fbpx
เมื่อ AI ย่างเข้าสู่โลกตัวอักษร... ศึกนี้ใครจะรอด?!

เมื่อ AI ย่างเข้าสู่โลกตัวอักษร… ศึกนี้ใครจะรอด?!

เกมใช้ความคิดอย่างหมากล้อมอาจเป็นของง่ายสำหรับ AI ยุคใหม่ที่จะเอาชนะมนุษย์ แต่งานที่ต้องใช้ทักษะวรรณศิลป์อย่างงานเขียนและงานแปลล่ะ มันจะทำได้ดีแค่ไหน

 

เราอาจคุ้นเคยกับปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เรียกภาษาบ้านๆ ว่า AI (Artificial Intelligence) ในฐานะของนาย (หรือนาง) Siri ที่เราชอบสั่งให้ร้องเพลงให้ฟังด้วยสำเนียงแบบหุ่นยนต์ มากกว่าจะช่วยทำงาน หรือถ้าจะย้อนไปไกลกว่านั้น AI ก็อยู่กับเรามาตั้งแต่ที่เราเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ในเกมหมากรุกที่เล่นทีไรก็ไม่เคยชนะทุกที – เพราะเล่นหมากรุกฝรั่งไม่เป็น

แต่ในวงการวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา AI กลายเป็นดาวเด่นที่สปอตไลต์ต้องหันมาหาอยู่บ่อยๆ เพราะระบบการเรียนรู้ที่ถูกพัฒนาให้คล้ายสมองของมนุษย์หรือ Deep Learning / Artificial Neural Network ทำให้มันชักจะดูฉลาดกว่ามนุษย์ ผู้เป็นคนลงมือสร้างขึ้นมาซะอย่างนั้น

AlphaGo เวอร์ชั่นใหม่จาก Google DeepMind เพิ่งเอาชนะเซียนหมากล้อมมือวางอันดับหนึ่งของโลกสำเร็จ IBM Watson เพิ่งถูกจ้างเข้าไปทำงานแทนพนักงานเคลมประกัน 34 คน ในบริษัทญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนที่แล้ว หรือเกมที่เล่นกันด้วยจิตวิทยาอย่างไพ่ Poker มนุษย์ก็โดน AI ชื่อ Libratus เอาชนะไปได้

ฟังดูน่าตะลึงปนสยองเล็กน้อย – แต่ทั้งหมดดูเป็นเรื่องของเกมตรรกะและข้อมูล และเป็นหน้าที่ของคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ทั้งหลายอยู่แล้วตั้งแต่มันถูกสร้างขึ้น

จนกระทั่งข่าวของผลงานเรื่องสั้นที่สร้างจากฝีมือของ AI ของนักพัฒนาชาวญี่ปุ่นผ่านเข้ารอบรางวัลวรรณกรรม (ที่ตัดสินโดยกรรมการที่เป็นมนุษย์!)

ได้ถูกเผยแพร่ออกมา ความเชื่อที่ว่า AI ไม่สามารถสร้างงานด้านครีเอทีฟต่างๆ ที่ต้องอาศัยความคิดและจินตนาการอันซับซ้อนแบบมนุษย์ก็สั่นคลอน (ถ้าอยากลองอ่านตัวอย่างเร็วๆ นี้เพิ่งมีผู้สร้าง AI ให้ลองเขียน Harry Potter ขึ้นมาใหม่จากนิยายสี่เล่มแรกที่ใส่เข้าไป เพื่อให้มันได้เรียนรู้ตัวละครในเรื่อง รวมไวยากรณ์ ของ J.K. Rowling ลองเข้าไปอ่านได้ ที่นี่)

ไม่ใช่แค่นวนิยาย แต่เกาหลีใต้กำลังจะเปิดศึกอย่างเป็นทางการระหว่างนักแปลมืออาชีพ และโปรแกรมแปลภาษาอย่าง Google Translate และ Naver Papago สอง AI ที่มีคนใช้มากที่สุดในประเทศ ที่เพิ่งเปลี่ยนจากการแปลคำต่อคำที่ทำให้ดูเด๋อ มาเป็นการแปลทั้งประโยคด้วยการดูบริบทและเรียนรู้ไวยากรณ์ไปเรื่อยๆ จากการแปลแต่ละครั้ง โดยกรรมการจะสุ่มเลือกบทความภาษาอังกฤษและภาษาเกาหลีให้ทั้งสองฝ่ายแปล และตัดสินโดยดูจากความสมบูรณ์ในการแปล และการใช้ประโยคที่ใกล้เคียงต้นฉบับมากที่สุด

