fbpx

Agony Uncle

Q : ร้อนนี้จองรีสอร์ตหรูริมทะเลไว้ครับ ไปเที่ยวหรูทั้งทีอยากจะแต่งตัวดีหน่อย เปลี่ยนจากทีเชิ้ตเป็นโปโล ลุงมีอะไรจะแนะนำไหม

A : เข้าใจว่าคุณคงไปเที่ยวทะเลที่เมืองไทย ลุงว่าผ้าเจอร์ซีย์ของเสื้อยืดคอโปโลระบายความร้อนไม่ค่อยดี แถมมันยังเป็นเสื้อที่จะสวยก็ต่อเมื่อแนบเนื้อคนหุ่นดีใส่ ถ้าคุณมีพุงแม้เพียงนิดเดียว ทุกคนจะหันไปมองพุงทันที แล้วก็อีกอย่าง พนักงานรีสอร์ตส่วนใหญ่มักใส่เสื้อคือโปโลเป็นเครื่องแบบครับ ควรเลี่ยง

ส่วนตอนเช้าเวลาลงมากินบุฟเฟต์ ควรเลี่ยงการสวมกางเกงเลหรือเสื้อแนวพื้นเมืองหรือย้อมธรรมชาติ ด้วยเหตุผลเดียวกับข้างบนคือมันคล้ายชุดพนักงานในร้านอาหารโรงแรม

เกรงใจน้องๆ เขาบ้าง

 

Q : เพิ่งเริ่มวิ่งออกกำลังจริงจังปีนี้ มีเวลาก็ซ้อมในสวนบ้าง เห็นเขาวิ่งทวนเข็มนาฬิกากันก็แปลกใจ วิ่งตามเข็มนาฬิกาแบบอุตราวัฏจะไม่เป็นมงคลกับการวิ่งมากกว่าหรือครับ

A : มิน่า ตามสวนสาธารณะที่มีลู่วิ่งจึงมีคนวิ่งสวนทางกับชาวบ้านอยู่สองสามคนเสมอ  เป็นพวกนักวิ่งสายมงคลอย่างพวกคุณนี่เอง

การเดินเวียนขวาหรือทักษิณาวัฏ ซึ่งไปในทิศตามเข็มนาฬิกานั้นเป็นคติมาจากอินเดีย ถือว่าเดินวนขวารอบวัตถุหรือบุคคล ครบสามรอบแล้วจะเป็นมงคลแก่ชีวิตนะครับ เวลาเวียนเทียนคนไทยเราก็เดินวนขวาสามรอบ จะเดินรอบเจดีย์ พระปรางค์ พระอุโบสถหรือพระพุทธรูปก็เป็นมงคลทั้งนั้น

แต่การตั้งจิตสำรวมเดินเพื่อความเป็นมงคล กับการวิ่งออกกำลังในที่สาธารณะมันคนละเรื่องกันนะพี่

คนอยู่กันเป็นหมู่มาก ต้องมีกฎเกณฑ์กันบ้าง ในประเทศที่เจริญแล้วเขาสอนคนของเขามาตั้งแต่ชั้นก่อนเข้าโรงเรียนเสียด้วยซ้ำ ให้เดินชิดข้างใดข้างหนึ่งเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ เด็กญี่ปุ่นที่เราชมกันนักในเรื่องระเบียบวินัยมันรู้เลยว่ามันต้องเดินชิดข้างไหน ส่วนเมืองไทยเราระบุให้เดินชิดขวา ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจ แต่สังเกตว่าพอคนในกรุงเทพฯใช้บริการขนส่งมวลชนมากขึ้น พวกเราก็เริ่มเป็น เหตุผลคือถ้ามีเหตุร้ายไฟไหม้แผ่นดินไหวหรือผู้ก่อการร้าย การเดินชิดหนึ่งข้างมันช่วยลดความโกลาหลและยังเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่เขาวิ่งสวนทางเข้าไประงับเหตุได้สะดวก การเดินถูกทิศในที่สาธารณะคือความอารยะอย่างหนึ่ง

