fbpx

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา: ว่าด้วย เซเลบใส่ชุดราตรีในตำนาน และการใช้ชีวิตกับรูมเมต

ก่อนหน้านี้ในงาน MET Gala เห็นมีกระแสไม่พอใจที่ Kim Kardashian ได้ใส่ชุด Marilyn Monroe ไปร่วมงาน ล่าสุดมีข่าวว่าชุดเสียหายด้วย ลุงคิดกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เราควรเอาชุดของบุคคลในตำนานออกมามั้ยคะ หรือเราควรสร้างข้อกำหนดอย่างไรบ้างหรือเปล่า – ไหม

ตอบคุณไหม

ลุงไม่รู้ว่าคิม คาร์เดเชียนมีเรื่องกับชุดราตรี ‘Happy Birthday, Mr. President’ จนคุณถามนี่แหละ จึงค่อยตามข่าวย้อนหลัง และก่อนจะตอบคำถามของคุณ ลุงต้องเล่าเรื่องเกี่ยวกับชุดราตรีชุดนี้ตามที่ได้ไปอ่านๆ มา

ชุดนี้ไม่ใช่แค่ชุดของมาริลิน มอนโร แต่คือชุดราตรี ซึ่งฝรั่งอเมริกันรู้จักกันในนามชุด ‘Happy Birthday, Mr. President’ ซึ่งนอกจากจะมีความสำคัญระดับตำนานแล้ว ชุดราตรีอายุ 60 ปีนี้ยังเป็นเสื้อผ้าราคาแพงที่สุดที่มีคนประมูลกัน นั่นคือ 4.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกันตามอัตราแลกเปลี่ยนตอนนี้ก็ตกราวๆ 170 ล้านบาทครับ

เป็นคุณจะกล้ายืมเสื้อผ้าราคาประมาณนี้ มีความสำคัญประมาณนี้ มาใส่ออกงานไหม อาจจะกล้าก็ได้มั้งถ้าคุณมองว่าตัวฉันก็เป็นบุคคลระดับตำนานเหมือนกัน อย่างที่คิม คาร์เดเชียนคงจะมองตัวนางเอง

ดูเหมือนมาริลินจะเคยใส่ชุดนี้ออกงานแค่ครั้งเดียว คืองานดินเนอร์ระดมทุนเข้าพรรคเดโมแครตในเดือนพฤษภาคม ปี 1962 ซึ่งจัดเป็นเกียรติในวาระวันคล้ายวันเกิดอายุ 45 ของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี (ซึ่งตอนนั้นลือกันว่าท่านมีอะไรกันกับมาริลิน มอนโร ดาราสาว) งานนี้จัดที่เมดิสัน สแควร์ การ์เดน (Madison Square Garden) มีคนร่วมงานหมื่นห้าพันคน   

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1962 อเมริกายังเป็นประเทศคอนเซอร์เวทีฟ (conservative) น่าจะยิ่งกว่าเมืองไทยสมัยนี้ เรื่องโป๊ๆ เปลือยๆ นี่เป็นเรื่องค่อนข้างต้องห้าม มาริลินเองแม้จะได้ชื่อว่าเป็นตำนานแห่งความเซ็กซี่ แต่เวลาแสดงหนังเธอมีฉากโป๊น้อยมาก เรียกได้ว่าไม่มีเลยก็ได้ สิ่งที่ทำให้เธอเป็นตำนานดาวยั่วคือ ท่าทีเย้ายวน ทรวดทรงองค์เอว และทัศนะทีเล่นทีจริงกับเรื่องเซ็กซ์ ไม่ใช่เรื่องโป๊เปลือยโชว์เนื้อหนัง

