fbpx
ลุงเฮม่าตอบปัญหา

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา: ว่าด้วยโต๊ะข้างๆ เสียงดัง และ แต่งตัวสุภาพแล้วเย็นสบาย

Q: ไปร้านชาบูบุฟเฟต์กับเพื่อนมาค่ะ ตั้งใจจะไปกินอาหารให้สบายใจสบายพุง แต่โต๊ะข้างๆ มากันเป็นสิบคน นั่งสองโต๊ะแล้วตะโกนข้ามโต๊ะไปมา เสียงดังมาก ดังจนไม่ได้ยินอย่างอื่นเลย พนักงานก็ได้แต่ยิ้มแหยให้ ในกรณีที่เจอแบบนี้เราทำอะไรได้บ้างเพื่อทวงคืนมื้ออาหารอันรื่นรมย์กลับมา – จิ๊บ

A: ตอบคุณจิ๊บ

ทำได้ครับ เริ่มด้วยการถอดรองเท้าออกข้างหนึ่ง ใช้มือข้างที่ถนัดจับรองเท้าให้อยู่มือ หันปลายส้นออก ส่วนมืออีกข้างจิกหัวคนที่โต๊ะนั้นที่ใกล้ตัว เลือกคนที่เสียงดังที่สุดได้ยิ่งดี กระชากมาให้เสียหลัก แล้วเราก็ร้องเต็มเสียงว่า “หนวกหูโว้ย!” แล้วตบๆๆ ที่หัวด้วยรองเท้า วิธีตบนะครับ ให้เงื้อสูงแล้วฟาดลงมาเต็มแรง ขอแบบแม่นๆ เอาให้มึนหรือเลือดตกได้ยิ่งดี ไม่ควรตีรัวๆ แต่เบา ไร้อิมแพค (ถ้าคุณใส่ผ้าใบหรือรองเท้าแตะ ให้เปลี่ยนเป็นเอารองเท้านั้นตบปาก ตบจนกว่าปากเขาจะบวม หน้าช้ำ ตาปิดจนมองไม่เห็นแววตื่นตระหนกแม้ว่าตอนนี้มีพระยามัจจุราชอยู่ตรงหน้า) ขณะเดียวกันให้หันไปตะคอกคนอื่นในโต๊ะ ซึ่งคงแต่มัวตะลึง บอกว่า “สันดาน! พวกมึงจะคุยกันเสียงดังในร้านชาบูบุฟเฟต์อีกมั้ย!” และตีคนที่จับมาได้ไปเรื่อยๆ จนกว่าคนอื่นในโต๊ะจะยกมือไหว้ ขอโทษขอโพย ก้มกราบตัวสั่นงันงก

พอได้เห็นเลือด ได้ยินเสียงร้องโหยหวนจนเป็นที่พอใจแล้ว รีบเผ่นออกจากร้าน เพียงเท่านี้คุณก็ได้กินบุฟเฟต์ฟรีหนึ่งมื้อ

ลืมบอกไป ถ้ามีเพื่อนไปด้วยก็ให้เพื่อนถ่ายคลิป ถ้าไม่สะดวก ให้อยู่ในมุมที่กล้องวงจรปิดในร้านจะบันทึกภาพไว้ได้ (กล้องในร้านมักใช้งานได้จริง ไม่เหมือนของหลวงตามริมถนน) จากนั้นวีรกรรมของคุณจะเป็นข่าวไวรัลอีกสองสามวันเป็นอย่างน้อย แล้วผู้คนจะได้สำนึก เรื่องการคุยกันเสียงดังในที่สาธารณะจะได้เป็นประเด็นเสียบ้าง

จบโซลูชัน ‘ทิพย์’ ฉบับมีแต่ความสะใจของลุงเพียงเท่านี้…

มาดูปัญหานี้อย่างจริงจังดีกว่า เรื่องเสียงดังจากโต๊ะข้างๆ เป็นปัญหาของทุกที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในร้านอาหาร ถ้าจะให้ช่วยกันหาทางออก พอจะคุยได้เป็นข้อๆ แบบนี้นะครับ

1. ลุงมีข้อสังเกตว่า ที่ไหนก็ตามถ้ามีคนเดียว จะสงบเงียบ ถ้ามีสองคน เสียงพูดคุยจะดังพอประมาณ แต่ถ้ามีสามคนเสียงก็ดังขึ้น และดังขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนคนที่มารวมตัวกัน ดังนั้นการเข้าไปในที่ที่มีคนเยอะๆ เราต้องเจอเสียงดังแน่ และเรื่องนี้เป็นกันทุกชาติทุกภาษา

