fbpx
Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ เรื่อง

Q : ผมอยู่ในบ้านที่มีแต่การพูดคุยเรื่องข้อมูล ความรู้ (การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร สุขภาพ และอื่นๆ) ที่บ้านมีแต่การตั้งและตอบคำถาม มีเหตุผล จริงจังมาก ขาดเสียงหัวเราะไปตั้งนานแล้ว ผมควรเออออไปตามน้ำมั้ย หรือควรทำยังไง ผมเริ่มอึดอัดครับ – บู

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา เสียงหัวเราะ

A : ตอบคุณบู

ลุงอ่านแล้วอ่านอีก และสะดุดใจมากกับประโยคที่ว่า “ขาดเสียงหัวเราะไปตั้งนานแล้ว” คือบ้านมันไม่ใช่เวทีโต้วาที หรือสนามประลองปัญญา มันน่าจะเป็นสถานที่ซึ่งคนอยู่ด้วยกัน พูดคุยกัน มีอะไรก็เอามาแชร์กัน พอใจก็ต้องแชร์ ไม่พอใจก็ต้องแชร์

อ่านตรงนี้เหมือนคุณเป็นผู้น้อยในบ้าน ถ้าไม่ใช่ลูกก็เป็นน้องเล็ก

ถ้าใช่ ลุงมีข้อสงสัยนะ คือถ้าคุณโตมาในบ้านหลังนี้ โตมากับการพูดคุยความรู้อย่างเอาเป็นเอาตาย ลุงสงสัยว่าทำไมจึงยังไม่คุ้น ทำไมเรื่องนี้จึงเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา (ถึงกับต้องเขียนมาหาลุง)

หรือว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นกับคนที่ชอบพูดคุยเรื่องวิชาการและเอาชนะคะคานอย่างไม่ปรานีปราศรัย เรื่องที่ทำให้เขาเครียด เครียด เครียด แล้วเอาเรื่องเอาปัญญามาบี้คนอื่นเล่นเป็นทางออก

ความจริงการถกเถียงกันเรื่องวิชาการนี่มันเป็นเรื่องสนุกนะครับ แต่ถ้าเมื่อไหร่คู่สนทนาไม่มีเมตตา เมื่อไหร่ที่เราสนทนากันเพื่อข่มคนที่รู้น้อยกว่า มันก็หมดสนุก

ปกติบ้านปัญญาชนที่ลุงเคยเจอมาแม้จะคุยเรื่องใหญ่ๆ แต่ใจพวกเขากลับเหมือนเด็ก คือเรื่องฉลาดๆ มันจะตามมาด้วยด้วยเรื่องปัญญาอ่อนตลอดเวลา จะว่านี่เป็นนิสัยของพวกสติเฟื่องก็คงจะได้ หรือไม่งั้นถ้าในบ้านจะมีคนฉลาดช่างเครียดสักคนแต่อย่างน้อยก็ต้องมีคนตลกอยู่สักคนสองคนเสมอ จึงจะได้ส่วนผสมซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ

คนเราอยู่ด้วยความฉลาดอย่างเดียวไม่ได้ มันเหมือนกินข้าวแต่ไม่ยอมตักกับ กินได้สองสามคำก็ต้องยอมแพ้ รวบช้อน เบื่อ

ลุงไม่ได้แนะนำให้บูชนกับผู้ใหญ่ อย่างที่อ่านนั้นดูเหมือนเขาจะพลิ้ว ไล่ด้วยเหตุผล แล้วเราคงจะเหนื่อยอยู่

