fbpx

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา: ว่าด้วยคำแห่งปี และรายได้ของคนวัย 30

สำนักพจนานุกรมต่างประเทศออกคำแห่งปีกันมาแล้วครับลุง ผมว่าคำที่น่าสนใจคือ goblin mode ถ้าถามความเห็นลุงคิดว่า ปีนี้มีคำไทยอันไหนน่าจะเป็นคำแห่งปีบ้างครับ – แคมป์

ตอบคุณแคมป์

‘คำแห่งปี’ ปีนี้มีหลายสำนักด้วยกันนะครับ นอกจาก goblin mode ของสำนักออกซฟอร์ด (Oxford English Dictionary) ยังมี gaslighting ของสำนักเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ (Merriam-Webster) ส่วนคำแห่งปีของไทยเท่าที่เห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคำที่ใช้ออนไลน์ อันดับต้นๆ ดูเหมือนจะเป็น ตัวแม่ แม๊ ตัวตึง อะไรประมาณนี้

มาดูความหมายของคำแห่งปีเหล่านี้กันสักนิด

goblin mode คือ “สแลงว่าด้วยพฤติกรรมตามใจตน ไม่ใส่ใจเรื่องกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานใดๆ ของสังคม ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่เหมาะแต่ก็จะทำ และทำได้โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ” สำนวนไทยที่ใกล้หน่อยน่าจะเป็น ‘ไม่สนสี่สนแปด’ ความน่าสนใจอีกอย่างคือภาพประกอบของ goblin mode มักจะเป็นชายหนุ่มไม่ก็หญิงสาวนอนแผ่เล่นโซเชียลอยู่บนเตียงในห้องรกเหมือนรังหนู

ส่วน gaslighting ซึ่งเป็นคำอยู่ในบัญชีการใช้งานของภาษาอังกฤษมานานแล้ว เนื่องจากคำนี้มาจากชื่อหนังเรื่อง gaslight สร้างไว้ตั้งแต่ปี 1944 เกี่ยวกับสามีภรรยาคู่หนึ่งในยุควิกตอเรียของอังกฤษ สามีเป็นคนโฉด แต่หน้าตาดี วางตัวดี คือโฉดขนาดฆ่าป้าของภรรยา เพื่อกรุยทางสู่การฮุบสมบัติของบ้านภรรยา ขั้นต่อไปสามีก็เล่นสงครามประสาทกับภรรยา พยายามปั่นหัวให้เธอกลายเป็นบ้าด้วยวิธีการต่างๆ นานา หนึ่งในนั้นคือแอบหรี่แก๊สซึ่งใช้สำหรับตะเกียงให้แสงสว่าง (สมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้) พอภรรยาทักว่า เอ๊ะ คืนนี้ทำไมห้องมันมืดๆ สามีตอบว่า “ห้องมันก็สว่างประมาณนี้เหมือนทุกคืน เธอไม่สบายหรือเปล่าจ๊ะที่รัก” และนี่คือที่มาของคำว่า gaslighting (ปั่นหัวโดยให้อีกฝ่ายคิดว่าตนเป็นฝ่ายผิด สติไม่ดี หรือเป็นคนงงๆ ไม่มีเหตุผล)

ขออนุญาตตั้งข้อสังเกตระหว่าง ‘คำแห่งปี’ ของต่างประเทศกับของเรานะครับ เพราะคำแห่งปีของเขามักมีน้ำหนัก กล่าวคือ ถ้าไม่ใช่คำที่โดนใจ กระพือให้เกิดจินตนาการ ก็จะเป็นคำที่บังเอิญไปตรงกับสิ่งที่อยู่ในใจเราพอดี gaslighting นี่พบเห็นได้ตลอดในซีรีส์ของ Netflix ที่ว่าด้วยการปั่นหัวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่เป็นแฟนกัน หรือจะว่าไป การเข้าสู่โหมดเอาแต่ใจของตัวก๊อบลิน ก็พอจะบอกเป็นนัยถึงปฏิกิริยาต่อความคาดหวังต่างๆ ของสังคมในยุคที่ค่อนข้างจะหาความหวังได้ยาก (สงคราม โรคระบาด เศรษฐกิจชะลอตัว สูตรสำเร็จของโลกในยุคใกล้วิกฤติเลยจ้า) เมื่อโดนกดดันมากๆ เข้า เอาวะ ขอเอาแบบที่กูชอบก็แล้วกันนะ คนอื่นจะว่ายังไงก็ช่าง

