fbpx
Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา เรื่องการเข้าห้างยุคปกติใหม่ และการใส่หน้ากากให้เก๋

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา เรื่องการเข้าห้างยุคปกติใหม่ และการใส่หน้ากากให้เก๋

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

Q : ลุงๆ ถามเล่นๆ ดีใจมั้ย ห้างเปิดแล้ว – ป่าน

A : ตอบคุณป่าน

คุณถามเล่นๆ แต่ลุงขอตอบจริงๆ นะ

มีคนเคยบอกว่าเรื่องหนึ่งที่สถานการณ์โรคระบาดสอนเราก็คือ ต่อไปนี้ถ้ามีโอกาสใดก็ตามในชีวิตจงอย่ารีรอ อะไรทำได้ อะไรที่สมควรทำ อะไรที่นึกอยากทำ จงรีบทำ เพราะอย่างห้าง (รวมทั้งร้านอาหาร ฟิตเนส สวนสาธารณะ ร้านตัดผมทำผม คือกิจกรรมใดก็ตามที่มันเรียกรอยยิ้มจากคนในเมืองได้) รัฐและหมอสั่งเปิดได้ เขาก็สั่งปิดได้เหมือนกัน ถ้าบังเอิญซวยไปเจอคลัสเตอร์โผล่ที่ไหนอีก นี่ลุงพยายามบอกตัวเองให้รีบไปอย่ารอช้า แต่ก็ยังขี้เกียจอยู่ดี (ฮา)

ที่บอกว่าซวยนั้นก็เพราะลุงเชื่อมั่นว่า องค์กรที่มีการจัดการอย่างดีเช่นห้าง เขาต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อสร้างมาตรการด้านสุขอนามัย เพื่อความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงาน บังเอิญวันที่เขียนอยู่นี่เป็นวันแรกที่ห้างเปิดใหม่ และลุงเองก็ไม่มีแก่ใจจะไปลุยห้างสู้กับเขา แต่เท่าที่ติดตามข่าว ก็พบว่ามีคนจำนวนมากยอมยืนรอคิวเพื่อเข้าห้างใหญ่ขายเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน ซึ่งพอตกบ่าย ห้างนั้นสาขาบางนาก็ประกาศว่าต้องหยุดรับลูกค้าแล้ว ไม่งั้น social จะไม่มีทาง distancing ได้ หรือแม้แต่ร้านหนังสือก็มีแฟนๆ เข้าคิวรอ อันนี้น่าจะเป็นเฉพาะวันแรกๆ พอคนเราหายอยากแล้วสถานการณ์น่าจะดีขึ้น

เท่าที่ทราบ เรื่องการลองให้เขาแต่งหน้าให้ที่เคาน์เตอร์เครื่องสำอาง พื้นที่ซึ่งเป็นประหนึ่งหัวใจและจิตวิญญาณของห้างสรรพสินค้า (อย่างน้อยก็ห้างต่างประเทศนะ) น่าจะต้องงดไว้ก่อน, ลุงยังรอดูว่าร้านเสื้อผ้าจะทำอย่างไรกับการลองเสื้อ คือมีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากจะลองเสื้อผ้าก่อนซื้อ (และน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ยูนิโคลมีพื้นที่สำหรับห้องลองเสื้อมากกว่าใคร), แล้วยังมีเรื่องร้านอาหาร ซึ่งขอทำความเข้าใจกันตรงนี้ก่อนว่าเราไม่ได้ไปร้านอาหารเพื่อไป “กิน” แต่เราไปเพื่อ “ประสบการณ์การไปร้านอาหาร” เริ่มตั้งแต่คุยกันว่าไปร้านไหนกันดี รับบัตรคิว ระหว่างรอจะนั่งคุยกับคนที่ไปด้วยหรือจะเล่นโทรศัพท์ก็แล้วแต่ พนักงานพาไปนั่ง มองวิวรอบๆ ตัว เลือกอาหาร รออาหาร นั่งเม้าว่าทำไมมาช้าหรือมาเร็วจัง แบ่งอาหารในจานตนให้อีกคนชิม คุยโน่นนี่นั่นไม่มีสาระแต่มีความสุขที่ได้กินอาหารร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้น่าจะเปลี่ยนไป เพราะมาตรการใหม่และแผ่นเพล็กซีกลาสบนโต๊ะ คือไม่แน่ใจว่ามาตรการต่างๆ ที่ทำให้ร้านอาหารมีบรรยากาศคล้ายโรงพยาบาล (พนักงานวัดอุณหภูมิ, พนักงานสวมหน้ากากอนามัย, ที่นั่งระยะห่าง รวมทั้งความเกร็งอื่นๆ ซึ่งในมาในระยะต้นๆ ของปฏิบัติการนี้) การสร้างบรรยากาศของความระแวดระวังมากกว่าจะเชื้อเชิญ จะทำให้เสียบรรยากาศของการรับประทานอาหารหรือเปล่า ถ้าเป็นร้านข้างถนนหรือไม่ติดแอร์นี่เขาผ่อนปรน บางแห่งทำตัวเหมือนยุคก่อนการระบาด ซึ่งนั่นก็เป็นอีกประเด็น

คนเข้าร้านหนังสือ ไม่ได้ไปเพราะอยากซื้อหนังสือเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้เขาต้องกลับไปร้านหนังสือครั้งแล้วครั้งเล่า คือบรรยากาศของการได้ละเลียดเลือก หยิบมาอ่านสักย่อหน้าสองย่อหน้า ยังไม่โดนก็วางกลับเข้าชั้น แล้วหยิบเล่มใหม่มาพลิกไปพลิกมา เบื่อๆ ก็แอบมองว่าคนหน้าตาดีแถวๆ นั้นเขากำลังสนใจหนังสืออะไร ฯลฯ ลุงว่าคงต้องอีกหลายสัปดาห์กว่าบรรยากาศแบบที่ว่าจะกลับคืนสู่วงการรีเทล

