fbpx
อ่านโจทย์ใหม่ AI ในกระบวนการยุติธรรม กับ พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล

อ่านโจทย์ใหม่ AI ในกระบวนการยุติธรรม กับ พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

 

 

 

การพัฒนาระบบและกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน นับเป็นโจทย์ระยะยาวที่ทุกสังคมต้องหันกลับมาขบคิดอยู่เสมอเพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในห้วงเวลาที่พัฒนาการด้านเทคโนโลยีก้าวล้ำไปไกล ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI คือหนึ่งในตัวเลือกที่คนคาดหมายว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกของคนทำงาน หรือกระทั่งนำมาตัดสินคดีความแทนมนุษย์

หาก AI กลายเป็นส่วนหนึ่ง (หรืออาจแทนที่มนุษย์) ในกระบวนการยุติธรรม ภาพรวมของระบบจะถูกพลิกโฉมไปเป็นอย่างไร  101 ชวนคิดชวนคุยกับ ดร.พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองโจทย์เทคโนโลยีและความยุติธรรมใหม่ที่อาจมาถึงในอนาคตอันใกล้

 

AI กับปัญหาในกระบวนการยุติธรรม

 

ตอนนี้การนำ AI เข้ามาใช้ในกระบวนการยุติธรรมเริ่มเป็นกระแสในสังคมเรามากขึ้นแล้ว ซึ่ง AI ก็เหมือนเทคโนโลยีทั่วไป เราไม่ควรเริ่มนำมาใช้เพียงเพราะว่าเรา ‘อยากใช้’ ต้องหาวิธีใช้มันให้ได้ เพื่อให้องค์กรดูทันสมัย ทันโลก แต่ควรตั้งคำถามว่า เกิดปัญหาอะไรในกระบวนการยุติธรรม แล้วจะแก้ไขอย่างไร AI สามารถแก้ไขได้ไหม และมันเป็นวิธีที่ดีที่สุดจริงหรือเปล่า

ปัญหาที่แก้ได้ด้วย AI จริงๆ มีเยอะมาก มันเหมือนการนำเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคนในกระบวนการต่างๆ ผมอยากชวนให้คิดภาพว่า กระบวนการยุติธรรมก็เหมือนสายพานการผลิตอย่างหนึ่งที่จุดเริ่มต้นมีข้อพิพาทเกิดขึ้น นำข้อพิพาทดังกล่าวมาใส่สายพาน ผ่านกระบวนต่างๆ ทั้งพิจารณาคดี สืบพยาน จนสุดท้ายได้คำตัดสินชี้ขาดออกมา บังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษานั้น

กระบวนการเหล่านี้มีต้นทุนที่สูง ไม่ว่าจะเป็นค่าเสียโอกาสของคู่ความตั้งแต่เริ่มคดีที่ส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงค่าใช้จ่ายของรัฐในการจัดการกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่เงินเดือนเจ้าหน้าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ทั้งหมดเป็นภาษีของเราทุกคน ดังนั้น หนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่เรานำ AI มาใช้ คือ คัดกรองข้อพิพาทต่างๆ ด้วยความที่ผมมองว่ากระบวนการมันแพง เราก็ไม่อยากให้มีของที่ไม่คุ้มค่าเข้าสู่กระบวนการ ให้ข้อพิพาทบางอย่างเข้ามาแล้วเสียหายต่อคู่ความและสังคม

ขณะเดียวกัน ผมคิดว่าคนเราควรมีสิทธิ์เข้าถึงความยุติธรรม อีกหนึ่งจุดประสงค์ที่ผมมองเรื่องการนำ AI เข้ามาใช้ คือการเพิ่มความสามารถในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม (access to justice) และเพิ่มความรวดเร็วของกระบวนการ เพราะเรามีคำพูดในวงนักกฎหมายว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง” ซึ่งมีเคสตัวอย่างเยอะมาก อย่างในอิตาลี มีคนฟ้องบริษัทประกันเพราะเป็นมะเร็งที่กระดูกสันหลัง แล้วประกันไม่ยอมจ่ายเงิน หมอบอกว่าเขาจะอยู่ได้อีกแค่ประมาณ 10 เดือน แต่ปรากฏว่าศาลกำหนดมาสืบพยานในอีก 14 เดือน คดีนี้จึงกลายเป็นข่าวดังมากจากกำหนดของศาล

