fbpx
ลุงเฮม่า

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา: ว่าด้วยบัตรลีลาศ และอาหารสั่ง Grab

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

Q : เพิ่งดู Bridgerton จบค่ะลุง (ช้ากว่าชาวบ้านเค้าเสมอ) สังคมอังกฤษสมัยโน้นดูสวยงามและน่าอึดอัดยังไงก็ไม่รู้ มีเรื่องสงสัยนิดนึง ตอนที่นางเอกเขามางานเต้นรำแล้วมีผู้ชายมาขอเต้น แต่ไม่ได้ออกไปเต้นตอนนั้นเลย แค่จองไว้เฉยๆ ก็ได้ด้วยหรือ – แก้ว

A : ตอบคุณแก้ว

ลุงเกิดไม่ทัน แต่ไปค้นและรวบรวมจากการที่เคยดูหนังแบบนี้มาหลายเรื่องหน่อย พอจะตอบได้เป็นข้อๆ แบบนี้นะ

1. งานเต้นรำสมัยนั้นมันไม่ใช่แค่งานเต้นรำ (หรือจะเรียกอย่างลิเกหน่อยว่าลีลาศก็ได้) แต่เป็นแพลตฟอร์มที่สังคมชนชั้นสูงเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้มาเจอกัน คุยกัน ใกล้ชิดกัน วัตถุประสงค์หลักก็คือมาดูตัวกัน เพื่อจะหาคู่แต่งงานเป็นผัวเมียกันนั่นเอง

2. ว่าด้วยบัตรลีลาศ หรือ dance card คืนหนึ่งหญิงสาว (ถ้าเป็นลูกผู้ดีมีสกุลหน้าตาไม่ขี้เหร่พอเป็นที่ปรารถนาของชายหนุ่มและพ่อแม่ของฝ่ายชาย ก็คงมีคนอยากขอเต้นรำบ้าง) คนหนึ่งอาจจะต้องเต้นรำกับชายหนุ่ม (บางทีไม่หนุ่ม) สิบคนเป็นอย่างน้อย คิดถึงว่าคุณต้องไปเลี้ยงค็อกเทลแบบที่พวกบริษัทชอบจัดให้คนมารู้จักกัน แล้วไม่มีนามบัตรหรือการแลกไลน์กัน การจำชื่อคนมันแทบเป็นไปไม่ได้

บัตรลีลาศจึงตอบโจทย์ทางฟังก์ชันในเรื่องการเข้าสังคม หญิงสาวในงานแต่ละคนจะได้รับบัตรลีลาศที่ว่าจากเจ้าภาพคนละใบ ลักษณะโดยรวมเป็นกระดาษการ์ด ตีเส้นบรรทัดพร้อมหมายเลขของเพลงในโปรแกรมของคืนนั้น การ์ดเจาะรูมีริบบิ้นร้อย ปลายริบบิ้นผูกกับดินสอแท่งเล็กๆ เรื่องการ์ดนี้ต่อมาเจ้าภาพถือเป็นเรื่องที่จะต้องแข่งกันดีไซน์ให้วิจิตร บ้างทำเป็นรูปพัดคลี่แบบเก๋ๆ บ้างใช้วัสดุราคาแพงให้คนจำได้ เพราะพอจบงานแขกเหรื่อก็จะได้บัตรลีลาศ (พร้อมคอนเทนต์ในบัตร) กลับบ้านไปเป็นที่ระลึก เท่าที่เห็นในภาพของสะสมในเน็ต บัตรลีลาศนี่สวยน่ารักมากเลยล่ะ

อ่อ ธรรมเนียมบัตรลีลาศไม่ได้เริ่มที่อังกฤษนะ แต่เริ่มที่กรุงเวียนนา แล้วแพร่หลายไปทั่วยุโรป ข้ามไปไกลถึงอเมริกา (สังคมชนชั้นสูงของอเมริกาก็ไม่ต่างจากยุโรป นึกถึงหนัง Age of the Innocence สิ)

