fbpx

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา: ว่าด้วยชุดออกงานออสการ์ และราคาของการเสพงานศิลปะ

 งานประกาศรางวัลออสการ์เพิ่งผ่านไป มีคนโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าใส่ชุดแย่งซีนคนอื่น จริงๆ มีแบบนี้ทุกปีเลย ถ้าให้ลุงแนะนำการแต่งตัวให้คนดังระดับโลกไปงานแบบนี้ ลุงจะแนะนำว่ายังไงดีคะ – ส้ม

ตอบคุณส้ม

คงไม่มีปัญญาไปแนะนำการแต่งตัวให้คนดังสำหรับงานใหญ่แบบนี้หรอก ยิ่งเป็นงานออสการ์ ไม่แย่งซีนนี่ไม่ได้นะครับ ดังจะเล่าถึงความเป็นมาของการแต่งตัวของดาราที่เข้าร่วมงานออสการ์ในฉบับรวบรัดให้ฟัง ว่าทำไมคนดังกับการแต่งตัวแย่งซีนจึงมาอยู่ด้วยกันได้

สมัยแรกๆ ที่จัดงานแจกรางวัลออสการ์ มันยังไม่แกรนด์อย่างตอนนี้ ในช่วงแรกๆ มีดาราสาวคนหนึ่งสวมเสื้อผ้าที่ใส่เล่นหนังมาเลย เพราะวันนั้นติดถ่ายหลายคิว (ราวกับดาราไทยยุคมิตรเพชรา) ออกจากกองถ่ายก็พุ่งมางานเลย ต่อมาคนก็เริ่มแต่งตัวมางาน เพราะรู้แล้วว่าเป็นงานใหญ่ แถมยังมีพื้นที่สื่อ จึงสมควรที่จะต้องสวยและหล่อไว้ก่อน 

นอกจากจะมีไว้ฉายความหล่อสวยแล้ว เวทีออสการ์ยังเป็นพื้นที่ซึ่งดาราสามารถสื่อสารทัศนะความเห็นสู่โลกภายนอกได้ อย่างเบตตี เดวิส (Bette Davis) ดารานำตัวแม่ในยุค 30-40 ตั้งใจใส่ชุดที่ดูแล้วเหมือนหญิงรับใช้มาขึ้นเวที เพื่อแขวะระบบสตูดิโอที่เอาเปรียบคนทำงานราวนายกับบ่าว ทันสมัยขึ้นมาอีกก็มีโจแอน วูดวาร์ด (Joanne Woodward) (ปี 1958) ซึ่งสวมชุดราตรีที่ตัวเองตัดเย็บเองกับมือ เพื่อบอกความสมถะของตัวเธอแบบที่ดาราไม่ค่อยจะเป็นกัน

เวทีออสการ์ไม่ได้เป็นแค่พื้นที่สำหรับประกาศความหรูหรายิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีที่ดารานักร้องประกาศตัวตนให้สังคมได้รู้ไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นดารานักร้องสายมั่น มีความเป็นตัวของตัวเองสูง อย่างซีลีน ดีออน (Céline Dion) สวมสูทสีขาว ซึ่งออกแบบใหม่ให้เอาด้านหลังไว้ด้านหน้าเมื่อปี 1999 กวินเนต พาลโทรล (Gwyneth Paltrow) แหวกภาพตายตัวของเธอเองจากสายหวานเมื่อช่วงแรกๆ มาแต่งชุดราตรีสายพังค์ ทาตาดำอย่างสาวกอท บิยอร์ก (Björk) สวมชุดที่เรียกว่าชุดราตรีหงส์ คือเหมือนเอาหงส์ปลอมสีขาวสล่างมาพาดบ่าให้ตัวมันย้อยลงมาตามทรวดทรงของผู้ใส่ (คงมีบิยอร์กคนเดียวในโลกแหละที่ใส่อะไรแบบนี้แล้วรอด) ฟาเรล วิลเลียมส์ (Pharrell Williams) สวมทักซ์กับกางเกงขาสั้นเมื่อปี 2014 จบท้ายแต่ไม่ท้ายสุดด้วยบิลลี พอร์เตอร์ (Billy Porter) สวมทักซ์แต่ช่วงล่างเป็นกระโปรงชุดราตรีงามสง่า ประกาศประเด็นเรื่องเพศสภาพอย่างมีสไตล์

