fbpx

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา: ว่าด้วย การจัดการเสียงเคี้ยวอาหาร คุยเรื่องต่อรองค่าแรง และการให้เกียรติผู้เสียชีวิตด้วยการไม่ส่งภาพศพ

Q: ปกติเป็นคนไม่ชอบเสียงเคี้ยวข้าวเท่าไหร่เลยค่ะ เวลากินข้าวแล้วมีคนทำเสียงจ๊อบแจ๊บ หรือเสียงเคี้ยวดังๆ ทำให้รู้สึกอึดอัด ตอนกินข้าวในร้านอาหารแล้วได้ยินยังไม่เท่าไหร่ แต่เวลาไปร่วมโต๊ะกับคนอื่นจะไม่ค่อยสบายใจ ลุงคิดว่าเราควรพูดเรื่องนี้ออกไปไหมคะ – แป้ง

ตอบคุณแป้ง

เมื่อลองค้นดูจึงพบว่าความรู้สึกรำคาญของคุณ ไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ จะรู้สึกกันทุกคน เมื่อค้นต่อไปก็พบว่าเขามีชื่อเรียกความรำคาญของคุณด้วยว่าคือ ‘อาการเกลียดเสียง’ หรือ ‘ภาวะมีโซโฟเนีย (Misophonia)’

สิ่งนี้เป็นแค่อาการครับ ไม่ได้แปลว่าเราป่วย แต่ก็เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตพอสมควร (ยิ่งในวัฒนธรรมที่ชอบสังสรรค์พบปะกันที่โต๊ะอาหารอย่างบ้านเราด้วยแล้ว) สาเหตุนั้นยังไม่ทราบแน่ว่ามันเกิดเพราะอะไร เนื่องจากเรื่องนี้ยังใหม่อยู่ ยังไม่ค่อยมีการศึกษา แต่ท่านว่าน่าจะเริ่มเป็นกันตอนช่วงอายุ 12-13 ปี และไม่ใช่เฉพาะเสียงเคี้ยว (ของคนอื่น) เท่านั้นที่เป็นปัญหา เสียงหาว เสียงเขย่าขา หรือบางทีก็เลยเถิดไปถึงเสียงนกร้อง ก็สร้างปัญหาให้ชาวมีโซโฟเนียได้เหมือนกัน และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยังบอกอีกด้วยว่า ลำพังตัวเสียงนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งที่มันส่งผลต่อระบบประสาทของเราต่างหากที่คือปัญหา เพราะระบบประสาทรับเสียงเฉพาะมาแล้ว ทำให้เราหงุดหงิดนั่นเอง

ขอตอบเรื่องที่คุณถามก่อนละกันนะครับ การพูดเรื่องนี้เป็นเรื่องดีนะครับ จะได้บอกถึงสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราลำบาก ก็เหมือนเวลาไปกินข้าวกันแล้วคนในโต๊ะรู้ว่าเราแพ้กุ้งนั่นแหละ ลุงชอบตัวอย่างนี้ เพราะการที่เราแพ้กุ้งมันไม่ได้แปลว่า นี่! ทุกคนห้ามสั่งกุ้งมากินนะ แต่หมายความว่าเวลาสั่งอาหาร กรุณาเลือกเมนูที่ฉันกินได้และเธอก็ชอบกินไว้ด้วย มันไม่ใช่เรื่องของการตามใจเรา ไม่ใช่เรื่องของการตามใจเขา แต่คือเรื่องของการอยู่ร่วมกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย การประกาศตูมกลางโต๊ะว่า “นี่! ทุกคน ฉันไม่ชอบเสียงเคี้ยวดังนะ” มันก็คงไม่แฟร์ เพราะจริงๆ แล้วปัญหานั้นอยู่ที่ตัวคุณ ไม่ได้อยู่ที่คนเคี้ยวเลย

(อ่านถึงตรงนี้แล้วอย่าเพิ่งน้อยใจลุงนะ กรุณาอ่านต่อให้จบ)

คือว่าเสียงเคี้ยวอาหารนั้น แน่นอนว่าย่อมมีคนได้ยินก็น่าจะได้ยินกันทั้งโต๊ะนั่นแหละ แต่มีคุณคนเดียวที่รู้สึกมากๆ ต่อเสียงนั้น การห้ามคนทั้งโต๊ะเคี้ยวดัง ก็คงไม่ต่างจากห้ามคนอื่นสั่งกุ้งเมื่อไปร้านชื่อดังที่อยุธยา

คุณคงจะว่า “อ้าว แล้วไหนลุงบอกว่าการพูดเป็นเรื่องดี”

ให้มองเรื่องนี้เหมือนเราเจอคนมีกลิ่นปาก เราคงไม่เดินตรงเข้าไปบอกเขาว่า “นี่คุณปากเหม็นนะ!” แต่เราจะเลือกบอกกับคนที่สนิท และบอกกันดีๆ และเป็นหน้าที่ของเพื่อนที่จะต้องบอกกัน

