fbpx
พรรคตรงนี้ดีกว่า พรรคที่ว่าชื่อ AI?

พรรคตรงนี้ดีกว่า พรรคที่ว่าชื่อ AI?

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

แค่โหมโรงเลือกตั้งในเมืองไทย ทุกอย่างก็ดูน่าเบื่อ หมดความหวัง ความรู้สึกเหมือนโดนข่มขืนกลับมาอีกครั้ง หากใครรู้สึกแสนเอือมระอากับนักการเมืองที่วนเวียนอยู่กับการแสวงหาอำนาจ และระบบการเมืองที่ไม่เคยมีประชาชนอยู่ในจิตสำนึกของนักการเมืองจริงๆ อย่างที่ผมเป็นอยู่ ลองมาทำความรู้จักกับนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่เชื่อกันว่าอีกไม่เกินครึ่งศตวรรษนี้จะเข้ามามีบทบาทการบริหารในหลายๆ ประเทศอย่างแน่นอน

มาทำความรู้จักกับนักการเมือง AI กันครับ

ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือชื่อ ‘Resource Revolution’ หรือ ‘ธุรกิจพลิกอนาคต’ ของสเตฟาน เฮค (Stefan Heck) แมท โรเจอร์ส (Matt Roger) และพอล แครอล (Paul Carroll) (แปลเป็นภาษาไทยโดย สฤณี อาชวานันทกุล สำนักพิมพ์ Openworld) เป็นเล่มที่อยากแนะนำให้ทุกคนอ่าน โดยเฉพาะตอนท้ายๆ ของหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนเสนอแนวคิดเรื่องการทำธุรกิจในโลกอนาคตอันใกล้ ว่าธุรกิจอะไรบ้างที่น่าจะเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพยากรของมนุษย์ได้อย่างคุ้มค่า หนึ่งในธุรกิจที่พวกเขาคิดว่าเป็นไปได้ก็คือ แพลตฟอร์มในการบริหารจัดการภาครัฐ ที่เรียกว่า Government Operation Verified (GOV) หรือ บริษัทยืนยันปฎิบัติการรัฐบาล

หลักการทำงานของ GOV คือการสร้างแพลตฟอร์มที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก คล้ายกับการสร้างระบบบัญชีหรือลอจิสติกที่บริษัทสามารถนำไปใช้ได้ทั่วไป แต่เปลี่ยนเป็นเรื่องการบริหารจัดการงานของรัฐ เช่น งานเอกสารทางราชการต่างๆ อย่างการออกหนังสือเดินทาง ใบขับขี่ บริการสุขภาพ แผนบำนาญ ข้อมูลการเสียภาษี การเสียค่าปรับต่างๆ โดยปรับ GOV ให้เข้ากับความเหมาะสมแต่ละประเทศ และเชื่อมฐานข้อมูลประชากรเข้าด้วยกัน วิธีการนี้สามารถลดการทุจริต และการหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากหน้าที่การงาน ข้อดีที่สุดคือรัฐสามารถบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดแรงงาน ตรงกลุ่มเป้าหมาย รวดเร็วและตรวจสอบได้

ผมเชื่อเหลือเกินว่าแนวคิดนี้มีบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งกำลังเริ่มพัฒนาอย่างเงียบๆ ไปแล้ว โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีที่มีฐานข้อมูลคนใช้งานจำนวนมาก เห็นข้อมูลคนใช้งานอยู่ตรงหน้าแล้วว่า คนในโลกอินเตอร์เน็ตมีสถานภาพทางสังคมอย่างไร รวยจนแค่ไหน ทัศนคติด้านการเมืองเป็นอย่างไร รวมถึงเรื่องที่ดูไร้สาระอย่างรสนิยมการกิน ฯลฯ หากจัดระเบียบอีกนิดหน่อย รวบให้เป็นหมวดๆ และอาศัยปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยวิเคราะห์จัดการ ก็แทบจะนำไปใช้งานได้แล้ว

แนวความคิดของ GOV ดันไปตรงกับความสนใจของศาสตราจารย์คนหนึ่งในมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ดร.นิค บอสตรอม (Nick Bostrom) หัวหน้าสถาบันอนาคตแห่งมนุษยชาติ (Future of Humanity) ซึ่งกำลังศึกษาหัวข้อเรื่อง AI Government  หัวข้อนี้เป็นหนึ่งในสามหัวข้อที่เขาสนใจ เนื้อใหญ่ใจความของสมมติฐานในการศึกษาของเขาก็คือ มีความเป็นไปได้มากว่าปัญญาประดิษฐ์สามารถจัดการควบคุมรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ามนุษย์ เพราะปราศจากอคติ ทำงานบนฐานข้อมูลและต่อเนื่อง สามารถประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่ามนุษย์ซึ่งมีข้อจำกัดทางด้านสติปัญญาที่ไม่สามารถไปถึงระดับที่ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ทำได้ โดยเฉพาะเมื่อขยายขอบเขตออกไปถึงเรื่องของการจัดการนโยบาย หรือการทำหน้าที่เป็น ‘ตัวแทน’ ของมนุษย์ ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้อาจทำงานได้ดีกว่า