ทว่าก่อนหน้าที่เวทีจะกลายเป็นพื้นที่สำหรับประกาศตัวตนของดารานักร้อง หรือมีไว้เพื่อสื่อประเด็นทางสังคมที่ต้องการจะบอกให้โลกรู้ มันกลายเป็นงานซึ่งมีแต่ดาราแต่งตัวแบบเซฟๆ น่าเบื่อๆ อยู่สิบกว่าปี เรื่องมันเริ่มจากปากของดาวตลก โจน รีเวอร์ส (Joan Rivers) ซึ่งรับหน้าที่พิธีกร ให้ความเห็นออกอากาศต่อชุดของนิโคล คิดแมน (สมัยยังเป็นสาวสะพรั่ง และยังอยู่กับทอม ครุยส์) ว่า “เกิดมาชั้นไม่เคยเห็นชุดอะไรน่าเกลียดขนาดนี้เลยนะฮะ” ลุงไปค้นรูปชุดที่ว่า ก็ดูงามดี เพียงแต่คุณนิโคลแกเลือกสีเขียวชนิดที่คนไทยชอบเอามาทำเบาะนั่งนอนหมอนขิด มันสวยยากนะ ไอ้สีนี้ 

นับแต่นั้นดาราก็เลยแหยง ไม่อยากเป็นขี้ปากของยัยโจน บรรดาสไตลิสต์จึงมาช่วยดาราเลือกชุดและแต่งตัว ปรากฎการณ์นี้เปิดช่องทางให้สไตลิสต์ติดต่อกับทางแบรนด์เสื้อผ้ามาให้ดาราดังใส่ เซ็งลี้กันสนุกสนาน ดาราสบายใจ เพราะสามารถดูดีได้โดยตนไม่ต้องตัดสินใจเอง มีคนมาช่วยเลือกชุด สไตล์ลิสต์ก็น่าจะได้ค่าคอมฯ (หรืออย่างน้อยก็ได้หน้า) จากแบรนด์ซึ่งดูเหมือนงานนี้จะวิน-วินกันทุกภาคส่วน

คุณดิจันนา มัลเฮิร์น (Dijanna Mulhearn) ผู้เขียนหนังสือ Red Carpet Oscars ซึ่งเพิ่งออกวางแผงบอกไว้ว่า “ช่วงเวลาพรมแดง (ของงานออสการ์) ที่นับว่าประสบความสำเร็จ สามารถส่งสถานะของดาราให้สูงทะลุฟ้า ช่วยยกระดับแบรนด์แฟชั่นให้เป็นที่รู้จักในระดับชาวบ้าน ส่งเสริมการขายให้ดีเป็นเทน้ำเทท่า แถมยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ดาราคนนั้นได้รับบทดีๆ ในเวลาต่อมาด้วย”

เพิ่งจะช่วงสิบกว่าปีมานี่เองที่การถ่ายทอดงานออสการ์เริ่มตั้งแต่ช่วงพรมแดงที่มีดาราเดินเข้างาน หนึ่งในคำถามติดปากพิธีกรคือ “คุณสวมชุดของใครคะ” ชัดเจนว่าเวทีออสการ์มีไว้เพื่อช่วยขายแบรนด์เสื้อผ้าด้วย