ดังนั้น ความรวดเร็วหรือประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมก็ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความยุติธรรมด้วย ถ้าถามว่า AI ควรเข้ามาแก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมเรื่องอะไร ผมคิดว่าการเข้าถึงและประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมเป็นสองเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้

 

สำรวจพัฒนาการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

 

AI หรือที่เรียกกันว่า machine learning มีลักษณะเด่น คือต้องการข้อมูลเป็นวัตถุดิบในการพัฒนา และยังต้องการข้อมูลในปริมาณมากด้วย ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เรามี AI ที่ใช้ข้อมูลแบบ structured data หรือข้อมูลที่มีโครงสร้างชัดเจน พวกตัวเลข น้ำหนัก ส่วนสูง อายุ บันทึกพฤติกรรมของคน เช่น เข้าออกงานกี่โมง มานานมากแล้ว แต่ AI ที่ใช้ข้อมูลอีกแบบที่ตรงกันข้าม เรียกว่า unstructured data หรือข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างชัดเจน เช่น รูปภาพ ตัวอักษร เพิ่งจะมีเมื่อเร็วๆ นี้เอง

ไอเดียของ AI ที่ว่าเกิดขึ้นมานานแล้วโดย Yann LeCun รู้จักกันในชื่อของเครือข่ายปัญญาประดิษฐ์ Neural Network และ Deep learning แต่พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เป็นรูปธรรมดังกล่าวเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ตัวอย่างเช่น Alpha Go ที่เล่นโกะชนะคนก็เป็นหนึ่งใน AI ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นและชาญฉลาดเหมือนสมองคน

เมื่อ AI มีความซับซ้อนและสามารถประมวลผลข้อมูลแบบรูปภาพหรือตัวอักษรได้ ตอนนี้จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้ด้านภาษาศาสตร์ด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing หรือ NLP) เพื่อแปลงตัวอักษรไปเป็นชุดตัวเลขให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลได้ ซึ่งนอกจากชุดตัวเลขจะเก็บคำไว้แล้ว ยังสามารถเก็บความหมายของคำได้โดยเรียนรู้จากบริบทแวดล้อมคำนั้นๆ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อีกหลายแบบ

ล่าสุด OpenAI บริษัทยักษ์ใหญ่ของ อีลอน มัสก์ ก็ปล่อยโมเดลที่ช่วยสร้างชุดตัวเลขแทนตัวอักษรชื่อ Gpt-3 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และมีคนนำไปลองทำแอปพลิเคชันต่างๆ ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ เราสามารถนำมาพัฒนาเป็นโมเดล AI แปลประโยคสัญญาซึ่งเขียนด้วยภาษากฎหมายให้กลายเป็นภาษาคนทั่วไปได้ และอ่านรู้เรื่องด้วย หรือสามารถพัฒนาโมเดลให้ช่วยเขียนหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ด้วยสำนวนของ อกาธา คริสตี้ ก็ได้เหมือนกัน

พัฒนาการเหล่านี้ทำให้ AI เข้ามามีบทบาทในโลกกฎหมายมากขึ้น เช่น คัดแยกเอกสารคดีประเภทต่างๆ ตรวจสอบว่าคดีมีข้อยุ่งยากไหม หรือเวลาผู้พิพากษานั่งบัลลังก์จะต้องอัดเสียง แทนที่จะถอดเทปทีหลัง ตอนนี้ก็มีเทคโนโลยีที่แปลงประโยคพูดไปเป็นตัวอักษร แม้แต่การค้นหาคำพิพากษาก็จะแม่นยำมากขึ้น ง่ายมากขึ้น เพราะเมื่อเรามีชุดตัวเลขที่บรรจุทั้งคำและความหมาย การที่ความหมายใกล้เคียงกัน ชุดตัวเลขเหล่านั้นก็จะใกล้กัน ทำให้เราสามารถค้นหาข้อมูลด้วยคำหรือความหมายที่ใกล้เคียงกับที่ต้องการก็ได้ บางทีการพัฒนาส่วนเล็กๆ น้อยๆ นี้ก็สามารถสร้างความแตกต่างมหาศาลได้

 

AI จะตอบโจทย์แก่นหลักของความยุติธรรมได้จริงไหม?

