fbpx
ลุงเฮม่าตอบปัญหา

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา: นักปลดแอกโดนรุมกินโต๊ะและวัฒนธรรม-วัฒนเท

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

Q : บนโต๊ะอาหารวันรวมญาติ พ่อแม่รุมเผาว่าเราไปม็อบมา พอญาติได้ฟังก็ผสมโรงกับพ่อแม่ ต่อว่าเรากันใหญ่ เหมือนเราเป็นเด็กดื้อของครอบครัว (ทั้งที่ก็เรียนจบมาหลายปีแล้ว) เจอแบบนี้ทำยังไงดีคะลุง — น้ำชา

A : ตอบคุณน้ำชา

นึกไม่ถึงว่าวันกีฬาสีจะหวนกลับคืนมาสู่แผ่นดินไทยอีกครั้ง เหมือนเมื่อไม่กี่วันมานี้เองที่คนบ้านเดียวกันต้องมาแยกเป็นสองสีสองเสียงเพราะดูทีวีกันคนละช่อง รับข่าวสารกันคนละอย่าง จบลงที่การพูดกันไม่รู้เรื่อง แต่ด้วยความเป็นคนไทย น้อยรายนักที่จะตีกัน อย่างมากก็แค่รำคาญหรือแขวะกันไปแขวะกันมาเหมือนแฟนบอลสโมสรคู่แค้น

ลุงว่าความเป็นคนไทยนี่มันน่าสนใจตรงที่เรามีลักษณะประนีประนอม hard wired ไว้ในสมอง ผู้ใหญ่พูดจาไม่รู้เรื่องเด็กก็จะพยักหน้ายิ้มๆ ทั้งที่ไม่ได้เห็นด้วยเลย, เรามีคำหรือวลีหรือข้อคิดที่เกี่ยวกับการเลิกแล้วต่อกันเยอะมาก – ผ่อนสั้นผ่อนยาว, หักด้ามพร้าด้วยเข่า, น้ำเย็นเข้าลูบ, ไม้ซีกงัดไม้ซุง, ลูบหน้าปะจมูก, น้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือไปขวาง – ลุงเข้าใจว่าสมัยก่อนนั้นการประนีประนอมเป็นทักษะที่มีประโยชน์ในสังคมศักดินาซึ่งคนเราไม่เท่ากัน

ถามว่า อ้าว แล้วน้ำชากับญาติๆ ไม่เท่ากันหรือไง ลุงตอบว่าเท่ากัน แต่ยังไงเราก็เป็นญาติกัน จะถึงกับหักกันเลยเชียวหรือ

น่าสังเกตว่าคนไทยเราไม่เคยฝึกทักษะในการถกเถียง ผิดกับฝรั่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศสนี่ชอบเถียงมาก เพราะเขาปลูกฝังกันมาแบบนั้น ภาษาฝรั่งเศสเวลาคนเถียงกันนี่ฟังแล้วมันหูกว่าภาษาอื่นนะลุงว่า (เปล่า ฟังไม่ออกหรอก) รากฐานของปรัชญา-การศึกษา-การเลี้ยงดูมันปูมาแบบนั้น มีอะไรมองไม่เหมือนกันก็เถียงกันเป็นวรรคเป็นเวร เถียงกันเสร็จก็กินเหล้ากันต่ออย่างชื่นมื่น ส่วนวงเหล้าคนไทยเราตอนแรกก็ชื่นมื่นดี จนมีบางคนตั้งกระทู้การเมือง จากนั้นก็จะเถียงกันข้างๆ คูๆ บรรยากาศเริ่มเครียด ไม่จบลงด้วยอาการวงแตกก็โชคดีแล้ว

ลุงอนุมานไว้ก่อนว่าบ้านคุณน้ำชาอาจหย่อนเรื่องทักษะการถกเถียง ไม่งั้นเรื่องนี้คงไม่หลุดมาถึงคอลัมน์นี้ได้หรอก (ฮา)

