fbpx
Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

Q : ลุงๆ ธรรมดาหนูก็ไม่ใช้รถไฟฟ้าเลยนะ แต่พอเขาเปิดให้ขึ้นสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ขึ้นฟรีด้วย หนูกับเพื่อนก็เลยไปเที่ยวกัน คนมันก็เยอะ ตอนนั้นบ่ายสามกว่า จะหมดเวลาแล้ว พอขึ้นรถคนก็เบียดกันจนเกือบกระเด็น เพื่อนเลยบ่นว่า ‘อย่าเบียดสิคะ’ พอรถออกจากสถานี คุณลุงคนหนึ่งก็เปรยลอยๆ ว่า ‘ไม่อยากเบียดคนก็อยู่บ้านสิครับคุณ’ โอ๊ย เพื่อนหนูของขึ้นเพราะเขาเปรยใกล้มาก (แต่จากกันดีๆ นะคะ ไม่มีตบ ไม่มีด่า) ว่าแต่ ลุงว่าใครผิดใครถูก – วารี

 

 

A : ตอบคุณวารี

สงสัยคราวนี้ต้องตอบกันยาว

คือลุงไม่ได้จะเข้าข้างลุงด้วยกันนะ แต่คุณเข้าใจใช่ไหมครับว่า คำว่าระบบรถสาธารณะหมายถึงเราต้องใช้พื้นที่ร่วมกัน เราต้องหัดนึกถึงคนอื่น เราต้องนึกถึงแต่ตัวเองให้น้อยลง ที่ถามก็เพราะเท่าที่เห็นนั้นเหมือนกับมีคนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจว่าในการใช้พื้นที่ร่วมกัน เราต้องเอาความเป็นส่วนตัวซึ่งทำอะไรก็ได้ตามใจฉัน ไปแลกกับความรวดเร็วซึ่งมากับระบบรถสาธารณะ

ในรถไฟฟ้า ลุงยังเห็นคนไม่น้อยแบกความเป็นส่วนตัวมาสำแดงในพื้นที่สาธารณะ ขึ้นรถทีไรก็จะต้องเจอคนนั่งไขว่ห้างในรถเหมือนตนกำลังนั่งอยู่ในร้านกาแฟ ไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังทิ่มเท้าเข้าไปในพื้นที่ยืนของคนอื่น ลุงยังเห็นคนเดินเกะกะจนเราเกือบเดินชน เจอคนสะพายเป้ซึ่งหันมาก็คือเอาเป้ฟาดหน้าคนที่ยืนอยู่ข้างหลัง นี่ไม่นับพวกติดมือถือซึ่งก้มหน้าก้มตามองแต่จอ (ส่วนใหญ่หูก็มีหูฟังเสียบ) ไม่สนใจว่าใครจะออกจะเข้า ไม่รู้เรื่องว่าตนยืนขวางทางชาวบ้าน แต่เรื่องนี้ขี้เกียจบ่นแล้ว

การใช้พื้นที่ร่วมกันมันก็ต้องเอื้อเฟื้อกันบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา คราวนี้พอมาถึงเรื่องเบียด กรุณาเข้าใจว่าระบบรถสาธารณะมีไว้เพื่อความสะดวกรวดเร็ว บางคนอาจไม่รีบไปไหน แต่หลายคนก็อาจมีธุระด่วน หรือไม่อยากรอรถคันถัดไป การเบียดกันเพื่อให้คนเข้ารถให้ได้มากที่สุดลุงว่าเป็นเรื่องธรรมดา (คุณไปเมืองไหนก็ได้ในโลก เขาก็เบียดกันแบบนี้แหละ) แต่ขณะเดียวกันก็คงเป็นเรื่องธรรมดาของคุณหนูรถส่วนตัวที่จะขวัญอ่อนเมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้ อีกอย่าง ลุงเชื่อว่าคนที่เบียดเพราะอยากจะเข้ามาในรถนั้นมองเห็นแล้วว่า ในรถยังมีที่ว่างอีกเยอะ แต่ผู้โดยสารกลับยืนปักหลัก (ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม…หรือว่าไม่มีเหตุผล) ไม่ยอมขยับตัวเดินเข้าข้างใน มันเลยต้องเบียดกันหน่อย

บางครั้งลุงก็คิดถึงสมัยที่ขึ้นรถเมล์ (บางครั้งว่างๆ ก็ขึ้นนะ มันเป็นเหมือนทริปสนุกสุดเอ็กซอติก ไม่เชื่อลองดูสิครับ) กระเป๋ารถเมล์ซึ่งนอกจากจะมีหน้าที่เก็บค่าโดยสาร กระเป๋ารถเมล์ที่ดีต้องเก่งเรื่องการจัดระเบียบในรถด้วย ต้องคอยสั่งการให้คนขยับ ให้ผู้โดยสารได้ขึ้นรถให้มากที่สุด คอยดูแลคนแก่เวลาจะขึ้นลง บางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่าระบบรถสาธารณะน่าจะมี ‘กระเป๋า’ มาคอยจัดระเบียบการใช้พื้นที่