ฟังดูน่าสนใจนะครับ เหมือนทุกวันนี้ที่เรามีปัญญาประดิษฐ์อยู่ในสมาร์ทโฟน ในเสิร์ชเอนจิ้น ที่ช่วยเราหาข้อมูลต่างๆ นานาในอินเตอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่เราต้องคิดมากกว่านั้นก็คือ แล้วอะไรคือความพอดีของการพึ่งพาปัญญาประดิษฐ์ ความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ เมื่อฉลาดขึ้นมากๆ เราจะต้องทำอย่างไร การเอาปัญญาประดิษฐ์เข้ามาจัดการทุกเรื่องของเราอาจเป็นดาบสองคมได้ด้วยเช่นกัน ความหวาดระแวงในเครื่องจักรแสนฉลาดพวกนี้อาจกลายเป็นชนวนความขัดแย้งขึ้น แทนที่จะช่วยแก้ปัญหา เพราะแม้ปัญญาประดิษฐ์จะคิดบนพื้นฐานของเหตุผล ที่ไร้อารมณ์และความรู้สึกมาเกี่ยวข้องโดยสิ้นเชิง แต่ก็ไม่ใช่มนุษย์ทุกคนจะยอมรับได้ โดยเฉพาะฝ่ายที่สูญเสียประโยชน์

คำหนึ่งที่บอสตรอมเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ไว้กับหนังสืมพิมพ์ ดิ การ์เดียน ของอังกฤษก็คือ “เราเหมือนเด็กที่กำลังเล่นระเบิดปรมาณูอยู่”

สำหรับผม ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น แต่ก็รู้สึกว่า เรามีองค์ความรู้น้อยเกินไปที่จะให้ปัญญาประดิษฐ์ทำเรื่องใหญ่ๆ แทนเรา

แต่กระนั้นก็มีความตื่นตัวกันมากเรื่องการนำเอาปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในแวดวงการเมืองหรือในวงราชการ เว็บไซต์แนวข่าวอย่าง Medium ถึงกับเปิดคอลัมน์ประจำว่าด้วยเรื่องปัญญาประดิษฐ์กับการเมืองขึ้นมา หรือหากคุณเข้าไปค้นดูแนวคิดเรื่องการนำเอาปัญญาประดิษฐ์มาดูแลจัดการประเทศ คุณจะเจอข้อมูลมากมายมหาศาล และมีการนำไปใช้ในระดับประเทศ เช่น เกาหลีใต้และญี่ปุ่นตั้งเป้าจะเป็นผู้นำเรื่องหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ มีการทดลองนำเอาฐานข้อมูลประชากร สถิติเรื่องงบประมาณบริหารประเทศ การเก็บภาษี สภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ใส่เข้าไปในฐานข้อมูล แล้วลองให้ปัญญาประดิษฐ์ประมวลผลออกมาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านต่างๆ

ญี่ปุ่นเองที่กำลังเผชิญหน้ากับสังคมผู้สูงอายุก็มองทางออกในเรื่องนี้ไว้เช่นกัน โดยตั้งคำถามถึงการฝากสังคมไว้กับหุ่นยนต์ในการบริหารจัดการแทนมนุษย์ รวมถึงการบริหารประเทศ

แน่นอน ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น แม้เราจะมีฐานข้อมูลของมนุษย์ในอินเตอร์เน็ตมากขึ้น แต่ข้อมูลที่มากมายมหาศาลอาจต้องรอการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ ดร.นิค บอสตรอม บอกว่าเป็น “สุดยอดของปัญญาประดิษฐ์” (Superintelligence) ซึ่งก็น่าจะมาถึงในอีกไม่นานนี้แน่ๆ

ถึงตรงนี้ ผมเองก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่า เรื่องที่ผมเอามาเล่าสู่กันฟังจะเกิดทันในยุคของผมไหม แต่รู้อยู่อย่างหนึ่งว่า ความน่าเชื่อถือของปัญญาประดิษฐ์มีมากขึ้นเรื่อยๆ  ในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีเหล่านี้จะมีบทบาทและเป็นทางเลือกใหม่ของคนเรา และยิ่งหากมนุษย์เริ่มเอาเปรียบกันเองมากขึ้นเท่าไหร่ มนุษย์จะหันไปสู่สิ่งที่พวกเขาไว้ใจได้มากขึ้นอย่างปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ เหมือนการเกิดขึ้นของอูเบอร์ (UBER) ที่เริ่มต้นจากคนเบื่อแท็กซี่ (ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นความรู้สึกร่วมของคนทั่วโลก!)

อย่างน้อยๆ วันนี้ ที่เรารู้คือ ปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการแสวงหาอำนาจหรือหาผลประโยชน์จากมนุษย์ (ซึ่งก็เชื่อเหลือเกินว่าสัตว์แสนยโสอย่างเราคงไม่ออกแบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการนี้แน่ๆ)  มันจะทำเฉพาะหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่และจบวันด้วยทางออกบางอย่างที่ช่วยแก้ปัญหา อย่างน้อยๆ ก็ทำงานเชิงเทคนิคให้เราได้

มนุษยชาติต้องกลับมาย้อนมองเผ่าพันธุ์ของเราเองว่า อะไรที่นำพาเรามาถึงจุดที่เริ่มเห็นว่าปัญญาประดิษฐ์น่าจะเข้าท่ากว่าคน โดยเฉพาะนักการเมืองที่นับวันดูจะน่ารำคาญไม่ต่างจากคนขับแท็กซี่เข้าไปทุกที!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save