2. ร้านอาหารบางประเภทเป็นที่สำหรับสังสรรค์ ยิ่งเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยแล้ว นี่เป็นที่ซึ่งผู้คนไปหาความสนุกสนาน ไม่ได้ไปเพื่อกินอย่างเดียว ชาบูบุฟเฟต์ก็เข้าข่ายร้านที่ว่าด้วย

3. เสียงคุยกันมันเป็นสิ่งสัมพัทธ์ เราคุยกันเองกับเพื่อนอาจเสียงดังแต่เราไม่รู้สึก แต่ถ้าคนอื่นคุยกันดังเท่านี้เราจะรำคาญ ทั้งที่บางทีตัวเองก็ทำ…ถ้าคิดแบบนี้ได้บ้าง คุณอาจจะหงุดหงิดน้อยลง

4. แต่เราควรจะหงุดหงิดกับร้านอาหารนะครับ ปกติร้านอาหารมืออาชีพจะจัดการกับปัญหาลูกค้าเสียงดังได้ระดับหนึ่ง ถ้าเขาไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้ส่งเสียงกันอย่างเสรี อย่างกรณีของคุณที่น้องได้แต่ยิ้มแหยๆ นี่ไม่ถูกนะครับ อีกอย่างมันไม่ใช่เรื่องของเราที่จะต้องไปเตือนเขาเอง ดีไม่ดีอาจมีเรื่อง เพราะคนดื่มคนเมาเราคาดเดาอะไรไม่ได้เลย

ควรทำใจร่มๆ แล้วขอคุยกับผู้จัดการให้ทางร้านช่วยจัดการที เพราะทางร้านเขามีวิธีคุยกับลูกค้า ร้านที่ไม่ยอมทำหรือทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปอุดหนุน แล้วก็อย่าลืมแวะเข้าไปรีวิวร้านในเพจของเขาด้วย รีวิวให้ลูกค้าคนอื่นๆ เห็นว่าร้านนี้มันไม่เอาไหน เน้นความบกพร่องของทางร้านที่ไม่ยอมเตือนลูกค้าเสียงดัง ต่อให้น้ำจิ้มของร้านนี้อร่อย หรือซีเลคชันบุฟเฟต์หลากหลายคุ้มค่า แต่ถ้าทางร้านจัดการไม่ดี ลูกค้าเสียงดังแล้วห้ามไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปกินมัน และควรบอกกล่าวให้คนทั่วไปรู้ เพราะคนที่คิดเหมือนคุณน่าจะมีเยอะ

5. มีวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือขอย้ายโต๊ะ ซึ่งทางร้านก็จะต้องหาที่นั่งให้ ถ้าฉลาดเขาควรแถมเบียร์ให้ขวดนึงเป็นการปลอบใจ

6. ถ้าเขาหาโต๊ะให้ไม่ได้ ย้ายหนีไม่ได้ ทางร้านไม่ยอมคุยกับลูกค้าเสียงดังหูจะแตก มีแต่เรื่องไร้สาระ ฟังไม่รู้เรื่อง แทนที่จะแถลงอะไรที่เป็นประโยชน์ กลับยกบทกวีชมตัวเอง ฯลฯ จงทำตัวเหมือนที่เราทำอยู่ในประเทศไทยทุกวันนี้ คือทำใจ…จบครับ

Q: อากาศร้อนจนเสื้อเชิ้ตแขนยาว กางเกง กระโปรงยาวมันชักจะใส่ไม่ไหว แต่ด้วยหน้าที่การงาน ยังต้องแต่งตัวสุภาพ ขอคำแนะนำหน่อยค่ะลุงเฮ – มิงค์

A: ตอบคุณมิงค์

ทางออกของเรื่องนี้มีคีย์เวิร์ดอยู่สองคำคือ ‘เนื้อผ้า’ และ ‘ทรงหลวม’

การที่คนไทยเราเจอแต่อากาศร้อนกับร้อนมากทั้งปี ทำให้เรามองข้ามเรื่องอุณหภูมิกับเสื้อผ้าไป เพราะเราจะใส่เสื้อผ้าอย่างเดียวกันตลอดทั้งปี ไม่มีการเอาชุดหน้าร้อนเก็บใส่กล่อง (มันเปลืองที่เก็บในตู้) แล้วเอาเสื้อผ้าหน้าหนาว ซึ่งเนื้อผ้าหนา แน่น เก็บกักความอบอุ่นได้ดี มาใส่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว

นิสัยแบบนี้ทำให้บางครั้งเรามองไม่เห็นว่าเราแก้ปัญหาอากาศร้อนด้วยเสื้อผ้าได้

ที่ว่าแก้ปัญหาไม่ใช่แต่งตัวแบบฝรั่งตามหาด ถอดเสื้อ ใส่แขนกุด กางเกงสั้นจู๋อะไรแบบนั้น ลุงว่าฝรั่งทำแบบนั้นเพราะอยากสัมผัสอากาศร้อนตามประสาฝรั่ง ซึ่งเป็นชนชาติหิวแดด