ดังนั้น เรื่องเสียงเคี้ยวข้าวก็เช่นกัน ควรพูดออกไปแหละครับ แต่เลือกบอกคนที่สนิทกับเราก็พอ บอกไปให้คนรับรู้บ้าง ชีวิตน่าจะดีขึ้นบ้าง

ตำราที่อ่านมาบอกว่า ‘เราทำให้เสียงที่เรารำคาญนั้นหายไปไม่ได้ แต่พอจะจัดการกับความเครียดของเราเองที่เกิดเพราะเสียงได้อยู่’ นั่นคือ เราต้องจัดการกับความคิดและมองมุมของเราก่อน

การมองว่าเสียงคนอื่นเคี้ยวน่ารำคาญ ดังนั้นอย่ามาเคี้ยวดังต่อหน้าฉัน มันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา บางตำราบอกว่าให้ลองการ desensitize หรือลดความรู้สึกรำคาญของเราด้วยการหัดทำตัวให้คุ้นกับเสียงเคี้ยว (เสียงแบบนี้มีให้เลือกทั่วไปในยูทูบ และอื่นๆ) เริ่มจากฟังเสียงเคี้ยวเบาๆ ตั้งระดับให้เบาเท่าที่รู้สึกว่าคุณแป้งพอไหว พอคุ้นแล้ว จึงค่อยๆ เร่งเสียง ตามแต่เราเลย นานๆ เข้าความรำคาญจะค่อยๆ ทุเลาไปเอง

หรืออีกวิธีคือ ทำใจร่มๆ แล้วใส่หูฟังเปิดเสียงพวก white noise แบบคลื่นริมทะเล น้ำไหล สายลม ฯลฯ (ซึ่งพ่นพิษใส่อวัยวะในการฟังของเราน้อยกว่าเสียงเพลง) กลบเสียงเคี้ยวซะเลย วิธีนี้น่าจะใช้ได้ดีกับการไปกินข้าวในศูนย์อาหารแล้วต้องร่วมโต๊ะกับคนที่เราไม่ได้เลือก แต่กับการกินข้าวกับเพื่อนๆ แล้ว ชีวิตก็ยังลำบากอยู่ดี คือเราอาจไม่ต้องรำคาญเสียงเคี้ยว แต่เพื่อนคงรำคาญเราที่ใส่หูฟัง คุยอะไรกันก็ลำบาก

การทำใจร่มมันช่วยเราได้มากกว่าที่คิดนะ ลุงมีเรื่องจะเล่าให้ฟัง

แถวบ้านลุงบางครั้งเขามีงานวัดกันจนดึกดื่น ในยุคก่อนโควิด-19 ทั้งหนัง ทั้งลิเกมากันครบเครื่อง ลุงอยู่บ้านรำคาญเสียงมาก เปิดแอร์ปิดกระจกก็แล้ว เปิดเพลงในบ้านเราเองก็แล้ว เสียงจากข้างนอกยังอุตส่าห์ลอดมาให้ได้ยินอยู่ดี แค่นิดเดียวก็หงุดหงิดมากมาย แล้วมีวันหนึ่งลุงนึกยังไงก็ไม่รู้ ชวนป้าเดินไปงานวัดซะเลย (ปกติไม่เคยไปหรอก) ยืนดูหนังดูลิเก ดูชาวบ้านชาวช่องมาเอ็นจอยงานวัดสักสิบนาที เมื่อไม่มีอะไรที่ตนชอบมากพอจะยอมตากยุงอยู่ต่อก็เลยกลับ ปรากฏว่าหลังจากนั้นพอกลับบ้านเสียงงานวัดน่ารำคาญน้อยลงเยอะเลย

คงเหมือนเราไปทำความรู้จักกับเสียงงานวัดแล้ว มันเลยแปลกปลอม (น่ารำคาญ) น้อยลง 

คืนนั้นเลยหลับได้ทั้งที่เสียงยังดังโครมๆ

อย่างไรก็ตาม เรื่องรำคาญเสียงนี้ ที่สุดแล้วควรพบผู้เชี่ยวชาญ ให้เขาช่วยเราแก้ปัญหานะครับ

และขอให้มีชีวิตดีๆ รับประทานอาหารอย่างสบายใจได้ในที่สุดนะ

Q: ผมทำงานกราฟิก แล้วมักเจอปัญหาการต่อรองค่าแรงที่น้อยกว่าเรตที่คนทำงานควรได้ พอคุยเรื่องเงินทีไร ทำไมต้องกลายเป็นเรื่องมารยาทในการถามทุกครั้งเลยครับ จริงๆ เราควรคุยเรื่องเงินกันอย่างตรงไปตรงมาเลยหรือเปล่า ลุงมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ – ภัทร

