fbpx
พลิกโลกกระบวนการยุติธรรม ภายใต้กำมือ AI และ Blockchain

พลิกโลกกระบวนการยุติธรรม ภายใต้กำมือ AI และ Blockchain

ภายใต้ชุดครุยผู้พิพากษาคือ AI

“จำเลยมีอะไรจะคัดค้านพยานหลักฐานบนบล็อกเชนที่โจทก์ยื่นมาหรือไม่”

คำพูดของผู้พิพากษาศาลอินเทอร์เน็ต นครหางโจว ประเทศจีน อาจสร้างความตื่นตาตื่นใจสำหรับหลายคน เมื่อได้ยินว่าพยานหลักฐานที่ยื่นต่อสู้กันในศาลสมัยนี้อยู่บน ‘บล็อกเชน’ (Blockchain) ไม่ได้อยู่บนกระดาษสอดในแฟ้มแบบที่เราคุ้นเคยกันอีกต่อไป

แต่ที่จริงแล้ว ส่วนที่น่าทึ่งที่สุดของคำพูดนี้ไม่ได้อยู่ที่บล็อกเชน เพราะที่น่าตกตะลึกยิ่งไปกว่านั้นก็คือผู้พิพากษาที่พูดประโยคนี้ไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็น ‘ปัญญาประดิษฐ์’ (Artificial Intelligence – AI)

YouTube video

วิดีโอ 1: การทำงานของผู้พิพากษา AI
ที่มา: สำนักข่าว CGTN

การเปิดตัวผู้พิพากษา AI ของจีนเมื่อปี 2019 สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก โดยเฉพาะคนในแวดวงกฎหมาย ที่ได้เห็นประจักษ์ว่าระบบยุติธรรมกำลังก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง

ผู้พิพากษา AI ของจีนปรากฏตัวในรูปแบบเสมือนมนุษย์ สวมเสื้อคลุมผู้พิพากษา นั่งบนบัลลังก์ พูดจาโต้ตอบไต่สวนโจทก์และจำเลยผ่านทางหน้าจอวิดีโอคอลของแอปพลิเคชัน WeChat ก่อนที่ผู้พิพากษาเสมือนมนุษย์นี้จะพิจารณาคดีผ่านข้อมูลพยานหลักฐานที่ถูกป้อนเข้ามาในระบบ และตัดสินคดี กระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นบนออนไลน์ โดยไม่มีใครจำเป็นต้องเดินทางไปศาล

ผู้พิพากษา AI ทำคดีตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่มีหยุดพักเหมือนคน ทำให้สามารถสะสางคดีได้อย่างรวดเร็ว โดยในระยะเวลาเพียง 9 เดือนระหว่างเดือนมีนาคมถึงตุลาคม 2562 สามารถปิดคดีได้ถึงกว่า 3 ล้านคดีความ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก

อย่างไรก็ตาม จีนยังคงจำกัดการใช้ผู้พิพากษา AI แค่ในคดีความที่เกี่ยวข้องกับโลกไซเบอร์เท่านั้น และยังไม่ได้ใช้ในศาลอินเทอร์เน็ตครบทั่วประเทศ แต่ในอนาคตก็เป็นไปได้ว่าผู้พิพากษา AI อาจถูกใช้ในทุกคดีและทุกพื้นที่ของประเทศจีน และนอกจากจีนแล้ว ประเทศเล็กๆ ในยุโรปตะวันออกอย่างเอสโตเนีย ก็กำลังพัฒนาผู้พิพากษา AI เหมือนกัน

หลายประเทศอาจยังไม่ได้นำ AI มาใช้เป็นผู้พิพากษาเต็มตัวอย่างจีน แต่ก็เริ่มนำ AI มาเป็นตัวช่วยผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี ซึ่งส่วนมากเป็นการประมวลผลข้อมูลมาชี้วัดแนวโน้มที่ผู้ต้องหาจะกระทำความผิดซ้ำ เพื่อช่วยให้ผู้พิพากษาตัดสินใจกำหนดระยะเวลาจำคุก หรือตัดสินใจว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังหรือไม่ โดยเริ่มมีการนำมาใช้แล้วในบางพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ขณะที่ศาลในนครเซี่ยงไฮ้ของจีน ก็นำ AI มาช่วยงาน เช่น การถอดเทปคำให้การในชั้นศาลแบบเรียลไทม์ การช่วยตรวจสอบความถูกต้องของพยานหลักฐาน การจับผิดคำให้การของจำเลยที่ไม่สมเหตุสมผลหรือขัดแย้งกันเอง เป็นต้น