คำแห่งปี คือธรรมเนียมที่เริ่มจากภาษาเยอรมันเมื่อราว 40-50 ปีที่แล้ว จากนั้นจึงลามมาสู่ภาษาอังกฤษ บางครั้งคำแห่งปียังมีอะไรมากกว่าเป็นแค่สำนวนเก๋ไว้พูดเพื่อให้ตนรู้สึกว่าฉันทันสมัย แต่ที่สำคัญคือคำแห่งปียังเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ อย่างเช่น คำแห่งปีของปี 1982 มาจากนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อ วิลเลียม กิบสัน (William Gibson) ซึ่งทำนายการอุบัติของโลกใบใหม่ไว้ตั้งแต่ตอนนั้นยังไม่มีวี่แวว (ลุงจำได้ว่าสมัยนั้นตนยังไม่มีคอมพีซีใช้เลย) และคำแห่งปี 1982 คือ ไซเบอร์สเปซ (Cyberspace) ครับ

และสนุกดีที่ goblin mode และ gaslighting สามารถเบียดคำที่มีจุดหมายทางการตลาดอย่างหน้าไม่อายอย่าง metaverse (เมตาเวิร์ส) ไปอย่างขาดลอย เพราะไอ้คำหลังนั้นดูเหมือนเขาอยากแสดงวิสัยทัศน์ แต่มันเสล่อ ใครเขาจะอยากใช้ 

ส่วนคำยอดฮิตของไทยเราที่พอคัดสรรมาอย่าง ‘จุกๆ’ ‘สภาพ’ ‘หิวแสง’ ‘เต็มคาราเบล’ ‘ตัวตึง’ นอกจากประโยชน์ที่ใช้แล้วสนุกปากดี ก็ยังไม่เห็นว่าจะมีคำแห่งปีไปทำไม เพราะหน้าที่ของคำเหล่านั้นก็แค่ช่วยเสริมสไตล์ด้านสำบัดสำนวนให้คนพูด บางทีเรื่องที่พูดก็ไม่เกี่ยวกับความหมายของคำสักเท่าไหร่ แต่ก็หาเรื่องให้มีคำนั้นในประโยค ที่เพราะเห็นว่าใครๆ เขาก็ใช้กัน เห็นได้ชัด คือการใช้ “…แน่นะวิ” กันอย่างเลอะเทอะอยู่พักหนึ่ง คือแค่คนเขาได้ใช้ก็พอใจแล้ว 

คำตอบคือ ลุงไม่มีหรอกครับ คำแห่งปี เพราะตนไม่อยู่ในฐานะที่จะแสดงวิสัยทัศน์ใดๆ เอาชนิดเร็วๆ ตอนนี้นึกออกอยู่คำเดียวคือ

“สภาพ”  

ไม่กี่วันก่อนมีคนในทวิตเตอร์พูดว่าอายุ 30 ต้องมีเงินเดือน 80,000 แล้ว ถ้าต่ำกว่านี้ต้องเร่งพัฒนาตัวเอง นึกถึงช่วงนี้ที่เขาพูดเรื่องเพิ่มค่าแรงกัน แต่บางคนก็ไม่เห็นด้วย เพราะจะเพิ่มทุนให้เจ้าของกิจการ ในฐานะลุงที่ผ่านประสบการณ์การทำงานมา สมัยก่อนคนวัย 20s-30s เคยเจอเรื่องอะไรแบบนี้ไหมคะ – ฟ้า

ตอบคุณฟ้า

คืออยากทราบว่าคนที่พูดแบบนั้นเขาพูดไปทำไม เพื่อ motivate เพื่อนๆ เพื่อเยาะเย้ยคนที่คงไม่ใช่เพื่อน เพื่อปลอบใจตัวเอง เพราะตนก็ยังรอเรตเงินเดือนขนาดนั้นอยู่เหมือนกัน