แต่แล้วในคืนหนึ่งของเดือนพฤษภาคม ปี 1962 ที่เมดิสัน สแควร์ การ์เดน เธอก็มาท็อปฟอร์มด้วยการตั้งใจใส่ชุดนี้มาขึ้นเวทีโดยเฉพาะ ชุดราตรีนี้ผ้าบางจ๋อยราวกระดาษทิชชู ในลักษณะที่เขาเรียกว่าชุดนู้ด (nude) คือใส่แล้วเหมือนไม่ได้นุ่งผ้า ยิ่งผู้สวมใส่เป็นผู้หญิงอย่างมาริลินแล้วมันคือนู้ดยิ่งกว่านู้ด เธอสั่งตัดให้พอดีรูปร่างของเธออย่างสวย ทั้งชุดประดับคริสตัลกว่า 6,000 เม็ด ชุดคว้านหน้า เปิดหลัง เธอสวมแล้วก็อวดทรวดทรงของสาววัยสามสิบเศษบนเวทีต่อหน้าผู้ชมเป็นหมื่น (ช่วงที่เธอถอดเสื้อมิงค์ตัวเล็กๆ ที่คลุมไหล่อยู่ คนดูถึงกับร้องฮือทั้งฮอล) ก่อนจะร้องเพลงอวยพรวันเกิดที่เธอแต่งเองให้เคนเนดีและคนทั้งโลกได้ฟัง ด้วยเสียงเย้ายวนออดอ้อนแกล้งโง่อันเป็นซิกเนเจอร์ของมาริลิน มอนโร จากคืนนั้นชุดนี้ก็ได้ชื่อว่า ‘Happy Birthday, Mr. President’ และขึ้นทำเนียบของชุดราตรีระดับตำนาน

หลังจากมาริลินเสียชีวิต ชุดนี้ถูกนำออกมาประมูลกันหลายทอด โดยผู้ประมูลล่าสุดคือมิวเซียมแสดงของแปลกแต่จริงซึ่งมีชื่อว่า ‘Ripley’s Believe It or Not!’ ประมูลไปในราคา 4.8 ล้านดอลลาร์เพื่อนำไปจัดแสดง ในห้องควบคุมแสงสว่าง อุณหภูมิและความชื้นโดยไม่มีใครได้สัมผัสชุดนั้นนอกจากเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ไม่กี่คนของมิวเซียม โดยจะต้องสวมถุงมือและมีมาตรการเข้มงวดของการอนุรักษ์วัตถุโบราณ จนกระทั่งคิม คาร์เดเชียนออกปากขอยืมชุดไปใส่ออกงาน MET Gala ซึ่งธีมของปีนี้คือ gilded glamor หรือเลิศหรูระยิบระยับจับตา (บวกด้วยตำนานของแฟชั่นอเมริกาด้วย ถ้าจำไม่ผิด)

ทาง ‘ริบลีส์’ ซึ่งเป็นมิวเซียมก็ดันบ้าจี้ให้นางยืม

ตามที่คิมให้สัมภาษณ์นิตยสาร Vogue นางบอกว่าทางมิวเซียมให้ชุดจำลองไปลองก่อน ตอนแรกก็ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร แต่พอมาลองชุดจริงรอบสอง ปรากฏว่าคับไป “พอรู้ว่าใส่ชุดนั้นไม่ได้ ฉันนี่อยากจะร้องไห้ เพราะชุดนี้เราแก้ไม่ได้” ประโยคนี้ประโยคเดียวบอกเราว่าคิม คาร์เดเชียนคิดตลอดเวลาว่า ตัวเธอต้องมาก่อน ชุดนั้นต้องมาทีหลัง ถึงขนาดกล้าคิดถึงเรื่องการแก้ชุดราวกับกำลังคุยกับห้องเสื้อ ไม่ใช่มิวเซียม ทำให้คำพูดสวยๆ อย่าง “ฉันตระหนักดีว่าต้องให้เกียรติชุดนี้ ตระหนักดีถึงความสำคัญที่ชุดนี้มีต่อประวัติศาสตร์อเมริกา” เป็นอันว่าไร้น้ำหนัก ทำให้เรารู้ว่าประโยคหลังนั้นนางก็พูดให้ตัวเองดูดีไปงั้นๆ แหละ