ตอบคุณภัทร

เท่าที่ฟังดูนี่คือ คนที่ตรงไปตรงมาอยู่คือลูกค้า เพราะเขาต่อราคามาเลยโดยไม่อ้อมค้อม 

ในฐานะที่เขียนเรื่องมารยาทมาพอสมควร อยากจะบอกว่าพอเรื่องเงินมา มารยาทหนีครับ ส่วนใหญ่จะใส่กันเลย ไม่งั้นเราจะเสียใจทีหลังว่ารับงานมาทำแล้วมันไม่คุ้มเหนื่อย ส่วนจะมีลูกเล่นของการเจรจาอย่างไรนั้นเป็นทักษะของแต่ละคน

ปัญหาหนึ่งของคนทำงานรับจ้างคือ คิดเรื่องเงินไม่ทันคนที่ว่าจ้าง การตั้งอัตราให้ตัวเองไว้ล่วงหน้าช่วยได้บ้างนะครับ ให้รู้ว่าฉันจะไม่รับงานที่ได้ค่าจ้างน้อยไปกว่านี้ ถ้าเสนอราคามาต่ำกว่านั้นก็บอกเขาไปตรงๆ ว่าทำไม่ได้ 

เรื่องนี้มันแปลกตรงที่ว่าถ้าเราใจอ่อนยอมตามที่เขากดราคา เราได้งานมาก็จริง และจะเหนื่อยแบบไม่คุ้มเสีย แต่ถ้าเราใจแข็งปฏิเสธงานไป ก็กลัวนะ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จึงจะมีงานมาอีก

คล้ายจะมีแต่เสียกับเสีย

แต่อยากจะบอกว่าการรับงานทุกอย่างโดยไม่เลือกประเภทงาน  ไม่เลือกราคา ไม่เลือกนิสัยใจคอของผู้ว่าจ้าง ซึ่งจะทำให้เราเสียเวลา เสียอารมณ์ชนิดที่ไม่รู้จะประเมินราคาออกมายังไง มีแต่ทำให้ราคาและชีวิตเราตกต่ำครับ

เมื่อมาถึงเรื่องเงิน ขอให้ใจแข็งไว้ก่อน

Q: ช่วงที่ผ่านมา มีคนส่งคลิป ไม่ก็เป็นรูปดาราจมน้ำมาให้รัวๆ ไม่ชอบเลย ลุงคิดยังกับเรื่องนี้ฮะ – จิน

ตอบคุณจิน

ความรู้สึกที่คนไทยมีต่อศพนี่เป็นเรื่องประหลาด สมัยก่อนที่คนเรายังโง่ ถึงกับมีนิตยสารรายสัปดาห์ที่ลงรูปภาพที่มาจากข่าวอาชญากรรม อุบัติเหตุ (แถมรูปโป๊วอบแวมๆ มาด้วย) นัยว่าขายดีขายได้ จนกฎหมายห้ามก็เลยเลิกไป แต่เรื่องนี้ยัง (แอบ) เป็นที่สนใจของคนจำนวนไม่น้อย ที่ลุงได้รับนั้นคือคลิปที่ดูแล้วอนาถใจมาก น่าสนใจว่าคนที่ส่งมาจะบอกว่า “น่าสงสารเนอะ น่าสงสารเนอะ”

อยากจะเรียนว่าถ้าสงสารจริง คุณก็ไม่ควรส่งโว้ย และไม่ควรเปิดดูด้วย ให้เกียรติคนตายด้วย (ถ้าเราตายบ้าง คงไม่อยากให้ใครมาเห็นเรา ‘ศพไม่สวย’) แล้วก็ให้เกียรติตัวเองบ้าง อย่าเห็นแก่อะดรีนาลีนวูบวาบเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งหลั่งออกมาเมื่อเราเห็นภาพอะไรพวกนี้ 

สิ่งที่เราควรทำเมื่อเจอศพ อย่างตามวัด ห้องเก็บศพตามโรงพยาบาล หรือสถานที่เกิดเหตุที่เราบังเอิญผ่านไป คือยกมือไหว้ ภาวนาในใจให้เขาไปดี ไม่ใช่ยกมือถือบันทึกภาพแล้วส่งรูปต่อแทนสวัสดีวันจันทร์ 


Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป ในช่วงแรกๆ ลุงเฮม่าจะเน้นเรื่องกฎเกณฑ์ เพราะคิดว่ามันน่าจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่หลังจากเขียนคอลัมน์นี้มาได้ปีสองปีก็เริ่มตาสว่าง และที่สำคัญคือ หลังจากโลกรอบตัวมีแต่กฎเกณฑ์และการใช้อำนาจ (ซึ่งส่วนใหญ่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ออกกฎ) ลุงเลยเปลี่ยนแนวมาเขียนตอบโดยเริ่มที่กฎเกณฑ์ แล้วตามด้วยวิธีหลอกล่อเล่นสนุกกับกฎนั้นๆ แทน  

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save