fbpx
Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ

 

Q : เวลาต้องไปนั่งร่วมโต๊ะกับคนอื่น เราจำเป็นต้องคุยกันไหม หรือต่างคนต่างอยู่ ไม่เป็นไร – เอ็ดดี้

A : ตอบคุณเอ็ดดี้

นี่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมแล้วล่ะคุณ ทางตะวันออกนี่เราต่างคนต่างก้มหน้าก้มตากินข้าวเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าอาหารอร๊อยอร่อยอาจจะไม่มีใครคุยกันเลยสักคำ จนกระทั่งเริ่มอิ่มจึงค่อยเงยหน้า และเราจะอึดอัดเลยนะเมื่อรู้ว่าตามมารยาทสากลแล้ว เราควรสนทนากันบ้างระหว่างนั่งร่วมโต๊ะอาหาร ถึงจะไม่เคยเจอคนที่ร่วมโต๊ะมาก่อนเลยก็ตาม เวลาเขาสอนเด็กฝรั่งเรื่องมารยาทโต๊ะอาหาร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานเลี้ยงที่จริงจังหน่อย) เรื่องหนึ่งที่ผู้ใหญ่จะบอกลูกเสมอคือ อย่าลืมหันไปชวนคนที่นั่งข้างขวาคุยด้วย เนื่องจากหลายครั้งแขกที่มางานเลี้ยงอาจไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ถือว่างานเลี้ยงคืองานเข้าสังคม มากกว่าเป็นโอกาสที่จะมาหาอะไรอร่อยๆ กิน แล้วถ่ายรูปอาหารสวยๆ ไปอวดเพื่อน

เพื่อนลุงคนหนึ่ง อาชีพหนึ่งของเขาคือเขียนรีวิวอาหาร แต่นายคนนี้เป็นคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ คือตอนนี้ทำสื่อออนไลน์ แต่เคยอยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์มากว่าสิบปี เขาเล่าว่าไปงานหนึ่งแล้วก็งง เพราะโดนจัดให้ไปนั่งกับบล็อกเกอร์อายุยี่สิบต้นๆ ซึ่งตั้งหน้าตั้งตาชิม ตั้งหน้าตั้งตาถ่ายรูป โดยไม่แม้แต่จะทักทายเพื่อนร่วมโต๊ะ ไม่แม้แต่จะยิ้ม พยักหน้า หรือกล่าวสวัสดี เพื่อนลุงคนนี้ชื่อเดียวกับคุณเลยนะ เขาบอกว่า มื้อนั้นอึดอัดเป็นบ้า และโล่งอกเหลือเกินเมื่อผ่านมื้อเงียบนั้นไปได้

สำหรับคนที่อายุเกินสี่สิบ และยังทันยุคของการนั่งรถทัวร์ คงไม่ลืมวาระที่เราถูกปลุกตอนเที่ยงคืนตีหนึ่งเพื่อให้รถจอดแวะกินข้าวต้มกลางทาง ตอนนั้นลุงยังหนุ่มๆ จำได้ว่าเคยไปคนเดียว และผู้โดยสารอื่นๆ ที่นั่งร่วมโต๊ะส่วนใหญ่ก็ไปคนเดียว ตอนแรกทุกคนก็นั่งกันเงียบๆ มองข้าวต้มร้อนๆ ในจานพลาสติกตรงหน้า ง่วงก็ง่วง งงก็งง ทำตัวไม่ค่อยถูก แต่พอมีลุงคนหนึ่งเปรยว่า เลือกใช้รถบริษัทนี้เพราะร้านข้าวต้มที่เขาแวะมีรสชาติพอใช้ได้ แล้วชวนให้คนอื่นลองชิมยำกุนเชียง “เขาเลือกกุนเชียงอย่างดีมาทำ” ลุงเขาว่า คนอื่นในโต๊ะก็ยิ้มรับ บางคนก็ชิมตามที่ลุงแนะ ยังไงก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่บรรยากาศในโต๊ะก็ดีขึ้นในทันที