แต่อยากให้ใช้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกร่วมบ้าน คนซึ่งอยู่ใต้หลังเดียวกัน ถามกันตรงๆ เลยดีกว่าว่าพี่มีปัญหาอะไรนักหนา ทำไมทุกความฉลาดที่ออกมาจากปากจึงมีความเครียดอัดมาด้วย จนคนในบ้านเริ่มทนไม่ไหวแล้ว (ลุงเดานะ ว่าที่ทนกันไม่ได้ไม่ใช่เรื่องฉลาดๆ แต่เป็นทัศนคติหรืออารมณ์ที่ประจุอยู่ของคนพูด) ถามกันตรงๆ นี่แหละ ลุงเดาว่าคนที่เขามีเรื่องหนักใจเมื่อโดนถามตรงๆ ก็คงจะพลิ้ว ไม่ยอมบอก ไม่ยอมเล่าหรอก แต่ถ้าบูไม่ถาม มันก็เหมือนเราไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน ถามไปเลยว่า – มีอะไรหรือเปล่า – ทำไมพักนี้เครียด ไม่สนุกเหมือนเมื่อก่อนเลย – มีอะไรคุยให้ฟังบ้าง อย่างน้อยเราก็อยู่บ้านเดียวกัน อะไรแบบนี้

บอกความอึดอัดของเราให้เขารู้ครับ ต่อไปฝ่ายคนฉลาดก็คงจะคิดได้เอง

Q : ถามสั้นๆ อะไรคือแขนทุกข์ครับลุง – ปาน

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

A : ตอบคุณปาน

แขนทุกข์เป็น accessory ชิ้นหนึ่งของผู้ชายที่ลุงเคยเห็นบ่อยตอนเด็กๆ คือเห็นพ่อใส่สูทไปงานศพโดยผูกไทดำแล้วคาดแขนทุกข์ โดยที่สูทนั้นไม่ต้องเป็นสีดำ แขนทุกข์เป็นแถบผ้าขนาดกว้างสี่เซนติเมตร (ขนาดอื่นก็ได้ ไม่ผิด แต่สี่เซนติเมตรนี่เป็นขนาดที่กำลังสวย) ตัดด้วยผ้าวูลจะสวยกว่า คาดไว้เหนือศอกซ้าย โดยมีเข็มกลัดกลัดให้อยู่ในตำแหน่ง ไม่ห้อยไม่ย้อย

ลุงชอบนะ ธรรมเนียมที่ใช้แขนทุกข์เมื่อต้องไว้ทุกข์หรือเวลาไปงานศพ เพราะมันประหยัด ดูดีและอาจเป็นเพราะเห็นจนคุ้น ไม่รู้สึกว่าเป็นของแปลก แล้วก็ชอบเพราะเวลาติดแขนทุกข์นี่มันเหมือนเรารู้ธรรมเนียม

แต่แล้วทั้งประเทศก็ผ่านพระราชพิธีพระบรมศพซึ่งกินเวลายาวนานราวสองปี เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เราคนไทยต้องไว้ทุกข์กันทั้งประเทศ และสำหรับชุดอย่างเป็นทางการของผู้ชายนั้น รัฐระบุให้สวมเสื้อขาวหรือดำกับกางเกงดำ ถ้าเป็นสูทก็ให้เป็นสูทดำ ข้ามเรื่องแขนทุกข์นี่ไปเลย แขนทุกข์จึงกลายเป็น accessory ที่ไปอยู่บนแขนซ้ายของพนักงานชาย รปภ.ตามห้าง หรือนายทหารตำรวจเมื่อสวมชุดใหญ่ มันเลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบไปโดยปริยายในสายตาคนไทยที่เกิดไม่ทันแขนทุกข์

ในช่วงที่มีงานพระราชพิธีนั้นลุงเคยใส่สูทสีเทาเข้มแล้วคาดแขนทุกข์ไปงานพระราชทานเพลิงศพ คนทั้งงานมองเหมือนว่าอีตาคนนี้ทำอะไรของแก ป่วยการจะอธิบายให้ยืดยาว ก็คนมันไม่ชอบสูทสีดำนี่หว่า จะให้ทำไง ว่าแล้วก็ใช้แขนทุกข์ของตนใส่ไปงานศพต่อไป

ใครจะมองยังไงก็ช่าง

Q : ถึงหน้าเที่ยวแล้ว บางคนบอกว่าที่นั่งบนเครื่องริมหน้าต่างน่ะดี บางคนบอกว่าควรเลือกริมทางเดิน ลุงว่าไงดี – อินทร

