fbpx
ลุงเฮม่าตอบปัญหา

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา: ว่าด้วยนักร้องแต่งตัวออกงานแกรมมี่ และครูพละ

Q : ลุงๆ เมื่อคืนดูประกาศรางวัลแกรมมี่ เท่าที่เห็นศิลปินนักร้องแต่งตัวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชายนี่เขาก็แต่งตัวเต็มกันอย่างที่ลุงเคยบอกว่าเวลาออกงานให้แต่งให้เต็มๆ แต่เท่าที่เห็นในงานรางวัลแกรมมี่หลายคนออกแนวล้น ถ้าเป็นแถวบ้านผมนี่มันเฉียดๆ จะสติไม่ดี อย่างคนที่ใส่เสื้อคลุมยาวๆ สีดำ หมวกหูมิกกี้เมาส์  แล้วในมือถือดอกทานตะวัน มันยังไงกันแน่ล่ะครับเนี่ย – หมี

A : ตอบคุณหมี

ไม่เคยมีโอกาสเขียนถึงการแต่งตัวของดารานักร้องเลย เหตุผลนั้นนอกจากจะไม่มีใครเคยถามแล้ว ส่วนตัวยังคิดว่าควรปล่อยให้การแต่งตัวของดารานักร้อง เป็นเรื่องของดารานักร้อง เนื่องจากคนอย่างเราๆ ไม่ได้มี ‘ออรา’ อย่างพวกเขาซึ่งแต่งยังไงก็หล่อ พวกเราคนเดินดินนั้นถ้าจะต้องแต่งตัวแล้ว ขออยู่ใน safe zone จะได้ไม่พลาด

พูดถึงเรื่องพลาดไม่พลาด สังเกตว่าดารามักพลาดมากกว่านักร้อง สมัยที่ดาราไทยเริ่มเอาใจใส่เรื่องแต่งตัวดีๆ มาออกงานใหญ่ๆ อย่างงานรางวัลสุพรรณหงส์ฯ บางครั้งมองแล้วรู้สึกว่าเขาให้ใส่อะไรก็ใส่ ผู้จัดการยืมชุดอะไรมาให้ก็ใส่ ไม่มีการลงรายละเอียด ไม่มีอินเนอร์ ไม่มีการคัดสรร ออกมาเหมือนนายแบบสูทเจ้าบ่าวตามศูนย์การค้าชานเมือง จำได้ว่าเมื่อราวสิบปีก่อนดาราหนุ่มลูกครึ่งคนหนึ่งในยุคที่เขารุ่งโรจน์สุดๆ มีงานมากมาย เนื้อหอมมาก ในงานประกาศรางวัลสุพรรณหงส์ฯ เขาใส่ทักซิโดผูกโบว์ไทมาอย่างดี เสื้อผ้าเท่าที่ดูก็งดงามเหมือนจะเป็นยี่ห้อแพงๆ เสียอย่างเดียวเสื้อนอกที่ใส่เหมือนไซส์จะเล็กไปสองเบอร์หรือไม่ก็สามเบอร์ กลัดกระดุมแล้วเสื้อตึงเปรี๊ยะจนแทบยกแขนที่มีรางวัลอยู่ในมือไม่ขึ้น ไกลจากคำว่าหล่อ ใกล้คำว่าตลกมากกว่า แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครถือสา… อย่างว่า คนมันรักแล้วทำอะไรก็ไม่ผิด

สำหรับการแต่งตัวไปงาน คือการหาเสื้อผ้าดีๆ มาใส่เท่านั้นยังไม่พอ เพราะยังมีเรื่องของวิธีเลือกให้ขนาดพอดีตัว อย่ารักสบายจนเลือกชุดหลวมจนไม่มีทรง ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องคับจนขยับตัวไม่ได้ ขณะเดียวกันมันก็ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อย่างเช่น แขนเสื้อเชิ้ตอย่าให้กุดหายไปในแขนเสื้อนอก ให้มันโผล่มานิดนึงพอให้คนมองรู้สึกได้ถึงคำว่าเลเยอร์ เสื้อนอกชนิดกระดุมสามเม็ดกลัดสองเม็ดบนพอ เสื้อนอกกระดุมสองเม็ดกลัดแค่เม็ดบนเม็ดเดียว (ไม่งั้นมันดูแน่นไปครับ)