คือไม่ต้องถึงกับแนะนำตัว แลกนามบัตร (อันนั้นเก็บไว้สำหรับงานเลี้ยงจริงจัง ไม่ใช่แชร์โต๊ะข้าวต้มรถทัวร์) ไม่ต้องชวนสนทนาเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ต้องซักประวัติ ไม่ต้องอ้อล้อเหมือนกับจะจีบเขาให้สำเร็จภายในคืนนั้น แค่เอ่ยทักสักคำสองคำ ชวนคุยพอ break the ice (จากนั้นอยากจะคุยต่อหรือไม่ก็แล้วแต่คุณละ) ทำลายความอึดอัดที่โต๊ะอาหาร สถานที่ซึ่งเรา เหล่าคนแปลกหน้าต้องมาแบ่งกันใช้ชั่วเวลาหนึ่ง อย่างน้อยมันก็ช่วยให้กลืนอาหารคล่องคอขึ้น

น่าเสียดายที่เหล่าบล็อกเกอร์ซึ่งเพื่อนลุงไปเจอ อาจจะรู้เรื่องอาหาร แต่ไม่รู้เลยว่าการนั่งร่วมโต๊ะให้เห็นหัวคนอื่นนั้นคืออะไร สู้ลุง ตจว. คนนั้นก็ไม่ได้

 

Q : ตรงทางออกขึ้นเครื่องที่สนามบิน เวลาเขาเรียกผู้โดยสารตามที่นั่ง ทำไม (เกือบ) ทุกคนจึงลุกพรึบกันไปเข้าแถวซะยาวเหยียด – หวาน

 

 

A : ตอบคุณหวาน

เวลาเรียกผู้โดยสารเพื่อเข้าประตูทางออก เขาจะเรียกผู้โดยสารที่เดินทางพร้อมเด็กเล็ก คนชรา หรือคนที่ต้องการความช่วยเหลือก่อน ส่วนผู้โดยสารชั้นหนึ่งหรือชั้นธุรกิจนั้นขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะใช้ทางเข้าคนละทางอยู่แล้ว

จากนั้นเพื่อความสะดวกรวดเร็วเขาก็มักจะเรียกผู้โดยสารขึ้นเครื่อง โดยเรียกจากที่นั่งท้ายเครื่องก่อน ระบุแถวที่นั่งชัดๆ จะได้ไม่เกะกะคนอื่นที่ตามมาเมื่ออยู่ในเครื่อง

แต่เท่าที่เจอ ลุงก็เห็นคนกรูกันเข้าคิวตั้งแต่วินาทีที่เจ้าหน้าที่เอาปากจ่อไมค์เลยทีเดียว ไม่สนใจว่าที่นั่งของตัวเองอยู่หัวกลางหรือท้ายเครื่อง (นี่เดาเอานะ เพราะกรูกันมาเยอะเหลือเกิน ลุงว่าก็มีพวกที่นั่งท้ายเครื่องด้วย ขณะเดียวกันพวกที่นั่งอื่นที่ไปร่วมแจมก็คงมีไม่น้อย) สายการบินไหนเข้มงวดเขาก็จะไล่พวกที่ยังไม่ถึงคิว เสียเวลาคนอื่น

เข้าคิวน่ะดี แต่ถ้าเข้าผิดคิวมันก็สะเหล่อ

คิดว่าคุณหวานกับลุงน่าจะเห็นตรงกัน

เห็นแล้วก็รำคาญแต่ทำอะไรไม่ได้ ทำได้แค่มานั่งตอบคุณหวานอยู่ตรงนี้แหละครับ

 

Q : ลุงคิดยังไงกับเรื่องการแต่งตัวของ ส.ส. ในสภา – หมี

 

 

A : ตอบคุณหมี

ไม่คิดอะไรกับการแต่งตัวของ ส.ส. ในสภานะครับ เพราะประธานสภาฯ ก็เคาะไปแล้วว่า “…ประเด็นการแต่งกายเป็นประเด็นปลีกย่อย ไม่ได้มีความยุ่งยาก คงไม่ต้องบังคับสภาผู้แทนราษฎรเหมือนเป็นเด็กนักเรียน…”