AI เป็นได้มากกว่าผู้พิพากษา

ขึ้นชื่อว่า AI อันเป็นเทคโนโลยีที่มีระบบความคิดความอ่าน การประมวลผล การเรียนรู้ คล้ายคนมากขึ้นไปทุกวัน จึงแน่นอนว่า AI ย่อมไม่ได้ทำเป็นแค่งานผู้พิพากษาเพียงอย่างเดียว แต่ทุกวันนี้ AI เริ่มคืบคลานเข้าไปมีบทบาทในองคาพยพอื่นๆ ของระบบยุติธรรมเรียบร้อยแล้ว

ก่อนที่ AI จะเหยียบย่างเข้าไปสู่งานศาล AI ถูกใช้อย่างแพร่หลายมาก่อนแล้วในแวดวงตำรวจของหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะใช้ AI เพื่อพยากรณ์พื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดอาชญากรรมล่วงหน้า เพื่อวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะที่เสี่ยงจะเป็นการก่ออาชญากรรม เพื่อตามล่าหาคนร้ายที่กำลังต้องการตัวด้วยเทคโนโลยีจดจำใบหน้า เพื่อจับผิดการแจ้งความเท็จ เพื่อตรวจจับยานพาหนะที่ทำผิดกฎจราจร และอีกมากมาย ขณะที่งานทัณฑสถานในบางประเทศก็เริ่มใช้ AI เข้ามาช่วยสอดส่องดูแลความประพฤติผู้ต้องขัง ทั้งในรูปแบบของกล้องวงจรปิดอัจฉริยะและหุ่นยนต์  

พัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของ AI ในงานยุติธรรมก็คือความสามารถให้คำปรึกษาทางกฎหมายได้ด้วย ทุกวันนี้ บริษัทที่ปรึกษากฎหมายชั้นนำของโลกบางแห่งยอมรับว่ามีการนำเครื่องมือ AI มาช่วยทำงาน อย่างเช่นบริษัท Baker & Hostetler ที่นำโปรแกรมที่ชื่อว่า Ross มาช่วยให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับลูกค้า โดยนักกฎหมายของสามารถขอคำปรึกษาด้านกฎหมายกับ Ross เกี่ยวกับคดีที่ทำอยู่ โดย Ross จะนำข้อมูลไปประมวลผลเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลตัวบทกฎหมายรวมถึงคำพิพากษาในอดีต ก่อนจะให้คำตอบด้วยการโต้ตอบกลับมาเป็นคำพูดได้เหมือนมนุษย์คนหนึ่ง แต่ขอบเขตการทำงานของ Ross ยังจำกัดอยู่กับกฎหมายบางประเด็นเท่านั้น เช่น การฟ้องล้มละลาย[1]

YouTube video

วิดีโอ 2: การทำงานของ Ross
ที่มา: ROSS Intelligence

Alexsei ก็เป็นอีกหนึ่งโปรแกรมให้คำปรึกษาทางกฎหมายด้วย AI ที่น่าสนใจ Alexsei มีการทำงานคล้ายกับ Ross คืออาศัยการประมวลผลฐานข้อมูลทางกฎหมาย แต่ต่างกันตรงที่ Alexsei ใช้รูปแบบการเขียน โดยนักกฎหมายสามารถป้อนคำถามทางกฎหมายเข้าไปที่ระบบ ก่อนที่ Alexsei จะนำไปวิเคราะห์แล้วให้คำตอบออกมาในรูปเอกสาร โดยใช้เวลาเพียงราวๆ 30 นาทีเท่านั้น และยังทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีหยุดพัก

YouTube video

วิดีโอ 3: การทำงานของ Alexsei
ที่มา: Alexsei

นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรม AI อย่าง LawGeex และ Kira ซึ่งสามารถช่วยงานนักกฎหมายในการวิเคราะห์ตรวจสอบหนังสือสัญญา โดยพบด้วยว่า LawGeex ตรวจสอบสัญญาได้แม่นยำถึง 94% มากกว่านักกฎหมายที่เป็นมนุษย์ที่ทำได้แม่นยำ 85% อีกทั้งยังทำได้เร็วกว่ามนุษย์หลายเท่าตัว โดยสามารถตรวจสอบเอกสารทั้งหมดได้ในเวลาเพียง 26 วินาที ขณะที่มนุษย์ใช้เวลาไปถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง

โปรแกรมเหล่านี้ช่วยทุ่นแรงและประหยัดเวลาในการทำงานให้กับบรรดาที่ปรึกษากฎหมายและทนายความได้มาก ทำให้นักกฎหมายไม่ต้องเสียเวลาในการไปศึกษาตัวบทกฎหมาย คำพิพากษา หรือข้อมูลต่างๆ ในการทำคดีมากเหมือนแต่ก่อน ในทีนี้จึงดูเหมือนว่า AI ทำงานเป็นผู้ช่วยของนักกฎหมาย แต่จริงๆ แล้ว AI ยังทำได้มากกว่านั้น เพราะ AI ก็เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้คนธรรมดาโดยตรงได้เลยเหมือนกัน อย่างเช่นโปรแกรม DoNotPay

DoNotPay เป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน ที่ให้บริการในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ซึ่งคนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดมาเป็นที่ปรึกษากฎหมายส่วนตัวได้ ในรูปแบบ Chatbot ซึ่งประมวลผลด้วย AI แอปพลิเคชัน DoNotPay สามารถให้ความช่วยเหลือได้หลายเรื่อง เน้นไปที่การปกป้องสิทธิต่างๆ ในชีวิตประจำวันของผู้ใช้งาน เช่น การเรียกร้องขอคืนค่าตั๋วเครื่องบินเมื่อเที่ยวบินยกเลิกหรือล่าช้า การอุทธรณ์เมื่อต้องเสียค่าปรับเกี่ยวกับการจราจรอย่างไม่เป็นธรรม การขอฟ้องร้องเมื่อเจอการถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน การขอเรียกค่าลิขสิทธิ์ในผลงานของตัวเองที่ถูกนำไปใช้โดยได้รับอนุญาต การเรียกร้องค่าเสียหายต่างๆ ไปจนถึงการขอให้รัฐเปิดเผยข้อมูลทางราชการ 

ผู้ใช้งานสามารถกดเข้าไปในแอปพลิเคชัน เลือกหมวดหมู่สถานการณ์ แล้วอธิบายสถานการณ์ตัวเองกับ Chatbot จากนั้นระบบจะประมวลผลข้อมูล แล้วกลั่นกรองออกมาเป็นร่างเอกสารคำร้อง เพื่อยื่นต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือศาลในลำดับต่อไป โดยกระบวนการทั้งหมดในแอปพลิเคชันใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น และ DoNotPay ก็ให้ความช่วยเหลือผู้คนสำเร็จมาแล้วมากมาย เช่นในปี 2559 ที่มีรายงานว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถชนะอุทธรณ์การเสียค่าปรับที่จอดรถได้ถึงกว่า 160,000 กรณีจากทั้งหมด 250,000 กรณี และช่วยให้คนเข้าถึงความเป็นธรรมและยังทำให้รับรู้สิทธิต่างๆ ที่ตนควรได้รับมากขึ้น

นอกจากการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย AI ยังมีความสามารถอีกอย่างหนึ่งคือการต่อรองไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างคู่กรณี โปรแกรมหนึ่งที่ตอบโจทย์นี้คือ SmartSettle One ซึ่งใช้เจรจาข้อพิพาทในกรณีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน เช่น การจ่ายค่าปรับ การขอเงินคืน การเรียกร้องค่าเสียหาย และการเรียกร้องเงินประกัน  

SmartSettle One ใช้ระบบการประมูลแบบตาบอด (Visual Blind Bidding) คือคู่พิพาทต่างยื่นข้อเสนอเป็นจำนวนเงิน ฝ่ายหนึ่งเสนอจำนวนเงินที่ต้องการให้อีกฝ่ายหนึ่งจ่าย ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็เสนอจำนวนเงินที่ยินดีจะจ่ายให้ โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่เห็นข้อเสนอของกันและกัน การต่อรองข้อเสนอระหว่างสองฝ่ายจะเกิดขึ้นโดยแบ่งเป็นรอบๆ จนกว่าจะได้ข้อยุติในรอบที่ระบบสามารถเลือกช่วงจำนวนเงินที่ยอมรับได้สำหรับทั้งสองฝ่าย