อีกอย่าง การแต่งตัวเต็มมันต้องรู้จักผ่อนนิดนึง จึงจะดูสบาย เพราะยังไงเสียผู้ชายแต่งตัวดีนั้น จะต้อง “ดูเหมือนมีความพิถีพิถันเวลาเลือกซื้อเสื้อผ้า ใส่ใจในการเลือก ใส่ใจในการสวมใส่ให้มันเข้าท่าเข้าที จากนั้นก็ให้ลืมไปซะ (คือให้ทำตัวสบายๆ นั่นเอง)” อันนี้ลุงไม่ได้พูดเอง แต่เป็นคำกล่าวของคุณฮาร์ดี เอมีส ผู้ชายอังกฤษซึ่งแต่งตัวดี มีความรู้เรื่องการแต่งกาย เป็นนักออกแบบ เป็นเจ้าของแบรนด์ และเคยเป็นดีไซเนอร์ให้ควีนเอลิซาเบธอยู่หลายสิบปี ที่คุณฮาร์ดีบอกนั้น (ลืมบอกไปว่าได้อวยยศเป็นเซอร์ด้วย) วลีสุดท้ายสำคัญมาก เพราะไม่มีอะไรน่ารำคาญเท่าผู้ชายแต่งตัวจัดๆ แล้วเบ่ง ‘ทัศนะ’ เขื่องๆ ให้คนทั้งโลกหันมาดูว่าฉันหล่อขนาดไหน

อย่างนั้นเขาไม่เรียกแต่งตัวดี ไม่เรียกมีความมั่นใจนะครับ แถวบ้านลุงเขาเรียกน่ารำคาญ

กลับมาสู่รางวัลแกรมมี่ ก่อนลุงจะเตลิดไปไกลกว่านี้

ความสนใจที่สังคมมีให้แก่การเดินพรมแดงนี่มันเพิ่งจะมาบูมเอาเมื่อสิบยี่สิบปีนี่เอง น่าจะมาพร้อมการเติบโตของอุตสาหกรรมแฟชั่นของโลกนั่นแหละ ใครๆ ก็รู้ว่าเวลาจะต้องออกงานแบบนี้ดาราไม่ได้เลือกเสื้อผ้าเอง แต่จะมีสไตลิสต์ซึ่งมีเส้นสายกับแบรนด์เลือกเสื้อผ้ามาให้ (จะมีเรื่องเงินๆ ทองๆ มาเกี่ยวข้องหรือเปล่านั้น เราจะไม่พูดให้มันน่าเกลียดเนอะ) ดาราผู้ชายเวลาแต่งตัวออกมาเดินพรมแดงอย่างงานออสการ์ (ที่น่าจะคอนเซอร์เวทีฟสุดละ ในบรรดางานใหญ่ๆ) ก็จะ play it safe แต่งทักซ์กันอย่างปกติเหมือนงานเลี้ยงรับรองท่านทูตซึ่งมีแต่คนแก่ๆ ใส่สูทไม่ก็ชุดทักซ์สีดำๆ จะมีบางปีที่ทุกคนลุกขึ้นมาผูกไทแทนโบว์ไทหรือหูกระต่าย แต่ก็ได้เพียงแค่นั้น นอกจากกรณีของคนอย่างป๋าจอห์นนี่ เดปป์ หรือ สไปค์ ลี ผู้กำกับซึ่งสวมทักซ์สั่งตัดสีม่วง แถมบนปกยังปักเป็นเลขเสื้อ 2 4 เพื่อระลึกถึงนักบาส โคบี ไบรอัน อีกด้วย เก๋มาก เห็นแล้วแกน่าจะมาอยู่งานแกรมมี่มากกว่าออสการ์

