fbpx

ว่าด้วยดราม่า ‘เดรสโค้ด’ ในงานประชุมวิชาการ และการแบ่ง ‘ขนมของกลาง’ ในที่ทำงาน

ก่อนหน้านี้เห็นคนต่างชาติตั้งคำถามกับข้อกำหนดชุดที่จะใส่ไปงานเสวนาหรืองานประชุมวิชาการ ลุงคิดยังไงกับการกำหนดชุดสุภาพบ้างเหรอฮะ – ปอนด์

ตอบคุณปอนด์

ถึงวันนี้คงจะชัดเจนแล้วว่าข้อกำหนดเรื่องเครื่องแต่งกายนั้นมีขึ้นสำหรับพิธีวันเปิด ซึ่งมีการเสด็จของสมาชิกราชวงศ์ และยังเป็นข้อความที่ส่งกันเป็นการภายในเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับพิธีที่ว่า ไม่ได้ตั้งใจเผยแพร่ต่อผู้เข้าร่วมการประชุมโดยทั่วไป อันนี้ว่ากันตามคำชี้แจงหลังจากที่เกิดดราม่าของคณะผู้จัดงาน ซึ่งก็คือสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ของประเทศไทยเรานี่เอง ดังนั้นข้อกำหนดที่คุณปอนด์ว่าจึงไม่ใช่ข้อกำหนดชุดสุภาพสำหรับเข้าร่วมการสัมนานะครับ แต่เป็นข้อกำหนดการแต่งกายสำหรับพิธี (น่าจะเป็นวันเปิด) จึงเท่ากับว่านี่คือชุดที่เหมาะสมสำหรับจะใส่มารับเสด็จนั่นเอง

คือถ้าเป็นข้อกำหนดสำหรับการแต่งกายเพื่อเข้าร่วมประชุมแล้วก็สมควรที่คุณเดวิด เค สมิท (David K Smith เจ้าของทวีตต้นเรื่อง ที่มาของดราม่าในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา) จะเป็นฟืนเป็นไฟ แกบอกในทำนองว่า “นี่เราจะมาแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์กัน แล้วจะมาจุกจิกเรื่องการแต่งกายไปเพื่อ?”

แต่ถ้าเป็นพิธีเปิดแล้ว มันเป็นคนละเรื่อง

พิธีคือพิธีครับ เป็นธรรมดาของการกำหนดเรื่องเครื่องแต่งกาย แม้แต่พิธีประกาศรางวัลโนเบลที่กรุงสตอกโฮล์มก็มีเดรสโค้ด ผู้ชายใส่แบล็กไท (Black Tie) หรือไวท์ไท (White Tie) กับทักซิโดหางยาว ส่วนผู้หญิงแต่งด้วยชุดราตรี และการแต่งชุดใหญ่ในงานพิธีรางวัลโนเบลก็บอกเราว่า คนฉลาดๆ เขาก็แต่งตัวกันเมื่อจำเป็น ลุงเคยสัมภาษณ์ผู้ใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนคิดค้นและผลักดันให้เอาข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของไทยทั้งหมดลงเป็นข้อมูลดิจิตอล นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก คือประเทศอย่างญี่ปุ่นหรือสหรัฐฯ ก็ไม่มีบัตรประชาชนนะครับ ดร.สุรชัย ศรีสารคามได้รับรางวัลด้านการจัดการข้อมูลดิจิตอลระดับโลกเมื่อราวยี่สิบกว่าปีก่อน ในสมัยที่เพิ่งจะเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตกันจริงจัง แต่ผลงานด้านข้อมูลไอทีทะเบียนราษฎร์ของอาจารย์ได้รับรางวัลระดับโลก ลุงถามว่าตอนไปรับรู้สึกอย่างไร แกตอบว่า “ไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่ว่าต้องรีบไปตัดชุดทักซิโด (ซึ่งกำหนดไว้สำหรับผู้ที่เข้าร่วมพิธี) ช้าเดี๋ยวกลัวไม่ทันใช้งาน”

คือถ้าเป็นพิธี เขากำหนดให้ใส่อะไรก็ต้องว่าไปตามนั้น ถ้าไม่อยากใส่ก็ไม่ต้องไปพิธี ไม่ทำตามข้อกำหนดก็ไม่ต่างอะไรกับการขี่รถสวนทิศทางการจราจร 

ลุงขอพูดถึงข้อกำหนดเรื่องการแต่งกายที่ผู้จัดระบุมาซะหน่อยนะ และคิดว่าที่มันออกมาแล้วดูรุ่มร่ามจนเกิดเป็นดราม่าขึ้นมาสองสามวัน เนื่องมาจากสองสาเหตุ ข้อแรกคือ เพราะเราไม่คุ้นกับโค้ดการแต่งกายเลยต้องอธิบายกันเยอะ อ่านแล้วรุงรัง พานไม่อยากทำตาม ข้อสอง เป็นการรับเสด็จ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้มีเหตุผล หรือถ้ามี เหตุผลเดียวก็คือมันเป็นเหตุผลของเจ้าภาพ