อยากจะพูดถึงวาทะสายเอเชียซึ่งแก้ปัญหามาแล้วหลายยุคหลายสมัย นั้นคือวาทะจากเมืองจีน สมัยที่เรายังเรียกว่าจีนแผ่นดินใหญ่เพราะเราประเทศไทยสนิทกับไต้หวัน (ซึ่งเป็นเกาะ) มาก่อนตามแนวทางของอเมริกา และความกลัวภัยคอมมิวนิสต์ วาทะที่ว่าคือ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”

วาทะที่ว่าช่วยให้จีนต้านภัยญี่ปุ่นไว้ได้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จีนตอนนั้นแบ่งเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์นำโดยเหมาเจ๋อตุง และฝ่ายก๊กมินตั๋งนำโดยเจียงไคเชก สองฝ่ายนี้ปกติจะรบกันชิงความเป็นใหญ่ แต่ไม่มีใครแพ้ใครชนะ จนญี่ปุ่นบุก โจวเอินไหลปัญญาชนฝ่ายคอมมิวนิสต์จึงบอกฝ่ายก๊กมินตั๋งว่า ญี่ปุ่นมันบุกมาแล้ว เราหยุดรบกันสักพักเถอะ แสวงจุดร่วมคือร่วมกันขับไล่ญี่ปุ่น ส่วนจุดต่างจากการเมืองนั้นสงวนเก็บเอาไว้ก่อน แล้วสองจีนก็ไล่ญี่ปุ่นสำเร็จ (ตอนหลังจีนคอมมิวนิสต์ก็ไล่จีนก๊กมินตั๋งไปอยู่เกาะไต้หวัน คงเป็นเพราะหมดโปรโมชันของการมีจุดร่วมแล้ว)

หาเรื่องหรือประเด็นที่คุณและญาติต่างเห็นพ้อง แล้วหาโอกาสคุยกัน หาไม่ยากหรอกครับ อย่างเรื่อง การซื้อเรือดำน้ำช่วงประเทศกำลังยากจน หรือเรื่องภรรยาน้อยภรรยาหลวง เรื่องแบบนี้คงหาจุดร่วมได้ไม่ยาก การมีจุดร่วมกันคือขั้นแรกของการเปิดใจฟังอีกฝ่าย พื้นฐานของการสื่อสารคือเราต้องคุยกันบนคลื่นความถี่เดียวกันครับ ศึกษาตรรกะของฝ่ายโน้น ศึกษาอย่างมีเมตตาบ้าง แต่คุณก็ต้องทำด้วยความจริงใจนะ ต้องเป็นจุดร่วมที่คุณเห็นด้วยจริงๆ

อันนี้ถ้าคุณอยากจะเปลี่ยนใจญาติขวาจัดของคุณนะ แต่ถ้าคุณอยากจะหักด้ามพร้าด้วยเข่าจนถูกตัดออกจากกองมรดกเจ้าคุณพ่อ ลุงก็จนใจ

 

Q : ไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อว่า  call-out culture และ cancel culture ได้เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย แต่ก็สงสัยว่าพลังของการเรียกร้องให้รับผิดชอบ หรือเลิกสนับสนุนเพื่อกดดัน มันมีพลังไปได้ไกลแค่ไหน ลุงเฮม่าพอจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ cancel culture ที่ผ่านๆ มาบ้างไหมครับ – อร

A : ตอบคุณอร

Cancel culture หรือที่มีคนเรียกว่าวัฒนธรรมการ ‘เท’ คนดังเวลาที่เขาพูดจาหรือแสดงออกไม่ถูก (ใจเรา) ใช่ไหมครับ ลุงว่าเป็นเรื่องดีอยู่นะเพราะมันยืนยันพลังของผู้บริโภค ว่าคนตัวเล็กๆ ที่ปกติได้แต่ฟังเขา ไม่ก็แค่ควักกระเป๋าซื้อของ ตอนนี้มีอำนาจต่อรอง ให้คนดังหรือคนที่มีอิทธิพลจ๋องได้ ด้วยอำนาจออนไลน์รวมกันที่เรามี