ระบบยังมีการสร้างแรงจูงใจในการยุติข้อพิพาทเร็วขึ้นด้วยการเสนอรางวัลความใจกว้าง (Reward for Generosity) ให้สำหรับฝ่ายที่ยินยอมมากกว่า เช่น หากลูกหนี้ยินยอมเพิ่มวงเงินจ่ายหนี้ มากกว่าที่เจ้าหนี้ยินยอมลดวงเงินจ่ายหนี้ ระบบก็จะให้รางวัลลูกหนี้ด้วยการลดมูลค่าหนี้ที่ต้องจ่ายหลังเสร็จสิ้นการไกล่เกลี่ยจำนวนหนึ่ง

https://www.youtube.com/watch?v=HxWkFX-WWMc

วิดีโอ 4: การทำงานของ SmartSettle One
ที่มา: eNegotiation by Smartsettle

SmartSettle One เป็นรูปแบบการไกล่เกลี่ยอีกทางเลือกหนึ่งที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้ใช้งานมาก เพราะทำให้คู่พิพาทไม่จำเป็นต้องนัดหมายเจอกัน และไม่ต้องนัดเจรจาในเวลาเดียวกัน เพราะระบบเปิดให้แต่ละฝ่ายยื่นข้อเสนอต่างเวลาได้ โดยแต่ละฝ่ายจะได้รับการแจ้งเตือนเมื่อมีการตอบสนองจากอีกฝั่งหนึ่ง อีกทั้งยังไม่ต้องพึ่งนักกฎหมายเพื่อมาเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นตัวกลางเจรจา ช่วยให้แต่ละฝ่ายประหยัดเงินในการจ้างนักกฎหมายไปได้ นอกจากนี้ SmartSettle One ยังใช้ไกล่เกลี่ยคดีที่กำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลได้อีกด้วย ทำให้ศาลไม่ต้องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ศาลหรือผู้เชี่ยวชาญต่างๆ มาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยอย่างที่ทำทั่วไปอีกต่อไป

เชื่อมโยงข้อมูล ยกระดับยุติธรรมด้วยบล็อกเชน

“จำเลยมีอะไรจะคัดค้านพยานหลักฐานบนบล็อกเชนที่โจทก์ยื่นมาหรือไม่”

ย้อนกลับไปที่คำพูดของผู้พิพากษา AI แห่งนครหางโจวของจีนกันอีกครั้ง สิ่งที่เราเห็นคือระบบยุติธรรมทุกวันนี้ก้าวหน้าขึ้นไปถึงขั้นที่ศาลรับพยานหลักฐานบนบล็อกเชนไว้พิจารณาคดีได้แล้ว

หากอธิบายง่ายๆ บล็อกเชนคือเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลรูปแบบหนึ่ง ที่โยงใยกันเป็นเครือข่ายเหมือนห่วงโซ่ ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลเดียวกัน โดยไม่สามารถแก้ไขปลอมแปลงข้อมูลได้ ทำให้การจัดเก็บข้อมูลทำได้อย่างปลอดภัย โปร่งใส และตรวจสอบง่าย บล็อกเชนจึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ของการทำธุรกรรมระหว่างผู้คนในโลกยุคใหม่ และพยานหลักฐานที่ปรากฏในศาลอินเทอร์เน็ตนครหางโจว ก็คือสัญญาระหว่างระหว่างโจทก์และจำเลยในรูปโค้ดคอมพิวเตอร์ที่เก็บรักษาบนบล็อกเชนนี้เอง และการที่พยานหลักฐานอยู่บนบล็อกเชนก็ช่วยให้ศาลทำงานง่ายขึ้นมาก เพราะสามารถติดตามไล่สืบที่มาที่ไปข้อมูลได้สะดวกรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน ศาลก็สามารถใช้ประโยชน์จากบล็อกเชน ช่วยให้ทำงานแบบมีประสิทธิภาพ คล่องตัว และโปร่งใสขึ้นได้ โดยศาลบางแห่งในประเทศจีนใช้บล็อกเชนเป็นโครงข่ายเก็บข้อมูลของศาล เช่น บันทึกคำให้การ หรือเอกสารพยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งช่วยให้แต่ละภาคส่วนในศาลแชร์ข้อมูลกันได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเก็บข้อมูลได้อย่างปลอดภัย โดยศาลจีนยังนำมาใช้ดูแลความปลอดภัยของทรัพย์สิน ด้วยการใช้ระบบตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (e-sealing) ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ศาลและโจทก์สามารถตรวจสอบทรัพย์สินได้แบบเรียลไทม์ สร้างความมั่นใจได้ว่าทรัพย์สินจะไม่ถูกรบกวนหรือทำลาย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ระบบยุติธรรมจีนประเทศเดียวที่มีความก้าวหน้าในเรื่องบล็อกเชน ระบบยุติธรรมบางประเทศก็เริ่มนำแนวทางนี้มาช่วยยกระดับประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งในงานศาล รวมไปถึงงานตำรวจ อย่างเช่นกรมตำรวจของอังกฤษก็นำบล็อกเชนมาใช้เก็บข้อมูล โดยใช้ตั้งแต่ขั้นตอนรับแจ้งความ และสืบสวนสอบสวน ขณะที่ประเทศไทยก็กำลังพัฒนาการนำบล็อกเชนมาใช้ในระบบศาล