ข้อแรก ถ้าเราคุ้นหรือเข้าใจกับโค้ดของการแต่งกาย บอกมาสิว่า ให้แต่งแบล็กไทหรือไวท์ไท (ทักซิโดและผูกหูกระต่ายสีดำหรือสีขาวสำหรับชาย ชุดราตรีสำหรับหญิง) หรือเป็นชุดสากลที่เรียกว่า business attire (ผู้ชายสวมสูทผูกไท ผู้หญิงสวมสูทธุรกิจหรือชุดราตรีเรียบร้อย) หรือจะมีข้อยกเว้นเป็นชุดประจำชาติก็งดงามหลากหลายดีไปอีกแบบ นี่เป็นข้อตกลงระดับสากลที่ใครในประเทศไหนก็จะเข้าใจ ไม่ต้องมาต่อความยาวสาวความยืดแบบข้อกำหนดของทางผู้จัดงานซึ่งแสนจะละเอียดหยุมหยิม (ซึ่งเห็นว่าลบจากเว็บไซต์ไปแล้ว) ไม่ต้องมาลงรายละเอียดที่อ่านดูแล้วรู้สึกว่า – มายุ่งกับหัวหูกูจริงเลย เช่น ผู้ชาย แม้จะใส่สูทแล้ว ก็ยังต้องคาดเข็มขัด ผู้หญิงต้องสวมกระโปรง ห้ามสวมกางเกง ห้ามทาเล็บ ห้ามให้เห็นรอยสัก แถมยังมีอินโฟกราฟิกชี้ให้เห็นด้วยว่า อย่างนี้ถูกนะ อย่างนี้ผิดนะ ชวนให้นึกถึงป้ายไวนิลหน้าวัดพระเแก้ว ตั้งไว้ข้างๆ แผงให้เช่าผ้าถุงให้เช่านั่นแหละ

ข้อสอง ใครเป็นเจ้าภาพคนนั้นถูกเสมอ ในพิธีงานอภิเษกระหว่างเจ้าชายแฮร์รี่กับเมแกนเมื่อหลายปีก่อน เขาก็มีเดรสโค้ดแบบนี้ แถมยังลงรายละเอียดว่า หญิงสวมหมวก กระโปรงกรอมเข่า ให้สวมถุงน่อง ทาเล็บไม่ฉูดฉาด คือให้ทาเป็นสีเนื้อนู้ดๆ นั่นเอง (ลุงไม่เห็นด้วยเลยกับการห้ามทาเล็บเพื่อมาพิธี เล็บโล้นๆ ในงานพิธีมันน่าดูตรงไหน!) ห้ามสวมส้นตึก เมื่อสอบถามดูจึงได้คำตอบสั้นๆ ว่า “ควีนไม่โปรดส้นตึก” จบนะ

เวลาที่เรามีขนมหรือของกินมาแบ่งคนรู้จัก เรามักจะวางไว้แล้วก็บอกเขาว่า “กินได้เลยนะ” แต่ว่าหลายครั้งมักเจอคนที่กินแบบไม่เกรงใจ พอเห็นเราอนุญาตก็กินจนหมด ไม่เหลือให้เราเลย อย่างนี้เราจะต้องบอกเขายังไงดีคะ บางทีทำตัวไม่ถูกว่าเราควรจะสื่อสารออกไปดีไหมว่า “กินได้ แต่ก็ไม่ควรกินหมดจนไม่เหลือให้คนอื่นเลย” – แพรว

ตอบคุณแพรว

ขนมหรือของกินที่ว่า คือของที่เราเอามาฝากเพื่อนร่วมงานจากข้างนอก ซึ่งลุงขอเรียกง่ายๆ ว่า ‘ขนมของกลาง’ นะครับ

ด้วยความที่มันเป็น ‘ของกลาง’ ของสาธารณะไปแล้ว จะไปแสดงสิทธิหรือบงการอะไรมันก็ไม่ใช่เรื่องหรือเปล่าครับ ถ้ามีคนกินจนหมด ไม่เหลือมาถึงเรา ก็ไม่ต้องพูดมาก ถ้าเป็นลุงคงบ่นขำๆ ดังๆ ให้ได้ยินกันทั้งห้องว่า “พวกมึงไม่คิดจะเหลือให้กูบ้างเลยหรือไง” 

ถ้าซื้อมาอีก แล้วพวกมันก็กินกันจนหมดเกลี้ยงอีก ก็เลิกครับ ไม่ต้องซื้อมาแล้ว ไม่รู้จักเกรงใจกันก็ไม่ต้องกิน… 

เรื่องของเรื่องคือ คุณอาจจะต้องเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่นะครับ ดูๆ เหมือนคุณแพรวก็เป็นคนใจดี คงไม่ต้องไปถึงขั้นเด็ดขาด ชนิดไม่ต้องซ้งต้องซื้อมาฝากแล้วอย่างที่ลุงบอก อาจจะต้องเปลี่ยนกรอบความคิดว่าเมื่อ ‘ขนมของกลาง’ ไปอยู่ที่โต๊ะกลาง มันก็ไม่ใช่ของเราอีกต่อไป มันเป็นของทุกคน มันไม่ใช่ของเราอีกต่อไป ท่องไปเรื่อยๆ ครับ จนกว่าจะมาถึงขั้นขี้เกียจซื้อเพราะรำคาญ ลุงก็ต้องเสียใจแทนเพื่อนร่วมงานที่ไม่รู้จักเกรงใจไว้ตรงนี้เลยก็แล้วกัน


Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป ในช่วงแรกๆ ลุงเฮม่าจะเน้นเรื่องกฎเกณฑ์ เพราะคิดว่ามันน่าจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่หลังจากเขียนคอลัมน์นี้มาได้ปีสองปีก็เริ่มตาสว่าง และที่สำคัญคือ หลังจากโลกรอบตัวมีแต่กฎเกณฑ์และการใช้อำนาจ (ซึ่งส่วนใหญ่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ออกกฎ) ลุงเลยเปลี่ยนแนวมาเขียนตอบโดยเริ่มที่กฎเกณฑ์ แล้วตามด้วยวิธีหลอกล่อเล่นสนุกกับกฎนั้นๆ แทน  

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save