fbpx
Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ เรื่อง

 

Q : ทำไมโลกนี้มีแต่คนร้ายๆ – วรัญ

 

 

A : ตอบคุณวรัญ

ลุงคิดว่าคำถามนี้คงไม่ต้องการคำอธิบายเพราะคุณเองก็คงรู้ดีว่าคนเรามีคนดีและคนร้ายเท่าๆ กันนี่แหละ อย่างที่ฮาร์เวียร์ บาเด็มเคยให้สัมภาษณ์ไว้อย่างฮาว่า “ในข่าวมีแต่คนเลวให้เห็นเพราะไอ้พวกนี้มันเอะอะ ทำอะไรก็เลยเข้าหูคนตลอด”

ลุงมาร์ตินคนเขียน GoT ต้องหาคนร้ายๆ ตัวใหม่ๆ มาใส่ในเรื่องตลอดเวลาเพื่อรักษาความสดใหม่น่าติดตาม

ส่วนเรื่องรามเกียรติ์ พอทศกัณฑ์ (คนร้ายของเรื่อง ร้ายที่สุด) ตายแล้ว (หลังจากนั้นเรื่องยังดำเนินไปจนถึงรุ่นลูกพระราม) ไม่มีใครสนใจเอาเรื่องตอนช่วงหลังๆ มาเล่นโขนหรอก เพราะเล่นไปก็ไม่มีคนดู

ออสการ์ ไวลด์ ปราชญ์ปากร้ายแห่งศตวรรษที่แล้ว กล่าวว่า “จะเสียเวลาจำแนกผู้คนเป็นคนดีคนชั่วไปทำไม สำหรับผม คนเราก็มีแค่คนเก๋กับคนจืดชืดน่าเบื่อเท่านั้น” คือจะบอกว่าคนร้ายๆ ยังไงก็ยังมีในโลก

และทั้งหมดนี่ก็เล่นลิ้นพูดไปได้แหละเนอะ ตราบใดที่ลุงเองยังไม่โดนคนมาร้ายใส่ แถมยังร้าย ร้าย ร้าย ไม่ยอมหยุด อย่างคุณวรัญนี่คงโดนมาจนเหลืออด ถ้าร้ายตอบไปแล้ว คุณก็คงไม่มีอะไรจะเขียนมาถาม ที่เราทำได้คือรอเวลาให้ความร้ายของคนมันผ่านเลย ระหว่างนั้นคุยกับเพื่อน อ้อนแฟน เขียนหาลุง กินเหล้า ช้อปปิ้งเมามัน บรรจงเอาช้อนตะล่อมตักบิงซูไม่ให้หกจากถ้วย เดินเล่นในสวนเอาปลายนิ้วระยอดหญ้าไหวละมุน ดูคลิปโป๊ เล่นกับหมาแมว ทำอะไรก็ได้ที่เสริมสร้างความทนทานและสดชื่นของชีวิตจิตใจ แล้วก็ลุยกันต่อในโลกที่เต็มไปด้วยคนร้ายๆ

ขี้เกียจบอกว่าเราก็อย่าไปร้ายตามเขาก็แล้วกัน เพราะมีคนพูดมาเยอะแล้ว

แค่อยากจะบอกว่า (นี่ก็ลอกเขามาอีกนั่นแหละ) “Karma’s only a bitch if you are.”

 

Q : ช่วงการเมืองนี้มี fake news เยอะมาก ที่น่าปวดหัวกว่าจำนวน fake news ก็คือคนในครอบครัวเราดันเชื่อข่าวพวกนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่ส่งมาตามไลน์ หรือเพจรวมข่าว clickbait ในเฟ ซบุ๊ก เป็นต้นว่า ‘ธนาธรเขาห้ามไม่ให้คนยิ้มหรือ’ ลุงเฮม่าพอจะมีแนวทางการทำความเข้าใจกับครอบครัว ญาติผู้ใหญ่ไหมคะ แนะนำหน่อยค่ะ ใกล้เลือกตั้งแล้วหวั่นใจ – ไข้หวัดสายพันธุ์ B

 

 

 

A : ตอบคุณไข้หวัดสายพันธุ์ B

ชอบใจชื่อคุณมาก เห็นแล้วรีบคว้าวิตามินซีมากรอกปากเลย

คิดว่า fake news นี่อยู่ในโลกอออนไลน์มาก่อนช่วงเลือกตั้ง เพราะระบบของสื่อออนไลน์ได้รับการออกแบบมาให้สาระแนรู้ในสิ่งที่เราชอบ เรื่องที่เราฝักใฝ่ แล้วก็สรรหาข้อมูลนั้นๆ กลับมาล่อและครอบงำเรา เพราะมันรู้หมดว่าเรารักชอบเกลียดเฉยเรื่องอะไรบ้าง มันก็ค่อยๆ ป้อนสิ่งเร้าซึ่งรู้ว่าเร้าใจเราแน่ เพราะไอ้นี่ไม่เคยทำอะไรมั่วๆ วัตถุประสงค์ก็เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมเรา และเปิดช่องทางในการขายของ ก็เท่านั้น เพียงแต่ว่าพักนี้ fake news มันจะหนาๆ หน่อยเพราะต้องใช้งานเยอะ