นอกจากนี้ บางประเทศก็เริ่มรับข้อมูลบนบล็อกเชนเป็นพยานหลักฐานเช่นเดียวกับจีน ถึงขั้นจัดตั้งอนุญาโตตุลาการที่รับผิดชอบข้อพิพาทเกี่ยวกับบล็อกเชนโดยเฉพาะ เช่น ญี่ปุ่น โปแลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยที่ต้องตั้งแยกส่วนขึ้นมาเป็นพิเศษก็เพราะว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนมีความซับซ้อนและต้องอาศัยเทคนิคความรู้เฉพาะตัวมาก ทำให้ข้อพิพาทที่เชื่อมโยงกับบล็อกเชนมีความยากในตัว เช่นคดีความที่เกี่ยวกับการทำสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) หรือสกุลเงินคริปโต (Cryptocurrency)

บล็อกเชนกระจายอำนาจยุติธรรมสู่มือประชาชน

บล็อกเชนถูกเอาไปใช้ประโยชน์กันอย่างกว้างขวางในแวดวงยุติธรรม แต่อีกด้านหนึ่ง ความล้ำหน้าของเทคโนโลยี บล็อกเชนก็นำความสั่นสะเทือนมาสู่ระบบยุติธรรมดั้งเดิมเหมือนกัน

ทุกวันนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชนได้รับการพัฒนามาสู่นวัตกรรม ‘อนุญาโตตุลาการบล็อกเชน’ (Blockchain arbitration) ในรูปแบบของแอปพลิเคชัน โดยโปรแกรมที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดโปรแกรมหนึ่งคือ Kleros ซึ่งกำลังเป็นทางเลือกที่มาแรงสำหรับผู้คนที่ต้องการจัดการข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางออนไลน์ เช่น ความขัดแย้งระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

Kleros ทำงานภายใต้แพลตฟอร์มบล็อกเชนของอีเธอเรียม (Ethereum) โดยสร้างเครือข่ายคณะลูกขุน ซึ่งเป็นคนทั่วๆ ไปที่ใช้งานแอปพลิเคชัน โดยไม่มีการเปิดเผยตัวตน เมื่อคู่พิพาทตกลงที่จะใช้ Kleros จัดการข้อพิพาท คดีก็จะถูกส่งเข้าไปยังระบบ ก่อนที่ระบบจะทำการสุ่มเลือกบุคคลจำนวนหนึ่งขึ้นเป็นคณะลูกขุนเพื่อพิจารณาข้อพิพาทนั้นๆ

YouTube video

วิดีโอ 5: การทำงานของ Kleros
ที่มา: Kleros

ระบบของ Kleros ขับเคลื่อนด้วยสกุลเงินดิจิทัล Pinakion (PNK) โดยคู่พิพาทต้องจ่ายค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการ (arbitration fee) ด้วยเงิน PNK ขณะที่ผู้ใช้งานที่สมัครใจเป็นลูกขุนก็จะต้องวางเงิน PNK เดิมพัน โดยคนที่ยิ่งวางเงินสูง ก็จะมีโอกาสถูกสุ่มเลือกขึ้นไปอยู่ในคณะลูกขุนสูง คณะลูกขุนมีแรงจูงใจให้ตัดสินคดีอย่างเป็นธรรมด้วยข้อกำหนดที่ว่าลูกขุนฝั่งเสียงข้างมากเท่านั้นที่จะได้ arbitration fee จากคู่พิพาท รวมทั้งได้เงินเดิมพันคืน และยังได้เงินเดิมพันจากฝั่งลูกขุนเสียงข้างน้อยอีกด้วย

