fbpx
ลุงเฮม่าตอบปัญหา

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา ว่าด้วย “PC” และรีวิวครึ่งปี 2020

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ เรื่อง

ณัฐพล อุปฮาด ภาพประกอบ

 

Q : ช่วงนี้รู้สึกว่าบรรยากาศการถกเถียงในโลกออนไลน์ร้อนแรงมาก เป็นความร้อนแรงที่เต็มไปด้วย PC (political correctness) เราเองเป็นคนหนึ่งที่เชื่อใน PC มาตลอด จนกระทั่งเริ่มเห็นความคิดเห็นของคนนู้นคนนี้ถูกตรวจสอบและตัดสินอย่างหนัก จนเริ่มไม่กล้าแสดงความเห็นแล้วเหมือนกัน ลุงเฮม่าคิดยังไงกับ PC  และคิดว่าเส้นของความ PC กับการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีอยู่ตรงไหนกันคะ – ฟักทอง

A : ตอบคุณฟักทอง

บรรยากาศ “ถกเถียง” ในโลกออนไลน์นั้นจะว่าไปก็ร้อนแรงมาตลอด แต่จริงๆ แล้วลุงอยากจะเรียกว่าเป็นบรรยากาศ “ด่ากันไปด่ากันมา” มากกว่าจะเป็นการ “ถกเถียง” เพราะถ้าถกเถียงมันจะมีกระบวนการซึ่งสงบกว่านี้ เพราะเรายังว่ากันด้วยเหตุผลอยู่บ้าง แต่เท่าที่ลุงเห็น ตอนนี้มันเหมือนกับใครด่าเก่งคนนั้นชนะ และเรามักจะชนะเพราะมีกองเชียร์ส่งเสียงเฮกลบเสียงโต้ตอบของอีกฝ่าย

ไม่ค่อยแน่ใจว่า PC ของคุณฟักทองนั้นหมายถึงอะไร เพราะในเมืองไทยนับว่ามีตัวอย่างน้อย นอกเหนือจากความพยายามสร้างวาทกรรมที่จะไม่นำไปสู่การบุลลี่ ง่ายๆ ก็อย่างที่ชวนให้เลิกทักกันว่า อ้วน  อะไรทำนองนี้ ตามคำจำกัดความนั้น political correctness มันหมายถึงการใช้ภาษา นโยบาย หรือมาตรการ เพื่อไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบหรือหรือสร้างความขุ่นเคืองต่อสมาชิกของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม

เหตุผลเพราะคนกลุ่มเล็กๆ ที่ว่า มักจะไม่มีปากเสียงบอกว่าไม่ชอบ หรือเรียกฉันแบบนี้มีเคือง ก็ได้แต่เก็บงำเอาไว้ พอมี PC ก็ช่วยให้คนกลุ่มนี้สบายใจขึ้นพอสมควร

สมัยลุงหนุ่มๆ คนไทยสมัยนั้น PC กันประมาณว่า เราควรเลิกเรียกคนที่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยว่า “เสี่ยว” ควรเรียกเขาว่าคนอีสาน อย่าไปเรียกชนกลุ่มน้อยกลุ่มนั้นว่า “กะเหรี่ยง” เพราะจริงๆ แล้วเขาเรียกตัวเองว่าปกากะญอ “สลัม” กลายเป็นชุมชน อย่าไปเรียกเพื่อนซึ่งเป็นคนเชื้อสายจีนว่า “เจ๊ก” อะไรประมาณนี้ แต่เรายังทักทายว่า “ไปไหนมาล่ะไอ้อ้วน” อยู่

ในตะวันตก ความ PC เข้มข้นกว่าแถวบ้านเรามาก ราวสี่สิบปีก่อน คำว่า Native American มาแทนอินเดียนแดง คำว่า African American มาแทนคำว่าแบล็ก (ซึ่งมาแทนคำว่านิโกร ตั้งแต่เมื่อหกสิบปีก่อน หรือในช่วงของการเคลื่อนไหวความเท่าเทียมทางสีผิว หรือสิทธิพลเมืองนั่นแหละ) สมัยนี้เข้าใจว่า PC กันหนักข้อขนาดแทบจะแตะต้องกันไม่ได้เลย

ส่วนคนไทยเรายังยินดีที่จะมีคนเรียกว่า “เลขา” โดยไม่ต้องการให้เปลี่ยนตำแหน่งเป็นคำว่าผู้ช่วยเหมือนฝรั่ง (ไม่อย่างนั้นซีรีส์ชื่อดังอาจกลายเป็น “รักมั้ยนะ ผู้ช่วยคิม” สินะ) ทั้งที่เปลี่ยนแล้วงานก็ยังเหมือนเดิม โดนจิกเหมือนเดิม แต่ชื่อตำแหน่งนั้นเสนาะหูขึ้น