 

เวลาผมสอนนักศึกษา คำถามแรกที่ผมมักจะถามคือ กฎหมายมีไว้ทำไม

หลายคนอาจตอบว่ามีไว้เพื่อสร้างความยุติธรรมในสังคม ซึ่งเราก็อาจต้องถกเถียงกันอีกว่าความยุติธรรมนั้นคืออะไร แต่สำหรับผม ผมคิดว่ากฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่เอาไว้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม สมมติว่ามีคนเดินเข้าบ้านคนอื่น หยิบฉวยของออกมา สร้างความเดือดร้อนให้เจ้าของบ้าน นี่คือปัญหา เราจำเป็นต้องสร้างระบบบางอย่างขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้คนเดินเข้าบ้านคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เกิดนวัตกรรมที่เราเรียกว่าสิทธิทางกฎหมาย อย่างสิทธิการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน กรรมสิทธิ์ ที่สามารถกันไม่ให้ใครเข้ามายุ่ง เพราะฉะนั้น กฎหมายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากปัญหา

พอบอกว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับการแก้ไขปัญหา เมื่อเกิดปัญหาหนึ่ง เราจึงเลือกใช้เครื่องมืออื่นๆ นอกจากกฎหมายได้ เช่น เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมก็มีนวัตกรรมมากมายออกมาควบคุมพฤติกรรมคนในสังคมโดยที่ไม่ต้องใช้การบังคับแบบกฎหมาย ไม่อย่างนั้นสังคมจะมีกฎหมายออกมาเต็มไปหมด โดยไม่สนใจว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือเปล่า อย่าลืมนะครับว่ากฎหมายมีต้นทุนที่แพงมาก ต้องมีองค์กรตรวจสอบการบังคับใช้ และยังไม่นับรวมต้นทุนความผิดพลาด เช่น ลงโทษเกินส่วน จับผู้บริสุทธิ์มาลงโทษ เป็นความผิดพลาดโดยบริสุทธิ์อีก

ตอนนี้ในรัฐธรรมนูญจึงมีมาตรา 77 หรือออก พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 (Regulatory Impact Assessment : RIA) เพื่อควบคุมการออกกฎหมาย ไม่ใช่สักแต่ว่าออก แต่ต้องออกต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น ต้องไม่มีทางแก้ไขปัญหาทางอื่นแล้วนอกจากการออกกฎหมาย รวมถึงมีกระบวนการ regulatory guillotine ที่ทบทวนกฎหมายที่มีอยู่เพื่อลด ละ เลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น

เมื่อพูดถึงการออกกฎหมาย เดิมเวลาเราจะออกกฎหมาย วิธีที่เรานิยมทำคือดูประเทศอื่นๆ แล้วหยิบส่วนเล็กส่วนน้อยจากประเทศต่างๆ มาออกกฎหมาย การทำแบบนี้เหมือนมองว่ากฎหมายคือการแก้ไขปัญหาทีเดียวระดับประเทศ ซึ่งถึงจะมีข้อดีของมันอยู่ แต่ปัญหาคือไม่ใช่ทุกปัญหาจะกระทบทั้งประเทศ กฎหมายที่เกิดขึ้นอาจมาจากปัญหาของ นาย ก นาง ข แต่อาจไม่ใช่ปัญหาที่กระทบ นาย ค ก็ได้ ดังนั้น การใช้ข้อมูลผลกระทบเหล่านี้จึงเริ่มจำเป็นขึ้นเรื่อยๆ ในการออกกฎหมาย และเมื่อต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก การวิเคราะห์ข้อมูลก็จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย จุดนี้ AI ก็สามารถเข้ามามีบทบาทได้ดี