เนื่องจาก Kleros ไม่มีการเปิดเผยตัวตนคณะลูกขุน ทำให้ยากที่จะเกิดการฮั้วกันตัดสินคดี อีกทั้งการเก็บข้อมูลหลักฐาน คำตัดสินต่างๆ ก็ยังมีความปลอดภัย ตรวจสอบได้ เพราะถูกเก็บไว้บนระบบบล็อกเชน และกระบวนการต่างๆ ของ Kleros ก็เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ทำให้ Kleros กลายเป็นทางเลือกใหม่ของการจัดการข้อพิพาท โดยไม่ต้องไปขึ้นศาลที่มีระเบียบขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนกว่า และต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ มากกว่า

นอกจาก Kleros แล้ว ยังมีโปรแกรมอื่นที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน เช่น Aragon และ Jur นับเป็นนวัตกรรมที่ทำให้ระบบยุติธรรมไม่ได้ถูกผูกขาดโดยส่วนกลาง (Centralized Justice) อีกต่อไป แต่ก่อให้เกิดระบบยุติธรรมแบบกระจายอำนาจ (Decentralized Justice) ที่ประชาชนทั่วไปก็สามารถเป็นลูกขุน มีส่วนร่วมตัดสินคดีได้

AI และบล็อกเชนจะครองโลกยุติธรรมได้จริงหรือ?

ในเมื่อ AI ให้คำปรึกษาทางกฎหมายก็ได้ ตามล่าหาตัวคนร้ายก็ได้ ดูแลความปลอดภัยพื้นที่ชุมชนก็ได้ ควบคุมผู้ต้องขังก็ได้ ไปจนถึงพิพากษาคดีความก็ได้ แถมยังแม่นยำและรวดเร็วกว่าคน คำถามคงผุดขึ้นในหัวใครหลายคนว่า “แล้วระบบยุติธรรมจะจ้างนักกฎหมาย ตำรวจ หรือพัศดีไปทำไม?”

ยิ่งไปกว่านั้น ในเมื่อ AI ก็ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ผ่านแอปพลิเคชัน ส่วนบล็อกเชนก็ได้ก่อให้เกิดนวัตกรรม Decentralized Justice ที่ทำให้ประชาชนเป็นลูกขุนตัดสินคดีกันเองได้ โดยไม่ซับซ้อนวุ่นวาย ไม่ต้องเสียเงินมากมายหลายต่อ อีกคำถามที่เกิดขึ้นก็คือ “แล้วเราจะยังไปศาลเพื่ออะไร?”

AI และบล็อกเชนกำลังทำให้มนุษย์ในแวดวงกฎหมายหมดความหมาย และกำลังแทนที่ระบบยุติธรรมดั้งเดิมใช่หรือไม่?

เมื่อมีการไล่เรียงอาชีพที่เสี่ยงตกงานเพราะจะถูกแทนที่ด้วย AI กลุ่มอาชีพหนึ่งที่ติดอันดับในหลายสำนักก็คือนักกฎหมาย และตำรวจ

ถึงแม้ AI จะทำงานหลายอย่างแทนคนในแวดวงยุติธรรมได้แล้วก็จริง แต่คงยังไม่สามารถเข้ามาแทนคนได้อย่างเบ็ดเสร็จในเวลาอันใกล้ เพราะ AI ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อบกพร่อง

101 เคยเผยแพร่บทความของฉัตร คำแสง เรื่อง ‘ผู้พิพากษาไม่หนักแน่น ให้ AI ตัดสินแทนเลยดีไหม?’ ซึ่งพูดถึงข้อควรระวังของการนำ AI มาใช้ในระบบยุติธรรมว่า AI มีแนวโน้มที่จะผลิตซ้ำการแบ่งแยกและความสองมาตรฐาน เช่นเมื่อคนจนและคนผิวสีมีประวัติถูกจับกุมมากกว่ากลุ่มอื่น ทำให้ระบบจำว่าคนกลุ่มนี้คือกลุ่มเสี่ยง นำไปสู่การตัดสินใจจับกุมคนกลุ่มนี้มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ได้

นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยี AI เองก็ยังไม่ได้ไปไกลถึงขั้นที่จะพิจารณาหรือตัดสินคดีความที่มีความลึกลับซับซ้อนมากเกินไปได้ เช่นคดีอาชญากรรม สังเกตได้ง่ายๆ ว่าประเทศที่นำ AI มาเป็นผู้พิพากษาแล้วอย่างเช่นจีน ก็ยังจำกัดขอบเขตของผู้พิพากษา AI อยู่แค่การตัดสินข้อพิพาทเล็กๆ บนโลกออนไลน์เท่านั้น เช่นเดียวกับการที่เอกชนใช้ AI ให้บริการคำปรึกษาทางกฎหมายหรือไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ก็สังเกตได้ว่ายังจำกัดอยู่กับประเด็นข้อพิพาทที่ไม่ต้องคิดหลายชั้นมากนัก เช่น ประเด็นในชีวิตประจำวันใกล้ตัวผู้คน ประเด็นข้อขัดแย้งทางออนไลน์ หรือประเด็นที่ใช้การตัดสินเป็นตัวเลขออกมาได้ชัดเจนอย่างเรื่องเงิน

และด้วยความที่ AI อาจยังแปรผลต่างๆ ได้ไม่ซับซ้อนมากขนาดนั้น การป้อนข้อมูลเข้าไปยัง AI จึงต้องชัดเจนตรงไปตรงมามาก เพราะหากเราพูดหรือพิมพ์ข้อความที่กำกวมแม้แต่นิดเดียวส่งไปให้ AI ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่ AI จะประมวลผลออกมาแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ

นี่ทำให้การนำ AI มาใช้ในระบบยุติธรรมจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีมนุษย์คอยตรวจสอบควบคุมอีกชั้นหนึ่ง อย่างศาลอินเทอร์เน็ตของจีนก็ยังต้องใช้คนคอยตรวจสอบการทำงานของผู้พิพากษา AI อย่างรัดกุม และยังเปิดให้โอกาสให้คู่พิพาทสามารถอุทธรณ์คำตัดสินของผู้พิพากษา AI ได้ หากพบว่าคำตัดสินผิดพลาดหรือไม่สมเหตุสมผล พร้อมเปลี่ยนไปใช้ผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์ตัดสินแทนในขั้นต่อไป

ส่วน AI ที่ให้บริการคำปรึกษาทางกฎหมาย ก็สังเกตได้ว่าส่วนใหญ่ยังเป็นการนำมาใช้เป็นผู้ช่วยนักกฎหมายที่เป็นมนุษย์มากกว่า ไม่ใช่ว่าจะมาให้คำปรึกษาคนทั่วไปโดยตรง เพราะหากคุณไม่ได้จบนิติศาสตร์หรือรอบรู้กฎหมายมากขนาดนั้น คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าทนาย AI ของคุณให้คำปรึกษาถูกต้อง? ขณะที่บางโปรแกรมที่เราเห็นว่า AI ช่วยคนได้โดยตรงเช่น DoNotPay ก็ยังทำได้แค่เรื่องเล็กๆ ที่ไม่ซับซ้อนเท่านั้น

บล็อกเชนก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่สร้างโจทย์ใหม่ให้ระบบยุติธรรมต้องคิด อาจดูเหมือนว่าบล็อกเชนไม่น่าจะสร้างปัญหาอะไรใหญ่เหมือน AI แต่เรื่องหนึ่งที่ต้องระวังก็คือว่า ต่อให้บล็อกเชนจะขึ้นชื่อว่ามีความปลอดภัยสูงในการเก็บรักษาข้อมูล แต่การเจาะระบบบล็อกเชนก็เคยเกิดขึ้นจริงมาแล้ว อย่างการเจาะระบบของ Cryptocurrency จนสร้างความเสียหายเป็นเงินมหาศาล แล้วลองนึกว่าหากแฮกเกอร์สามารถเจาะบล็อกเชนของระบบยุติธรรมได้ นั่นก็คงไม่ต่างจากการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แล้วเราจะยังได้รับความเป็นธรรมอยู่ไหม?