แต่ก็นั่นแหละ ความปกติมันไม่ใช่ปุบปับก็เกิด มันต้องใช้เวลา ให้ทางห้างร้านตอบโจทย์ให้รอบด้านเสียก่อน – โจทย์ที่ว่ามีทั้งของทีมหมอและในแง่ความสุขกายสบายใจของลูกค้า – ดูอย่างการเดินทางโดยเครื่องบินช่วงหลังเหตุการณ์ 9/11 สิ ตอนแรกบ่นกันจะเป็นจะตาย ต้องถอดเข็มขัด เสื้อหนาว รองเท้า ต้องไม่เอาของเหลวขึ้นเครื่อง ต้องเข้าคิวยาว ต้องโดนเจ้าหน้าที่ตรวจยิบ ฯลฯ ตอนนี้กลายเป็นเรื่องปกติแล้ว…แต่ถามว่ายังอยากบ่นตอนขึ้นเครื่องอยู่ไหม ตอบได้เลยว่าอยากบ่น…แต่มันทำอะไรไม่ได้

 

Q : จะต้องกลับไปทำงานเต็มตัวเร็วๆ นี้ ปกติเป็นคนชอบแต่งตัว แต่ในไอ้ความปกติใหม่นี่ เมื่อใส่หน้ากาก แต่งตัวยังไงก็ไม่สวย ลุงมีอะไรจะแนะมั้ย – ปลา

A : ตอบคุณปลา

ถึงวันนี้ ต้องคิดเสียว่าหน้ากาก (จะเป็นหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยก็ตามแต่) เป็น accessory ชิ้นหนึ่งที่เราต้องใส่ทุกวัน และเราก็ต้องคิดถึงมันในฐานะ accessory นั่นก็คือทำยังไงให้มันเป็นหนึ่งเดียวกับเสื้อผ้าที่สวม หรือทำให้ลุคของเราดีขึ้น

ลุงอยากจะยกตัวอย่าง ยังจำได้ไหมในช่วงแรกๆ ของการระบาดที่นายกฯ ประยุทธสวมเสื้อพระราชทานผ้าไหมลายสีฟ้าๆ พร้อมสวมหน้ากากผ้าผืนเดียวกันลายเดียวกัน มาแถลงข่าวอะไรสักอย่างว่าด้วยการระบาด จำได้ว่าหน้ากากผ้าไหมอบมาอย่างแข็งจนกระดกไปมาเวลาพูดหน้าไมค์ ดูหน้ากากกระดกเสียจนไม่เป็นอันฟังแถลงการณ์เลย ฮ่าๆ) ในแง่ของสไตล์นี่เป็นความพยายามจะให้เข้าชุด ไม่หลุดธีม แต่ลุงไม่แนะนำเลย เพราะเป็นความพยายามที่เลยเถิด ทำให้หน้ากากนั้นเด่นจนขวางหูขวางตาไปหมด ถ้าจะเด่นกันขนาดนี้ ต้องให้ลายหรือสีแรงกว่านี้ไปเลย เด่นแล้วค้างๆ คาๆ แบบนี้เราไม่เอา

อีกตัวอย่าง คือประธานรัฐสภาสหรัฐ แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) เธอชอบคาดผ้าแทนหน้ากาก เป็นผ้าเช็ดหน้าบ้าง ผ้าพันคอไหมบ้าง โดยเลือกสีที่แมทช์กับสีซึ่งมีอยู่ในชุด (ไม่เคยมีใครสัมภาษณ์ว่าทำไม แต่ลุงคิดว่าคุณแนนซีน่าจะเจ็บหลังหูเพราะสายหน้ากาก หรือไม่ก็มีความรังเกียจหน้ากากตามวิสัยฝรั่ง หรือทำไปเพราะมีสไตล์ในใจนำทาง) ลุคของเธอดูสบายๆ เก๋ และเรียบร้อยแบบว่าอยู่บนบังลังก์ในสภาได้ อยากรู้ว่าหน้าตาเป็นยังไงลองเข้าไปดูในไอจีของเธอเองแล้วกัน เห็นในทวิตแซวกันว่าเป็น anti-corona cowboy

ที่เลือกแต่ผู้ใหญ่มาเป็นตัวอย่างเพราะเห็นว่าแต่งให้เรียบร้อย (เพราะเราต้องไปออฟฟิศเนอะ) แต่ดูมี power และเก๋ มันยากกว่าแต่งตัวไปเดินเล่นสวนจตุจักร อันนั้นใครๆ ก็ทำได้ ไม่ต้องมาถามลุงหรอกครับ

 

 

Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป (ถ้าเป็นหญิงตอบก็ต้องเรียก agony aunt) ลุงเฮม่าตอบปัญหาในโลกยุคใหม่ที่เราทึกทักเอาเองว่าไร้กฎเกณฑ์ แต่ถ้าโลกมันไร้กฎเกณฑ์ขนาดนั้น เราคงอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ได้ลำบาก

สำหรับน้องๆ ที่ไม่เอากฎเกณฑ์ ลุงพอเข้าใจนะเพราะก็เคยเป็นเด็กมาก่อน เพียงอยากจะบอกว่าคุณจะแหกกฎได้เก่ง แหกแล้วมันให้ประโยชน์แก่ตัวเราและผองเพื่อนมนุษย์ ก็ต่อเมื่อคุณรู้กฎเกณฑ์แล้วเท่านั้น              

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save