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

A : ตอบคุณอินทร

ถ้าบินในประเทศ หรือไปที่ใกล้ๆ อย่างโฮจิมินห์ซิตี้ (ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าไปเชียงใหม่เสียอีก) อยากจะนั่งไหนก็นั่งเลยครับ ไม่มีความแตกต่าง

แต่ถ้าเป็นไฟลต์ที่ใช้เวลามากกว่าสามชั่วโมง กล่าวคือคุณสามารถดูหนังจบหนึ่งเรื่องก่อนถึงจุดหมาย การเลือกที่นั่งนี่มันเริ่มจะเป็นเรื่อง ที่นั่งซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนาคือที่นั่งซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างที่นั่งริมหน้าต่างกับริมทางเดินเพราะคุณจะถูกขนาบ บางทีก็โดนชิงที่เท้าแขนไปเสียจนต้องนั่งตัวหนีบไปตลอดทาง ถ้าทำได้ เมื่อเช็คอินออนไลน์ให้เลือกเลยว่าคุณจะเอาที่นั่งริมหน้าต่างหรือริมทางเดิน

จะเลือกริมไหนก็ขึ้นอยู่กับนิสัยคุณแหละครับ

ถ้าคุณเป็นคนขี้เกรงใจ ไม่อยากขอทางเขาเมื่อจะต้องออกไปห้องน้ำ ขี้เกรงใจชนิดที่รถเข็นอาหารมากระทบศอกทีเผลอนิดๆ หน่อยๆ นั้นถือว่าไม่เป็นไร ขี้เกรงใจชนิดไม่ถือสาที่พนักงานยื่นชามข้ามหน้าข้ามตาคุณไปให้ผู้โดยสาคนที่นั่งข้างใน ถ้าคุณเป็นคนแบบนั้นเลือกที่นั่งริมทางเดินเลยครับ มันมีดีตรงที่สามารถลุกไปเข้าห้องน้ำได้บ่อยครั้งเท่าที่ต้องการ (แต่ถ้าคุณไม่ซัดเบียร์สองสามกระป๋องเพราะลืมตัว ไฟลต์สี่ชั่วโมงเข้าห้องน้ำหนเดียวนี่ถือว่าหรูแล้ว)

ถ้าคุณเป็นคนชอบชมวิวใจลอยไปกับปุยเมฆและแดดสวยๆ ฟ้าใสๆ อย่างที่เราไม่มีทางได้เห็นบนพื้น แถมยังมีโอกาสถ่ายรูปเมฆอัพไอจีให้คนหมั่นไส้เล่น ถ้าคุณเป็นคนชอบที่เยอะๆ ชอบความเป็นส่วนตัว (ผนังด้านหน้าต่างนี่เป็นอาณาจักรเล็กๆ ของลุงทุกครั้งที่ขึ้นเครื่อง) ถ้าคุณมีความเกรงใจขณะเดียวกันก็มั่นใจพอจะขอทางผู้โดยสารคนอื่นเพื่อออกไปเข้าห้องน้ำ (แนะนำให้รอจังหวะที่คนนั่งริมหน้าต่างลุกไปเข้าห้องน้ำ เป็นสัญญาณให้เราลุกบ้าง ปกติตอนอยู่ในเครื่องกระเพาะปัสสาวะของคนเราจะเต็มพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย แปลกดีเนอะ) ลุงแนะนำให้เลือกที่นั่งริมหน้าต่าง

อีกอย่าง เวลาลุกพยายามใช้กล้ามท้องคอร์บอดี้ในการเลี้ยงตัวลุกขึ้น อย่าใช้มือเกาะพนักแถวหน้าแล้วกระชากจนหน้าเขาหงาย เวลามีเรื่องกันนี่ จะนั่งริมหน้าต่างหรือริมทางเดิน มันก็ไม่ต่างกันแล้วครับคราวนี้

Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป (ถ้าเป็นหญิงตอบก็ต้องเรียก agony aunt) ลุงเฮม่าตอบปัญหาในโลกยุคใหม่ที่เราทึกทักเอาเองว่าไร้กฎเกณฑ์ แต่ถ้าโลกมันไร้กฎเกณฑ์ขนาดนั้น เราคงอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ได้ลำบาก

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022