หลายคนแสดงความเห็น (ภาษาชาวบ้านเรียกด่า) ต่อ PC ไว้อย่างน่าสนใจมาก มองว่าเป็นการเอาอำนาจของภาษาในการควบคุมความคิดและพฤติกรรมคนมาใช้ (ภาษาไทยน่าสนใจตรงนี้ แม้ว่าคนไทยอาจไม่มีศัพท์ที่ต้อง PC มากมาย แต่เรากลับมีลำดับการใช้ภาษาไว้จัดแจงผู้คนให้รู้ที่ทางของตัวเอง จะพูดจะจาต้องมีครับ ค่ะ พะยะค่ะ ต้องมีนมัสการ เจริญพร พูดจาต้องมีหางเสียง คือคนไทยโดนภาษาควบคุมพฤติกรรมมาตั้งแต่เกิดละนะ ฝรั่งมันใช้ I คำเดียวรู้เรื่อง แต่เรามีตั้งแต่กู ฉัน เรา เรื่อยไปจนถึง ข้าพระพุทธเจ้า บอกฐานะของเราเองโดยเราก็อ้าปากพูดเอง จะว่านี่คืออัจฉริยะทางการใช้ภาษาก็ได้ แต่ลุงว่าที่อัจฉริยะกว่าคือการใช้ภาษาฝึกฝนและควบคุมคนมานานแล้ว ว่าแล้วก็คิดถึงภาษาตามรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสคราม ทุกคนทุกอายุทุกฐานะใช้ฉัน ท่าน เรา ไม่มีคำเรียกอย่างอื่น ถ้าภาษาตามรัฐนิยมยังอยู่มาจนถึงยุคนี้คงสนุกพิลึก)

วงเล็บนี้นอกเรื่องไปไกล น่าตีจริงๆ เลย อีลุงนี่

จอร์จ ออร์เวลล์ เขียนนิยายเรื่อง 1984 ซึ่งว่าด้วยสังคมเผด็จการอันลือเลื่องในเรื่องของการใช้การโฆษณาชวนเชื่อครอบงำชีวิตผู้คน เครื่องมือหนึ่งของการควบคุมมวลชนก็คือ ภาษา ประมาณว่ารัฐตัดคำว่าเสรีภาพออกจากพจนานุกรม ด้วยเหตุผลที่ว่าพอไม่มีคำนี้ อยู่ๆ ไปมวลชนก็จะลืมไปเองว่าเสรีภาพมันคืออะไร

เวลามีคนวิจารณ์เรื่อง PC สังเกตว่าเขาเอาออร์เวลล์มาอ้างบ่อย เนื่องจากการใช้ PC ในโลกตะวันตกมันเมามันจนเข้าขั้นคุกคามคนซึ่งใช้ภาษาไม่ได้อย่างใจตน ห้ามเรียกคนว่า “ตาบอด” แต่ต้องการคนพิการทางสายตา และอะไรอีกมากมาย ซึ่งบางอย่างก็มีเจตนาดี ต้องการออกมาปกป้องคนที่เสียเปรียบในสังคม แต่หลายอย่างก็บ้าเลือดจนคนเริ่มบ่น เพราะพูดจาอะไรก็ลำบาก จะสนุกปากมันก็ไม่ PC ไปเสียหมด ดูเหมือนนักการเมืองฝ่ายขวาจัดของอเมริกาอย่างทรัมป์ก็รู้แกวว่าคนกำลังเอือมกับ PC เต็มที ทรัมป์เลยออกมาพูดจาแบบชาวบ้านๆ ฟังแล้วไม่เหมือนนักการเมืองพูด (ซึ่งส่วนใหญ่นักการเมืองฝรั่งจะมีความเป็นปัญญาชนสูงกว่านักการเมืองไทยมาก) ทรัมป์เป็นเศรษฐีแต่เลือกที่จะพูดจาเหมือนกำนันห่ามๆ โดนใจชาวบ้านขวาจัดซึ่งเป็นพลังเงียบของอเมริกา

สรุปว่า การมี PC มันมีข้อดีถ้าใช้เพื่อปกป้องคนที่เสียเปรียบ คือคนอยู่ในสังคมเดียวกัน ไม่ควรคุกคามเอาเปรียบกัน และภาษาก็ประจุไว้ด้วยอำนาจที่จะค่อยๆ เปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของเรา การใช้ PC คือวิธีแก้ไขความผิดพลาดที่เป็นมรดกมาจากบรรพชน แต่ถ้าเราเอามาตรการของ PC ไปคุกคามคนอื่นเพราะเขาไม่ยอม PC กับเราด้วย อย่างนี้มันไม่ใช่ PC แล้วมั้งครับ