นางก็ช่างพูดอะไรพล่อยๆ เหมือนเปิดช่องให้คนดูจับโกหกได้ คล้ายเป็นมุกเรียกเรตติ้งของรายการทีวีเรียลลิตี้ ปานนั้น

มาถึงจุดนี้ อีกไม่ถึงเดือนจะมีงาน MET แล้ว ก็ต้องรีดน้ำหนักตัวสิครับ ขอชมคิม คาร์เดเชียนตรงนี้ว่าอายุสี่สิบแล้วยังสามารถรีดน้ำหนักตัวเจ็ดกิโลได้ภายในเวลาสามสัปดาห์ ถึงวันจริงนางสวมชุดนี้เดินพรมแดงแค่ห้านาที จากภาพนั้นลุงเห็นนางยืนตัวแข็งอยู่หน้าแบ๊คดรอปต่อหน้าช่างภาพ แต่ละก้าวช่างยากลำเค็ญราวกับเงือกน้อยเดินบนบก (จากคลิปประวัติศาสตร์จะเห็นมาริลินสวมชุดนั้นอย่างสบาย แม้ชุดจะมีคัตติงแนบเนื้อมากๆ ตอนหนึ่งเธอถึงกับกระโดดตามจังหวะเพลงด้วยซ้ำ ชุดไม่ได้ตึงเปรี๊ยะอย่างตอนที่คิมใส่) 

ถ่ายภาพกันเสร็จสมอารมณ์หมาย คิมก็เปลี่ยนเป็นชุดจำลองไปงานต่อ แต่ห้านาทีก็นานพอ เพราะต่อมาโลกก็เห็นรอยปริของชุดทางไอจีที่มีคนเอามาฟ้อง ขณะเดียวกันทางมิวเซียมเจ้าของชุดก็ออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่า ชุดราตรีในตำนานยังอยู่ดี ไม่มีอะไรเสียหาย

แต่อยากจะบอกว่าแม้ไม่เสียหายตามคำอ้าง แต่ชุดอันเป็นตำนานอมตะก็แปดเปื้อนเสียแล้ว ทั้งเปื้อนไขมันบนผิวหนังของคิม และความเป็นตำนานมีอันต้องมัวหมอง เพราะแทนที่ชุดราตรี Happy Birthday, Mr. President จะเป็นชุดในตำนานของมาริลิน มอนโร ตอนนี้มันกลายเป็นชุดราตรีของมาริลิน/คิม คาร์เดเชียน ไปเสียแล้ว

ถึงตอนนี้มีเสียงวิจารณ์มิวเซียมว่า ไม่รู้จักคิด ชุดราตรีระดับตำนานขนาดนี้ ให้คนยืมไปใส่ได้ยังไง

และคำตอบของลุงคือ ไม่ควรเอาชุดในตำนานมาใส่ครับ มันผิด นอกจากนั้นข้อกำหนดของการอนุรักษ์เสื้อผ้านั้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่กรณีนี้ทั้งมิวเซียมและคนยืมไม่สนใจข้อกำหนด แล้วอยากทำตามใจตัวเอง ผลก็เลยออกมาเป็นแบบนี้

เพิ่งย้ายมาอยู่หอกับเพื่อนค่ะ มีคนบอกว่าถ้าอยู่กับคนอื่นระวังถูกเอาเปรียบ หรือระวังไปเอาเปรียบคนอื่น เลยคิดว่าหรือเราควรตั้งกฎกันในห้องร่วมกับเพื่อนเลยดีไหม แต่เพื่อนก็มองว่ามันดูจริงจังมากจนทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ควรแก้ปัญหาเหล่านี้ยังไงดีคะ – ป่าน