การใช้ข้อมูลที่ตกแต่งแล้วมาโจมตีสาดโคลนกันก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่น่าสนใจคือหลายปีที่ผ่านมาคนไทยเรามีโลกขาวดำชัดเจนมาก เดี๋ยวนี้เราไม่มีแล้วละ ชอบหรือเฉย คือตอนนี้ไม่รักก็คือเกลียด หาคนที่ฟังความรอบด้านได้ยากมาก ในเรื่องการเมือง

จากช่วง 5-6 ปีก่อน คนไทยนั่งเครียดหน้าจอทีวีข้างละช่อง รับข้อมูลคนละชุด มาถึงตอนนี้มี fake news หยอดมาในช่องทางซึ่งเป็นเหมือนลานนั่งเล่นใต้ต้นไม้หลังบ้าน สถานที่ซึ่งเราใส่เสื้อกล้ามตากพัดลมอย่างสบายใจ ไม่ต้องแต่งตัวไปให้ใครดู (นี่ลุงพูดถึงห้องต่างๆ ในโซเชียลฯ ห้องสวัสดีวันจันทร์สีสันทั้งเจ็ด)​ เป็นที่ซึ่งแวดล้อมด้วยคนที่คิดและรู้สึกตรงกัน คือมีอะไรเข้ามา คุณลุงคุณป้าก็พร้อมเชื่อพร้อมแชร์ เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้นกระสันอยากเห็นหรือได้ยินเรื่องราวแย่ๆ เน่าๆ ที่ตอกย้ำเกี่ยวกับผู้คนที่เราเหม็นหน้า คนที่เราไม่เห็นด้วย ข่าวหลอกอย่าง ผู้สมัครรับเลือกตั้งปากหมา ดาราตาย กฎหมายเฮงซวยฉบับใหม่ออกมาอีกแล้ว บลา บลา บลา เป็นข่าวลวงที่เรามักจะเชื่อทันที แชร์ทันควัน มันสะใจ

คุณถามเรื่องวิธีทำความเข้าใจกับคนในครอบครัว ไปค้นๆ ดูก็มีวิธีอยู่หลายข้อ ซึ่งสรุปออกมาได้คำเดียวว่า “สติ” และมีสองขั้นตอนเท่นนั้น 1) เมื่อเห็นหัวข่าวที่เร้าใจแปลกๆ อย่าเพิ่งเชื่อ ให้ตั้งคำถามก่อน อย่าเพิ่งเชื่อ ทำให้เป็นนิสัย อย่าหูเบา 2) จากนั้นให้หาข้อมูลเพิ่ม หามุมต่างในหัวข้อข่าวเดียวกัน ไม่ช้าความจริงที่ไม่ถูกตัดต่อหรือดัดแปลงจะคลี่คลายออกมาเอง จะบอกว่าความรู้สึกว่าเราตรวจข่าวเจอนี่มันสะใจกว่าการได้แชร์ข่าวลวงแล้วมีคนแห่มาอวยเยอะแยะเลย

มันก็ไม่ยากเนอะ แต่ไปบอกพ่อแม่พี่น้องแล้วเขาจะฟังมั้ยนี่ก็อีกเรื่อง จะทำก็ได้แต่คงเป็นงานช้าง อาจจะเริ่มจากตัวคุณเองก่อน หาบรรยากาศสบายๆ ไม่ตึงไม่เครียด ชี้ให้เห็น fake news ซึ่งเราเองก็เคยโดนมาก่อน (อย่าเอาตัวอย่าง fake news ที่พ่อแม่พี่ป้าน้าอาโดนหลอก เพราะเหมือนไปหยามเขา เขาจะปิด ไม่ยอมฟัง)

ถ้าเป็นเรื่องไม่ดีของฝ่ายที่เขาชอบ โดนปั้นขึ้นมาเป็น clickbait สมมตินะ แล้วบอกว่านี่เราไปค้นมาแบบนี้ ตรวจเทียบอย่างนี้ จึงรู้ว่าเป็นข่าวหลอก แหมตอนแรกก็คิดว่าเรื่องจริง บลา บลา แล้วก็ทิ้งไว้เฉยๆ ใช้หลักบัวสี่เหล่านะครับ คุณจะได้ไม่เหนื่อย แบบว่าฉันอธิบายมาขนาดนี้ พวกเธอก็ลองคิดในทางกลับกันดูเองก็แล้วกัน คิดได้ก็ดี คิดไม่ได้ก็ช่างเขา ไม่ใช่เรื่องที่จะไปต่อล้อต่อเถียงเพราะมันไม่มีประโยชน์

ก็คงทำได้แค่นี้ ยังไงก็อยู่บ้านเดียวกัน เดี๋ยวเวลาออกไปกินมื้อเที่ยงวันอาทิตย์ ถ้าไปตีกันในร้านติ่มซำ ฮะเก๋าจะพานไม่อร่อย กลืนไม่ลงเสียเปล่าๆ

 

Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป (ถ้าเป็นหญิงตอบก็ต้องเรียก agony aunt) ลุงเฮม่าตอบปัญหาในโลกยุคใหม่ที่เราทึกทักเอาเองว่าไร้กฎเกณฑ์ แต่ถ้าโลกมันไร้กฎเกณฑ์ขนาดนั้น เราคงอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ได้ลำบาก

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save