ขณะเดียวกัน หากถามว่าแก่นของศาลคืออะไร พอเราเริ่มมองจากปัญหา ก็อาจตีความได้ว่าผู้พิพากษาเป็นเครื่องมือระงับข้อพิพาท ซึ่งอันที่จริงก็มีทางเลือกมากมายนอกจากไปศาลเช่นกัน ดังที่เราเห็นว่าทุกวันนี้มีการระงับข้อพิพาททางเลือกเยอะมาก เช่น อนุญาโตตุลาการ การไกล่เกลี่ย บางคดีศาลเองก็มีกระบวนการพิเศษ คือบังคับให้ไกล่เกลี่ยก่อนด้วย ฉะนั้น ถ้าเราบอกว่าแก่นสำคัญของผู้พิพากษาหรือกฎหมาย คือการแก้ปัญหาในสังคม การใช้ AI ในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะในฐานะผู้พิพากษาหรือในกระบวนการขั้นไหน ถ้าสามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็ถือว่าตอบโจทย์แก่นในทำนองเดียวกันกับกฎหมายและศาล

 

AI กับคนทำงานในโลกกฎหมาย

 

AI สามารถเข้ามาช่วยคนทำงานในโลกกฎหมายได้หลายแบบ อย่างนักกฎหมายที่ทำงานใน Law firm ก็สามารถใช้ AI ช่วยคัดกรองอีเมล ซึ่งเนื้อหาอีเมลของคนที่เข้ามาติดต่อนักกฎหมายก็ค่อนข้างยูนีก วันๆ หนึ่งมีหลายร้อยหลายพันฉบับ หรือในส่วนของทนาย ก็มีตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีทางกฎหมาย ชื่อ Lex Machina มีบริการหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาก คือเขานำข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของคดี รายชื่อผู้พิพากษา รายชื่อคู่ความ ทนายความ ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินคดี จากรายละเอียดคำพิพากษาที่เปิดเผยออกมาสร้างเป็น dashboard เพื่อช่วยให้ทนายให้คำปรึกษากับลูกความได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถวิเคราะห์ได้ว่า คดีที่ลูกความต้องการดำเนินการ ที่ผ่านมาใช้เวลาโดยเฉลี่ยแค่ไหน ผู้พิพากษามีสถิติคดีที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง

ทำไมเราต้องสร้างระบบแบบนี้ขึ้นมา? เพราะเวลาเราไปหาทนายสักคน คำถามที่เราจะถามคือ เรามีโอกาสชนะมากน้อยแค่ไหน หรือต้องใช้เวลานานแค่ไหน ถ้าเรามีคลังข้อมูลเป็นแสนคดี สามารถอ่านข้อมูลคดีที่ใกล้เคียงกัน ก็จะให้คำปรึกษาได้ดีขึ้น ทำให้คนเข้าถึงความยุติธรรมมากขึ้น

นอกจากนี้ เราอาจทำให้คนเข้าถึงทนายง่ายขึ้น ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาจับคู่ทนาย เหมือนจองโรงแรมผ่าน agoda booking.com หรือทำให้คนเข้าถึงคำแนะนำทางกฎหมาย ด้วยการสร้างระบบที่พอกรอกคำถามแล้วสามารถหาข้อมูลกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ เมื่อคนรู้สถานะของตนชัดเจน คดีที่ไปสู่ศาลก็จะน้อยลง ศาลมีเวลามากขึ้น นัดคดีได้เร็วขึ้น จบคดีไวขึ้น มีเวลาโฟกัสกับคดีที่ยุ่งยากมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องกันไป

บางเรื่อง AI ยังสามารถช่วยศาลได้อย่างที่คนคาดไม่ถึง ทุกวันนี้เวลามีคดีเข้ามาสู่ศาล การจ่ายสำนวนให้ผู้พิพากษาดูแลมักใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ซึ่งในความเป็นจริง ท่านจะแบ่งให้ตาม 2 ปัจจัยหลักๆ อย่างแรกคือความชำนาญ ให้ผู้พิพากษาที่มีความชำนาญในคดีนั้นๆ เป็นผู้ตัดสิน อย่างที่สองคือปริมาณงาน ดูว่าผู้พิพากษายุ่งไหม