3. มีบัตรลีลาศแล้วไง คำตอบคือหญิงสาวจะเข้างาน ในมือถือบัตรลีลาศ มีดินสอห้อยต่องแต่ง หลังจากชายตามองผู้ชายไปทั่วงาน สักพักชายหนุ่มก็จะเข้ามาแนะนำตัวพร้อมกับขอเต้นรำในลักษณะเดียวกับที่คุณแก้วถามแหละ ส่วนใหญ่ถ้าจะระบุก็คงขอเป็นเพลงแรก ไม่มีใครมาขอเต้นเพลงที่ห้าหกอะไรแบบนั้น เพราะชายหนุ่มเองไม่น่าจะรู้โปรแกรมเพลงของงาน แล้วใครมันจะมานั่งนับว่านี่เพลงที่เท่าไหร่ (นอกจากฝ่ายหญิง เพราะนางต้องคอยจด) ส่วนใหญ่คงเข้ามาประมาณว่า “เพลงต่อไป กรุณาให้เกียรติผมได้ไหมครับ”

4. ถ้าหญิงสาวคิดว่าโอเค นางก็จะลงคิวไปในบัตรลีลาศ ซึ่งข้อมูลในนั้นคือเพลงและชื่อของผู้ชาย ตรงนี้สำคัญนะ เพราะบางคนอาจเคยได้ยินชื่อหรือเคยเห็นหน้าค่าตากันมาก่อน บางคนอาจเจอกันเป็นครั้งแรก พอกลับบ้านก็จะเป็นทีของหญิงสาวที่จะเอารายชื่อของผู้ชายในบัตรมานั่งดูเพลินๆ เหมือนเวลาที่เราเอานามบัตรบูธต่างๆ จากงานแสดงสินค้ามานั่งดูว่าเมื่อวานกูเจอใครบ้าง เผื่อน่าสนใจจะลองติดต่อเป็นคู่ค้ากัน

ฉันใดก็ฉันนั้น

ดังนั้นสำหรับชนชั้นสูงฝรั่งสมัยก่อน งานเต้นรำคือการหาคู่ ส่วนชนชั้นไม่สูง (ไพร่) นั้นเข้าใจว่าก็คงตามจีบกันอย่างไอ้ขวัญอีเรียมแห่งทุ่งบางกะปินี่แหละ จับมือกันปั๊บไม่นานลูกก็คลานเต็มบ้าน

อนึ่ง พอเข้าทศวรรษที่ 20 ยุคโมเดิร์น โลกเปลี่ยน ธรรมเนียมเปลี่ยน การใช้บัตรลีลาศเลยเลิกไปตั้งแต่ตอนนั้น

 

Q : ทำไมอาหารที่สั่งเขามากินที่บ้านจึงอร่อยสู้ไปกินที่ร้านไม่ได้ – เอก

A : ตอบคุณเอก

มันมีหลายเหตุผลนะครับ ตั้งแต่ที่ตัวอาหารเอง และสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับอาหาร

เริ่มที่อาหาร คุณคงเคยกินก๋วยเตี๋ยวแห้งชนิดห่อกลับบ้านใช่ไหม จำเส้นที่ยึดเกาะกันแน่นอย่างดื้อด้าน ไม่ยอมจะคลุกเคล้ากับเครื่องปรุง (ที่มักจะกองรวมอยู่มุมใดมุมหนึ่งของถุงพลาสติก) คุณจะลงเอยด้วยการกินก๋วยเตี๋ยวซึ่งรสชาติของเส้นในแต่ละคำนั้นไม่เหมือนกันสักกะคำ เพราะไม่ได้คลุกให้ทั่ว คือเส้นมันไม่ยอม ยังไงๆ มันก็ไม่ยอม

แต่ถ้าไม่ใช่ก๋วยเตี๋ยวแห้ง ก็พอไหว แม้อาหารอาจไม่ร้อนบ้าง หรืออาหารร้อนแต่ออกจะโชกๆ เพราะโดนไอน้ำจากตัวอาหารเอง น้องแกร็บแม้พยายามทำเวลาเต็มที่จนพี่กลัวแทน แต่ยังไงน้องก็ไม่มีทางไวเท่าคนยกออกจากครัวมาวางบนโต๊ะอาหาร