ชัดเจนนะครับ

แต่ลุงคิดว่าการเอาเรื่องการแต่งตัวมาเป็นประเด็นชวนตีกันในสภาผู้แทนฯ มันไม่งาม

ปกติเวลาลุงไปงานไหนที่เขามีเดรสโค้ดหรือกติกาในการแต่งกายในงาน เช่น เขาบอกว่า lounge suit หรือ business ซึ่งหมายถึงใส่สูทผูกไท มันก็ไม่ใช่เรื่องของเรา (ซึ่งแต่งกายถูกระเบียบ) ที่จะเดินรี่ไปหาคนที่ไม่ใส่เสื้อนอกหรือไม่ผูกไท เพื่อบอกว่า “คุณไม่รู้เลยหรือว่าเดรสโค้ดของงานนี้คืออะไร บลา บลา บลา”

อย่าว่าแต่พูดขึ้นมากลางงานเลย จะเดินไปบอกนี่ก็ไม่มีใครเขาทำกัน เพราะมันไม่มีประโยชน์ คือแม้แต่เจ้าของงานเขาเห็นเขาก็ไม่พูดหรอกครับ

เรื่องแบบนี้เราไม่ทำกัน ก็อย่างที่คุณชวนแกบอกว่า เพราะทุกคนเป็นผู้ใหญ่แล้ว

ลุงว่าคนที่ทำตัวเป็นเด็ก หรือเจ้าเล่ห์ รู้วิธียั่วให้เด็กตบะแตก คือคนที่ใช้เวลาของการประชุมสภาผู้แทนฯ แล้วพูดอะไรแบบ “อดทนมาหลายอาทิตย์แล้วกับการแต่งกายของ ส.ส.” หรือ “รัฐสภาไม่ใช่สถานที่ที่จะมาหมุนตัวเล่นๆ” หรือ “ต่างครอบครัว ต่างการอบรม”

ที่ว่าเจ้าเล่ห์เพราะเรื่องแบบนี้เขาไม่มาประจานกัน มันไม่มีมารยาท เขาเจ้าเล่ห์เพราะรู้ว่าถ้าพูดแบบนี้แล้ว คนที่ถูกพาดพิงก็จะตกหลุม แล้วขออภิปราย ซึ่งอภิปรายไปก็เหมือนเถียงเขาข้างๆ คูๆ เพราะนี่มันไม่ใช่เรื่องที่จะมาเถียงกันในสภาผู้แทนฯ ครับ

คนที่ตั้งใจหาเรื่องนี่เป็นเด็กเกเรมากกว่าคนที่แต่งตัวไม่เรียบร้อยเยอะเลยนะลุงว่า

 

Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป (ถ้าเป็นหญิงตอบก็ต้องเรียก agony aunt) ลุงเฮม่าตอบปัญหาในโลกยุคใหม่ที่เราทึกทักเอาเองว่าไร้กฎเกณฑ์ แต่ถ้าโลกมันไร้กฎเกณฑ์ขนาดนั้น เราคงอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ได้ลำบาก

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

1 Feb 2019

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่าด้วยนิยาม รูปแบบ คำอธิบายของความสุขในความเจ็บปวด ไปจนถึงความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตามหาผู้มีรสนิยมแบบเดียวกัน พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดง ‘ชิบาริ’ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังอย่างถึงเนื้อถึงหนัง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

1 Feb 2019

Life & Culture

8 Sep 2021

คนกระโปกแห่งยุคสมัย 199x ทำไมเด็กเจนวายไม่ยอมโต

คอลัมน์ PopCapture พิมพ์ชนก พุกสุข เขียนถึงสาเหตุสำคัญว่าเพราะอะไร ‘ชาวมิลเลนเนียลส์’ ถึงไม่อาจเติบโตได้อย่างที่ใจหวัง

พิมพ์ชนก พุกสุข

8 Sep 2021

Life & Culture

24 Dec 2018

‘สิงโตนอกคอก’ กับมุมมองต่อความเหลื่อมล้ำของ อดัม สมิธ

ธร ปีติดล เขียนถึงเรื่องสั้น ‘สิงโตนอกคอก’ ของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ที่ตั้งคำถามกับประเด็นจริยธรรม เชื่อมโยงกับมุมมองเรื่องความเหลื่อมล้ำของ อดัม สมิธ

ธร ปีติดล

24 Dec 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save