ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ เรื่อง
Shin Egkantrong ภาพประกอบ
Q : ตามรีวิวไปกินข้าวร้านดังตามที่เขาแนะนำ ผิดหวังนะ ไม่อร่อยเลย เราจะโวยวายกับใครได้มั้ย – กิตติ
A : ตอบคุณกิตติ
อย่าไปเอาเนื้อหาสาระอะไรกับการรีวิวเลยครับ เหตุผลเท่าที่นึกออกตอนนี้ก็มี:
- คนที่ลิ้นรับรสอร่อยมีมาตรฐาน หรือมีนิยามความอร่อยตรงกับเรา ถ้าหาเจอก็เป็นบุญ แต่ส่วนใหญ่จะหาไม่เจอ เพราะบ้านใครบ้านมัน โตมาไม่เหมือนกัน อันนี้พูดถึงคนที่อายุเกินสี่สิบนะครับ ซึ่งที่บ้านยังทำกับข้าวกินเองอยู่ ยังเคยเจอ ‘รสมือแม่’ (แต่ไม่ได้แปลว่าอร่อยเสมอไป แม่ทำอาหารไม่เป็นก็มีเยอะ) ส่วนคนที่อายุน้อยกว่านั้นถือว่ามีวาสนาเพราะเติบโตมากับผงปรุงรสทั้งในอาหารที่ขายตามร้าน ขนมในเซเว่น ปากและลิ้นคนนับสิบล้านมีมาตรฐานเดียวกันเพราะโตมากับสิ่งเดียวกัน เวลาจะดูรีวิวให้ดูที่อายุคนเขียนรีวิวด้วย เพราะอร่อยของน้าเป็นคนละสิ่งกับอร่อยของหลานๆ เลือกกันเองตามอายุจริงเลย
- วัฒนธรรมใหม่กำหนดว่าบางทีอาหารก็มีไว้อวดกันเฉยๆ คืออวดกันด้วยหน้าตาของอาหารที่ถ่ายรูปขึ้น อวดกันด้วยบรรยากาศและการตกแต่งของทางร้าน ร้านสวย อาหารดูไฮโซน่ากิน จึงสำคัญพอๆ กับรสชาติ สำหรับบางคนความดูดีอาจสำคัญยิ่งกว่าความอร่อยด้วยซ้ำ ลุงเห็นสาวๆ แต่งตัวแต่งหน้ากันเต็มที่สะพายกล้องออกมาจากบ้านเพื่อถ่ายรูปกับขนมชิ้นเดียวเพื่ออัพโซเชียลฯ แล้วก็นั่งเล่นกันอยู่ที่ร้าน บางรายไม่แตะขนมด้วยซ้ำ ร้านแบบนี้ที่อร่อยจริงๆ ก็มี ที่รสชาติธรรมดาๆ ก็เยอะ
- อีกแง่มุมคือมาตรฐานของการรีวิว คือคนรีวิวอาจเล่นไม่ซื่อหรือไม่ชอบอะไรก็ไม่บอกกันตรงๆ บางรายก็ขี้เกรงใจ (เพราะบางทีทางร้านก็เชิญให้มารีวิว ซึ่งแปลว่ากินฟรี) บางรายหนักกว่านั้นคือไปรับค่าตัวจากทางร้านมาด้วย ส่วนบางรายอาจจะมีนิสัยซื่อตรง มีความหวังดี อยากไปชิมอาหารแล้วเอามาเขียนคุยให้ฟัง แต่เจ้ากรรม ความอร่อยของคนรีวิวไม่ตรงกับความอร่อยของคนอ่าน หรือไม่คนรีวิวก็ความรู้ไม่กว้าง รีวิวไม่ได้ เปรียบเทียบไม่เป็นว่าเจ้าไหนดีกว่าเจ้าไหนเพราะอะไร อ่านแล้วไม่เกิดโภชน์ปัญญา
- สมัยก่อนที่จะมีการรีวิวออนไลน์ชนิดที่ว่าใครก็รีวิวได้แบบทุกวันนี้ เราก็มีการจัดอันดับร้านอาหารทั้งโดยสถาบันภายในและภายนอกประเทศ บ้างก็เชื่อถือได้ในเรื่องความอร่อยแต่บางทีก็เล่นไม่ซื่อกับคนอ่านคนกิน บ้างก็เป็นสถาบันเก่าแก่จากต่างประเทศ แต่พอมาประเทศนี้สถาบันกลับกลายเป็นมือปืนรับจ้าง ต้องเกรงใจคนจ่ายเงิน แถมยังมีสปอนเซอร์ให้คำนึงถึง คือหลายร้านที่เขาให้ดาวก็ดีจริงนะครับ สมควรได้จริง แต่ก็มีร้านที่แบบว่า…หือ…อย่างนี้ได้ดาวด้วยหรือวะ หรือมีบางร้านที่ปีแรกอร่อยเชียว พอเปลี่ยนคนครัวก็มือตก กินแล้วปากคนกินก็ชา ให้ความรู้สึกกระหายน้ำแบบเดียวกันกับหลังจากกินบะหมี่สำเร็จรูปจำนวนมาก เพราะผงชูรสมากเหลือเกิน แต่ดาวก็ยังอยู่ โดยไม่โดนปลด ไม่มีการตรวจสอบสักที ดังนั้นไม่ต้องไปสนใจดาวหรือคำพูดของคนรีวิว นอกจากคนที่ซื่อตรงและเก่งจริง ซึ่งก็มีอยู่ แต่ก็ต้องฟังหูไว้หูเพราะอย่างที่บอกคือ ความอร่อยของคนเราไม่จำเป็นต้องตรงกันไปเสียทุกอย่าง (ว่าแต่เกิดมายังไม่เคยเจอใครที่ไม่ชอบเบคอนหรือข้าวไข่เจียวเลยนะ หรือว่า…)