ตามด้วยเรื่องหน้าตาของอาหาร

บ้านไหนพอมีหัวเรื่องการจัดอาหารให้ดูน่ากิน เรื่องนี้อาจไม่เป็นปัญหา อาหารตามร้านเขาจะจัดจานมาให้น่ากิน หลายร้านมีรูปถ่ายเป็นคู่มือเลยนะว่าเธอจะต้องวางอาหารเท่านี้ ผักเคียงอะไรมาก่อนมาหลัง ผักชีต้องโรยมากน้อยแค่ไหน แต่อาหารจานเดียวกันนั้นพอแกะห่อที่บ้าน บางทีเราต้องร้องว่าอ้าว…เพราะมันปนเปกระเท่เร่ไปหมด เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องแก้ไข บูรณะหน้าตา จัดใส่จานเสียใหม่ให้สวยๆ

คือเราไม่ค่อยถ่ายรูปอาหารจากกล่องลงโซเชียลอวดกันเท่าไหร่ เพราะมันไม่มีอะไรน่าอวด

ต่อด้วยเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับอาหารเลย

การกินอาหารที่ร้านเป็นประสบการณ์ครับ เอาเข้าจริงคือตั้งแต่การเลือกร้าน ไปจนถึงการยืนรอคิว เงี่ยหูฟังว่าเขาจะเรียกชื่อเราเมื่อไหร่ ตั้งแต่การเดินเข้าร้านแล้วเหล่มองตั้งแต่คนหน้าตาดีไปจนถึงดูว่าโต๊ะอื่นๆ เขากินอะไรกัน ตั้งแต่การจัดร้านในสไตล์โน่นนั่นนี่ ไปจนถึงเสียงเพลงที่ดังมาจากลำโพงฮาร์แมนคาร์ดอน (บ้านเราแค่เจบีแอลอันเท่าซองบุหรี่) ตั้งแต่ช่วงแห่งการเลือกอาหารในเมนูไปจถึงนาทีที่อาหารยกมาเสิร์ฟ (จำประโยคที่ อูมา เธอร์แมน พูดในหนัง Pulp Fiction ในฉากร้านเบอร์เกอร์ดาราได้เนอะ เธอบอก จอห์น ทราโวลตา ว่า “แหมชอบจัง เวลาเราเดินกลับมาจากห้องน้ำแล้วมีอาหารมารอที่โต๊ะเนี่ย” นั่นแหละ อะไรเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้มีความหมายไม่น้อย)

ไม่รวมบรรดาอาหารหน้าตาดี แสนอร่อย และช่วงเวลาดีๆ ที่จะกลายเป็น memory เมื่อครบหนึ่งปี เฟซบุ๊กจะเตือนเอง

แถมอาหารเดลิเวอรียังตามมาด้วยกล่องๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ จำได้ว่าช่วงล็อกดาวน์คราวก่อน ที่บ้านมีแต่กล่องใสต้องทิ้งมากมายก่ายกองจนรู้สึกละอาย

แต่…มันมีแต่ครับ ถึงคราวที่ร้านอาหารต้องปิดตัวอีกครั้ง (แต่จะปิดนี่ต้องมีเงินชดเชยจากรัฐเนอะ) เป็นหน้าที่ของเราที่โชคดียังไม่ตกงาน ต้องเพียรสั่งของกินจากร้านที่เราเป็นลูกค้าประจำ หรือของกินที่เพื่อนฝูงแห่กันทำขายตามวาระโอกาสต่างๆ เพราะในความลำบากนั้น การช่วยเหลือกันทำให้ความลำบากลดน้อยลง

ช่วยได้หมดนะ แต่ก๋วยเตี๋ยวแห้งนี่ขอบาย

 

 

Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป (ถ้าเป็นหญิงตอบก็ต้องเรียก agony aunt) ลุงเฮม่าตอบปัญหาในโลกยุคใหม่ที่เราทึกทักเอาเองว่าไร้กฎเกณฑ์ แต่ถ้าโลกมันไร้กฎเกณฑ์ขนาดนั้น เราคงอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ได้ลำบาก สำหรับน้องๆ ที่ไม่เอากฎเกณฑ์ ลุงพอเข้าใจนะเพราะก็เคยเป็นเด็กมาก่อน เพียงอยากจะบอกว่าคุณจะแหกกฎได้เก่ง แหกแล้วมันให้ประโยชน์แก่ตัวเราและผองเพื่อนมนุษย์ ก็ต่อเมื่อคุณรู้กฎเกณฑ์แล้วเท่านั้น                

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save