฐบ่ายเบี่ยงที่จะอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่อเมริกัน เพราะพวกเขายังคงมีความหลังฝังใจว่า เหตุใดพวกตนจึงต้องช่วยเหลือคนที่มีส่วนทำลายสันติภาพในลาว จนเคยมีงานเขียนรางวัลซีไรต์เรื่อง ‘กระดูกอเมริกัน’ มาแล้ว

 

Air American
ที่มา: Air America in Laos I – humanitarian work by Dr. Joe F. Leeker. P.52

 

ฉากสุดท้ายของสงคราม

 

ภาพจำสุดท้ายเกี่ยวกับสงครามเวียดนามของใครหลายคนอาจเป็นภาพเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งที่จอดบนดาดฟ้าตึก ซึ่งถูกอ้างว่าเป็นสถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงไซง่อน เมื่อวันที่ 31 เมษายน ปี 1975 แต่ที่จริงแล้ว ภาพนั้นเป็นภาพการอพยพเจ้าหน้าที่ระดับสูง รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามใต้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเวียดนามใต้ และครอบครัวบุคคลสำคัญ ออกจากกรุงไซง่อน ส่วนอาคารในภาพดังกล่าวคือ อพาร์ตเมนต์ เลขที่ 22 ถนนเกียลอง (22 Gia Long Street) เฮลิคอปเตอร์ลำที่จอดบนดาดฟ้าเล็กคือเฮลิคอปเตอร์ของสายการบินแอร์อเมริกา บินโดยโฮเรน ฮอาร์เนจ (Oren “O.B.” Harnage) เจ้าหน้าที่ CIA ขณะที่ภาพถูกถ่ายโดยนักข่าวชาวเนเธอร์แลนด์ ฮิวเบิร์ต แวน เอส (Hubert van Es) ทำให้หลายคนเข้าใจผิดมาจนถึงปัจจุบันว่านั่นคือสถานทูตอเมริกา

ภาพนี้กลายเป็นภาพพาดหัวข่าวใหญ่และสำคัญในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เพราะเป็นการประกาศว่าสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงแล้ว และสหรัฐฯ ไม่ใช่ผู้ชนะในสงครามนี้ ความเชื่อมั่นต่อมหาอำนาจโลกเสรีจึงพลอยถูกตั้งคำถามไปด้วย

ขณะเดียวกัน ฝั่งฐานบินล่องแจ้ง สนามบินที่ลึกลับที่สุดในโลกของ CIA ที่เป็นปลายทางสำคัญของสายการบินแอร์อเมริกาก็เดินทางมาถึงฉากสุดท้ายหลังกรุงไซง่อนแตก สายการบินแอร์อเมริกาถูกแปลงสภาพกลายเป็นสายการบินเพื่อภารกิจมนุษยธรรมในการอพยพชาวม้งหลายพันคนออกจากเมืองล่องแจ้ง มายังจังหวัดอุดรธานี ก่อนถูกส่งตัวไปยังสหรัฐอเมริกา นับเป็นการย้ายถิ่นฐานที่ไกลที่สุดของประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ชาวม้ง

เฮลิคอปเตอร์ของสายการบินแอร์อเมริกาลำสุดท้ายบินออกจากฐานบินล่องแจ้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ปี 1975 ถือเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของแอร์อเมริกาในลาว มีผู้โดยสารคือนายพลวังเปาและเจอร์รี่ แดเนียล (Jerry Daniels) เจ้าหน้าที่ CIA คนสุดท้าย ท่ามกลางชาวม้งอีกนับหมื่นคนที่เฝ้ารอเครื่องบินขนส่งของสายการบินแอร์อเมริกาอย่างหวาดหวั่น เพราะฝ่ายขบวนการปะเทดลาวรุกเข้ามาถึงทุ่งไหหินแล้ว อีกไม่นานคงเข้ายึดล่องแจ้ง

ก่อนจะขึ้นเฮลิคอปเตอร์ นายพลวังเปากล่าวอำลากับพี่น้องชาวม้งว่า “ลาก่อนพี่น้องม้ง ผมทำอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้ ผมจะเป็นได้แค่สาเหตุแห่งความทุกข์ของทุกท่าน” ถือเป็นสัญญาณโดยนัยว่า เที่ยวบินสายการบินแอร์อเมริกา ล่องแจ้ง-อุดรธานี ปิดกิจการลงแล้วอย่างสมบูรณ์

คงเหลือไว้เพียงชื่อ ‘แอร์อเมริกา’ สนามบินที่ลึกลับที่สุดในโลก และ ‘กระดูกอเมริกัน’ ไว้ในลาวเท่านั้น

 

ภาพเฮลิคอปเตอร์สายการบินแอร์อเมริกาขณะกำลังอพยพเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเวียดนามออกจากกรุงไซง่อน
ภาพเฮลิคอปเตอร์สายการบินแอร์อเมริกาขณะกำลังอพยพเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเวียดนามออกจากกรุงไซง่อน (ที่มา: https://www.air-america.org/)

 

ภาพเฮลิคอปเตอร์สายการบินแอร์อเมริกาขณะกำลังอพยพเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเวียดนามออกจากกรุงไซง่อน
ภาพเฮลิคอปเตอร์ของสายการบินแอร์อเมริกาขณะกำลังอพยพเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเวียดนามออกจากดาดฟ้าของอพาร์ทเมนท์เลขที่ 22 ในกรุงไซง่อน (ที่มา: https://en.wikipedia.org/)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save