การพัฒนาตัวเองเพียงเพื่อจะคว้าเงินเดือนสูงๆ ไม่ใช่เรื่องที่จะบรรลุกันได้ง่ายๆ เพราะเงินเดือนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราเท่านั้น มันยังมีอีกหลายปัจจัย บริษัทเขาสามารถจ่ายได้ไหม เขาต้องการคนแบบไหน บริษัทรวยมั้ย หน้าใหญ่มั้ย ใจถึงหรือเปล่า เราสู้เด็กเส้นได้มั้ย คนสัมภาษณ์ขิงกลิ่นน้ำหอมที่เราใส่มาวันนั้นหรือเปล่า ฯลฯ ใช่ว่าเราพัฒนาตัวเองจนเก่งกว่าคนอื่นแล้วเงินเดือนจะมาหล่นที่หน้าตัก 

การพัฒนาตัวเองเป็นเรื่องดีแหละครับ แต่ถ้าจะมาเร่งพัฒนา เพราะอยากได้เงินเดือนสูงๆ เท่านั้น มันคงเป็นไปได้ยาก คนเราจะทำอะไรก็ควรทำไปด้วยความสม่ำเสมอ ต้องพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เหมือนเรือรบเก่าๆ ที่ต้องซ่อมบำรุงรักษาเป็นประจำตามกำหนด 

ถามว่าคนสมัยลุงในวัยหนุ่มเคยเจออะไรแบบที่คุณถามนี่ไหม ขอตอบว่าลุงใช้วัยหนุ่มในช่วงรัฐบาลชาติชาย (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) ก็มีโอกาสทำงานเงินเดือนดีๆ กับเขาอยู่พักหนึ่ง ซึ่งยุคนั้นเศรษฐกิจเติบโตบ้าบอมาก เงินทุนทะลักเข้าไทย การใช้ชีวิตคนเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง ยุคเดียวกับที่ถ้าเราเข้าบาร์หรือร้านอาหารแพงๆ แล้วจะต้องเห็นมือถือรุ่นบุกเบิกอันโตๆ วางไว้บนโต๊ะอย่างเด่น (โมโตโรลาครองตลาด) ก็รุ่นที่คนชอบมาล้อว่ามือถือรุ่นกระติกน้ำนั่นแหละ แถมใช้โทรได้อย่างเดียว ว่ากันว่ามันคือของจำเป็นสำหรับเจ้าของธุรกิจ เอาไว้โทรปิดดีลร้อยล้านพันล้านกันเป็นว่าเล่น

รายได้ของคนหนุ่มสาวสมัยนั้นมันอู้ฟู้ ตลาดหุ้นพุ่งแรง นี่เป็นยุคเริ่มต้นของวงการโฆษณามืออาชีพเต็มรูปแบบ สื่อมีความสำคัญอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อยู่ๆ เมืองไทยก็กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม รายได้คนในเมืองเพิ่มทวีคูณ ทีมงานสารคดีจากต่างประเทศที่เดินทางมาทำเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจของเสือตัวที่ห้า พูดราวกับลอกการบ้านว่า เกิดมาไม่เคยเห็นขอบฟ้าที่ไหนในโลกกำลังเติบโตขนาดนี้ (ตอนนั้นดูไบยังไม่ตื่น) มองไปทางไหนก็มีแต่ปั่นจั่นสูง ทุกพื้นที่มีแต่การก่อสร้าง ก่อสร้าง ก่อสร้าง 

แล้วฟองสบู่ก็แตกครับ

คำตอบคือมีเงินสะพัดในบ้านเมืองเรา โอกาสจะได้เงินเดือนสูงๆ นั้นเป็นไปได้ แต่ตอนนี้มันบ่อจี๊ เท่าที่ดูแล้ว แหล่งทุนใหญ่ที่สุดเวลานี้น่าจะเป็นภาครัฐ ลุงแนะว่าไปสอบเข้าเป็นราชการ แล้วไปหาโอกาสโกงกินบ้านเมืองเอานะ ถ้าอยากได้เงินเยอะๆ ล่ะก็

แต่ทำแบบนั้น นรกอาจถามหา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save