เรื่องเหล่านี้เราสามารถเก็บข้อมูลได้ทั้งหมด อย่างความชำนาญก็เก็บจากเวลาที่ผู้พิพากษาปฏิบัติงานมา จำนวนคดีที่ตัดสิน ส่วนปริมาณงาน น่าสนใจว่าเวลาเราจะดูว่าใครยุ่งหรือเปล่าไม่ใช่การมองไปในอดีต แต่เป็นการมองอนาคต ซึ่งสิ่งที่ AI ทำได้และเก่งด้วยคือการทำนายอนาคตจากข้อมูลที่มีอยู่ ถ้าผู้พิพากษามีคดีในมือ 7-8 คดี AI จะประมวลจากข้อมูลที่ผ่านมาได้ว่าคดีไหนใช้เวลาเฉลี่ยเท่าไร แบบนี้เราก็จะสามารถทำนายการทำงานของผู้พิพากษาได้ และจะช่วยให้ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะแจกจ่ายสำนวนได้เหมาะสมยิ่งขึ้น

อีกตัวอย่างหนึ่งที่สามารถนำ AI เข้ามาใช้ คือการตรวจสอบความถูกต้อง ในรอบสิบปีให้หลัง งานวิจัยในต่างประเทศสนใจเรื่องการพิสูจน์ปัจจัยที่ไม่ควรเกี่ยวข้องกับคำพิพากษาของศาล เช่น ความเห็นทางการเมือง สีผิวหรือเชื้อชาติของจำเลย เพศของจำเลย หรือกระทั่งอากาศเช้าวันตัดสินคดี ว่ามีผลต่อคำตัดสินของศาลจริงหรือเปล่า ผลคือในหลายๆ กรณี ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อคำพิพากษาจริง หากใช้ AI ช่วยประมวลผลจากคำพิพากษาที่เปิดเผยออกมา ก็จะสามารถตรวจสอบการทำงานของศาลได้ว่าตัดสินอย่างเหมาะสมหรือไม่

ตรงนี้มีประเด็นที่น่าสนใจสำหรับศาลไทย คือในประเทศเรา คำพิพากษาแทบไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งที่ตอนนี้ในระดับสากลมีแนวคิดว่าควรจะเปิดเผยทั้งหมดไม่ว่าศาลชั้นไหนก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นของไทยไม่มีเลย ศาลอุทธรณ์น้อยมาก ศาลฎีกาก็เปิดเผยแค่ฉบับย่อ ไม่มีฉบับเต็ม คนที่จะขอฉบับเต็มได้ต้องเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี และต้องขอคัดลอกเอา ซึ่งงานวิจัยที่เล่ามาจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีข้อมูลสาธารณะ และถ้าให้ศาลต้องมานั่งตรวจสอบ วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำงานกันเองก็คงเหนื่อยมาก ผมจึงคิดว่าถ้าข้อมูลเหล่านี้เปิดเผยได้จะเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้พิพากษาเองและกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด

 

อนาคตข้างหน้า AI อาจกลายเป็นผู้พิพากษา (?)

 

การมี AI เป็นผู้พิพากษานั้นเป็นไปได้แน่นอนครับ แต่อาจไม่ใช่การมาแทนที่ทั้งหมด ถ้าเราไม่เข้าใจ AI เลยจะรู้สึกว่ามันเป็นกล่องมหัศจรรย์ที่ทำอะไรก็ได้ อัจฉริยะมากจนเอามาตัดสินแทนคนได้ แต่ในความเป็นจริงอาจไม่ง่ายขนาดนั้น สำหรับเทคโนโลยี AI หรือ Machine Learning ในตอนนี้ ถือว่าเป็นขั้นต่ำสุดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือถูกเรียกว่า Weak AI ด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นสิ่งที่หิวข้อมูล ต้องการข้อมูลเยอะมาก เพื่อศึกษารูปแบบร่วม หรือแพตเทิร์นของข้อมูลบางอย่าง จนทำให้ตัวเองสามารถทำนายอนาคตจากข้อมูลเหล่านั้นได้ เช่น ถ้าผมต้องการให้ AI แยกเอกสารสัญญาเช่าออกจากเอกสารอื่น ก็ต้องให้ข้อมูลเอกสารสัญญาเช่าจำนวนมากเพื่อให้มันจดจำเนื้อหาที่คล้ายกัน มีคำว่าเช่า ทรัพย์สิน จะได้แยกถูกต้อง