อีกโจทย์ใหญ่ของบล็อกเชนอยู่ที่นวัตกรรม Decentralized Justice ถึงมุมหนึ่ง เราอาจจะมองในแง่ดีได้ว่านวัตกรรมนี้อาจช่วยแบ่งเบาภาระของระบบศาลส่วนกลางได้ แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า Decentralized Justice จะให้คำตัดสินที่เป็นธรรม? ลูกขุนที่ถูกสุ่มเลือกขึ้นมาจากการวางเงินเดิมพัน มีอะไรที่การันตีหรือไม่ว่าจะเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจในข้อพิพาทจริง? ถึงแม้นวัตกรรมจะสร้างกลไกจูงใจให้ลูกขุนตัดสินข้อพิพาทแบบเป็นธรรม แต่ความเป็นธรรมที่ว่านี้ อะไรคือบรรทัดฐาน?

นวัตกรรม AI และบล็อกเชนที่ยังคงมีช่องโหว่ นำมาสู่คำถามและข้อกังวลมากมาย หากจะนำมาใช้ในระบบยุติธรรม แต่นั่นหมายความถึง AI และบล็อกเชน ณ ขณะปัจจุบันเท่านั้น เราต้องไม่ลืมความจริงที่ว่าเทคโนโลยีก้าวเดินไปข้างหน้าได้เสมอ

วันหนึ่ง นวัตกรรม Decentralized Justice อาจสามารถพัฒนา ปิดช่องโหว่ต่างๆ ในกลไกของตัวเอง แถมยังขยายขอบเขตไปจัดการข้อพิพาทที่กว้างไปกว่าแค่ข้อพิพาททางออนไลน์ได้ จนผู้คนในวงกว้างให้ความไว้วางใจว่าสามารถให้ความเป็นธรรมกับพวกเขาได้อย่างแท้จริง และเริ่มเมินระบบศาลของส่วนกลาง

วันหนึ่ง AI อาจพัฒนาระบบประมวลผลไปถึงขั้นที่มีความคิดความอ่านและพฤติกรรมเท่าเทียมกับมนุษย์ คิดหรือตัดสินใจในประเด็นหรือข้อพิพาทที่สลับซับซ้อนได้ จนสามารถทำงานแทนนักกฎหมายหรือตำรวจที่เป็นคนได้อย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าไปอีกขั้นของเทคโนโลยีก็ย่อมนำมาสู่โจทย์ใหม่ที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมในแวดวงยุติธรรม

หาก Decentralize Justice พัฒนาไปถึงขั้นนั้น แล้วระบบตุลาการส่วนกลางของแต่ละประเทศจะยอมถูกแทนที่หรือ เพราะนั่นก็คงไม่ต่างจากการเสียอำนาจอธิปไตยทางศาลให้กับนวัตกรรม Decentralize Justice?

หาก AI ก้าวหน้าไปจนทำงานในระบบยุติธรรมแทนมนุษย์ได้จริง มนุษย์อย่างเราจะยอมยกอำนาจการตัดสินคุ้มครองความเป็นธรรมของมนุษย์ไปให้กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์หรือไม่?

การตั้งคำถามต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่เพื่อจะให้หวาดกลัวหรือปฏิเสธการเข้ามามีบทบาทของ AI และบล็อกเชนในโลกยุติธรรม เพราะนวัตกรรมเหล่านี้ก็สร้างประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมไม่น้อย เพียงแต่เป็นการตั้งคำถามเพื่อเตือนให้ฉุกคิดอย่างรอบคอบและระมัดระวังก่อนจะนำมาใช้ AI กับบล็อกเชน ถึงจะช่วยให้ระบบยุติธรรมมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เข้าถึงง่าย และเป็นธรรมสำหรับทุกคนมากขึ้นอย่างแท้จริง


[1] เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Ross จำเป็นต้องประกาศยุติการให้บริการ เพราะกำลังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีที่บริษัท Thomson Reuters กล่าวหา Ross ว่าขโมยฐานข้อมูลจากบริษัทอื่นมาพัฒนาโปรแกรมตัวเอง (ที่มา: https://today.westlaw.com/Document/I257808803bf211ebb3c1929a5b9ad316/View/FullText.html?transitionType=SearchItem&contextData=(sc.Default))


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save