ให้หันมามองการแต่งตัวของคนที่บ้านเขาอากาศร้อนกว่าเรา แถมยังอนุรักษ์นิยมกว่า คือต้องแต่งตัวมิดชิด แต่ไม่ยักกะร้อน ได้แก่ อินเดียและตะวันออกกลาง

แขกทั้งสองชาติ (ซึ่งเมื่อถึงหน้าร้อนของเขาแล้ว อุณหภูมิ 40 องศานี่คือเด็กๆ) ใส่เสื้อผ้าหุ้มถึงข้อมือข้อเท้า แขกอาหรับโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชายสวมเสื้อคลุมหลวมๆ สีขาว ดูดีมาก คือแต่งตัวแบบเดียวกันทั้งประเทศราวกับอยู่ในหนังไซไฟ

เสื้อผ้าที่แขกเหล่านี้เลือกสรรมารับมือกับอากาศร้อนมีคุณสมบัติตรงกันอยู่สองอย่างคือ

1. เนื้อผ้าบางเบา หายใจได้ เหงื่อระบายเร็ว

ผ้าอะไรบ้างที่สวมใส่สบาย คำตอบคือผ้าจากเส้นใยธรรมชาติอย่างฝ้าย ลินิน และไหม บางคนอาจแปลกใจว่าผ้าไหมมาทำอะไรตรงนี้ คืออย่าไปคิดถึงผ้าชุดผ้าไหมที่ข้าราชการเขาใส่กัน แบบที่ต้องมีซับใน แถมเนื้อผ้ายังต้องเอาไปอบ จนคุณสมบัติในการระบายเหงื่อหายไปหมด (ซึ่งเป็นเรื่องบ้าที่สุดที่เราขยันทำร้ายเนื้อผ้าชั้นเยี่ยมแสนสบายกันด้วยวิธีการต่างๆ แบบนั้น) ผ้าไหมเนื้อบางๆ ใส่แล้วสบายที่สุดขอบอก แม้ลุคจะป๋าหรือหรูไปหน่อยก็ตาม

ส่วนฝ้ายนั้นมีข้อแม้ว่าต้องเป็นผ้าเนื้อบาง ลินินอาจจะยับหน่อย แต่เส้นใยทอไม่แน่นเท่าฝ้าย ระบายอากาศได้ดีกว่า ลุงดีใจที่เห็นคนสมัยนี้ใส่ลินินมากขึ้น หาซื้อก็ง่ายขึ้น

ส่วนตัวลุงชอบเนื้อผ้าฝ้ายปนลินิน เพราะมันใส่สบายกว่า และยับน้อยกว่า วันไหนต้องดูดีหน่อยคือสบาย ไม่ต้องรีดผ้า นอกจากนั้น เสื้อผ้าฝ้ายเนื้อบางและลินินต่อให้ยาวคลุมถึงข้อมือข้อเท้า ยังไงก็ไม่ร้อนอึดอัด

เนื้อผ้าใยสังเคราะห์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา เขาก็ว่าใส่สบายกันนะ แต่ลุค athleisure (เทรนด์เสื้อผ้าชุดกีฬาลำลอง) นี่ยังไม่จัดว่าเรียบร้อย เราจึงไม่พูดถึงมัน

จากเรื่องเนื้อผ้า ที่จะพูดถึงต่อไปคือ

2. ทรงหลวม พอเว้นช่องว่างระหว่างผิวหนังเรากับเนื้อผ้า ให้ความรู้สึกสบายตัว

อีกเรื่องที่น่ายินดีคือกางเกงทรงสกินนี่กำลังหลีกทางให้ทรงหลวมจากยุค 80 นั่นคือเสื้อผ้าหลวมๆ เราใส่แล้วสบายตัวกว่า

ลองเปลี่ยนเนื้อผ้า เปลี่ยนทรงตามที่บอก เชื่อว่าน่าจะทำให้คุณใช้ชีวิตในหน้าร้อนได้สบายขึ้น



Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป ในช่วงแรกๆ ลุงเฮม่าจะเน้นเรื่องกฎเกณฑ์ เพราะคิดว่ามันน่าจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่หลังจากเขียนคอลัมน์นี้มาได้ปีสองปีก็เริ่มตาสว่าง และที่สำคัญคือ หลังจากโลกรอบตัวมีแต่กฎเกณฑ์และการใช้อำนาจ (ซึ่งส่วนใหญ่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ออกกฎ) ลุงเลยเปลี่ยนแนวมาเขียนตอบโดยเริ่มที่กฎเกณฑ์ แล้วตามด้วยวิธีหลอกล่อเล่นสนุกกับกฎนั้นๆ แทน      

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022