ข้อบกพร่องของ AI แบบนี้คือเก่งเฉพาะเรื่อง ไม่มีเหตุผล และถ้ามีจุดผิดพลาดเล็กๆ เพียงจุดเดียว ไม่เหมือนข้อมูลที่มีอยู่ มันอาจจะทำนายเป็นอย่างอื่นไปเลย

อย่างไรก็ตาม การนำ AI มาแทนที่ผู้พิพากษาก็เริ่มมีแล้วในต่างประเทศ อย่างเอสโตเนีย เนเธอแลนด์ มีการใช้ AI ชี้ขาดข้อพิพาทอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นคดีง่ายๆ ค่อนข้างตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน เป็นคดีที่เกิดขึ้นซ้ำๆ และมีข้อมูลให้ AI เรียนรู้ทำนายผิดถูกจำนวนมาก ทั้งนี้ สามารถเอามาประยุกต์ใช้กับวิธีง่ายๆ เช่น ใช้ rule-based approach สั่งให้ AI ถามคำถามเบื้องต้นเพื่อคัดกรองกรณีพิพาท และทำให้ระบบตัดสินคดีได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น แม้การนำ AI มาตัดสินอาจมีความแม่นยำต่ำลง แต่ถ้าเป็นกรณีคดีที่มีข้อมูลจำนวนมาก รูปแบบชัดเจน ก็โอเค น่าใช้ AI มาจัดการคดีง่ายๆ เหล่านี้ เพราะคดีบางอย่างก็ไม่ควรเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม คดีที่เกิดขึ้นซ้ำๆ คู่กรณีควรตกลงกันได้แต่แรก เพราะมีตัวอย่างให้เห็นบ่อยและผลตัดสินใกล้เคียงกันหมด การไปศาลรังแต่ทำให้เสียเวลา เสียเงิน เสียความรู้สึก

ในอนาคต ถ้าจะไปถึงจุดที่ AI จะมาทำหน้าที่แทนผู้พิพากษาทั้งหมด คงต้องใช้เทคโนโลยีแบบ Artificial General Intelligence (AGI) หรือที่เรียกกันว่า Strong AI ซึ่งยังห่างไกลจากปัจจุบันมาก แต่เกริ่นคร่าวๆ ว่าเร็วๆ นี้มีศาสตร์หนึ่งที่น่าสนใจ คือ Machine Reasoning เป็นการพยายามถอดรหัสการให้เหตุผลทางกฎหมายมาสร้างเป็นตรรกะว่ามีปัจจัย เงื่อนไขอะไรบ้างในการตัดสิน ถ้าเงื่อนไขครบ ควรจะตัดสินหรือประมวลผลลัพธ์อย่างไร เป็นการเรียนรู้ที่ต่างจากการหาแพตเทิร์นในชุดตัวอักษรหรือตัวเลขที่มีอยู่ในปัจจุบัน และถือว่าใกล้เคียงการคิดของมนุษย์มากที่สุดแล้ว แต่ทุกคนคงจินตนาการกันออกใช่ไหมครับว่ามันค่อนข้างยุ่งยากมาก ใช้กำลังแรงงานคนค่อนข้างเยอะ ใช้กำลังคอมพิวเตอร์ประมวลผลค่อนข้างสูง และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรข้อมูลที่เรามีอยู่มากมายค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ ยังสามารถประยุกต์ใช้อย่างจำกัด ทำให้ตอนนี้อาจยังไม่แพร่หลายเท่า Machine Learning

 

จะทำอย่างไรถ้า AI เรียนรู้คำพิพากษาที่มีอคติ และอาจตัดสินโดยอคติ?

 

โดยธรรมชาติแล้ว อคติค่อนข้างเกิดเฉพาะกรณี เช่น เป็นเฉพาะผู้พิพากษาบางท่าน บางคดี บางกลุ่มจำเลย ในเมื่อเราให้ AI เรียนรู้ อ่านคำพิพากษาจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นมีคำพิพากษาที่เกิดจากอคติของผู้พิพากษา มันอาจจะเป็นแค่ white noise เป็นข้อมูลรบกวนชุดเล็กๆ ในจำนวนข้อมูลทั้งหมดก็ได้ เพราะเวลาเราตั้งโจทย์ให้ AI เรียนรู้ ธรรมชาติของมันคือการหาแพตเทิร์นในภาพรวมมากกว่าการให้ความสำคัญรายกรณี ถ้าภาพรวมของระบบยุติธรรมในสังคมไม่มีปัญหา ข้อมูลอคติเหล่านี้ก็ถูกแคนเซิลเอาต์ออกไปได้ในระดับหนึ่ง