ถามถึงวัฒนธรรมการเทสมัยลุงนี่นึกออกแต่สมัยก่อน 14 ตุลาที่นักศึกษาต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น เพราะเรามองว่าเป็นการครอบงำเศรษฐกิจของประเทศไทย ตอนนั้นนักศึกษารณรงค์ให้ใส่ผ้าดิบ เพราะมันไม่ได้มาจากโรงงานของญี่ปุ่น ลุงก็มีกับเขาตัวสองตัว จำได้แต่ว่าใส่ไม่สบาย แต่ใส่แล้วก็ครึ้มใจดี คล้ายใส่เสื้อคันแต่ช่วยชาติ แต่ดูเหมือนอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในเมืองไทยตอนนั้นจะไม่สะทกสะท้านเท่าไหร่นะ ทุกวันนี้ก็ยังเห็นมีโรงงานอยู่มากมาย และยังติดอันดับประเทศที่ลงทุนมากที่สุดในประเทศไทยอยู่ดี (ตามด้วยสิงคโปร์และจีน)

ที่น่าสนใจสำหรับลุงคือวัฒนธรรมการเททำให้เรารู้สึกถึงอำนาจ ซึ่งเป็นสิ่งหอมหวาน พึงใช้ด้วยความระมัดระวัง น่าสังเกตว่าเมื่อมีเรื่อง เราถนัดรุมยำให้เขาได้รับความอับอาย แต่น้อยครั้งที่เราจะเอาเรื่องที่คนดังคนนั้นทำ “ผิด” มาคุยกันว่าเรื่องมันเป็นยังไงมายังไง โต้แย้ง ขุดคุ้ยว่าปัญหามันอยู่ที่ไหน

วัฒนธรรมการเทอีกเหตุการณ์ที่ลุงนึกออกคือตอนที่พวกลัทธิสแปโรว์บังคับให้ เซอร์ซี แลนนิสเตอร์ เดินเปลือยกายข้ามเมืองให้คนถ่มน้ำลายรดใน Walk of Shame แล้วมีแต่คำว่า shame…shame…shame…shame…กรอกหูตลอดการเดินทาง ตอนที่ดูนั้นลุงแบบว่า โอ้โห มึงใจว่ะ จากที่เคยเกลียดบ้างรำคาญนางบ้างมาตลอด พอเซอร์ซีต้องมาเดิน walk of shame เท่านั้นแหละ รักเลย

การ shame กันมันบาปน่ะ ลุงไม่ค่อยอยากสนับสนุน

อีกอย่าง…จากนั้นอีกไม่กี่ตอน นางก็เอาระเบิดเพลิงเขียว มาถล่มอารามสแปรโรว์ชนิดตายหมดยกเข่งเลยทีเดียว

 

Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป (ถ้าเป็นหญิงตอบก็ต้องเรียก agony aunt) ลุงเฮม่าตอบปัญหาในโลกยุคใหม่ที่เราทึกทักเอาเองว่าไร้กฎเกณฑ์ แต่ถ้าโลกมันไร้กฎเกณฑ์ขนาดนั้น เราคงอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ได้ลำบาก สำหรับน้องๆ ที่ไม่เอากฎเกณฑ์ ลุงพอเข้าใจนะเพราะก็เคยเป็นเด็กมาก่อน เพียงอยากจะบอกว่าคุณจะแหกกฎได้เก่ง แหกแล้วมันให้ประโยชน์แก่ตัวเราและผองเพื่อนมนุษย์ ก็ต่อเมื่อคุณรู้กฎเกณฑ์แล้วเท่านั้น

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save