 

 

Q : ไม่ทันไร 2020 ก็ล่วงเลยไปครึ่งปีแล้ว เดี๋ยวนี้วัยรุ่นเขาชอบรีวิวกันว่าครึ่งปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร อยากชวนลุงเฮม่าลองรีวิวด้วยกัน ครึ่งปีแล้วลุงว่าบรรยากาศประเทศไทยเป็นยังไง ถ้าคอลัมน์เป็นสมุดบันทึกของลุง ลุงจะบันทึกอะไรในครึ่งปีแรกลงไปบ้างคะ – สู้สู้

A : ตอบคุณสู้สู้

เรื่องรีวิวปีที่แล้วคงเป็นของคนรุ่นลุง สมัยทำนิตยสารนั้นถ้านึกอะไรไม่ออกก็จงเอาเหตุการณ์ปีที่แล้วมารีวิว เป็นการหมายหัวอาฆาตว่าฉันจะไม่ลืมเรื่องเลวๆ โง่ๆ ที่แกเคยทำ สมัยที่คนยังดูรายการทีวี ช่วงใกล้ปีใหม่เราก็ได้ดูตอนที่ “รวมฮิต” ของทั้งปีที่ผ่านมา ซึ่งคนดูก็ชอบ คนทำก็ชอบด้วยเพราะมันไม่มีค่าโปรดักชัน

ส่วนการรีวิวครึ่งปีคงเป็นเรื่องของวัยรุ่นสินะ

ครึ่งปีที่ผ่านมานั้นพูดว่า “โควิด” คำเดียว คงจะอยู่หมัด ครอบคลุมทุกสิ่ง ช่วงที่มันมาใหม่ๆ โควิดสยบตั้งแต่ไฟป่าที่เชียงใหม่ที่ทำให้เราต้องแห่กันออกมา #save โควิดสยบฝุ่นควัน PM 2.5 โควิดสยบความกลัวเรื่องภัยแล้งในช่วงต้นปีซึ่งคนต่างจังหวัดเขาเครียดมาก “สยบ” ที่ว่านั้นคือมันไม่ได้ทำให้ความแล้งหายไปนะ แค่ทำให้ ‘เรา’ คนในเมืองลืมเรื่องความแล้งเท่านั้นเอง มันทำให้รัฐปรับตัวให้กลายเป็นองค์กรประเภทตั้งรับแบบเบ็ดเสร็จ ที่เราจำต้องพึ่งพาอาศัย ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

โควิดทำลายอาชีพของคนหลายกลุ่ม ทำลายชนิดที่ตอนนี้นับเงินอยู่กันว่างๆ เลยนะ (คือนับว่าเมื่อไหร่จะหมด…ฮา) ขณะเดียวกันก็ดิสรัปต์การค้าปลีก การใช้ชีวิต การทำงาน การแต่งเนื้อแต่งตัว การท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ เล่นเอาซื้อเหล้าซื้อเบียร์กินไม่ได้ไปหลายสัปดาห์ บริษัทห้างร้านไม่เป็นอันทำมาหากินกันเลยทีเดียว

ในสมุดบันทึกอย่างที่คุณบอก คงเขียนคำเดียวแต่เต็มพืดทุกหน้าว่า โควิด โควิด โควิด…

และประวัติศาสตร์บอกเราอย่างหนึ่งว่า ภาวะที่เรารู้สึกว่าคับแค้นคือเชื้อฟืนที่ดีที่สุดของการลุกฮือ

 

Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป (ถ้าเป็นหญิงตอบก็ต้องเรียก agony aunt) ลุงเฮม่าตอบปัญหาในโลกยุคใหม่ที่เราทึกทักเอาเองว่าไร้กฎเกณฑ์ แต่ถ้าโลกมันไร้กฎเกณฑ์ขนาดนั้น เราคงอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ได้ลำบาก

สำหรับน้องๆ ที่ไม่เอากฎเกณฑ์ ลุงพอเข้าใจนะเพราะก็เคยเป็นเด็กมาก่อน เพียงอยากจะบอกว่าคุณจะแหกกฎได้เก่ง แหกแล้วมันให้ประโยชน์แก่ตัวเราและผองเพื่อนมนุษย์ ก็ต่อเมื่อคุณรู้กฎเกณฑ์แล้วเท่านั้น                

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save