หรือถ้าสมมติว่าเรารู้ปัจจัยที่สร้างอคติในการพิพากษา เช่น ความเห็นทางการเมืองมีผลต่อการตัดสิน เราก็สามารถตั้งค่าให้ AI รู้ว่ามีปัจจัยเหล่านี้อยู่ในข้อมูล ให้น้ำหนักกับปัจจัยเหล่านี้น้อยๆ หรือไม่ให้ความสำคัญเลย แบบนี้ผลการทำนายของ AI ก็จะออกมาโดยวิเคราะห์จากองค์ประกอบส่วนอื่นๆ ของข้อมูล หรือถ้าเราคาดว่าบางคดีถูกตัดสินโดยอคติของผู้พิพากษา ก็อาจจะกันคดีเหล่านั้นออกไม่ให้ AI เรียนรู้ จากนั้นค่อยนำแบบจำลอง AI ที่ได้กลับมาตรวจสอบมาตรฐานของข้อมูลที่เรากันไว้เหล่านั้นอีกทีก็ได้ มีทางเลือกหลายแบบในการสร้างการเรียนรู้ให้ AI

 

AI ตัดสินพลาด ใครรับผิดชอบ?

 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าเมื่อเกิดข้อผิดพลาด เราหาคนมารับผิดชอบเพื่ออะไร สำหรับผม การที่เราให้คนๆ หนึ่งต้องรับผิดเมื่อเกิดความผิดพลาด เราไม่ได้ต้องการให้เขาชดใช้ แต่เป็นกลไกที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดความระมัดระวังมากขึ้น นี่คือเหตุผลของบทลงโทษ คือเราต้องการสร้างให้เขารู้ว่าความไม่ระมัดระวังมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ถ้าไม่อยากจ่ายก็ต้องระวังมากขึ้น ศาลเองเมื่อตัดสินผิด ก็อาจจะต้องมีคนรับผิดชอบเพื่อลดความผิดพลาดในครั้งต่อไป

ประเด็นคือถ้าเราต้องมีกลไกการรับผิดเพื่อลดความผิดพลาด แล้วเมื่อใช้ AI เป็นผู้พิพากษาจะทำอย่างไร ใครรับผิดชอบ เรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นในวงการปรัชญาว่าเราควรให้ปัญญาประดิษฐ์มีสภาพบุคคลหรือเปล่า ที่ผ่านมา เรายังใช้เทคโนโลยีแบบ Weak AI อยู่ ปัญหาเรื่องสภาพบุคคลของ AI จึงยังไม่มา อย่างเอสโตเนีย เนเธอแลนด์ที่ใช้ AI มาตัดสินแทนผู้พิพากษา สุดท้ายก็ยังไม่ถือว่าเป็นที่สุด ยังสามารถอุทธรณ์ต่อศาลมนุษย์ได้เสมอ ฉะนั้น กรณีเหล่านี้จึงยังไม่ต้องมีเรื่องความรับผิดชอบอะไร เหมือนเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราสามารถสร้าง Strong AI ขึ้นมาใช้ในกระบวนการยุติธรรม ผมเชื่อว่ากรณีนั้น AI คงพัฒนาจนเริ่มคุยกับเราได้ ตอนนั้นเราอาจจะรู้สึกว่า make sense ถ้า AI จะมีสภาพเป็นบุคคล และพอมีสภาพบุคคล ก็คงมีการพูดถึงเรื่องสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของ AI มากขึ้นด้วย

 

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากบอกคนในวงการกฎหมายคือ หลังจากนี้ AI น่าจะต้องเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรา ไม่ว่าในบริบทที่เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งหรือเป็นนักกฎหมาย สิ่งสำคัญไม่ใช่การหลีกเลี่ยงมัน แต่ต้องอยู่กับมันและเข้าใจมัน เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานของนักกฎหมาย เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกันของนักกฎหมาย คือการอำนวยความยุติธรรมในสังคม

 

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save