Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

Q : แต่งหน้าเต็มมาวิ่งพอเข้าใจได้ แต่เขาฉีดน้ำหอมกลิ่นฉุนมากมาวิ่ง! นี่คือไม่เข้าใจ ลุงไม่เข้าใจเหมือนหนูหรือเปล่า – แบม

 

 

A : ตอบคุณแบม

สมัยนี้ใครๆ ก็ออกมาวิ่งกัน มากคนก็มากเรื่อง มันเป็นเรื่องธรรมดาครับ การใช้ที่สาธารณะร่วมกันนี่เราต้องรู้ที่ทางของเราไว้บ้าง แล้วชีวิตจะราบรื่นขึ้น จริงๆ แล้วเรื่องมารยาทในการวิ่งนี่มีปรากฏอยู่ในเพจยอดนิยมต่างๆ อยู่แล้ว ลุงแค่หยิบเอามาสรุป รวมกับความเห็นต่างๆ จากมิตรสหายนักวิ่งที่ได้รวบรวมมา กลิ่นฉุน (ทั้งหอมและไม่หอม) ก็เป็นเรื่องหนึ่ง

เริ่มตั้งแต่ทิศทางการวิ่งแล้วกัน สวนส่วนใหญ่เราต้องวิ่งวน ทางที่ดีควรวิ่งวนเป็นทางเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะทวนเข็มนาฬิกา นอกจากบางสวนจะมีศรชี้เป็นอย่างอื่น เราก็ว่าไปตามนั้น วิ่งทางเดียวกันมันช่วยไม่ให้วิ่งชนกันนะลุงว่า แล้วไม่ต้องมาคอยหลบกันให้เปลืองแรงข้อเท้าด้วย

อยากให้คิดว่าการออกไปวิ่งก็เหมือนเอารถออกถนน ขับรถเรายังต้องดูซ้ายขวาหน้าหลัง จะเปลี่ยนเลนทีเรายังต้องดูกระจกส่องหลัง ไม่งั้นชนกันแน่ ออกมาวิ่งก็ต้องดูชาวบ้านบ้าง อย่ามัวแต่ดื่มด่ำหรือฟังเพลงจนหลุดโลก

วิ่งในเลนวิ่งนะครับ บางสวนเขามีเลนจักรยานด้วย และจักรยานเขาจะเร็วกว่า หยุดหรือหลบยากกว่า ช่วยดูเครื่องหมายบนพื้นด้วยว่าคุณอยู่เลนไหน

นักวิ่งมีทั้งวิ่งเร็ววิ่งช้า ช้าอยู่ซ้าย เร็วก็อยู่ขวา เวลาจำเป็นต้องแซงก็ให้สุ้มให้เสียงกันนิดนึง บางคนชอบบอกเบาๆ ว่า “แซงนะครับ” ลุงว่าน่ารัก

พวกที่มากันเป็นกลุ่มแล้ววิ่งเป็นแผงเพื่อซ่อมรักษาเพซ เพื่อจะไปพิชิตชัยที่ไหนก็ตามแต่ คุณไม่มีสิทธิไปปิดทางวิ่งแบบนั้น เปิดให้คนแซงสักช่องทางก็ยังดี กลุ่มวิ่งแผงนี่มักเป็นคนวัยลุง ซึ่งเรื่องแค่นี้ก็น่าจะคิดได้ไหม

อีกเหตุการณ์ที่ชอบเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานวิ่งที่มีช่างภาพอาชีพคอยเก็บภาพ คือนักวิ่งเห็นช่างภาพแล้วลืมตัว เปลี่ยนเลนพรึบบ้าง กางแขนออกทำท่าทำทางต่างๆ นาๆ บ้าง โดยไม่สนใจคนที่วิ่งตามมา ลุงไม่ได้บอกว่าห้ามเปลี่ยนเลนหรือห้ามทำท่าสวยๆ แต่ขอให้ดูคนที่ตามมาข้างหลังก่อนนิดนึง

พวกวิ่งไปถ่ายเซลฟีไปก็เหมือนกัน ไม่ได้ห้าม แต่ช่วยดูคนข้างหลังด้วยครับ

ในงานวิ่งเขาจะมีน้ำวางเรียงบนโต๊ะ ให้เข้าไปรับน้ำแล้วเดินออกมาดื่ม อย่ายืนออกันหน้าโต๊ะน้ำ มันเกะกะ เพื่อนนักวิ่งก็หิวน้ำเหมือนกัน แปลกแต่จริงที่เรื่องแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นที่หน้าเคาน์เตอร์เครื่องดื่มตามงานหรือในบาร์ด้วยนะ บางคนสั่งเครื่องดื่มได้แล้วยืนปักหลักอยู่ตรงนั้นราวกับพระเอกหนัง ถ้าบาร์ว่างๆ อยากทำอะไรก็ทำเถิด แต่ในงานมีคนคอแห้งรอสั่งเครื่องดื่มอีกเป็นสิบ แล้วคุณมายืนคุยกับเพื่อนปิดเคาน์เตอร์แบบนั้น มันไม่ใช่