กลับมาเรื่องลู่วิ่ง ไปค้นๆ ดูก็พบว่าทางโอลิมปิกเขากำหนดให้นักกีฬาวิ่งทวนเข็มฯ มาตั้งแต่ปี 1908 ให้เหตุผลว่ามันสะดวกแก่คนถนัดขวาเวลาแซง (ละเอียดกันขนาดนั้น) เท่าที่ดูรูปกรีกโบราณที่วาดไว้บนคนโทดิน (สีดำและน้ำตาล คงพอจะนึกออก) ก็มีทั้งนักกรีฑาแก้ผ้าวิ่งทั้งวนซ้ายและวนขวา ว่ากันมั่ว จากปี 1908 เป็นต้นไปเราก็วิ่งในทิศทวนเข็มนาฬิกากัน ใครไม่วิ่งตามนั้นถือว่าเสล่อ วิ่งสวน ทำให้คนงง ชะงัก เสียอารมณ์ ยังดีที่ไม่อันตรายเท่าเจอมอเตอร์ไซค์ขี่สวนเลนตามถนนหนทาง

วิ่งทิศตามเข็มนาฬิกาไม่ใช่เรื่องมงคลอะไร เพราะกลางสวนสาธารณะคงไม่มีเจดีย์หรือวัดหรือโบสถ์ ลองเปลี่ยนทางวิ่งให้เหมือนชาวบ้านเขาแล้ว คุณจะพบว่าวิ่งสนุกขึ้นเยอะเลย คือเราวัดได้ว่ามีคนวิ่งช้ากว่าหรือเร็วกว่าเรา มีความท้าทาย มีระเบียบ แถมยังมีโอกาสมองก้นคนข้างหน้าพอเพลินๆ ครับ ซึ่งลุงมองว่าเป็นมงคลชีวิตรูปแบบหนึ่ง

 

Q : สรุปว่าพอเห็น service charge 10% ของบิลค่าอาหาร เราก็ไม่ต้องทิปแล้วงั้นสิ

A : ถ้าคุณกินข้าวในโรงแรมก็คงไม่ต้องเพราะ service charge ตามโรงแรมนี่เขาแบ่งปันกันอย่างโปร่งใสจริงจัง แต่ service charge ที่เรามาเห็นตามร้านอาหารเดี๋ยวนี้ เท่าที่ถามพวกเจ้าของร้านเขาบอกว่ามีน้อยร้านที่จะเอามาแบ่งให้พนักงานเต็มจำนวน บางที่ก็แบ่งเงินส่วนนั้นคนละครึ่งกับทางร้าน บางที่เจ้าของ (หรือบริษัทก็เก็บไว้เอง) แล้วอ้างว่าเป็นค่าดำเนินการ ค่ารักษาอุปกรณ์ อ้างไปเรื่อยตามประสาคนที่ตู่จะเอาเงินที่ไม่ใช่สิทธิ์ของตน

อย่างที่อินเดียนี่เมื่อต้นปีรัฐบาลเขาบอกว่าลูกค้าสามารถปฏิเสธไม่จ่ายค่า service charge ได้ถ้ารู้สึกว่าบริการไม่ดี ไม่ได้มาตรฐาน ส่วนรัฐบาลไทยหรือกระทรวงพาณิชย์ฯ ก็ยังเห็นเฉยๆ ในประเด็นนี้อยู่

ถ้าน้องๆ เขาบริการถูกใจ ลุงว่าควรยื่นทิปให้กับมือน้องเขาเลย (นอกจากสิบเปอร์เซ็นต์ที่โดนชาร์จไปในบิล) แสดงน้ำใจและความเป็นเสี่ยกันสักหน่อยดีกว่า

ไหนๆ ก็จะเสียเงินกันแล้ว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save