เอาเป็นว่า ถ้าคุณยังไม่รู้หน้าที่ของตัวเองในฐานะผู้โดยสาร ก็อาจต้องมีการใช้ ‘อำนาจ’ กันไปก่อน จนกว่าเราจะคิดกันเองได้ ซึ่งมันก็ไม่ควรหรือเปล่าวะ เพราะถ้าไม่ยอมเปิดโอกาสให้ผู้โดยสารฝึกทำตามหน้าที่ของตัวเอง หรือต้องพึ่งกระเป๋า (และเสียงสั่งบงการของเขา) ตลอดเวลา เพื่อให้การใช้รถสาธารณะเป็นไปโดยราบรื่น ผู้โดยสารก็คงต้องพึ่งกระเป๋าไปตลอดชีวิต จะเลือกตั้งสักกี่ครั้งก็ไม่มีประโยชน์ ตราบที่เราไม่เคยได้ใช้สิทธิและหน้าที่ในฐานะพลเมืองของเรา

One thing leads to another.

ยังมีอีกเรื่อง ลุงกลุ้มใจเพราะผู้โดยสารส่วนหนึ่งไม่รู้หน้าที่ตัวเองยังไม่พอ ทางระบบรถสาธารณะก็ยังไม่เข้าใจหน้าที่ของตัวเองอีกด้วย บางครั้งก็เห็นแก่แรงประชาสัมพันธ์และเงินมากกว่าจะเห็นแก่ความสะดวกของผู้โดยสาร ยกตัวอย่าง สถานีใต้ดินแห่งหนึ่งซึ่งเพิ่งเปิดใหม่ ผู้โดยสารเดินทางฟรี ทั้งสถานีนั้นรวมทั้งชั้นชานชาลาถูกแปลงโฉมให้เป็นแกลเลอรีภาพโฆษณาผนังสีแดงฉาน นัยว่าเพื่อรับกับความเป็นถิ่นคนจีนในบริเวณนั้น ได้ยินมาว่าสปอนเซอร์ที่เช่าพื้นที่ของสถานีลงทุนถึง 50 ล้านบาท (คือลงทุนกับเทคโนโลยี AR ด้วยนะ แต่เท่าที่เห็นคือไม่มีใครใช้ ต่างพอใจกับการถ่ายรูปตัวเองกับฉากเท่านั้น) เท่าที่ลุงเดินดูรอบบริเวณก็เจอคนมากมายทั้งวัยลุงป้าและวัยหนุ่มสาวโพสกับรูปภาพน่ารักๆ บนผนังสีแดงฉาน ก้มหน้าก้มตาถ่ายรูปกันสนุกจนลืมไปว่าตนกำลังยืนเกะกะกีดขวางทางเดินอย่างแรง คือทำทุกอย่างที่เราชอบด่านักท่องเที่ยวจีนนั่นแหละ ลุงนึกภาพเมื่อสถานีเปิดใช้เต็มตัว ภาพผู้โดยสารเดินกรูกันเข้าออก โดยมีผู้โดยสารอีกกลุ่มทำตัวเป็นนักท่องเที่ยว ยื่นไม้เซลฟี ยื่นหน้าเข้าเฟรม ยืนกีดขวางทางสัญจร ถึงวันนั้นคงสนุกพิลึกแหละครับ

ทำไมจึงเป็นคนขี้บ่นแบบนี้นะ

 

Q : อยู่ดีๆ เพื่อนแคปหน้าจอมาให้ บอกว่าหนูได้เป็นกรรมการงานกฐินที่ต่างจังหวัด ไม่ทราบว่าต้องทำตัวอย่างไร – ลักษณ์

 

 

A : ตอบคุณลักษณ์

ลุงขออนุโมทนาครับ คุณไม่ต้องทำอะไร แค่เอาเงินใส่ซองตามหน้าที่พุทธศาสนิกชน ถามว่าใส่เท่าไหร่ เป็นกรรมการก็น่าจะร้อยขึ้นนะ ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ มีน้อยให้น้อย มีมากให้น้อยก็ได้ (ฮา) หรือถ้าขยันและอยากมีประสบการณ์ใหม่ๆ แบบไทยๆ คุณก็เอาซองนี่เดิน “บอกบุญ” เพื่อนๆ หรือคนรู้จักในที่ทำงาน น่าจะได้แบงค์ยี่สิบเพิ่มมาในซองบ้าง แบงค์ร้อยคุณจะหายเหงา แล้วคุณจะรู้เลยว่าเพื่อนคนไหน “เคร่ง” คนไหน “สายอินดี้”

 

 

Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป (ถ้าเป็นหญิงตอบก็ต้องเรียก agony aunt) ลุงเฮม่าตอบปัญหาในโลกยุคใหม่ที่เราทึกทักเอาเองว่าไร้กฎเกณฑ์ แต่ถ้าโลกมันไร้กฎเกณฑ์ขนาดนั้น เราคงอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ได้ลำบาก

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save