- ไหนๆ ก็ไหนๆ ขอลุงโหนกระแสเลือกตั้งหน่อยก็แล้วกัน รีวิวน่ะอ่านได้ แต่ที่น่าอ่านกว่าคือคอมเมนต์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่มีนอกมีใน ชอบก็บอกว่าชอบ ไม่ชอบหรือเคืองก็ด่าชนิดไม่ต้องได้ผุดได้เกิด เช่นเดียวกับชีวิตจริง ในโลกของการชิมอาหารแทนกันหรือการรีวิวนั้น เสียงของประชาชนสำคัญที่สุดครับ
- โวยวายกับคนที่เขียนรีวิวนั่นแหละครับ ให้เขารู้ว่าเราไม่เห็นด้วย ตอกย้ำว่าเราคนอ่านก็มีอำนาจเหมือนกัน แม้จะเล็กน้อย แต่ก็ดีกว่าอยู่เฉยๆ
Q : ลุงๆ คำว่า NETFLIX เรียกไงดี เน็ตฝลิกซ์ หรือเหน็ตฟลิ๊กซ์ – เบบี้
A : ตอบคุณเบบี้
ในการออกเสียงภาษาอังกฤษไม่มีวรรณยุกต์ มีแต่การเน้นคำ เน้นผิดคำ ฝรั่งก็ฟังไม่รู้เรื่องเลยล่ะ แต่พอจะพูดภาษาอังกฤษให้เข้าปากคนไทยเราไม่เน้นคำ แต่เติมเสียงวรรณยุกต์ เช่น disco tech เขียน “ดิสโกเธค” แต่ดันอ่านว่า “ดิ๊สโกเถก” อะไรแบบนี้ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีหลักเกณฑ์อยู่
คุณนววรรณ พันธุเมธา ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยเคยบอกเกี่ยวกับการออกเสียงวรรณยุกต์คำอังกฤษไว้ว่า ถ้าเป็นคำตาย (คำเสียงสั้นๆ ที่มีตัวสะกดเป็นแม่กก แม่กดและแม่กบ ไงครับ) จะออกเสียงวรรณยุกต์ตรี
มาดูทางด้านภาษาอังกฤษบ้าง ท่านว่าคำสองพยางค์ หากเป็นคำนามให้เน้นเสียงที่พยางค์แรก แต่ถ้าเป็นกริยานี่ให้เน้นพยางค์ที่สอง
ทั้งหลักของภาษาไทยและภาษาอังกฤษบอกว่า NETFLIX จึงควรอ่านให้เข้าปากคนไทยว่า “เน็ต – ฝลิกซ์” ครับ
อ่าน “เหน็ต-ฟลิ๊กซ์” ผิดหลัก แต่ถ้าเข้าปากคุณแล้ว ลุงคงไปเอาออกไม่ได้เนอะ
Q : เห็นในรายการทีวีญี่ปุ่นบ่อยๆ รายการที่มีชิมอาหาร เวลาเขาเอาตะเกียบคีบอาหารเข้าปากแล้วเอามือประคอง เขาต้องทำกันแบบนี้หรือ ทำไมเวลากินข้าวตามร้านไม่เห็นมีใครเอามือประคองกันอาหารหล่นเลย – แต๋ว
A : ตอบคุณแต๋ว
ลุงก็สงสัยอยู่เหมือนกัน สอบถามผู้เชี่ยวชาญ ได้คำตอบว่าการเอามือรองอาหารต่างจานหรือชามเวลากินที่เราเห็นแพร่หลายในทีวีนี่ เผินๆ นั้นดูดี เหมือนทำอะไรก็ดูบรรจง แต่ว่าเป็นเรื่องผิดมารยาท
เรื่องมารยาทนี่ก็พูดยาก เรื่องนี้ว่ากันว่ามีดาราหญิงคนหนึ่งเริ่มทำมาได้หลายสิบปีแล้ว จนตอนนี้ใครๆ ในทีวีก็ทำ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ยังไงก็เป็นเรื่องเสียมารยาทครับ
ใครที่อยากทำรอไว้ออกทีวีก่อนค่อยว่ากัน
Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป ลุงเฮม่าตอบปัญหาในโลกยุคใหม่ที่เราทึกทักเอาเองว่าไร้กฎเกณฑ์ แต่ถ้าโลกมันไร้กฎเกณฑ์ขนาดนั้น เราคงอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ได้ลำบาก
**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]