หรือจะข้ามไปในฝั่งที่ต้องใช้ทั้งความเร็วและประสบการณ์ในการเขียน วงการวารสารศาสตร์ก็กำลังหันมาใช้ AI เพื่อช่วยในการรายงานข่าว อย่าง The Washington Post ที่ถูก Jeff Bezos เจ้าของ Amazon เข้าซื้อเมื่อปี 2013 ก็พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ชื่อ Heliograf เพื่อใช้รายงานข่าวที่มีข้อมูลปริมาณมหาศาลแต่ยังต้องการความเร็วในการรายงาน เช่น ทวีตผลการแข่งขันโอลิมปิก 2016 หรือการรายงานผลลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว ทั้งหมดถูกเขียนขึ้นด้วย AI ในภาษาที่เหมือนมนุษย์เป็นคนเขียนด้วยตัวเอง

น่าทึ่งไปกว่านั้นคือ AI ชื่อ Wibbitz ของ USA Today ที่ทำได้มากกว่าเขียน เพราะมันสามารถทำวิดีโอข่าวสั้นๆ ได้ด้วยตัวเอง เปลี่ยนข่าวให้เป็นสคริปต์ เลือกรูปและฟุตเทจวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับเนื้อความในข่าวนั้น ไปจนถึงใส่เสียงพูด โดยไม่ต้องมีมนุษย์แม้แต่คนเดียวเข้าไปอยู่ในกระบวนการทำงาน!

คำถามคือ – เราควรตระหนกตกใจกับการเข้ามาของ AI ในอาชีพงานเขียนหรืองานสร้างสรรค์หรือเปล่า?

อาจจะไม่ใช่ในเร็ววันนี้ เพราะผู้พัฒนาจากทั้งฝั่งงานแปลและงานข่าวยังเชื่อว่า แต้มต่อของ AI ที่เหนือกว่ามนุษย์คือความเร็ว แต่มันไม่สามารถเรียนรู้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจนกว่าเราจะ ‘สอน’ ให้มันแก้ไขเพื่อที่จะไม่ผิดพลาดในครั้งต่อไป ดังนั้นงานแปลที่ได้อาจยังไม่มีคุณภาพเทียบเท่าสมองของมนุษย์

ฟากงานข่าว ผู้พัฒนา Heliograf ก็ย้ำว่า AI จะเข้ามาครองงานจากเราไปได้ก็เพียงงานที่ต้องใช้กำลังคนเยอะๆ เท่านั้น เขาเปรียบเทียบระหว่างการรายงานข่าวเลือกตั้งเมื่อปี 2012 เทียบกับ 2016 ว่าครั้งนั้นต้องใช้เวลาถึง 25 ชั่วโมงกับนักข่าว 4 คนในการรายงานผล ในขณะที่ครั้งนี้ Heliograf คนเดียวก็เขียนไปได้มากกว่า 500 ข่าว โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรมนุษย์ให้ต้องเสียเวลากับข้อมูลปริมาณมากๆ แถมยังรายงานข้อมูลในพื้นที่ที่ไม่แมส แต่ก็ยังมีคนอ่านได้ด้วย (เพิ่มจำนวนคนอ่านให้มากขึ้น – ส่งผลดีต่อองค์กรที่มากขึ้น)

ในอนาคต AI อาจเข้ามาเป็นผู้ช่วยให้กับนักข่าวที่เป็นมนุษย์ด้วยการสำรวจตรวจสอบเทรนด์ที่คนกำลังพูดถึง เพื่อดูว่ามีข่าวเกี่ยวกับหัวข้อนี้หรือยัง

ถ้ายัง มันจะเป็นผู้ช่วยที่จะเตือนให้เราเขียนข่าว หรือไม่อย่างนั้น มันก็สามารถเขียนขึ้นได้เอง ในภาษาที่เป็น ‘มนุษย์’ จริงๆ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่าที่สุดแล้วเมื่อ AI เรียนรู้ข้อมูลมากขึ้น เรียนรู้ความผิดพลาดจากการสอนของมนุษย์มากขึ้น ตัวของมันเองจะพัฒนาไปมากแค่ไหน และอำนาจในการเขียน การแปล การรายงานข้อมูลข่าวสารจะตกไปเป็นของใคร เราจะพ่ายแพ้กับอำนาจการควบคุมข้อมูลของปัญญาประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเองกับมือหรือเปล่า

 

คำเตือนของ สตีเฟน ฮอว์คิง ที่ว่า “AI ที่ถูกพัฒนาถึงขั้นสูงสุดอาจทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์สูญพันธุ์” จะเป็นจริงหรือไม่
ตอนนี้เราคงทำได้แค่ลองถาม Siri ที่อยู่ในมือไปก่อน

 

 

อ่านเพิ่มเติม

-บทความ WHAT NEWS-WRITING BOTS MEAN FOR THE FUTURE OF JOURNALISM ของ Joe Keohane จาก Wired, February 16, 2017, 7:00 AM

-บทความ AI programs take on human translators ของ Yoon Sung-won จาก The Korea Times, February 15, 2017, 2.00 PM

-บทความ Robots will cover the Olympics for The Washington Post ของ Lucia Maffei จาก Tech Crunch, August 5, 2016

-บทความ Domain Specific Newsbots ของ Al Johri, Eui-Hong (Sam) Han และ Dhrumil Mehta จาก Stanford Journalism Program, 2016

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save