ตอบคุณป่าน

ลุงอยากจะบอกว่าอย่าคิดว่ามันเป็นการเอาเปรียบ แต่ให้คิดว่ามันคือเรื่องของสถานการณ์ที่จะนำเราไปสู่ความขัดแย้งได้ง่าย เนื่องจากเราใช้พื้นที่ และเวลาร่วมกัน ข้าวของส่วนตัวของเราอยู่ปะปนกับของๆ รูมเมต บางครั้งเราก็อยากจะมีเพื่อนอยู่ในห้อง ไว้คุยกัน แชร์อาหารสักมื้อ หรือดีจังที่ในพื้นที่นี้เรามีคนอื่นอยู่ด้วย แต่บางครั้งเราก็แอบดีใจเมื่อได้ยินเสียงเขาปิดประตูแล้วออกจากห้องไป แบบว่าบางทีฉันก็ต้องการพื้นที่ซึ่งไม่มีเธอนะ

พยายามหว่านล้อมเพื่อนให้เขาเข้าใจด้วยว่าการมีกฎมันไม่ได้น่ากลัวน่าอึดอัดขนาดนั้น มีคนมากกว่าหนึ่ง การมีกฎมันเป็นเรื่องธรรมดา อย่างระดับประเทศยังต้องมีรัฐธรรมนูญเลย ไม่งั้นขัดแย้งกันแล้วไม่รู้ว่ามันจะไปจบที่ไหน

กฎของการอยู่ร่วมกันในห้องพัก เท่าที่นึกออกนะครับก็มี ก) เรื่องงานบ้าน กวาดถูล้างห้องน้ำล้างจาน ใครทำ ทำเมื่อไหร่ สลับสัปดาห์ หรือยังไงก็ตกลงกันซะ ข) ตกลงคร่าวๆ เรื่องตารางเวลา คือใครจะใช้พื้นที่ส่วนใหญ่เวลาไหน คนนี้ทำงานเลิกดึก อีกคนไปเรียนแต่เช้า บอกกล่าวกันไว้ คนที่จะออกไปแต่เช้าจะได้ปิดประตูเบาๆ เพราะรูมเมตอาจเพิ่งกลับมานอนตอนตีสามไรงี้ ค) เรื่องค่าใช้จ่าย จะหารสอง จะแยกกันจ่าย ใครเป็นคนทำบัญชี เรื่องการซื้อของเข้าบ้าน ง) ของใช้ส่วนตัว ของใครๆ ก็หวง จ) อยู่ห้องเดียวกัน หาเวลาสนุกสนานกันบ้าง ทำความรู้จัก สร้างความสนิทสนม อีกอย่าง เผื่อจะมีโอกาสเปิดช่องให้คุยเรื่องที่ต้องเคลียร์ แต่ไม่รู้จะเคลียร์ยังไง

กฎมันต้องมีครับ บางคนอยู่ด้วยกันแล้วไม่ชอบกฎก็ฉีกเอาเสียดื้อๆ ถือดีทำรัฐประหาร พออยู่ด้วยกันเอะอะอะไรก็บอกว่า ไม่ชอบก็ไปอยู่ประเทศอื่นสิ แถวบ้านลุงเขาเรียกคนพาล คนเมาตรรกะเสื่อมๆ ไม่ใช่คนดิบดีอะไรเลย


Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป ในช่วงแรกๆ ลุงเฮม่าจะเน้นเรื่องกฎเกณฑ์ เพราะคิดว่ามันน่าจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่หลังจากเขียนคอลัมน์นี้มาได้ปีสองปีก็เริ่มตาสว่าง และที่สำคัญคือ หลังจากโลกรอบตัวมีแต่กฎเกณฑ์และการใช้อำนาจ (ซึ่งส่วนใหญ่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ออกกฎ) ลุงเลยเปลี่ยนแนวมาเขียนตอบโดยเริ่มที่กฎเกณฑ์ แล้วตามด้วยวิธีหลอกล่อเล่นสนุกกับกฎนั้นๆ แทน  

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save