คำว่า ‘ห้ามแย่งซีน’ จึงไม่มีที่ทางในพรมแดงออสการ์ ซึ่งเป็นเรื่องการประชันขันแข่ง คำว่า ‘ห้ามแย่งซีน’ มีที่ทางในงานอย่างงานแต่งของเพื่อนคุณ ซึ่งไม่ว่าใครก็น่าจะรู้ว่าเราต้องแต่งตัวดี ไม่ต้องมีสเตทเมนต์นักก็ได้ แต่อย่าให้ดีเกินหน้าบ่าวสาว เท่านั้นเอง เพราะงานนั้นเขาคือพระเอกและนางเอกตัวจริง

ลุงคิดเห็นยังไงกับที่มีคนบอกว่าบ้านเราศิลปะเป็นของที่คนมีเงินเท่านั้นที่เข้าถึง เพราะไม่ว่าจะตั๋วหนัง ศิลปะ หรือหนังสือก็ราคาแพงทั้งนั้น – แก้ว

ตอบคุณแก้ว

ก่อนอื่นอยากให้แยกแยะระหว่างการเสพ กับการครอบครองเป็นเจ้าของ

การดูงานศิลปะตามมิวเซียมและแกลเลอรีเป็นคนละเรื่องกับการมีงานศิลปะไว้ในครอบครอง แต่จะว่าไป พอมีกระแส NFT โอกาสในการมีงานศิลปะไว้ในครอบครองก็ดูเหมือนจะเปิดกว้างกว่าแต่ก่อน

ตั๋วหนังตามโรงทั่วไปอาจจะราคาแพง แต่หนังที่เข้าขั้นหนังอาร์ต มีไม่น้อยที่ฉายตามสถาบันต่างๆ อย่าง หอภาพยนตร์ฯ สถาบันวัฒนธรรมประเทศทางยุโรปต่างๆ หรือญี่ปุ่น หรือโรงหนังอาร์ตอย่างที่ House บัตรก็จะถูกกว่าโรงทั่วไป โรงหนังตามสถาบันวัฒธรรมที่ว่าอาจไม่ต้องเสียค่าเข้าชม หรือถ้าต้องเสียก็ราคาไม่แพง และหนังที่เขาเอามาฉายก็ดีงาม หาชมกันไม่ได้ง่ายๆ

ยังไม่นับช่องทางสตรีมมิงซึ่งค่าสมาชิกเดือนหนึ่งราคาเท่าอาหารสองสามมื้อ แต่หนังในสตรีมมิงก็เป็นอย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่สตรีมมิงที่น่าสนใจอย่าง Hulu ก็เป็นตัวเลือกที่ดี แต่จะมีข้อจำกัดด้านภาษาอยู่หน่อยๆ 

หนังสือเป็นเรื่องที่ยังมีปัญหา เพราะนอกจากราคาจะไม่ถูกแลว ยังโดนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ประเทศไทยของเราบวกภาษีมูลค่าเพิ่มในสินค้าประเภทอาหาร เสื้อผ้าและหนังสือ ซึ่งขอบอกว่าเป็นนโยบายที่ใจร้ายและงก) ห้องสมุด TK Park เป็นที่พึ่งของคนที่อยากประหยัด ทั้งประหยัดค่าหนังสือ และประหยัดเนื้อที่บนชั้น

ถ้าจะเข้าถึงศิลปะกันจริงๆ ไม่ต้องมีเงินก็พอจะทำได้แหละครับ

ไม่มีเงินแต่มีคริปโต จะซื้อ NFT ในราคามิตรภาพกว่าการซื้องานจริง


Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป ในช่วงแรกๆ ลุงเฮม่าจะเน้นเรื่องกฎเกณฑ์ เพราะคิดว่ามันน่าจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่หลังจากเขียนคอลัมน์นี้มาได้ปีสองปีก็เริ่มตาสว่าง และที่สำคัญคือ หลังจากโลกรอบตัวมีแต่กฎเกณฑ์และการใช้อำนาจ (ซึ่งส่วนใหญ่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ออกกฎ) ลุงเลยเปลี่ยนแนวมาเขียนตอบโดยเริ่มที่กฎเกณฑ์ แล้วตามด้วยวิธีหลอกล่อเล่นสนุกกับกฎนั้นๆ แทน  

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save