โดยขนบแล้ว นักร้องนักดนตรี (หรือรวมถึงผู้กำกับหนังอย่างสไปค์ ลี) จะมีองค์ และอาชีพของนักร้องเองต้องเกี่ยวข้องกับ ‘สไตล์’ มากกว่าดารามากนัก นักร้องช่ำชองเรื่องการขายลุคของตัวเองมากกว่าดารา เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ดิ้ง สังเกตว่าใครออกผลงานชุดใหม่ ถ้าอยากให้ฮือฮาหน่อยเขาจะตั้งใจเปลี่ยนลุคของตัวเองด้วย ซึ่งดารานักแสดงไม่มีอะไรแบบนี้

พอมาถึงงานใหญ่ของนักร้องนักดนตรี จะแต่งดีๆ แบบธรรมดามันก็คงไม่ใช่ อย่างนักร้องสวมโค้ทยาวสีดำ สวมแว่นเฉดสีเหลือง ก็เลยถือดอกทานตะวันให้มันเข้ากันเสียอย่างนั้นมีชื่อว่า Bad Bunny (เพิ่งมารู้จักก็วันนี้ ฮ่าๆๆ) คนนี้นิตยสารโว้กบอกว่าน่าร้ากกกก ยังมี Finneas ใส่สูทสีชมพูของ Gucci มี Jimmy Jan สวมทักซ์ที่ดูเผินๆ เหมือนจะธรรมดา แต่ เสื้อนอกนั้นตัวยาว (แกเป็นคนตัวสูง) กางเกงทรงหลวม เนคไทดำดูยาวมาก สวมแว่นดำและหมวกปีกสีดำ เป็นลุคที่เราจะไม่มีวันเห็นในงานอย่างออสการ์ งานแกรมมีเป็นงานที่นักร้องนักดนตรีแต่งตัวกันสนุกสนานทั้งหญิงชายจริงๆ

นี่คงเป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า ‘องค์’ นั้นมีส่วนอย่างมากในการแต่งตัวของคน ขณะเดียวกัน คนที่อยากจะแต่งตัวอย่างมีองค์ แต่ภายในกลวงโบ๋ มักไปไม่รอด


Q : ครูพละฉีดแอลกอฮอล์ใส่นักเรียนทั้งชั้น ทำเป็นเรื่องขำ นักเรียนควรทำตัวอย่างไร – จ๊อบ

A : ตอบคุณจ๊อบ

ลุงว่ามันแล้วแต่โรงเรียนนะครับ ถ้าอยู่ต่อหน้านักเรียนช่างกล ครูคนนี้คงไม่กล้าฉีดใส่ เพราะจริงๆ แล้วครูใจเสาะ กลัวโดนโห่ โทษฐานมุกฝืดและไม่รู้จักกาลเทศะ ขณะเดียวกันครูพละจะย่ามใจกับเด็กมัธยมที่เอาแต่หัวเราะฮิฮะ (ไม่รู้จะเอาอกเอาใจกันไปถึงไหน) แล้วเก็บมาบ่นทีหลังเท่านั้น

บางครั้งเด็กมัธยมก็ควรทำตัวเป็นเด็กช่างกลบ้าง อย่าให้ครูพละเสียนิสัย ความบ้าอำนาจมีแต่จะนำมาซึ่งความเสื่อม


Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป (ถ้าเป็นหญิงตอบก็ต้องเรียก agony aunt) ลุงเฮม่าตอบปัญหาในโลกยุคใหม่ที่เราทึกทักเอาเองว่าไร้กฎเกณฑ์ แต่ถ้าโลกมันไร้กฎเกณฑ์ขนาดนั้น เราคงอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ได้ลำบาก สำหรับน้องๆ ที่ไม่เอากฎเกณฑ์ ลุงพอเข้าใจนะเพราะก็เคยเป็นเด็กมาก่อน เพียงอยากจะบอกว่าคุณจะแหกกฎได้เก่ง แหกแล้วมันให้ประโยชน์แก่ตัวเราและผองเพื่อนมนุษย์ ก็ต่อเมื่อคุณรู้กฎเกณฑ์แล้วเท่านั้น

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save