เปลี่ยนเลนจากเรื่องดื่ม กลับมาเรื่องวิ่งกันต่อ

คราวนี้มาถึงเรื่องอนามัยส่วนบุคคลกันบ้าง ชุดวิ่งควรสะอาด ไม่ได้บอกให้อาบน้ำก่อนมาวิ่ง แค่ใช้โรลออนปาดรักแร้ (คำว่า “ใต้วงแขน” อาจมีความหมายต่อคนโฆษณา แต่ไม่มีความหมายสำหรับลุง มันคืออะไร) สักหน่อย จะช่วยให้คนรอบข้างหายใจโล่งขึ้น น้ำหอมไม่ต้อง ปกติการออกกำลังกับน้ำหอมนี่มันไปด้วยกันไม่ได้อยู่แล้ว เห็นใจคนอย่างคุณแบมบ้าง

ปกติแล้วโลกของการวิ่งเป็นโลกที่น่ารักนะครับ คนวิ่งสวนไม่รู้จักกันก็ทักทายกันได้ พยักหน้ายิ้มให้ วิ่งจบก็ทักกันคุยกัน จากคนไม่รู้จักกลายเป็นเพื่อนกันไปเลยก็มี ใครเจ็บตัวหรือเกิดอะไรขึ้นจะมีคนรีบมาช่วยเหลือทันที มันเป็นโลกของคนคิดบวกจริงๆ และจะน่ารักกว่านี้ถ้าเรารู้มารยาทการวิ่งไว้บ้าง ซึ่งจริงๆ มันก็คือสามัญสำนึกแหละครับ – วิ่งๆ ไปแล้วหยุด ก็ให้นึกถึงคนที่ตามมา เขาจะหยุดตามทันมั้ย – วิ่งสวนทางกับชาวบ้าน ไม่กลัวเสี่ยงชนหรือรบกวนคนหลบให้เราหรือ – อาบน้ำหอมมาวิ่ง จะเอาแบบนั้นจริงหรือ…คือจะทำอะไรให้นึกถึงคนอื่นบ้าง มันไม่ใช่เรื่องยากนิ

 

Q : ลุงคิดยังไงกับวัน Car Free Day – ลี

 

 

A : ตอบคุณลี

ลุงว่ามันก็ดีที่หนึ่งวันในหนึ่งปีเรามีโอกาสเตือนสติกันนิดนึงในเรื่องการใช้รถ ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์อะไรต่อคนที่ไม่ได้นั่งรถ ทั้งควันท่อไอเสีย รถติด รถเต็มถนนคือสัญลักษณ์ของความไม่น่าอยู่ของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ

ขอคิดห่ามๆ เล่นๆ ว่า จริงๆ แล้วน่าจะจัด Car Free Day ในช่วงวันหยุดยาว ซึ่งรถว่างโดยไม่ต้องให้ใครมาจัดกิจกรรม ไม่ต้องรณรงค์ ลุงว่าช่วงหยุดยาวนี่แหละ เอาคำว่า Car Free Day (s) มาเสียบเลย แถมปีหนึ่งยังมีได้มากกว่าหนึ่งวันเสียด้วย

ส่วน Car Free Day ที่ปิดถนนแล้วเอาจักรยานออกมาขี่ผยองกันเต็มเมืองลุงไม่ค่อยเห็นด้วย น่าจะใช้รถสาธารณะกัน หรือเมืองเปิดพื้นที่ให้คนออกมาเดินเล่นกันมากกว่า แต่ก็ยาก เพราะเมืองไทยมันร้อน ต้องรอหลังบ่ายสี่จึงจะค่อยสามารถโผล่หัวออกมารับแดดอุ่นราวกับอยู่สวนอูเอโนะได้

ส่วนคนที่ขี่จักรยานอยู่แล้วก็เป็นเรื่องดี (ขอให้พระคุ้มครอง)

 

 

Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป (ถ้าเป็นหญิงตอบก็ต้องเรียก agony aunt) ลุงเฮม่าตอบปัญหาในโลกยุคใหม่ที่เราทึกทักเอาเองว่าไร้กฎเกณฑ์ แต่ถ้าโลกมันไร้กฎเกณฑ์ขนาดนั้น เราคงอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ได้ลำบาก

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save